เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย ความหวังพลิกวิกฤตขาดทุน เทกออฟทำกำไร

ทันทีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะการบินไทย ที่ถูกจับตามองจากทุกฝ่ายมากสุด เพราะยังไม่มั่นใจว่าแผนฟื้นฟูจะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วแนวทางที่กำหนดเหมาะสมขนาดไหน และพนักงานที่มีอยู่กว่า 2.5 หมื่นคนจะได้รับผลกระทบเพียงใด

thai-setlnw

-แผนฟื้นฟูหยุดขาดทุน

การจัดทำแผนฟื้นฟูของการบินไทยครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อหยุดการขาดทุน และหาวิธีการให้กลับมามีกำไรให้ได้ หลังจากที่ประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 ที่ขาดทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และในปี 2557 แม้ผลการดำเนินงานทั้งปีจะยังไม่ออกมา แต่ผลประกอบรวม 3 ไตรมาสมีการขาดทุนประมาณ 9.1 พันล้านบาท คาดว่าทั้งปี 2557 จะขาดทุนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

แผนฟื้นฟูจึงเป็นความหวังของการบินไทยที่จะทำให้ผลการดำเนินงานกลับมาเป็นบวก โดยมีเนื้อหาหลักๆ 5 ประเด็น คือ

1.ปรับเส้นทางการบิน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.1 กลุ่มเส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง

1.2 กลุ่มเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงและฟื้นฟูให้กลับมาภายใน 6-12 เดือน โดยกลุ่มนี้ยังถือเป็นกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าจะหยุดหรือไม่ เพราะอนาคตอาจมีศักยภาพจะใช้เวลาอีก 1 ไตรมาส ในการพิจารณาว่าจะหยุดหรือเดินหน้า

1.3 เส้นทางที่พอมีกำไรให้พัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อไม่ให้ขาดช่วง แม้ว่าเป็นกลุ่มที่วันนี้ยังไม่มีกำไร แต่มีแนวโน้มทำกำไรได้ จะต้องไปปรับวิธีการดำเนินงานขายบัตรโดยสารให้ดีขึ้น และ 1.4 เส้นทางที่มีกำไร ซึ่งเปรียบเสมือนกำลังหลัก ส่วนนี้ต้องเพิ่มเที่ยวบิน เช่น ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น (กรณีของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ)

2.การปรับแผนการตลาด จะเน้นปรับกลยุทธ์ขายตั๋ว โดยให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

3.การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ เพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบินจึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสม ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวางหรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ

4.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน โดยยังไม่กำหนดช่วงเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออก

5.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น จะต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าส่วนใดจะโอนออกไปหรือขายอีกครั้ง

โดยมาตรการทั้ง 5 ข้อ ถือเป็นการหยุดเลือดของการบินไทยโดยตัดภาระที่ทำให้ติดลบมากออกไปก่อน ซึ่งในแผนนี้จะรวมถึงการลดการลงทุนลงด้วย เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี ก็ต้องปรับลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินก็จะมีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไปก่อน

-สหภาพค้านปลดพนักงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) ทราบข่าวแผนฟื้นฟูผ่าน คนร.แล้ว ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทันที โดยยืนยันว่าการบินไทยไม่สามารถปลดพนักงานได้ เพราะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนข้อเสนอที่จะปรับลดพนักงานลง 5 พันคน ทางสหภาพยังได้เข้าไปขอความชัดเจนจากฝ่ายบริหารการบินไทยเพิ่มเติมจนทราบว่า เรื่องปรับลดพนักงานเป็นแผนดำเนินการ 5 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากพนักงานที่เกษียณอายุประมาณ 500 คนต่อปี และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประมาณ 500 คนต่อปี รวมทั้ง 2 ส่วน ภายใน 5 ปี จะมีพนักงานลดลงตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันทางสหภาพได้เสนอให้ปรับลดพนักงานที่ว่าจ้างจากภายนอก (เอาต์ซอร์ส) โดยเฉพาะกลุ่มที่ประจำสำนักงานใหญ่การบินไทย คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1 พันคน เพราะมองว่าปัญหาของการบินไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับขยายโครงสร้างของฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีฝ่ายปฏิบัติ จึงว่าจ้างพนักงานเอาต์ซอร์สเข้ามาเสริมการทำงาน ในขณะที่พนักงานประจำไม่ทราบว่าได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้น หากจะปรับลดพนักงานก็น่าจะปรับลดเอาต์ซอร์สก็จะช่วยลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายลงได้ส่วนหนึ่ง

– เฮดจิ้งน้ำมันทำต้นทุนสูง

ขณะที่การประชุมระดับปลัดและหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้สอบถามเกี่ยวกับการลดต้นทุนของสายการบินไทยเช่นเดียวกัน โดยมองว่าสาเหตุขาดทุนหลักเพราะสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้า (เฮดจิ้ง) จนกลายเป็นการบริหารต้นทุนที่ผิดพลาด เพราะเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง ต้นทุนของการบินไทยไม่ลดลงตาม เนื่องจากยังใช้น้ำมันในราคาที่สูงอยู่นั่นเอง แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการนี้สายการบินทั่วไปก็ใช้กัน เพราะจะส่งผลดีในช่วงที่ราคาน้ำมันสูง แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ก็จะส่งผลให้ขาดทุนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นการบริหารความเสี่ยงของแต่ละสายการบินอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานต้อนรับหรือแอร์โฮสเตสของการบินไทย สามารถลาออกได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุ 40-50 ปี ที่ต้องการพักผ่อนให้สามารถลาออกได้ โดยจะต้องไปกำหนดรูปแบบว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ให้เหมาะสมมากที่สุดต่อไป

