เติบโตอย่างยั่งยืน

หุ้น-growth-chart

ในวงการตลาดหุ้นเวลาพูดถึงความสำเร็จของตลาดหุ้นมักจะพูดถึงเรื่อง มูลค่าตลาด
Market Capitalization) ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน
            ยิ่งมีขนาดใหญ่มาก ก็ยิ่งถือว่าเก่ง ประสบความสำเร็จสูง
            แต่ถ้ามีขนาดเล็กก็ดูจะเดือดร้อนต้องออกแรงทำให้ใหญ่ขึ้น
            มาตรการที่จะทำให้ใหญ่ขึ้น ดูเหมือนจะเน้นอยู่ 2 ยุทธศาสตร์ คือ
 
          1.หาบริษัทใหม่ๆมาจดทะเบียนให้มากขึ้น
2. หาทางไปชักชวนนักลงทุนต่างด้าว ให้มาลงทุนมากขึ้น

            2 มาตรการ 2 ยุทธศาสตร์นี้ ถือว่าสำคัญและจำเป็น
         เพราะถ้ามีบริษัทเข้ามามากขึ้น ก็หมายถึงปริมาณหุ้นในตลาดมีมากขึ้น

            ขณะเดียวกัน ถ้ามีคนต่างประเทศขนเงินเข้ามาซื้อหุ้น
ย่อมมีส่วนทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปได้

           ทั้งจำนวนก็มีมากขึ้น ทั้งราคาก็ขยับขึ้น 
Market Cap ก็ย่อมจะใหญ่ขึ้น
            เพราะ Market Cap จริงๆ แล้วคือ ผลคูณของปริมาณหุ้นกับ ราคาหุ้นทั้งตลาด
แล้วจะมารวมกัน
            ผมมีข้อเสนอเป็นมาตรการที่ 3 ที่จะทำให้ 
Market Cap ของตลาดหุ้น
เติบโตอย่างมีคุณภาพ นอกจากจะเติบโตแบบปริมาณ ตาม 2 มาตรการแรก
 
            มาตรการที่ 3 คือ ให้มีความสนใจ กับคุณภาพการสร้างมูลค่า
Quality of Value Creation)
ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว
            ตอนนี้ เรามีบริษัทในตลาดหุ้นกว่า 500 บริษัท
 
ถ้า CEO แต่ละบริษัท สามารถทำให้กำไรสุทธิของตน โตขึ้น 10%
Market Cap ก็น่าจะโตขึ้น 10% ด้วยเช่นกัน
            เป็นการโตที่ยังไม่ต้องพึ่งจากพลังภายนอก เช่น การนำบริษัทใหม่ๆมาจดทะเบียน
หรือการดึงเงินจากต่างประเทศเข้ามา
 
เพราะต้องถือว่า การเติบโตแบบนี้ เป็นการเติบโตในเชิงปริมาณ
            ตรงข้ามกับการเติบโตในเชิงคุณภาพ เป็นการเติบโตจากภายใน
คือ จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดเรียบร้อยแล้ว
            
ถามว่า เป็นไปได้ไหม?
            ขอตอบว่า เป็นไปได้อย่างยิ่ง เห็นได้ชัดๆ จากบริษัทพลังงานใหญ่แห่งหนึ่ง
ซึ่งเข้ามาจดทะเบียนในปี 25….
            
บริษัทมีทุนชำระแล้ว 28,184,770,250 บาท
ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท
เท่ากับมีหุ้นกว่า 2,818 ล้านหุ้น
            
ตอนหุ้น IPO บริษัทนี้เสนอให้คนจอง เพียงราคา 35 บาท
ผลคือมีคนจองจนล้น ภายในเวลาพริบตาเดียว
            
Market Cap ของบริษัทนี้ ในตอน IPO จึงเท่ากับ 2,818 x 35 = 98,630 ล้านบาท
 
            พอวันแรกเข้ามาซื้อขาย ราคาหุ้นก็ขึ้นไปเกินราคาจองนิดหน่อย แล้วก็ลงมาตลอด
เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน
            
