คอนโด3หมื่นยูนิตรุม”สีม่วง” ทะลุ1.2แสนบาท/ตร.ม. เทียบชั้นสุขุมวิท

แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง “บางซื่อ-บางใหญ่” บูมสุดขีด 16 สถานี 23 กิโลเมตร มีซัพพลายคอนโดฯสะสมทะลักกว่า 3.1 หมื่นยูนิต ปิดการขายแล้ว 70% ราคาพุ่งแรงเบียดสุขุมวิท เผยโซนเตาปูน ถนนกรุงเทพฯ-นนท์แตะตารางเมตรละ 1.2 แสน จับตาปี”58 คอนโดฯสร้างเสร็จทยอยโอน 9 โครงการเฉียด 1 หมื่นยูนิต

รถไฟสายม่วง
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ระยะทาง 23 กิโลเมตร รวม 16 สถานี ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมมีนโยบายเร่งเปิดบริการเร็วขึ้น จากเดิมเดือนสิงหาคม 2559 เป็นมกราคม 2559 พบว่ามีซัพพลายคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้าที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2551 สะสมไม่ต่ำกว่า 39 โครงการ รวมกว่า 31,000 ยูนิต และมีโครงการเตรียมเปิดขายปีนี้อีกอย่างน้อย 5 โครงการ รวมกว่า 7,000 ยูนิต

ขณะที่คอนโดฯจะทยอยสร้างเสร็จในปีนี้มีไม่ต่ำกว่า 9 โครงการ กว่า 9,500 ยูนิต ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เปิดขายปี 2555-2556 ราคายูนิตละ 1-3 ล้านบาท อาทิ โครงการชีวาทัยอินเตอร์เชนจ์ของ บจ.ชีวาทัย 279 ยูนิต กำหนดโอนกันยายน-ตุลาคมนี้, เดอะทรี อินเตอร์เชนจ์ ของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 1,700 ยูนิต คาดว่าแล้วเสร็จกันยายนนี้, ลุมพินีพาร์ค รัตนาธิเบศร์ 2.8 พันยูนิต คาดว่าแล้วเสร็จมิถุนายนนี้, เอส 9 ของ บมจ.สัมมากร 655 ยูนิต คาดว่าแล้วเสร็จไตรมาส 3/58 ฯลฯ

คอนโดฯจ่อเปิดกว่า 7 พันยูนิต

จากการสำรวจพบว่าปี 2558 มีคอนโดฯอย่างน้อย 5 โครงการใหม่เตรียมเปิดตัวกว่า 7 พันยูนิต ได้แก่

1) POSH 12 ถ.ติวานนท์ ของกลุ่มแปซิฟิกสตาร์ที่เคยพัฒนาคอนโดฯ เอท ทองหล่อ (Eight) และสาทรการ์เด้นส์ สร้างสำนักงานขายโครงการอยู่ห่างสถานีกระทรวงสาธารณสุข 150 เมตร เตรียมเปิดตัวมีนาคมนี้ เป็นคอนโดฯ 2 อาคาร รวมกว่า 1,300 ยูนิต สูง 40 ชั้นและ 45 ชั้น บนที่ดินติดถนนกว่า 4 ไร่ แบบสตูดิโอและ 1-2 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 22-46 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 1.99 ล้านบาท หรือตารางเมตรละ 8.9 หมื่นบาท

2) คาซ่า คอนโด ติด ถ.รัตนาธิเบศร์ ห่างสถานีสามแยกบางใหญ่ 30 เมตร ของ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (คิวเฮ้าส์) ขึ้นป้ายเตรียมพบกันเร็ว ๆ นี้ รายละเอียดโครงการมีที่ดิน 8 ไร่ แบ่งเป็น 2 เฟส 2 อาคาร เฟสแรกเป็นตึกสูง 39 ชั้น กว่า 800 ยูนิต พื้นใช้สอยเริ่ม 22 ตารางเมตร ราคาประมาณ 1.3 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เปิดตัวมีนาคมนี้

3) คาซ่า คอนโด ของคิวเฮ้าส์เช่นกัน บนที่ดินใกล้สถานีคลองบางไผ่ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง พื้นที่ 8 ไร่ คาดว่าราคาเริ่มต้นกว่า 1 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้

4) พลัมคอนโดฯ ของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท มีแผนเปิดใกล้เซ็นทรัลเวสต์เกตกว่า 3,000 ยูนิต และ 5) คอนโดฯใหม่ของกลุ่มศูนย์การค้าเดอะสแควร์ บางใหญ่ กว่า 2,000 ยูนิต

แหล่งข่าวจาก บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นครั้งแรกที่จะเปิดโครงการคาซ่า คอนโดแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปีนี้คาดว่าจะเปิดตัว 2 โครงการ ราคาเริ่มต้นตารางเมตรละ 6-7 หมื่นบาท แม้ว่ามีซัพพลายคอนโดฯหลายหมื่นยูนิตแต่มั่นใจว่าศักยภาพหลังรถไฟฟ้าเปิดใช้จะกระตุ้นดีมานด์ มองว่าจะมีคนที่อยู่อาศัยจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม ฯลฯ ซื้อไว้เพื่อให้ลูกมาพักอาศัยนั่งรถไฟฟ้าไปเรียนในกรุงเทพฯ เนื่องจากราคาคอนโดฯในเมืองแพงขึ้นมาก

ส่วนแนวโน้มราคาเชื่อว่ายังขยับขึ้นได้อีก เห็นได้จากหลายปีก่อนบ้านจัดสรรตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ราคาหลังละ 5-6 ล้านบาท ปัจจุบันมีบ้านเดี่ยวราคา 10-30 ล้านบาท มองว่าอนาคตราคาคอนโดฯทำเล ถ.รัตนาธิเบศร์มีโอกาสขยับขึ้นไปแตะตารางเมตรละ 9 หมื่น-1 แสนบาท จากปัจจุบันกว่า 5-7 หมื่นบาท

