ลงทุนอสังหา ฯ แบบบัฟเฟตต์

buffett setvi

สำหรับ Value Investor ที่เน้นการลงทุนในหุ้นแล้ว การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นที่ดินเป็นสิ่งที่ไม่ใคร่พึงประสงค์นัก ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองเกี่ยวกับการลงทุนในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ก็แย่มาก เงินลงทุนย้อนหลังไปกว่า 10 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังติดลบและว่าที่จริงไม่สามารถที่จะ “Cut Loss” หรือขายตัดขาดทุนได้เพราะที่ดินนั้น “หาคนซื้อไม่ได้” ดังนั้น เป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้วที่ผมไม่เคยซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกเลย และก็คิดว่าถ้าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ผมก็จะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น จะไม่ซื้อเพื่อการลงทุน เพราะการลงทุนในอสังหา ฯ นั้น ผมไม่มีความชำนาญและผมก็รู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วมันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น และจากการศึกษาชีวิตของนักลงทุนเอกทั้งหลายของโลกอย่างเช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น ผมก็แทบไม่เคยได้ยินเลยว่าเขาลงทุนในอสังหา ฯ ยกเว้นการซื้อไร่ที่บ้านเกิดในช่วงวัยรุ่น บัฟเฟตต์เองนั้นคงไม่สนใจที่จะเอาเงินไปจมในสิ่งปลูกสร้างมากมายนัก ดังนั้น แม้แต่บ้านของเขาที่อาศัยอยู่นั้นก็เป็นบ้านแบบชนชั้นกลางที่เขาซื้อและอาศัยอยู่มาหลายสิบปี เงินส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดถูกนำไปลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงและทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกระดับต้น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ บัฟเฟตต์ได้เปิดเผยการลงทุนในอสังหา ฯ ของเขา มันเป็นการลงทุนเล็ก ๆ ที่เขานำขึ้นมาพูดเพื่อที่จะเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนในหุ้นแบบ VI

บัฟเฟตต์พูดในหนังสือรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ว่าเขาได้กลับไปเยี่ยมเยือนฟาร์มขนาด 400 เอเคอร์ น่าจะประมาณ 1,000ไร่) ที่เมืองเทคามาร์ของตนเอง ซึ่งนี่เป็นการกลับไปดูเพียงครั้งที่สองหลังจากที่เขาซื้อมาเมื่อปี 1986 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้วในราคา 280,000 เหรียญ เขาเล่าว่าในช่วงปี 1973 ถึง 1981 นั้นราคาพืชผลในย่านมิดเวสต์คือแถวเนบราสกาบ้านเกิดของเขามีราคาพุ่งขึ้นสูงมากเป็น “ฟองสบู่” สาเหตุเนื่องจากคนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น ครั้นแล้วฟองสบู่ก็แตกทำให้ราคาที่ดินทำไร่ตกลงมาถึง 50% หรือมากกว่านั้นส่งผลให้ชาวไร่ที่กู้เงินมาซื้อที่และธนาคารท้องถิ่นที่ปล่อยกู้ล้มละลายเป็นจำนวนมากคิดเป็นจำนวนถึง 5 เท่าของการล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปี 1986 บัฟเฟตต์ได้เข้าไปซื้อฟาร์มจากสถาบันประกันเงินฝากของรัฐที่ยึดที่ดินจากการล้มละลายมาขายในราคา 280,000 เหรียญ ซึ่งต่ำกว่าราคาที่แบงค์ปล่อยกู้ไปพอสมควรในหลายปีที่ผ่านมา บัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำไร่เลย แต่เขามีลูกชายที่รักการทำไร่และรู้ว่าที่แต่ละเอเคอร์จะสามารถปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้เท่าไรและต้องใช้ต้นทุนเท่าไรในการดำเนินการ จากนั้นเขาก็คำนวณได้ว่ากำไรที่ได้จะเป็นประมาณ 10% ต่อปีในช่วงนั้น นอกจากนั้น บัฟเฟตต์ยังคาดว่าประสิทธิภาพของการเพาะปลูกในอนาคตจะต้องดีขึ้นและราคาของพืชผลก็น่าจะสูงขึ้นซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแม้ว่าระหว่างทางอาจจะมีบ้างที่ราคาพืชผลอาจจะผันผวนบ้าง เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้เป็นเวลา 28 ปี กำไรของการทำฟาร์มเพิ่มขึ้น 3 เท่า และราคาของที่ดินเพิ่มขึ้น 5 เท่าหรือมากกว่านั้น บัฟเฟตต์เองก็ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำฟาร์ม

การลงทุนในอสังหา ฯ เรื่องที่สองของบัฟเฟตต์เกิดขึ้นในปี 1993 ขณะที่บัฟเฟตต์เป็น CEO ของซาโลมอนบราเดอร์ที่เขาเข้าไปแก้ปัญหาของบริษัทที่เมืองนิวยอร์ค เขาได้รับทราบว่ามีอาคารพาณิชย์ที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์คประกาศขายโดยกองทุนแก้ปัญหาหนี้เสียที่ได้ยึดที่จากการล้มละลายเนื่องจาก “ฟองสบู่แตก” และนี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่าการวิเคราะห์การลงทุนเป็นเรื่องง่ายเช่นเดียวกับเรื่องของฟาร์มที่เนบราสก้า นั่นก็คือ ราคาที่เขาซื้อนั้นจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 10% ต่อปีจากการปล่อยเช่าอาคารให้กับผู้เช่าที่เป็นร้านค้าขายสินค้าให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ ในช่วงที่เขาซื้อนั้น อาคารถูกบริหารโดยกองทุนซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทำให้มีหลายห้องว่างอยู่โดยไม่มีคนเช่า เขาคิดว่าเมื่อเขาซื้อแล้วก็สามารถนำมาปล่อยเช่าเพิ่มเติมได้ นอกจากนั้น พื้นที่เช่าประมาณ 20% เป็นการเช่าระยะยาวในราคาตารางฟุตละ 5 เหรียญในขณะที่ราคาเช่าปกติของรายอื่นเท่ากับ 70 เหรียญ ดังนั้น ในเวลาอีก 9 ปีที่สัญญาเช่าจะหมดอายุ เขาก็จะได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีกมาก บัฟเฟตต์ตัดสินใจซื้ออาคารร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารอาคารพาณิชย์