ใครที่จองไม่ได้ มีโอกาสซื้อของถูกกว่าราคาจอง ได้อย่างสะดวกโยธิน
อาจจะเป็นเพราะตอนนั้น คนยังมองไม่ออก ถึงศักยภาพการสร้างมูลค่า
ของ CEO และผู้บริหาร ก็เป็นได้
 
            หลังจากนั้น พอผลประกอบการออกมาดี ไตรมาสแล้ว ไตรมาสเล่า นักลงทุนทั้งไทย ทั้งเทศ
ทั้งใหญ่ ทั้งเล็ก ก็หันมาให้ความสนใจ ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แม้บางครั้งจะมีการปรับตัวลงมาบ้าง ก็เป็นช่วงสั้นๆ
แต่แนวโน้มระยะยาว ดูสดใสยิ่งนัก
            หุ้นของบริษัทเคยมีราคาสูงถึง 440 บาทต่อหุ้น
Market Cap  ขึ้นมาเท่ากับ 2,818 ล้านหุ้น x 440
หรือ 1,239,920 ล้านบาท คิดเป็น 12.6 เท่าของตอน 
IPO ทั้งๆที่บริษัทไม่ได้มีการเพิ่มทุน แม้แต่หุ้นเดียว
 
            จริงครับ บริษัทอาจจะโชคดี ที่อยู่ในหมวดพลังงาน
เลยได้อานิสงฆ์ จากการที่ราคาน้ำมันดิบ ขึ้นมาอย่างบ้าเลือด
ถึงบาเรลล์ละกว่า $126 หรือในอนาคตอาจจะสูงกว่านี้ก็ได้
ไม่มีใครรู้
            ผมว่า ราคาน้ำมันขึ้น ก็เป็นเพียงปัจัยสำคัญ
ปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยให้รายได้ของบริษัท เติบโตเพิ่มขึ้น
            แต่ถ้าทีมผู้บริหาร ซึ่งมี CEOคนเก่งเป็นแม่ทัพ
ไม่ได้บริหารงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อสร้างมูลค่า ให้แก่ผู้ถือหุ้น
บริษัทอาจจะไม่ได้มาไกล ขนาดนี้ ก็เป็นได้
 
            เห็นไหมครับ บริษัทนี้ช่วยเพิ่ม Market Cap ได้
โดยไม่ต้องมีการเพิ่มจำนวนหุ้น แต่ก็เป็นได้ว่า
มีนักลงทุนต่างชาติ เช้ามาซื้อช่วยดันให้ราคาวิ่งขึ้นด้วย
            อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า ต่างชาติเป็นนักลงทุนที่มีสมองเหมือนกัน
ไม่ใช่ลงทุนตามกระแส และที่เขาเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทนี้
เพราะเชื่อในพลังการสร้างมูลค่า ของทีมผู้บริหารเป็นหลัก
 
            โดยสรุปคือ ถ้าเราทำให้ CEO ทั้ง 500 กว่าบริษัท
มีความตั้งใจมุ่งมั่น ที่จะสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น อย่างมีคุณภาพ
 
            ตลาดหุ้นของไทย จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ผู้ลงทุนจะได้นอนหลับฝันดีครับ

หุ้นท่องเที่ยว

การท่องเที่ยว หุ้น

       การท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่โตต่อเนื่องระยะยาวเป็นเมกาเทรนด์มานานมาก แม้แต่ในยามที่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองรุนแรงและยาวนานกว่า 5-6 เดือน อย่างช่วงเร็ว ๆ นี้ การท่องเที่ยวก็ยังคงเติบโตได้ไม่ชะงักเหมือนกับธุรกิจอย่างอื่นทั้ง ๆ ที่การท่องเที่ยวน่าจะถูก “ผลกระทบ” มากกว่า เหตุผลที่การท่องเที่ยวเติบโตมาตลอดนั้นผมคิดว่ามีสาเหตุหลายประการนั่นคือ ข้อแรก การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่อาจจะพูดได้ว่า “ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์” นั่นก็คือ มนุษย์ที่อยู่รอดมาได้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนั้นก็มักจะเป็นคนที่ชอบการท่องเที่ยวที่จะทำให้สามารถหาอาหารเลี้ยงดูตนเองและเผยแพร่เผ่าพันธุ์โดยการแต่งงานกับคนที่อยู่ต่างถิ่นที่ทำให้เผ่าพันธุ์แข็งแรงไม่เป็นโรคภัยได้ง่าย ดังนั้น คนทั่วโลกต่างก็ชอบการท่องเที่ยวเมื่อมีความสามารถที่จะทำได้