ราคาทะลุ ตร.ม.ละ 1.1 แสน

จากการสำรวจเริ่มต้นที่สถานีเตาปูน พบว่าบริเวณนี้มีคอนโดฯไม่ต่ำกว่า 4 โครงการ อาทิ ชีวาทัย อินเตอร์เชนจ์ กำลังก่อสร้างเป็นตึกสูง 26 ชั้น 279 ยูนิต ราคาเริ่มต้นตารางเมตรละ 110,000 บาท ยอดขาย 70% ขณะนี้หยุดพักการขาย รอตึกก่อสร้างเสร็จตุลาคม 2558 จึงจะเปิดขายอีกครั้ง

โครงการริชพาร์ค 2 @ เตาปูนอินเตอร์เชนจ์ ของ บมจ.ริชี่เพลซ (2002) ตึกสูง 26 ชั้น 735 ยูนิต มียอดขายแล้วกว่า 70% ห้องชุดไซซ์ 28 ตารางเมตร แต่งเฟอร์นิเจอร์ครบ ราคาเริ่มต้น 2.3 ล้านบาท, เดอะสเตจ ของ บจ.เรียล แอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดขายกันยายน 2557 ที่ผ่านมา เป็นตึกสูง 36 ชั้น 773 ยูนิต แบบ 1-2 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 26.3-61.4 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 2.3 ล้านบาท ฯลฯ

เข้าสู่ทำเล ถ.กรุงเทพฯ-นนทบุรีไปสุดที่แยกติวานนท์ มีคอนโดฯติดถนนไม่ต่ำกว่า 9 โครงการที่เพิ่งเปิดตัวปีที่ผ่านมาคือไอดีโอ โมบิ วงศ์สว่าง อินเตอร์เชนจ์ ใกล้สถานีบางซ่อน 559 ยูนิต ห้องชุดแบบสตูดิโอ 21 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 2.59 ล้านบาท ยอดขาย 70% หรือตารางเมตรละ 1.2 แสนบาทเทียบเท่าทำเลสุขุมวิท

กรุงเทพฯ-นนท์-ติวานนท์คึก

ส่วนโครงการอื่น ๆ อาทิ ยูดีไลท์@บางซ่อนสเตชั่น 527 ยูนิต เริ่มต้นแบบ 1 ห้องนอน 30 ตารางเมตร ตกแต่งเฟอร์ฯพร้อมอยู่ ราคาเริ่ม 2.66 ล้านบาท ยอดขาย 40%, แอมเบอร์ ของ บมจ.อีสเทอร์นสตาร์ เรียลเอสเตท 563 ยูนิต ขายได้แล้ว 40% แบบ 1 ห้องนอน 35 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 2.49 ล้านบาท ฯลฯ

สำหรับคอนโดฯโซนถนนติวานนท์และแยกแครายไม่เกินสำนักงานดาวเทียมไทยคมมีไม่ต่ำกว่า 11 โครงการ ทำเลติดถนนตารางเมตรละ 6-7 หมื่นบาท อาทิ เดอะทรัสต์ คอนโด งามวงศ์วาน 1,280 ยูนิต ตึกสร้างเสร็จมียอดขาย 60% จัดโปรโมชั่นแบบ 1 ห้องนอน 29 ตารางเมตร แต่งเฟอร์ฯพร้อมอยู่ ราคา 1.69 ล้านบาท จากปกติกว่า 2 ล้านบาท, ยูดีไลท์ รัตนาธิเบศร์ 989 ยูนิต ตึกสร้างเสร็จ มียอดขาย 80% แบบ 1 ห้องนอน 30 ตารางเมตร ราคากว่า 2 ล้านบาท ฯลฯ

รัตนาธิเบศร์ซัพพลายเพียบ

สำรวจทำเล ถ.รัตนาธิเบศร์ จากแยกแคราย-สามแยกบางใหญ่ ช่วงตัด ถ.กาญจนาภิเษก มีผู้ประกอบการรายใหญ่-รายกลางไม่ต่ำกว่า 12 โครงการ รายที่ปักธงคอนโดฯแรก ๆ คือ บมจ.ศุภาลัยเปิดโครงการซิตี้โฮม รัตนาธิเบศร์ จากนั้นขยายอีก 2 โครงการคือศุภาลัย เวอรันด้า รัตนาธิเบศร์ 1,054 ยูนิต ยอดขาย 70% มีโปรฯส่วนลด 1.1 แสนบาท ราคาห้อง 30 ตารางเมตร เริ่มต้น 1.6 ล้านบาท และศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท สถานีพระนั่งเกล้า 733 ยูนิต มียอดขาย 85% แบบ 1 ห้องนอน 33 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 1.7 ล้านบาท มีส่วนลด 1.1 แสนบาท

บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์มีโครงการลุมพินี คอนโดทาวน์ 1,950 ยูนิต เปิดตัวปี 2551 ปิดการขายแล้ว และลุมพินีพาร์ค รัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน 2,800 ยูนิต ปัจจุบันเหลือขาย 1 ยูนิต

ส่วนโครงการอื่น ๆ อาทิ เอส 9 ของ บมจ.สัมมากร เป็นตึก 8 ชั้น 4 อาคาร 655 ยูนิต มียอดขาย 60-70% แบบ 1 ห้องนอน 25 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 1.5 ล้านบาท ฯลฯ

บางใหญ่ซูเปอร์สเตชั่น

สำหรับสถานีตลาดบางใหญ่ ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลกำลังก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต พื้นที่ 5 แสนตารางเมตร เป็นพื้นที่ที่คาดว่ารัฐบาลจะก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี จึงมีคอนโดฯ เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 3 โครงการ ได้แก่

