โบรกฯคาด หุ้นไทยปลาย Q1 ยืนเหนือ 1,600 จุด – รับอานิสงส์น้ำมันถูก

KSecurities เอาใจนักลงทุนออนไลน์เปิดตัว KS Super Stock แอปพลิเคชันครบวงจรเพื่อการลงทุนทั้ง ข่าวสาร และบทวิเคราะห์ ตลอดจนถึงกราฟเทคนิครองรับทั้ง iOS และ Andriod คาดยอดดาวน์โหลดแตะ 50,000 ส่วน “เผดิมภพ” ฟันธงหุ้นไทยจะทะยานยืนเหนือ 1,600 จุดได้อย่างชัดเจนในปลายไตรมาส 1 คาดไตรมาส 2-3 มีโอกาสแตะ 1,700 จุด แนะนักลงทุนเล็งหุ้นกลุ่มโรงกลั่น นิคมอุตสาหกรรม กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รับอานิสงส์น้ำมันช่วงราคาลง

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัว KS Super Stock – Mobile Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันด้านการลงทุนแบบครบวงจรแบบเรียลไทม์ ทั้งด้านข่าวสาร และบทวิเคราะห์ ตลอดจนถึงกราฟเทคนิค เพื่อให้นักลงทุนสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งรองรับทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod

“บล.กสิกรไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่การเป็นดิจิตอล โบรกเกอร์ โดยมีความพร้อมในเรื่องบุคลากร และศักยภาพของข้อมูลที่ให้กับลูกค้า จะเห็นได้ว่าจำนวนลูกค้าปัจจุบันทั้งหมดที่ 74,000 บัญชี มีสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ถึง 59% เราจึง และสัดส่วนการซื้อขายหุ้นออนไลน์ในตลาดหลักทรัพย์มีมากถึงกว่า 50% ทั้งนี้ คาดว่าหลังเปิดให้มีการดาวน์โหลดโปรแกรมแอปพลิเคชัน KS Super Stock ออกไปในช่วง 4 เดือนแรก จะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ราย ซึ่งบริษัทฯ จะมีการพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนให้มากที่สุด”

ขณะที่นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการสายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะนี้คาดว่าจะแกว่งตัวอยู่ที่ 1,567-1,600 จุด ซึ่งมีโอกาสทะลุเกิน 1,600 จุด ในต้นเดือนมีนาคมตามการฟื้นตัว จากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4 อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ทำให้แนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาในไทยและตลาดหุ้นกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายดัชนีฯ ในไตรมาส 2-3 ประมาณการไว้ที่ 1,710 จุด บนอัตราส่วนต่อกำไร (P/E Ratio) ที่ 15 เท่า

อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น กลุ่มโรงกลั่น เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมีผลบวกต่อต้นทุนการกลั่น รวมไปถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากพลังงานราคาถูก อีกทั้งกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์จากบีโอไอ ตลอดจนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ

นักลงทุนต้องกล้า…เมื่อตลาดกำลังกลัว

โบรกพาเหรดลดเป้าดัชนีหุ้นไทย นักลงทุนต้องกล้า…เมื่อตลาดกำลังกลัว

การปรับลดประมาณการของดัชนีตลาดหุ้นไทย ของสมาคมนักวิเคราะห์ ครั้งล่าสุด (15 ม.ค.) นี้ อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่น่าตกใจนัก

เพราะตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับตัวทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่เชื่อหรือไม่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ กลับแนะนำว่า ควรเพิ่มสัดส่วนหุ้นเข้าพอร์ตอีก !

พวกเขากำลังคิดอะไร ?

2558-setlnw

นักลงทุนหลายคนอาจได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการแถลงของ “ภรณี ทองเย็น” อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ที่เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ เรื่องแนวโน้มการลงทุนและผลกระทบจากราคาน้ำมัน ปี 2558-2559 ไปบ้างแล้วว่า

“ส่วนใหญ่ได้ประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,670 จุด ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,698 จุด หรือลดลงราว 1.6% ส่วน ณ สิ้นปี 2559 คาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,804 จุด จากครั้งก่อนเฉลี่ยที่ 1,871 จุด”

โดยเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่

1) ปัจจัยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐและอังกฤษ

2) แนวโน้มเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น รัสเซีย ตะวันออกกลาง และ

3) การส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

รวมถึงปัญหาคลาสสิกที่นักลงทุนได้ยินมาระยะหนึ่งแล้วคือ”ปัญหาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง” ซึ่งส่งผลให้ผลสำรวจนักวิเคราะห์ในครั้งนี้ต่างคาดการณ์กันว่า หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบจนมีกำไรลดลงเฉลี่ย 4.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้ำหนักของหุ้นทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้ก็มีสัดส่วนมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) และกำไรสุทธิรวมสูงถึง 30% ของบริษัทจดทะเบียนรวมในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อหุ้นสองกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ ก็จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยด้วย

