กฏของ Pareto กับการเล่นหุ้นแบบ Trend Following

ผลกำไรจากการซื้อ-ขายเพียงไม่กี่ครั้งคือสิ่งที่มีค่ามากกว่าที่เราคิด พวกมันมักจะเป็นสิ่งที่กำหนดผลการลงทุนในภาพรวมของพวกเราเอาไว้ มันคือสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาดครับ!

way-of-the-setlnw

“ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของนักเก็งกำไรก็คือการพลาดโอกาสในการทำกำไรก้อนใหญ่ไป นั่นก็เพราะผลกำไรกว่า 95% นั้นมักจะมาจากเพียง 5% ของจำนวนการซื้อขายทั้งหมดเท่านั้น”

Richard Dennis ผู้ให้กำเนิด Turtle Trader

กฎของ Pareto

ถึงแม้ว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินถึงกฏ 80/20 ของ Pareto กันมาบ้างแล้ว แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายต่อหลายคนที่ไม่ได้ฉุกคิดถึงความเกี่ยวโยงระหว่างกฏข้อนี้กับหลักการเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following กันสักเท่าไรนัก และนี่ก็คือเรื่องที่ผมอยากจะนำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้

ท้าวความกลับไปเมื่อประมาณปี ค.ศ 1906 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า Vilfredo Pareto ได้ค้นพบกฏบางอย่างของธรรมชาติและได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “ร้อยละ 80 ของความมั่งคั่งในประเทศอิตาลีนั้นได้ถูกครอบครองโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศอิตาลีเท่านั้น!” และแน่นอนว่าสิ่งที่เขาได้ค้นพบนี้ได้กลายมาเป็นหลักการซึ่งถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อๆมา ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลข 80/20 ตรงนี้จะไม่ใช่เลขที่เป็นอัตราส่วนมหัศจรรย์แบบตรงเป๊ะในทุกๆกรณี แต่มันก็ได้มีความสำคัญที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงหลักการของ “ความสำคัญจากสิ่งที่เป็นส่วนน้อย หรือ Vital Few Principle” นั่นเอง

กฏของ Pareto เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักการเล่นหุ้นแบบ Trend Following อย่างนั้นหรือ?

เมื่อเราลองพิจารณาถึงคำพูดของ Richard Dennis ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็น Prince of The Pit และเป็นผู้ที่ให้กำเนิดกลุ่ม Turtle Trader ขึ้นมานั้น คำตอบของมันคงจะเดาได้ไม่ยากนัก นั่นก็เพราะเขาได้บอกใบ้ให้กับเราอย่างชัดเจนสุดๆแล้วว่า ผลการซื้อขายไม่กี่ครั้งเท่านั้นคือสิ่งที่จะกลายเป็นตัวตัดสินถึงผลลัพท์ของการลงทุนชนิดร่ำรวยแบบล้นฟ้ากับการเล่นหุ้นได้กำไร-ขาดทุนไปวันๆเลยทีเดียว! และเพื่อที่จะทำให้ทุกๆคนได้เห็นภาพของมันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นนั้น ในบทความนี้ผมจึงได้ทำการเก็บสถิติจากระบบการลงทุนแบบ Trend Following ชนิดหนึ่งซึ่งก็คือระบบ Turtle System 2 (แบบ Simplify โดยไม่มีการ Pyramid ซื้อหุ้นเพิ่ม) ในรูปแบบของค่า R-Multiple ออกมาให้ดูกันถึงความเกี่ยวโยงของมันกับกฏของ Pareto ออกมาแล้วทำการคำนวณคร่าวๆด้วย Excel โดยในตารางที่เราจะได้เห็นกันต่อไปนั้นเป็นการเก็บสถิติจากผลการลงทุนกับหุ้นใน SET100 ตั้งแต่วันที่ 3/1/2001 – 29/12/2011 โดยได้รวมเอาค่า Com ที่ 0.25% ต่อการซื้อขายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

set-lnw-Turtle-2-Simplify-Portfolio-Equity-RMultiple

ภาพที่ 1 : Portfolio Equity ของระบบ Turtle 2 Simplify ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ทดสอบย้อนหลังกับหุ้นใน SET100 ตั้งแต่ปี 2001 – 2011 โดยรวมค่าคอมมิสชั่นแล้ว