1) พลัมคอนโด บางใหญ่สเตชั่น บมจ.พฤกษาฯ ปากซอยคลองถนน 7 อาคาร 1,870 ยูนิต ขายได้ 90% โปรฯ เฟส 1-2 ลด 1-2 หมื่นบาท พื้นที่ใช้สอย 22.5 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 1.09 ล้านบาท 2) ดิไอริส คอนโด บางใหญ่ ของ บจ.ดิไอริส กรุ๊ป สูง 8 ชั้น 5 ตึก รวม 900 ยูนิต ขายแล้ว 20% แบบ 1 ห้องนอน 24.8 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 1.25 ล้านบาท และ 3) บางใหญ่สแควร์ คอนโด ของกลุ่มศูนย์การค้าเดอะสแควร์บางใหญ่ 1,230 ยูนิต ปิดการขายแล้วเช่นกัน

ลดต้นทุน-เพิ่มมูลค่า ทางโต IRPC

ฐานะการเงิน “ขี้เหร่” ทำให้ บมจ.ไออาร์พีซี ทำงานไม่คล่องตัว ทว่าเมื่อแผนลดต้นทุน “กำไรหมื่นล้าน”

news_irpc-setlnw

ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง!! ทำให้หลายฝ่ายทำนายว่า มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะหลุด 40 เหรียญต่อบาร์เรล ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทพลังงานที่สต็อกน้ำมันต้นทุนสูงไว้จำนวนมาก ย่อมต้องก้มหน้ารับผลขาดทุนจาก Stock loss สุดท้ายจะแสดงตัวเลขขาดทุนมากหรือน้อยคงต้องวัดกันที่ฝีมือการบริหารล้วนๆ

บริษัท ไออาร์พีซี หรือ IRPC ผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเลียม,ธุรกิจปิโตรเคมี,ธุรกิจท่าเรือและถัง และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน ถือเป็นหนึ่งบริษัทพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากการสต็อกน้ำมันเต็มๆ หลังบริษัทสต็อกน้ำมันมากถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันบริษัทมีความพยายามจะบริหารความเสี่ยง ด้วยการลดสต็อกน้ำมันเหลือเพียง 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แต่แผน “ลดต้นทุนการผลิต” ของบริษัท ไออาร์พีซี ทำให้เหล่านักวิเคราะห์มีมุมมองว่า ปี 2558 บริษัทอาจมีกำไรสุทธิแตะระดับ 1,600 ล้านบาท หลังจากได้เริ่มดำเนินการโครงการ Delta Program ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถกลับมาผลิตหน่วย DCC Plant (Dcc Deep Catalytic Cracking) ได้เหมือนเดิมเหมือน หลังเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อปีก่อน

นอกจากนั้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 บริษัทเตรียมเดินเครื่องผลิตโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด หรือ Upstream Project for Hygiene and Value Added Products (UHV) ซึ่งจะทำให้มีโพรพิลีนเพิ่มขึ้นอีก 320,000 -340,000 ตันต่อปี โดยแผนงานดังกล่าวนอกจากจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วยังจะทำให้มีต้นทุนการผลิตลดลงจาก 8-8.5 เหรียญ เหลือเพียง 7.5-8 เหรียญ

“ภาวะราคาน้ำมันดิ่งเช่นนี้ บริษัทคงหลีกหนีผลขาดทุนไม่ได้ ฉะนั้นงบการเงินของปี 2557 คงออกมาไม่สวยเหมือนปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 826 ล้านบาท แต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีความทันสมัยจนสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลงอย่างมาก ซึ่งผลดีจะเริ่มสะท้อนผ่านผลประกอบการในปี 2558 “ตั้ว-สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week”

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างลงทุน 2 โครงการ นั่นคือ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด หรือ UHV และ โครงการลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิต หรือ Delta ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้กับบริษัท เขาย้ำ โดยในปี 2557 โครงการดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มกำไรให้บริษัทแล้วจำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนปี 2558 อาจเพิ่มกำไรอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท

ในอดีตบริษัทคือผู้ผลิตน้ำมันเตา คิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งน้ำมันเตาถือเป็นตัวถ่วงที่ทำให้งบการเงินขาดทุนมาตลอด เนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อน ราคาน้ำมันเตาถูกมาก หลังสถานการณ์เศรษฐกิจโลกซบเซา ทำให้การค้าขายทางทะเลลดลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเตาหดหาย ฉะนั้นเมื่อโครงการ UHV แล้วเสร็จ บริษัทจะมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ต้นทุนการผลิตจะลดลง ขณะที่มูลค่าของผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น

“ 5 ปีข้างหน้า “กำไรสุทธิ” ต้องแตะ “หมื่นล้าน”

“กรรมการผู้จัดการใหญ่” ยืนยันเป้าหมาย ก่อนขยายความว่า ในปี 2557-2561 บริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 65,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ใช้เงินไปแล้วในหลายๆโครงการ เช่น โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด ซึ่งภายในปีนี้เรายังคงลงทุนต่อเนื่องจำนวน 10,000 ล้านบาท คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2558 และจะเริ่มรับรู้รายได้เต็มจำนวนในปี 2559 เขาย้ำ

ขณะเดียวกันปีนี้บริษัทยังจะลงทุนต่อเนื่องในโครงการฟินิกซ์อีก 6 โครงการ หลังดำเนินการเสร็จไปแล้ว 10 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการผลิตพาราไซลีน 1.21 ล้านตันต่อปี และเบนซิน 3.72 แสนตันต่อปี

2.โครงการผลิตโพลิโพรพิลีน คอมพาวด์ หรือ PPC 300,000 ตันต่อปี

3.โครงการผลิตโพลิออล 100,000 ตันต่อปี

4.โครงการผลิตอะคริลิก แอซิด ซูเปอร์ แอบซอฟเบนต์ โพลิเมอร์ หรือ AA/SAP กำลังการผลิต AA 100,000 ตันต่อปี และ SAP 80,000 ตันต่อปี

