MBKET คาดกำไรต่อหุ้น บจ.เติบโต 15-17%

“MBKET” คาดกำไรต่อหุ้น บจ.เติบโต 15-17% ส่วน GDP ปีนี้โต 4% หากไม่โดนปัจจัยลบเข้าแทรก

“มนตรี” เผยแนวโน้มกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉลี่ยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 15-17% เทียบ P/E Ratio SET INDEX จะอยู่ที่ 13-14 เท่า ถือว่าไม่แพงเพราะเริ่มฟื้นตัว ส่วนอุตสาหกรรมไอที และยานยนต์จะกลับมาสดใส หุ้นไทยกลุ่มการบริโภค การส่งออก และการท่องเที่ยว และกลุ่มเกษตรกรรม รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) MBKET กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 2.5% ตั้งเปิดตลาดต้นปี 2558 ซึ่งก่อนหน้านี้ที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความรุนแรงสูง ทำให้ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำเหลือไม่ถึง 1% แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าแน้วโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะพลิกกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยในอีก 2-3 ไตรมาสหน้า เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตในทุกๆ ด้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ยังคงมีความความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย และการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการฟื้นตัวของการบริโภค การส่งออก และการท่องเที่ยว อีกทั้งภาคเกษตรกรรมที่กลับเข้าสู่ฤดูกาลทำนา โดยไม่ต้องรอใบประทวน และปัญหาจำนำข้าวเหมือนปีที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านไอที และรถยนต์ที่มีความได้เปรียบอยู่สูง ทั้งบุคลากร และทรัพยากร อีกทั้งมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด จะเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวได้ภายในปีนี้ ขณะที่แนวโน้มของบริษัทจดทะเบียนไทย เริ่มที่จะเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับตลาดเสรีอาเซียน ทั้งในส่วนของกลุ่มลุ่มน้ำโขง (GMS) หรือ (CLMV) เช่น บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ที่เข้าไปลงทุนด้านพลังงงานไฟฟ้าในประเทศลาว และ บมจ.อมตะ วีเอ็น (AMATAV) ที่เข้าไปลงทุนด้านนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่เตรียมจะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมทั้งด้านลอจิสติกส์ และค้าปลีกในกลุ่มประเทศดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งแนวโน้มการเติบโตขึ้นของกลุ่มประเทศ AEC ในอนาคต จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าอีกด้วย”

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% เทียบกับปีก่อนหน้า หากไม่มีปัญหาอะไรที่เป็นปัจจัยลบเข้ามากระทบ ขณะที่อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นในบริษัทจดทะเบียนโดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 15-17% เพราะฉะนั้นอัตรา P/E Ratio ของ SET INDEX ณ ราคาปัจจุบัน เทียบกับกำไรปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 13-14 เท่า ถือว่ายังไม่แพงหากเทียบกับแนวโน้มตลาดที่เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมา

ลุ้น”ดอยคำ”แต่งตัวรอเข้าตลาดหุ้น

ลุ้น”ดอยคำ”แต่งตัวรอเข้าตลาดหุ้น ตลท.หนุนกิจการเพื่อสังคม/แจงนักลงทุนให้เคลียร์

ดอยคำ-setlnw2

ดอยคำฯเล็งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น หลังที่ปรึกษาทางการเงินประเมินงบฯเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ปีล่าสุดสร้างยอดขายเฉียด 1 พันล้าน ฟากตลาดหลักทรัพย์ฯอ้าแขนรับ ยันไม่มีหลักเกณฑ์ห้ามธุรกิจที่ไม่เน้นแสวงหาผลกำไรเข้าจดทะเบียน ถ้าอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจแนวทางดำเนินงานได้

แหล่งข่าวที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้รับเชิญให้เข้าร่วมหารือ เพื่อพิจารณาแนวทางส่งเสริมให้โครงการในพระราชดำริมีเงินทุนดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า โครงการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำผักผลไม้พร้อมดื่ม ผลไม้อบแห้ง ฯลฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีจุดเด่นหลายด้าน ได้แก่ ภาพลักษณ์และความมีชื่อเสียงของตราสินค้า และที่ผ่านมาบริษัทดอยคำฯยังมีความพยายามที่จะพัฒนาช่องทางขายให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ผ่านร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วประเทศ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เน้นช่องทางขายในห้างค้าปลีก นอกจากนี้บริษัทยังมีจุดเด่นด้านยอดขายที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2557 จึงยิ่งทำให้เป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมากขึ้น

“เราได้ถูกเชิญเข้าไปให้วิเคราะห์โครงการต่าง ๆ ในพระราชดำริว่ามีโครงการใดบ้างที่จะสามารถสร้างแหล่งระดมทุนในลำดับแรก ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทดอยคำฯถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจที่สุด เพราะอยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการปรับปรุงในเรื่องช่องทางการขาย จนส่งผลให้ยอดขาย ของบริษัทใกล้เคียงระดับ 1 พันล้านบาทในปี 2557” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระบวนการนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า บริษัทดอยคำฯควรใช้แนวทางใดในการระดมทุน ซึ่งเบื้องต้นมีข้อเสนอให้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะบริษัทดอยคำฯเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากไม่ได้มีความมุ่งหมายในเรื่องการแสวงหากำไรเป็นหลัก (Nonprofit Organization)

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจต้องนำประเด็นนี้ไปพิจารณาต่อ เช่น อาจตั้งหมวดหลักทรัพย์ใหม่ ประเภทองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

“แนวทางที่ประเมินก็มีทั้งการนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น และการจัดตั้งกองทรัสต์ เพียงแต่เป็นไอเดียคร่าว ๆ ที่มองกันไว้ ซึ่งต้องรอหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า สำหรับองค์กรประเภทไม่แสวงหากำไร สามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์ใดปิดกั้น เพียงแต่บริษัทจะต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนให้ชัดเจน เพื่อให้รับทราบวิธีและแนวคิดในการทำธุรกิจประเภทกิจการเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) ก่อน

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีหากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีธุรกิจประเภทกิจการเพื่อสังคมเข้ามาจดทะเบียน แต่บริษัทนั้น ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนด้วยว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน และที่สำคัญ ธุรกิจที่ไม่ได้แสวงหากำไรเป็นหลัก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกำไร ดังนั้นนักลงทุนก็มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน และช่วยเหลือสังคมไปพร้อม ๆ กันด้วย” นางเกศรากล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทดอยคำฯมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 340 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสัดส่วน 97.06% มูลนิธิโครงการหลวง 2.94%

“เติบโตทุกมิติ” โมเดลธุรกิจ “RS”

ปรับยุทธศาสตร์ตามสภาพตลาดแผนเติบโต บมจ.อาร์เอส “เฮียฮ้อ-“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” มองยาว 4 ปี

RS-setlnw

เมื่อ “ความยืดหยุ่น” ได้กลายเป็นคาแรคเตอร์ส่วนตัวของ “เฮียฮ้อ-“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” บมจ.อาร์เอส หรือ RS จึงไม่แปลกหากจะเห็นดินแดนบันเทิงอายุกว่า 30 ปี แห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจแทบทุกปี

จากธุรกิจขายแผ่นเพลงสู่ธุรกิจดิจิตอล ก่อนจะผลันตัวเองสู่โลกคอนเทนต์กีฬา และกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ล่าสุดกำลังหันมาเอาดีใน “ธุรกิจมีเดีย” หลังทุ่มเวลาปั้นธุรกิจดิจิตอลทีวี แซทเทลไลท์ทีวี และคลื่นวิทยุ จนมีเรตติ้งอันดับต้นๆของเมืองไทย

“ธุรกิจใดหากพิสูจน์แล้วพบว่า ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือความนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาร์เอสพร้อมเลิกทำทันที เพื่อจะได้มีเวลาไปทำธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้สูงสุด”

“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาร์เอส ยืนยันความเชื่อดั่งเดิมให้ “กรุงเทพ Biz Week” ฟัง

แม้จะปรับโครงสร้างธุรกิจทุกปี แต่ไม่ได้หมายความว่า มีความสุข หรือพึ่งพอใจแล้ว ที่ผ่านมาเราบอกพนักงานทุกคนเสมอว่า “อย่าพอใจในสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ ถ้าวันนี้ทำได้ดี พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่า” ฉะนั้นเราจึงต้องมีเป้าหมายการทำงาน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เป้าหมายระยะสั้น คือ ในปี 2558 อาร์เอส ต้องมีรายได้ประมาณ 4,600 ล้านบาท กำไรสุทธิ 700 ล้านบาท และช่อง 8 ต้องมีเรตติ้งอันดับ 3 เพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นในปีถัดไป ถามว่า เป้าหมายนี้ท้าทายหรือไม่ ตอบเลยว่า “ใช่” แต่ถ้าในอดีตเราเคยทำได้อนาคตก็ย่อมทำซ้ำได้อีกครั้ง

ก่อนจะพูดเรื่องเป้าหมายระยะยาว “เฮียฮ้อ” เล่าถึงธุรกิจที่อาร์เอสจะให้ความสำคัญน้อยลงในปี 2558 ว่า การแข่งขันและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบการช่อง 8 แข็งแรงมากขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องลดระดับความสำคัญของ “ธุรกิจกีฬา” และ “ธุรกิจรับสัญญาณดาวเทียม SUN BOX”

ในช่วง 4-5 ปีก่อน คอนเทนต์กีฬาฟุตบอลเคยมีการแข่งขันสูง แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เห็นได้จากต้นทุนลิขสิทธิ์กีฬาที่ไม่ได้อยู่ในราคาที่เหมาะสมในการทำธุรกิจกีฬาอีกต่อไป ฉะนั้นหากยังอยากทำต่อคงต้องใช้ความรอบคอบในการทำธุรกิจอย่างสูง

ส่วนตัวยังคงมีความเชื่อที่ว่า คอนเทนต์กีฬาสามารถดึงสายตาคนดูได้มากที่สุด แต่สุดท้ายทุกอย่างย่อมมีต้นทุน ความคุ้มค่าอยู่ที่ตรงไหน เราต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก ฉะนั้นลิขสิทธิ์ฟุตบอลลาลีกา สเปน ที่กำลังจะหมดสัญญาในเดือนพ.ค.นี้ เราอาจให้ความสนใจน้อยลง ดังนั้นอนาคตกีฬาอาจมีความจำเป็นน้อยมากสำหรับอาร์เอส

สำหรับธุรกิจกล่องรับสัญญาณดาวเทียม SUN BOX ที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี และมียอดขายแล้วประมาณ 2 ล้านกล่อง เขา ยอมรับว่า ในปี 2558 ยังไม่แผนจะบุกตลาดอย่างจริงจังเหมือนในช่วง 2-3 ปีก่อน แต่คงวางกลยุทธ์การขายให้เหมาะสมกับความต้องการ วันนี้ตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงทางการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิทัล

“แม่ทัพใหญ่” เล่าแผนธุรกิจระยะยาวว่า ในช่วง 4 ปีข้างหน้า (2558-25561)

เราจะพยายามทุบสถิติใหม่ของ “กำไรสุทธิทุกปี” หากพิจารณาในแง่ของอัตรากำไรสุทธิตัวเลขที่เหมาะสมควรยืนระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับต้องขยับขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ระดับ 15 เปอร์เซ็นต์

เหตุผลที่จะทำให้บริษัทสามารถคว้าตัวเลขนี้มาครอบครอง คือ เรตติ้งช่อง 8 และช่องแซทเทลไลท์ทีวี ต้องขยับขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเรตติ้งดีย่อมทำให้อัตราค่าโฆษณาสูงขึ้นด้วย แน่นอนว่า จะสะท้อนมาถึงผลกำไรสุทธิของบริษัท เบื้องต้นในปี 2558 เรามีแผนจะปรับค่าโฆษณาช่อง 8 และช่อง 2 ประมาณ 4-5 เท่าต่อช่อง และหากระหว่างปีเรตติ้งขยับ เราก็สามารถปรับขึ้นได้อีก

ก่อนจะเห็นตัวเลขอัตรากำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าว คงต้องวางรากฐานธุรกิจให้แน่น โดยในปี 2558 เราวางแผนจะทุ่มเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในคอนเทนต์ของสื่อทีวี ซึ่งคงเน้นหนักไปในช่อง 8 ประมาณ 700 ล้านบาท สำหรับเรื่องเงินลงทุนนักลงทุนไม่ต้องห่วง สุขภาพการเงินของเราแข็งแรง

ปัจจุบันเรามีกระแสเงินสดค่อนข้างมาก แถมยังมีวงเงินกู้แบงก์อีกเพียบ ที่สำคัญบริษัทมีแผนจะขายหุ้น อาร์เอส ที่เคยซื้อคืนมาจำนวน 17,700,000 หุ้น ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย.นี้ ซึ่งหุ้นที่ซื้อเคยมา ส่วนใหญ่มีต้นทุนเฉลี่ย 4 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นอาร์เอสซื้อขายเฉลี่ย 18 บาท