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีการปรับลดคาดการณ์เหลือ 0.9% และในปี 2558 ปรับลดคาดการณ์เหลือ 3.8% อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นบวกที่ให้น้ำหนักอยู่ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนของภาครัฐ การขยายตัวของผลประกอบการ บจ. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปที่คาดจะมีเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

“ภรณี” เชื่อว่า โดยภาพรวม ตลาดหุ้นไทย “ยังไม่ถึงกับขาดเสน่ห์” จนไม่น่าลงทุน เพราะมีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งตลาดในปี 2558 จะเพิ่มไปอยู่ที่ 15% จากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 14.1% ซึ่งเป็นเพราะกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ มีต้นทุนลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน เช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มขนส่ง สถาบันการเงินรายย่อย

โดยประเมินว่ากลุ่มธุรกิจหลัก ๆ จะมี EPS Growth และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ในปี 2558-2559 (ดูตารางประกอบ) น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มอาหาร ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง สื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน

ขณะเดียวกัน มีการประเมินกันว่า ตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากประเด็นด้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มมีความชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนยังสามารถเข้าซื้อได้

“ฟันด์โฟลว์ยังไม่น่าจะไหลเข้ามาในไตรมาส 1 ของปีนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ดี อีกทั้งการเมืองก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯต่าง ๆ จะผ่านการพิจารณาหรือไม่ แต่หลังจากนั้น คือ ไตรมาส 2-3 เชื่อว่าเงินทุนต่างชาติจะทยอยไหลเข้า เพราะผลประกอบการของ บจ.ในหลายกลุ่มของเรายังอยู่ในระดับที่ดี จึงน่าจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ”

ผลการสำรวจยังสะท้อนภาพรวมการแนะนำการลงทุนด้วยว่า ให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นเป็น 46% ของเงินลงทุนรวม สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนที่ให้น้ำหนักลงทุนที่ 40%

โดยระบุหุ้นที่น่าสนใจได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บมจ.ศุภาลัย (SPALI)

ขณะที่มีการแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้เหลือ 14% จากเดิม 20% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น พร้อมทั้งแนะนำให้ “ลด” การถือครองเงินสดและเงินฝากเหลือสัดส่วน 11% จาก 13% ที่แนะนำในครั้งก่อน ส่วนการลงทุนต่างประเทศใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อนที่ 20.5% ขณะที่ทองคำและโกลด์ฟิวเจอร์ส ให้มีสัดส่วนเหลือ 6.5%

เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว อาจเป็นจังหวะให้นักลงทุนอีกกลุ่มทำกำไรก็ได้ หากเลือกหุ้นถูกตัวและเข้าซื้อถูกจังหวะ

อีกด้านของเหรียญ

ในช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนๆนักลงทุนหลายท่านเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ประเด็นหลักในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นความกังวลที่ว่าตลาดหุ้นอาจจะมีการปรับตัวลดลงรุนแรง ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ หนึ่ง ดอกเบี้ยอาจกลับมาเป็นขาขึ้น สอง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้การบริโภคชะลอตัวลง และ สาม ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยเทรดที่ PE 18 เท่านับว่าสูงกว่า ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากเหตุผลที่สนับสนุนข้อกังวลดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ในบทความนี้ผมขอนำเสนอการมองต่างมุมของนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งต่อประเด็นทั้งสาม เพื่อให้ท่าน ผู้อ่านได้เห็นข้อมูลทั้งสองด้านก่อนที่จะตัดสินใจในการลงทุน

ดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาขึ้น: ข้อมูลจาก McKinsey ได้ประเมินว่าขนาดของตลาด Global Bond ใหญ่กว่า Global Equity ประมาณหนึ่งเท่า และจากการที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของอเมริกา เป็นขาลงมาตลอด 33 ปีนับตั้งแต่ปี 1981 ที่ดอกเบี้ย 15% มาอยู่ที่ 2.2% ในปัจจุบันถ้าดอกเบี้ย กลับมาเป็นขาขึ้นจริง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดพันธบัตรจะมีมากกว่าตลาดหุ้น เงินที่จะไหลออก จากตลาดพันธบัตรจำนวนมากเพื่อหนีจากการขาดทุนในดอกเบี้ยขาขึ้น และน่าจะไหลเข้ามาสู่ ตลาดหุ้นบ้าง ทำให้หุ้นน่าจะยังคงไปต่อได้ ทั้งนี้เราจะเห็นได้จากการเปลี่ยน แปลงนโยบายของ PIMCO กองทุนตราสารหนี้ขนาดมหึมาของสหรัฐซึ่งให้ความสนใจในหุ้นมากขึ้นในระยะ สามสี่ปีที่ผ่านมา และ กองทุนบำเน็จบำนาญของญี่ปุ่นประกาศเพิ่มสัดส่วนลงทุน ในหุ้นเมื่อเร็วๆนี้

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ: ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุราว 10% และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี 2030 อาจมีผลลบต่อตลาดหุ้น อาจไม่เป็นจริงเสมอไปหากเรามองดูประเทศที่มีสัดส่วน ผู้สูงอายุมากกว่าประเทศไทยเช่น เยอรมันนี ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วน 21% แต่ดัชนี DAX ของเยอรมันก็ยังสามารถทำ All Time High ที่ 9,850จุดได้ในปีนี้ ซึ่งหากเราดูข้อมูลย้อนหลัง เราจะพบว่า DAX ได้เริ่มการเป็นขาขึ้นยาวนานตั้งแต่ปี 2003 ที่ดัชนีประมาณ 2,500 จุด​ซึ่งในปีนั้นเยอรมันนีมีประชากรสูงอายุ 18%ของประชากรรวม

ตลาดหุ้นไทยที่ PE 18 เท่า: หากเราย้อนกลับไปดูค่า PE ย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยในรอบเกือบ 40 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง เราจะพบว่า PE หุ้นไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 5-30 เท่า ค่า PE โดยเฉลี่ย น่าจะอยู่ในช่วง 10-12 เท่า ถึงแม้ 18 เท่าดูเหมือนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่หากเราดูค่า PE ตลาดใน 12 เดือนข้างหน้า ตามบทวิเคราะห์ของธนาคารต่างประเทศแห่งหนึ่ง คาดว่า PE ของตลาดหุ้นไทย จะลดลงเหลือ 15-16 เท่าเนื่องจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตได้อีก สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ณ PE ขนาดนี้ ตลาดหุ้นไทยก็ดูไม่แพงกว่าเพื่อนบ้าน ASEAN เราเท่าไหร่ นอกจากนี้ที่ PE 18 เท่า ในปัจจุบัน ตลาดไทย (SET ไม่รวม MAI) ให้ปันผลโดยเฉลี่ยที่ 2.77% ซึ่งยังสูงกว่าดอกเบี้ย ฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารที่อยู่ที่ 1.5% สถานการณ์ในตอนนี้ต่างกับในช่วงปี พ.ศ. 2537-2538 ซึ่งดัชนีมีค่า PE อยู่ในช่วง 16-26 เท่า ให้ปันผลอยู่ในช่วง 1.86-2.25% แต่ในขณะนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ประมาณ 8.5% สูงกว่าเงินปันผลเกือบสามเท่า

โดยส่วนตัว ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป จะออกหัว หรือ ออกก้อย ในฐานะนักลงทุนคนหนึ่ง หน้าที่หลักของผม คือ หนึ่ง เฝ้นหากิจการที่ยอดเยี่ยม สอง ทำความเข้าใจพลวัตรการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม และ สาม ดูว่าอุตสาหกรรมไหนจะได้ ประโยชน์สูงสุด จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นานมาแล้ว คุณ “ต๊อบ” เจ้าของ “เถ้าแก่น้อย” เคยกล่าวไว้ว่า “ในงานศพ ก็ยังมีสัปเหร่อ มีคนขายโจ๊ก มีคนขายพวงหรีด…ในวิกฤตก็มีโอกาส อยู่เสมอ มันอยู่ที่ว่าคุณเลือกที่จะเป็นศพ หรือเป็นคนขายพวงหรีด” ผมยังจำได้ว่าหลังวิกฤต ต้มยำกุ้ง หุ้นไทยลงถล่มถลาย แต่หุ้นส่งออกกลับทำกำไรได้มากมาย ดังนั้นผมเชื่อว่า ไม่ว่าสภาวะไหน หมั่นสร้างความรู้ในการลงทุนไว้เถอะครับ เพราะความรู้จะเป็นเหมือนดาว ส่องแสงนำทาง ที่ช่วยให้คุณสามารถเดินทางอยู่บนถนนสายทุนนิยมสายนี้ได้ในทุกสถานะการณ์

โดยคนขายของ

โค้งอันตรายทีวีดิจิทัลปี 2 : “SLC กับพวก” ซื้อหุ้นคู่แข่ง NMG

ผมไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง กับตรรกะของทุนนิยมแบบตามตัวอักษร ที่บอกว่า  “หุ้นของคุณอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ใครๆก็มีสิทธิ์ซื้อได้ เดือดร้อนทำไม”  แต่ขออธิบายสั้นๆ ว่า คู่แข่งขันกันในทางธุรกิจ” แอบ “ซื้อหุ้น”คู่แข่ง” จนกลายเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่”

lnw-set-news

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของคนที่มีสติปัญญาปกติๆ โดยไม่ต้องไปเกี่ยวกับว่าจะอยู่ในตลาดหุ้นหรืออยู่ในเกณฑ์ต้องห้ามรายเดียวกันถือทีวีดิจิทัลเกินกว่า 1 ช่องในประเภทเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือเป็นการกระทำที่ไร้จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