5.โครงการ Bio-Hydrogenated Diesel หรือ BHD 2 ล้านลิตรต่อเดือน และ

6.โครงการผลิตสไตรีน โมโนเมอร์ หรือ SM 350,000 ตันต่อปี

 

โดยโครงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน คอมพาวด์ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 475, 000 ตัน เป็น 775,000 ตัน คาดว่าปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560 โครงการจะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ดีโครงการฟีนิกซ์ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี ซึ่งโครงการที่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพน้ำมันสู่เชื้อเพลิงสะอาดและนวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียว,โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มกำลังการผลิต EBSM, โครงการเพิ่มมูลค่าจากคลังน้ำมันและโรงผสมน้ำมันหล่อลื่นตามมาตรฐานสากล และโครงการบริหารจัดการเพื่อลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิตปิโตรเคมีและการกลั่น เป็นต้น

“บริษัทมีแผนจะร่วมทุนกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC ในโครงการผลิตพาราไซลีน ที่มีกำลังการผลิต 1.2 ล้านตัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นปี 2558 ถือเป็นการสรุปแผนงานที่ล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อ่อนตัวลงมาค่อนข้างมาก”

“นายใหญ่” บอกว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจปิโตรเคมี 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ แต่ความสามารถในการสร้างกำไรส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจปิโตรเคมี หลังบริษัทเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์เดิม และผลิตภัณฑ์ใหม่

เมื่อถามถึงแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย จังหวัดระยอง พื้นที่ 2,000 ไร่ และแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พื้นที่ 2,000 ไร่ เขาตอบว่า บริษัทกำลังทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด เชื่อว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้าจะได้ข้อสรุป โดยในช่วงปลายปี 2556 บริษัทได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.เรียบร้อยแล้ว

บริษัทอยากเห็นความชัดเจนเรื่องนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายก่อน ล่าสุดกำลังจัดทำโมเดลธุรกิจ โดยรูปแบบอาจมีทั้งลงมือทำเองและจับมือกับพันธมิตร สำหรับวงเงินลงทุน คาดว่าคงต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท เขายอมรับว่า รู้สึกกังวลต่อการทำธุรกิจดังกล่าวเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ฉะนั้นหากอยากดึงดูดนักลงทุนบริษัทคงต้องทำโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม

ส่วนการพัฒนาที่ดินในจังหวัดสงขลา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน ฉะนั้นคงยังไม่มีความชัดเจนเร็วๆ นี้ แต่เราอยากสร้างให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จะสามารถต่อยอดยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ถามว่ามีแผนจะแตกไลน์ธุรกิจหรือไม่? เอ็มดีใหญ่ ตอบว่า เราอยากทำธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่งก่อนแล้วค่อยหันไปศึกษาการลงทุนในธุรกิจอื่น หากมีเงินเหลือมากพอ เพราะจากการสำรวจแผนธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนหลายๆแห่งพบว่า ส่วนใหญ่นำเงินที่เหลือจากการลงทุนในธุรกิจหลักนำไปแสวงหาโอกาสใหม่ที่ไม่มีความถนัด สุดท้ายเมื่อไม่รู้จริงก็ต้องกลับมาทำงานเก่า ซึ่งบริษัทไม่อยากเป็นเช่นนั้น

“ขัดแย้ง” สู่ “พันธมิตร”

ปิดฉาก 10 ปีแห่งความขัดแย้ง ระหว่าง “กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์” กับ “ไออาร์พีซี” หลังเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2557 ทั้งสองฝ่ายลงนามยุติข้อพิพาทต่อกันทั้งหมด “สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” อาสาเล่าเบื้องหลังฉบับย่อให้ฟังว่า คุณประชัย เป็นคนโทรเข้ามาขอเจรจายุติคดีความทั้งหมดกับบริษัท อาจเป็นเพราะท่านอายุมากแล้วจึงอยากจบเรื่องทุกอย่าง แต่สาเหตุที่ไม่สามารถจบปัญหาได้ก่อนหน้านี้ เพราะยังมีคดีค้างอยู่กว่า 100 คดี

บริษัทใช้เวลาเจรจาเรื่องนี้กับคุณประชัยมากถึง 3 รอบ เรียกว่า ทำตารางเปรียบเทียบกันเลยว่า หากต่อสู้คดีกันต่อไป ต่างฝ่ายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมายเท่าไหร่ โอกาสแพ้ชนะเป็นอย่างไร และถ้ายุติคดีความ ต่างฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างไร และสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมจะสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งการควบรวมบริษัทลูกจะทำให้ธุรกิจเกิดความกระชับหรือไม่

“กรรมการผู้จัดการใหญ่” เล่าต่อว่า เมื่อบริษัทได้ภาพที่ชัดเจนจึงได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย สุดท้ายเมื่อบอร์ดตัดสินใจยุติคดีความ เราจึงเริ่มดำเนินการทันที ปัจจุบันบมจ.ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นคู่ค้ากับบริษัทโดยสมบูรณ์แล้ว

อย่างไรก็ดีที่ประชุมบริษัทเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2557 นอกจากจะมีมติให้บริษัทดำเนินการยุติข้อพิพาทกับกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์แล้วยังมีมติให้บริษัทจำหน่ายหุ้นบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก นั่นคือ บริษัท อุตสาหกรรมสหธัญพืช จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตกระสอบ ถุง ที่ทำจากปอ กระดาษ พลาสติก จำนวน 992,698 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 18.05%