– มั่นใจปีนี้หยุดขาดทุน

ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ออกมาบอกว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยเป็นแผน 2 ปีคือ ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยมั่นใจว่ามาถูกทางแน่ พร้อมกันนี้ยังได้วางเป้าหมายจะหยุดขาดทุนให้ได้ในปี 2558 นี้ จากนั้นปี 2560 จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน สำหรับการปรับลดพนักงาน 5,000 คน จะให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป เพราะจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการบริหารงานค่าใช้จ่ายด้านอื่นก่อน หากมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ถึงจะพิจารณาปรับลดพนักงาน

ส่วนขั้นตอนการปฏิรูปการบินไทยจะมี 3 ขั้นตอน 6 กลยุทธ์ ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกลดการขาดทุนให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยในปีนี้มีแผนยกเลิกเส้นทาง ลดความถี่เที่ยวบินที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีศักยภาพทำกำไรรวมประมาณ 10% ของเที่ยวบินทั้งหมด เช่น ยกเลิกเที่ยวภูเก็ต -กรุงโซล, กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนเที่ยวบินไปกลับสุราษฎร์ธานี อุดรธานี อุบลราชธานี จะลดความถี่ลงและให้สายการบินไทยสมายล์บินแทน โดยเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-มาดริด, กรุงเทพฯ-มอสโก, กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก โดยจะมีผลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 เนื่องจากเส้นทางบินดังกล่าวอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ ไม่มีศักยภาพและในระยะปานกลางก็ไม่มีศักยภาพ

เรื่องการขายสินทรัพย์ จะพิจารณาขายเครื่องบินก่อนส่วนแรก 22 ลำ ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 จากทั้งหมดที่มี 102 ลำ ส่วนทรัพย์สินอื่น เช่น บ้านพักและสำนักงานต่างประเทศ ก็ต้องประเมินอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจนอกเหนือจากการบิน เช่น หุ้นโรงแรม จะต้องพิจารณาอีกที ถ้าไม่สามารถบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพก็อาจต้องขาย ซึ่งจะจัดทำแผนบริหารเพื่อดูสินทรัพย์ว่าส่วนไหนมีศักยภาพ มีผลตอบแทนดีจะเก็บไว้ แต่ถ้าไม่ดีก็จะขายทิ้ง แต่เท่าที่ดูปีนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขายธุรกิจ

– รายได้ไม่ถึง2แสนล้าน

ขั้นตอนที่ 2 จะเร่งสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน โดยปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ บุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ในการหารายได้ทุกช่องทาง แต่ยังให้บริการเต็มรูปแบบ และขั้นตอนที่ 3 การขยายธุรกิจให้เติบโตและมีกำไรในระยะยาว โดยใช้จุดแข็งขององค์กรเป็นหลักในการเติบโต ขณะเดียวกันยอมรับว่าแผนเลื่อนการรับมอบเครื่องบิน เป็นหนึ่งในแผนช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ส่วนสภาพคล่องตอนนี้ยังไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องกู้ในปีนี้ แต่การขอสินเชื่อก็มีอยู่ในแผนการบริหารสภาพคล่องปกติ อย่างไรก็ตามปีนี้รายได้คงไม่ถึง 2 แสนล้านบาท

สำหรับ 6 กลยุทธ์ที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย การปรับปรุงเครือข่ายสายการบิน การปรับปรุงฝูงบิน เพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย การปรับปรุงโครงสร้างองค์การ และการจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัทอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดธุรกิจหลักและธุรกิจสนับสนุนให้ชัดเจน

– เจาะกลุ่มลูกค้าหลัก

พร้อมกันนี้ดีดียังสั่งการให้ฝ่ายพาณิชย์เร่งจัดทำแผนการตลาดเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มลูกค้าหลัก 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มลูกค้าข้าราชการ ลูกค้าบุคคล กลุ่มทัวร์ โดยให้ดึงส่วนแบ่งเพิ่มจากสายการบินอื่น ผ่านการทำตลาดในช่องทางซื้อต่างๆ รวมถึงทางเว็บไซต์ โดยกำหนดให้ทุกกลุ่มลูกค้าและทุกช่องทางการซื้อต้องมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทั้งหมดในปี 2558 ขณะเดียวกันยังสั่งการให้เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ซ่อมเครื่องบินเพื่อรองรับแผนการเปิดซ่อมเครื่องบินของสายการบินอื่นรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า เพราะในอนาคตจะมีเครื่องบินเข้ามาอยู่ในแถบประเทศไทยประมาณ 2,000 ลำ โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากการซ่อมเครื่องบินให้สูงขึ้น แบ่งเป็นเครื่องของการบินไทย 70% และเครื่องของสายการบินอื่น 30%

