สถิติ SET Index ที่ท่านอาจไม่รู้

พัฒนาการของตลาดทุนไทย เริ่มต้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 โดยได้มีการจัดตั้งตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) ในสมัยนั้นมีมูลค่าซื้อขายที่น้อยมาก เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจ จนปี พ.ศ. 2511 มีมูลค่าการซื้อขายทั้งปีเป็นจำนวน 160 ล้านบาท แล้วค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2515 โดยมีมูลค่าซื้อขายในปีนั้นเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับมูลค่าซื้อขายในปัจจุบันซึ่งตกวันละประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาทต่อวัน เหมือนดูหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

เรามาดูสถิติย้อนหลังที่น่าสนใจว่า ดัชนี (SET Index) มีการขึ้นลงอย่างไรกันครับ

1.SET Index ที่เริ่มต้นจากฐานที่ 100 จุด เมื่อวันแรกเปิดตลาด ได้ไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด ในเดือนมกราคม 2537 นับว่าเป็นการขึ้นที่ดีมาก คือขึ้นไปถึง 1,689.16 จุดภายในเวลา 18 ปี 9 เดือนเท่านั้น คิดเป็นผลตอบแทนในการลงทุนแบบทบต้นประมาณ 16.50% นั่นหมายความว่า ถ้าท่านลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถสร้างผลกำไรตอบแทนจากการลงทุนได้เทียบเท่าการขึ้นมาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้รับผลตอบแทนดังกล่าว บวกกับอัตราเงินปันผลที่ได้รับจากการถือครองหุ้นอีก ซึ่งปกติ Dividend Yield เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4%

ดังนั้นผลตอบแทนรวมที่ท่านได้รับจะเท่ากับ 20% (แบบทบต้น) โดยประมาณ ยิ่งถ้าท่านสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนี ที่ผมใช้เป็น Benchmark ผลตอบแทนยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงดูดผู้มีเงินออมให้นำเงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งทางตรง (ลงทุนซื้อหุ้นเอง) และทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน)

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ Black Monday (ตุลาทมิฬ) ที่สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาที่มีการเทขายอย่างหนักหน่วง ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาตกระเนระนาด พลอยทำให้ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกต้องถูกแรงขายเทกระหน่ำ ราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเจ๊ง โดยเฉพาะ SET Index ของเราลงจาก 472.86 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 243.97 จุด คิดเป็น 48.41% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน และหลังจากที่ SET Index ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด เมื่อเดือนมกราคม 2537 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง หลังจากที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาตลอดช่วงเวลา 18 ปี 9 เดือน โดยลงไปถึง 204.59 จุด ในเดือนกันยายน 2541 คือลงไปถึง 1,584.57 จุด หรือ 88.60% ภายในเวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน

ลองคิดเล่น ๆ ดูสิครับ ว่าถ้าท่านอยู่ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร เงินลงทุนของท่าน สมมุติว่า 1 ล้านบาท จะเหลือเพียง 114,000 บาท มีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวหลายคนเลยทีเดียว สุภาษิตบทหนึ่งที่เขียนไว้เตือนใจนักลงทุนก็คือ “อย่าเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพราะว่ามันจะแตกง่าย ถ้าช่วงนั้นท่านนำทรัพย์สินทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้น

ลองเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจในการลงทุนครั้งต่อ ๆ ไปของท่าน เพื่อให้การลงทุนของท่านมีความระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้น และลงทุนไม่เกินตัว

สำหรับนักลงทุนมาร์จิ้น ถ้าเจอสภาพแบบนี้เงินลงทุนของท่านจาก 1 ล้านบาท ซื้อหุ้นไป 2 ล้านบาท (ใช้วงเงินมาร์จิ้นจากโบรกเกอร์อีก 1 ล้านบาท) หุ้นตก 48.41% เท่ากับขาดทุนไป 968,200 บาท เมื่อบวกกับดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิ้น ท่านแทบจะไม่เหลือเงินเลย นั่นหมายถึงการสูญเงินลงทุนทั้งจำนวน นั่นหมายถึงเงินออมที่อดออมมาจากน้ำพักน้ำแรงที่ท่านอุตสาหะ ต้องแทบจะหมดสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว

สาเหตุที่ SET Index ลงวินาศสันตะโร ขนาดนั้น เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นจากประเทศไทยแล้วแพร่ระบาดไปหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แม้กระทั่งเกาหลีเองก็โดนผลกระทบวิกฤตนี้ ค่าเงินบาทที่เคยผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ 27 บาทต่อดอลลาร์ก็อ่อนปวกเปียกจนไปถึงเกือบ 60 บาทต่อดอลลาร์

ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ควรจะมีการจัดสรรเงินลงทุนลงในสินทรัพย์หลายประเภท ซึ่งในหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” ผมได้เขียนถึงสินทรัพย์ในแต่ละประเภทที่ท่านควรจะลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะสมตามช่วงวัย ขนาดของเงินลงทุน อุปนิสัยส่วนตัว ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ฯลฯ ฉบับหน้าผมจะนำสถิติของ SET Index มาเล่าให้ฟังกันต่อครับ

แนะหุ้นดีปี 58

ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยปี 2558 คือ เศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวและเติบโตดี

ประเทศชั้นนำอื่นๆ เช่น ยูโรโซน, จีน, ญี่ปุ่น พร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเมื่อจำเป็น

โดยคาดการณ์ว่าอีซีบีจะใช้ QE เต็มรูปแบบด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาครัฐ ตั้งแต่ไตรมาส 1/58 ส่วนในประเทศเป็นการใช้จ่ายและลงทุนของรัฐบาลที่จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น การอ่อนลงของราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจลดลง กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งจากการศึกษาพบว่าถ้าผู้ใช้รถนำเงินที่ประหยัดได้จากการเติมน้ำมันเดือนละ 200 บาทต่อคันต่อเดือนไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พบว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในระบบ 8.6 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็น 0.7% ของ Nominal GDP และราคาพลังงานที่ลดลงทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ (ธปท.คาดการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 58 ไว้ต่ำเพียง 1.2%) ซึ่งเปิดทางให้ทางการไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ได้อีกเมื่อจำเป็น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลัก เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าคาดซึ่งจะกระทบกับภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทย, ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Flow) อันเกิดจากนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐและประเทศอื่นๆ (สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ประเทศอื่นยังต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำหรือปรับลดลงอีก), ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และภัยธรรมชาติ

ให้ SET Index เป้าหมายปี 2558 ไว้ที่ 1602 จุด โดยอิงกับ P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 16.3 เท่า และคาดการณ์ EPS Growth ของตลาดหุ้นไทยปี 57 ติดลบ 1.2% และปี 58 พลิกฟื้นเป็นเติบโต 10.7% ซึ่งดัชนีเป้าหมายดังกล่าวมี Upside จากระดับปิดสิ้นปี 57 ที่ 1497.67 จุด ประมาณ 7%

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในปี 2558 เห็นว่าจะอยู่ในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศต่ำ (ที่พักอาศัย) และเงินบาทอ่อนค่า (อาหารส่งออก & อิเล็กทรอนิกส์) รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ (รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ธนาคารพาณิชย์ที่ขยายฐานลูกค้า SME ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของการลงทุนขนาดใหญ่ พลังงานทางเลือก และสื่อสารโทรคมนาคม) นอกจากนั้นก็เป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน (สายการบิน สินค้าอุปโภคบริโภค และยางมะตอย) สำหรับหุ้นเด่นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวข้างต้น เป็นดังนี้

กลุ่มที่พักอาศัย – AP, SPALI

กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง – CK, STEC, SEAFCO

กลุ่มอาหาร & ส่งออก – MINT, GFPT, KCE

กลุ่มสื่อสาร – INTUCH, SAMART

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ – KBANK, KTB, TMB

กลุ่มการบิน – AAV, BA

กลุ่มยางมะตอย – TASCO

กลุ่มค้าปลีก – CPALL

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!

ด้วยความที่ผมเป็นนักลงทุนสไตล์ Systematic Trend Following มานานพอสมควร หลายต่อหลายครั้งที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงหรือลงแรงๆ หรือแม้แต่การประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจต่างๆจะย่ำแย่ลงนั้น ผมมักที่จะได้รับความห่วงใยจากเพื่อนฝูง, พี่น้อง, พ่อแม่ และพี่ป้าน้าอาว่าให้ระวังตลาดด้วยนะ อย่ามัวแต่เล่นหุ้นโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆภายนอกอะไรเลย แน่นอนว่าผมย่อมรู้สึกยินดีที่ได้รับความห่วงใยจากทุกคนที่รู้จักเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผมก็มักจะทนไม่ไหวที่จะต้องตอบกลับไปว่าระบบการลงทุนที่ผมใช้อยู่นั้นสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องไปสนใจปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากราคาหุ้นสักเท่าไหร่นัก ซึ่งผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ ด้วยคำพูดปากปล่าวของผมเพียงอย่างเดียวมันทำให้ในหลายๆครั้งไม่มีใครเข้าใจผมสักเท่าไหร่ ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะแชร์คำตอบอย่างละเอียดที่ว่าทำไมผมและนักลงทุนตามแนวโน้มอีกหลายๆท่าน จึงน่าจะเป็นนักลงทุนที่ “ตายยาก” และอยู่ในตลาดไปได้นานอีกหลายปีกันครับ

เล่นไปตามแนวโน้มของตลาด
ความลับข้อแรกที่ทำให้โอกาสขาดทุนแบบบักโกรกจนต้องตายจากไปจากตลาดหุ้นของพวกผมนั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยก็คือ ผมเล่นหุ้นตามแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นของตลาดครับ

แล้วมันจะช่วยอะไรผมได้อย่างนั้นหรือ?
คำตอบก็เพราะปรากฎการณ์ “แนวโน้มราคา” ของตลาดหรือหุ้นนั้น เป็นปรากฎการณ์ความไร้ประสิทธิภาพของตลาดหุ้น (Market Anomaly) ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและ “สันดาน” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงของนักลงทุนในตลาดอย่างเราๆทั้งหลาย ที่มีมาอย่างยาวนานและกว้างขวางในตลาดหุ้นหรือแม้แต่ตลาดสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลกนั้่นเอง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ช่วยให้นักลงทุนและกองทุนชื่อดังหลายๆคนสามารถที่จะทำกำไรเอาชนะตลาดจนร่ำรวยมหาศาลมาได้นักต่อนัก และโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยนั้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่ามันจะจบลงหรือหมดประสิทธิภาพไปอย่างง่ายๆเลย โดยที่คุณจะสังเกตุได้จากกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นผลตอบแทนทบต้นตามช่วงเวลาในการคำนวณย้อนหลังจุดละ 36 เดือนหรือ 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันยังคงมีความเสถียรและเอาชนะดัชนี SET Index ได้อยู่ในระยะยาว
แน่นอนครับว่าแม้ในอนาคตจะไม่มีอะไรแน่นอน และปรากฎการณ์เหล่านี้ก็อาจจะลดพลังของมันลงหรือหายไปก็เป็นได้ แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้นั้นจากงานวิจัยต่างๆหลายๆชิ้น มันก็ยังถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์รูปแบบหนึ่งที่มีความเสถียร (Robust Anomaly) และมีประสิทธิภาพในการทำกำไรชนิดหนึ่งของโลกใบนี้เลยก็ว่าได้

setlnw1-Cumulative-Return-Chart_thumb

 

ภาพที่ 1 : ภาพกราฟ Cummulative Return แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนสะสมของระบบ Trend Following ธรรมดาๆรูปแบบหนึ่งซึ่งอาศัยการทำกำไรจากแนวโน้มขนาดใหญ่ในตลาด เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยที่ภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จากการทดสอบย้อนหลัง (Backtest) ด้วยการกำหนดเงื่อนไขอย่างเข้มงวดในระดับหนึ่ง มันได้สร้างการผลกำไรสะสมราว 25.46 เท่าเมื่อเทียบกับดัชนี SET Index ที่ 1.2 เท่า และให้ผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR ที่ราว 40% ต่อปี ในขณะที่ SET Index มี CAGR อยู่ที่ราว 9% เท่านั้น

setlnw2-ATH-Rolling-CAGR_thumb

 

ภาพที่ 2 : ภาพกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเสถียรของระบบการลงทุนในลักษณะนี้ โดยที่ค่าที่แสดงให้เห็นนี้เป็นค่า CAGR คำนวณย้อนหลัง 3 ปีในแต่ละจุดของเวลาเปรียบเทียบระหว่างระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่งกับดัชนี SET Index ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 2005-2014

การตัดขาดทุนและถอยเพื่อรอโอกาส

การตัดขาดทุน (Cut Losses) คือกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มตายยากยิ่งขึ้น สาเหตุก็เพราะว่าพวกมันนั้นทำหน้าที่เสมือนกับ Safe-T-Cut ช่วยตัดโอกาสที่เราจะเจอกับการขาดทุนอย่างหนักจนทำให้พอร์ทโฟลิโอโดยรวมนั้น “ฟกช้ำดำเขียว” จนเน่าเฟะและยากต่อการที่จะสามารถทำกำไรกลับมาเท่าทุนได้ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่หลายๆคนไม่เคยรู้เลยก็คือ สัญญาณการขายหรือ Exit Signal ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์แบบ Trend Following นั้น มักที่จะค่อยๆทยอยเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดหุ้นโดยรวมจะเกิดการดำดิ่งลงไปอย่างนักเสียด้วย! นั่นจึงทำให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ที่มีวินัยส่วนใหญ่นั้นสามารถที่จะรอดพ้นเงื้อมือมัจจุราจของตลาดหุ้น โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจปัจจัยอื่นๆเลยนอกจากแนวโน้มของราคาหุ้นในขณะนั้น