หลังจากสัญญาเช่าระยะยาวหมดอายุแล้ว ผลตอบแทนของการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเป็น 35% ต่อปีคิดจากเงินลงทุนครั้งแรก ยิ่งกว่านั้น ในระหว่างทาง บัฟเฟตต์ได้ไปกู้เงิน “รีไฟแน้นซ์” หรือกู้หนี้ใหม่มาใช้คืนหนี้เก่าที่เขาไปซื้ออาคารอีก 2 ครั้งในปี 1996 และ 1999 ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเขาได้เงินคืนคิดเป็น 150% ของเงินที่เขาจ่ายไปเพื่อซื้ออาคาร นั่นเท่ากับว่าเขาได้กำไร 50% หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 6 ปีแถมได้ตึกมาฟรี ๆ ประเด็นที่น่าทึ่งก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ ยังไม่เคยไปดูอาคารหลังนี้เลย

บัฟเฟตต์บอกต่อว่ารายได้ทั้งจากฟาร์มและอาคารพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปเป็นสิบ ๆ ปี แม้ว่ากำไรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายแต่การลงทุนทั้งสองจะมั่นคงและน่าพอใจสำหรับการลงทุนตลอดชีวิตของเขาและต่อไปถึงลูกและหลาน เขาเล่าเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกถึงพื้นฐานของการลงทุนที่ว่า คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในการลงทุน แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณจะต้องตระหนักในข้อจำกัดของคุณและจะต้องปฎิบัติตามแนวทางที่แน่นอนว่าจะใช้ได้ผล จงทำทุกอย่างให้ง่ายและอย่าพยายามเล็งผลเลิศ เมื่อถูกเสนอว่าจะได้กำไรแบบง่าย ๆ และรวดเร็วต้องรีบปฎิเสธทันที เน้นในเรื่องของผลิตภาพในอนาคตของทรัพย์สินที่คุณกำลังดูอยู่ ถ้าคุณไม่มั่นใจกับการประเมินผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินของทรัพย์สินในอนาคตก็อย่าไปซื้อ ไม่มีใครสามารถประเมินการลงทุนได้ทุกตัว คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่คุณต้องเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

ถ้าคุณเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของราคาของอสังหา ฯ ที่คุณกำลังคิดที่จะซื้อ คุณก็กำลังเก็งกำไร ไม่มีอะไรผิดหรือไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามบัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะเก็งกำไรและก็ค่อนข้างไม่เชื่อคนที่อ้างว่าสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ในกรณีอสังหาฯเล็ก ๆ สองแห่งของเขา เขาคิดแต่เพียงว่ามันจะผลิตหรือให้บริการอะไรได้ เขาไม่สนใจความผันผวนของราคารายวัน เกม ๆ นี้คนที่จะชนะก็คือคนที่เน้นไปที่ “สนาม” ไม่ใช่คนที่เน้นไปที่ “กระดานคะแนน” ความหมายของเขาก็คือ อย่าไปสนใจราคาอสังหาฯ แต่ให้สนใจว่าตัวอสังหาฯ นั้นทำเงินได้แค่ไหนและอย่างไร เช่นเดียวกัน การคิดถึงและพยากรณ์เรื่องภาวะเศรษฐกิจหรือภาพของตลาดก็เป็นเรื่องที่เสียเวลาและอาจจะอันตราย เพราะว่ามันทำให้เรามองไม่เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ กับการลงทุนของเรา เขาบอกว่าเมื่อเขาซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งแล้ว อะไรที่เกิดขึ้นในปีต่อมาคือปี 1987 และ 1994 ไม่มีความสำคัญกับความสำเร็จของการลงทุนของเขาเลยและเขาก็จำอะไรไม่ได้ เขารู้แต่เพียงว่า ข้าวโพดก็ยังคงถูกปลูกและเติบโตขึ้นที่เนบราสก้า และนักศึกษาก็ยังมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับการลงทุนในอสังหาฯตัวเล็ก ๆ สองตัวกับการลงทุนในหุ้นของบัฟเฟตต์ก็คือ หุ้นนั้นมีราคาให้เราเห็นนาทีต่อนาทีในขณะที่อสังหาฯ ไม่มี แต่การวิเคราะห์การลงทุนนั้นก็เหมือนกัน ก่อนที่จะจบบทความนี้ผมเองก็มีข้อสังเกตก็คือ การซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งของบัฟเฟตต์นั้น เป็นการซื้อจากการยึดของสถาบันการเงินในทรัพย์สินที่ราคาขึ้นไปเป็นฟองสบู่และตกลงมาอย่างหนักเมื่อฟองสบู่แตก ซึ่งทำให้ราคาน่าจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก และนี่ก็เป็นโอกาสของบัฟเฟตต์ที่จะซื้อทรัพย์สินที่มีคุณค่ายอดเยี่ยมในราคาที่ถูกสุดยอด ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ ก็ยังสามารถได้ผลตอบแทนที่งดงามจากการลงทุนได้โดยใช้หลักการแบบ VI

 

Cr. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร

หุ้นท่องเที่ยว

การท่องเที่ยว หุ้น

       การท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่โตต่อเนื่องระยะยาวเป็นเมกาเทรนด์มานานมาก แม้แต่ในยามที่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองรุนแรงและยาวนานกว่า 5-6 เดือน อย่างช่วงเร็ว ๆ นี้ การท่องเที่ยวก็ยังคงเติบโตได้ไม่ชะงักเหมือนกับธุรกิจอย่างอื่นทั้ง ๆ ที่การท่องเที่ยวน่าจะถูก “ผลกระทบ” มากกว่า เหตุผลที่การท่องเที่ยวเติบโตมาตลอดนั้นผมคิดว่ามีสาเหตุหลายประการนั่นคือ ข้อแรก การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่อาจจะพูดได้ว่า “ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์” นั่นก็คือ มนุษย์ที่อยู่รอดมาได้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนั้นก็มักจะเป็นคนที่ชอบการท่องเที่ยวที่จะทำให้สามารถหาอาหารเลี้ยงดูตนเองและเผยแพร่เผ่าพันธุ์โดยการแต่งงานกับคนที่อยู่ต่างถิ่นที่ทำให้เผ่าพันธุ์แข็งแรงไม่เป็นโรคภัยได้ง่าย ดังนั้น คนทั่วโลกต่างก็ชอบการท่องเที่ยวเมื่อมีความสามารถที่จะทำได้