– เปิดเออร์ลี่รีไทร์พลัส

ฝั่งของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนฟื้นฟูของการบินไทยที่ยังสรุปไม่ได้มี 2 เรื่อง คือ 1.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทยหรือ นอน คอร์ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินในลักษณะใด ดังนั้น การบินไทยต้องไปพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่าธุรกิจในส่วนไหนบ้างที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดผลกำไรขึ้นมา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการขายหุ้นก็ได้ เช่น กรณีของโรงแรม ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับการบินก็ไม่ใช่ เพราะหากเกิดปัญหาต้องนำผู้โดยสารไปพักก็ต้องนำไปพักที่โรงแรม หรือธุรกิจท่อน้ำมัน เครื่องบินของการบินไทยก็ต้องเติมน้ำมัน เป็นต้น 2.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังให้เหลือ 2 หมื่นคน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่การบินไทยจะต้องไปกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน ซึ่งการปรับลดอัตรากำลังดังกล่าวไม่ใช่การปลดพนักงาน แต่เป็นการเปิดเกษียณอายุก่อนกำหนดแบบพิเศษหรือเออร์ลี่รีไทร์ พลัส จะให้ผลตอบแทนมากกว่าการเออร์ลี่รีไทร์ปกติ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรก็ขอให้การบินไทยไปพิจารณาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จ

จากข้อมูลข้างต้นหลายฝ่ายต่างคาดหวังให้การบินไทยทะยานไปข้างหน้าอย่างราบรื่น แต่ยังอดห่วงไม่ได้เพราะตราบใดมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซง โอกาสจะนอนยาวไร้สติอยู่ในห้องไอซียูยังเกิดขึ้นได้เสมอ !!

ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ กับการทำให้ธุรกิจอยู่รอด

สวัสดีครับปีใหม่ปีนี้เข้ามาและสัปดาห์สุดท้ายก็กำลังจะผ่านไปแล้วนะครับ  

ในปีใหม่นี้ มีเรื่องและปัจจัยหลายเรื่องที่มีโอกาสทำให้การทำธุรกิจของเราและท่านทั้งหลายมี ความท้าทายมาก เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาและพูดคุย กับผู้ใหญ่และผู้บริหารหลายท่าน หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่มีการสนทนากันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง การเคลื่อน ย้ายของเงินทุนที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกและมีผลกระทบต่อเรา

จากการฟังและสนทนานั้น ประกอบกับผมสังเกตในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 1-2 ปี ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนธุรกิจ หรือรัฐบาลเอง พยายามหากุศโลบายในการทำให้เกิด ความสนใจและความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ หลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงในการสื่อความ การนำเอาการ์ตูน หรือการเล่าเรื่องราวแบบ ง่าย ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีความกระชับและเข้าใจง่ายมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการ สื่อสารที่มีความกระชับและสม่ำเสมอนั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และสามารถส่งต่อให้กัน และกันเป็นวงกว้างมากขึ้นโดยใช้ระยะเวลาในการสื่อสารน้อย ซึ่งหนึ่งในการสื่อสารที่ ทำให้เกิดความสมานสามัคคี และทำให้เกิดแรงบันดาลใจโดยง่าย คือ การสื่อสารค่า นิยมหลักของคนไทยซึ่งหากผมนำเอาค่านิยมหลักของคนไทย (ซึ่งรวมถึงเรา ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการ) ด้วยแล้วนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มภูมิป้องกันตัวเองในการดำเนิน การและแข่งขันได้ดีกับคนอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย

ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการนั้น ประกอบด้วย

1. มีความรักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์

2. ซื่อสัตย์เสียสละอดทนมีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

3. กตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ปกครองครูบาอาจารย์

4. ใฝ่หาความรู้หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม

6. มีศีลธรรมรักษาความสัตย์หวังดีต่อผู้อื่นเผื่อแผ่และแบ่งปัน

7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

8. มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่

9. มีสติรู้ตัวรู้คิดรู้ทำรู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นมีไว้พอกินพอใช้ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่ายและพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อมเมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี

11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่างหรือกิเลสมีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

ซึ่งหากเรานำเอาค่านิยมเหล่านั้นมาดัดแปลงเพิ่มเติมในการดำเนินการธุรกิจของเรานั้น การดำเนินการของธุรกิจเราสามารถนำเอาค่านิยมมาเป็นแนวทางคือ

การทำธุรกิจของเรานั้นเราจักทำธุรกิจให้อยู่รอดได้เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการและมีการจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้ดีบ่อยครั้งมีคำถามว่าค่าเงินเป็นอย่างไรดอกเบี้ยเป็นอย่างไร AEC เปิดแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็น ปัจจัยที่เกิดจากการกระทำภายนอก แต่หากเราพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้วนั้น การเตรียม ตัวจากด้านในนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าการดำเนินการเพื่อรับ มือภายนอกเสียอีก

ผมจึงขอนำเอาค่านิยมคนไทย 12 ประการมาเป็นแนวทางในการดำเนินการปรับตัว ภายในของการดำเนินการธุรกิจ ซึ่งการดำเนินการปรับตัวภายในนี้นั้นเป็นเสมือนกับ การเตรียมร่างกาย จิตใจ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราสามารถดำเนินการเองได้ให้ พร้อมเสียก่อน และด้วยความเชื่อว่าหากเราเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว การพัฒนา การต่อสู้ไม่ว่าเรื่องไหนก็แล้วแต่ เรามีโอกาสที่จะอยู่รอด และชนะการดำเนินการนั้น ๆ

ในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด และนำเอาค่านิยมมาเป็นหลัก ผมขออนุญาตนำเอาคำหลัก ๆ จัดรวมเป็นกลุ่ม ๆ คือ

เราเป็นธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และมีฐานเริ่มต้นจากประเทศไทย เราต้องมีความรักและหวงแหนในประเทศของเรา ประเทศไทยมีชัยภูมิที่ดี เป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมจากหลาย ๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นอาเซียน เอเชีย หรือการค้าข้ามประเทศ ซึ่งด้วยความมีเปรียบในด้านชัยภูมิดังกล่าว มีคนหลาย ๆ คนในหลาย ๆ ประเทศเข้ามาทำการค้าขายและตั้งรากฐานในประเทศ ของเราเพิ่มเติมขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต ความรักในดินแดน ในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเราจะทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงานใดๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

การค้าขาย หรือการดำเนินการใด ๆ นั้น จำต้องเริ่มต้นและดำเนินการด้วยความตั้งใจ ความซื่อสัตย์ มีระเบียบ เคารพกฎกติกาต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วนั้น กฎต่าง ๆ ที่ดำเนินการออกมาก็เพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองสังคมให้มีการดำเนินการไปด้วยความสุข และมีความคุ้มครองบุคคลต่าง ๆ ในสังคมนั้น ๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ คนในประเทศ คนนอกประเทศ เป็นต้น ความซื่อสัตย์ และการเคารพกฎต่าง ๆ จะทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราที่มีให้กับลูกค้าของเรา

ในการประกอบธุรกิจนั้น การพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ไปตามเวลา การแข่งขัน เทคโนโลยี การใช้งาน และอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ และเราในฐานะของผู้ทำธุรกิจก็จำต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ ทำวิจัย มีสติ ก็จะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่มีความเปลี่ยน แปลงไป

สุดท้ายนั้น ในการทำธุรกิจใด ๆ ก็ต้องทำธุรกิจด้วยความสุจริต และมีความพอเพียง หรือ เพียงพอ ทั้งในด้านการเตรียมการ การหากำไร การดูแลสังคม และคนหรือสิ่ง รอบตัวที่อยู่ในการทำธุรกิจของเรา ซึ่งการทำให้เกิดประโยชน์เป็นองค์รวมนั้นจะทำ ให้การดำเนินการหรือประกอบธุรกิจใด ๆ เกิดความยั่งยืน และได้รับความยอมรับเป็น คู่ค้าคู่สังคมที่อยู่ด้วย

การนำเอาค่านิยมการสำหรับคนไทยมาปรับและสะท้อนอีกมิติของการดำเนินธุรกิจ อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่การดำเนินการให้เกิดความเข้าใจและจำได้ของค่านิยมนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ กุศโลบายในการทำให้เกิดความเข้าใจในปัจจุบันมีมากและสามารถ เลือกใช้ได้ เพียงแต่เราขอเวลาของเราสักนิด หยุด…. และทำความเข้าใจ

คนคือผู้ดำเนินการธุรกิจ ธุรกิจเดินได้ด้วยคนที่บริหารและดำเนินการ ดังนั้นธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยการกระทำ … ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากคนต่าง ๆ นั้น จะมีผลก็ต่อเมื่อเราเตรียมร่างกาย(ทางธุรกิจ) ของเราให้พร้อม ปัจจัยภายนอกที่มาก็จะไม่มีผลมากนักกับเรานะครับ

กฏของ Pareto กับการเล่นหุ้นแบบ Trend Following

ผลกำไรจากการซื้อ-ขายเพียงไม่กี่ครั้งคือสิ่งที่มีค่ามากกว่าที่เราคิด พวกมันมักจะเป็นสิ่งที่กำหนดผลการลงทุนในภาพรวมของพวกเราเอาไว้ มันคือสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาดครับ!

way-of-the-setlnw

“ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของนักเก็งกำไรก็คือการพลาดโอกาสในการทำกำไรก้อนใหญ่ไป นั่นก็เพราะผลกำไรกว่า 95% นั้นมักจะมาจากเพียง 5% ของจำนวนการซื้อขายทั้งหมดเท่านั้น”

Richard Dennis ผู้ให้กำเนิด Turtle Trader

กฎของ Pareto

ถึงแม้ว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินถึงกฏ 80/20 ของ Pareto กันมาบ้างแล้ว แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายต่อหลายคนที่ไม่ได้ฉุกคิดถึงความเกี่ยวโยงระหว่างกฏข้อนี้กับหลักการเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following กันสักเท่าไรนัก และนี่ก็คือเรื่องที่ผมอยากจะนำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้

ท้าวความกลับไปเมื่อประมาณปี ค.ศ 1906 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า Vilfredo Pareto ได้ค้นพบกฏบางอย่างของธรรมชาติและได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “ร้อยละ 80 ของความมั่งคั่งในประเทศอิตาลีนั้นได้ถูกครอบครองโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศอิตาลีเท่านั้น!” และแน่นอนว่าสิ่งที่เขาได้ค้นพบนี้ได้กลายมาเป็นหลักการซึ่งถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อๆมา ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลข 80/20 ตรงนี้จะไม่ใช่เลขที่เป็นอัตราส่วนมหัศจรรย์แบบตรงเป๊ะในทุกๆกรณี แต่มันก็ได้มีความสำคัญที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงหลักการของ “ความสำคัญจากสิ่งที่เป็นส่วนน้อย หรือ Vital Few Principle” นั่นเอง

กฏของ Pareto เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักการเล่นหุ้นแบบ Trend Following อย่างนั้นหรือ?