         ข้อสอง การ “เปิดประเทศ” เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวนั้น เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ข้อมูลข่าวสารที่สามารถส่งถึงกันทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำมากผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็ทำให้คนสนใจไปเที่ยวในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และข้อสาม ที่อาจจะสำคัญที่สุดก็คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่าแทบไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของการบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นน้อยในขณะที่รายได้ของประชากรในโลกและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผลก็คือ คนรายได้ปานกลางสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศหรือจังหวัดไกล ๆ ได้มากขึ้นมาก และทั้งหมดนั้นก็คือเหตุผลที่ทำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง—เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

จุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่ามีอยู่ไม่น้อย ข้อแรกที่ผมคิดว่าค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็คือ คนไทยนั้น “ให้บริการ” ในแบบ “Human touch” หรือการมี “จิตใจ” ในการให้บริการสูง คนไทยจะมีนิสัยอ่อนน้อมกับผู้ที่ “อยู่สูงกว่าตน” เช่น อายุหรือตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า นี่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมที่มีมานานและยังไม่ได้จางหายไปมากนัก ดังนั้น เวลาที่คนไทยให้บริการ เราก็มักจะดูว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติหรือคนที่รวยกว่านั้น เป็นผู้ที่ “อยู่สูงกว่า” เราก็จะให้บริการอย่างอ่อนน้อมซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่คนมีความรู้สึก “เสมอภาค” กันมากกว่าและไม่รู้สึกว่าจะต้องอ่อนน้อมให้กับลูกค้าที่มารับบริการมากนัก ทำให้บริการในหลาย ๆ ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยนั้น มักจะมีความแข็งกระด้างกว่า ในหลาย ๆ แห่งที่ผมพบนั้น บริการอาจจะรวดเร็วมากแต่ความอ่อนโยนนั้นไม่ใคร่มี ดังนั้น ความประทับใจจึงไม่เกิดขึ้น

จุดแข็งข้อที่สองของไทยผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ทะเลและชายหาดที่สามารถนอนเล่นอาบแดดได้ตลอดปี หาดทรายของไทยหลายแห่งสวยงามมีชื่อติดระดับโลก ดังนั้น คนในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นซึ่งจำนวนมากเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงจึงนิยมมาพักผ่อนตากอากาศ จริงอยู่ ประเทศที่มีอุณหภูมิคล้าย ๆ ประเทศไทยและมีชายหาดที่สวยงามไม่น้อยกว่าไทยก็มีอยู่หลายแห่ง แต่ประเทศเหล่านั้นหลายแห่งก็อาจจะยังไม่พัฒนามากนักโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคทางด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทำให้ความนิยมของนักท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือสามารถรับนักท่องเที่ยวได้น้อยกว่า

จุดเด่นข้อสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยมีความได้เปรียบในด้านของการท่องเที่ยวนั้น ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่คุณภาพอาจจะสูงกว่า ตัวอย่างเช่น ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถแท็กซี่หรือรถสาธารณะอื่น ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักอย่างหนึ่งนั้น ในประเทศไทยค่อนข้างจะถูกและคุณภาพดีโดยเฉพาะในด้านของอาหาร นอกจากนั้น สินค้าโดยทั่วไปของไทยนั้นมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ดังนั้น เราจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบต้นทุนต่ำประเภท “แบ็คแพ็ค” ได้มาก และก็มักจะได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่เรื่อย ๆ

ธุรกิจหรือหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้น มีหลายกลุ่มแต่ที่โดดเด่นและตรงที่สุดประกอบด้วยหุ้นบริษัทการบิน ท่าอากาศยาน และโรงแรมและอาหาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องดีเสมอไป เหตุผลอยู่ที่ว่า การที่อุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่องยาวนานนั้นจริงอยู่ก่อให้เกิดความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม มันก็ดึงดูดให้ผู้เล่นทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่เข้ามาลงทุนให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในยามที่กำลังการให้บริการเหลือล้น ราคาการให้บริการก็อาจจะลดลงทำให้ไม่มีใครอยากเปิดบริการใหม่ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้กำลังการให้บริการเริ่มจะไม่ใคร่เพียงพอและส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำหรับธุรกิจการบินและโรงแรมแล้ว เวลาดี ๆ ของอุตสาหกรรมจะสลับกับเวลาที่ไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ ในขณะที่ท่าอากาศยานนั้น ลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการแทบจะรายเดียว ก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมเสมอ

มองในด้านของผลประกอบการจะพบว่า ธุรกิจทั้งสามต่างก็เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ ดังนั้น ต้นทุนคงที่ของบริษัทต่าง ๆ จะสูง แต่ในด้านของต้นทุนแปรผัน หรือต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นจะต่ำมาก นั่นก็คือ ถ้าเครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 50% ของที่นั่งเป็น 70% รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นเพียงอาหารที่ต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น และนี่ก็คล้าย ๆ กับกรณีของโรงแรมที่มีผู้เข้าพัก 50% ซึ่งก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับการที่แขกเข้าพัก 70% และก็เช่นเดียวกับสนามบินที่ค่าใช้จ่ายผันแปรนั้นจะต่ำมากในขณะที่ต้นทุนคงที่ที่เป็นต้นทุนเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคาจะสูงมาก

ผลกระทบของบริษัทที่มีต้นทุนคงที่สูงและต้นทุนแปรผันต่ำก็คือ กำไรหรือขาดทุนของบริษัทจะมีความหวือหวามากขึ้นอยู่กับปริมาณของลูกค้าหรือธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ บริษัทที่มีปริมาณลูกค้าสูงกว่าจุดคุ้มทุนแล้ว การเพิ่มขึ้นของลูกค้าหรือรายได้จะช่วยเพิ่มกำไรได้สูง ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าไร กำไรก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นจนกระทั่งเต็มกำลังการผลิต ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทมีลูกค้าน้อยลง บริษัทก็จะขาดทุนรุนแรงเนื่องจากต้นทุนคงที่ที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ลดลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นของกิจการอย่างการบินและโรงแรมนั้น การติดตามดู Demand กับ Supply รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทจึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยที่การเปลี่ยนแปลงในด้านของการบินนั้นจะค่อนข้างรวดเร็วมากเนื่องจากธรรมชาติของเครื่องบินที่สามารถจะ “บิน” ได้ ซึ่งทำให้การปรับตัวของการผลิตทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบินยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ผันแปรอย่างรวดเร็วด้วย ทำให้การบินนั้นมีความผันผวนของผลประกอบการสูง ในส่วนของโรงแรมนั้น การปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานจะทำได้ช้ากว่าเนื่องจากระยะเวลาของการสร้างโรงแรมต้องใช้เวลานาน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการจึงเป็นไปอย่างไม่รวดเร็วนัก

ในส่วนของสนามบินนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสดใสกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจสนามบินนั้นเป็นธุรกิจที่มักถูกควบคุมโดยรัฐ ราคาค่าบริการจึงถูกควบคุมไม่ให้สูงเกินไปเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและเป็นการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ดังนั้น กำไรของกิจการจึงไม่อาจจะทำได้เต็มที่หรือสูงสุดตาม Demand หรือความต้องการใช้ของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในยามที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว กำไรก็จะเพิ่มขึ้นเร็วตามการเพิ่มของลูกค้าจนกว่าสนามบินจะ “เต็มกำลังการให้บริการ” และต้องลงทุนขยายสนามบินใหม่