SETlnw3-All-Stocks-Trend_thumb

ภาพที่ 3 : ภาพกราฟ SET Index VS. Bullish Stock Composite แสดงสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นในแต่ละวัน โดยที่มันได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อตลาดหรือ SET Index เริ่มย่ำแย่ลง หุ้นต่างๆในตลาดจะเริ่มมีสัญญาณขายออกมาจนทำให้แนวโน้มของหุ้นที่เป็นขาขึ้นในขณะนั้นลดลงไปเรื่อยๆโดยอัตโนมัติ ในขณะที่สัญญาณซื้อจะค่อยๆเกิดขึ้นเมื่อตลาดกลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง จนทำให้สัดส่วนของจำนวนขึ้นที่เป็นขาขึ้นนั้นสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

SETlnw4-VS-Margin_thumb

ภาพที่ 4 : กราฟ SET Index VS. %Margin ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนมูลค่าเงินลงทุน ของพอร์ทโฟลิโอในแต่ละช่วงเวลา โดยเราจะสังเกตได้ว่าเมื่อตลาดเป็นย่ำแย่นั้น สัดส่วน %Margin ลดลงโดยอันโนมัติ ในขณะที่เมื่อตลาดค่อยๆดีขึ้น %Margin ก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเช่นกันจากสัญญาณที่เกิดขึ้นจากระบบ

การเล่นแบบเป็นเข่ง 

ความลับที่ไม่ลับอีกอย่างของกลยุทธ์ Trend Following ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการเล่นแบบเป็นเข่งหรือ Portfolio Trading ครับ เนื่องจากว่ากลยุทธ์การทำกำไรตามแนวโน้มนั้น ชื่อก็บอกว่าอยู่แล้วว่าเป็นการทำกำไรตามแนวโน้ม ดังนั้นถ้าหุ้นไม่มีแนวโน้มขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันมันก็ไม่มีทางกำไร และแนวโน้มใหญ่ๆที่ว่านี้ก็มักจะเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งในหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น (หุ้นตัวหนึ่งๆอาจมีแนวโน้มใหญ่ๆแบบ Super Trend เพียง 2-3 รอบของชีวิตเท่านั้น)

นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงหาทางออกด้วยวิธีการง่ายๆอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเฝ้ามองหุ้นเป็นตะกร้าคราวละหลายๆตัวแทนที่จะเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัว และค่อยๆทยอยเข้าซื้อขายหุ้นคราวละน้อยๆแทน โดยมีเหตุผลเพื่อที่จะทำให้เราสามารถเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้อยู่เสมอ และไม่พลาดโอกาสในการเข้าทำกำไรไป

ด้วยความประจวบเหมาะตรงนี้เองที่ทำให้พอร์ทโฟลิโอของนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมีลักษณะของการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นหลายๆตัวโดยอัตโนมัติ จนทำให้ความเสี่ยงรายตัวของหุ้นที่ถืออยู่ลดลง คงเหลืออยู่แต่ความเสี่ยงของตลาดหรือ Market Risk ที่มักจะเป็นตัวกดดันให้หุ้นส่วนใหญ่วิ่งไปพร้อมๆกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากตลาดหรือ Market Risk ตรงนี้ก็จะถูกบรรเทาลงไปได้ด้วยการใช้กลไกของการ Stop Loss ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดไม่เป็นใจนั่นเองครับ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว สำหรับนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มที่มีพอรท์การลงทุนที่ใหญ่และกว้างขวางสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์หลายๆอย่างก็ยิ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการเล่นแบบเป็น “เข่ง” ในข้อนี้ยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้กองทุน Hedge Fund ประเภท Commodity Trading Advisor (CTA) ชื่อดังหลายๆกองทุนได้แจ้งเกิดในเวทีโลกกันอย่างมากมาย

SETlnw5-Indrustries-Cumulative-Returns-2011-2014_thumb

ภาพที่ 5 : ภาพกราฟ Industries Cummulative Returns ซึ่งช่วยแยกผลกำไรที่เกิดจากระบบ Trend Following ออกเป็นรายอุตสาหกรรม ทำให้เราได้เห็นว่าการมีหุ้นที่เป็น Watchlist และกระจายน้ำหนักการลงทุนไปในหลายๆอุตสาหกรรมนั้นจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นในอุตสาหกรรมหลายๆกลุ่มอาจไม่ได้วิ่งขึ้นลงพร้อมๆกัน การมีตะกร้าหุ้นที่กว้างขวางจะช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถทำกำไรได้บ่อยครั้งและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

 

Note : ค่ากราฟไม่ได้เริ่มต้นจาก 0 เนื่องจากผมได้ทำการ Backtest เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – ปัจจุบัน

การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นอกจากที่กลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มแบบ Trend Following จะช่วยทำให้เราไม่ตกรถในตลาดขาขึ้น และติดดอยในตลาดขาลงแล้วนั้น เป็นที่รู้กันดีว่ากลยุทธ์แบบ Trend Following นั้นมักที่จะให้สัญญาณการซื้อที่มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ (แต่ก็ช่วยชนะตลาดได้นะ 55) ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆอีกอย่างหนึ่งของพวกมันก็คือการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดขนาดหรือเม็ดเงินในการลงทุนให้เหมาะสมในการซื้อขายแต่ละครั้งอยู่เสมอ (Money-Risk Management) นั่นจึงทำให้เรามักไม่เกิดการขาดทุนอย่างหนักขึ้นในการซื้อขายแต่ละครั้ง ดังนั้นเมื่อเวลาที่ตลาดเป็นขาลงหรือตลาดที่ผันผวนมากๆมาถึงแบบไม่รู้ตัวนั้น นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมักที่จะรอดตายได้อย่างปาฎิหารย์แบบไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้

setlnw7-Drawdown-2007-2008_

ภาพที่ 6  : ภาพกราฟ Drawdown แสดงให้เห็นถึงอัตราการขาดทุนสะสมของระบบ Trend Following จากจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี ค.ศ 2007-2008 (สีเขียว) เปรียบเทียบกับ Drawdown ของดัชนี SET Index ในขณะนั้น (สีดำ) ซึ่งทำให้เห็นว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following สามารถที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดไม่เจ็บตัวอย่างหนักได้เป็นอย่างดี

setlnw6-Drawdown-2014

ภาพที่ 7 : ภาพกราฟ Drawdown ของระบบเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ในปีล่าสุด ค.ศ. 2014 ที่พึ่งจะเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นดำดิ่งและเหวี่ยงอย่างรุนแรงในวันที่ 15-12-2014 ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ก็ยังคงสามารถที่จะเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มหลายๆคนถึงยังขาดทุนจนเจ๊งล่ะ?

ก่อนจะจบบทความนี้นั้น ผมเองก็อยากจะพูดถึงคำถามที่มักจะถูกถามหลังจากที่ผมอธิบายสิ่งเหล่านี้จนจบไปเรียบร้อยแล้วอีกสักนิด โดยที่คำตอบของผมนั้นก็คงจะเหมือนกับการที่คุณถามว่า “ทำไมหลายๆคนที่เรียนบริหารธุรกิจ จึงยังทำธุรกิจจนเจ๊งขาดทุน” นั่นแหละครับ

มันยังคงมีองค์ประกอบอื่นๆในการลงทุนอีกมากมายนอกเหนือจากกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นความอดทนมุ่งมั่น, ความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้นๆ, ทัศนคติในการลงทุน, วินัยในการลงทุนต่างๆ, EQ-IQ รวมไปถึงข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละคน หรือแม้แต่คำว่า “ดวง” อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อผลการลงทุนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วมันจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีทั้งคนที่ยังขาดทุนจนย่อยยับ จนไล่ไปถึงคนที่สามารถจะดำรงชีพอยู่ด้วยการลงทุนในตลาดนั่นเอง

และนี่ก็คือทั้งหมดของบทความนี้ครับ ซึ่งผมหวังว่ามันจะช่วยให้คุณเข้าใจว่าเหตุใดคนที่สามารถจะลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มอย่างมีวินัย จึงมีโอกาสที่จะขาดทุนอย่างย่อยยับค่อนข้างน้อย แม้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับสภาพตลาดที่ผันผวนสักเท่าไรนั่นเองครับ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน แล้วเจอกันใหม่ครับผม

mangmaoclub

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!

ปี 2558 SET เหวี่ยงทั้งปี “เซียน” แนะ “ใช้สติ” มากกว่า “สตางค์”

ผันผวนตลอดปี “ผู้คร่ำหวอดตลาดหุ้น” ตบเท้าแสดงความเห็นดัชนีปี 58 “สุกิจ อุดมศิริกุล” แห่ง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง

“ขึ้นแรง ลงเร็ว” ประโยคสั้นๆนี้น่าจะเหมาะกับภาวะตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2557 หลังสถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยปกติ แต่เมื่อทุกอย่างได้รับการคลี่คลาย SET INDEX คงได้เวลาขึ้นแล้ว ความคาดหวังนี้ของเหล่านักลงทุนจะเป็นไปได้หรือไม่ “Setlnw” มีคำตอบ

“ป๋อง-สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นในปี 2558 ให้ฟังว่า แม้การเมืองจะคลายความตึงเครียดไปแล้ว แต่การที่ราคาหุ้นหลายๆ ตัวปรับตัวสูงขึ้นมากในปีก่อน ขณะที่ยังคงมีหลายปัจจัยคอยกดดันบรรยากาศ การลงทุน ฉะนั้นตลาดหุ้นไทยในปีแพะอาจมีโอกาสตกอยู่ในอาการ “ผันผวนตลอดทั้งปี”

ในช่วงไตรมาสแรกของปี ความผันผวนจะอยู่ในระดับเบาสุด แต่จะผันผวนมากขึ้นในช่วงกลางปี หรือประมาณเดือนก.ย.โดยปัจจัยต่างประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญ หลังประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้นอาจได้เห็นเม็ดเงินต่างประเทศไหลออกจากตลาดหุ้นไทยบ้าง แต่ด้วยความที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2558 อาจออกมามีกำไรที่ดี ขณะที่รัฐบาลเตรียมลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ฉะนั้นเม็ดเงินอาจไม่ไหลออกไปมากจนน่ากังวล

“ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงการปรับฐานลงในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นอาจมีโอกาสปรับลดลงไปอีก จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศ อย่าลืมว่า วันนี้เศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปยังไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คิด จะมีแค่เศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนเท่านั้น ขณะที่เมืองจีนและญี่ปุ่นก็ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย”

“สุกิจ” บอกว่า แม้ตลอดทั้งปีหุ้นไทยจะตกอยู่ในภาวะผันผวน แต่ยังคงถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจมากที่สุด หากเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน หลังหุ้นไทยอาจสร้างผลตอบแทนในปีนี้ที่ระดับเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่สถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศไม่ค่อยสดใส เขาย้ำ อาจทำให้ดัชนีสิ้นปี 2558 มาไกลสุดแค่ 1,600-1,650 จุด ก่อนจะทะยานแตะ 1,700 จุด ในปี 2559

เมื่อถามถึง “หุ้นดาวเด่น” เขาวิเคราะห์ว่า ปีนี้น่าจะมีหุ้นโดดเด่น 3 กลุ่มหลัก นั่นคือ “กลุ่มสื่อสาร” เนื่องจากในปี 2557 หุ้นสื่อสารมีข่าวร้ายทั้งปี จากการเลื่อนประมูลโครงข่าย 4G แต่ปีนี้มีข่าวดีที่ว่า รัฐบาลอนุมัติให้เปิดประมูลโครงข่าย 4G ในเดือน ก.ค. ถือเป็นการรับอานิสงส์จาก Digital Economy

นอกจากนั้นยังมี “กลุ่มวัสดุก่อสร้าง” หลังรัฐบาลมีการลงทุนในโครงการต่างๆ ขณะที่หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างหลายๆ ตัวกำไรได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ส่วนหุ้นกลุ่มสุดท้าย คือ “กลุ่มส่งออก” หลังส่งออกของเมืองไทยจะดีขึ้นกว่าปีก่อน

“จริงๆยังมีหุ้นดาวเด่นอีก 2 กลุ่ม แต่คงไม่สวยเท่า 3 กลุ่มแรก นั่นคือ 1.“กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง” แน่นอนกลุ่มนี้จะได้รับผลประโยชน์เต็มๆจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐบาล 2.“กลุ่มอาหาร” หลังราคาหุ้นยังไม่แพงเกินไป ขณะที่ผลประกอบการมีอัตราการเติบโตที่ดี”

สำหรับ “หุ้นดาวร่วง” ที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนลดลงในปี 2558 น่าจะเป็น “กลุ่มอสังหาริมทรัพย์” เพราะยังไม่แน่ว่าการใช้จ่ายจะกลับมาจริงหรือไม่ และ “กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี” หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

“นักลงทุนที่มองการลงทุนในระยะยาว และสามารถรับความผันผวนได้ อาจใช้จังหวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงทยอยสะสมหุ้นดีๆ”

“นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ในฐานะนักลงทุนรุ่นใหญ่ วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้นักลงทุนยังคงต้องใช้ “ความระมัดระวังอย่างสูงในการลงทุน” เพราะตลาดหุ้นคงผันผวนตลอดปี ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่นิ่งเท่าที่ควร ขณะที่ภาคส่งออกก็ยังไม่ฟื้นตัว

นอกจากนั้นเศรษฐกิจต่างประเทศยังไม่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีซ ที่จะมีการเลือกตั้งภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้ หากกรีซต้องออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรให้ลดลงไปอีก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศจีนก็ยังคงชะลอตัว

“สิ้นปีนี้ดัชนีน่าจะมาสุดทางแค่ 1,450-1,550 จุด”

เมื่อถึงนโยบายการลงทุนในปี 2558 “หมอบุญ” เล่าว่า ตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ ทำให้จำเป็นต้องปรับลดพอร์ตหุ้นไทยเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่จะเน้นเก็บเป็นเงินสดมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างจากปีก่อนที่ลงหุ้นมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และถือเงินสด 40 เปอร์เซ็นต์

“ปีนี้คงต้องลงทุนในหุ้นที่มีความปลอดภัยเป็นหลัก เน้นกลุ่มพื้นฐานดี ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดมากๆ ส่วนหุ้นปั่น หุ้นเก็งกำไร ไม่เข้าไปเล่นแน่นอน หุ้นพวกนี้เสี่ยง”

“หมอบุญ” แนะนำว่า กลุ่มที่ยังสามารถเข้าลงทุนได้น่าจะเป็น 1.“กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง” เพราะจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐบาล 2.“กลุ่มโรงพยาบาล” ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรคนยังต้องใช้บริการ ส่วน “หุ้นหลีกเลี่ยง” คือ “กลุ่มธนาคาร-พลังงาน-อสังหาริมทรัพย์”

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย (วีไอ) เล่ามุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นไทยในปีนี้่ว่า ส่วนตัวเริ่มรู้สึกว่า “เสน่ห์ลดลง” เนื่องจากราคาหุ้นหลายตัวไม่ถูกแล้ว หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า แม้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะออกมาไม่สดใส แต่หุ้นหลายตัวแพงเกินพื้นฐานที่แท้จริง

“หุ้นพลังงานปีนี้คงไม่ค่อยสวย หลังราคาน้ำมันลงเร็ว”

เขา วิเคราะห์ว่า แม้ภาพรวมตลาดหุ้นจะออกแนวผันผวน แต่น่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าปลายปีก่อน ฉะนั้นหากนักลงทุนเลือกหุ้นที่ดีและมีความปลอดภัย ก็ยังพอจะถือยาวๆได้ เพียงแต่ต้องดูรายละเอียดของธุรกิจดีๆ ยกตัวอย่างเช่น “หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค” แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังต้องเกิดขึ้น

ปัจจัยบวกที่จะเข้ามาผลักดันดัชนี คือ ข้อ1.ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงกลางปี 2558 ข้อ 2.การฟื้นตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายในปีนี้ จากฐานที่ต่ำในปี 2557 และข้อ 3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาเร็วๆนี้

“ตลาดหุ้นปีก่อน ถือเป็นปีที่ลงทุนแบบ “ไม่สบายตัว” ซึ่งความรู้สึกนั้นน่าจะยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปี 2558″

“เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” นักลงทุนไซด์ใหญ่ มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยว่า นักลงทุนยังคงต้องใช้ “ความระมัดระวัง” เนื่องจากมีหลายปัจจัยคอยกดดัน บรรยากาศในการรลงทุน โดยในช่วงกลางปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ หลังสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฉะนั้นอาจเห็นเงินนอกไหลออกจากหุ้นไทย

“นักลงทุนควร “หลีกเลี่ยง” ลงทุนในหุ้นที่มีค่า P/E สูงๆ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ที่มีปัจจัยลบ อาจทำให้นักลงทุนบางรายเลือกที่จะขายหุ้น P/E สูงออกจากพอร์ตก่อน”

ส่วนตัวได้มีการปรับพอร์ตลงทุนลงมากระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบันเหลือมูลค่าการลงทุนเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมลงทุนในหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ โดยได้หันไปกระจายความเสี่ยง ด้วยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แทน แต่คงไม่ลดน้ำหนักไปมากกว่านี้ แต่จะรอจังหวะซื้อหุ้นเพิ่มมากกว่า

ถามว่ากลุ่มไหนน่าสนใจ เขาย้ำว่า ควรเลือกหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐบาล เช่น “กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง” หรือเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานดีและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“มาตรการดูแลหุ้นเก็งกำไรของตลาดหลักทรัพยถือเป็นเรื่องที่ดี น่าจะช่วยลด “ความร้อนแรง” ของหุ้นเก็งกำไรได้มาก และจะช่วยทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น”

“เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” เจ้าของพอร์ตหลักพันล้าน วิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดหุ้นปีนี้ผันผวนแน่นอน หุ้นหลายตัวแพงเกินจริง แต่ยังพอลงทุนได้ เพียงแต่ต้องเลือกตัวที่มีพื้นฐานดีๆ มีกระแสเงินสดที่ดี ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง และราคาหุ้นไม่แพงเกินไป

“หุ้นในตลาดตอนนี้มีราคาแพงมาก หลังถูกนักลงทุนลากราคาขึ้นไปค่อนข้างสูง ซึ่งหุ้นเหล่านี้ส่วนตัวจะไม่เข้าไปลงทุน แต่เชื่อว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไประดับสูงๆ จะลดระดับลงมาอยู่พื้นฐานที่แท้จริง”

สำหรับนโยบายการลงทุน แน่นอนปีนี้คงลดพอร์ตการลงทุนเหลือ 80-90 เปอร์เซ็นต์ และยังคงลงทุนในหุ้นตัวเดิมๆ เหมือนปีก่อน อาทิ หุ้น เซ็ปเป้ หรือ SAPPE และหุ้น ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 หรือ SAWAD ส่วนตัวเชื่อว่าราคาจะไปไกลกว่านี้ นอกจากนั้นยังหาโอกาสลงทุนเพิ่มในหุ้น ทรัพย์ศรีไทย หรือ SST และหุ้น เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK ที่มีต้นทุน 20 บาท

“กลุ่มที่ได้อานิสงส์จากนโยบาบของทางภาครัฐยังน่าสนใจ โดยเฉพาะ “กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง” อย่างหุ้น ช.การช่าง หรือ CK และหุ้น รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL เพราะมีแนวโน้มว่า งานโครงการรถไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น”

ปิดท้ายด้วยคำนายของ “เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” เซียนหุ้นด้านเทคนิค มองว่า ก่อนตลาดหุ้นลดลงเกือบ 138 จุด (วันที่ 15 ธ.ค.2557) ส่วนตัวเคยมองดัชนีปีนี้ระดับ 1,700-1,800 จุด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คิดว่าคงไปได้ไกลแค่ 1,650 จุด

ปีนี้ดวงชะตาของผมชง “ร้อยเปอร์เซ็นต์” เพราะเกิดปีฉลู ทำให้มีคนเตือนบ่อยๆ เรื่องการลงทุน ฉะนั้นจึงเลือกลดพอร์ตลงทุนเล็กน้อย แต่ไม่ได้คิดเลิกเป็นนักลงทุน (หัวเราะ) รวมทั้งยังจะเลิกเล่นมาร์จิ้นถาวร ดังนั้นกลยุทธ์ปีนี้จะเน้นเล่นสั้นเหมือนเดิม แต่จะลงทุนในหุ้นพื้นฐานที่มีสภาพคล่องสูงๆ

“ตลาดหุ้นยังเป็นแหล่งหาเงินได้ดีเสมอ หุ้นซื้อได้ทุกวัน แต่ต้องเลือกเวลาและจังหวะให้เหมาะสม”

เขา แนะนำว่า กลุ่มที่ได้อานิสงส์จากนโยบายต่างๆของทางภาครัฐยังคงน่าสนใจ โดยเฉพาะรับเหมาก่อสร้าง และค้าปลีก เพราะเมื่อรัฐใช้เงินจะมีการกระตุ้นการใช้จ่ายแน่นอน ขณะเดียวกันกลุ่มพลังงานทดแทนก็น่าสนใจ หลังรัฐกำลังจะออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งกลุ่มธนาคารก็น่าลงทุน เพราะคงได้ผลดีจากการปล่อยเงินกู้ให้เอกชน

สำหรับกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนคงจะเป็น “กลุ่มพลังงาน” เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงเยอะมาก ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักออกมามองว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงานน่าจะ “ขาดทุน” หรือ “กำไรลดลง” เพราะต่อให้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมายืนอยู่ที่ 90 เหรียญต่อบาร์เรล กว่าจะรับรู้รายได้ก็ล่วงเลยไปไตรมาส 2 แล้ว