PTTEP มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ

บันทึกด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวนมากในไตรมาส 4/57; แนวโน้มกำไรปี 2558 มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ
มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ตลาดจะมีการเทขายหุ้น PTTEP หลังราคาน้ำมันดิ่งลง เรายังคงแนะนำให้รอดูสถานการณ์และยังคงชื่นชอบ PTT มากที่สุดในกลุ่มน้ำมันและก๊าซ สงครามราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินในสหรัฐฯดูจะรุนแรงและกินระยะเวลานาน เราจึงมองว่าการฟื้นตัวของราคาในรูปแบบ V-shape (ดังที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติการณ์ในปี 2551-2552) ดูจะเป็นไปได้น้อยมาก อีกทั้งราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวช้าออกไปจะส่งผลให้ความคาดหวังต่อกำไรของ PTTEP ในปี 2558 ลดลงอีก นอกจากนี้ บริษัทอาจจะมีการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ซื้อมา (แม้ว่าจะมีการบันทึกด้อยค่าของสินทรัพย์ไตรมาส 4/57 ไปแล้วก็ตาม) หากภาวะราคาน้ำมันต่ำยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

คาดหวังต่อไตรมาส 4/57 น้อยลง

เราปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิหลังหักภาษีปี 2557 ลง 56% เป็น 25,108 ล้านบาทจากผลประกอบการไตรมาส 4/57 ที่คาดว่าจะขาดทุนอย่างมาก (ซึ่งมีกำหนดประกาศในวันที่ 29 ม.ค.) ขณะนี้เราประเมินสอดคล้องกับตลาดว่าบริษัทจะขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/57 ที่ 20,798 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากการบันทึกด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวนมากในโครงการมอนทารา (จากราคาน้ำมันที่ลดลง) และโครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ (จากแผนการเริ่มดำเนินการผลิตที่ล่าช้าไปอีกสองปีเป็นปี 2564) ซึ่งก่อนหน้าบริษัทแนะว่าขาดทุนจากทั้งสองโครงการรวมกันจะอยู่ที่ราวๆ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ PTTEP ยังจะมีการบันทึกการตัดจำหน่าย 100 ล้านเหรียญ (เราคาดการณ์ไว้ที่เพียง 20 ล้านเหรียญก่อนหน้า) ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 30 ล้านเหรียญจากการอ่อนค่าของค่าเงิน BRL/US$ และ CAD/US$ ในขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวจะส่งผลให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้น (เรามองไว้ที่ 53% เพิ่มขึ้นจาก 40% ในไตรมาส 3/57) รวมถึงบริษัทจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเช่นกัน

ความเสี่ยงจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่มากขึ้นอีกยังเป็นปัจจัยน่ากังวลอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริหารแนะว่าบริษัทใช้ forward oil price curve (ณ สิ้นปี 2557) เพื่อประเมินมูลค่าโครงการมอนทารา ซึ่งเราคาดว่าราคาน้ำมันที่ใช้ในการคำนวณการด้อยค่าน่าจะในช่วง 70-80 เหรียญต่อบาร์เรล หากเป็นกรณีดังกล่าวประกอบกับสมมติฐานว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป เราคาดว่าจะมีการบันทึกด้อยค่าจากโครงการมอนทาราเพิ่มขึ้นอีก

คุณภาพกับมูลค่า

 

