มารู้จักกรีนบอนด์กันเถอะ

กรีนบอนด์ เป็นตราสารหนี้เช่นเดียวกับพันธบัตรทั่วไป แต่ต่างกันตรงเงินที่ระดมจากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาออกกรีนบอนด์ในตลาดสะท้อนถึงกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การคำนึงถึงความยั่งยืนจากการลงทุนมากขึ้น

การลงทุนแบบยั่งยืนเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้นโดยดัชนีตลาดหุ้นต่างๆที่คำนวณตามเกณฑ์มาตรฐานด้านจริยธรรมและความยั่งยืนได้เริ่มนำมาใช้ราว 15 ปีที่แล้ว นักลงทุนสถาบันกว่า 1,200 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร มูลค่ารวมกันราว 45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ และประกาศจุดยืนในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาใช้พิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนในอนาคต

ปัจจุบันนักลงทุนสถาบันหลายรายกำลังให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรที่มักจะออกมาเพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือพลังงานสะอาด

สำนักวิจัยระดับโลกของเอชเอสบีซีประเมินว่าการออกพันธบัตรระดมทุนที่มีลักษณะเข้าข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในปี 2555 มีมูลค่ารวมกัน 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการกำหนดคำนิยามและประเภทของกรีนบอนด์ยังไม่ชัดเจน

แต่จากมูลค่าทั้งหมด กรีนบอนด์ในขณะนี้ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก พันธบัตรรุ่นแรกที่เรียกเป็น “กรีนบอนด์” ได้อย่างชัดเจน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ในปี 2550 และตั้งแต่นั้นมาตลาดกรีนบอนด์ได้ขยายตัวในอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 55 ต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีการออก “กรีนบอนด์” มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 1.1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2556

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพันธบัตรรุ่นใหม่ที่สะท้อนแนวคิดด้านความยั่งยืนในลักษณะอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีการออก “พันธบัตรเพื่อสังคม” รุ่นแรก เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา พันธบัตรเพื่อสังคมรุ่นต่อ ๆ มามักจะเน้นการระดมทุนเพื่อการศึกษา สุขภาพอนามัย การประกอบธุรกิจของสตรี มาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน และโครงการเพื่อชุมชนระดับท้องถิ่น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า เงินทุนที่ได้จากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ด้านใดได้บ้าง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในโครงการ 3 ด้านหลัก ๆ คือ

-โครงการพลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทน พลังงานที่จำกัดปริมาณคาร์บอน หรือโครงการที่ลดปัญหาความสิ้นเปลืองของพลังงาน

-โครงการที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารสำนักงาน ในอุตสาหกรรม และการขนส่ง

-โครงการที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมด้านการเกษตร ป่าไม้ แหล่งน้ำ ของเสีย และการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลักๆ หลายแห่ง รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ธนาคารโลก (World Bank) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (The International Finance Corporation) เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มกรีนบอนด์ โดยได้ออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุนในโครงการที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งต่อมาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้ทำตาม

ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งก็เริ่มออกกรีนบอนด์ของตนเองเช่นกัน เพื่อระดมทุนให้กับโครงการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ และกระจายฐานนักลงทุนของบริษัท ความต้องการลงทุนในกรีนบอนด์ขณะนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันรายใหญ่หลายรายได้ตัดสินใจลงทุนในกรีนบอนด์มากขึ้นจากแต่เดิมที่ค่อนข้างระมัดระวังบางรายถึงกับประกาศจุดยืนการลงทุนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการระดมทุนและการสร้างความยั่งยืนทางภูมิอากาศ

หลักการและข้อกำหนดของกรีนบอนด์เริ่มประกาศใช้ในเดือนมกราคม2557เพื่อให้ผู้ออกกรีนบอนด์ใช้เป็นมาตรฐานในการถือปฏิบัติแบบสมัครใจ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดกรีนบอนด์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารระหว่างประเทศรวมทั้งเอชเอสบีซีซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายเงินที่ระดมได้การประเมินและคัดสรรโครงการที่เหมาะสม การบริหารเงินทุนที่ระดมได้ และจัดทำรายงานการใช้เงิน การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์โดยหน่วยงานอิสระ