“แม้ใช้เงินลงทุนเยอะ แต่เรายืนยันจะจ่ายเงินปันผลเหมือนเดิม และไม่มีแผนจะขายหุ้นเพิ่มทุน เพราะฐานทุนของเราเพียงพอแล้ว”

เขา เล่าต่อว่า ปีนี้เราคงยังทำงานในคอนเซ็ปต์ “มีเดีย เรโวลูชั่น” ซึ่งเป็นกลยุทธ์เดิมที่เคยใช้มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน หัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้ คือ เปลี่ยนบริษัทที่ผลิตคอนเทนต์บันเทิงมาเป็นบริษัทมีเดียเต็มรูปแบบ

ฉะนั้นปีนี้สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัทจะรับเงินจากธุรกิจมีเดียมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นธุรกิจเพลง และธุรกิจอีเวนท์ ซึ่งจะแตกต่างจากปี 2557 ที่มีสัดส่วนรายได้ 50:50

ธุรกิจมีเดีย ประกอบด้วย

1.สื่อทีวี 4 ช่อง คือ ช่อง 8 ดิจิตอลทีวี ,ช่อง 2 ,ช่องสบายดีทีวี และช่องยูแชนแนล ปัจจุบันทุกช่องมีเรตติ้งเป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม

“การได้มาของเรตติ้งช่อง 8 ไม่ได้มาจากช่องใดช่องหนึ่ง แต่มาจากสายตาคนดูทั้ง 24 ช่อง วันนี้ช่องใหม่ทุกช่องได้เรตติ้งกันหมดแล้ว ซึ่งเป็นดึงสายตาคนดูมาจากผู้ประกอบการรายเดิมอย่างช่องฟรีทีวี ดูอย่างช่อง 3 วันนี้เรตติ้งหายไปเกือบครึ่งแล้ว”

อาร์เอสจะใช้คอนเทนต์รูปแบบใดมาแย่งสายตาคนดู? ตอนนี้บอกไม่ได้จริงๆ ตอบได้เพียงว่า รายการส่วนใหญ่ของเราจะตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นรายการกีฬา เกมโชว์ วาไรตี้ บันเทิง และข่าว ซึ่งคอนเทนต์บางรายการ บริษัทอาจซื้อลิขสิทธิ์ แต่ส่วนใหญ่จะผลิตเอง 90 เปอร์เซ็นต์

ธุรกิจสื่อทีวีดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องทำรีเสิร์ช เพราะเรตติ้งเราจะรู้วันต่อวัน ฉะนั้นจะทำให้รู้ว่า รายการอะไรถูกใจและไม่ถูกใจกลุ่มลูกค้า วันนี้รายการเสียงสวรรค์พิชิตฝัน ละคร และรายการข่าว ถือเป็นรายการที่ถูกใจคนดูช่อง 8 ส่วนรายการที่ไม่ถูกใจ ส่วนใหญ่เป็นรายการเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงไพร์มไทม์ ซึ่งเราก็จะดำเนินการปรับปรุงรูปแบบต่อไป

2.สื่อวิทยุ คือ คลื่นคูล 93 และคลื่น 88.5 สบายดีเรดิโอ โดยคลื่นคูล 93 ปัจจุบันมีเรตติ้งอันดับ 1 ต่อเนื่องมา 14 ปี ส่วนคลื่น 88.5 สบายดีเรดิโอ มีเรตติ้งอันดับ 2 สำหรับคลื่น คูล เซลเซียส 91.5 เราเลิกทำไปแล้ว

หลังดำเนินการมาได้แค่ 1 ปี แล้วพบว่า คลื่นไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำเต็มที่ได้แค่เท่าทุน เนื่องจากตลาดเพลงสากลไม่ได้ใหญ่มากพอเหมือนที่เคยทำผลสำรวจ ขณะที่สื่อวิทยุเป็นธุรกิจขาลง หรือ Sunset ฉะนั้นหากอยากอยู่รอดต้องชนะเท่านั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบทำให้รู้ว่า คลื่น คูล เซลเซียส 91.5 ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ของเรา

“ปีนี้อยากให้น้ำหนักในสื่อทีวีมากที่สุด เพราะธุรกิจน่าจะมีการแข่งขัน ค่อนข้างรุนแรง ฉะนั้นหากเราไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก จริงๆแล้วอุตสาหกรรมสื่อในช่วง 2-3 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องตื่นตัวตลอดเวลา”