         ข้อสอง การ “เปิดประเทศ” เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวนั้น เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ข้อมูลข่าวสารที่สามารถส่งถึงกันทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำมากผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็ทำให้คนสนใจไปเที่ยวในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และข้อสาม ที่อาจจะสำคัญที่สุดก็คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่าแทบไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของการบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นน้อยในขณะที่รายได้ของประชากรในโลกและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผลก็คือ คนรายได้ปานกลางสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศหรือจังหวัดไกล ๆ ได้มากขึ้นมาก และทั้งหมดนั้นก็คือเหตุผลที่ทำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง—เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

จุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่ามีอยู่ไม่น้อย ข้อแรกที่ผมคิดว่าค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็คือ คนไทยนั้น “ให้บริการ” ในแบบ “Human touch” หรือการมี “จิตใจ” ในการให้บริการสูง คนไทยจะมีนิสัยอ่อนน้อมกับผู้ที่ “อยู่สูงกว่าตน” เช่น อายุหรือตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า นี่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมที่มีมานานและยังไม่ได้จางหายไปมากนัก ดังนั้น เวลาที่คนไทยให้บริการ เราก็มักจะดูว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติหรือคนที่รวยกว่านั้น เป็นผู้ที่ “อยู่สูงกว่า” เราก็จะให้บริการอย่างอ่อนน้อมซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่คนมีความรู้สึก “เสมอภาค” กันมากกว่าและไม่รู้สึกว่าจะต้องอ่อนน้อมให้กับลูกค้าที่มารับบริการมากนัก ทำให้บริการในหลาย ๆ ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยนั้น มักจะมีความแข็งกระด้างกว่า ในหลาย ๆ แห่งที่ผมพบนั้น บริการอาจจะรวดเร็วมากแต่ความอ่อนโยนนั้นไม่ใคร่มี ดังนั้น ความประทับใจจึงไม่เกิดขึ้น

จุดแข็งข้อที่สองของไทยผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ทะเลและชายหาดที่สามารถนอนเล่นอาบแดดได้ตลอดปี หาดทรายของไทยหลายแห่งสวยงามมีชื่อติดระดับโลก ดังนั้น คนในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นซึ่งจำนวนมากเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงจึงนิยมมาพักผ่อนตากอากาศ จริงอยู่ ประเทศที่มีอุณหภูมิคล้าย ๆ ประเทศไทยและมีชายหาดที่สวยงามไม่น้อยกว่าไทยก็มีอยู่หลายแห่ง แต่ประเทศเหล่านั้นหลายแห่งก็อาจจะยังไม่พัฒนามากนักโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคทางด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทำให้ความนิยมของนักท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือสามารถรับนักท่องเที่ยวได้น้อยกว่า

จุดเด่นข้อสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยมีความได้เปรียบในด้านของการท่องเที่ยวนั้น ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่คุณภาพอาจจะสูงกว่า ตัวอย่างเช่น ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถแท็กซี่หรือรถสาธารณะอื่น ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักอย่างหนึ่งนั้น ในประเทศไทยค่อนข้างจะถูกและคุณภาพดีโดยเฉพาะในด้านของอาหาร นอกจากนั้น สินค้าโดยทั่วไปของไทยนั้นมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ดังนั้น เราจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบต้นทุนต่ำประเภท “แบ็คแพ็ค” ได้มาก และก็มักจะได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่เรื่อย ๆ

ธุรกิจหรือหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้น มีหลายกลุ่มแต่ที่โดดเด่นและตรงที่สุดประกอบด้วยหุ้นบริษัทการบิน ท่าอากาศยาน และโรงแรมและอาหาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องดีเสมอไป เหตุผลอยู่ที่ว่า การที่อุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่องยาวนานนั้นจริงอยู่ก่อให้เกิดความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม มันก็ดึงดูดให้ผู้เล่นทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่เข้ามาลงทุนให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในยามที่กำลังการให้บริการเหลือล้น ราคาการให้บริการก็อาจจะลดลงทำให้ไม่มีใครอยากเปิดบริการใหม่ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้กำลังการให้บริการเริ่มจะไม่ใคร่เพียงพอและส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำหรับธุรกิจการบินและโรงแรมแล้ว เวลาดี ๆ ของอุตสาหกรรมจะสลับกับเวลาที่ไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ ในขณะที่ท่าอากาศยานนั้น ลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการแทบจะรายเดียว ก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมเสมอ

มองในด้านของผลประกอบการจะพบว่า ธุรกิจทั้งสามต่างก็เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ ดังนั้น ต้นทุนคงที่ของบริษัทต่าง ๆ จะสูง แต่ในด้านของต้นทุนแปรผัน หรือต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นจะต่ำมาก นั่นก็คือ ถ้าเครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 50% ของที่นั่งเป็น 70% รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นเพียงอาหารที่ต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น และนี่ก็คล้าย ๆ กับกรณีของโรงแรมที่มีผู้เข้าพัก 50% ซึ่งก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับการที่แขกเข้าพัก 70% และก็เช่นเดียวกับสนามบินที่ค่าใช้จ่ายผันแปรนั้นจะต่ำมากในขณะที่ต้นทุนคงที่ที่เป็นต้นทุนเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคาจะสูงมาก

ผลกระทบของบริษัทที่มีต้นทุนคงที่สูงและต้นทุนแปรผันต่ำก็คือ กำไรหรือขาดทุนของบริษัทจะมีความหวือหวามากขึ้นอยู่กับปริมาณของลูกค้าหรือธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ บริษัทที่มีปริมาณลูกค้าสูงกว่าจุดคุ้มทุนแล้ว การเพิ่มขึ้นของลูกค้าหรือรายได้จะช่วยเพิ่มกำไรได้สูง ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าไร กำไรก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นจนกระทั่งเต็มกำลังการผลิต ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทมีลูกค้าน้อยลง บริษัทก็จะขาดทุนรุนแรงเนื่องจากต้นทุนคงที่ที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ลดลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นของกิจการอย่างการบินและโรงแรมนั้น การติดตามดู Demand กับ Supply รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทจึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยที่การเปลี่ยนแปลงในด้านของการบินนั้นจะค่อนข้างรวดเร็วมากเนื่องจากธรรมชาติของเครื่องบินที่สามารถจะ “บิน” ได้ ซึ่งทำให้การปรับตัวของการผลิตทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบินยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ผันแปรอย่างรวดเร็วด้วย ทำให้การบินนั้นมีความผันผวนของผลประกอบการสูง ในส่วนของโรงแรมนั้น การปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานจะทำได้ช้ากว่าเนื่องจากระยะเวลาของการสร้างโรงแรมต้องใช้เวลานาน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการจึงเป็นไปอย่างไม่รวดเร็วนัก