ตลาดกรีนบอนด์ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น แต่เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน และเมื่อตลาดนี้ขยายตัวขึ้น คาดว่ากรีนบอนด์จะได้รับความสนใจมากขึ้นว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ การกำหนดหลักการและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์ถือเป็นก้าวแรกในความพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตลาด ส่วนก้าวต่อไปคือการกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนในพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

คาดตลาดเดือนกุมภาจะผันผวนมากขึ้น

เดือนก.พ. 2558 คาดว่าตลาดจะผันผวนมากขึ้นหลังจากขึ้นไปทดสอบ 1600 จุดแล้วไม่ผ่าน & ยืนเหนืออย่างมั่นคง

setlnw-china

โดยปัจจัยที่กดดัน คือ เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัวลง ล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP ของโลกปี 2558 ลงเป็น 3.3% (เดิม 3.8%) และธนาคารโลกได้ปรับลงเป็น 3.3% เช่นกัน (เดิม 3.7%) เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอ่อนแอลงไปมากหลังราคาน้ำมันดิ่งลงแรง และมีแนวโน้มว่าจะขยับขึ้นได้ไม่มากเพราะอุปทานในตลาดโลกที่ยังสูงมาก

นอกจากนั้นยังมีความกังวลกับทิศทางของกรีซ หลังรัฐบาลใหม่มีนโยบายต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้หรือออกจากยูโรโซน, ความผันผวนด้านการเงินในรัสเซีย และความวุ่นวายทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึง Valuation ของตลาดหุ้นที่อยู่ในโซนแพง

อย่างไรก็ตาม…สภาพคล่องในตลาดโลกที่สูงอาจช่วยจำกัด Downside Risk ทั้งนี้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกอยู่ในระดับสูง ซึ่งมาจากการที่ยูโรโซนจะเริ่มดำเนินโครงการนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนตั้งแต่มี.ค.2558 ถึงก.ย.2559 ด้วยมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน (รวมมูลค่าโครงการ 1.14 ล้านยูโร) และญี่ปุ่นดำเนินการ QE ต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมายขยายฐานเงินปี 2558 อีก 80 ล้านล้านเยน

อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินโลกที่ต่ำมาก ทำให้ตลาดหุ้นเป็นเป้าหมายของการลงทุนในช่วงสั้น ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีในตลาดยูโรโซนลดลงมาใกล้ 0% หลัง ECB ประกาศใช้ QE ในมูลค่าที่สูงกว่าคาด และอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือมีโอกาสลดลงได้อีก เช่น จีน เป็นต้น

คาดเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงเป็น 2.6%QoQ ใน 4Q57 จาก 4.6% ใน 2Q57 และ 5.0% ใน 3Q57 รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่เร็วมากนัก เราคาดว่าเร็วสุดจะเป็นต้น 4Q58

โครงการลงทุนของประเทศไทยคืบหน้ามากขึ้น คาดเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบได้อย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นไป โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาและสวนยางพาราเสร็จสิ้นแล้วในปลายปี 2557 และกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่วงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาทในเดือนก.พ.2558

ด้านโครงการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานก็เดินหน้าต่อเนื่อง คาดรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือจะเซ็นสัญญาได้ใน 2Q58 และเสนอโครงการสายสีส้มให้ครม.พิจารณาเดือนก.พ.2558 เสนอสายสีเหลือง & ชมพูให้พิจารณากลางปี 2558 ส่วนที่กำลังก่อสร้างคือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสีม่วง ก็เป็นไปได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นกระทรวงคมนาคมยังจะของบประมาณซ่อมถนนทั่วประเทศ 4 หมื่นล้านบาทในเร็วๆ นี้ด้วย สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ จะมีประชุมร่วมกับพันธมิตรจีนในเดือนก.พ.นี้ และเริ่มลงพื้นที่สำรวจเดือนมี.ค.58 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเดินหน้าดีขึ้นเป็นลำดับ ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณลงทุนปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 21% เป็น 5.44 แสนล้านบาท

ยังไม่ได้ปรับเป้าหมายของ SET Index ในปี 2558 ที่ให้ไว้ 1602 จุด ซึ่งอิงกับ EPS Growth ปี 2557-2558 ที่ -1.2% และ +10.7% ตามลำดับ และให้ระดับเป้าหมายของ P/E ที่ 16.3 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยใน Band High ย้อนหลัง 5 ปี

อย่างไรก็ตาม P/E ตลาดอาจขยายขึ้น (Expansion) ได้จากเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ที่เข้ามา และทำให้ดัชนีขึ้นไปสูงกว่าเป้าหมายที่เราให้ไว้ แต่การปรับขึ้นของตลาดในรูปแบบนี้มักจะตามมาด้วยความผันผวนสูง เนื่องจากไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ

กลยุทธ์ : เลือกซื้อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีในปี 2558 โดย Top Picks สำหรับเดือนก.พ.2558 เราเลือกเป็น AAV, MINT, QH, RATCH, STPI ส่วนหุ้น Dark Horse คือ SC, TMB

BTSลุ้นสรุปเป็นผู้เดินรถสีเขียวใต้ปีนี้

BTSลุ้นสรุปเป็นผู้เดินรถสีเขียวใต้ปีนี้ หวังจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มรวดเดียว20ขบวน

bts

บีทีเอสลุ้นประมูลซื้อรถไฟฟ้ารวดเดียว 20 ขบวนในปีนี้หากได้ข้อสรุปให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ในกลางปีนี้ ย้ำมีเงินตุนเพียบ เผย 9เดือนมีรายได้จากค่าโดยสารโตตามเป้า 6% เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับอิออนทำบัตร”อิออน-แรบบิท”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีแผนเปิดประมูลซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 7 ขบวนๆละ 4 ตู้ มูลค่ารวม 2 พันล้านบาทอย่างช้าในปลายปีนี้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562 หากได้ข้อสรุปให้บริษัทเป็นผู้เดินรถสายสีเขียวใต้(แบริ่ง-สมุทรปราการ)ภายในปีนี้ ก็จำเป็นต้องซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 13 ขบวน ก็จะดำเนินการประมูลซื้อรถไฟฟ้าไปพร้อมกันทีเดียว 20 ขบวน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6-7 พันล้านบาท

ซึ่งการเปิดประมูลสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวนมากขึ้นจะทำให้บริษัทมีอำนาจในการเจรจาต่อรองด้านราคาและจำนวนผู้ที่ยื่นประมูลแข่งขันก็มากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงซีเมนส์และจีน แต่หากยังไม่มีความคืบหน้าในการให้บริษัทฯเป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในปีนี้ ก็คงไม่รอ และจะเปิดประมูลเพียง 7 ขบวนไปก่อน

ส่วนแหล่งเงินทุนในการซื้อรถไฟฟ้าดังกล่าวนี้ ไม่มีปัญหา เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินในมือสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท และไม่มีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในต่างประเทศด้วย

ก่อนหน้านี้ รมว.คมนาคมได้มอบนโยบายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจรจากับกรุงเทพมหานครและบีทีเอส เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันกรณีรูปแบบการเดินรถเชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งวิธีการเจรจากับบีทีเอสให้เป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้า จะเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่ามากกว่าเปิดประกวดราคา

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ยอดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558/2559 (เม.ย-ธ.ค.58)เพิ่มขึ้น 3% แต่รายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6%ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คาดว่าทั้งปีจะโตได้กว่า 6% ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเฉลี่ยวันละ 6 แสนเที่ยวคน/วัน
นอกจากนี้ บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังจากได้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารมาเมื่อมิ.ย. 2556 เนื่องจากแต่ละปีบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 6%

วันที่ 2 ก.พ.2558  มีการลงนามสัญญาในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ด ซิสเทมจำกัด(BSS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบีทีเอส และบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)( AEONTS) เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจระยะยาวระหว่างบีทีเอส กับอิออน ซึ่งเป็นหนึ่งในการขยายพันธมิตรและ ธุรกิจด้านสมาร์ทการ์ดของบีทีเอสกรุ๊ปหรือบัตรแรบบิท

ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิทอยู่ประมาณ 3.5 ล้านใบ และโดยการเข้าร่วมโครงการนี้ BSSตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มยอดผู้ถือบัตรแรบบิทได้อีกประมาณ 7 แสนใบใน 5ปีข้างหน้าภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ BSS และ AEONTS จะร่วมกันออกบัตรแรบบิทร่วม (the Co-Branded Rabbit) ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกตามโครงการนี้คือบัตรสมาชิกอิออน-แรบบิท (AEON Rabbit Member Card) โดยผู้ถือบัตรนี้สามารถใช้บัตรเพื่อรับบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจาก AEONTSและใช้บัตรเพื่อเดินทางโดยสารในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดจนใช้บัตรนี้ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ร่วมรับบัตร

นอกจากนี้บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ กำลังจะจัดตั้งขึ้น และ AEONTS จะร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อรับโอนสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่เกิดจากการเบิกใ
ช้สินเชื่อผ่านบัตรสมาชิกอิออน-แรบบิท เพื่อดำเนินโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 โดยโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นี้มีอายุไม่เกิน 10 ปี และมีขนาดลงทุนของโครงการไม่เกิน 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะเข้าลงทุนในหุ้นกู้ที่จะออกโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้ในจำนวนไม่เกิน 4,500 ล้านบาท และ BSS Holdings และ AEONTS ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้ตามสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ คาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้เสร็จในไตรมาส1/2558

โดยนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้จะนำเงินที่ระดมทุนได้จากหุ้นกู้และเงินกู้ยืมนี้ไปซื้อสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจาก AEONTS

VI Summit 2015 ที่สิงคโปร์

สัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญให้ไปพูดในฐานะ “Keynote Speaker” หรือเป็น “ผู้พูดหลัก” ในงานสัมมนาประจำปีของนักลงทุนแนว Value Investment ระดับ “นานาชาติ” ชื่อ Value Investing Summit 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ ปีนี้เข้าใจว่าเป็นปีที่ 4 แล้วที่มีการจัดสัมมนาประจำปีแบบนี้ ปีแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 4-500 คน หลังจากนั้นจำนวนคนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปีนี้มีผู้เข้าร่วมถึง 1,400-1,500 คน ซึ่งทางผู้จัดอ้างว่าเป็นการชุมนุมนักลงทุนแนว VI ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนสิงคโปร์ ตามด้วยคนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอาจจะมีออสเตรเลียบ้างเล็กน้อย ในขณะที่คนไทยนั้น นับดูแล้วน่าจะเพียงแค่ไม่เกิน 7-8 คน สถานที่จัดงานนั้นเนื่องจากต้องรับคนจำนวนมาก ปีนี้จึงจัดที่ สิงคโปร์เอ็กซโปร์ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมและงานแสดงขนาดใหญ่ที่สุดแบบเดียวกับที่เมืองทองธานีของเรา

งาน VI Summit 2015 นี้ จัดโดยบริษัทชื่อ 8I ของสิงคโปร์ โดยที่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือการให้บริการความรู้ทางด้านการลงทุนผ่านการเปิดคอร์สอบรมเรื่องการลงทุน การขายหนังสือและสื่อทั้งหลายเกี่ยวกับการลงทุน การจัดประชุมและสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนและอาจจะมีบริการด้านอื่น ๆ ที่ผมไม่ทราบอีกหลายอย่าง นอกจากนั้น บริษัทยังมีพอร์ตโฟลิโอเงินลงทุนของตนเองในสิงคโปร์และประเทศต่าง ๆ รวมถึงหุ้นของไทยด้วย ที่สำคัญก็คือ บริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียเมื่อ 3-4 สัปดาห์มานี้ โดยที่หุ้น IPO ส่วนใหญ่ก็ขายให้กับคนสิงคโปร์โดยเฉพาะที่เป็นลูกค้าที่ใช้บริการเรียนรู้เรื่องการลงทุนของบริษัท ตั้งแต่หุ้นเข้าจดทะเบียน ราคาหุ้นก็ขึ้นมาน่าจะประมาณเท่าตัวแล้วนับจากวันเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในวันแรก ผมเชื่อว่าเขาวางตำแหน่งตนเองคล้าย ๆ กับหุ้นเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ที่เน้นการลงทุนเงินของบริษัทเองในตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีขนาดเล็กมาก มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทน่าจะอยู่ในหลักพันล้านบาทบวกลบเท่านั้น