ก่อนที่จะจบการวิเคราะห์ ผมคงต้องเตือนว่า เรายังต้องพิจารณาในด้านของราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวด้วยว่ามันจะต้องเหมาะสมกับพื้นฐานของมัน ซึ่งนอกจากธรรมชาติของธุรกิจแล้ว ก็ยังต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้บริหารและปัจจัยเฉพาะของแต่ละบริษัทด้วย

 

CR.ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

นักลงทุน VI กับความสุขแบบ VI

       ความสุขแบบ VI

       เป้าหมายในชีวิตของ Value Investor นั้น  ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่ความมั่งคั่งและการมี“อิสรภาพทางการเงิน”  แต่ถ้าคิดให้ลึกขึ้นไปอีกนิดหนึ่งเราก็ต้องบอกว่าเป้าหมายสุดท้ายจริง ๆ นั้นก็คือ  การมีความสุขในชีวิต  ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้เรามีความสุข  อย่างไรก็ตาม  ลำพังแต่เงินนั้น  มันอาจจะไม่สามารถสร้างความสุขได้จริง  เพราะความสุขนั้น มักจะมาจากแหล่งอื่น ๆ  โดยที่เงินเป็นเพียงปัจจัยที่  “อำนวย”  ให้เกิดความสุข  มากกว่าที่มันจะก่อให้เกิดความสุขโดยตัวของมันเอง  เพราะจากการศึกษาของ Arthur Brooks ประธานของสถาบัน American Enterprise ที่มีการเผยแพร่เป็นหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้  ได้พบว่าใครคือคนที่มีความสุขรวมถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร   และในสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้  ผมก็จะพยายามอธิบายว่า ในฐานะของ VI  เราจะเป็นคนที่มีความสุขไหม  และเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้เรามีความสุขมากที่สุด

          เรื่องแรกที่พบก็คือ  ยีนส์เป็นสิ่งที่มีบทบาทในการกำหนดความสุขของคนเรามาก  ข้อนี้ส่วนตัวผมเองคิดว่าเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง  คนบางคนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีเงินทองอะไรมากนัก แต่ชีวิตเขาก็ดูมีความสุขดีกว่าคนที่รวยกว่ามาก  ประเด็นก็คือ  เขามีอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ  เขาไม่เป็นคนที่  “ดิ้นรน”  หาเงินทองอะไรมากนักและพึงพอใจกับการใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ   เขาเป็นคนไม่เครียดและ “ปล่อยวาง”  ในเรื่องต่าง ๆ  ได้มาก  ซึ่งทั้งหมดนั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากยีนส์ของเขาที่กำหนดให้เขาเป็นคนอย่างนั้นมากกว่าที่จะมาจากการอบรมสั่งสอนหรือจากสภาวะแวดล้อมรอบตัว  ในทางตรงกันข้าม  คนอีกคนหนึ่งอาจจะเกิดมาเป็นคนที่มีอารมณ์“ร้าย”  หรืออารมณ์รุนแรง  มีเรื่องอะไรมากระทบก็จะตอบสนองมากกว่าปกติ  เขาอาจจะเป็นคน  “ขี้หงุดหงิด”  หรืออาจจะเป็นคน  “ขี้กังวล”  หรือมองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา  ดังนั้น แม้ว่าเขาอาจจะมีเงินมากเหลือเฟือ  เขาก็มักจะมีความสุขน้อยกว่าคนแรก