พูดจาแบบนักเลงๆหยาบคายๆ พวกนี้มัน”ไม่ใช่ลูกผู้ชาย” พอทำธุรกิจแข่งตามกติกาปกติไม่ได้ก็เอาเงินไปทุ่มซื้อกิจการของคู่แข่ง ซึ่งได้รับรู้ปูมหลังของกลุ่มผู้ถือหุ้นแล้วต้อนรับเข้าบ้านไม่ได้จริงๆ แล้วอ้างว่าซื้อลงทุนระยะยาวไม่เข้ามายุ่งแทรกแซงการบริหาร แต่อีกแว่บเดียวเห็นเที่ยวไปทาบทามทีมใหม่จะเข้ามาบริหารงานแทนชุดเดิม

ลองคิดดู คุณประวิทย์ มาลีนนท์และตระกูลมาลีนนท์ที่ถือหุ้นใหญ่บริษัท BEC ที่อยู่ในตลาดหุ้น แล้ว”กฤตย์ รัตนรักษ์” และบริษัทในเครือข่ายเข้าไปซื้อหุ้นใน BEC สัก 15-20 % แล้วบอกว่าสามารถซื้อหุ้นได้ตามปกติ อยากจะลงทุนระยะยาว ลองไปถามคุณประวิทย์จะคิดยังไง ระแวงคุณกฤตย์ที่มีเงินเยอะมากๆจะเข้ามาล้วงความลับหรือไม่

ถามกลับว่า ทำไมพวกท่านไม่เอาเงินที่ระดมมาได้หลายพันล้านบาทอย่างทุลักทุเล ไปปรับปรุงกิจการมาแข่งขันกันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคน่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ บอกตรงๆว่า พวกเราไม่ต้อนรับพวกคุณ อย่าดันทุรังเลย

ทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ม.ค. ผมต้องเป็นตัวแทนบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล ประเภทข่าวสารและสาระ ในชื่อช่อง Nation TV ไปยื่นเอกสารให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ 5 ท่าน เรื่องการเข้าครอบงำกิจการ

ประเด็นหลักมาจากการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) ช่วงก่อนปีใหม่มีความเห็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า กรณีบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์(1998) จำกัด(มหาชน)หรือ SLC ที่เป็นผู้ถือหุ้น 100% บริษัท สปริงส์นิวส์ จำกัด ผู้ถือใบอนุญาติทีวีดิจิทัลช่องข่าว Springnews เข้าซื้อหุ้น 12.27 % ในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ที่ถือหุ้น 71% ในบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่มีบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่องข่าว Nation TV

ข้อพิจารณาจะผิดเงื่อนไข”ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ที่มีอยู่ข้อหนึ่งช่วงประมูล คือหมายถึงผู้ที่ถือหุ้นร่วมกันเกินกว่า 10% , เกี่ยวพันกันทางสายเลือด, คนละบริษัทแต่ผู้บริหารชุดเดียวกัน ฯลฯเข้าประมูลทีวีดิจิทัลเกินกว่า 1 ช่องในประเภทเดียวกัน

ผลประชุมยังไม่มีข้อยุติเพราะคะแนนเสียงแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่มจาก 5 คน

กลุ่มแรกมีความเห็นโดยแทบไม่ต้องตีความมากนักว่า”ผิดแน่นอน” เพราะกสทช.มีหน้าที่จะต้องกำกับและดูแลสถานะของผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไปตลอด 15 ปีของอายุใบอนุญาต เพื่อให้ยังเกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี มิเช่นนั้นจะกลับไปผูกขาดอีก กรรมการกสท. 2 ท่านที่มีความเห็นว่า”ผิดแน่นอน”คือดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์กับอาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์

กลุ่มที่สองมีความเห็นว่า “ไม่ผิดแน่นอน” เพราะหลักเกณฑ์การประมูลข้อนั้นกำหนดขึ้นเฉพาะการประมูลเพื่อป้องกันการฮั้วประมูลไม่ต้องใช้แล้วหลังประมูล กรรมการรกสท. 2 ท่านดังกล่าวคือ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท. และพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า

กลุ่มที่สามยังไม่ให้ความเห็นเพราะยังขาดความสมบูรณ์ของข้อมูล กรรมการกสท.ท่านนี้คือพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

ข้อสรุปของคณะกรรมการกสท. ช่วงก่อนปีใหม่คือส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการด้านกฏหมาย ของกสท.ไปวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อนำเสนอกลับมายังกสท.อีกครั้งคาดว่าน่าจะนำเสนอกลับมาในวันจันทร์ที่ 19 ม.ค.นี้่