ถามว่า เพราะอะไรอาร์เอสจึงให้ความสำคัญกับธุรกิจเพลงลดลงเรื่อยๆ เขาตอบว่า เราได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพลงใหม่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ด้วยการรวมศูนย์การบริหารใหม่ โดยได้นำเพลงเพลงสตริงและเพลงลูกทุ่งมาให้ “เณร-ศุภชัย นิลวรรณ” รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจเพลง เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ฉะนั้นเชื่อว่าธุรกิจเพลงจะยังคงสร้างกำไรได้ดีเหมือนเดิม

การปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพลงครั้งนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น และต้นทุนต่างๆจะลดลง ขณะเดียวกันทีมงานยังสามารถแชร์กลยุทธ์ความสำเร็จจากฝ่ายหนึ่งไปอีกฝ่ายหนึ่งได้ และยังสามารถเชื่อมคอนเทนต์ที่ดีไปสู่ช่องสบายดีทีวี และช่องยูแชนแนลได้ เนื่องจากคุณเณรเป็นผู้บริหารของ 2 ช่องนี้ด้วย

“หากมองธุรกิจเพลงไม่ควรมองเรื่องรายได้เป็นหลัก แต่ควรมองในแง่ของกำไรเพราะธุรกิจเพลงมีอัตรากำไรขั้นต้นมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอีเวนท์ที่มีอัตรากำไรขั้น 30 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหลายปีที่ผ่านมา ที่เราพยายามปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว อาร์เอส ถือ เป็นบริษัทเพลงแห่งแรกในเมืองไทยที่ปรับตัวก่อนใคร”

“สุรชัย” ทิ้งท้ายว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนมีนักวิเคราะห์จากหลายสำนักเข้ามารับฟังข้อมูลต่างๆของอาร์เอส ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์เคยให้ราคาเป้าหมายหุ้น อาร์เอสบวกลบ 15 บาท แต่เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา บล.ธนชาติ ได้ขยับราคาเป้าหมายเป็น 25 บาท แต่หลังจากนักวิเคราะห์เข้าฟังข้อมูลรอบนี้แล้วจะให้ราคาเป้าหมายเท่าไหร่ก็คงต้องรอดูต่อไป

ความสวยของอาร์เอส ทำให้ที่ผ่านมาเหล่ากองทุนต่างประเทศหลายแห่งแสดงความสนใจขอซื้อหุ้น อาร์เอส แต่บริษัทไม่มีแผนขายหุ้นเพิ่มทุน ขณะที่ส่วนตัวไม่เคยคิดขายหุ้นออก ตรงข้ามมีแต่จะซื้อเพิ่มเติม ฉะนั้นหากใครอยากได้คงต้องไปเก็บในกระดานหรือไปขอซื้อจากผู้ถือหุ้นคนอื่น

ปัจจุบันเฮียถือหุ้น อาร์เอส มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หลัง “เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ” ผู้ถือหุ้น อาร์เอส อันดับ 2 ได้ขายหุ้นบิ๊กล็อตให้จำนวน 30 ล้านหุ้น ราคา 13 บาท มูลค่า 400 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้ทยอยเก็บเพิ่มในกระดาน

สาเหตุที่ซื้อหุ้น อาร์เอส ทุกครั้งที่มีจังหวะ นั่นคงเป็นเพราะทีวีดิจิทัล ธุรกิจที่ใครหลายคนบอกว่า เป็นธุรกิจเผาเงิน ธุรกิจดูดเงิน มันกำลังจะสร้างความแข็งแกร่งให้อาร์เอส ฉะนั้นหากใครสนใจหุ้นมีเดีย มองหุ้น อาร์เอสไว้บ้างก็ได้นะ

ภาพรวมของผลการดำเนินงานปี 57 เติบโตเล็กน้อย และเติบโตต่อเนื่องในปี 58

 

KTB : คาดกำไร 4Q57 เพิ่มขึ้น 7% และ 27% และคงประมาณกำไรปี 57 ซึ่งเติบโตราว 2%

คาดกำไร 4Q57 ของ KTB ราว 9.6 พันล้านบาทเติบโต 7% และ 27%และคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ราว 3.46 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 2% ทั้งนี้มีสินเชื่อเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารราว 8% เนื่องจากการเติบของสินเชื่อในทุกกลุ่มทั้งสินเชื่อเอกชนและสินเชื่อภาครัฐ ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ที่ราว 3.46 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโตราว 2% จากปี 56 และคาดจะเติบโตต่อเนื่องราว 7% ในปี 58 จากปัจจัยหนุนของการเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่ายังดีต่อเนื่องตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 58 และการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.60 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-การเติบโตสินเชื่อที่ต่ำกว่าคาดทำให้ประมาณกำไรปี 57 สำหรับ BBL เติบโตเล็กน้อยเพียง 3%

คาดกำไรปกติในช่วง 4Q57 ของ BBL ทรงตัวใกล้เคียงกับ 3Q57 ที่ระดับ 9.6 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 24%แม้ว่าการเข้าสู่ฤดูกาลในช่วงปลายปีช่วยหนุนให้สินเชื่อ 11 เดือนแรกปี 57 พลิกมาเติบโตจากปลายปี 56 เทียบกับที่หดตัวใน 3Q57 แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการคืนหนี้ก้อนใหญ่ทำให้สินเชื่อปี 57 เติบโตเพียง 1-2% ต่ำกว่าเป้าที่ระดับ 4-5% ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากไตรมาสที่แล้วเนื่องจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากการออกแคมเปญเพื่อระดมเงินฝากในการเพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับทรงตัวจากไตรมาสที่แล้วจากลูกค้าบางรายที่มีปัญหาตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วแต่พอร์ตโดยรวมยังมีคุณภาพดี ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของสินเชื่อเหลือ 2% จากเดิม 5% ส่งผลให้ประมาณกำไรปี 57 ลดลง 3% เหลือ 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 3% จากปี 56 และปรับประมาณการกำไรปี 58 ลดลงจากเดิม 10% เหลือ 4.1 หมื่นล้านบาทซึ่งยังเติบโต 10% บนสมมติฐานว่าสินเชื่อในปี 58 จะกลับมาเติบโตราว 5% ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งจากการมีสาขาในต่างประเทศเป็นจำนวนมากรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 247 บาทจากเดิม 257 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-KBANK : แม้กำไร 4Q57 มีแนวโน้มแผ่วลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่คาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 12%

ฝ่ายวิจัยคาดกำไร 4Q57 ราว 1 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 20% จาก 3Q57 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อแผ่วลงในเดือนสุดท้ายที่มีการชำระคืนเงินกู้ (11 เดือนแรกปี 57 สินเชื่อเติบโตเกือบ 7% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับนี้จนถึงปลายปี 57 และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายจากค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใกล้เคียง 3Q57 ที่ 3.7% ฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสู่ 2.3% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคาร ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรปี 57 ที่ระดับ 4.6 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% โดยคาดกำไรปี 58 เติบโตต่อเนื่องราว 12% เป็น 5.2 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นที่ปรับลงมากในช่วงก่อนหน้านี้เป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 268 บาท (P/BV2.1 เท่า)

-SCB : คาดกำไร 4Q57 แผ่วลง 17% และ 4%คงคาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 7%

คาดกำไร 4Q57 ราว 1.27 หมื่นล้านบาทลดลง 17% และ 4% จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วตามช่วงฤดูกาลจากกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) น่าจะทรงตัวใกล้เคียง 3Q57 ที่ระดับ 3.35% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ทรงตัว ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหากตัวเลขจริงมีการตั้งสำรองหนี้สูญต่ำกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย จะทำให้ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ที่ราว 5.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 7% จากปี 56 และคาดจะเติบโตราว 4% เป็น 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 58 โดยมี upside จากดีล tender off บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) ในช่วง 1Q58 คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 228 บาท (P/BV 2.4 เท่า)

ตามปกติแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงฤดูกาลที่จะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ในช่วง 4Q57 กลับไม่เห็นสินเชื่อของแต่ละแบงก์เติบโตมากนัก เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การเติบโตของสินเชื่อทั้งปีมีข้อจำกัดและต่ำกว่าเป้าหมายของผู้บริหาร อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อในปี 57 จะเป็นฐานที่ต่ำสำหรับปี 58 ซึ่งผู้บริหารธนาคารตั้งเป้าว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตราว 2 เท่าของตัวเลข GDP (consensus 3.5 – 4%) โดยมีแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทรงตัว ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมยังอยู่ในระดับดีแม้จะมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ SME รายเล็ก แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงของทั้งพอร์ต ด้านฐานะเงินกองทุนยังแข็งแกร่งโดยแต่ละธนาคารมีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์BASEL III ซึ่งจะช่วยเสริมเงินกองทุนให้แข็งแกร่งเพียงพอต่อการรองรับการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในอนาคตจากที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 58 จะเติบโตสูงจากฐานที่ต่ำในปี 57 เราให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็น “Neutral” โดยเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL KBANK KTB และ SCB