***Note : การวัดผลกำไรจากการซื้อขายแต่ละครั้งในรูปแบบ R-Multiple คือการนำเอาผลกำไรที่ได้รับหารด้วยความเสี่ยงเริ่มต้นของการซื้อขายในครั้งนั้น โดยที่ความเสี่ยงเริ่มต้นคิดจากราคาซื้อลบด้วยจุดตัดขาดทุนที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ว่า

R-Multiple = Profit / Initial Risk

โดยที่ Initial Risk = Entry Price – Stop Price

การวัดจาก R-Multiple จะมีข้อดีกว่าการวัดผลกำไร-ขาดทุนเป็นรูปแบบของจำนวนเงินหรือ % ร้อยละของเงินทุนเนื่องจากมันได้ทำให้ผลของกำไร-ขาดทุนนั้นอยู่ในหน่วยเดียวกัน มันจึงช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบผลการซื้อขายจากระบบที่ต่างกันหรือจากขนาดของพอร์ทโฟลิโอที่ต่างกันได้เป็นอย่างดี

lnw-set-multiple

ภาพที่ 2 : Win R-Multiple จากระบบ Turtle 2 (Simplify) แสดงให้เห็นถึงค่า +R Multiple จากการซื้อขายที่ “ได้กำไร” จากระบบ โดยที่แกน Y แนวตั้งด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงความถี่และแกน Y ด้านขวาคืออัตราส่วนร้อยละจากจำนวนการซื้อขายที่เป็นกำไร +R ทั้งหมด

Frequency of +R – แท่งแต่ละแท่งคือจำนวนความถี่ของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของค่า R เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่า 0R ถึง 1R มีจำนวน 75 ครั้ง

Cumulative +R Distribution – เส้นที่ลากต่อกันคือจำนวนความถี่สะสมของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 0R ถึง 5R คิดเป็น 82.67% ของจำนวน Win R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Cumulative +R Contribution – เส้นที่ลากต่อกันคือมูลค่าสะสมของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 0R ถึง 5R คิดเป็นมูลค่า 30.78% ของมูลค่าจาก Win R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

กฎของ Pareto กับธรรมชาติของผลกำไรจากระบบ Trend Following

ตาราง Win R-Multiple ได้บอกให้เราเห็นถึงความสำคัญของผลกำไรจากการซื้อขายไม่กี่ครั้งอย่างชัดเจนมากๆ (ซึ่งเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้ว่ามันคือครั้งไหน) จากภาพนั้นคุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าของผลกำไรกว่า 69.22% นั้นเกิดขึ้นจากราวๆ 17.44% (5R ขึ้นไป) ของการซื้อขายที่ได้กำไรเท่านั้น! และในทางกลับกันแล้วร้อยละ 82.56% ของการซื้อขายที่ได้กำไรกลับคิดเป็นมูลค่าของกำไรทั้งหมดเพียงแค่ 30.78% เท่านั้น (0R-5R) นอกจากนี้แล้ว มูลค่าของกำไรกว่า 53.38% ของกำไรทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากเพียง 5.13% ของการซื้อขายที่ได้กำไรเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้กำลังตอกย้ำอะไรกับเราอย่างนั้นหรือครับ??

มันกำลังตอกย้ำให้เราจำเอาไว้ให้ดีว่าเราต้องกล้า Let Profits Run!! … อย่ากลัวว่าจะรวยเกินไป และอย่าไปใส่ใจมากเกินไปหากว่าการ Let Profits Run จะทำให้ผลกำไรที่เราเคยมีต้องหดหายลงไป นั่นเพราะกว่าร้อยละ 80 ของการซื้อขายที่ได้กำไรจากระบบ Trend Following จะกลายเป็นเพียงกำไรก้อนเล็กๆตั้งแต่ 0R – 5R เท่านั้น คุณต้องรู้ว่ามันคือเรื่องธรรมดา! และถ้าหากว่าคุณกลัวกำไรหดและรีบ Take Profit อยู่บ่อยๆล่ะก็ คุณก็จะไม่มีวันได้ลิ้มรสชาติของผลกำไรตั้งแต่ 5R ขึ้นไปเลยเพราะคุณได้ตัดโอกาสของคุณทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว

และในทางกลับกันนั้น หากว่าคุณไม่ยอมตัดขาดทุนเสียแต่เนิ่นๆ แต่ดันไป Let Loss Run ก็จะเป็นการเปิดโอกาสทำให้คุณต้องโดนการขาดทุนแบบ –5R ขึ้นไปเข้าสักวันอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความเสียหายของพอร์ทอย่างย่อยยับได้อย่างง่ายดาย และมันก็คือเหตุผลของคนที่เจ๊งหุ้นส่วนใหญ่นั่นเอง

ลักษณะของค่า R-Multiple จากระบบการลงุทุนแบบ Trend Following

ในคราวนี้เราลองมาดูถึงลักษณะซึ่งของค่า R-Multiple ซึ่งเป็นเหมือนลายเซ็นของระบบการลงทุนแบบ Trend Following กันดูบ้าง ซึ่งเมื่อคุณได้เห็นถึงค่า R-Multiple ในรูปแบบเฉพาะของมันแล้ว ผมเชื่อว่ามันก็น่าจะทำให้ได้เข้าใจว่าทำไมวินัยของการ Cut Losses Short, Let Profits Run และการ Take Every Trades จึงได้สำคัญนักที่จะสร้างผลกำไรในระยะยาวขึ้นมาได้

lnw-set-multiple2

ภาพที่ 3 : R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากระบบ Turtle 2 (Simplify) โดยที่แกน Y แนวตั้งด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงความถี่และแกน Y ด้านขวาคืออัตราส่วนร้อยละจากจำนวนการซื้อขายทั้งหมด

Frequency of R-Multiple – แท่งแต่ละแท่งคือจำนวนความถี่ของค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของค่า R โดยแท่งแดงแสดงถึงผลขาดทุน –R และแท่งน้ำเงินคือผลกำไร +R เช่น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่า -3R ถึง -2R มีจำนวน 2 ครั้ง

Cumulative R Distribution – คือจำนวนความถี่สะสมของค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ค่า R ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง -3R ถึง 2R คิดเป็น 78.59% ของจำนวน R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Cumulative R Contribution – คือมูลค่าสะสมของค่า R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไร “สุทธิ” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง -3R ถึง 2R คิดเป็นมูลค่า 5.15% ของมูลค่าสุทธิจากค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Pareto Effect และกลไกของระบบการลงทุนแบบ Trend Following

ใช่แล้วครับ! สิ่งที่คุณเห็นจากค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะต่างๆนั้นคือกลไกที่ทำให้ระบบการลงทุนแบบ Trend Following มีค่ากำไรคาดหวังหรือ Expectancy ที่เป็นบวกในระยะยาวนั่นเอง

จากภาพที่ 3 นั้นคุณจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าจำนวนการขาดทุนทั้งหมดจะคิดเป็นร้อยละ 50.85% แต่เมื่อสังเกตุให้ดีเราจะพบว่าผลการขาดทุนของระบบที่แย่กว่า –2R นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.73% ของผลการซื้อขายทั้งหมดเท่านั้น การ Cut Losses อย่างรวดเร็วของระบบ Trend Following จึงเปรียบเสมือน SAFE-T-CUT ที่จะทำให้เราไม่โดน Pareto Effect ในเชิงลบออกไปได้นั่นเอง มันคือกลไกที่จะทำให้เราไม่ต้องหมดตัวไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันนั้นการ Let Profits Run ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถหักลบกลบหนี้การขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งในประเด็นนี้เราจะเห็นได้ว่าจำนวนการซื้อขายกว่าร้อยละ 78.59% จะหมดไปกับการทำให้ระบบมีกำไรสุทธิเป็นบวกได้เท่านั้น ผลกำไรที่มากกว่า +2R ขึ้นไปซึ่งเป็นผลจากการที่คุณอึดและกล้าพอที่จะ Let Profits Run จึงกลายเป็นผลการซื้อขายในส่วนน้อยที่สำคัญมากๆ (Vital Few) ที่จะทำให้คุณได้เสพสุขกับความมั่งคั่งจากการใช้ระบบการลงทุนแบบ Trend Following จริงๆ นอกจากนี้แล้วเมื่อมองในมุมกลับคุณก็ยังจะพบว่ามูลค่าของผลกำไรสุทธิทั้งหมดกว่า 82.14% นั้นจะมาจากเพียงกำไร +4R ขึ้นไปหรือคิดเป็นร้อยละ 11.92% เท่านั้น! นี่จึงทำให้คำกล่าวของ Richard Dennis ในเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยจากความจริงไปสักเท่าไหร่นัก

อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆคนคงเริ่มที่จะมองเห็นถึง Anatomy of Trend Following และ Pareto Effect กันบ้างในระดับหนึ่งแล้วนะครับ อย่างไรก็ตาม การที่ Pareto Effect จะเกิดขึ้นมากับเราได้นั้นยังคงมีตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งยวดอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ … เมื่อคุณได้ศึกษาหรือทดสอบระบบการลงทุนของคุณจนมั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าในระยะยาวมันจะให้กำไรคาดหวังที่เป็นบวกออกมาได้ คุณต้องมีวินัยและกล้าที่จะทำตามระบบในทุกๆครั้งที่เกิดสัญญาณขึ้นโดยไม่มีข้อแม้ … ไม่ว่าจะเป็นการขายทิ้งหรือเป็นการซื้อหุ้นที่ดูสูงและน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม

เรื่องที่ว่ามานี้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก และผมเชื่อว่าหลายๆคนรวมถึงผมเองก็คงต้องเคยได้ตัดสินใจผิดพลาดจากการมีคติกับสัญญาณในการเข้าซื้อหุ้นที่เกิดขึ้นกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ความผิดพลาดตรงนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ด้วย Mindset ,การฝึกจิตใจ และความเข้าใจที่มีต่อระบบการลงทุนของเรา หวังว่าบทความชิ้นนี้จะทำให้เพื่อนๆที่ได้อ่านเห็นถึงความสำคัญของ “สิ่งที่เป็นส่วนน้อยซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่” และ Pareto Effect ในการเล่นหุ้นกันขึ้นอีกพอสมควร แล้วเดี๋ยวบทความหน้าจะหาเรื่องสนุกๆมาเขียนใหม่ครับ

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!

ด้วยความที่ผมเป็นนักลงทุนสไตล์ Systematic Trend Following มานานพอสมควร หลายต่อหลายครั้งที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงหรือลงแรงๆ หรือแม้แต่การประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจต่างๆจะย่ำแย่ลงนั้น ผมมักที่จะได้รับความห่วงใยจากเพื่อนฝูง, พี่น้อง, พ่อแม่ และพี่ป้าน้าอาว่าให้ระวังตลาดด้วยนะ อย่ามัวแต่เล่นหุ้นโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆภายนอกอะไรเลย แน่นอนว่าผมย่อมรู้สึกยินดีที่ได้รับความห่วงใยจากทุกคนที่รู้จักเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผมก็มักจะทนไม่ไหวที่จะต้องตอบกลับไปว่าระบบการลงทุนที่ผมใช้อยู่นั้นสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องไปสนใจปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากราคาหุ้นสักเท่าไหร่นัก ซึ่งผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ ด้วยคำพูดปากปล่าวของผมเพียงอย่างเดียวมันทำให้ในหลายๆครั้งไม่มีใครเข้าใจผมสักเท่าไหร่ ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะแชร์คำตอบอย่างละเอียดที่ว่าทำไมผมและนักลงทุนตามแนวโน้มอีกหลายๆท่าน จึงน่าจะเป็นนักลงทุนที่ “ตายยาก” และอยู่ในตลาดไปได้นานอีกหลายปีกันครับ

เล่นไปตามแนวโน้มของตลาด
ความลับข้อแรกที่ทำให้โอกาสขาดทุนแบบบักโกรกจนต้องตายจากไปจากตลาดหุ้นของพวกผมนั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยก็คือ ผมเล่นหุ้นตามแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นของตลาดครับ