โดยได้จำหน่ายให้กับบริษัท เลี่ยวไพรัตนวิสาหกิจ จำกัด ราคา 251.84 บาทต่อหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท มูลค่า 250 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นบริษัท ไออาร์พีซี จำนวน 410,458 หุ้น คิดเป็นเงิน 103.37 ล้านบาท และบริษัท อุตสาหกรรมโพลียูรีเทนไทย จำนวน 582,240 หุ้น คิดเป็นเงินจำนวน 146.63 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีมติยกเลิกสัญญาเช่าอาคารทีพีไอทาวเวอร์ หลังบริษัทและบริษัทย่อยได้ทำสัญญาเช่าอาคารทีพีไอทาวเวอร์ เมื่อปี 2538-2542 พื้นที่รวม 26,653.72 ตารางเมตร ในระยะเวลา 90 ปี โดยได้จ่ายค่าเช่าล่วงหน้า 956 ล้านบาท และได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ทั้งจำนวนแล้ว

ปัจจุบันบริษัทไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอาคารดังกล่าวแล้ว จึงได้ยกเลิกสัญญาเช่าอาคารทีพีไอ ทาวเวอร์ ตามพื้นที่และระยะเวลาที่เหลือทั้งหมดกับบริษัท พรชัยวิสาหกิจ โดยบริษัทได้รับคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าคงเหลือตามสัญญาการเช่า 470 ล้านบาท เป็นการคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าของไออาร์พีซีจำนวน 420.14 ล้านบาท บริษัท น้ำมันไออาร์พีซี จำนวน 37.64 ล้านบาท บริษัท ไออาร์พีซี โพลีออล จำนวน 11.85 ล้านบาท และบริษัท ไท เอบีเอส จำกัด 370 ล้านบาท

พลเอกประยุทธ์ เยือนญี่ปุ่น หารือชวนลงทุนโครงการทวายเฟส2

“ประยุทธ์”เยือนญี่ปุ่น8-10ก.พ. ลงนามเอ็มโอยูศึกษารถไฟทางคู่3เส้นทาง พร้อมหารือชวนลงทุนโครงการทวายเฟส2

news_setlnw-japan

และพบเอกชนญี่ปุ่น ชวนลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้าน”อาคม”ชี้เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ ยังไม่ปิดโอกาสรายอื่น คาดเสร็จเอื้อการค้าการลงทุน เชื่อมฝั่งตะวันออก-ตก

รัฐบาลไทยเตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)กับรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาเส้นทางรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ในการเยือนอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ.นี้ พร้อมกับความมั่นใจในนโยบายด้านการลงทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ลงนามกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาเส้นทางหนองคาย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีนี้

การลงนามกับรัฐบาลจีน สร้างความไม่พอใจให้กับหลายชาติ รวมทั้งญี่ปุ่น ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย แต่การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ แม้จะระบุว่าเป็นเพียงการลงนามศึกษาความเป็นไปได้ โดยยังเปิดทางให้กับชาติอื่นที่สนใจลงทุน แต่ก็มีความเป็นไปได้มากว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นผู้ได้รับสิทธิก่อน เช่นเดียวกับในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์เยือนจีน ซึ่งมีการลงนามเอ็มโอยู ก่อนจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาโครงการในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีมูลค่าลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ)สะสมมากที่สุด 34.8% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทั้งหมด และล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว นักลงทุนญี่ปุ่นได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)มากที่สุด รวม 709 โครงการ เงินทุนจดทะเบียน 2.45 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่าการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 8 – 10 ก.พ.นี้เป็นไปตามคำเชิญของนายชินโชะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

ตามกำหนดการ ในวันที่ 9 ก.พ.นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น หลังจากนั้นจะได้มีการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและคณะ

ประเด็นหารือที่สำคัญ คือ ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในการศึกษาและพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร ในเส้นทาง ที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจ ได้แก่ 1.เส้นทางจากพุน้ำร้อน กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา – อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ ฉะเชิงเทรา-อ.มาบตาพุด จ.ระยอง 2.เส้นทางจาก อ.แม่สอด จ.ตาก – จ.มุกดาหาร และ 3.เส้นทางเชื่อมภาคเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

“ไทยและญี่ปุ่นจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการศึกษาโครงความเหมาะสม และความคุ้มค่าของการลงทุน โดยเส้นทางที่ไทยจะขอให้ญี่ปุ่นช่วยศึกษาก่อนก็คือมีเส้นทางรถไฟจากฝั่งตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเป็นการเพิ่มเส้นทางคมนาคมระหว่างท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือน้ำลึกทวายในอนาคต”

แต่มีความเป็นได้ที่ญี่ปุ่นจะสนใจเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เนื่องจากได้แสดงความสนใจมาก่อนหน้านั้น

แหล่งข่าวระบุด้วยว่าในการหารือกันระหว่างนายฮิโระโตะ อิซุมิ ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจ ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับ พล.อ.ประยุทธ์ และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทกวกุล รองนายกรัฐมนตรีได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าไทยกับญี่ปุ่นจะร่วมกันศึกษาและพัฒนาความร่วมมือก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)ในเส้นทางจาก อ.พุน้ำร้อน -กาญจนบุรี – กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา- อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจากพม่า -ไทย-กัมพูชา

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะมีกำหนดการที่จะเยี่ยมชมศูนย์บังคับการ (Control Center) รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น (Shinkansen) ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะจะทดลองนั่งรถไฟชินคันเซ็นจากโตเกียวไปยังนครโอซากาเพื่อศึกษาระบบ เทคโนโลยีและการให้บริการรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นอีกด้วย

ถกรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงทุนทวายระยะ2

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะขอให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่าซึ่งไทยต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องเริ่มมีการวางแผนรองรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมระยะกลางและระยะยาวในอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ หลังจากที่ในการประชุมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้แสดงท่าทีในการสนับสนุนโครงการฯทวายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ โครงการ”ทวาย” ในระยะแรก รัฐบาลไทย-พม่า ได้ตกลงร่วมกัน โดยคาดว่าภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานในระยะแรก จะเริ่มก่อสร้างได้ในปีนี้ ในพื้นที่ 27 ตร.กม. กำหนดแล้วเสร็จใน 5 ปี

แหล่งข่าวกล่าวว่านายกรัฐมนตรีจะหารือถึงบทบาทของญี่ปุ่นในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคต หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเพิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและมีโครงการจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้กว่า 51.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

ดึงเอกชนญี่ปุ่นลงพื้นที่ศก.พิเศษ

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดพบปะกับภาคเอกชนญี่ปุ่นหลายคณะ คือ การเข้าพบกับผู้แทนระดับสูงของ Japan – Thailand Business Forum ,Thailand Association ,สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) และสมาพันธ์เศรษฐกิจเขตคันไซ (Kankeiren) ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในอาเซียน

นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ในการหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่นในการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาลต้องการที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

“อาคม”เผยยังเปิดทางชาติอื่นลงทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าการหารือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นเพียงการลงนามความร่วมมือในการศึกษาพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ระบบรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร 3 เส้นทาง โดยจะเป็นเส้นทางที่จะพัฒนาให้มีการเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย 2 เส้น คือ จากพุน้ำร้อน กาญจนบุรี- กรุงเทพฯ- ฉะเชิงเทรา แยกไป อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และอีกทางแยกจากฉะเชิงเทราไป อ.มาบตาพุด จ.ระยอง อีกเส้นทางเป็น อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร รวมถึงเส้นทางเชื่อมภาคเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

เบื้องต้นการลงนามในครั้งจะเป็นการลงนามเพื่อเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นทำการศึกษาโครงข่ายรายละเอียดทั้งหมดในการดำเนินโครงการรถไฟ 3 เส้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ ความคุ้มค่าของการลงทุน ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาตามมาตรฐานจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

“ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นศึกษาโครงข่ายรถไฟ 3 เส้นทางนั้น หากประเทศใดสนใจจะศึกษาก็ให้เสนอความสนใจเข้ามา แต่ปัจจุบันยังไม่ประเทศใดเสนอความสนใจเข้ามา”

คาดญี่ปุ่นใช้เวลาศึกษา1ปี

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนนั้น นายอาคม กล่าวว่ายังไม่มีข้อสรุปการลงทุน เพราะเป็นเพียงแค่การลงนามความร่วมมือศึกษาโครงข่าย แต่ก็คงนำเอาแนวทางการลงทุนที่ได้ร่วมลงนามกับจีนมาเป็นตัวอย่างในการพิจารณาสรุปเงื่อนไขต่างๆ ส่วนงบการศึกษาโครงข่ายต้องรอสรุปภายหลังกลับมาจากญี่ปุ่น

“ทั้งนี้ใน 3 เส้นทางดังกล่าวยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าญี่ปุ่นจะได้สิทธิเข้ามาดำเนินการเพราะเป็นเพียงการลงนามศึกษาโครงข่ายเท่านั้น ต้องรอให้ญี่ปุ่นศึกษาก่อนประมาณ 1 ปี ในระหว่างนี้หากรายใดสนใจจะศึกษาก็ได้แต่เราลงนามกับญี่ปุ่นแล้ว” นายอาคม กล่าว

เผยไทยหวังสร้างเชื่อมั่นนโยบายศก.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ยังจะมีการหารือเรื่องการค้าอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของไทย โดยเริ่มจากการขอบคุณที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และขอให้ญี่ปุ่นเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลไทยในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่ยังคงส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม

ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น พบว่ามีปัญหาที่เกิดจากเงินบาทแข็งค่าเงินเยนอ่อนค่า โดยเงินเยนอ่อนค่ารวดเร็วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จาก 100 เยนเท่ากับ 36.2 บาท ณ วันที่ 7 ม.ค. 2554 มาเป็น 27.1 บาท ณ วันที่ 5 ม.ค. 2558 หรือเทียบเงินเยนแล้วเงินบาทแพงขั้น 33.42% ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การส่งออกสินค้าหลายรายการของไทยลดลงมาก

การส่งออกรวมไปญี่ปุ่น ทั้งปี 2557 ลดลง 1.9% มูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปี 2558 ตั้งเป้าการส่งออกไปญี่ปุ่นจะขยายตัว 2% มูลค่า 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์

“ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญของไทยมาโดยตลาด อย่างไรก็ดีภาวะเงินเยนอ่อนตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และการแข็งค่าของเงินบาท ได้ส่งผลให้การส่งออกได้รับผลกระทบ ซึ่งไทยหวังว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเร่งใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวม และส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมากขึ้น” รายงานข่าวระบุ

ทั้งนี้ สองประเทศได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2550 ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยขาดดุลการค้าญี่ปุ่นมาโดยตลาดจึงขอให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ไก่ ยางพารา สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ด้านการลงทุน ได้ขอบคุณที่ญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและไม่ย้ายฐานการลงทุน ในการนี้ ขอเชิญชวนให้ญี่ปุ่นมาลงทุนร่วมในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย (ไทย พม่า ญี่ปุ่น) ตลอดจนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยพัฒนาท้องที่ในภูมิภาคต่างๆ ให้มีการกระจายรายได้ทัดเทียมกัน และเป็นการสร้างความได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุนการผลิตและการสร้างโอกาสทางการค้าให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หุ้นไทยยังสดใส

บลจ.วรรณแนะลงทุนในหุ้นทั่วโลกและหุ้นไทย เชื่อแนวโน้มการลงทุนยังสดใส โดยเฉพาะผลบวกจาก QE ที่มาตามคาด ผลักให้กองทุนเปิด ONE-EURO รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติอีกครั้ง ขณะที่กองหุ้นไทยรับอานิสงส์จ่ายปันผลรวด 6 กองทุน

 

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาปรับตัวในลักษณะ Sideway Up แม้จะมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง หลังจากที่นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศของยูเครนและรัสเซีย แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และการเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียบางประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมของทางธนาคารกลางหลักในประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยูโรโซน ด้วยเม็ดเงินมหาศาลก็สามารถผลักดันให้ดัชนีฯ ตลาดส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นได้

ขณะที่ในปีนี้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศระยะถัดไปในระยะสั้นมองว่าตลาดหุ้นยังคงปรับตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายของพรรคไซรีซา หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของกรีซ ทำให้ตลาดมองว่าอาจมีการแยกกรีซออกจากยูโรโซนและอาจเกิดปัญหาการชำระหนี้ประเทศกับทาง IMF และธนาคารกลางยุโรป ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อรอดูเหตุการณ์ก่อน แต่อย่างไรก็ดี ด้วยกระบวนการทางกฎหมายและคะแนนเสียงที่พรรคดังกล่าวยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียวแล้ว ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อ Sentiment เชิงลบในระยะสั้นเท่านั้น และจะไม่กระทบในวงกว้าง ทำให้ตลาดจะยังสามารถกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงถัดไป

สำหรับการลงทุนในระยะกลางถึงยาว ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณของธนาคารกลางหลักของญี่ปุ่นและยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยูโรโซนที่การประชุม ECB ล่าสุดได้ประกาศการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่เดือนมี.ค. 58 ถึงเดือน ก.ย. 59 ซึ่งคิดแล้วเป็นมูลค่าวงเงินรวมสูงถึง 1.2 ล้านล้านยูโร และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ค่อนข้างมากที่ 5 แสนล้านยูโร ซึ่งจะผลักดันให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและทำให้สินทรัพย์เสี่ยงยังเป็นที่น่าสนใจทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัวได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทำให้ Sentiment การลงทุนเริ่มผันผวนน้อยลง และทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่ม Market Cap ค่อนข้างใหญ่ในแต่ละตลาดหุ้น เริ่มรักษาระดับราคาไว้ได้ หลังจากที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา

โดยมองว่าราคาน้ำมันตอนนี้เริ่มใกล้เคียงกับราคาต้นทุน (Cashing Cost) ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้คาดว่า Downside Risk ของราคาน้ำมันเริ่มจำกัด โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวได้ในกรอบ +/- 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเล็กน้อย และยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ จากต้นทุนพลังงานที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในระดับที่มากหรือน้อยเพียงไร สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามได้แก่ ท่าทีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในส่วนของยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ควบคู่ไปด้วย เพราะบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเติม นอกเหนือจากแรงสนับสนุนเชิงบวกดังกล่าวเช่นกัน

สำหรับด้านการลงทุนของตลาดหุ้นไทยนั้น เรายังมีมุมมองเชิงบวกสอดคล้องกับตลาดหุ้นโดยรวมของทั่วโลกเช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว นำโดยการใช้จ่ายภาครัฐจากการเริ่มประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และราคาสินค้าการเกษตร เช่น ข้าว และยางพารา ที่เริ่มฟื้นตัวได้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการส่งออกในปี 2558 ให้ฟื้นตัวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าด้วยแรงสนับสนุนผ่านมาตรการของภาครัฐและการเมืองที่คลี่คลายก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยวในปีนี้มีการฟื้นตัวได้ โดยจะเห็นได้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4/57 ที่ผ่านมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญ

นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่ฟื้นตัวแล้ว ผมยังมองว่าปัจจัยที่สำคัญที่ยังผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวต่อไปได้ ได้แก่ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินการ QE เพิ่มเติมของ ECB และ BOJ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังมีเม็ดเงินมหาศาลรอเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงถัดไป ขณะที่มูลค่าหุ้นไทยเองก็ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่ม TIP Region โดยปัจจุบันราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ไทยอยู่ที่ 15.29 เท่าเมื่อเทียบกับระดับ PE ของอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ 15.56 และ 18.87 เท่า ตามลำดับ ประกอบกับ Downside risk จากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติที่จำกัดมากขึ้นหลังจากที่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ทำให้ผมมองว่า SET Index ในปี 2558 นี้จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,700 จุด จากปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวข้างต้น

ด้วยปัจจัยด้าน QE ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ของตลาดมาในช่วงระยะหนึ่งและมีการดำเนินการตามคาดการณ์ ทำให้กองทุนเปิด วรรณ ยูโรเปี้ยน ฟันด์ 12 (ONE-EURO) สามารถจ่าย Auto Redemption (รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 58 ที่ผ่านมาอีกประมาณ 3% หลังจากที่จ่าย 3% แรกไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยครั้งนี้กองทุนฯ มีการจ่าย Auto Redemption ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.3135 บาทต่อหน่วย และกองทุนฯ มีเป้าหมายรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติครั้งถัดไปเมื่อ NAV แตะระดับ 10.90 บาทต่อหน่วย และเลิกกองทุนเมื่อ NAV แตะระดับ 11.25 บาทต่อหน่วย

ขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย สามารถจ่ายเงินปันผลจำนวน 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ไซรัส โมเมนตัม ฟันด์ (SYRUS-M) กองทุนเปิด สหธนาคารเอกปันผล 3 (ONE-UB3) กองทุนเปิด วรรณ อิควิตี้ (ONE-EQ) และกองทุนเปิด วรรณเฟล็กซิเบิล (ONE-FLEX) โดยจะปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 26, 27, 28 และ 30 ม.ค. 58 ตามลำดับ และจะจ่ายปันผลในอัตราหน่วยลงทุนละ 2.25 บาท, 1.83 บาท, 2.75 บาท และ 0.543 บาท ตามลำดับ ในวันที่ 19 ก.พ. 58

สำหรับกองทุนรวมประเภท ETF ทาง บลจ.วรรณจะมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) และกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ SET High Dividend อีทีเอฟ (1DIV) โดยจะปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 5 ก.พ. 58 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.314 บาท และ 0.233 บาท โดยมีกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 23 ก.พ. 58

ลงทุนหุ้น

“สำหรับทิศทางการเสนอขายกองทุนรวมในปีนี้ ยังคงมีแผนที่จะเสนอขายกองทุนรวมอีกหลายกองทุน เนื่องจากมองว่าปีนี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่การลงทุนในหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย อย่างเช่นญี่ปุ่น จีน และไทย รวมทั้งอาจมีโอกาสเสนอขายกองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันหลังจากที่มองว่า Downside risk ของราคาน้ำมันเริ่มจำกัด โดยการเสนอขายจะพิจารณาจังหวะการลงทุนอีกครั้ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมกับภาวะการลงทุนให้แก่นักลงทุนมากที่สุด”

สถิติ SET Index ที่ท่านอาจไม่รู้

พัฒนาการของตลาดทุนไทย เริ่มต้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 โดยได้มีการจัดตั้งตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) ในสมัยนั้นมีมูลค่าซื้อขายที่น้อยมาก เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจ จนปี พ.ศ. 2511 มีมูลค่าการซื้อขายทั้งปีเป็นจำนวน 160 ล้านบาท แล้วค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2515 โดยมีมูลค่าซื้อขายในปีนั้นเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับมูลค่าซื้อขายในปัจจุบันซึ่งตกวันละประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาทต่อวัน เหมือนดูหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

เรามาดูสถิติย้อนหลังที่น่าสนใจว่า ดัชนี (SET Index) มีการขึ้นลงอย่างไรกันครับ

1.SET Index ที่เริ่มต้นจากฐานที่ 100 จุด เมื่อวันแรกเปิดตลาด ได้ไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด ในเดือนมกราคม 2537 นับว่าเป็นการขึ้นที่ดีมาก คือขึ้นไปถึง 1,689.16 จุดภายในเวลา 18 ปี 9 เดือนเท่านั้น คิดเป็นผลตอบแทนในการลงทุนแบบทบต้นประมาณ 16.50% นั่นหมายความว่า ถ้าท่านลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถสร้างผลกำไรตอบแทนจากการลงทุนได้เทียบเท่าการขึ้นมาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้รับผลตอบแทนดังกล่าว บวกกับอัตราเงินปันผลที่ได้รับจากการถือครองหุ้นอีก ซึ่งปกติ Dividend Yield เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4%

ดังนั้นผลตอบแทนรวมที่ท่านได้รับจะเท่ากับ 20% (แบบทบต้น) โดยประมาณ ยิ่งถ้าท่านสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนี ที่ผมใช้เป็น Benchmark ผลตอบแทนยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงดูดผู้มีเงินออมให้นำเงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งทางตรง (ลงทุนซื้อหุ้นเอง) และทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน)

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ Black Monday (ตุลาทมิฬ) ที่สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาที่มีการเทขายอย่างหนักหน่วง ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาตกระเนระนาด พลอยทำให้ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกต้องถูกแรงขายเทกระหน่ำ ราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเจ๊ง โดยเฉพาะ SET Index ของเราลงจาก 472.86 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 243.97 จุด คิดเป็น 48.41% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน และหลังจากที่ SET Index ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด เมื่อเดือนมกราคม 2537 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง หลังจากที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาตลอดช่วงเวลา 18 ปี 9 เดือน โดยลงไปถึง 204.59 จุด ในเดือนกันยายน 2541 คือลงไปถึง 1,584.57 จุด หรือ 88.60% ภายในเวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน

ลองคิดเล่น ๆ ดูสิครับ ว่าถ้าท่านอยู่ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร เงินลงทุนของท่าน สมมุติว่า 1 ล้านบาท จะเหลือเพียง 114,000 บาท มีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวหลายคนเลยทีเดียว สุภาษิตบทหนึ่งที่เขียนไว้เตือนใจนักลงทุนก็คือ “อย่าเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพราะว่ามันจะแตกง่าย ถ้าช่วงนั้นท่านนำทรัพย์สินทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้น

ลองเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจในการลงทุนครั้งต่อ ๆ ไปของท่าน เพื่อให้การลงทุนของท่านมีความระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้น และลงทุนไม่เกินตัว

สำหรับนักลงทุนมาร์จิ้น ถ้าเจอสภาพแบบนี้เงินลงทุนของท่านจาก 1 ล้านบาท ซื้อหุ้นไป 2 ล้านบาท (ใช้วงเงินมาร์จิ้นจากโบรกเกอร์อีก 1 ล้านบาท) หุ้นตก 48.41% เท่ากับขาดทุนไป 968,200 บาท เมื่อบวกกับดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิ้น ท่านแทบจะไม่เหลือเงินเลย นั่นหมายถึงการสูญเงินลงทุนทั้งจำนวน นั่นหมายถึงเงินออมที่อดออมมาจากน้ำพักน้ำแรงที่ท่านอุตสาหะ ต้องแทบจะหมดสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว

สาเหตุที่ SET Index ลงวินาศสันตะโร ขนาดนั้น เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นจากประเทศไทยแล้วแพร่ระบาดไปหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แม้กระทั่งเกาหลีเองก็โดนผลกระทบวิกฤตนี้ ค่าเงินบาทที่เคยผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ 27 บาทต่อดอลลาร์ก็อ่อนปวกเปียกจนไปถึงเกือบ 60 บาทต่อดอลลาร์

ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ควรจะมีการจัดสรรเงินลงทุนลงในสินทรัพย์หลายประเภท ซึ่งในหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” ผมได้เขียนถึงสินทรัพย์ในแต่ละประเภทที่ท่านควรจะลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะสมตามช่วงวัย ขนาดของเงินลงทุน อุปนิสัยส่วนตัว ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ฯลฯ ฉบับหน้าผมจะนำสถิติของ SET Index มาเล่าให้ฟังกันต่อครับ