เมื่อเราลองพิจารณาถึงคำพูดของ Richard Dennis ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็น Prince of The Pit และเป็นผู้ที่ให้กำเนิดกลุ่ม Turtle Trader ขึ้นมานั้น คำตอบของมันคงจะเดาได้ไม่ยากนัก นั่นก็เพราะเขาได้บอกใบ้ให้กับเราอย่างชัดเจนสุดๆแล้วว่า ผลการซื้อขายไม่กี่ครั้งเท่านั้นคือสิ่งที่จะกลายเป็นตัวตัดสินถึงผลลัพท์ของการลงทุนชนิดร่ำรวยแบบล้นฟ้ากับการเล่นหุ้นได้กำไร-ขาดทุนไปวันๆเลยทีเดียว! และเพื่อที่จะทำให้ทุกๆคนได้เห็นภาพของมันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นนั้น ในบทความนี้ผมจึงได้ทำการเก็บสถิติจากระบบการลงทุนแบบ Trend Following ชนิดหนึ่งซึ่งก็คือระบบ Turtle System 2 (แบบ Simplify โดยไม่มีการ Pyramid ซื้อหุ้นเพิ่ม) ในรูปแบบของค่า R-Multiple ออกมาให้ดูกันถึงความเกี่ยวโยงของมันกับกฏของ Pareto ออกมาแล้วทำการคำนวณคร่าวๆด้วย Excel โดยในตารางที่เราจะได้เห็นกันต่อไปนั้นเป็นการเก็บสถิติจากผลการลงทุนกับหุ้นใน SET100 ตั้งแต่วันที่ 3/1/2001 – 29/12/2011 โดยได้รวมเอาค่า Com ที่ 0.25% ต่อการซื้อขายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

set-lnw-Turtle-2-Simplify-Portfolio-Equity-RMultiple

ภาพที่ 1 : Portfolio Equity ของระบบ Turtle 2 Simplify ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ทดสอบย้อนหลังกับหุ้นใน SET100 ตั้งแต่ปี 2001 – 2011 โดยรวมค่าคอมมิสชั่นแล้ว

***Note : การวัดผลกำไรจากการซื้อขายแต่ละครั้งในรูปแบบ R-Multiple คือการนำเอาผลกำไรที่ได้รับหารด้วยความเสี่ยงเริ่มต้นของการซื้อขายในครั้งนั้น โดยที่ความเสี่ยงเริ่มต้นคิดจากราคาซื้อลบด้วยจุดตัดขาดทุนที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ว่า

R-Multiple = Profit / Initial Risk

โดยที่ Initial Risk = Entry Price – Stop Price

การวัดจาก R-Multiple จะมีข้อดีกว่าการวัดผลกำไร-ขาดทุนเป็นรูปแบบของจำนวนเงินหรือ % ร้อยละของเงินทุนเนื่องจากมันได้ทำให้ผลของกำไร-ขาดทุนนั้นอยู่ในหน่วยเดียวกัน มันจึงช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบผลการซื้อขายจากระบบที่ต่างกันหรือจากขนาดของพอร์ทโฟลิโอที่ต่างกันได้เป็นอย่างดี

lnw-set-multiple

ภาพที่ 2 : Win R-Multiple จากระบบ Turtle 2 (Simplify) แสดงให้เห็นถึงค่า +R Multiple จากการซื้อขายที่ “ได้กำไร” จากระบบ โดยที่แกน Y แนวตั้งด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงความถี่และแกน Y ด้านขวาคืออัตราส่วนร้อยละจากจำนวนการซื้อขายที่เป็นกำไร +R ทั้งหมด

Frequency of +R – แท่งแต่ละแท่งคือจำนวนความถี่ของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของค่า R เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่า 0R ถึง 1R มีจำนวน 75 ครั้ง

Cumulative +R Distribution – เส้นที่ลากต่อกันคือจำนวนความถี่สะสมของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 0R ถึง 5R คิดเป็น 82.67% ของจำนวน Win R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Cumulative +R Contribution – เส้นที่ลากต่อกันคือมูลค่าสะสมของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 0R ถึง 5R คิดเป็นมูลค่า 30.78% ของมูลค่าจาก Win R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

กฎของ Pareto กับธรรมชาติของผลกำไรจากระบบ Trend Following

ตาราง Win R-Multiple ได้บอกให้เราเห็นถึงความสำคัญของผลกำไรจากการซื้อขายไม่กี่ครั้งอย่างชัดเจนมากๆ (ซึ่งเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้ว่ามันคือครั้งไหน) จากภาพนั้นคุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าของผลกำไรกว่า 69.22% นั้นเกิดขึ้นจากราวๆ 17.44% (5R ขึ้นไป) ของการซื้อขายที่ได้กำไรเท่านั้น! และในทางกลับกันแล้วร้อยละ 82.56% ของการซื้อขายที่ได้กำไรกลับคิดเป็นมูลค่าของกำไรทั้งหมดเพียงแค่ 30.78% เท่านั้น (0R-5R) นอกจากนี้แล้ว มูลค่าของกำไรกว่า 53.38% ของกำไรทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากเพียง 5.13% ของการซื้อขายที่ได้กำไรเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้กำลังตอกย้ำอะไรกับเราอย่างนั้นหรือครับ??

