บอร์ด ปตท.ขายหุ้น”บางจาก”ให้กองทุนวายุภักษ์

บอร์ด ปตท.ขายหุ้น”บางจาก”ให้กองทุนวายุภักษ์ 15% ที่เหลือเปิดกว้างผู้สนใจเสนอซื้อ

ptt

บอร์ด ปตท.อนุมัติขายหุ้นบางจากให้กองทุนวายุภักษ์ 15% ที่เหลืออีก 12.22% เจรจากับผู้ที่สนใจซื้อ โดยเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเสนอเงื่อนไขและราคาเข้ามา มั่นใจแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2558 ย้ำเหตุเลือกกองทุนวายุภักษ์เนื่องจากเสนอราคาและเงื่อนไขดีที่สุดมา มั่นใจดีลนี้ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และรับรู้เป็นกำไรจากการขายหุ้น 4-5 พันล้านบาท

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)วาระพิเศษเรื่องการขายหุ้นบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(BCP)ที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ 27.22%วันนี้ (3 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดปตท.พิจารณาอนุมัติให้ขายหุ้นบางจากฯทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกขายหุ้นบางจากฯสัดส่วน 15% ให้กับกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งรายละเอียดจะมีการเจรจากันอีกครั้ง

ส่วนที่ 2 จำนวนหุ้นบางจากที่เหลืออีก 12.22%นั้นกำลังเจรจาขายหุ้นกับผู้ที่สนใจที่เสนอเงื่อนไขและราคาที่ดี โดยเปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจนอกเหนือจากผู้สนใจที่ยื่นราคาเสนอซื้อมาก่อนหน้านี้จำนวน 2 ราย คือ บริษัท เมอร์ริเมดไทม์ของกลุ่มนายประยุทธ์ มหากิจศิริ และกลุ่มเอ็มบีโอ ซึ่งนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริษัทบางจาก กลุ่มผู้บริหารและพนักงานบางจากฯ โดยจะเลือกผู้ที่ยื่นข้อเสนอมาดีที่สุด คาดว่าการเจรจาขายหุ้นบางจากทั้งหมดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2558 นี้

นายไพรินทร์ กล่าวยอมรับ การตัดสินใจขายหุ้นบางจากฯ 15%ให้กับกองทุนวายุภักษ์นี้ แม้ว่ากองทุนฯจะยื่นข้อเสนอเงื่อนไขและราคาภายหลังจากที่บริษัทปิดรับผู้ที่สนใจเสนอเงื่อนไขมาก็ตาม แต่ราคาและเงื่อนไขที่กองทุนวายุภักษ์เสนอมานั้นดีที่สุด อีกทั้งกองทุนวายุภักษ์เองก็ถือหุ้นใน ปตท.อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ปตท.มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นบางจากทั้งหมด 27.22%จะได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะบันทึกเป็นกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท

“เราตั้งใจขายหุ้นบางจากฯทั้งหมดอยู่แล้ว เบื้องต้นขายหุ้นบางจากให้กองทุนวายุภักษ์ 15% โดยราคาได้มีการตกลงกันแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้จนกว่าจะเจรจาขายหุ้นบางจากส่วนที่เหลือจบก่อน แต่ยืนยันว่าเป็นข้อเสนอที่เหมาะสมต่อทั้งคนซื้อและคนขาย โดยอยากให้ราคาเสนอขายหุ้นบางจากทั้ง 2 ส่วนมีราคาที่เท่ากัน โดยยืนยันว่าการเสนอขายหุ้นที่เหลืออีก 12.22%จะไม่ปิดทางใคร โดยเชื่อว่าภายในไตรมาส 1นี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด”

นายไพรินทร์ ยืนยันว่า มติบอร์ด ปตท.ในครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นการล้มดีล เนื่องจากมีการขายหุ้นบางจากฯอยู่ เพียงแต่ข้อเสนอของบริษัทที่เสนอซื้อหุ้นบางจากมาก่อนหน้านี้ทั้ง 2 รายยังไม่ใช่ข้อเสนอที่ดีที่สุด และยืนยันว่าการขายหุ้นบางจากไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ผู้ที่สนใจต้องมีแบงก์การันตีถึง 1 หมื่นล้านบาทแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวออกมาว่าดีลการขายหุ้นบางจากฯถูกเบรกไม่ให้ขายหุ้นให้กลุ่มนายประยุทธ์ที่เสนอราคาซื้อหุ้นบางจากฯมาสูงกว่ากลุ่มนายพิชัย เนื่องจากป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนการเมืองเข้ามามีบทบาทการบริหารจัดการบางจากฯ หลังจากมีกระแสคัดค้านจากพนักงานบางจากที่ไม่ต้องการให้ปตท.ขายหุ้นออกไป จึงเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาซื้อแทนผ่านกองทุนวายุภักษ์ แต่เนื่องจากติดเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้กองทุนวายุภักษ์ไม่สามารถเข้ามาซื้อหุ้นบางจากทั้งหมดได้ คงซื้อได้เพียง 15%เท่านั้น

ส่วนแนวทางการการดึงกองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นบางจากนี้ เชื่อว่าฝ่ายบริหารและพนักงานบางจากฯจะเห็นชอบแนวทางนี้ ดีกว่าอยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มนายประยุทธ์อย่างแน่นอน เพราะถ้าบริษัท เมอร์ริเมดไทม์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ สิ่งแรกคือการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทบางจากฯ รวมทั้งแนวนโยบายการบริหารงานซึ่งไม่ส่งผลดีต่อผู้บริหารและพนักงานบางจากฯ

โพส ผู้จัดการออนไลน์

เบื้องหลังเกมสกัด !! ขายหุ้นโรงกลั่นบางจาก

“มันอะไรกันนักกันหนา … บ้านนี้เมืองนี้” เป็นคำพูดจากคนบางกลุ่ม ที่รู้สึกรำคาญกับสิ่งที่กำลังจะปรากฏขึ้น

การประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าซื้อหุ้นโรงกลั่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP)ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถืออยู่ 27.22%ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างน้อยก็มีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ที่เสนอตัวเข้าซื้อหุ้นโรงกลุ่นของBCPกลุ่มแรกเป็นอดีตผู้บริหารปตท. กลุ่มบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA)กลุ่มบริษัท ซัสโก้ (SUSCO)และกลุ่มบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG)หรือกลุ่มปักษ์ใต้เชื้อเพลิง เดิมนั่นเอง

ทั้ง 4 กลุ่มมีเจตนาชัดเจนที่อยากจะเข้าซื้อหุ้น แต่เหตุไฉนพอใกล้เสนอราคากลับมี 2 กลุ่ม ถอนตัวเสียดื้อๆ ซะอย่างนั้น ว่ากันว่าเป็นกลุ่ม”ซัสโก้ กับปักษ์ใต้เชื้อเพลิง”เกิดอะไรขึ้น?เดิมทีผู้บริหารกลุ่มนี้ประกาศตัวชัดเจนที่จะเข้าซื้อหุ้น แต่ทว่าหากมองโลกในแง่ดี ไม่มีสิ่งอื่นขวางกั้น หรือสกัดกั้นคนกลุ่มนี้ เป็นไปได้ที่จะไม่สู้ราคาสูงๆ

แต่ที่แน่ๆ มี 2 กลุ่มที่ยอมเสนอราคาซื้อหุ้นโรงกลั่นBCPนั่นคือ กลุ่ม พีทีจี เอ็นเนอยี ของตระกูล”มหากิจศิริ”กับกลุ่ม”อดีตผู้บริหารปตท.”

แต่สิ่งที่แปลกประหลาดของ 2 กลุ่มนี้นั่นคือ ราคาเสนอซื้อ กลุ่ม”มหากิจศิริ”เรียกว่ามีความมั่นอกมั่นใจมากอยากจะได้หุ้นโรงกลั่นBCPเสนอราคาให้ถึงหุ้นละ 36 บาทขณะที่กลุ่ม”อดีตผู้บริหารปตท.”เสนอราคาซื้อแค่หุ้นละ 27 บาทราคาในตลาดหุ้นตอนนี้อยู่ที่ 33.50 บาท

ราคาเสนอซื้ออย่างนี้ ไม่ขายไม่รู้จะพูดว่าอะไรแล้ว แต่หากจะให้ถามใจ”ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์”ประธานคณะกรรมการปตท. วันนี้คงนั่งยัน นอนยัน ที่จะขายหุ้นส่วนนี้ออกจากปตท.แน่เรียกว่าเป็นไงเป็นกัน

มีสิ่งหนึ่งที่”ปิยสวัสดิ์”พูดเสมอว่าเหตุผลที่ต้องขายหุ้นตัวนี้ออกก็เพราะ”ต้องการสร้างความโปร่งใสในธุรกิจน้ำมัน ลดปัญหาการผูกขาดตลาดลง ที่ผ่านมาปตท.ถือหุ้นในตลาดค้าส่งน้ำมันมากเกินไป”มิหนำซ้ำช่วงที่ผ่านมาก็มีกระแสเรียกร้องลดการผูกขาดของปตท.ในตลาดน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง

มาวันนี้รู้ไหม?…เกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ ไม่เชื่อ..ก็ต้องเชื่อ.. ช่วยบอกทีบ้านเราทำอะไรไม่มีใครแทรกแซงจริงหรือ?

