สิงคโปร์-จีนรับมือ เสี่ยงสงครามค่าเงิน

เป็นที่รู้กันว่า ภายใต้สถานการณ์ที่สงครามค่าเงิน ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำนโยบาย QE

(Quantitative Easing) ของ 4 ธนาคารกลางหลักของโลก โดยล่าสุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB (EuropeanCentral Bank) ประกาศอัดฉีดเงินเดือนละ 60,000 ล้านยูโร หรือ 70,000 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ประสบทั้งปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ และปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เป็นผลมาจากภาวะเงินฝืด รวมถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินภาคธุรกิจที่มีขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และลูกหนี้ของระบบธนาคาร เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง 19 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.-ก.ย. 2559 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษ แม้ได้หยุดทำ QE ใหม่ๆ แต่ยังพบว่า QE ก่อนหน้านี้ยังคงตกค้างอยู่ในระบบการเงินโลกรวมกันเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์

กรณีวิกฤติในยุโรปนับเป็นเม็ดเงินก้อนมหึมาที่ ECB ต้องใช้ในการดำเนินการ QE รอบนี้ถึง 1.14 ล้านล้านยูโร หรือราว 1.4ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของยูโรโซน โดยตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ต่อปี ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ (Bank of Japan) ที่กำลังทำ QE ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนด 2 ปี ตามเป้าหมายในเดือนก.พ.นี้ พร้อมกับการประกาศอัดฉีดเงินเพิ่มในปริมาณเงินอีกเดือนละ 20 ล้านล้านเยน โดยที่ BOJ ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นทั้ง 100% หวังให้รัฐบาลนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันหลุดจากภาวะเงินฝืด พร้อมตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% เช่นกัน รวมถึงการแจกจ่ายคูปองแลกเป็นเงินช่วยเหลือให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นไปขยายการค้าและการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการกอบกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอีกด้านหนึ่ง

สงครามค่าเงินที่เกิดขึ้นนี้ ด้านหนึ่งเกิดมาจากวิกฤติรูเบิลที่ร่วงลงหนักถึง 60% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เพราะมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐและนาโต้ที่มีต่อรัสเซีย ประกอบกับการตกต่ำของราคาน้ำมันที่ดิ่งลงกว่า 50% กับอีกด้านหนึ่งเกิดวิกฤติแข็งค่าของเงินฟรังก์สวิสทันที 30% หลังจากที่ ECB ประกาศทำ QE เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินยูโรดิ่งลงอย่างหนักจากเงินยูโรที่เคยเทียบเท่า 1.38 ดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค.2557 มาอยู่ที่ 1.11-1.13ดอลลาร์ เป็นการปรับตัวลดลง 18% เช่นเดียวกับเงินเยนที่อ่อนค่าลง 15% ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 118-120 เยน ดังนั้นสงครามค่าเงินขณะนี้จึงมาจากการที่ ECB และ BOJ ทำการลดค่าเงินของตัวเองจนทำให้เงินสกุลอื่นแข็งค่าโดยปริยาย ซึ่งหากประเทศใดต้องการให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนลงต้องทำ QE ปั๊มเงินออกมาแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในทำนองเดียวกัน

เช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางสวิสกำลังดำเนินการขณะนี้ รวมทั้งล่าสุดธนาคารกลางสิงคโปร์ก็ร่วมโดดลงในสนามสงครามค่าเงินด้วยการทำ QE เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อลดค่าเงินลงมาที่ 1.35 ต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. หวั่นเงินฝืดเข้าครอบงำเศรษฐกิจหลังแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับเพียงแค่ 0.5% ขณะเดียวกันกับธนาคารกลางจีนเลิกผูกเงินหยวนกับดอลลาร์ ที่เรียกว่าการทำ depeg กับเงินสกุลอื่น เพื่อให้หยวนมีความยืดหยุ่นโดยอาจทำ depeg กับตะกร้าเงิน หรือ depeg กับสกุลเงินอ่อนค่าอยู่แล้วเช่นเงินเยน ก็เพื่อให้เงินหยวนอ่อนค่าลงโดยเคลื่อนไหวที่ระดับ 6.25 ต่อดอลลาร์ และสามารถรักษาขีดแข่งขันการส่งออกไว้ได้ สำหรับบ้านเราก็เช่นกัน เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบดอลลาร์ที่ 32.70 แต่เงินบาทกลับแข็งค่า เมื่อเทียบเงินยูโรที่ 36.60 บาท เทียบเงินเยนที่ 27.50 บาท หรือเทียบเงินปอนด์ที่ 43 บาท อาจส่งผลกระทบต่อส่งออก ดังนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามสงครามค่าเงินที่เสี่ยงจ่อเข้ามาใกล้ตัวเราไม่ได้แล้ว