มันกำลังตอกย้ำให้เราจำเอาไว้ให้ดีว่าเราต้องกล้า Let Profits Run!! … อย่ากลัวว่าจะรวยเกินไป และอย่าไปใส่ใจมากเกินไปหากว่าการ Let Profits Run จะทำให้ผลกำไรที่เราเคยมีต้องหดหายลงไป นั่นเพราะกว่าร้อยละ 80 ของการซื้อขายที่ได้กำไรจากระบบ Trend Following จะกลายเป็นเพียงกำไรก้อนเล็กๆตั้งแต่ 0R – 5R เท่านั้น คุณต้องรู้ว่ามันคือเรื่องธรรมดา! และถ้าหากว่าคุณกลัวกำไรหดและรีบ Take Profit อยู่บ่อยๆล่ะก็ คุณก็จะไม่มีวันได้ลิ้มรสชาติของผลกำไรตั้งแต่ 5R ขึ้นไปเลยเพราะคุณได้ตัดโอกาสของคุณทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว

และในทางกลับกันนั้น หากว่าคุณไม่ยอมตัดขาดทุนเสียแต่เนิ่นๆ แต่ดันไป Let Loss Run ก็จะเป็นการเปิดโอกาสทำให้คุณต้องโดนการขาดทุนแบบ –5R ขึ้นไปเข้าสักวันอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความเสียหายของพอร์ทอย่างย่อยยับได้อย่างง่ายดาย และมันก็คือเหตุผลของคนที่เจ๊งหุ้นส่วนใหญ่นั่นเอง

ลักษณะของค่า R-Multiple จากระบบการลงุทุนแบบ Trend Following

ในคราวนี้เราลองมาดูถึงลักษณะซึ่งของค่า R-Multiple ซึ่งเป็นเหมือนลายเซ็นของระบบการลงทุนแบบ Trend Following กันดูบ้าง ซึ่งเมื่อคุณได้เห็นถึงค่า R-Multiple ในรูปแบบเฉพาะของมันแล้ว ผมเชื่อว่ามันก็น่าจะทำให้ได้เข้าใจว่าทำไมวินัยของการ Cut Losses Short, Let Profits Run และการ Take Every Trades จึงได้สำคัญนักที่จะสร้างผลกำไรในระยะยาวขึ้นมาได้

lnw-set-multiple2

ภาพที่ 3 : R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากระบบ Turtle 2 (Simplify) โดยที่แกน Y แนวตั้งด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงความถี่และแกน Y ด้านขวาคืออัตราส่วนร้อยละจากจำนวนการซื้อขายทั้งหมด

Frequency of R-Multiple – แท่งแต่ละแท่งคือจำนวนความถี่ของค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของค่า R โดยแท่งแดงแสดงถึงผลขาดทุน –R และแท่งน้ำเงินคือผลกำไร +R เช่น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่า -3R ถึง -2R มีจำนวน 2 ครั้ง

Cumulative R Distribution – คือจำนวนความถี่สะสมของค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ค่า R ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง -3R ถึง 2R คิดเป็น 78.59% ของจำนวน R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Cumulative R Contribution – คือมูลค่าสะสมของค่า R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไร “สุทธิ” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง -3R ถึง 2R คิดเป็นมูลค่า 5.15% ของมูลค่าสุทธิจากค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Pareto Effect และกลไกของระบบการลงทุนแบบ Trend Following

ใช่แล้วครับ! สิ่งที่คุณเห็นจากค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะต่างๆนั้นคือกลไกที่ทำให้ระบบการลงทุนแบบ Trend Following มีค่ากำไรคาดหวังหรือ Expectancy ที่เป็นบวกในระยะยาวนั่นเอง

จากภาพที่ 3 นั้นคุณจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าจำนวนการขาดทุนทั้งหมดจะคิดเป็นร้อยละ 50.85% แต่เมื่อสังเกตุให้ดีเราจะพบว่าผลการขาดทุนของระบบที่แย่กว่า –2R นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.73% ของผลการซื้อขายทั้งหมดเท่านั้น การ Cut Losses อย่างรวดเร็วของระบบ Trend Following จึงเปรียบเสมือน SAFE-T-CUT ที่จะทำให้เราไม่โดน Pareto Effect ในเชิงลบออกไปได้นั่นเอง มันคือกลไกที่จะทำให้เราไม่ต้องหมดตัวไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันนั้นการ Let Profits Run ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถหักลบกลบหนี้การขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งในประเด็นนี้เราจะเห็นได้ว่าจำนวนการซื้อขายกว่าร้อยละ 78.59% จะหมดไปกับการทำให้ระบบมีกำไรสุทธิเป็นบวกได้เท่านั้น ผลกำไรที่มากกว่า +2R ขึ้นไปซึ่งเป็นผลจากการที่คุณอึดและกล้าพอที่จะ Let Profits Run จึงกลายเป็นผลการซื้อขายในส่วนน้อยที่สำคัญมากๆ (Vital Few) ที่จะทำให้คุณได้เสพสุขกับความมั่งคั่งจากการใช้ระบบการลงทุนแบบ Trend Following จริงๆ นอกจากนี้แล้วเมื่อมองในมุมกลับคุณก็ยังจะพบว่ามูลค่าของผลกำไรสุทธิทั้งหมดกว่า 82.14% นั้นจะมาจากเพียงกำไร +4R ขึ้นไปหรือคิดเป็นร้อยละ 11.92% เท่านั้น! นี่จึงทำให้คำกล่าวของ Richard Dennis ในเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยจากความจริงไปสักเท่าไหร่นัก

อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆคนคงเริ่มที่จะมองเห็นถึง Anatomy of Trend Following และ Pareto Effect กันบ้างในระดับหนึ่งแล้วนะครับ อย่างไรก็ตาม การที่ Pareto Effect จะเกิดขึ้นมากับเราได้นั้นยังคงมีตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งยวดอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ … เมื่อคุณได้ศึกษาหรือทดสอบระบบการลงทุนของคุณจนมั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าในระยะยาวมันจะให้กำไรคาดหวังที่เป็นบวกออกมาได้ คุณต้องมีวินัยและกล้าที่จะทำตามระบบในทุกๆครั้งที่เกิดสัญญาณขึ้นโดยไม่มีข้อแม้ … ไม่ว่าจะเป็นการขายทิ้งหรือเป็นการซื้อหุ้นที่ดูสูงและน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม

เรื่องที่ว่ามานี้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก และผมเชื่อว่าหลายๆคนรวมถึงผมเองก็คงต้องเคยได้ตัดสินใจผิดพลาดจากการมีคติกับสัญญาณในการเข้าซื้อหุ้นที่เกิดขึ้นกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ความผิดพลาดตรงนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ด้วย Mindset ,การฝึกจิตใจ และความเข้าใจที่มีต่อระบบการลงทุนของเรา หวังว่าบทความชิ้นนี้จะทำให้เพื่อนๆที่ได้อ่านเห็นถึงความสำคัญของ “สิ่งที่เป็นส่วนน้อยซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่” และ Pareto Effect ในการเล่นหุ้นกันขึ้นอีกพอสมควร แล้วเดี๋ยวบทความหน้าจะหาเรื่องสนุกๆมาเขียนใหม่ครับ

Land&Houses มั่นใจกำไรสุทธิทำนิวไฮ

“แลนด์แอนด์เฮ้าส์” มั่นใจ กำไรสุทธิปี 57-58 ทำนิวไฮต่อเนื่อง ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 3 หมื่นลบ.

นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิปี 2557 จะทำจุดสูงสุดใหม่ เป็นไปตามยอดขายและยอดโอนที่เพิ่มขึ้นประกอบกับจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการนำสินทรัพย์เข้าจัดตั้งเข้ากอง REIT ซึ่งจะเป็นบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาในปี 2557 ที่ 1,500 ล้านบาท

Landandhouse-setlnw

สำหรับปี 2558 มั่นใจว่ากำไรสุทธิจะทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามเป้าหมายยอดขายและยอดโอนโครงการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนของบริษัทฯ มีการปรับตัวลดลงจากการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นราคาขายโครงการ ทำให้ประเมินว่าอัตรากำไรสุทธิในปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ระดับมากกว่า 20%

“ปีที่แล้วกำไรสุทธิของ LH จะสามารถนำนิวไฮได้ตามยอดขาย ยอดโอนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเราก็มีการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ก็เชื่อว่ากำไรสุทธิจะทำนิวไฮต่อเนื่อง แม้ไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายกอง REIT เพิ่มเข้ามาก็ตาม ซึ่งตามหลักการแล้วการนำสินทรัพย์ขายเข้ากอง REIT จะไม่นำมาคิดรวมกำไรจากการดำเนินงานอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นกำไรพิเศษและไม่ได้เกิดขึ้นทุกๆ ปี”นายอดิศร กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเติบโตมากกว่าปีก่อนที่จะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 25,000 ล้านบาท หลังมียอดโอนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเติบโตในปีนี้ก็จะเป็นไปตามยอดขายที่ตั้งไว้ 34,000 ล้านบาท หรือเติบโต 8% จากปีที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน อยู่กว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ในปีนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีการเปิดโครงการใหม่ๆ 17 โครงการ มูลค่ากว่า 37,000 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนจะมีการโอนเข้ามาในปีนี้ ซึ่งนอกจากรายได้การขายโครงการแล้ว บริษัทฯจะมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ประกอบด้วยโรงแรม 3 แห่งในประเทศ และอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าอีก 2 โครงการที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าจะมีรายได้จากค่าเช่าเข้ามาในปีนี้กว่า 1,500 ล้านบาท

ภาพรวมของผลการดำเนินงานปี 57 เติบโตเล็กน้อย และเติบโตต่อเนื่องในปี 58

 

KTB : คาดกำไร 4Q57 เพิ่มขึ้น 7% และ 27% และคงประมาณกำไรปี 57 ซึ่งเติบโตราว 2%

คาดกำไร 4Q57 ของ KTB ราว 9.6 พันล้านบาทเติบโต 7% และ 27%และคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ราว 3.46 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 2% ทั้งนี้มีสินเชื่อเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารราว 8% เนื่องจากการเติบของสินเชื่อในทุกกลุ่มทั้งสินเชื่อเอกชนและสินเชื่อภาครัฐ ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ที่ราว 3.46 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโตราว 2% จากปี 56 และคาดจะเติบโตต่อเนื่องราว 7% ในปี 58 จากปัจจัยหนุนของการเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่ายังดีต่อเนื่องตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 58 และการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.60 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-การเติบโตสินเชื่อที่ต่ำกว่าคาดทำให้ประมาณกำไรปี 57 สำหรับ BBL เติบโตเล็กน้อยเพียง 3%

คาดกำไรปกติในช่วง 4Q57 ของ BBL ทรงตัวใกล้เคียงกับ 3Q57 ที่ระดับ 9.6 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 24%แม้ว่าการเข้าสู่ฤดูกาลในช่วงปลายปีช่วยหนุนให้สินเชื่อ 11 เดือนแรกปี 57 พลิกมาเติบโตจากปลายปี 56 เทียบกับที่หดตัวใน 3Q57 แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการคืนหนี้ก้อนใหญ่ทำให้สินเชื่อปี 57 เติบโตเพียง 1-2% ต่ำกว่าเป้าที่ระดับ 4-5% ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากไตรมาสที่แล้วเนื่องจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากการออกแคมเปญเพื่อระดมเงินฝากในการเพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับทรงตัวจากไตรมาสที่แล้วจากลูกค้าบางรายที่มีปัญหาตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วแต่พอร์ตโดยรวมยังมีคุณภาพดี ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของสินเชื่อเหลือ 2% จากเดิม 5% ส่งผลให้ประมาณกำไรปี 57 ลดลง 3% เหลือ 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 3% จากปี 56 และปรับประมาณการกำไรปี 58 ลดลงจากเดิม 10% เหลือ 4.1 หมื่นล้านบาทซึ่งยังเติบโต 10% บนสมมติฐานว่าสินเชื่อในปี 58 จะกลับมาเติบโตราว 5% ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งจากการมีสาขาในต่างประเทศเป็นจำนวนมากรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 247 บาทจากเดิม 257 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-KBANK : แม้กำไร 4Q57 มีแนวโน้มแผ่วลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่คาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 12%

ฝ่ายวิจัยคาดกำไร 4Q57 ราว 1 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 20% จาก 3Q57 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อแผ่วลงในเดือนสุดท้ายที่มีการชำระคืนเงินกู้ (11 เดือนแรกปี 57 สินเชื่อเติบโตเกือบ 7% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับนี้จนถึงปลายปี 57 และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายจากค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใกล้เคียง 3Q57 ที่ 3.7% ฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสู่ 2.3% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคาร ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรปี 57 ที่ระดับ 4.6 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% โดยคาดกำไรปี 58 เติบโตต่อเนื่องราว 12% เป็น 5.2 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นที่ปรับลงมากในช่วงก่อนหน้านี้เป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 268 บาท (P/BV2.1 เท่า)

-SCB : คาดกำไร 4Q57 แผ่วลง 17% และ 4%คงคาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 7%

คาดกำไร 4Q57 ราว 1.27 หมื่นล้านบาทลดลง 17% และ 4% จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วตามช่วงฤดูกาลจากกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) น่าจะทรงตัวใกล้เคียง 3Q57 ที่ระดับ 3.35% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ทรงตัว ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหากตัวเลขจริงมีการตั้งสำรองหนี้สูญต่ำกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย จะทำให้ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ที่ราว 5.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 7% จากปี 56 และคาดจะเติบโตราว 4% เป็น 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 58 โดยมี upside จากดีล tender off บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) ในช่วง 1Q58 คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 228 บาท (P/BV 2.4 เท่า)

ตามปกติแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงฤดูกาลที่จะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ในช่วง 4Q57 กลับไม่เห็นสินเชื่อของแต่ละแบงก์เติบโตมากนัก เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การเติบโตของสินเชื่อทั้งปีมีข้อจำกัดและต่ำกว่าเป้าหมายของผู้บริหาร อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อในปี 57 จะเป็นฐานที่ต่ำสำหรับปี 58 ซึ่งผู้บริหารธนาคารตั้งเป้าว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตราว 2 เท่าของตัวเลข GDP (consensus 3.5 – 4%) โดยมีแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทรงตัว ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมยังอยู่ในระดับดีแม้จะมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ SME รายเล็ก แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงของทั้งพอร์ต ด้านฐานะเงินกองทุนยังแข็งแกร่งโดยแต่ละธนาคารมีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์BASEL III ซึ่งจะช่วยเสริมเงินกองทุนให้แข็งแกร่งเพียงพอต่อการรองรับการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในอนาคตจากที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 58 จะเติบโตสูงจากฐานที่ต่ำในปี 57 เราให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็น “Neutral” โดยเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL KBANK KTB และ SCB