         นอกจากเรื่องของจิตใจแล้ว  ยีนส์ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดสุขภาพทางกายของแต่ละคนค่อนข้างมาก  คนที่เกิดมามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคสูง  และไม่มีจุดอ่อนของยีนส์ที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเป็นโรคที่ไม่มีเชื้อเช่น  เบาหวาน  มะเร็ง  และอื่น ๆ  อีกมาก นั้น  ผมคิดว่าเขาน่าจะมีความสุขมากกว่าคนที่เกิดมาด้วยยีนส์ที่อ่อนแอกว่า  มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือมีโอกาสที่จะเกิดโรคความเสื่อมของร่างกายที่จะทำให้เกิดโรคร้ายโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น  ในกรณีแบบนี้  คนที่มียีนส์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านอารมณ์จิตใจและทางด้านร่างกายก็น่าที่จะมีความสุขมากกว่า   และดังนั้น  ผมเองคิดว่าเขาเป็นคนที่โชคดีไม่แพ้คนที่  “เกิดมารวย”

          ข้อสรุปเรื่องที่สองก็คือ  ความยากจนนั้น  จะลดความสุขในชีวิตลง  แต่คนที่มีเงินถึงจุดหนึ่งแล้ว  เงินที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ช่วยให้ความสุขเพิ่มขึ้นมากนัก  ประเด็นก็คือ  เงินเท่าไรถึงจะเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขเกือบเต็มที่?  สำหรับเรื่องนี้  ผมคิดว่าคำตอบคงขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ  เราจะต้องดูว่ารายจ่ายของเรานั้น  เริ่ม “นิ่ง” หรือยัง?  คนที่ยังไม่แต่งงานหรือยังไม่มีลูกครบจำนวนตามที่ต้องการนั้น  จะไม่สามารถบอกได้เลยว่ารายจ่ายจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ดังนั้น  การคำนวณว่าเราจะต้องมีรายได้เท่าไรหรือพอร์ตลงทุนเท่าไรจึงจะทำให้เรามีความสุขค่อนข้างเต็มที่นั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  คำแนะนำของผมก็คือ  เราควรจะมีเงินมากกว่าที่เราคิดว่าจำเป็นที่จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินซักเท่าตัวเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีความสุขค่อนข้างเต็มที่ตาม  “ศักยภาพ”  ของเรา

          เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญมากและคนทั่วไปอาจจะไม่ตระหนักก็คือข้อสรุปที่ว่า  เมื่อความต้องการทางด้านวัตถุและบริการพื้นฐานของเราได้รับการตอบสนองแล้ว  งานที่เราพึงพอใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าเงิน  สิ่งที่คนเราต้องการนั้น  ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นความสำเร็จ  แต่จะต้องเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามหรือความสามารถของเราไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดโดยโชคหรือความบังเอิญเช่น  การถูกหวยหรือลอตเตอรี่หรือจากการพนัน  เพราะจากการศึกษาพบว่า  คนที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลแจ็คพอตนั้น  หลังจาก 6 เดือนผ่านไป  ความสุขกลับลดลง  ผมเองคิดว่าคนที่เป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและมีเงินมากนั้น  หลังจากเลิกเล่นแล้ว  แม้ว่าจะยังมีเงินแต่ความสุขน่าจะลดลงมาก  สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จเองนั้น  ผมก็คิดว่า  ความสุขที่เกิดจากการได้เงินนั้นจะเกิดขึ้นมากในช่วงแรก ๆ  แต่ในระยะยาวต่อมาที่มีเงินมากขึ้นและมากขึ้น   ความสุขจากการได้เงินเพิ่มก็จะลดน้อยลงแต่จะกลายมาเป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากกว่า  และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ  แม้ว่าจะมีเงินมากมายเหลือเฟือแล้ว

           เรื่องที่สี่ก็คือ  การศึกษาพบว่า  คนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น  โดยทั่วไปมักจะมีความสุขมากกว่าพวกที่เป็นนักเสรีนิยม  เหตุผลนั้นผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะคนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น  มักจะมีที่  “ยึดเหนี่ยว”  มากกว่า  พวกเขามีศรัทธาและความเชื่อต่อศาสนา  ครอบครัว  และขนบธรรมเนียมประเพณีโดยที่อาจจะไม่มีการ  “ตั้งคำถาม” อะไรที่จะทำให้จิตใจว้าวุ่น  ในขณะที่คนที่เป็นนักเสรีชนนั้น  มักจะคิดมากกว่าและตั้งคำถามกับสิ่งเป็นอยู่ ซึ่งบ่อยครั้ง  เขาอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยและต่อต้าน – อย่างน้อยก็ในใจ  และนั่นก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึก  “แปลกแยก”  และทำให้มีความสุขน้อยลง