จุดประสงค์ในการยื่นจดหมายถึงกสท. 5 ท่านเมื่อวันที่ 12 ม.ค.เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณาที่น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างกรณีแรก หลังประมูลทีวีดิจิทัลผ่านพ้นไปได้ประมาณ 1 ปีที่สภาพการณ์ต่างๆยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 17 บริษัท 24 ช่องเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังซึมๆมาตั้งแต่ปีที่แล้ว,การแจกคูปองเพื่อแลกกล่องภาคพื้นดินยังเดินไปช้า แล้วยังเกิดปัญหาการเบิกเงินค่ากล่องรับสัญญาณที่ยังขลุกขลักมากๆ ฯลฯ

การวินิจฉัยกรณีบริษัทแม่ของ Springnews เข้าถือหุ้นในบริษัทแม่ของ Nation TV ที่เป็นช่องข่าวประเภทเดียวกัน จะเป็นเสมือนดัชนีชี้อนาคตของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ว่าจะเดินหน้าต่อไปแบบไหน

หากยึดตามความเห็นของกสท.กลุ่มแรกคือหลักเกณฑ์การประมูลเรื่อง”ผู้มีประโยชน์ร่วมกัน”ยังต้องบังคับใช้ไปจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต การเปลี่ยนมือหรือผู้ถือหุ้นจะทำได้ยากขึ้น ป้องกันการผูกขาดครอบงำกิจการจาก”ทุนใหญ่”ในธุรกิจทีวีฮุบกิจการ”ทุนเล็ก”ที่เป็นเจ้าของใบอนุญาติได้

แต่ถ้าหากยึดตามความเห็นของกลุ่มที่สองคือหลักเกณฑ์”ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ใช้เฉพาะช่วงประมูลเท่านั้น แต่หลังประมูลไม่สามารรถบังคับใช้อีก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือทุนใหญ่ในธุรกิจทีวีจะเข้าซื้อกิจการของช่องเล็กๆเพื่อลดคู่แข่งขัน สุดท้ายอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัลของไทย จะกลับไปสู่วงจรกึ่งผูกขาดของทีวีระบบอะนาล็อกที่เกิดขึ้นยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ทำนายอนาคตไว้ได้เลยไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่จะเหลือไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะทุ่มเงินถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไว้ในมือในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจจะยังแยกบริษัทแต่มีบริษัทโฮลดิ้งถืออยู่รวมกัน 5-6 ช่องต่อกลุ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งอกตั้งใจบริหารทั้ง 5 ช่อง กลยุทธ์ทางธุรกิจแบบนี้คือซื้อไปดองไว้ไม่ให้เติบโตแข่งขันกวนตลาดกันเอง

ข้อมูลเพิ่มเติมที่กลุ่มเนชั่นส่งให้กับกสท.คือ ไม่เพียงแต่ SLC ถือหุ้น 12.27% ใน NMG จากการตรวจสอบพบว่ายังมีบริษัทอื่นที่มีความเกี่ยวพันกันกับ SLC คือบริษัท วธน แคปิตัล จำกัด( WAT )ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และผู้ถือหุ้นรายบุคคลที่เข้ามาถือหุ้นใน NMG ช่วงก่อนหน้านั้นอีกรวมกันประมาณ 20% แยกเป็นในนามบริษัท WAT 7.57% และในนามบุคคลอื่นๆที่มีหุ้นใน SLC และ WAT รวมกันน่าจะประมาณ 12-15% รวมกันแล้วน่าจะมากถึง 30-35% ที่ในตลาดหลักทรัพย์ถือว่ามีอำนาจควบคุมกิจการได้

ความซับซ้อนของ Money Game ในตลาดหุ้น ทำให้กสท.ไม่น่าจะตามทันการถือหุ้นไขว้กันไปมาจนยากต่อการตรวจสอบให้ตีความว่าเป็น”ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน”หากไม่มีความร่วมมือกันระหว่างกสท.,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต.

แม้ยังไม่นับ WAT และบุคคลเข้าเป็นพวกเดียวกันกับ SLC ก็ถือได้ว่า SLC ที่มีหุ้นใน NMG 12.27 %น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน NMG แล้ว มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อกรรมการเข้าร่วมในการบริหารงาน NMG ได้ นั่นหมายถึงการเข้าถึงระดับชั้นความลับทางธุรกิจของบริษัทลูก NBC แปละบริษัท NNV ที่ถือใบอนุญาตช่อง nation TV

นอกจากนี้แล้ วร่างประกาศเพิ่มเติมของกสท. ว่าด้วยการถือหุ้นระหว่างกัน,การครอบงำกิจการ,การมีอำนาจเหนือตลาด ฯลฯที่ผ่านการประชาพิจารณ์ไปแล้ว ยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมกสท.อีกครั้่งเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ดูเหมือนไม่มีวี่แวววว่าจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววัน

กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เป็นโค้งอันตราย ของการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อก สู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่เพิ่งเริ่มต้นมาได้แค่ 1 ปี แต่เสี่ยงอย่างยิ่งจะหักศอกโค้งอันตรายร่วงหล่นไปจากอุตสาหกรรมนี้

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!

ด้วยความที่ผมเป็นนักลงทุนสไตล์ Systematic Trend Following มานานพอสมควร หลายต่อหลายครั้งที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงหรือลงแรงๆ หรือแม้แต่การประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจต่างๆจะย่ำแย่ลงนั้น ผมมักที่จะได้รับความห่วงใยจากเพื่อนฝูง, พี่น้อง, พ่อแม่ และพี่ป้าน้าอาว่าให้ระวังตลาดด้วยนะ อย่ามัวแต่เล่นหุ้นโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆภายนอกอะไรเลย แน่นอนว่าผมย่อมรู้สึกยินดีที่ได้รับความห่วงใยจากทุกคนที่รู้จักเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผมก็มักจะทนไม่ไหวที่จะต้องตอบกลับไปว่าระบบการลงทุนที่ผมใช้อยู่นั้นสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องไปสนใจปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากราคาหุ้นสักเท่าไหร่นัก ซึ่งผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ ด้วยคำพูดปากปล่าวของผมเพียงอย่างเดียวมันทำให้ในหลายๆครั้งไม่มีใครเข้าใจผมสักเท่าไหร่ ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะแชร์คำตอบอย่างละเอียดที่ว่าทำไมผมและนักลงทุนตามแนวโน้มอีกหลายๆท่าน จึงน่าจะเป็นนักลงทุนที่ “ตายยาก” และอยู่ในตลาดไปได้นานอีกหลายปีกันครับ

เล่นไปตามแนวโน้มของตลาด
ความลับข้อแรกที่ทำให้โอกาสขาดทุนแบบบักโกรกจนต้องตายจากไปจากตลาดหุ้นของพวกผมนั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยก็คือ ผมเล่นหุ้นตามแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นของตลาดครับ

แล้วมันจะช่วยอะไรผมได้อย่างนั้นหรือ?
คำตอบก็เพราะปรากฎการณ์ “แนวโน้มราคา” ของตลาดหรือหุ้นนั้น เป็นปรากฎการณ์ความไร้ประสิทธิภาพของตลาดหุ้น (Market Anomaly) ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและ “สันดาน” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงของนักลงทุนในตลาดอย่างเราๆทั้งหลาย ที่มีมาอย่างยาวนานและกว้างขวางในตลาดหุ้นหรือแม้แต่ตลาดสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลกนั้่นเอง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ช่วยให้นักลงทุนและกองทุนชื่อดังหลายๆคนสามารถที่จะทำกำไรเอาชนะตลาดจนร่ำรวยมหาศาลมาได้นักต่อนัก และโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยนั้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่ามันจะจบลงหรือหมดประสิทธิภาพไปอย่างง่ายๆเลย โดยที่คุณจะสังเกตุได้จากกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นผลตอบแทนทบต้นตามช่วงเวลาในการคำนวณย้อนหลังจุดละ 36 เดือนหรือ 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันยังคงมีความเสถียรและเอาชนะดัชนี SET Index ได้อยู่ในระยะยาว
แน่นอนครับว่าแม้ในอนาคตจะไม่มีอะไรแน่นอน และปรากฎการณ์เหล่านี้ก็อาจจะลดพลังของมันลงหรือหายไปก็เป็นได้ แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้นั้นจากงานวิจัยต่างๆหลายๆชิ้น มันก็ยังถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์รูปแบบหนึ่งที่มีความเสถียร (Robust Anomaly) และมีประสิทธิภาพในการทำกำไรชนิดหนึ่งของโลกใบนี้เลยก็ว่าได้

setlnw1-Cumulative-Return-Chart_thumb

 

ภาพที่ 1 : ภาพกราฟ Cummulative Return แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนสะสมของระบบ Trend Following ธรรมดาๆรูปแบบหนึ่งซึ่งอาศัยการทำกำไรจากแนวโน้มขนาดใหญ่ในตลาด เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยที่ภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จากการทดสอบย้อนหลัง (Backtest) ด้วยการกำหนดเงื่อนไขอย่างเข้มงวดในระดับหนึ่ง มันได้สร้างการผลกำไรสะสมราว 25.46 เท่าเมื่อเทียบกับดัชนี SET Index ที่ 1.2 เท่า และให้ผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR ที่ราว 40% ต่อปี ในขณะที่ SET Index มี CAGR อยู่ที่ราว 9% เท่านั้น

setlnw2-ATH-Rolling-CAGR_thumb

 

ภาพที่ 2 : ภาพกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเสถียรของระบบการลงทุนในลักษณะนี้ โดยที่ค่าที่แสดงให้เห็นนี้เป็นค่า CAGR คำนวณย้อนหลัง 3 ปีในแต่ละจุดของเวลาเปรียบเทียบระหว่างระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่งกับดัชนี SET Index ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 2005-2014