งาน VI Summit ในครั้งนี้ ทำให้ผมได้รู้สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องของ VI สิงคโปร์หลายอย่างที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากชุมนุมหรือสังคม VI ของไทย ภาพโดยรวมก็คือ การสนับสนุนจาก “สถาบัน” อย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินรวมถึงโบรกเกอร์และบริษัทจดทะเบียนต่อนักลงทุนน่าจะมีน้อยกว่าในกรณีของไทยมาก สปอนเซอร์ของงานมีเพียงแบ็งค์เดียวและดูเหมือนว่าจะมานำเสนอในเรื่องของการประกันชีวิตเป็นหลัก ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเรื่อง “เชิงธุรกิจ” เป็นส่วนใหญ่นั่นคือ ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องซื้อบัตรที่มีราคาค่อนข้างแพง ตั๋วมีราคาใบละ 4-8,000 บาทขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ซื้อ เช่น ถ้าซื้อวันนี้เพื่อที่จะเข้าร่วมฟังในปีหน้า ราคาอาจจะอยู่ที่ 4,000 บาทเป็นต้น ราคาบัตรจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้วันงานที่ที่นั่งใกล้หมด

งานสัมมนาคราวนี้กำหนดไว้ 2 วันเต็มคือวันเสาร์และอาทิตย์ โดยที่มีเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องไปหาอาหารกินเองยกเว้นกลุ่มนักลงทุน “VIP” จำนวนอาจจะซักร้อยหรือสองร้อยคนที่จะมีการจัดเลี้ยงเพื่อที่จะให้พวกเขาได้รู้จักกันและได้คุยกับวิทยากรซึ่งผมเข้าใจว่าพวกเขาจะต้องจ่ายค่าสัมมนาอีกอัตราหนึ่ง นอกจากไม่มีอาหารแล้ว งานสัมมนาของเขายังไม่มีกาแฟหรือของว่างเลี้ยงด้วย มีแต่น้ำเปล่าที่คนต้องไปกดเพื่อดื่มเอาเอง เหตุผลที่เขาทำอย่างนั้นนอกจากเพื่อเป็นการลดต้นทุนแล้วผมยังคิดว่าเป็นเพราะจำนวนคนที่มีมากเกินกว่าที่จะให้บริการไหวด้วย เช่นเดียวกัน ห้องประชุมนั้น ก็ใช้ห้องจัดแสดงสินค้าแล้วนำเก้าอี้มาวางเต็มห้องซึ่งทำให้คนเข้าร่วมสัมมนาที่อยู่ท้ายห้องมองวิทยากรลำบากและคงต้องอาศัยดูจากจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เป็นหลัก

สถานการณ์ดังกล่าวนั้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่ VI ไทยได้รับแล้ว ผมรู้สึกว่า นักลงทุนไทยนั้น ได้รับการดูแลและได้รับการสนับสนุนมากในด้านของการศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุน เห็นได้จากการที่นักลงทุนส่วนบุคคลของไทยนั้น สามารถฟังการสัมมนาฟรีได้มากมาย หลาย ๆ รายการมีอาหารเลี้ยง ห้องสัมมนาก็มักจะเป็นห้องประชุมชั้นดีที่มีระดับลาดขึ้นและเก้าอี้สะดวกสบายเหมือนโรงหนัง เหตุผลก็เพราะในเมืองไทยนั้น เรามีสปอนเซอร์มากมายที่ต้องการขายบริการให้กับนักลงทุนรายย่อย ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยของสิงคโปร์นั้น น่าจะมีธุรกรรมน้อยจนบริษัทการเงินและหลักทรัพย์ไม่สนใจที่จะทำการตลาดด้วย ไม่ต้องพูดถึงว่า นักลงทุนรายย่อยของสิงคโปร์นั้น ไม่มีโอกาสได้พบกับผู้บริหารบริษัทหรือเข้าร่วมฟังข้อมูลของบริษัทอย่างในงาน Opportunity Day ของไทย ดังนั้น นักลงทุนแนว VI ของสิงคโปร์จึงต้องจ่ายเงินและยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อแสวงหาความรู้เพื่อการลงทุนค่อนข้างสูงและพวกเขาดูตั้งใจฟังมากในงานสัมมนา