แล้วมันจะช่วยอะไรผมได้อย่างนั้นหรือ?
คำตอบก็เพราะปรากฎการณ์ “แนวโน้มราคา” ของตลาดหรือหุ้นนั้น เป็นปรากฎการณ์ความไร้ประสิทธิภาพของตลาดหุ้น (Market Anomaly) ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและ “สันดาน” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงของนักลงทุนในตลาดอย่างเราๆทั้งหลาย ที่มีมาอย่างยาวนานและกว้างขวางในตลาดหุ้นหรือแม้แต่ตลาดสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลกนั้่นเอง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ช่วยให้นักลงทุนและกองทุนชื่อดังหลายๆคนสามารถที่จะทำกำไรเอาชนะตลาดจนร่ำรวยมหาศาลมาได้นักต่อนัก และโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยนั้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่ามันจะจบลงหรือหมดประสิทธิภาพไปอย่างง่ายๆเลย โดยที่คุณจะสังเกตุได้จากกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นผลตอบแทนทบต้นตามช่วงเวลาในการคำนวณย้อนหลังจุดละ 36 เดือนหรือ 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันยังคงมีความเสถียรและเอาชนะดัชนี SET Index ได้อยู่ในระยะยาว
แน่นอนครับว่าแม้ในอนาคตจะไม่มีอะไรแน่นอน และปรากฎการณ์เหล่านี้ก็อาจจะลดพลังของมันลงหรือหายไปก็เป็นได้ แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้นั้นจากงานวิจัยต่างๆหลายๆชิ้น มันก็ยังถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์รูปแบบหนึ่งที่มีความเสถียร (Robust Anomaly) และมีประสิทธิภาพในการทำกำไรชนิดหนึ่งของโลกใบนี้เลยก็ว่าได้

setlnw1-Cumulative-Return-Chart_thumb

 

ภาพที่ 1 : ภาพกราฟ Cummulative Return แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนสะสมของระบบ Trend Following ธรรมดาๆรูปแบบหนึ่งซึ่งอาศัยการทำกำไรจากแนวโน้มขนาดใหญ่ในตลาด เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยที่ภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จากการทดสอบย้อนหลัง (Backtest) ด้วยการกำหนดเงื่อนไขอย่างเข้มงวดในระดับหนึ่ง มันได้สร้างการผลกำไรสะสมราว 25.46 เท่าเมื่อเทียบกับดัชนี SET Index ที่ 1.2 เท่า และให้ผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR ที่ราว 40% ต่อปี ในขณะที่ SET Index มี CAGR อยู่ที่ราว 9% เท่านั้น

setlnw2-ATH-Rolling-CAGR_thumb

 

ภาพที่ 2 : ภาพกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเสถียรของระบบการลงทุนในลักษณะนี้ โดยที่ค่าที่แสดงให้เห็นนี้เป็นค่า CAGR คำนวณย้อนหลัง 3 ปีในแต่ละจุดของเวลาเปรียบเทียบระหว่างระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่งกับดัชนี SET Index ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 2005-2014

การตัดขาดทุนและถอยเพื่อรอโอกาส

การตัดขาดทุน (Cut Losses) คือกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มตายยากยิ่งขึ้น สาเหตุก็เพราะว่าพวกมันนั้นทำหน้าที่เสมือนกับ Safe-T-Cut ช่วยตัดโอกาสที่เราจะเจอกับการขาดทุนอย่างหนักจนทำให้พอร์ทโฟลิโอโดยรวมนั้น “ฟกช้ำดำเขียว” จนเน่าเฟะและยากต่อการที่จะสามารถทำกำไรกลับมาเท่าทุนได้ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่หลายๆคนไม่เคยรู้เลยก็คือ สัญญาณการขายหรือ Exit Signal ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์แบบ Trend Following นั้น มักที่จะค่อยๆทยอยเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดหุ้นโดยรวมจะเกิดการดำดิ่งลงไปอย่างนักเสียด้วย! นั่นจึงทำให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ที่มีวินัยส่วนใหญ่นั้นสามารถที่จะรอดพ้นเงื้อมือมัจจุราจของตลาดหุ้น โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจปัจจัยอื่นๆเลยนอกจากแนวโน้มของราคาหุ้นในขณะนั้น