′บลจ.ธนชาต′ ควัก 110 ล้าน เตรียมจ่ายปันผล 3 กองรวด

บลจ.ธนชาตเตรียมจ่ายเงินปันผลกว่า 110 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุน ASD หน่วยละ 0.25 บาท และ LTFD หน่วยละ 0.58 บาท พร้อมจ่อจ่ายปันผลกองทุน SPT เร็ว ๆ นี้

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผลกว่า 110 ล้านบาท สำหรับการจ่ายปันผล 2 กองทุน ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดอำนวยทรัพย์ปันผล (ASD) สําหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุด วันที่ 25 ธันวาคม 2557 ซึ่งกองทุนนี้เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นผสมกับตราสารหนี้ โดยกำหนดจ่ายปันผลเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.25 บาท นอกจากนี้ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ บลจ.ธนชาต กำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดธนชาติหุ้นระยะยาวปันผล (LTFD) สําหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2557 โดยจะจ่ายปันผลในอัตรา 0.58 บาท

ที่ผ่านมา กองทุนเปิดอำนวยทรัพย์ปันผล (ASD) มีผลการดำเนินงานนับตั้งวันจัดตั้งกองทุนเมื่อเดือนมีนาคม 2537 ที่ 428.39% และผลการดำเนินงานย้อนหลังสะสม 3 ปี ที่ 45.64 % ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 199.31% และ 29.65 % ตามลำดับ (ข้อมูล ณ 26 ม.ค. 2558) ซึ่งกองทุนนี้จ่ายปันผลไปแล้ว 9 ครั้ง รวม 4.6 บาท ในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ส่วนกองทุนเปิดธนชาติหุ้นระยะยาวปันผล (LTFD) มีผลการดำเนินงานย้อนหลังนับตั้งวันจัดตั้งกองทุนเมื่อเดือนกันยายน 2547 ที่ 232.65% และผลการดำเนินงานย้อนหลังสะสม 3 ปี ที่ 67.23% ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 143.43% และ 48.64% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ 26 ม.ค. 2558) โดยจ่ายปันผลไปแล้ว 8 ครั้ง รวม 5.06 บาท ในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ บลจ.ธนชาต ยังมีแผนจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดสินไพฑูรย์ (SPT) ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารทุน กำหนดปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งกองทุนนี้มีผลการดำเนินงานย้อนหลังนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อเดือนสิงหาคม 2537 ที่ 119.31% และผลการดำเนินงานย้อนหลังสะสม 3 ปี ที่ 78.03 %ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 16.43 % และ 48.64 % ตามลำดับ (ข้อมูล ณ 26 ม.ค. 2558) ซึ่งกองทุนนี้จ่ายปันผลไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 5.9688 บาท ในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงนักลงทุนให้มองการลงทุนในระยะยาวเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนสะสมที่มากกว่าการลงทุนระยะสั้น

คำเตือน
-การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและคู่มือภาษีก่อนการตัดสินใจลงทุน
-การวัดผลการดำเนินงานของกองทุน ASD กองทุน LTFD กองทุน SPT จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการกองทุน
-ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
-ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมและหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.ธนชาต โทร.0-2126-8399 หรือธนาคารธนชาตทุกสาขา โทร. 1770

ธอส.ปลื้มผลงานปี′57 ปล่อยสินเชื่อทะลุเป้า 142,697 ล้าน

ธอส.ปลื้มผลงานปี′57 ปล่อยสินเชื่อทะลุเป้า 142,697 ล้าน เดินหน้ายุทธศาสตร์นำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แจงผลการดำเนินงานปี 2557 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้จำนวน 142,697 ล้านบาท เกินกว่าเป้าสินเชื่อปี 2557 ที่ตั้งไว้ 134,000 ล้านบาท พร้อมบริหารจัดการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ดีกว่าเป้าหมาย โดย NPL คงเหลือ 42,613 ล้านบาท คิดเป็น 5.36% ของสินเชื่อคงค้าง ลดลงจากปี 2557 จำนวน 2,436 ล้านบาท สำหรับปี 2558 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ตามแผนธุรกิจ จำนวน 140,700 ล้านบาท พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์เชิงรุกนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศทุกด้าน ควบคู่กับกลยุทธ์มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้าในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกระดับ และเดินหน้าโครงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “ธอส.บริการด้วยหัวใจ” เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด ตอกย้ำภาพลักษณ์ “ธนาคารมั่นคงทันสมัย และเป็นผู้นำสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”

นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2557 เมื่อเทียบกับปี 2556 ว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 142,697 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา 15,858 ล้านบาท และเกินเป้าหมายปี 2557 ที่ตั้งไว้ 134,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 8,697 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จำนวน 66,586 ล้านบาท คิดเป็น 46.66% ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 794,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.85% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่จำนวน 42,613 ล้านบาท คิดเป็น 5.36% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งมี NPL อยู่ที่ 45,049 ล้านบาท หรือ 6.12% ของสินเชื่อรวม ซึ่งลดลง 2,436 ล้านบาท นับว่าธนาคารสามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขณะที่ทรัพย์สินรอการขาย (NPA) คงเหลือจำนวน 1,491 ล้านบาท ลดลง 10.31% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านสินทรัพย์ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 824,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58,724 ล้านบาท คิดเป็น 7.66% เงินฝากรวม 652,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52,464 ล้านบาท คิดเป็น 8.75%

จากตัวเลขผลการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ในปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและร่วมแรงร่วมใจภายในองค์กร ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้บรรลุเป้าหมายทุกด้าน สามารถเป็นสถาบันการเงินหลักในการสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองถึง 120,579 ราย ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจหลักของ ธอส.

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่รองรับความต้องการของลูกค้าทุกระดับ และมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ โครงการบ้าน ธอส.เพื่อสานรัก ปี 2557 สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีรายได้สุทธิไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน มียอดอนุมัติสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2557 จำนวน 6,422 บัญชี วงเงิน 4,655 ล้านบาท รวมถึง 2 โครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและคืนความสุขให้แก่ประชาชนตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ โครงการสินเชื่อบ้าน ธอส. เพิ่มสุข สำหรับลูกค้าเดิมที่มีประวัติการผ่อนชำระดีจะได้รับสิทธิ์กู้เพิ่ม ยอดอนุมัติสินเชื่อ 2,340 ล้านบาท 10,268 บัญชี และโครงการสินเชื่อ ธอส. มีบ้าน มีสุข 1 และ 2 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษคงที่ 3.50% ต่อปี นาน 2 ปีแรก ยอดอนุมัติสินเชื่อรวม 13,551 ล้านบาท หรือ 10,170 บัญชี เป็นต้น

“ขณะเดียวกันยังได้จัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กรเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดทำ “คู่มือมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กร” เพื่อให้พนักงาน ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศถือปฏิบัติ มีการขยายพื้นที่การให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชน โดยการเปิดสาขาใหม่ในปี 2557 จำนวน 12 แห่ง และขยายพื้นที่การให้บริการของสาขาเดิมอีก 9 แห่ง โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2557 ธนาคารมีจำนวนสาขารวม 202 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของ ธอส.ได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับปี 2557 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ธนาคารประสบความสำเร็จโดยนิตยสารดอกเบี้ย และหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ได้ประกาศยกย่องให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็น “สุดยอดธนาคารแห่งปี 2557” หรือ “Bank of the Year 2014” และ “สุดยอดนักการธนาคารแห่งปี 2557” หรือ “Banker of the Year 2014” นางอังคณากล่าว

นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานปี 2558 ธนาคารยังคงมุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินตามพันธกิจเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายยิ่งขึ้น ธนาคารกำหนดเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ไว้จำนวน 140,700 ล้านบาท และให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ดูแลลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ตลอดจนนโยบายดูแลลูกค้าตลอดอายุสัญญากู้ แม้ในระหว่างผ่อนชำระเงินงวดลูกค้าประสบปัญหาวิกฤตจากภัยธรรมชาติไม่สามารถชำระเงินงวดค่าบ้านได้ ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลดภาระเงินงวดเพื่อให้ลูกค้ามีกำลังผ่อนชำระเพื่อให้สามารถรักษาบ้านเป็นของตนเองไว้ได้

นอกจากนี้ธนาคารยังมีนโยบายด้านผลิตภัณฑ์และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร / คู่ค้า คิดค้นปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกระดับ และเดินหน้าโครงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “ธอส.บริการด้วยหัวใจ” เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด โดยธนาคารได้จัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุกในการเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ ในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกกลุ่ม เพิ่มช่องทางการให้บริการ ขยายสาขา คลอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการให้บริการทางInternet & Mobile Banking พร้อมๆกับการบริหารต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อเพื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับลูกค้าและประชาชน