หัวข้อของงาน VI Summit 2015 นั้น ประกอบด้วยการบรรยายภาพรวมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของสิงคโปร์ การวิเคราะห์และแนะนำหลักทรัพย์ประมาณ 4-5 ตัวโดยนักวิเคราะห์ของบริษัท 8I ซึ่งพวกเขาทำได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโบรกเกอร์หรือมีใบอนุญาต นอกจากนั้นก็มีการแจกรางวัลเป็นแนว “แหวนอัศวิน” ให้แก่นักลงทุนจำนวนประมาณ 8 คนที่เป็นสมาชิกหรือลูกค้าเรียนคอร์สการลงทุนของบริษัทที่สามารถสร้างผลงานการลงทุนดีเด่นจนพอร์ตเติบโตเป็น “นักลงทุนเงินล้านเหรียญ)” รายการทั้งหมดนั้นคละเคล้าสลับกันไปเพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย ระหว่างเปลี่ยนรายการก็จะมีพิธีกรหรือผู้บริหารบริษัทขึ้นมาคั่นรายการเล็ก ๆ น้อยเพื่อสร้างความบันเทิงและโปรโมตผลงานการวิเคราะห์ในปีก่อนของบริษัทด้วย

ส่วนตัวผมเองนั้นขึ้นพูดในวันสุดท้าย 2 ช่วง โดยช่วงแรกผมพูดในหัวข้อ “A Golden Decade for Thai Value Investor” หรือ “ทศวรรษทองของ VI ไทย” และในช่วงที่สองก่อนปิดงานสัมมนา เป็นการพูดแบบอภิปรายตอบคำถามของผู้บรรยายหลายคนซึ่งประกอบด้วยผู้พูดจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ และผม โดยมีผู้บริหารของ 8I เป็นผู้ดำเนินรายการ เนื้อหาของการพูดของผมนั้นเป็นการอธิบายภาพของเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดหุ้นของไทย รวมถึงเหตุผลและปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันตลาดหุ้นของเราในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากนั้นผมได้เล่าถึงกลยุทธ์การลงทุนแนว VI สามแนวทางที่มีการใช้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่สามารถเอาชนะตลาดและสร้างผลตอบแทนที่สูงลิ่วจนทำให้ VI จำนวนไม่น้อยร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ต่อจากนั้นผมก็สรุปถึงองค์ประกอบที่สร้างความสำเร็จให้กับ VI ไทย ซึ่งประกอบไปด้วย “โชค” ที่พวกเขาเข้ามาลงทุนในตลาดในเวลาที่ถูกต้อง การใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ VI ที่เน้นในหุ้นโตเร็ว การเลือกหุ้นที่อยู่ในเมกาเทรนด์ ความนิยมของคนไทยต่อการลงทุนในหุ้น และสุดท้ายก็คือ ความกล้าที่จะลงทุนเงินร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นผ่านการซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน ที่ทำให้ได้ผลตอบแทนที่งดงามมากและผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะไม่สามารถทำได้อีกแบบง่าย ๆ ในประเทศไทย โดยที่ผมคิดว่า อนาคตของการลงทุนน่าจะอยู่ที่ตลาดหุ้นในเอเชียโดยเฉพาะเวียตนามกับจีน

บรรยากาศของที่ประชุมสัมมนานั้น ผมรู้สึกว่านักลงทุนค่อนข้างมีความตั้งใจและมีอารมณ์ร่วมค่อนข้างมากทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ขนาดใหญ่และมีคนร่วมฟังอยู่จำนวนมาก ผมคิดว่านักลงทุนส่วนบุคคลแนว VI ของสิงคโปร์นั้น ยังตามหลังไทยอยู่พอสมควรและพวกเขากำลังเริ่มศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางนี้อย่างมุ่งมั่น ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ VI นั้นยังไม่เป็นกระแสที่คนนิยมหรือพูดถึงเนื่องจากยังไม่มีใครที่ทำกำไรจากหุ้นมากพอ ความนิยมในการลงทุนในหุ้นก็ยังน้อยเนื่องจากตลาดหุ้นไม่บูมมานาน นอกจากนั้น การส่งเสริมการลงทุนโดยหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินก็ยังมีน้อย โลกของการลงทุนยังอยู่ในมือของนักลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการพัฒนาของ VI สิงคโปร์และในย่านเอเชียน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไทยเองอาจจะสามารถเป็น “ผู้นำ” ได้ เพราะประสบการณ์ VI ของเรานั้น น่าจะยาวกว่าคนอื่นในย่านนี้

ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ กับการทำให้ธุรกิจอยู่รอด

สวัสดีครับปีใหม่ปีนี้เข้ามาและสัปดาห์สุดท้ายก็กำลังจะผ่านไปแล้วนะครับ  

ในปีใหม่นี้ มีเรื่องและปัจจัยหลายเรื่องที่มีโอกาสทำให้การทำธุรกิจของเราและท่านทั้งหลายมี ความท้าทายมาก เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาและพูดคุย กับผู้ใหญ่และผู้บริหารหลายท่าน หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่มีการสนทนากันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง การเคลื่อน ย้ายของเงินทุนที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกและมีผลกระทบต่อเรา

จากการฟังและสนทนานั้น ประกอบกับผมสังเกตในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 1-2 ปี ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนธุรกิจ หรือรัฐบาลเอง พยายามหากุศโลบายในการทำให้เกิด ความสนใจและความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ หลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงในการสื่อความ การนำเอาการ์ตูน หรือการเล่าเรื่องราวแบบ ง่าย ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีความกระชับและเข้าใจง่ายมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการ สื่อสารที่มีความกระชับและสม่ำเสมอนั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และสามารถส่งต่อให้กัน และกันเป็นวงกว้างมากขึ้นโดยใช้ระยะเวลาในการสื่อสารน้อย ซึ่งหนึ่งในการสื่อสารที่ ทำให้เกิดความสมานสามัคคี และทำให้เกิดแรงบันดาลใจโดยง่าย คือ การสื่อสารค่า นิยมหลักของคนไทยซึ่งหากผมนำเอาค่านิยมหลักของคนไทย (ซึ่งรวมถึงเรา ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการ) ด้วยแล้วนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มภูมิป้องกันตัวเองในการดำเนิน การและแข่งขันได้ดีกับคนอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย

ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการนั้น ประกอบด้วย

1. มีความรักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์

2. ซื่อสัตย์เสียสละอดทนมีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

3. กตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ปกครองครูบาอาจารย์

4. ใฝ่หาความรู้หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม

6. มีศีลธรรมรักษาความสัตย์หวังดีต่อผู้อื่นเผื่อแผ่และแบ่งปัน

7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

8. มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่

9. มีสติรู้ตัวรู้คิดรู้ทำรู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นมีไว้พอกินพอใช้ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่ายและพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อมเมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี

11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่างหรือกิเลสมีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

ซึ่งหากเรานำเอาค่านิยมเหล่านั้นมาดัดแปลงเพิ่มเติมในการดำเนินการธุรกิจของเรานั้น การดำเนินการของธุรกิจเราสามารถนำเอาค่านิยมมาเป็นแนวทางคือ

การทำธุรกิจของเรานั้นเราจักทำธุรกิจให้อยู่รอดได้เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการและมีการจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้ดีบ่อยครั้งมีคำถามว่าค่าเงินเป็นอย่างไรดอกเบี้ยเป็นอย่างไร AEC เปิดแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็น ปัจจัยที่เกิดจากการกระทำภายนอก แต่หากเราพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้วนั้น การเตรียม ตัวจากด้านในนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าการดำเนินการเพื่อรับ มือภายนอกเสียอีก

ผมจึงขอนำเอาค่านิยมคนไทย 12 ประการมาเป็นแนวทางในการดำเนินการปรับตัว ภายในของการดำเนินการธุรกิจ ซึ่งการดำเนินการปรับตัวภายในนี้นั้นเป็นเสมือนกับ การเตรียมร่างกาย จิตใจ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราสามารถดำเนินการเองได้ให้ พร้อมเสียก่อน และด้วยความเชื่อว่าหากเราเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว การพัฒนา การต่อสู้ไม่ว่าเรื่องไหนก็แล้วแต่ เรามีโอกาสที่จะอยู่รอด และชนะการดำเนินการนั้น ๆ

ในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด และนำเอาค่านิยมมาเป็นหลัก ผมขออนุญาตนำเอาคำหลัก ๆ จัดรวมเป็นกลุ่ม ๆ คือ

เราเป็นธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และมีฐานเริ่มต้นจากประเทศไทย เราต้องมีความรักและหวงแหนในประเทศของเรา ประเทศไทยมีชัยภูมิที่ดี เป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมจากหลาย ๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นอาเซียน เอเชีย หรือการค้าข้ามประเทศ ซึ่งด้วยความมีเปรียบในด้านชัยภูมิดังกล่าว มีคนหลาย ๆ คนในหลาย ๆ ประเทศเข้ามาทำการค้าขายและตั้งรากฐานในประเทศ ของเราเพิ่มเติมขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต ความรักในดินแดน ในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเราจะทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงานใดๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

การค้าขาย หรือการดำเนินการใด ๆ นั้น จำต้องเริ่มต้นและดำเนินการด้วยความตั้งใจ ความซื่อสัตย์ มีระเบียบ เคารพกฎกติกาต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วนั้น กฎต่าง ๆ ที่ดำเนินการออกมาก็เพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองสังคมให้มีการดำเนินการไปด้วยความสุข และมีความคุ้มครองบุคคลต่าง ๆ ในสังคมนั้น ๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ คนในประเทศ คนนอกประเทศ เป็นต้น ความซื่อสัตย์ และการเคารพกฎต่าง ๆ จะทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราที่มีให้กับลูกค้าของเรา

ในการประกอบธุรกิจนั้น การพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ไปตามเวลา การแข่งขัน เทคโนโลยี การใช้งาน และอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ และเราในฐานะของผู้ทำธุรกิจก็จำต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ ทำวิจัย มีสติ ก็จะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่มีความเปลี่ยน แปลงไป

สุดท้ายนั้น ในการทำธุรกิจใด ๆ ก็ต้องทำธุรกิจด้วยความสุจริต และมีความพอเพียง หรือ เพียงพอ ทั้งในด้านการเตรียมการ การหากำไร การดูแลสังคม และคนหรือสิ่ง รอบตัวที่อยู่ในการทำธุรกิจของเรา ซึ่งการทำให้เกิดประโยชน์เป็นองค์รวมนั้นจะทำ ให้การดำเนินการหรือประกอบธุรกิจใด ๆ เกิดความยั่งยืน และได้รับความยอมรับเป็น คู่ค้าคู่สังคมที่อยู่ด้วย

การนำเอาค่านิยมการสำหรับคนไทยมาปรับและสะท้อนอีกมิติของการดำเนินธุรกิจ อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่การดำเนินการให้เกิดความเข้าใจและจำได้ของค่านิยมนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ กุศโลบายในการทำให้เกิดความเข้าใจในปัจจุบันมีมากและสามารถ เลือกใช้ได้ เพียงแต่เราขอเวลาของเราสักนิด หยุด…. และทำความเข้าใจ

คนคือผู้ดำเนินการธุรกิจ ธุรกิจเดินได้ด้วยคนที่บริหารและดำเนินการ ดังนั้นธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยการกระทำ … ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากคนต่าง ๆ นั้น จะมีผลก็ต่อเมื่อเราเตรียมร่างกาย(ทางธุรกิจ) ของเราให้พร้อม ปัจจัยภายนอกที่มาก็จะไม่มีผลมากนักกับเรานะครับ