การตัดขาดทุนและถอยเพื่อรอโอกาส

การตัดขาดทุน (Cut Losses) คือกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มตายยากยิ่งขึ้น สาเหตุก็เพราะว่าพวกมันนั้นทำหน้าที่เสมือนกับ Safe-T-Cut ช่วยตัดโอกาสที่เราจะเจอกับการขาดทุนอย่างหนักจนทำให้พอร์ทโฟลิโอโดยรวมนั้น “ฟกช้ำดำเขียว” จนเน่าเฟะและยากต่อการที่จะสามารถทำกำไรกลับมาเท่าทุนได้ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่หลายๆคนไม่เคยรู้เลยก็คือ สัญญาณการขายหรือ Exit Signal ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์แบบ Trend Following นั้น มักที่จะค่อยๆทยอยเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดหุ้นโดยรวมจะเกิดการดำดิ่งลงไปอย่างนักเสียด้วย! นั่นจึงทำให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ที่มีวินัยส่วนใหญ่นั้นสามารถที่จะรอดพ้นเงื้อมือมัจจุราจของตลาดหุ้น โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจปัจจัยอื่นๆเลยนอกจากแนวโน้มของราคาหุ้นในขณะนั้น

SETlnw3-All-Stocks-Trend_thumb

ภาพที่ 3 : ภาพกราฟ SET Index VS. Bullish Stock Composite แสดงสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นในแต่ละวัน โดยที่มันได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อตลาดหรือ SET Index เริ่มย่ำแย่ลง หุ้นต่างๆในตลาดจะเริ่มมีสัญญาณขายออกมาจนทำให้แนวโน้มของหุ้นที่เป็นขาขึ้นในขณะนั้นลดลงไปเรื่อยๆโดยอัตโนมัติ ในขณะที่สัญญาณซื้อจะค่อยๆเกิดขึ้นเมื่อตลาดกลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง จนทำให้สัดส่วนของจำนวนขึ้นที่เป็นขาขึ้นนั้นสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

SETlnw4-VS-Margin_thumb

ภาพที่ 4 : กราฟ SET Index VS. %Margin ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนมูลค่าเงินลงทุน ของพอร์ทโฟลิโอในแต่ละช่วงเวลา โดยเราจะสังเกตได้ว่าเมื่อตลาดเป็นย่ำแย่นั้น สัดส่วน %Margin ลดลงโดยอันโนมัติ ในขณะที่เมื่อตลาดค่อยๆดีขึ้น %Margin ก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเช่นกันจากสัญญาณที่เกิดขึ้นจากระบบ

การเล่นแบบเป็นเข่ง 

ความลับที่ไม่ลับอีกอย่างของกลยุทธ์ Trend Following ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการเล่นแบบเป็นเข่งหรือ Portfolio Trading ครับ เนื่องจากว่ากลยุทธ์การทำกำไรตามแนวโน้มนั้น ชื่อก็บอกว่าอยู่แล้วว่าเป็นการทำกำไรตามแนวโน้ม ดังนั้นถ้าหุ้นไม่มีแนวโน้มขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันมันก็ไม่มีทางกำไร และแนวโน้มใหญ่ๆที่ว่านี้ก็มักจะเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งในหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น (หุ้นตัวหนึ่งๆอาจมีแนวโน้มใหญ่ๆแบบ Super Trend เพียง 2-3 รอบของชีวิตเท่านั้น)

นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงหาทางออกด้วยวิธีการง่ายๆอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเฝ้ามองหุ้นเป็นตะกร้าคราวละหลายๆตัวแทนที่จะเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัว และค่อยๆทยอยเข้าซื้อขายหุ้นคราวละน้อยๆแทน โดยมีเหตุผลเพื่อที่จะทำให้เราสามารถเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้อยู่เสมอ และไม่พลาดโอกาสในการเข้าทำกำไรไป

ด้วยความประจวบเหมาะตรงนี้เองที่ทำให้พอร์ทโฟลิโอของนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมีลักษณะของการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นหลายๆตัวโดยอัตโนมัติ จนทำให้ความเสี่ยงรายตัวของหุ้นที่ถืออยู่ลดลง คงเหลืออยู่แต่ความเสี่ยงของตลาดหรือ Market Risk ที่มักจะเป็นตัวกดดันให้หุ้นส่วนใหญ่วิ่งไปพร้อมๆกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากตลาดหรือ Market Risk ตรงนี้ก็จะถูกบรรเทาลงไปได้ด้วยการใช้กลไกของการ Stop Loss ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดไม่เป็นใจนั่นเองครับ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว สำหรับนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มที่มีพอรท์การลงทุนที่ใหญ่และกว้างขวางสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์หลายๆอย่างก็ยิ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการเล่นแบบเป็น “เข่ง” ในข้อนี้ยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้กองทุน Hedge Fund ประเภท Commodity Trading Advisor (CTA) ชื่อดังหลายๆกองทุนได้แจ้งเกิดในเวทีโลกกันอย่างมากมาย