บางครั้งการเสนออะไรดีๆ แพงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับคัดเลือก หรือจะได้เสมอไป อย่างกรณีนี้ กลุ่ม”มหากิจศิริ”คิดการใหญ่ร่วมกับ”เบอร์แมค”จากสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ถือหุ้นอยู่ 26% ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นโรงกลั่นBCPแถมให้ราคาดีกว่าราคาในตลาด

ราคาเสนอซื้อ 36 บาทต่อหุ้น ว่ากันว่าเสนอไปตั้งแต่ 2 อาทิตย์ก่อน แต่ตอนนี้กำลังกลายเป็นปมทางการเมืองไปเสียแล้ว ด้วยข้อหา”ตรงข้ามรัฐบาล”ไม่รู้ของจริงหรือข้ออ้างกันแน่

อยู่ๆ ดันมี”เสี่ย ส.”กระโจนใส่เข้ามาแสดงความประสงค์ ที่อยากจะให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้นส่วนนี้ ไปดึงเอา”กองทุนวายุภักษ์”เข้ามาซื้อแทน แต่กลับมีการเจรจา กับกลุ่ม”เสี่ย พ.”ทำนองรับซื้อคนละครึ่ง ในราคาเดียวกับที่กลุ่ม”มหากิจศิริ”เสนอซื้อ นั่นคือหุ้นละ 36 บาทอย่างนี้ไม่ตีกัน ไม่กีดกัน ไม่แทรกแซง ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้วข้ออ้างไม่เอากลุ่ม”มหากิจศิริ”เพราะ”อยู่ตรงข้ามรัฐบาล”มันจริงหรือนี่

ที่แน่ๆ ตอนนี้กลุ่ม”เสี่ย พ.”ได้เสนอขอกู้เงินจากแบงก์กรุงไทย เพื่อจะมาแบ่งเบาค่าหุ้นฝ่ายละครึ่งกับ”กองทุนวายุภักษ์”ไปเสียแล้ว

งานนี้สงสัยภาระหนักคงจะไปตกอยู่ที่ปตท.มีผู้เสนอราคาสูงแบบนี้ทำไม?ไม่ขาย จะตอบสังคมอย่างไร แม้เงื่อนไขจะบอกว่าปตท.รับหรือไม่รับราคาที่เสนอมาก็ได้ ขายหรือไม่ขายก็ได้

วันนี้หากให้ทายใจ”ปิยสวัสดิ์”ยังไงก็ต้องขายหุ้นส่วนนี้ออกแน่ ใครเป็นเจ้าของคงไม่สำคัญ แต่เมื่อมีสิ่งขวางกั้นเกิดขึ้นอย่างนี้ ใครคือผู้รับผิดชอบตัดสินใจเรื่องนี้ …

ลุ้น”ดอยคำ”แต่งตัวรอเข้าตลาดหุ้น

ลุ้น”ดอยคำ”แต่งตัวรอเข้าตลาดหุ้น ตลท.หนุนกิจการเพื่อสังคม/แจงนักลงทุนให้เคลียร์

ดอยคำ-setlnw2

ดอยคำฯเล็งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น หลังที่ปรึกษาทางการเงินประเมินงบฯเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ปีล่าสุดสร้างยอดขายเฉียด 1 พันล้าน ฟากตลาดหลักทรัพย์ฯอ้าแขนรับ ยันไม่มีหลักเกณฑ์ห้ามธุรกิจที่ไม่เน้นแสวงหาผลกำไรเข้าจดทะเบียน ถ้าอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจแนวทางดำเนินงานได้

แหล่งข่าวที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้รับเชิญให้เข้าร่วมหารือ เพื่อพิจารณาแนวทางส่งเสริมให้โครงการในพระราชดำริมีเงินทุนดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า โครงการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำผักผลไม้พร้อมดื่ม ผลไม้อบแห้ง ฯลฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีจุดเด่นหลายด้าน ได้แก่ ภาพลักษณ์และความมีชื่อเสียงของตราสินค้า และที่ผ่านมาบริษัทดอยคำฯยังมีความพยายามที่จะพัฒนาช่องทางขายให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ผ่านร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วประเทศ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เน้นช่องทางขายในห้างค้าปลีก นอกจากนี้บริษัทยังมีจุดเด่นด้านยอดขายที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2557 จึงยิ่งทำให้เป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมากขึ้น

“เราได้ถูกเชิญเข้าไปให้วิเคราะห์โครงการต่าง ๆ ในพระราชดำริว่ามีโครงการใดบ้างที่จะสามารถสร้างแหล่งระดมทุนในลำดับแรก ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทดอยคำฯถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจที่สุด เพราะอยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการปรับปรุงในเรื่องช่องทางการขาย จนส่งผลให้ยอดขาย ของบริษัทใกล้เคียงระดับ 1 พันล้านบาทในปี 2557” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระบวนการนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า บริษัทดอยคำฯควรใช้แนวทางใดในการระดมทุน ซึ่งเบื้องต้นมีข้อเสนอให้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะบริษัทดอยคำฯเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากไม่ได้มีความมุ่งหมายในเรื่องการแสวงหากำไรเป็นหลัก (Nonprofit Organization)

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจต้องนำประเด็นนี้ไปพิจารณาต่อ เช่น อาจตั้งหมวดหลักทรัพย์ใหม่ ประเภทองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

“แนวทางที่ประเมินก็มีทั้งการนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น และการจัดตั้งกองทรัสต์ เพียงแต่เป็นไอเดียคร่าว ๆ ที่มองกันไว้ ซึ่งต้องรอหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า สำหรับองค์กรประเภทไม่แสวงหากำไร สามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์ใดปิดกั้น เพียงแต่บริษัทจะต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนให้ชัดเจน เพื่อให้รับทราบวิธีและแนวคิดในการทำธุรกิจประเภทกิจการเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) ก่อน

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีหากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีธุรกิจประเภทกิจการเพื่อสังคมเข้ามาจดทะเบียน แต่บริษัทนั้น ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนด้วยว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน และที่สำคัญ ธุรกิจที่ไม่ได้แสวงหากำไรเป็นหลัก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกำไร ดังนั้นนักลงทุนก็มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน และช่วยเหลือสังคมไปพร้อม ๆ กันด้วย” นางเกศรากล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทดอยคำฯมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 340 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสัดส่วน 97.06% มูลนิธิโครงการหลวง 2.94%

ช.การช่างเตรียมขายหุ้นกู้ 4 พันล้าน

ช.การช่างเตรียมขายหุ้นกู้ 4 พันล้าน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เปิดจองก.พ.นี้

นายภานพ อังศุสิงห์ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มูลค่ารวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ให้จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท คาดว่าจะเปิดจองซื้อภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการเตรียมจัดออกหุ้นกู้ของบริษัท ช.การช่าง ครั้งที่ 1/ 2558 มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองสำหรับเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อายุประมาณ 5 ปี 11 เดือน และคาดว่าบริษัทฯ จะได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ BBB+

‘ดีเอสไอ’ลุยสอบปั่นหุ้นโซลูชั่น

“ดีเอสไอ” เร่งสอบคดีปั่นหุ้น “โซลูชั่น คอนเนอร์” เรียก”ก.ล.ต.” เข้าให้ปากคำ ยันดำเนินคดีตามพยานหลักฐาน

ขณะ “กมธ.ยกร่างฯ” เล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ หวังสกัดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็น และปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เกรงกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

หลังจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยืนหลักฐานการสร้างราคาหุ้นบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 และตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา

ล่าสุดวานนี้ (8 ม.ค.) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีปั่นหุ้นบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ว่า สำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานก.ล.ต. ในฐานะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มาให้การประกอบสำนวนคดีแล้ว

หลังจากนี้จะสอบสวนดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน โดยคดีนี้ ก.ล.ต. ตรวจพบพฤติการณ์การปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในปี 2553 และได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอเมื่อ เดือนก.ย. 2557 ที่ผ่านมา โดยขอให้ดีเอสสอบสวนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของ นายฉาย บุนนาค กับพวก ซึ่งมีพฤติกรรมปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะของการสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหุ้น

สำหรับคดีนี้เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ซึ่ง ก.ล.ต. พบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์ ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย. 2553 ที่มีสภาพผิดไปจากปกติจากการกระทำของผู้ต้องสงสัย 11 ราย ซึ่งเป็นการซื้อแบบกระจายตัว และการส่งคำสั่งซื้อขายของบัญชีต้องสงสัย 9 บัญชี มีนัยเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.10 บาท. ในวันที่ 30 มี.ค.2553 เป็น 7.20 บาท ในวันที่ 29 เม.ย.2553 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18.30% โดยสวนทางกับดัชนีตลาดเอ็ม เอ ไอ หรือ MAI ที่ปรับตัวลดลง 3.35%

นอกจากนี้ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ก่อนช่วงเวลาต้องสงสัย 30 วันทำการ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาต้องสงสัย 18 วันทำการ เพิ่มขึ้นจาก 660,000 หุ้น เป็น 2,240,000 หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 239.4% โดยไม่มีสารสนเทศที่มีนัยสำคัญสนับสนุนทางการเพิ่มขึ้นของราคา การเพิ่มขึ้นของราคาและปริมาณหุ้นที่ผิดปกติเกิดจากคำสั่งซื้อหุ้นของบุคคลต้องสงสัย 9 ราย ซึ่งคิดเป็น 55.64% ของปริมาณการซื้อขายทั้งตลาด

จากการโทรสอบถามนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว แต่กลับไปรับการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้

“ผมไม่สะดวกที่จะคุย” นายอารักษ์ กล่าว

กมธ.ยกร่างฯเล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ

ด้านความคืบหน้าตามประเด็นการพิจารณารายละเอียดในหลักการเฉพาะเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ได้กำหนดให้มีคณะทำงานคณะเล็กไปพิจารณานั้น

แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน นอกจากจะคงบทบัญญัติด้านสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนกำหนดไว้แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญใหม่ คือ กรณีที่บุคคลจะเข้าครอบงำหลายสื่อเพื่อก่อให้เกิดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็นและนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะกระทำไม่ได้ เพราะส่วนดังกล่าวถือเป็นผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณา เช่น ในการทำข่าวต่างจังหวัดที่พบว่ามีนักท่องเที่ยวผูกคอตายในบังกะโลแห่งหนึ่ง แต่เจ้าของบังกะโลที่เป็นผู้มีอิทธิพลสั่งห้ามนักข่าวท้องถิ่นนำเสนอข่าว หากมีใครนำเสนอจะเกิดอันตรายกับนักข่าวคนนั้น ต่อไปจะถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องของประชาชน

ส่วนกรณีที่พบว่ามีนักธุรกิจกว้านซื้อหุ้นในธุรกิจสื่อมวลชนนั้น แหล่งข่าวบอกว่า เป็นประเด็นที่เข้ากรอบหลักการดังกล่าวเช่นกัน

ก.ล.ต.กล่าวโทษ11รายปั่นหุ้นโซลูชั่น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 ราย ได้แก่ 1.นายฉาย บุนนาค 2.นายปฐมัน บูรณะสิน 3.นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ 4.นายมีศักดิ์ มากบำรุง 5.นายอภินันทกานต์ พงศ์สถาบดี 6.นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ 7.นายทรี บุญปราศภัย 8.นายพาวิตต์ นาถะพินธุ 9.นางสาวชนาธิป ตันติพูนธรรม 10.นางสาวศิริญา ดำรงวิถีธรรม และ 11.นายไท บุญปราศภัย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีสร้างราคาหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์

สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา จึงตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร เช่น บัญชีข้อมูลการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ บัญชีแสดงการหมุนเวียนเงินภายในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งบัญชีกลาง บัญชีรายบุคคล บัญชีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้กับบุคคล 7 ราย ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน

ตลอดจนการให้ถ้อยคำยอมรับของผู้ต้องสงสัยบางราย เกี่ยวกับการควบคุมเงิน และการสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า นายฉาย นายปฐมัน และนายสุพิชยะ ได้ตกลงรู้เห็นร่วมกันซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของบุคคล 9 ราย ได้แก่ นายปฐมัน นายสุพิชยะ นายมีศักดิ์ นายอภินันทกานต์ นายเทพฤทธิ์ นายทรี นายพาวิตต์ นางสาวชนาธิป และนางสาวศิริญา

พบพฤติกรรมสั่งซื้อขายหุ้นผิดปกติ

โดยพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ของบุคคลกลุ่มนี้ มีลักษณะสอดรับกันในด้านจังหวะเวลา การส่งคำสั่งด้านซื้อและขายในปริมาณมากที่หลายระดับราคาเพื่อครองตลาด และควบคุมการเปลี่ยนแปลงราคา และทำราคาตลาดให้สูงขึ้นด้วยการส่งคำสั่งให้เกิดการซื้อขายระหว่างบัญชีของบุคคลในกลุ่ม อันเป็นการลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ซึ่งเมื่อมีผู้ลงทุนจำนวนมากหลงเชื่อและเข้าซื้อขายตาม บัญชีซื้อขายของบุคคลทั้ง 9 รายข้างต้นก็ทยอยขายทำกำไร โดยมีนายไทช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การกระทำในลักษณะข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม