ออสเตรเลีย

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันลาท่านผู้อ่านเพื่อไปสังเกตการณ์ฤดูร้อนในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ คือประเทศออสเตรเลีย

เวลาไปออสเตรเลีย มักจะได้ยินสถิติต่างๆว่าใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้บ้างล่ะ ทันสมัยที่สุด หรือสูงที่สุดในซีกโลกใต้ แน่นอนค่ะ เพราะเป็นประเทศเดียวที่ครอบครองทวีปออสเตรเลียทั้งทวีป แม้ว่าจะเป็นทวีปที่เล็กที่สุดก็ตาม

ออสเตรเลียมีพื้นที่ 7.74 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 15 เท่าของพื้นที่ประเทศไทย นับความใหญ่ของพื้นที่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีชายฝั่งยาวถึง 25,760 กิโลเมตร

เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ภูมิอากาศจึงแตกต่างกันไป ทางตอนเหนือซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จะมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน มีพืชพันธุ์ธัญญาหารคล้ายๆกับบ้านเรา ในขณะพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของเกาะจะมีภูมิอากาศแบบอบอุ่น

แต่เดิม เมื่อประมาณ 40,000 ปี ก่อนที่ชาวยุโรปจะค้นพบทวีปออสเตรเลีย ผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียกลุ่มแรก มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หากถอยหลังไปดูการจำลองพื้นที่ของโลกโบราณจะพบว่าทวีปออสเตรเลียเคยเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย แล้วภายหลังแตกหลุดออกไป)

ทวีปออสเตรเลียในยุคใหม่ ถูกค้นพบโดย กัปตันเจมส์ คุก เมื่อปี 1770 และได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนกระทั่ง 1 มกราคม 1901 จึงได้รับเอกราช แต่ยังคงเป็นประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เรียกว่า Commonwealth of Australia

ออสเตรเลียแบ่งเขตการปกครองเป็น 6 รัฐ และ 2 อาณาเขต มีประชากรน้อยกว่าที่ใครๆมักจะคิด เพียง 22.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ คือ 89.2% อาศัยอยู่ในเมือง

เมืองหลวงคือ แคนเบอร์รา เมืองใหญ่ที่สุดคือซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองธุรกิจ มีประชากร 4.5 ล้านคน รองลงมาคือ เมลเบอร์น มีประชากรประมาณ 4 ล้านคน และ บริสเบน มีประชากร 2.04 ล้านคน

ประชากรของออสเตรเลียส่วนใหญ่คือประมาณ 92% เป็นคนผิวขาว ถัดมาเป็นเอเชีย 7% และเชื้อชาติอะบอริจินซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ก่อนการค้นพบของกัปตันคุก รวมกับเชื้อชาติอื่นๆ ประมาณ 1%

และแน่นอนว่า ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ โดยมีสัดส่วนของโปรแตสแตนท์และคาทอลิกใกล้ๆกันค่ะ รวมกันประมาณ 50% ถัดมาเป็นกลุ่มไม่นับถือศาสนาใด 22%

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดการณ์ขนาดของเศรษฐกิจวัดโดย GDP ในปี 2014 ประมาณ 1.488 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 48.5 ล้านล้านบาท โดยมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 43,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาทต่อปี

เวลาพูดถึงออสเตรเลีย คนมักจะนึกถึงแร่ธาตุ ทองคำ และน้ำมัน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ออสเตรเลียมีอยู่มากมาย และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ ออสเตรเลียขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และอาหารรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกถ่านหินถึง 29%ของการส่งออกทั่วโลก

นอกจากถ่านหิน ทองคำ และน้ำมันแล้ว ออสเตรเลียยังมีแร่ธาตุอื่นมากมาย ทั้งบ๊อกไซต์ เหล็ก ทองแดง ดีบุก เงิน ยูเรเนียม นิเกิล ทังสเตน ตะกั่ว สังกะสี เพชร และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ

1421639531

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเลื่องชื่อเกี่ยวกับปศุสัตว์ เช่น วัว และแกะ และเป็นประเทศที่มีสัตว์แปลกๆมากมาย เช่น จิงโจ้ วิลโลบี หมีโคอาลา เนื่องจากเป็นทวีปที่แยกออกมาห่างไกลจากทวีปอื่น สัตว์ดึกดำบรรพ์จึงสามารถคงอยู่ได้โดยไม่สูญพันธ์ุ

ทั้งนี้ การนำเข้าพืชพันธุ์ต่างๆเข้มงวดมาก ประเทศเกาะส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนี้ เพราะหากไม่เข้มงวด อาจจมีการนำเอาเชื้อโรคใหม่ๆที่เป็นอันตรายต่อพืชพันธุ์และปศุสัตว์มาแพร่กระจายได้ และจะแก้ปัญหายาก ดังนั้นผู้เดินทางเข้าประเทศจะถูกห้ามนำอาหารสด อาหารที่มีส่วนผสมของนม ติดตัวเข้าไปโดยเด็ดขาด

ธงชาติทั่วโลก6

กฎหมายของเขาเข้มงวด และมีการบังคับใช้ได้ดีมาก การฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ

วันชาติของออสเตรเลีย ไม่ได้เรียกว่า National Day เหมือนวันชาติของประเทศอื่นๆ แต่เรียกว่า Australia Day คือเป็นวันที่ระลึกถึงผู้อพยพจากอังกฤษมาตั้งถิ่นฐานในทวีปนี้ชุดแรก ซึ่งเดินทางมาถึง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 1788

เนื่องจากออสเตรเลียอยู่ในซีกโลกใต้ ฤดูกาลจะสลับกับซีกโลกเหนือที่เราคุ้นเคยกันอยู่ค่ะ

ดิฉันไปเยือนออสเตรเลียในช่วงที่มีการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมแรกของปี คือ ออสเตรเลียนโอเพ่น ซึ่งจัดที่เมืองเมลเบอร์น ในกลางฤดูร้อน คือสัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนมกราคม ซึ่งจะคร่อมช่วงของ Australian Day ทำให้ได้มีโอกาสดูพาเหรด ดูทีวีเห็นกิจกรรมต่างