บล.บัวหลวง รายงานภาวะรอบด้านตลาดหุ้น

บล.บัวหลวง รายงานภาวะรอบด้านตลาดหุ้น 4 กุมภาพันธ์ 2558

มุมมองตลาด

ตลาดหุ้นไทยปิดทะลุ 1600 จุด ปัจจัยบวกยังคงเป็นเรื่องของกระแสเงินลงทุนที่ไหนเข้าสู่ตลาดทุน หนุนจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป อย่างไรก็ตามจากมาตรการ QE ที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนๆพบว่าแผนมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโรของธนาคารกลางยุโรปอาจไม่ได้ช่วยให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในแถบเอเชียเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่จะช่วยให้ตลาดทรงตัวอยู่ในระดับซื้อขายที่ค่อนข้างสูงได้ ในส่วนของภาวะการซื้อขายของตลาดโดยรวมพบว่าหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเนื่องจากเหตุผล

1.จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐลดจากเดือนต.ค 57 ราว 24%
2.กองทุนเฮดฟันด์ทำ short covering ช่วงเปลี่ยนซีรีส์
3.การวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบเร็วทำให้กลุ่มผลิตน้ำมันดิบลดจำนวนแท่นผลิต
4.ปริมาณอุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกยังเพิ่มช้ากว่าคาด

สรุป : มุมมองราคาน้ำมันดิบอาจฟื้นตัวระยะสั้น อย่างไรก็ตามระยะยาวคาดว่าราคาน้ำมันจะยังไม่ปรับตัวขึ้นได้ไกล ฝ่ายวิเคราะห์เราคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4/57 กำไรของบริษัทในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจะอ่อนตัวลง

สัญญาณทางเทคนิคบ่งชี้ถึงความเสี่ยงภายหลังจากการสร้างรูปแบบ Triple top ของการเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาลง ขณะที่เครื่องมือทางเทคนิค RSI ปรับตัวขึ้นเข้าสู่กรอบบน Overbought ( กรณีหักล้างดัชนีต้องทะลุ 1610 จุดขึ้นไปและยืนเหนือได้) นอกจากนี้เรามองว่าตลาดจะมีความเสี่ยงจากเครื่องมือ RSI ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้กรอบบนซึ่งหมายถึงมูลค่าตลาดที่ค่อนข้างแพง
มุมมองราคาน้ำมันดิบและหุ้นกลุ่มพลังงาน

ราคาน้ำมันดิบ Wti เทรดในตลาด New York กับ Brent ที่ซื้อขายในตลาด London เมื่อวานยังคงทะยานขึ้นต่อจากภาวะ oversold โดยมีปัจจัยเรื่องการลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในประเทศสหรัฐเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดแรงซื้อ cover ฟิวเจอร์กลับจากบรรดากองทุนเฮดฟันด์ที่ทำการซื้อขายและเปิดสัญญาด้าน Short มาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่าปัจจัยพื้นฐานน้ำมันเองนั้นยังไม่เห็นสัญญานที่ชี้ชัดว่า ราคาน้ำมันที่ระดับ $53 ต่อบาร์เรลจะสามารถทรงตัวได้ในขณะนี้ท่ามกลางปริมาณน้ำมันดิบผลิตที่เพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่มโอเปค และ นอกกลุ่มโอเปค

PTT ราคาปิดเมื่อวานนี้ทำให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนเทียบเท่ากับตลาดโดยรวม โดยปัจจัยที่ไม่แน่นอนของตลาดน้ำมัน แต่ปัจจัยบวกระยะสั้น คือ การขายหุ้นที่ถือใน BCP ออกไปให้กองทุนวายุภักษ์ 15% และกำลังเจรจาขายหุ้นที่เหลืออีก 12% ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อไป โดยได้เงินราว 1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรราว 5 พันล้านบาท เราประเมินว่าโอกาสที่ราคาหุ้นจะขึ้นได้ดีกว่าดัชนีตลาดฯนั้นยาก เราแนะนำขายระดับ 380 +/-

PTTEP ราคาปิดสะท้อนการดีดตัวระยะสั้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ราคาน้ำมันดิบเราประเมินระยะสั้นได้เพียง $55 ต่อบาร์เรล ดังนั้น ราคาหุ้นน่าจะทดสอบแนวต้าน 125 บาท และน่าจะทะลุไปได้ไม่เกิน 130 บาท มุมมองสั้น รอขายที่บริเวณราคาแนวต้าน

กนง.เมินงัด’ดอกเบี้ย’คุมบาท

กนง.ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากหลายประเทศเข้าสู่”สงครามค่าเงิน” ชี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมาก

คาดไหลเข้าไม่มากเหมือนกรณีสหรัฐฯ พร้อมมีมติ 5 ต่อ 2 “คง” ดอกเบี้ยนโยบาย 2% ด้าน”ปรีดิยาธร”เผยเงินไหลเข้า ค่าบาทยังมีเสถียรภาพ ยังไม่เห็นผลกระทบต่อส่งออก ขณะ”บัณฑูร”แนะรัฐควรเร่งเบิกจ่ายมากกว่า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)และธนาคารหลายประเทศลดดอกเบี้ย คาดยังไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจากเงินไหลเข้า

การประชุมกนง.ครั้งแรกของปี 2558 วานนี้ (28 ม.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2% เนื่องจากมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้ง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า การประชุมรอบนี้ ที่ประชุมได้พูดคุยกันพอสมควรถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ด้วยการประกาศซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิก

ดอกเบียคุมบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว คณะกรรมการมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า คิวอีของยุโรปไม่เหมือนกับคิวอีของสหรัฐฯ เพราะยุโรปแม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่ม แต่เม็ดเงินอาจไม่ได้ไหลมาทางเอเชียและไทยมากนัก ต่างจากคิวอีของสหรัฐช่วงที่ผ่านมา

“เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีการคุยกัน ซึ่งความเป็นห่วงอาจไม่ได้เหมือนกับที่ตลาดกังวลมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ห่วง หรือจะไม่เข้าไปดูแล ซึ่งการดูแลยังคงดูตามความเหมาะสม และคณะกรรมการเองก็ขอให้แบงก์ชาติติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพราะท่านเห็นว่า ช่วงนี้ควรต้องตามใกล้ชิดมากๆ”นายเมธีกล่าว

ย้ำดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือแรกดูแลค่าเงิน

ส่วนคำถามที่ว่าเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยสามารถนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่กรรมการหลายท่านเห็นตรงกันว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใดๆ ในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็อยากให้ใช้เครื่องมืออื่นๆก่อน ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือที่ ธปท. มีและเคยใช้ในช่วงก่อนหน้านี้

“ไม่ได้หมายความว่า ดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ยอมรับว่ามีผลบ้าง เพียงแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญแรกๆ ที่มีผล อีกทั้งดอกเบี้ยก็ยังเป็นเครื่องมือที่กว้าง ไม่สามารถทาร์เก็ตไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เรากังวลได้แบบเฉพาะ”

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคนั้น นายเมธี กล่าวว่า ถ้าดูดัชนีค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับภูมิภาค ยอมรับว่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ถึงกับออกนอกปัจจัยพื้นฐานแต่อย่างใด ส่วนผลต่อการส่งออกนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ยืนยันมาตลอดว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลบ้าง ในเชิงของรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง

อุปสงค์ไม่หดแม้เงินเฟ้อร่วง

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึง สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินที่1%ว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการ ได้พูดคุยกันอย่างหนักเช่นกัน ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลด

ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังไม่มีการปรับลดราคาลงตาม สะท้อนว่าด้านอุปสงค์ยังไม่ได้มีปัญหา กำลังซื้อของคนยังมี และคนทั่วไปก็ยังมองว่า อนาคตเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับ 2% ได้ ดังนั้นแม้ภาพรวมเงินเฟ้อในปัจจุบันจะต่ำแต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล

สำหรับประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังมี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวและราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ลดลง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว

คาดเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้นครึ่งปีหลัง

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์

“ในการตัดสินนโยบาย กนง. ส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า นโยบายการเงินควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น

นายเมธี กล่าวด้วยว่า ระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรรมการจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึงการปรับช่วงการซื้อขายของค่าเงินสิงคโปร์ด้วยว่า หลังจากสิงคโปร์ประกาศนโยบายดังกล่าวออกมา มีผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคอ่อนค่าลงไปบ้าง โดยค่าเงินบาทไทยเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเล็กน้อย โดยช่วงเช้าของวานนี้ มีการอ่อนค่าลงมาบ้าง

เผยยังไม่พบเก็งกำไรค่าบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสัปดาห์ที่แล้วมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา แต่เท่าที่ติดตามยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแน่นอน เพราะการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในครั้งนี้ คือ การเอาเงินเติมในระบบเศรษฐกิจของยุโรปและจะทำเดือนละ 60,000 ล้านยูโรต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งไทยเองก็ต้องเตรียมตัวและตื่นตัวตลอดเวลา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ธปท.ตื่นตัวตลอดเวลา และขอชื่นชมว่ารับมือได้ดีมาก เพราะเงินไหลเข้าธรรมดาจะมีเงินดอลลาร์ในตลาดจำนวนมากและเงินบาทจะแข็งขึ้นทันที ซึ่งจะกระทบผู้ส่งออกอย่างมากแต่ ธปท.รับมือกับเรื่องนี้ได้

“เงินที่ไหลเข้ามาเยอะในสัปดาห์ที่แล้ว ตัวที่บอกว่าเข้ามาเยอะคือหุ้นขึ้นมาเกือบ 100 จุด เพราะมีเงินไหลเข้ามาซื้อ เข้ามาเยอะขนาดนี้แต่ยังดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่เดิมได้ ผมถือว่าเขาได้ทำหน้าที่แล้ว ผมก็เลยค่อนข้างสบายใจว่าคงจะไม่มีผลกระทบแล้ว”

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ในช่วงท้ายตลาดวานนี้ (28 ม.ค.) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้า หลังกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเงินบาทในช่วงเช้าอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนคาดว่า กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ในช่วงเช้านี้อ่อนค่าสุดที่ 32.64 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าสุดที่ 32.52

ยังไม่เห็นผลกระทบส่งออกจากบาทแข็ง

ส่วนผลกระทบกับภาคส่งออกหากค่าเงินแข็ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เพราะถ้าเงินบาทแข็งจะฉุดการส่งออก แต่ตอนนี้บาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก การส่งออกของไทยที่ไม่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ว่ากระทรวงพาณิชย์ทำไม่ดี หรือสินค้าเราไม่ดี แต่ผู้ซื้ออ่อนแอ ผู้ซื้อคือสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นไม่ได้ฟื้นตัวจริง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสัดส่วนประมาณ 27-28%ของการส่งออกของไทย

ส่วนจีนเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลง ซึ่งมีสัดส่วนอีก 12%รวมเป็นประมาณ 40% ที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อชะลอลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เขาดูแลเต็มที่ เขาจะนำทีมไปเปิดตลาดใหม่ด้วย เขาจะไปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

“บัณฑูร”แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2%ไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ เร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ในปีที่ผ่านมาแม้จะมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้กระทบกับการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยให้กับเอกชน เพราะยังเติบโตได้ดี ซึ่งตอนนี้ภาคเอกชนมีความกังวล เรื่องการส่งออกที่อาจจะพลาดเป้าหมายจากที่ประเมินกันไว้

ขณะที่ความห่วงใยในเรื่องของระดับหนี้ครัวเรือนนั้น หลายคนมองว่าอยู่ในระดับสูง แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่ากังวล เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ระดับของหนี้ครัวเรือนก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้

กสิกรไทย ผนึกซีพี ออลล์ เปิดตัว “บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE”

กสิกรไทย ผนึกซีพี ออลล์ เปิดตัว “บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE” ตั้งเป้าออกบัตรปีนี้ 1 ล้านใบ

setlnw-kasikornbank cpall_new_setlnw

ธนาคารกสิกรไทย จับมือซีพี ออลล์ ออก “บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE” เน้นเป็นยูนิเวอร์แซล เดบิต การ์ด (Universal Debit Card) ชูจุดแข็งใบเดียวสะดวกสุด ๆ ใช้ที่เซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ และร้านอื่นได้ทั่วโลก พร้อมรับสิทธิประโยชน์ครบครันจากธนาคารกสิกรไทย และเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดบริการมีนาคมนี้ ตั้งเป้าออกบัตร 1 ล้านใบ

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจบัตรเดบิต ธนาคารกสิกรไทยยังคงมุ่งพัฒนา “ยูนิเวอร์แซล เดบิต การ์ด” (Universal Debit Card) คือ ใช้บัตรเดบิตเพียงบัตรเดียวได้ในทุกที่และทุกเรื่อง ทั้งธุรกรรมการเงิน การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การเดินทาง ท่องเที่ยว การช้อปปิ้งทั้งในร้านค้าและบนออนไลน์ พร้อมมีสิทธิประโยชน์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายในแต่ละไลฟ์สไตล์

ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ออกบัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ร่วมกับเซเว่นอีเลฟเว่นในการออกบัตรเดบิตโคแบรนด์ ที่เป็นทั้งบัตรเดบิตและเป็นกระเป๋าเงินสด (Electronic Purse) ในบัตรเดียวกัน ที่สำคัญเป็นการขยายช่องทางเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ถือบัตรเดบิตในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันผ่านเครือข่ายร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีกว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถตอบความต้องการของลูกค้าได้ตลอดเวลา และยังสามารถนำ บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ไปใช้ได้ที่ร้านค้าอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ โดยบัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE จะเปิดให้สมัครใช้บริการได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป และตั้งเป้ายอดบัตรเดบิตดังกล่าว 1 ล้านใบภายในสิ้นปีนี้

นายปกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมตลาดบัตรเดบิตในปี 2557 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเดบิตประมาณ 45 ล้านใบ มีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ในประเทศประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ครองความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจบัตรเดบิต โดยธนาคาร ฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการออกบัตรเดบิตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้ง K-My Debit card และ K-Max Debit Card ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าทั้งสิทธิประโยชน์ (Functional) และการสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ (Emotional)

นายโกษา พงศ์สุพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด บริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเซเว่นอีเลฟเว่นมีอยู่กว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศมีลูกค้าใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ล้านคน รวมถึงเล็งเห็นแนวโน้มของการใช้บัตรเดบิตที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในการพัฒนา บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเซเว่นอีเลฟเว่นได้มอบสิทธิประโยชน์ความเป็นสมาชิกบัตรเซเว่นการ์ดให้กับลูกค้าบัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ด้วยทันที อาทิเช่น การได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่า, การสะสมแต้มจากการใช้จ่ายและสามารถนำมาใช้แทนเงินสด หรือแลกพรีเมี่ยม และสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงธุรกิจในกลุ่มซีพี ออลล์ เช่น บุ๊คสไมล์, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง, ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส, ร้านกาแฟ และเบเกอรี่อบสด คัดสรร นอกจากนี้ยังสามารถนำบัตรไปใช้จ่ายตามร้านค้าเครือข่ายของสมาร์ทเพิร์ส ทั้งสถานีบริการน้ำมัน ค่าผ่านทางโทลล์เวย์ และอื่น ๆ อีกกว่า 24,000 จุดทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่าบัตรใบนี้จะช่วยขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่ใช่ลูกค้าประจำของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเพิ่มเติมด้วย”

โบรกฯคาด หุ้นไทยปลาย Q1 ยืนเหนือ 1,600 จุด – รับอานิสงส์น้ำมันถูก

KSecurities เอาใจนักลงทุนออนไลน์เปิดตัว KS Super Stock แอปพลิเคชันครบวงจรเพื่อการลงทุนทั้ง ข่าวสาร และบทวิเคราะห์ ตลอดจนถึงกราฟเทคนิครองรับทั้ง iOS และ Andriod คาดยอดดาวน์โหลดแตะ 50,000 ส่วน “เผดิมภพ” ฟันธงหุ้นไทยจะทะยานยืนเหนือ 1,600 จุดได้อย่างชัดเจนในปลายไตรมาส 1 คาดไตรมาส 2-3 มีโอกาสแตะ 1,700 จุด แนะนักลงทุนเล็งหุ้นกลุ่มโรงกลั่น นิคมอุตสาหกรรม กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รับอานิสงส์น้ำมันช่วงราคาลง

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัว KS Super Stock – Mobile Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันด้านการลงทุนแบบครบวงจรแบบเรียลไทม์ ทั้งด้านข่าวสาร และบทวิเคราะห์ ตลอดจนถึงกราฟเทคนิค เพื่อให้นักลงทุนสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งรองรับทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod

“บล.กสิกรไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่การเป็นดิจิตอล โบรกเกอร์ โดยมีความพร้อมในเรื่องบุคลากร และศักยภาพของข้อมูลที่ให้กับลูกค้า จะเห็นได้ว่าจำนวนลูกค้าปัจจุบันทั้งหมดที่ 74,000 บัญชี มีสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ถึง 59% เราจึง และสัดส่วนการซื้อขายหุ้นออนไลน์ในตลาดหลักทรัพย์มีมากถึงกว่า 50% ทั้งนี้ คาดว่าหลังเปิดให้มีการดาวน์โหลดโปรแกรมแอปพลิเคชัน KS Super Stock ออกไปในช่วง 4 เดือนแรก จะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ราย ซึ่งบริษัทฯ จะมีการพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนให้มากที่สุด”

ขณะที่นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการสายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะนี้คาดว่าจะแกว่งตัวอยู่ที่ 1,567-1,600 จุด ซึ่งมีโอกาสทะลุเกิน 1,600 จุด ในต้นเดือนมีนาคมตามการฟื้นตัว จากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4 อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ทำให้แนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาในไทยและตลาดหุ้นกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายดัชนีฯ ในไตรมาส 2-3 ประมาณการไว้ที่ 1,710 จุด บนอัตราส่วนต่อกำไร (P/E Ratio) ที่ 15 เท่า

อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น กลุ่มโรงกลั่น เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมีผลบวกต่อต้นทุนการกลั่น รวมไปถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากพลังงานราคาถูก อีกทั้งกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์จากบีโอไอ ตลอดจนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ

ทั่วโลกเดินเกม “สงครามค่าเงิน”

ทั่วโลกเดินเกม “สงครามค่าเงิน” โจทย์หิน ธปท.ถอดสมการอัตราแลกเปลี่ยน

เปิดศักราชปี 2558 ก็เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ต่างพาเหรดดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในรูปแบบต่าง ๆ นำโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดนมาร์ก แคนาดา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เปรู และล่าสุดสิงคโปร์

และถ้ามองย้อนไปถึงปลายปีที่แล้ว พบว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “จีน” เป็นชาติแรก ๆ ที่ใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกดค่าเงินของประเทศตัวเองให้อ่อนลง

บรรดาธนาคารกลางให้เหตุผลการใช้เครื่องมือดังกล่าวว่า เพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อลดต่ำ จากการร่วงหนักของราคาน้ำมัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที และอาจมีประสิทธิภาพที่สุดของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย คือ “อัตราแลกเปลี่ยนลดลง”

“เรากำลังอยู่ในสงครามค่าเงิน ความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขณะนี้ คือ วิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับลดอัตราแลกเปลี่ยน” นายแกรี่ โคห์น ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซกส์ กล่าวระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

14229377151422937746l

สกุลเงินทั่วโลกแข่งลด “ค่าเงิน”

การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในหลายประเทศทั่วโลก และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2549 ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

นับจากกรกฎาคมปีกลายจนถึงขณะนี้ ค่าเงินสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลงแล้วราว 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และนักวิเคราะห์ยังคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะเป็นขาขึ้นต่อไปอีกหลายปี โดย “เงินหยวน” ได้อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนค่าเงินริงกิตของมาเลเซียร่วงลง 14% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ด้าน “เงินเยน” ของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็น 7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเงินยูโรที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปีเทียบกับดอลลาร์ หลังอีซีบีประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร

การแข่งลดค่าเงินกลายเป็นเทรนด์หลักของธนาคารกลางทั่วโลก หวังกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและการจ้างงาน ทั้งยังเพิ่มความสามารถการแข่งขันภาคส่งออกในตลาดโลก

นอกจากนี้ บางประเทศยังเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตมาตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 จนต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด ทำให้ขาดแคลนงบประมาณสำหรับกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลดค่าเงินจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่

ฤๅจะเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” รอบใหม่

นายไซมอน เดอร์ริก จากแบงก์ออฟ นิวยอร์ก เมลลอนวิเคราะห์ว่า รายต่อไปที่จะเคลื่อนไหวกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำลง คือ ตุรกี บราซิล อาจได้เห็นอินเดียหั่นดอกเบี้ยอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ หลังเพิ่งลดอัตราดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาดเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา

และประเมินว่า ไทยและเกาหลีใต้อาจทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ เพราะกรณีเงินบาทไทยอ่อนตัวในอัตราที่ช้ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เสียเปรียบด้านการส่งออก ประกอบกับดีมานด์ในประเทศซบเซา ขณะที่เกาหลีใต้ ได้รับผลกระทบหนักจากการอ่อนตัวของเงินเยนญี่ปุ่น คู่แข่งสำคัญด้านการส่งออกเพราะขายสินค้ากลุ่มเดียวกัน

มาตรการคิวอีและการลดอัตราดอกเบี้ย ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า โดยสหรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญทำให้เริ่มมีความกังวลถึงฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐ

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ดูจะตอบรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแง่บวก เพราะช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดเงินตลาดทุน แต่สงครามค่าเงินรอบนี้จะจบลงยังไงเพราะแต่ละประเทศคงไม่สามารถกดค่าเงินให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ตลอดไป และอาจปะทุเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ได้

เกม 2 ยักษ์ ศก.เขย่าตลาดเงินโลก

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่างจาก 5 ปีก่อนอย่างมาก โดยมีเหตุใหญ่มาจากสหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่องกลับ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังปล่อยสภาพคล่องออกมา อัดเงินเข้ามาเพิ่มและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ จนเกิดเป็นแรงกดดันที่ต่างกัน ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ต้องปรับตัวรับ

“ตอนนี้น้ำที่เคยขึ้นพร้อม ๆ กัน กลับสวนทางกันแล้ว โลกกำลังเตรียมรับมือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 17-18% นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (29 ม.ค.) ค่าเงินยูโรอ่อนลงมาก”

เวลานี้จึงเห็นถึงการปรับตัวของหลาย ๆ ประเทศรับมือแรงกดดันที่ไม่เท่ากันนี้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบยูโรที่ทำให้เงินฟรังก์แข็งค่าขึ้น 20% สิงคโปร์ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์เทียบดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าเร็วเกินไป

“ผมคิดว่าตอนนี้ไม่ใช่การทำสงครามค่าเงิน แต่ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากสกุลเงินหลักเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนที่เหลือจึงต้องเอาตัวรอด ไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้ แม้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะนิ่ง แต่ถ้าดูที่ค่าบาทเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าคู่แข่งจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น”

ไทยคงดอกเบี้ย 2% ท่ามกลางความผันผวน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการคงอัตรานี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังหารือถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากอีซีบีประกาศใช้คิวอีซึ่ง ธปท.ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้เงินไหลเข้าเอเชียมากนัก แตกต่างจากครั้งที่เฟดประกาศใช้คิวอีและทำให้มีเงินเข้ามาในเอเชียค่อนข้างมาก

“ธปท.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการดอกเบี้ยในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ เนื่องจากยังมีมาตรการอื่นในการดูแลอีกหลายเครื่องมือ อีกทั้งเมื่อดูการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนในปัจจุบัน ก็พบว่าเป็นการเคลื่อนไหวปกติ” นายเมธีกล่าวและว่า

ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.กล่าวว่า ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) เมื่อ 27-28 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00-0.25% เป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การจ้างงานเข้มแข็งขึ้น และผลของราคาพลังงานที่ปรับลดลงอาจส่งผลให้เงินเฟ้อโน้มต่ำลงต่อไปในระยะสั้น ทำให้ตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังของปี ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินภูมิภาค

และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยว่าจะอยู่ในเกม “สงครามค่าเงิน” นี้อย่างไร