ในส่วนของสนามบินนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสดใสกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจสนามบินนั้นเป็นธุรกิจที่มักถูกควบคุมโดยรัฐ ราคาค่าบริการจึงถูกควบคุมไม่ให้สูงเกินไปเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและเป็นการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ดังนั้น กำไรของกิจการจึงไม่อาจจะทำได้เต็มที่หรือสูงสุดตาม Demand หรือความต้องการใช้ของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในยามที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว กำไรก็จะเพิ่มขึ้นเร็วตามการเพิ่มของลูกค้าจนกว่าสนามบินจะ “เต็มกำลังการให้บริการ” และต้องลงทุนขยายสนามบินใหม่

ก่อนที่จะจบการวิเคราะห์ ผมคงต้องเตือนว่า เรายังต้องพิจารณาในด้านของราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวด้วยว่ามันจะต้องเหมาะสมกับพื้นฐานของมัน ซึ่งนอกจากธรรมชาติของธุรกิจแล้ว ก็ยังต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้บริหารและปัจจัยเฉพาะของแต่ละบริษัทด้วย

 

CR.ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก ดร.นิเวศน์

green-investments-VI

ในช่วงที่ผมเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ เกือบ 20 ปีมาแล้วนั้น ผมเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงนั้นตลาดหุ้นตกต่ำมาก หุ้นในตลาดแทบทุกตัวต่างก็มีราคา “ถูก” การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกจึงทำได้ง่าย กลยุทธการลงทุนของผมในตอนนั้นก็คือการซื้อหุ้นที่มีคุณภาพพอใช้ได้แต่มีราคาถูกมาก หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีราคาถูกพอสมควรทีเดียว ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นพร้อม ๆ กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ราคาหุ้นทั่วไปในตลาดก็ไม่ถูกเหมือนเดิมแต่ก็ยังค่อนข้างถูก กลยุทธการลงทุนของผมก็เปลี่ยนแปลงไป ผมหันมาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีมากที่มีราคาถูกหรือราคา “ไม่แพง” เป็นแนวลงทุนแบบ Super Stock จวบจนถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นปกติแล้วและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเต็มที่ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น ส่งผลให้หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นซุปเปอร์สต็อกมีราคาแพงขึ้นมากจนแทบจะไม่เหลือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยในการลงทุน ปัญหาของผมก็คือ ถ้าเราได้รับปันผลมาหรือขายหุ้นบางตัวทิ้งเราควรจะเอาเงินไปลงทุนแบบไหน? และนี่นำมาสู่ประเด็นที่ผมจะพูด นั่นก็คือ กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์

ในภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นนั้น เรายังมีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในความหมายที่ว่า ค่า PE ยังต่ำกว่าหรือประมาณ 10 เท่าต้น ๆ ค่า PB ไม่ถึง 1 หรือหนึ่งเท่าเศษ ๆ และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3-4% ของปีล่าสุด การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีหรืออาจจะมีปัญหาการทำกำไรในอนาคตทำให้ตลาดไม่ให้คุณค่ามันเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม “ตลาดอาจจะผิด” ในบางอุตสาหกรรมหรือในหุ้นบางตัว ดังนั้น กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูกของผมนั้น หลัก ๆ แล้วก็คือ พยายามหาหุ้นที่ “ถูกมาก” ที่ตัวธุรกิจหรือกิจการอาจจะไม่ “เลวร้าย” อย่างที่ตลาดหรือนักลงทุนทั่ว ๆ ไปคิด ลองมาดูกันไปทีละกลุ่มที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนเนื่องจากว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังมีราคาถูกหรือไม่แพงในยามนี้

หุ้นกลุ่มแรกที่ยังถูกอยู่และก็คงถูกไปเรื่อย ๆ ก็คือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ผลิตสิ่งทอที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแฟชั่น และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้มีปัญหาว่าในระยะยาวแล้วอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นซึ่งทำให้ธุรกิจต้องค่อย ๆ หดตัวลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นถูกกลุ่มนี้จึงไม่มีประโยชน์ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจะยากมาก กลยุทธก็อาจจะเป็นว่าเราไม่สนใจจะดู อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าใจกิจการอย่างลึกซึ้งก็อาจจะหาหุ้นที่ไม่ได้ผลิตสินค้า “ตะวันตกดิน” อย่างที่คนอื่นคิดแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น ถ้าพบบริษัทที่มีอนาคตแต่ราคาถูกมากก็สามารถลงทุนได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เราไม่ควรมองผลประกอบการระยะสั้นแล้วเข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มตะวันตกดินแม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกมาก

หุ้นกลุ่มต่อมาที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็คือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายอานิสงค์จากการที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้จากผลกระทบเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง การที่หุ้นขายบ้านจัดสรรหรือทำคอนโดมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะค่อนข้าง “อิ่มตัว” และมีคู่แข่งมาก อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ดังนั้น โดยปกติที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล การที่จะหวังให้หุ้นมีค่า PE ที่สูงขึ้นจึงอาจจะหวังไม่ได้มากนัก ดังนั้น ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ นอกจากหุ้นจะต้องถูกมากแล้ว ผมคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะมีกำไรมากขึ้นอย่างน้อยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแน่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม โดยที่ค่า PE ก็ยังเท่าเดิมหรือไม่น่าจะต่ำลง แต่ถ้าโชคดี ค่า PE ก็เพิ่มขึ้นด้วยเราก็จะได้ “สองเด้ง” ส่วนข้อที่ต้องระวังก็คือ อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ถ้ามีการปรับขึ้นแรง ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลง เช่นเดียวกัน ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การซื้อบ้านก็อาจจะลดลงมาก และนั่นทำให้การลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงพอสมควร

หุ้นกลุ่มใหญ่มากกลุ่มหนึ่งที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่พอสมควรก็คือหุ้นธุรกิจการเงินซึ่งรวมถึงหุ้น ธนาคาร เงินทุน และหลักทรัพย์ หุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนให้คุณค่าน้อยทำให้มีค่า PE PB ไม่สูง และปันผลตอบแทนค่อนข้างดีนั้น เป็นเพราะเรื่องของความเสี่ยงที่ “รุนแรง” ในกรณีของบริษัทที่อิงอยู่กับการปล่อยกู้อย่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหลาย โดยที่บริษัทเหล่านี้อาจจะประสบกับปัญหาหนี้เสียที่รุนแรงซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนหนักหรืออาจจะล้มละลายได้เนื่องจากจำนวนเงินปล่อยกู้นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัทเอง ส่วนในกรณีของธุรกิจหลักทรัพย์เองนั้น การแข่งขันในธุรกิจรุนแรงและมักเป็นการแข่งขันกันทางด้านของราคาเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่งนั้น ปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทโบรกเกอร์เองนั้น ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้นราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จึงไม่สามารถจะแพงเหมือนธุรกิจอื่นที่มีความแน่นอนกว่า

กลยุทธการลงทุนในธุรกิจปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นแบงค์หรือบริษัทให้กู้เช่าซื้อนั้น ผมคิดว่าการที่หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในด้านของบุคคลธรรมดา ดังนั้น กลยุทธที่ควรใช้ก็คือ เราควรเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มที่ราคาก็ถูกอยู่แล้ว นอกจากนั้น เราควรต้องดูว่าหนี้เสียของบริษัทนั้นจะสามารถควบคุมได้ไม่สูงเกินไป นอกจากนั้น ความสม่ำเสมอของผลงานในอดีตก็ควรจะต้องเป็นปัจจัยประกอบในการวิเคราะห์ด้วย ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ผมคิดว่าถ้าจะลงทุนควรจะเน้นที่ความถูกมาก ๆ เช่น เฉพาะเงินสดที่มีในบริษัทก็อาจจะมากกว่าราคาหุ้นแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าเลิกบริษัทเอาเงินมาแบ่งกันก็อาจจะคุ้มแล้ว ผมเองไม่ทราบว่ายังมีหุ้นหลักทรัพย์ที่ถูกขนาดนั้นหรือไม่ แต่นี่ก็คือกลยุทธหนึ่งที่จะซื้อหุ้นหลักทรัพย์

หุ้นพลังงาน “ดั้งเดิม” บางตัว นี่คือหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มีมานาน หุ้นบางตัวนั้นขนาดใหญ่มากและทำธุรกิจหลากหลายเกี่ยวกับพลังงาน แม้ว่ากิจการจะมีกำไรผันผวนตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว กำไร “ปกติ” ของบริษัทก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ทำให้ขาดแรง “เก็งกำไร” จากนักลงทุนรายย่อย นอกจากนั้น การเติบโตของกิจการเองก็ไม่สูง ทำให้ตลาดไม่ใคร่ให้คุณค่ามากนัก ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ถือว่ายังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ควรจะต้องเข้าใจว่า ข้อแรก ราคานั้นไม่ได้ถูกมาก ข้อสอง การจะได้ผลตอบแทนมากและเร็วน่าจะยาก การลงทุนควรจะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนพอสมควรและความเสี่ยงไม่สูง ส่วนกลยุทธการลงทุนก็เช่นเคย ต้องเน้นที่หุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน ขณะเดียวกัน ผลประกอบการก็จะต้องมีความสม่ำเสมอมั่นคงพอสมควร และปันผลที่ได้ก็ต้องค่อนข้างดี อย่างน้อยควรจะได้ถึง 4%ในปีล่าสุด

ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธคร่าว ๆ ของการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนนี้ สำหรับผมแล้ว มันเป็นการเลือกที่เรียกว่า “Second Best” คือ ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด แต่มันยังดีกว่าการเก็บเป็นเงินสดไว้ในธนาคาร การลงทุนในหุ้นถูกแบบนี้ อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถือไว้ยาวนานมาก เราต้องคอยเฝ้าดูอยู่เสมอว่ามันถึงเวลาขายหรือยัง ไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่เราลงทุน แต่ต้องดูว่ามีโอกาสที่จะพบหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าและถือลงทุนระยะยาวกว่าได้หรือไม่ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว นี่คือการลงทุนที่อาจจะไม่ “ถาวร” แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และดังนั้น มันจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา

Investment by… ดร.นิเวศ

webblog_1_nivate

เรื่องของการบริหารนั้น  เรามักจะมี “Key Word” หรือเป็นคำที่อธิบายหัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่นคำว่า  “Management by Objective”  หมายความว่าเป็นการบริหารแบบที่ยึดเอา  “เป้าหมาย” เป็นตัวตั้งหรือเป็นหัวใจสำคัญ   ในการลงทุนนั้น  ไม่มีคำแบบนี้ในตำรา เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าการลงทุนนั้น  อาจจะไม่ใคร่มีปัจจัยเดียวที่โดดเด่นขนาดเอามาเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน   อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีคนถามผมว่าผมลงทุนโดย  “ทำอย่างไร?”  คำตอบของผมก็คือ  ผมทำหลายอย่าง  และถ้าจะใช้คำเลียนแบบเรื่องของการบริหาร   ผมจะบอกอย่างนี้ครับ

เริ่มต้นผมจะบอกว่า  การลงทุนของผมนั้นเป็น  “Investment by walking around” นั่นก็คือ  เวลาผมจะเลือกหุ้นลงทุน  ผมแทบไม่ฟังนักวิเคราะห์หรืออ่านจากบทวิเคราะห์ใด ๆ  เลย  ผมชอบ “เดินหา” ไปเรื่อย ๆ   ความหมายของผมก็คือ  ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำกิจกรรมเรื่องต่าง ๆ  ในสถานที่ ๆ แตกต่างกันไป  ผมไปทั้งในที่ ๆ เจริญหรือเป็นแหล่งที่คนมีฐานะดีไปกันและไปในที่ ๆ คนชั้นกลางหรือคนจนไปกันหรือเป็นแหล่งของคนชั้นรากหญ้า   ผมชอบไปต่างประเทศและก็เดินเล่นในที่ ๆ  สุดหรูเช่นเดียวกับที่ ๆ เสื่อมโทรม   การทำอย่างนั้น  จริง ๆ  แล้วไม่ใช่ว่าผมตั้งใจทำ  ผมเพียงแต่เป็นคนที่สนใจชีวิตและโลกกว้าง  ผมรู้สึกสนุกที่ได้ไปสัมผัสกับผู้คนที่หลากหลายและได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของพฤติกรรมที่น่าสนใจของคนที่มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับวัฒนธรรมของคนแต่ละถิ่น  และนี่ก็คือมิติแรกของการลงทุนในแบบของผม  ผมเชื่อว่าการที่เราได้รู้จักหรือสัมผัสกับ  “โลกที่กว้าง” จะทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้นและจะสามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ได้ถูกต้องมากกว่าการอยู่กับที่ในบริเวณแคบ ๆ

ถัดจากการลงทุนแบบเดินไปหรือท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ  ก็คือ  การลงทุนแบบ “Investment by watching around” นั่นคือ  การลงทุนของผมนั้น  มาจากการมองหรือสังเกตสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่รอบตัวโดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ  ที่เราสามารถนำไปประกอบในการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่เราจะลงทุน  ผมทำแบบนั้นจนเป็นนิสัยที่ติดตัว   เวลาผมเดินเข้าห้าง  ผมจะมองดูแทบทุกร้านที่ผมเดินผ่าน  ผมดูว่าร้านไหนมีคนมากและร้านไหนเหงา   ผมดูว่ามีสินค้าอะไรขายและมันเป็นอย่างนั้นมานานแล้วหรือมันเพิ่งมีมาไม่นาน   ผมชอบดูคนที่เดินผ่านไปมา  พวกเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร  แต่งตัวอย่างไรและเดินเร็วไหม?   เวลาผมไปบรรยายหรือไปสอนนักศึกษาในแต่ละแห่ง  ผมก็มักจะสังเกตว่าผู้ฟังเป็นอย่างไร  อายุเท่าไร  เขาสนใจมากน้อยแค่ไหน  ผมไม่ค่อยมองผ่าน ๆ  แต่ผมมักจะตั้งใจมอง  ผมคิดว่าการ  “สังเกต” สิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและหา  “ผู้ชนะ” ได้ถูกต้อง  และนี่ก็คือกระบวนการในการเลือกหุ้นที่สำคัญข้อหนึ่ง

วิธีการลงทุนของผมข้อต่อมาก็คือ  “Investment by  thinking around”  นี่คือกระบวนการสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ผมมักจะทำตลอดเวลา  นั่นก็คือ  ผมเป็นคนที่คิดตลอดเวลา เวลาผมพบอะไรหรือสังเกตอะไรอยู่ผมก็จะคิดไปด้วย  เวลาคิดผมจะคิดในแง่ของการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ผมเห็นกับสิ่งที่เป็นแบบเดียวกันที่ผมเก็บไว้ในสมองที่ได้พบมาในอดีต  เวลาผมเห็นว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งมีคนรอคิวยาว  ผมก็จะดูว่ามันเป็นอย่างนั้นแทบทุกวันหรือมันมีโปรโมชั่นพิเศษ  สิ่งที่ผมคิดนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีไหม  มันเป็นสถาบันที่ดีไหม  มันเป็นผู้ชนะหรือไม่  และมันจะเติบโตขึ้นหรือไม่ในอนาคต   แม้แต่เวลาที่ผมไม่ได้เดินดูอะไรหรือไม่ใช่เวลาที่ควรจะคิด เช่น  เวลาที่ผมกำลังวิ่งออกกำลังประจำวันในสวนข้างบ้าน  ผมก็มักจะคิดไปเรื่อย ๆ  ทบทวนสิ่งที่ผมเห็นหรือคิดค้างอยู่  ผมรู้สึกว่าเวลาวิ่งเหยาะ ๆ นั้น  เหมาะกับการคิดในแบบ  “จินตนาการ”  ได้ดีกว่าเวลานั่งอยู่กับที่  บางทีมันอาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในที่กว้างที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีขีดจำกัดในการคิดหรือทำอะไรต่าง ๆ

นอกจากการคิดแล้ว  ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมากที่สุดหรือใช้เวลามากที่สุดอย่างหนึ่งในแต่ละวันก็คือการอ่าน  ดังนั้น  หลักสำคัญของวิธีการลงทุนของผมก็คือ  “Investment by reading around”  ความหมายในข้อนี้ก็คือ  วิธีหาหุ้นลงทุนของผมนั้นมาจากการวิเคราะห์ที่ผมใช้ศาสตร์หรือความรู้ต่าง ๆ  หลากหลายมาก  และการที่จะมีความรู้แบบนั้นได้ก็หมายความว่าผมต้องอ่านหนังสือมากมายในหลาย ๆ  สาขาวิชาไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องของเศรษฐศาสตร์  การเงิน  การลงทุน  หรือเรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น  ว่าที่จริง  เวลาที่ใช้อ่านหนังสือถ้าคิดเป็นเรื่องของวิชาการแล้ว  ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่าจะมากที่สุด  ทั้งประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ  เหตุผลที่ผมชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์นั้น  เป็นเพราะมันช่วยเล่าเรื่องของ  “วิวัฒนาการ”  ของสิ่งต่าง ๆ และของมนุษย์  ซึ่งจะทำให้ผมได้ “ภาพกว้าง”  หรือ  “ภาพใหญ่”  ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ  เกิดขึ้นอย่างไร  ใครชนะ  ใครแพ้  และอนาคตน่าจะมุ่งไปทางไหน  และที่สำคัญที่สุด  ใครจะเป็นผู้ชนะ?   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  การลงทุนก็คือการที่เราต้อง  “Reading around”

หลักการลงทุนข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญหรือหัวใจข้อหนึ่งในการลงทุนที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จก็คือ  “Investment by staying around”  หรือการลงทุนที่ลงทุนไปเรื่อย ๆ  ไม่หนีออกจากตลาดในแง่ของพอร์ตความมั่งคั่งนั่นก็คือ  ทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดของผมมักจะอยู่กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา  เพราะผมคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนในหุ้นของกิจการคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว  นี่เป็นข้อหนึ่ง ข้อที่สองในความหมายของการ Staying around  ก็คือ  ผมอยากลงทุนในหุ้นแต่ละตัวแบบถือยาว  ไม่ต้องคิดขายในเวลาอันสั้น  ผมคิดว่าปรัชญาการลงทุนที่ถูกต้องที่สุดก็คือ  ถ้าบริษัทดีเด่นและสามารถทำกำไรและเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  บริษัทนั้นจะต้อง  “รวย”  และรวยขึ้นเรื่อย ๆ และเราในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของมัน  เราก็จะต้องรวยตามกันไป  ไม่มีทางเป็นอื่น  ดังนั้น  หน้าที่สำคัญของการหาหุ้นลงทุนก็คือ  หาบริษัทที่ดีเยี่ยมและจะเติบโตในระยะยาว

ความหมายของการ  Staying around ข้อที่สามของผมก็คือ  หัวใจสำคัญของการลงทุนนั้นอยู่ที่  “ระยะเวลาของการลงทุน”   ยิ่งเรามีเวลาลงทุนยาวนานเท่าไร  เราก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น  ทุกปีที่ผ่านไป  หุ้นในพอร์ตของเราควรจะโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 10% ขึ้นไป ถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 7 ปี  ความมั่งคั่งหรือเงินเราก็โตขึ้นไปไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าตัว  ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก—ถ้าเราอายุยังน้อยและ/หรือมีสุขภาพดี  และเรายึดมั่นอยู่กับการลงทุนในหุ้นตลอดเวลาแม้ในยามที่ทุกอย่างดู  “น่ากลัว”  สำหรับผมแล้ว  การมีเวลาในการลงทุนมากนั้นถือว่าเป็น  “พร” ที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งของการลงทุน  ดังนั้น  เราจะต้องหาเวลาให้ได้มากที่สุดเพื่อที่ว่าเราจะได้อยู่ดูการเติบโตของพอร์ตของเรา  โชคไม่ดีที่ผมอายุค่อนข้างมากแล้วเมื่อเริ่มการลงทุนอย่างจริงจัง   สิ่งที่ผมยังพอจะทำได้ก็คือ  พยายามรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อที่จะทำให้อายุยืนขึ้น  โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานหรือวิเคราะห์การลงทุนให้หนักหรือเครียดเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนปีต่อปีแต่ทำให้อายุสั้นลง  ความสำเร็จของการลงทุนของผมในยามนี้อยู่ที่ว่าจะสามารถอยู่ลงทุนต่อไปได้อีกกี่ปีมากกว่าเรื่องของผลตอบแทนปีต่อปี  ถ้าจะพูดแบบ  “ดรามา” หน่อยก็อาจจะบอกว่า   เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราอายุมากจน  “ใกล้ตาย”  การ “ลุ้น” ในเรื่องของผลตอบแทนหรือความมั่งคั่งของเราคงจะออกมาว่า  ปีนี้จะยัง  “Staying around”  หรือยังอยู่ไหม?  ถ้ายังรอดได้  โอกาสก็คือ  เราก็จะรวยขึ้นไปอีก 10%  ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำได้ดีแค่ไหนเทียบกับตลาดหรือเทียบกับใคร ๆ

โลกในมุมมอง VI

ดร.นิเวศ VI Thailand

 

Value Investor จำนวนมากหรืออาจจะเรียกว่าส่วนใหญ่ ชอบลงทุนในหุ้นตัวเล็กหรือบริษัทขนาดเล็ก เหตุผลก็คือ พวกเขาเชื่อว่าหุ้นตัวเล็กนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติได้หลัก ฐานที่ปรากฏในตลาดหุ้นก็ “ชัดเจน” หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า บางตัวเป็นสิบเท่าภายในเวลาเพียงไม่เกิน 1- 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. ไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท หลายตัวอาจจะไม่เกินพันล้านบาทด้วยซ้ำ หุ้นตัวเล็กนั้นมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนไม่เฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไรเล่นหุ้น รายวัน แต่เป็นขวัญใจของ VI ด้วย ว่าที่จริง VI ระดับ “เซียน” ที่ทำผลตอบแทนมหาศาลในช่วงเร็ว ๆ ต่างก็รวยมาด้วยหุ้นตัวเล็กเป็นส่วนใหญ่ แทบจะเป็นข้อสรุปได้เลยว่า ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในหุ้นสูงมากโดยเฉพาะเมื่อพอร์ตของคุณยังเล็กอยู่ นั้น ไม่มีทางอื่นนอกจากลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก

ลองมาดูกันว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และความเสี่ยงอยู่ที่ไหน

ประเด็นแรก มองกันที่พื้นฐาน หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะมีโอกาสเติบโตสูงในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น มักจะเติบโตเต็มที่หรือเติบโตไปมากแล้ว การที่หุ้นตัวใหญ่จะมียอดขายและกำไรเติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลา 3-4 ปี นั้นน่าจะทำได้ยากมาก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นบางบริษัทสามารถเติบโตเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัว ได้ภายในระยะเวลาเดียวกัน แนวความคิดก็คือ หุ้นตัวใหญ่นั้นมักจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมักอยู่ในตลาด ที่อิ่มตัวหรือใกล้จะอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะโตต่อไปก็จะน้อยลงในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะอยู่ในธุรกิจที่ ตลาดกำลังโตหรือไม่ก็ยังเป็นกิจการที่เล็กและมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย ดังนั้น จึงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้

ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในเรื่องของตลาดที่อิ่มตัวนั้นบ่อยครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง แน่นอนว่าการเติบโตระดับที่เกินปีละ 15-20 % ในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไปสำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่การโตปีละ 7-10% ก็น่าจะยังทำได้อยู่ไม่น้อย แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เริ่มจะเกิดขึ้นในเมืองไทยก็คือ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่ม “Go Inter” นั่นคือเริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และถ้าหากว่าทำสำเร็จ ข้อจำกัดเรื่องตลาดอิ่มตัวก็จะหมดไป ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังมีโอกาสโตไปได้เรื่อย ๆ ในระดับที่น่าประทับใจซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นยังสูงขึ้นได้เรื่อย ๆ นี่ทำให้ผมนึกถึงหุ้นโค๊กที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนในช่วงนั้นถ้าไม่คิดถึงตลาดต่างประเทศแล้วโค๊กก็ น่าจะเป็นหุ้นที่ “อิ่มตัว” เพราะคนอเมริกันทุกคนดื่มโค๊กกันแทบจะแทนน้ำแต่หลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อจีนและประเทศกำลังพัฒนาเปิดกิจการโค๊กก็โตขึ้นจากการขยาย กิจการไปต่างประเทศและทำให้หุ้นโค๊กปรับตัวขึ้นมหาศาล