SETlnw3-All-Stocks-Trend_thumb

ภาพที่ 3 : ภาพกราฟ SET Index VS. Bullish Stock Composite แสดงสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นในแต่ละวัน โดยที่มันได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อตลาดหรือ SET Index เริ่มย่ำแย่ลง หุ้นต่างๆในตลาดจะเริ่มมีสัญญาณขายออกมาจนทำให้แนวโน้มของหุ้นที่เป็นขาขึ้นในขณะนั้นลดลงไปเรื่อยๆโดยอัตโนมัติ ในขณะที่สัญญาณซื้อจะค่อยๆเกิดขึ้นเมื่อตลาดกลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง จนทำให้สัดส่วนของจำนวนขึ้นที่เป็นขาขึ้นนั้นสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

SETlnw4-VS-Margin_thumb

ภาพที่ 4 : กราฟ SET Index VS. %Margin ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนมูลค่าเงินลงทุน ของพอร์ทโฟลิโอในแต่ละช่วงเวลา โดยเราจะสังเกตได้ว่าเมื่อตลาดเป็นย่ำแย่นั้น สัดส่วน %Margin ลดลงโดยอันโนมัติ ในขณะที่เมื่อตลาดค่อยๆดีขึ้น %Margin ก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเช่นกันจากสัญญาณที่เกิดขึ้นจากระบบ

การเล่นแบบเป็นเข่ง 

ความลับที่ไม่ลับอีกอย่างของกลยุทธ์ Trend Following ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการเล่นแบบเป็นเข่งหรือ Portfolio Trading ครับ เนื่องจากว่ากลยุทธ์การทำกำไรตามแนวโน้มนั้น ชื่อก็บอกว่าอยู่แล้วว่าเป็นการทำกำไรตามแนวโน้ม ดังนั้นถ้าหุ้นไม่มีแนวโน้มขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันมันก็ไม่มีทางกำไร และแนวโน้มใหญ่ๆที่ว่านี้ก็มักจะเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งในหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น (หุ้นตัวหนึ่งๆอาจมีแนวโน้มใหญ่ๆแบบ Super Trend เพียง 2-3 รอบของชีวิตเท่านั้น)

นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงหาทางออกด้วยวิธีการง่ายๆอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเฝ้ามองหุ้นเป็นตะกร้าคราวละหลายๆตัวแทนที่จะเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัว และค่อยๆทยอยเข้าซื้อขายหุ้นคราวละน้อยๆแทน โดยมีเหตุผลเพื่อที่จะทำให้เราสามารถเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้อยู่เสมอ และไม่พลาดโอกาสในการเข้าทำกำไรไป

ด้วยความประจวบเหมาะตรงนี้เองที่ทำให้พอร์ทโฟลิโอของนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมีลักษณะของการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นหลายๆตัวโดยอัตโนมัติ จนทำให้ความเสี่ยงรายตัวของหุ้นที่ถืออยู่ลดลง คงเหลืออยู่แต่ความเสี่ยงของตลาดหรือ Market Risk ที่มักจะเป็นตัวกดดันให้หุ้นส่วนใหญ่วิ่งไปพร้อมๆกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากตลาดหรือ Market Risk ตรงนี้ก็จะถูกบรรเทาลงไปได้ด้วยการใช้กลไกของการ Stop Loss ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดไม่เป็นใจนั่นเองครับ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว สำหรับนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มที่มีพอรท์การลงทุนที่ใหญ่และกว้างขวางสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์หลายๆอย่างก็ยิ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการเล่นแบบเป็น “เข่ง” ในข้อนี้ยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้กองทุน Hedge Fund ประเภท Commodity Trading Advisor (CTA) ชื่อดังหลายๆกองทุนได้แจ้งเกิดในเวทีโลกกันอย่างมากมาย

SETlnw5-Indrustries-Cumulative-Returns-2011-2014_thumb

ภาพที่ 5 : ภาพกราฟ Industries Cummulative Returns ซึ่งช่วยแยกผลกำไรที่เกิดจากระบบ Trend Following ออกเป็นรายอุตสาหกรรม ทำให้เราได้เห็นว่าการมีหุ้นที่เป็น Watchlist และกระจายน้ำหนักการลงทุนไปในหลายๆอุตสาหกรรมนั้นจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นในอุตสาหกรรมหลายๆกลุ่มอาจไม่ได้วิ่งขึ้นลงพร้อมๆกัน การมีตะกร้าหุ้นที่กว้างขวางจะช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถทำกำไรได้บ่อยครั้งและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