คุณภาพ

ในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ผมคิดว่าชาวหุ้นจำนวนมากยังมีความเสี่ยงสูง เพราะมองข้าม เรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ คุณภาพ (Quality) และ มูลค่า Value)
ที่ผมพูดเช่นนี้ เพราะสังเกตเห็นว่า ชาวหุ้นส่วนใหญ่ มักจะสนใจเรื่องราคา (Price) หุ้นกัน อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช
เวลาตั้งคำถามกับโบรกเกอร์ จึงออกมาว่า ควรจะซื้อหุ้นตัวไหนดี? โดยคิดว่า เมื่อได้ลงทุนตามคำแนะนำแล้ว จะทำกำไรได้แน่ๆ
หรือถ้าไม่ได้กำไร ก็มีโอกาสรีบขายตัดทิ้ง เพื่อลดความเสียหาย จากการลดลงของราคาหุ้น
ก่อนคนอื่นๆ
ความจริงแล้ว เวลาได้รับคำแนะนำว่าหุ้นตัวไหนเจ๋ง อย่าเพิ่งรีบซื้อ!
ให้พยายามประเมินก่อนว่า หุ้นตัวที่ว่ามีคุณภาพดีจริงหรือไม่? และถ้ามีจริง มูลค่าหุ้นควรเป็นเท่าไหร่?
พูดง่ายๆคือ ต้องพยายามเรียนรู้และเข้าใจให้ได้ว่า หุ้นตัวนั้น ทำธุรกิจอะไร? กำลังเติบโตหรือถดถอย?
ยี่ห้อสินค้าติดตลาดหรือไม่? คู่แข่งมีมากไหม? เป็นต้น
ถ้าดูแล้ว ธุรกิจของหุ้นอยู่ในเกณฑ์ดี ก็ถือว่าโอเค ผ่านรอบแรก
คุณภาพที่สองที่ต้องดูคือ คุณภาพของการบริหาร โดยต้องดูทั้งสภาสงคราม และแม่ทัพหุ้น
กล่าวคือต้องดูให้มั่นใจว่า คณะกรรมการบริษัทประกอบไปด้วยคนดีจริง มีความรู้ในด้านธุรกิจ
และมีความรู้ในการเป็นกรรมการมืออาชีพ
ไม่ใช่ กรรมการส่วนใหญ่ มีนามสกุลเดียวกัน แถมยังไม่เคยได้ยินคำว่า DCP เสียอีก
DCP ย่อมาจาก Directors Certification Program ซึ่งเป็นหลักสูตร 5 อาทิตย์ อาทิตย์ละ 1 วัน จัดโดย IOD
เพื่อให้ผู้ขันอาสามาเป็นกรรมการ ได้เข้าใจภาระหน้าที่การเป็นกรรมการ อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล
ถ้ากรรมการส่วนใหญ่จบ DCP มา ชาวหุ้นก็สบายใจได้เปลาะหนึ่ง
ถามว่าจะรู้ได้ไง?
ก็ดูจากประวัติของกรรมการแต่ละคน ในรายงานประจำปีของหุ้นตัวนั้นๆได้เลย!
ส่วนตัวแม่ทัพคือ CEO คือตัวจักรสำคัญ คุณภาพของ CEO จึงเป็นเรื่องใหญ่
ผมได้อ่านเรื่องของ Mr. Jack Welch ซึ่งเป็นอดีต CEO ของ GE ปรากฎว่าตอนเข้าไปเป็น CEO ใหม่ๆ
Market cap ของ GE มีแค่ $16 พันล้าน พอตอนที่ลาออกมามีถึง $ 596 พันล้าน!
ถ้า CEO ในตลาดหุ้นเป็นอย่างนี้ได้ทุกคน ชาวหุ้นสบายใจหายห่วง เพราะCEOมีฝีมือแบบนี้
จะไม่อยู่เฉย แต่จะทำให้คุณภาพของผลดำเนินงาน ออกมาดีขึ้นปีแล้วปีเล่า
แม้ในปีที่เศรษฐกิจ หรือในช่วงเวลาวิกฤติ ก็สามารถประคองตัวบริษัทให้อยู่รอดปลอดภัย ปรับตัวให้แข็งแกร่ง ทยานกลับเข้ามาเก็บเกี่ยว ในช่วงเศรฐกิจขาขึ้นได้อีกด้วย
การดูคุณภาพนั้น ถ้าใครพอดูตัวเลขการเงินเป็น ยิ่งจะช่วยได้มาก
หุ้นที่มี ROE สูงๆ มี D/E ต่ำ มี Revenue Growth สูง เป็นหุ้นที่ถือว่ามีคุณภาพได้เป็นส่วนใหญ่เลย
ถ้าใครไม่รู้ ต้องรีบเรียน เดี๋ยวจับชีพจรหุ้นไม่เป็น จะพลาดได้ของดี อย่ามัวเสียเวลาเฝ้าดูแต่ราคาหุ้นอย่างเดียว ต้องดูผลประกอบการเป็นด้วย ทีนี้ พอเลือกได้หุ้นมีคุณภาพแล้ว ก้าวต่อไป ก่อนซื้อ ควรต้องหาวิธีประเมินมูลค่าหุ้นก่อน
เพื่อจะได้รู้เป็นแนวว่า หุ้นตัวที่จะซื้อน่าจะมีมูลค่าในอนาคต เป็นเท่าไหร่กันแน่
การหามูลค่าหุ้นนั้น ทำได้ตั้งแต่ง่ายจนถึงยาก แต่อย่าตกใจครับ ทำแบบไหนก็ได้
เพราะเอาเข้าจริง มูลค่าของหุ้นแต่ละตัว ก็ออกมาเป็นหลายค่าได้ สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือต้องรู้ให้ได้ว่า มูลค่าหุ้นที่จะซื้อ อยู่ในช่วงราคาไหนถึงไหน
พอได้มูลค่าหุ้นออกมา ก็ค่อยซื้อหุ้นตอนที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า (Under Value) ไม่ใช่ซื้อที่ราคาไหนก็ได้
มิฉะนั้น อาจเจ็บตัวฟรี แม้หุ้นตัวนั้นจะเป็นหุ้นมีคุณภาพดี เพราะซื้อสูงไป ก็ไม่คุ้มเหมือนกัน
ถ้าชาวหุ้นหันมาสนใจเรื่องคุณภาพ (Quality) และมูลค่า (Value) กันให้มากขึ้น การลงทุนในตลาดหุ้น
ก็จะเป็นทางเลือก ที่ดีที่สุดในระยะยาว
เพราะหุ้นที่บริหารโดย CEO ดีฝีมือเยี่ยม จะทำหน้าที่คอยสร้างมูลค่า (Value Creation) ให้กับผู้ถือหุ้น
ทำให้เงินลงทุนของชาวหุ้น งอกเงยขึ้น
เชื่อขนมกินได้เลยครับ

เทพ รุ่งธนาภิรมย์

สิ่งที่ควรปฏิบัติในการลงทุน

 

ขณะที่พวกเราพยายามค้นหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้มีชีวิตยืนยาว มันก็มีคำตอบง่ายๆ อยู่ไม่น้อยที่ส่งผลกระทบใจได้มาก ซึ่งก็ยากทีเดียวที่จะสรรหาคำแนะนำเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าคำตอบที่ว่า อย่าสูบบุรี่ อย่าดื่มเหล้า ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนขับรถ  ความคิดที่ก่อปัญหาให้ซับซ้อนแล้วสามารถหาคำตอบได้ง่ายๆ นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่คำถามเรื่องการมีชีวิตยืนยาวเท่านั้น

 ผมได้รวบรวมกฏข้อปฏิบัติไว้ 30 ข้อที่จะทำให้คุณมีโอกาสบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินได้ดังตั้งใจลองดูและนำไปปฏิบัติกันครับ

  1.  จงอย่าเพิ่มความเสี่ยงมากเกินกว่าที่คุณจะรับไหว  แผนหลายฉบับล้มเหลวก็เพราะนักลงทุนแบกรับความเสี่ยงมากเกินกว่าที่ตนจะรับไว้ได้  ความเสี่ยงมักจะปรากฏออกมาอย่างคาดไม่ถึงซึ่งจะนำไปสู่การยกเลิกแผนการลงทุน  ดังนั้นเมื่อคุณกำลังสร้างแผนการลงทุนอยู่  จงพิจารณาถึงขีดความสามารถ  เสถียรภาพของรายได้  ความสามารถที่จะทนรับภาวะขาดทุน  และอัตราผลตอบแทนที่จะบรรลุตามเป้าหมายของคุณด้วย

  2.  จงอย่าลงทุนในหุ้นถ้าคุณยังไม่เข้าใจธรรมชาติทั้งหมดของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น  และถ้าคุณไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้แก่เพื่อนของคุณฟังได้  คุณก็ไม่ควรลงทุน  บรรดาความโชคดีต่างๆ อาจหายไปในบัดดล เพราะว่าผู้คนไม่เข้าใจถึงประเภทความเสี่ยงที่เขาเหล่านั้นกำลังประสบอยู่

3. การลงทุนยิ่งสลับซับซ้อน  คุณก็ควรจะยิ่งวิ่งหนีให้เร็วขึ้น  สินค่าที่สลับซับซ้อนมักจะออกแบบมากเพื่อขาย  ไม่ใช่เพื่อซื้อ  คุณสามารถมั่นใจได้เลยว่าความสลับซับซ้อนนั้นออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่ออกตราสาร  ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุน  บรรดาวาณิชธนากรไม่ได้เล่นบทเป็นซานตาคลอสมาหยิบยื่นผลตอบแทนสูงๆ ให้คุณเพราะพวกเขาชอบคุณหรอกนะ  เขาหวังเงินของคุณต่างหาก

      4. ความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กัน  แต่ความเสี่ยงและความคาดหวังในผลตอบแทนเป็นสิ่งสัมพันธ์กัน ถ้ามันไม่มีความเสี่ยง  มันก็จะไม่มีความคาดหวังในผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน

   5. ถ้าหุ้นให้ผลตอบแทนสูง  คุณจงมั่นใจได้เลยว่าความเสี่ยงย่อมสูงด้วยแม้ว่าคุณจะมองไม่เห็นมันก็ตาม  ผลตอบแทนสูงๆ ก็เหมือนกับผลแอปเปิ้ลเปลือกผิวมันวาวที่ราชินีผู้ชั่วร้ายหยิบยื่นให้แก่สโนว์ไวท์  นักลงทุนจึงไม่ควรสับสนระหว่างผลตอบแทนที่แท้จริงกับความคาดหวังในผลตอบแทนสูง ๆ  สโนว์ไวท์มองไม่เห็นยาพิษที่แทรกซึมอยู่ในผลแอปเปิลได้ฉันใด  คุณก็มั่นใจได้เลยว่าคุณจะมองไม่เห็นพวกความเสี่ยงต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในการลงทุนด้วยฉันนั้น

   6.แผนการลงทุนที่ดีมีความจำเป็นสำหรับการลงทุนที่ประสบผลสำเร็จ  แต่คุณต้องมีวินัยที่จะดำเนินตามแผน  ปรับสมดุล และจัดการภาษีเท่าที่จำเป็น  โชคไม่ดีเลยที่บรรดานักลงทุนต่างไม่เคยเขียนแผนการลงทุนไว้กำกับตัวเองและอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโลภ  ความอิจฉาในตลาดขาขึ้น  รวมถึงความกลัวและความตระหนกตกใจในตลาดขาลง  ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แผนดีๆ ต้องถูกทิ้งไป

  7.แผนการลงทุนต้องรวมเอาแผนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  แผนภาษี  และแผนการจัดการความเสี่ยง (การประกันภัยทุกประเภท) เข้าไปด้วย  แผนการลงทุนที่ดีที่สุดสามารถล้มเหลวได้จากเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับตลาดการเงินเลย  เช่น บางครอบครัวมีคนทำงานหาเงินอยู่เพียงคนเดียวแต่ต้องหาเลี้ยงทั้งครอบครัวหากคนๆ นั้นตายไปโดยไม่ได้ทำประกันชีวิตใดๆ ไว้เลย  หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้  ก็จะทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ต้องพลอยตกอยู่ในความลำบากไปด้วย

8. จงอย่าคิดว่าสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้แล้วจะเป็นไปไม่ได้เลย และอย่าเชื่อว่าสิ่งที่เป็นไปได้คือความแน่นอน  นักลงทุนมักจะตั้งสมมติฐานว่าความสามารถของพวกเขามีมากจนล้นเหลือและมีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีเลย  ผลลัพธ์ก็คือเขาอาจจะต้องรับความเสี่ยงมากเกินไป  การรับความเสี่ยงมากเกินอาจทำให้นักลงทุนระยะยาวกลายเป็นนักลงทุนระยะสั้นไปโดยอัตโนมัติ  หุ้นต่างๆ มีความเสี่ยง ไม่ว่ามันจะมีความสามารถเพียงใดก็ตาม และจงจำไว้ว่าเพราะบางสิ่งบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้หรือมันจะไม่เกิดขึ้น

9. ผลที่ตามมาจากการตัดสินใจควรจะมีผลต่อความเป็นไปได้ของผลลัพธ์นั้นๆ เราซื้อประกันภัยเพื่อจะลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่เป็นไปได้น้อย (เช่น ความตาย) เพื่อป้องกันผลที่ตามมาจากการไม่ทำประกันภัยซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนควรจะทำประกันพอร์ตการลงทุนของเขา (โดยครอบครองตราสารหนี้คุณภาพสูงในจำนวนเหมาะสม) เพื่อลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น  เพราะผลที่ออกมาจากการไม่ทำประกันอาจจะหนักหนาเกินกว่าที่ใครจะรับไหว

 10. กลยุทธ์สร้างความร่ำรวยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกลยุทธ์รักษาความร่ำรวยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน  บางคนอาจจะอยากรวยโดยยอมเสี่ยงมากขึ้น (หรือได้รับมรดก) ขณะที่บางคนอยากรวยอย่างยั่งยืนโดยลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดด้วยการกระจายการลงทุนและไม่ใช้จ่ายเงินจนเกินตัว

11. สิ่งเดี่ยวที่แย่ยิ่งกว่าการจ่ายภาษีคือการไม่ยอมจ่ายภาษี  ปัญหาของ “ไข่ล้นเกินในตะกร้าใบเดียว”  ซึ่งเป็นผลจากการครอบครองหุ้นจำนวนมากในราคาต่ำ  หากขายหุ้นเหล่านั้นออกไปแล้วจะได้กำไรมหาศาล  และถ้าหากยังไม่จ่ายภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นอีกก็จะนำไปสู่ความโชคร้ายอย่างแน่นอน

 12. พอร์ตการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนจะปลอดภัยที่สุดก็ต่อเมื่อมีการกระจายการลงทุนออกไป  พอร์ตการลงทุนควรจะรวมการจัดสรรการลงทุนไปในประเภทสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่  หุ้นขนาดเล็ก หุ้นเน้นคุณค่า หุ้นเติบโต  อสังหาริมทรัพย์  หุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นตลาดเกิดใหม่  สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารหนี้

13. การกระจายการลงทุนของพอร์ตจะให้ผลตอบแทนอยู่เสมอๆ ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบผลที่ออกมา   เมื่อใดก็ตามที่คุณกระจายการลงทุนออกไปนอกเหนือจากดัชนีที่เป็นที่นิยม (เช่น ดัชนี SET 100 ) คุณจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ดัชนีนั้นๆ มีผลงานดีกว่าพอร์ตการลงทุนของคุณ  ข่าวลือจากสื่อต่างๆ จะเป็นเครื่องทดสอบว่าคุณมีความสามารถเพียงพอที่จะยึดมั่นกับกลยุทธ์ของคุณให้ถึงที่สุดได้หรือไม่?

14. ราคาหุ้นทั้งหมดและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยง (เช่น ตารสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง  และตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่) มักจะมีแนวโน้มตกต่ำลงในช่วงเกิดวิกฤตทางการเงิน  แผนการลงทุนของคุณจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ไว้ด้วย

  15. แค่ตามหาหุ้นราคาผิดปกติเท่านั้นยังไม่พอ  คุณต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วย “ประวัติศาสตร์” มักเต็มไปด้วยเรื่องราวของนักลงทุนที่พยายามใช้โอกาสในยามที่หุ้นมีราคาผิดปกติ  จนในที่สุดก็ได้พบว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงเกินกว่าผลตอบแทนที่ได้รับเสียอีก

 16.การลงทุนในหุ้นเป็นเกมที่ผลรวมออกมาเป็นบวก  แต่ค่าใช้จ่ายจะทำให้เกมได้ผลรวมที่กลายเป็นลบ  นักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจะไม่เล่นเกมที่ได้ผลรวมติดลบ  และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง  จงคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต่ำ  การลดภาระภาษี  และการจัดการลงทุนที่ซื้อขายน้อยครั้ง

 17. การถือครองหุ้นเป็นตัวๆ และกองทุนหุ้นกลุ่มต่างๆ เป็นการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุน  ตลาดจะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนที่ยอมเสี่ยงถือหุ้นเป็นตัวๆ หรือเป็นกลุ่มมากกว่าการกระจายการลงทุน  ซึ่งคล้ายกับการลงทุนในหุ้นเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้  และยังจะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกหากครอบครองหุ้นเพียงตัวเดียว  นักลงทุนที่ฉลาดจึงมักจะยอมรับความเสี่ยงเฉพาะในสถานการณ์ที่เขาเหล่านั้นจะได้รผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนที่เขาคาดหวังไว้เท่านั้น

18. จงเสี่ยงกับการลงทุนในหุ้น  ตราสารหนี้อาจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพอร์ตการลงทุน  เพราะมันสามารถลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

   19. ก่อนจะทำอะไรกับข้อมูลสำคัญ  คุณควรถามตัวเองก่อนว่า ทำไมคุณถึงคิดว่าข้อมูลเหล่านั้นยังไม่ได้สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นแล้ว  เฉพาะคุณค่าภายในของตัวหุ้นนั้นๆ เท่านั้นที่มีค่า  การจะหาคุณค่าภายในของตัวหุ้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  ถ้าคุณได้ฟังคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ที่เฉลี่ยวฉลาด  หรือจากโบรกเกอร์ของคุณ  หรืออาจจะอ่านจากหนังสือพิมพ์ด้านการเงินก็ตาม  ตลาดได้รับรู้แล้วว่าขัอมูลนั้นอยู่บนพื้นฐานอะไรและมันได้สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นแล้วจึงทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่มีค่าอีกต่อไป

 20. ประโยคที่อันตรายที่สุดสำหรับการลงทุนคือ “เวลานี้… มันไม่เหมือนเดิม” ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความหลงใหลที่จะไขว่คว้าหาแต่ “สิ่งใหม่ๆ” และยังเป็นเหตุผลว่าทำไมประโยคที่ว่า “หนทางที่น่ามั่นใจที่สุดเพื่อไขว่คว้าหาความโชคดีเล็กน้อยควรเริ่มต้นด้วยการทำเรื่องใหญ่เสียก่อน” จึงเป็นเพียงการอุปมาอุปไมยเท่านั้น

21. ตลาดอาจทำตัวไม่มีเหตุผลได้ยาวนานเกินกว่าที่จะสามารถทนได้  ภาวะฟองสบู่จะยังเกิดขึ้นต่อไป  อย่างไรก็ตาม  ขณะที่มันกำลังระเบิดอยู่ มันก็จะโตขึ้นและโตขึ้น  และอยู่อย่างยาวนานเกินกว่าทรัพยากรที่คุณมีทั้งหมดจะช่วยคุณได้

22. ถ้ามันดีเกินกว่าจะเป็นจริง  มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ   เมื่อเงินกับประสบการณ์มาพบกัน  ประสบการณ์จะดึงดูดเงินไป  และเงินที่ถูกดูดไปจะทำให้เกิดประสบการณ์  มีเพียงทางเดียวที่จะลงทุนได้อย่างปลอดภัยนั้นคือ  กระจายการลงทุน

 23. จงอย่าทำงานกับที่ปรึกษาการเงินที่คิดค่าบริการจากค่าคอมมิชชั่น  ค่าคอมมิชชั่นจะก่อให้เกิดคำแนะนำที่ลำเอียงได้

24. จงทำงานกับที่ปรึกษาการเงินที่มีจรรยาบรรณเท่านั้น  นั่นคือหนทางที่ดีที่สุดที่จะมั่นใจได้ว่าคำแนะนำที่คุณได้รับก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคุณ  ไม่มีเหตุผลใดที่ที่ปรึกษาของคุณจะไม่ยึดหลักจรรยาบรรณ

25. จงแยกให้ออกระหว่าการบริการของที่ปรึกษาการเงิน  ผู้จัดการฝ่ายการเงิน  ผู้รับฝากหลักทรัพย์ (Custodian) และผู้ดูแลทรัพย์สิน (Trustee) กฏข้อนี้ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการทุจริตได้

26. เนื่องจากพวกเราชาวนักลงทุนต่างอยู่ในโลกของลูกแก้ววิเศษที่หม่นมัวด้วยหมอกเมฆ  กลยุทธ์ใดๆ ที่ใช้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้จนกว่าเราจะรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง  โดยทั่วไปคนโง่ที่โชคดีไม่เคยคิดว่าพวกเขาโชคดี  แม้แต่แผนการลงทุนที่ดีก็อาจจะล้มเหลวได้  นั้นเป็นเพราะความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั้นเกิดขึ้นแล้วและผลของความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไปแล้วก็อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้อีกด้วย

27. ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์การลงทุน  จงตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้จากบทความในวารสารทางวิชาการชั้นนำเท่านั้น

  28. จงจดบันทึกการคาดการณ์ตลาดของคุณทุกวัน  หลังจากนั้นคุณจะรู้ว่า คุณไม่ควรจะลงทุนตาวความรู้สึกในใจของคุณ

  29. ไม่เคยมีเรื่องใหม่ในการลงทุน  มีเพียงแต่ประวัติศาสตร์การลงทุนที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเท่านั้น  ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเงินจะทำให้คุณสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุนของคุณได้

30. คำแนะนำที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง  แต่คำแนะนำที่ไม่ดีจะทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายแพงมากไม่ว่าคำแนะนำเหล่านั้นจะมีราคาถูกเพียงใดก็ตาม  คนที่ฉลาดมักจะไม่เลือกหมอที่คิดค่ารักษาราคาถูก  หรือไม่เลือกผู้ตรวจสอบบัญชีที่คิดใช้จ่ายถูกๆ ค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญแน่นอน  แต่มันจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อคำแนะนำนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่มีค่ามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้ว

สิ่งที่ผลจะกล่าวตอนท้ายนี้ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดเท่านั้น  แต่ยังเป็นบทสรุปส่งท้ายที่เหมาะสมอีกด้วย  ขณะที่มันช่างน่าเศร้าที่นักลงทุนจำนวนมากมักจะพลาดผลตอบแทนของตลาดที่เกิดจากกลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้งอย่างน่าเสียดายแล้ว  ความเศร้าอันใหญ่หลวงของแท้ก็คือ พวกเขายังพลาดสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตสำหรับการแสวงหาสิ่งที่ผมเรียกว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม” ด้วย  ความปรารถนาของผมเปี่ยมด้วยความหวังว่า  กฏการลงทุนเหล่านี้จะนำพาคุณไปสู่เกมแห่งผู้ชนะทั้งในการลงทุนและที่สำคัญกว่านั้นคือ….  ในชีวิตของคุณ