ในการดำเนินการ ธนาคารมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความพึงพอใจและความผูกพันกับลูกค้า ผ่านกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกค้าและผู้มีได้ส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจรและยั่งยืน อาทิ การออกแบบนวัตกรรมสินเชื่อบ้านสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อตอกย้ำแบรนด์ ธอส. ที่เป็นที่หนึ่งในด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

สำหรับยุทธศาสตร์ในการบริหารงาน ธนาคารจะส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล/ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CG/CSR ให้เข้มแข็ง โดยการรับฟังความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานสู่ภายนอกอย่างมีธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งเน้น การพัฒนาทุนมนุษย์และองค์กรแห่งการเรียนรู้ ด้วยการสร้างความพร้อมของบุคลากรต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ สร้างบุคลากรที่มีความสามารถสูง ปลูกฝังค่านิยมองค์กร (GIVE) ประกอบด้วย “ยึดมั่นธรรมาภิบาล (Good Governance) สร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovative Thoughts) ร่วมใจทำงาน (Value Teamwork) บริการเป็นเลิศ (Excellent Services) และจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ ข้างต้นถือเป็นส่วนสำคัญที่จะนำธนาคารสู่ความเป็นเลิศทุกด้าน และทำให้ธนาคารสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสำคัญของธนาคารภายในปี 2562 ที่ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อคงค้าง 1 ล้านล้านบาท สัดส่วน NPL ลดลงเหลือ 4.00% รวมถึงเป็นผู้นำสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางอีกด้วย

เปิดตัวรองเอ็มดีใหม่ “กรุงไทย”

เปิดตัวรองเอ็มดีใหม่ “กรุงไทย” ลับคมธุรกิจปูทางขึ้น “แชมป์”

กระบวนการปรับองค์กรและเสริมเขี้ยวเล็บให้ธนาคารกรุงไทย เป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจแบงก์ เปลี่ยนภาพลักษณ์ “แบงก์รัฐ” เป็น “แบงก์พาณิชย์” ที่มีทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้แข่งขันกับแบงก์เอกชนรายใหญ่ให้ได้ ถือเป็นเป้าหมายที่ “วรภัค ธันยาวงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มุ่งมั่นจะทำให้เกิดขึ้น

ขณะที่ผลประกอบการในปี 2557 ที่ผ่านมา แบงก์แห่งนี้มีกำไรสุทธิ 33,196 ล้านบาท ลดลง 3.81% จากปีก่อนหน้า มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 69,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.47% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ 27,909 ล้านบาท ลดลง 6.50% เป็นเงินให้สินเชื่อ 1,897,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.92% เงินฝาก 2,151,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.22% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NET NPLs) 1.34% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 1.49%

สำหรับในปี 2558 กรุงไทยอยู่บนเส้นทางเฟส 2 ซึ่ง “วรภัค” ได้ชักชวนผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานหลายคน

เริ่มที่สายงานที่ต้องสัมผัสกับลูกค้าจำนวนมาก “ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย บอกว่า ปัจจุบันกรุงไทยมี “ฮาร์ดแวร์” หรือโครงสร้างธุรกิจที่ดีมากอยู่แล้ว ด้วยจำนวนสาขาที่มากที่สุดถึง 1,198 แห่ง แต่ต้องพัฒนาด้าน “ซอฟต์แวร์”

โดยยกตัวอย่างซอฟต์แวร์ว่า ประกอบด้วยการคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อุดช่องว่างในตลาด การวางกลยุทธ์ โดยปีนี้จะให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าภาคเอกชนเพิ่มขึ้น หรือใช้กลยุทธ์ด้านราคาในจุดที่จำเป็น การปรับปรุงกระบวนการทำงานการให้บริการ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง ผ่านโครงการกระบวนการทำงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) Loan Factory ซึ่งเป็นการปรับกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวมศูนย์ที่สำนักงานใหญ่จากเดิมให้เขตกับสาขาดำเนินการ 2)การตามหนี้ (Loan Collection) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน เพราะการตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะลด NPLs ได้มาก และ 3) การใช้ข้อมูลเพื่อเข้าใจความเสี่ยงของลูกค้า (Data Analytic)

md

ส่วน “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ เล่าว่า งานของเขาจะโฟกัสใน 5 Ps ได้แก่ Porfolio, Product Capacity, Process, Performance และ People

โดยอธิบายว่า ในด้านพอร์ตโฟลิโอ จะมุ่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับลดขั้นตอนทำงาน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดกลุ่มลูกค้าใน 3 ระดับ ได้แก่ แพลทินัม โกลด์ และซิลเวอร์

ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่เป็นแบ่งเป็น CBC 1 และ CBC 2 (CBC-Corporate Banking Cent) เพราะแต่ละกลุ่มมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้าน ธุรกรรมการเงิน (Transaction Banking) การจัดการเงินสด สินเชื่อเพื่อการค้า การบริหารความเสี่ยง และการระดมทุน

นอกจากนี้ก็ต้องปรับปรุงกระบวนการระเบียบการอนุมัติสินเชื่อ การสร้างความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรให้ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (RM) เข้าใจถึงผลิตภัณฑ์และมีคำแนะนำที่ดีและเหมาะสมให้ลูกค้า สุดท้ายคือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ให้สามารถมองเห็นความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดที่สุด จับจุดที่ลูกค้าอาจยังมองไม่เห็นได้

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนที่จะทำให้ 2 ส่วนแรกมีสินค้าและบริการที่ดี โดดเด่น ไปเสิร์ฟลูกค้าทุกกลุ่มทุกระดับได้ “ผยง ศรีวณิช” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Market เล่าว่า เนื่องจากสายงานนี้เป็นสานงานใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งมาเพิ่มความคมให้กับธุรกิจ เพื่อให้บริการทั้งด้านข้อมูลและผลิตภัณฑ์การเงินให้กับลูกค้า

“หลังจากนี้จะรุกตลาดมากขึ้น จะเป็นการทำงานที่สอดรับและสนับสนุนกับฝ่ายธุรกิจขนาดใหญ่ เครือข่าย และรายย่อยตลอดเวลา เพื่อทำให้กรุงไทยมีที่สินค้าด้านตราสารหนี้ การแลกเปลี่ยนเงินตรา การลงทุน ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของแบงก์ไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ภายในปี 2561 ให้ได้”

ส่วน “ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนงานหลังบ้านที่สำคัญของแบงก์ และเขาบอกว่า เป้าหมายภายใน 5 ปี จะทำให้ธุรกิจส่วนนี้มีส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10%

ทั้งหมดนี้ เป็นแผนงานที่ท้าทายความสามารถผู้บริหารใหม่เป็นอย่างยิ่ง

ยอดจองซื้อ “สุขกันเถอะเรา” ได้แค่ 5 หมื่นล้าน

ยอดจองซื้อ “สุขกันเถอะเรา” ได้แค่ 5 หมื่นล้าน “คลัง” เตรียมทบทวนการออกบอนด์รุ่นใหม่

รายย่อยเมินพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นคืนความสุข ยอดจองซื้อเพียง 50,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 100,000 ล้านบาท คาดกังวลรุ่น 10 ปีนานไป ขณะที่พันธบัตรจองผ่าน ธ.ก.ส.ได้รับความสนใจจำนวนมาก ด้านคลังเตรียมทบทวนการออกบอนด์รุ่นใหม่

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “สุขกันเถอะเรา” ในส่วนของพันธบัตร ธ.ก.ส.วงเงิน 50,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.80 เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายรวม 33,000 ล้านบาท โดยประชาชนซื้อผ่าน ธ.ก.ส. วงเงินทั้งสิ้น 11,700 ล้านบาท เกินวงเงินที่รับผิดชอบ 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เปิดจำหน่ายให้นักลงทุนสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่างมูลนิธิ วัด องค์กรการกุศลต่าง ๆ และไม่จำกัดวงเงินมียอดขายเพิ่มขึ้นสูงมาก

ทั้งนี้ แม้ยอดรวมจะขายไม่หมดคงไม่ขยายเวลา เพราะถือเป็นการให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงและคืนความสุขรายย่อยและองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ในส่วนเงินที่ต้องการชำระหนี้จำนำข้าวที่เหลือ 27,000 ล้านบาท สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะใช้แนวทางใหม่ในการระดมทุน เช่น การกู้แบบมีระยะเวลาจากสถาบันการเงินเหมือนที่ผ่านมา เพราะให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า

รายงานข่าวจาก สบน. เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายพันธบัตรของกระทรวงการคลังรุ่นสุขกันเถอะเรา วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 4 จำหน่ายได้ทั้งหมด 12,152 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ของ ธ.ก.ส. วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 จำหน่ายได้ 37,903 ล้านบาท รวมพันธบัตรทั้ง 2 รุ่นจำหน่ายได้ 50,061 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณครึ่งหนึ่งคงต้องรอประเมินทิศทางตลาดและออกเป็นพันธบัตรรุ่นใหม่ต่อไป คาดว่าคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อประเมินสภาพตลาด สำหรับภาระหนี้ ธ.ก.ส. ยังไม่น่าห่วง เพราะเป็นหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระคืน จึงมีเวลาระดมเงินชำระหนี้ดังกล่าวได้ทันกำหนด