SETlnw5-Indrustries-Cumulative-Returns-2011-2014_thumb

ภาพที่ 5 : ภาพกราฟ Industries Cummulative Returns ซึ่งช่วยแยกผลกำไรที่เกิดจากระบบ Trend Following ออกเป็นรายอุตสาหกรรม ทำให้เราได้เห็นว่าการมีหุ้นที่เป็น Watchlist และกระจายน้ำหนักการลงทุนไปในหลายๆอุตสาหกรรมนั้นจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นในอุตสาหกรรมหลายๆกลุ่มอาจไม่ได้วิ่งขึ้นลงพร้อมๆกัน การมีตะกร้าหุ้นที่กว้างขวางจะช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถทำกำไรได้บ่อยครั้งและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

 

Note : ค่ากราฟไม่ได้เริ่มต้นจาก 0 เนื่องจากผมได้ทำการ Backtest เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – ปัจจุบัน

การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นอกจากที่กลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มแบบ Trend Following จะช่วยทำให้เราไม่ตกรถในตลาดขาขึ้น และติดดอยในตลาดขาลงแล้วนั้น เป็นที่รู้กันดีว่ากลยุทธ์แบบ Trend Following นั้นมักที่จะให้สัญญาณการซื้อที่มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ (แต่ก็ช่วยชนะตลาดได้นะ 55) ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆอีกอย่างหนึ่งของพวกมันก็คือการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดขนาดหรือเม็ดเงินในการลงทุนให้เหมาะสมในการซื้อขายแต่ละครั้งอยู่เสมอ (Money-Risk Management) นั่นจึงทำให้เรามักไม่เกิดการขาดทุนอย่างหนักขึ้นในการซื้อขายแต่ละครั้ง ดังนั้นเมื่อเวลาที่ตลาดเป็นขาลงหรือตลาดที่ผันผวนมากๆมาถึงแบบไม่รู้ตัวนั้น นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมักที่จะรอดตายได้อย่างปาฎิหารย์แบบไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้

setlnw7-Drawdown-2007-2008_

ภาพที่ 6  : ภาพกราฟ Drawdown แสดงให้เห็นถึงอัตราการขาดทุนสะสมของระบบ Trend Following จากจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี ค.ศ 2007-2008 (สีเขียว) เปรียบเทียบกับ Drawdown ของดัชนี SET Index ในขณะนั้น (สีดำ) ซึ่งทำให้เห็นว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following สามารถที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดไม่เจ็บตัวอย่างหนักได้เป็นอย่างดี

setlnw6-Drawdown-2014

ภาพที่ 7 : ภาพกราฟ Drawdown ของระบบเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ในปีล่าสุด ค.ศ. 2014 ที่พึ่งจะเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นดำดิ่งและเหวี่ยงอย่างรุนแรงในวันที่ 15-12-2014 ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ก็ยังคงสามารถที่จะเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มหลายๆคนถึงยังขาดทุนจนเจ๊งล่ะ?

ก่อนจะจบบทความนี้นั้น ผมเองก็อยากจะพูดถึงคำถามที่มักจะถูกถามหลังจากที่ผมอธิบายสิ่งเหล่านี้จนจบไปเรียบร้อยแล้วอีกสักนิด โดยที่คำตอบของผมนั้นก็คงจะเหมือนกับการที่คุณถามว่า “ทำไมหลายๆคนที่เรียนบริหารธุรกิจ จึงยังทำธุรกิจจนเจ๊งขาดทุน” นั่นแหละครับ

มันยังคงมีองค์ประกอบอื่นๆในการลงทุนอีกมากมายนอกเหนือจากกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นความอดทนมุ่งมั่น, ความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้นๆ, ทัศนคติในการลงทุน, วินัยในการลงทุนต่างๆ, EQ-IQ รวมไปถึงข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละคน หรือแม้แต่คำว่า “ดวง” อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อผลการลงทุนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วมันจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีทั้งคนที่ยังขาดทุนจนย่อยยับ จนไล่ไปถึงคนที่สามารถจะดำรงชีพอยู่ด้วยการลงทุนในตลาดนั่นเอง

และนี่ก็คือทั้งหมดของบทความนี้ครับ ซึ่งผมหวังว่ามันจะช่วยให้คุณเข้าใจว่าเหตุใดคนที่สามารถจะลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มอย่างมีวินัย จึงมีโอกาสที่จะขาดทุนอย่างย่อยยับค่อนข้างน้อย แม้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับสภาพตลาดที่ผันผวนสักเท่าไรนั่นเองครับ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน แล้วเจอกันใหม่ครับผม

mangmaoclub

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!