แน่นอนว่าหุ้นตัวเล็กที่เติบโตสูงนั้นสามารถเติบโตได้มากกว่าหุ้นตัวใหญ่ แต่ความเสี่ยงของหุ้นตัวเล็กก็สูงกว่ามาก ถ้ามองจากสถิติโดยรวมบางทีก็อาจจะพบว่าหุ้นตัวเล็กจำนวนมากนั้น ไม่ได้โตไปไหนเลย เคยเล็กอย่างไรก็เล็กอย่างนั้น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่โตขึ้นนั้น บางทีก็โตแบบไม่มีคุณภาพ นั่นคือ โตโดยที่กำไรไม่เพิ่มหรือโตโดยที่ต้องลงทุนไปมากจนแทบไม่คุ้มที่จะโต อาจจะมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่โตจริงและโตมากซึ่งทำให้เกิดภาพว่าหุ้นตัว เล็กโตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในแง่ของธุรกิจนั้น หุ้นตัวเล็กก็น่าจะสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ดังนั้น สำหรับ VI หรือนักลงทุนที่ไม่ใช่ “เซียน” แล้ว การเล่นหุ้นตัวเล็กก็อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหนือกว่า ถ้าจะพูดไป การลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่ยังเติบโตดีในระดับ 15% ต่อปีนั้นผมคิดว่าดีกว่าเล่นหุ้นตัวเล็กที่มีโอกาสโต 30% แต่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

ประเด็นที่สอง คือเรื่องที่หุ้นตัวเล็กนั้นไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นติดตามหรือวิเคราะห์หา มูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น หุ้นตัวเล็กส่วนใหญ่จึงถูก “มองข้าม” หุ้นหลายตัวอาจจะมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากเรียกว่าเป็นหุ้นที่ “Under Valued” สุด ๆ จึงเป็นโอกาสที่ VI จะสามารถเข้าไปซื้อและทำกำไรได้มหาศาลหลังจากที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะ ตระหนักถึงมูลค่าของมันและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นบูม มีการเก็งกำไรสูงอย่างในปัจจุบันนั้น หุ้นตัวเล็กกลับ กลายเป็นหุ้นยอดนิยม ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อาจจะไม่ได้ ทำรายงานการวิเคราะห์เป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่วิเคราะห์เลยแต่นักลงทุนโดย เฉพาะที่เป็นแนว VI
ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากและมีความสามารถสูงไม่แพ้นักวิเคราะห์ก็หันมาสนใจ หุ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ ดังนั้น ที่บอกว่าหุ้นตัวเล็กนั้นเป็นหุ้นที่ถูกมองข้ามนั้น ในอดีตอาจจะเป็นจริง แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีน้อยลงไปมาก ว่าที่จริงถ้าดูกันที่ค่า PE ซึ่งบ่งบอกถึงความถูกความแพงของหุ้นโดยรวมแล้ว หุ้นตัวเล็กไม่ได้ถูกกว่า หุ้นตัวใหญ่เลย ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นตัวเล็กนั้น ในขณะนี้ไม่ได้ถูก “มองข้าม” อีกต่อไป และดังนั้น หุ้นตัวเล็กก็ไม่ได้ Under Valued ตรงกันข้าม จำนวนไม่น้อยน่าจะ Over Valued ด้วยซ้ำ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้นมีโอกาสที่จะถูก “แจ็คพ็อต” คืออาจจะทำกำไรได้หลาย ๆ “เด้ง” หรือหลาย ๆ เท่าหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น บางทีไม่ถึงปีในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็มักจะไม่สามารถทำ กำไรแบบนั้นได้ ถ้าจะโตระดับนั้นได้ก็มักจะต้องอาศัยเวลาหลาย ๆ ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทน “ระดับเทพ” ได้

ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ที่มีความเสี่ยงและเป็นเรื่องที่เราจะต้องเลือกว่าเราจะไปในเส้น ทางไหน นั่นก็คือ จะเติบโตอย่างปลอดภัยและไปช้ากว่า หรือจะโตอย่างรวดเร็วแต่เสี่ยงที่จะล้ม เหลวเมื่อหุ้นที่อาจจะโตหลายเด้งนั้นกลายเป็นลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จสูงมากในระยะยาวไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนดีผิด ปกติในปีใดปีหนึ่งแต่ขึ้นอยู่กับความคงเส้นคงวาของผลตอบแทนที่ดีปีแล้วปี เล่า วอเร็น
บัฟเฟตต์ เองนั้น ไม่เคยมีปีใดที่เขาสามารถทำผลตอบแทนของพอร์ตได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ เลย แต่สถิติระยะยาวของเขาไม่มีคนเทียบได้ และเขาแทบจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวเล็กเลย

ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบหุ้นตัวเล็กว่าที่จริงในช่วงแรก ๆ ของการลงทุนนั้น
ส่วนใหญ่ผมมักจะลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และทุกวันนี้ผมก็คิดว่าโอกาสในหุ้นตัว เล็กก็ยังดีกว่าหุ้นตัวใหญ่แม้ว่าหุ้น ตัวเล็กสำหรับผมในปัจจุบันอาจจะเป็น “หุ้นขนาดกลาง” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลในการลงทุนในหุ้นตัวเล็กหลายๆ เรื่องนั้นในปัจจุบันมีน้ำหนัก น้อยลงไป พูดง่ายๆ หุ้นตัวเล็กไม่ใช่ขวัญใจของผมและผมไม่เน้นหุ้นตัวเล็ก ไม่ใช่แค่ เพราะว่าหุ้นตัวเล็กหาซื้อหุ้นยากไม่มีสภาพคล่อง แต่เป็นเพราะว่าหุ้นตัว เล็กนั้นส่วนใหญ่ไม่มีความเข้มแข็งหรือความโดดเด่นพอในแง่ของธุรกิจ ซึ่งทำ ให้การลงทุนระยะยาวไม่สามารถทำได้ง่าย เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงก็มักจะสูงกว่าที่ผมอยากจะรับ