 

Note : ค่ากราฟไม่ได้เริ่มต้นจาก 0 เนื่องจากผมได้ทำการ Backtest เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – ปัจจุบัน

การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นอกจากที่กลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มแบบ Trend Following จะช่วยทำให้เราไม่ตกรถในตลาดขาขึ้น และติดดอยในตลาดขาลงแล้วนั้น เป็นที่รู้กันดีว่ากลยุทธ์แบบ Trend Following นั้นมักที่จะให้สัญญาณการซื้อที่มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ (แต่ก็ช่วยชนะตลาดได้นะ 55) ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆอีกอย่างหนึ่งของพวกมันก็คือการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดขนาดหรือเม็ดเงินในการลงทุนให้เหมาะสมในการซื้อขายแต่ละครั้งอยู่เสมอ (Money-Risk Management) นั่นจึงทำให้เรามักไม่เกิดการขาดทุนอย่างหนักขึ้นในการซื้อขายแต่ละครั้ง ดังนั้นเมื่อเวลาที่ตลาดเป็นขาลงหรือตลาดที่ผันผวนมากๆมาถึงแบบไม่รู้ตัวนั้น นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมักที่จะรอดตายได้อย่างปาฎิหารย์แบบไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้

setlnw7-Drawdown-2007-2008_

ภาพที่ 6  : ภาพกราฟ Drawdown แสดงให้เห็นถึงอัตราการขาดทุนสะสมของระบบ Trend Following จากจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี ค.ศ 2007-2008 (สีเขียว) เปรียบเทียบกับ Drawdown ของดัชนี SET Index ในขณะนั้น (สีดำ) ซึ่งทำให้เห็นว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following สามารถที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดไม่เจ็บตัวอย่างหนักได้เป็นอย่างดี

setlnw6-Drawdown-2014

ภาพที่ 7 : ภาพกราฟ Drawdown ของระบบเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ในปีล่าสุด ค.ศ. 2014 ที่พึ่งจะเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นดำดิ่งและเหวี่ยงอย่างรุนแรงในวันที่ 15-12-2014 ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ก็ยังคงสามารถที่จะเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มหลายๆคนถึงยังขาดทุนจนเจ๊งล่ะ?

ก่อนจะจบบทความนี้นั้น ผมเองก็อยากจะพูดถึงคำถามที่มักจะถูกถามหลังจากที่ผมอธิบายสิ่งเหล่านี้จนจบไปเรียบร้อยแล้วอีกสักนิด โดยที่คำตอบของผมนั้นก็คงจะเหมือนกับการที่คุณถามว่า “ทำไมหลายๆคนที่เรียนบริหารธุรกิจ จึงยังทำธุรกิจจนเจ๊งขาดทุน” นั่นแหละครับ

มันยังคงมีองค์ประกอบอื่นๆในการลงทุนอีกมากมายนอกเหนือจากกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นความอดทนมุ่งมั่น, ความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้นๆ, ทัศนคติในการลงทุน, วินัยในการลงทุนต่างๆ, EQ-IQ รวมไปถึงข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละคน หรือแม้แต่คำว่า “ดวง” อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อผลการลงทุนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วมันจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีทั้งคนที่ยังขาดทุนจนย่อยยับ จนไล่ไปถึงคนที่สามารถจะดำรงชีพอยู่ด้วยการลงทุนในตลาดนั่นเอง

และนี่ก็คือทั้งหมดของบทความนี้ครับ ซึ่งผมหวังว่ามันจะช่วยให้คุณเข้าใจว่าเหตุใดคนที่สามารถจะลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มอย่างมีวินัย จึงมีโอกาสที่จะขาดทุนอย่างย่อยยับค่อนข้างน้อย แม้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับสภาพตลาดที่ผันผวนสักเท่าไรนั่นเองครับ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน แล้วเจอกันใหม่ครับผม

mangmaoclub

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!