‘กวี ‘คาดดัชนีตลาดหุ้นจะทำนิวไฮภายใน2ปี

“กวี” คาด ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทำนิวไฮภายใน 2 ปี จากสถิติเดิมที่ 1,789 จุด คาดครึ่งปีหลังดัชนีแตะ 1700 จุด 

กวี-setlnw

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีโอกาสทำสติถิสูงสุดใหม่ หรือ New High ภายใน 2 ปี จาก High เดิมที่ 1,789 จุด หากไม่เกิดความเสี่ยงจากสงคราม

“ปีนี้ดัชนีก็คงมีการสวิงขึ้นลงได้เห็นอย่างน้อย 100 จุดในแต่ละรอบอย่างแน่นอน ก็ใช้ช่วงที่ดัชนีขึ้นลงนี้แหละให้ทยอยขายและทยอยซื้อ แต่อีกอย่างหนึ่งที่ผมมองไว้ก็คือภายใน 2 ปีนี้ เราอาจจะได้เห็นดัชนี SET ทำ New High อีกจาก High เดิมที่ 1,789 จุด แม้ว่าจะมีความเสี่ยงอยู่ แต่ยกเว้นความเสี่ยงที่เกิดจากสงครามนะ”นายกวี กล่าว

ส่วนทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะสามารถปรับตัวได้ถึง 1,600-1,650 จุด และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ1,650-1,700 จุด ในระดับ P/E ที่ 15 เท่าจากแรงหนุนของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งในปีนี้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในช่วงของกรอบและการปรับตัวแบบขาขึ้น แต่จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าปีก่อน หลังจากดัชนีฯปรับขึ้นมาอยู่ในระดับค่อนข้างแพงแล้ว

ทั้งนี้มองกรอบราคาน้ำมันในปีนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

“มองว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงานในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 3% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง และมีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยลดลงเหลือ 20% จากเดิม 30% โดยมีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มมีสัดส่วนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับสัดส่วนหุ้นไนกลุ่มพลังงาน โดยกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไนปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเติบโตขึ้นและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม” นายกวี กล่าว

ส่วนแผนการลงทุนของภาครัฐในปีนี้จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่คาดว่าในปีนี้จะสร้างมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่จะมีการรับรู้รายได้ในอนาคตได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่น CK และ STEC

ขณะที่กลุ่มสื่อสาร คาดว่า จะยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายปีนี้หากมีการประมูล 4G เกิดขึ้น จะหนุนให้หุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวขึ้นและช่วยผลักดันดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นได้

ด้านกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ แนะนำให้ทยอยขายหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในระดับ 1,600-1,650 จุด และหากดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 1,500 จุด ให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อ

ภาพรวมของผลการดำเนินงานปี 57 เติบโตเล็กน้อย และเติบโตต่อเนื่องในปี 58

 

KTB : คาดกำไร 4Q57 เพิ่มขึ้น 7% และ 27% และคงประมาณกำไรปี 57 ซึ่งเติบโตราว 2%

คาดกำไร 4Q57 ของ KTB ราว 9.6 พันล้านบาทเติบโต 7% และ 27%และคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ราว 3.46 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 2% ทั้งนี้มีสินเชื่อเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารราว 8% เนื่องจากการเติบของสินเชื่อในทุกกลุ่มทั้งสินเชื่อเอกชนและสินเชื่อภาครัฐ ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ที่ราว 3.46 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโตราว 2% จากปี 56 และคาดจะเติบโตต่อเนื่องราว 7% ในปี 58 จากปัจจัยหนุนของการเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่ายังดีต่อเนื่องตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 58 และการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.60 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-การเติบโตสินเชื่อที่ต่ำกว่าคาดทำให้ประมาณกำไรปี 57 สำหรับ BBL เติบโตเล็กน้อยเพียง 3%

คาดกำไรปกติในช่วง 4Q57 ของ BBL ทรงตัวใกล้เคียงกับ 3Q57 ที่ระดับ 9.6 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 24%แม้ว่าการเข้าสู่ฤดูกาลในช่วงปลายปีช่วยหนุนให้สินเชื่อ 11 เดือนแรกปี 57 พลิกมาเติบโตจากปลายปี 56 เทียบกับที่หดตัวใน 3Q57 แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการคืนหนี้ก้อนใหญ่ทำให้สินเชื่อปี 57 เติบโตเพียง 1-2% ต่ำกว่าเป้าที่ระดับ 4-5% ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากไตรมาสที่แล้วเนื่องจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากการออกแคมเปญเพื่อระดมเงินฝากในการเพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับทรงตัวจากไตรมาสที่แล้วจากลูกค้าบางรายที่มีปัญหาตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วแต่พอร์ตโดยรวมยังมีคุณภาพดี ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของสินเชื่อเหลือ 2% จากเดิม 5% ส่งผลให้ประมาณกำไรปี 57 ลดลง 3% เหลือ 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 3% จากปี 56 และปรับประมาณการกำไรปี 58 ลดลงจากเดิม 10% เหลือ 4.1 หมื่นล้านบาทซึ่งยังเติบโต 10% บนสมมติฐานว่าสินเชื่อในปี 58 จะกลับมาเติบโตราว 5% ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งจากการมีสาขาในต่างประเทศเป็นจำนวนมากรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 247 บาทจากเดิม 257 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-KBANK : แม้กำไร 4Q57 มีแนวโน้มแผ่วลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่คาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 12%

ฝ่ายวิจัยคาดกำไร 4Q57 ราว 1 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 20% จาก 3Q57 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อแผ่วลงในเดือนสุดท้ายที่มีการชำระคืนเงินกู้ (11 เดือนแรกปี 57 สินเชื่อเติบโตเกือบ 7% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับนี้จนถึงปลายปี 57 และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายจากค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใกล้เคียง 3Q57 ที่ 3.7% ฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสู่ 2.3% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคาร ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรปี 57 ที่ระดับ 4.6 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% โดยคาดกำไรปี 58 เติบโตต่อเนื่องราว 12% เป็น 5.2 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นที่ปรับลงมากในช่วงก่อนหน้านี้เป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 268 บาท (P/BV2.1 เท่า)

-SCB : คาดกำไร 4Q57 แผ่วลง 17% และ 4%คงคาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 7%

คาดกำไร 4Q57 ราว 1.27 หมื่นล้านบาทลดลง 17% และ 4% จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วตามช่วงฤดูกาลจากกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) น่าจะทรงตัวใกล้เคียง 3Q57 ที่ระดับ 3.35% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ทรงตัว ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหากตัวเลขจริงมีการตั้งสำรองหนี้สูญต่ำกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย จะทำให้ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ที่ราว 5.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 7% จากปี 56 และคาดจะเติบโตราว 4% เป็น 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 58 โดยมี upside จากดีล tender off บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) ในช่วง 1Q58 คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 228 บาท (P/BV 2.4 เท่า)

ตามปกติแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงฤดูกาลที่จะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ในช่วง 4Q57 กลับไม่เห็นสินเชื่อของแต่ละแบงก์เติบโตมากนัก เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การเติบโตของสินเชื่อทั้งปีมีข้อจำกัดและต่ำกว่าเป้าหมายของผู้บริหาร อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อในปี 57 จะเป็นฐานที่ต่ำสำหรับปี 58 ซึ่งผู้บริหารธนาคารตั้งเป้าว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตราว 2 เท่าของตัวเลข GDP (consensus 3.5 – 4%) โดยมีแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทรงตัว ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมยังอยู่ในระดับดีแม้จะมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ SME รายเล็ก แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงของทั้งพอร์ต ด้านฐานะเงินกองทุนยังแข็งแกร่งโดยแต่ละธนาคารมีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์BASEL III ซึ่งจะช่วยเสริมเงินกองทุนให้แข็งแกร่งเพียงพอต่อการรองรับการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในอนาคตจากที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 58 จะเติบโตสูงจากฐานที่ต่ำในปี 57 เราให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็น “Neutral” โดยเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL KBANK KTB และ SCB