          การศึกษายังสรุปด้วยว่า  แหล่งของความสุขนั้น  อย่างน้อยมี 4 อย่างที่สำคัญและอยู่ในความควบคุมของเราเองและไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงิน  นั่นก็คือ  ความศรัทธา  ครอบครัว เพื่อน  และงาน  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  คนเราจะมีความสุขมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเรามีหรือเราสร้างสิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้นในทางที่ดี ๆ  ไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย   คร่าว ๆ  ก็คือ  ถ้าเรามีศรัทธาในคำสอนหรือศาสนา  มีครอบครัวที่อบอุ่น  มีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาหารือได้  และมีงานที่เราพอใจและมีความสุขที่จะทำ  เราก็จะมีความสุขในระดับหนึ่งแล้วเมื่อเทียบกับคนที่  “ขาดตกบกพร่อง”  ในประเด็นดังกล่าว  ว่าที่จริงมีการศึกษาที่พบว่าคนที่เข้าโบสถ์โดยเฉลี่ยมีความสุขกว่าคนที่ไม่ไป  คนที่แต่งงานมักมีความสุขมากกว่าคนโสด  เช่นเดียวกับคนที่มีเพื่อนมากและคนที่พึงพอใจในงานที่มักจะมีความสุขมากกว่าคนที่มีเพื่อนน้อยและไม่ชอบงานของตนเอง

          การเป็น VI นั้น  ผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียในแง่ของความสุข  เรื่องของพื้นฐานสุขภาพใจและกายที่เป็นเรื่องของยีนส์นั้น  เราเลือกไม่ได้เป็นเรื่องของ  “ดวง”  แต่การเป็น VIโดยเฉพาะที่ประสบความสำเร็จพอสมควรนั้น  ผมคิดว่าจะช่วย “ปลดปล่อย”  ความเครียดและความกังวลจากงานประจำและน่าจะมีเวลาที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้นซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีความสุขมากขึ้น  นี่เป็นข้อดีที่ผมเห็นข้อแรก   เรื่องของเงินหรือความยากจนที่อาจจะทำให้ความสุขลดลงนั้น  ผมก็คิดว่าการเป็น VI น่าจะช่วยได้ไม่น้อย  โดยเฉพาะถ้าเราลงทุนทบต้นไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินของเราเพิ่มพูนขึ้นตามอายุของเราซึ่งจะสอดคล้องกับรายจ่ายของเราที่มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีลูกและต้องดูแลคนสูงอายุ  ดังนั้น  นี่ก็ส่งเสริมความสุข  ประเด็นต่อมาคือเรื่องของงานหรือความสำเร็จจากการกระทำนั้น  ผมเชื่อว่า  VI ส่วนใหญ่น่าจะชอบการลงทุนของตนเอง  พวกเขาอยากทำงานนี้  และจะมีความสุขเมื่อเห็นพอร์ตโตขึ้นอย่างมั่นคง  นี่ก็เป็นความสุขที่สำคัญ  สุดท้ายที่ผมคิดว่าการเป็น VI อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความสุขเพิ่มก็คือ เรื่องของแนวทางของความคิดและสังคม  นั่นก็คือ  VI นั้น  อาจจะเป็นคนที่ “คิดมาก”  กว่าปกติ  หลายคนเป็น “ศิลปินเดี่ยว”  มีความคิดที่อิสระและอาจจะมีเพื่อนน้อย  ซึ่งไม่ส่งเสริมการมีความสุข   อย่างไรก็ตาม  โดยรวมแล้ว  ผมคิดว่า  การเป็น VI นั้น  น่าจะเป็นหนทางที่มีความสุขมากขึ้นและมากกว่าคนอีกหลายอาชีพ

cr. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร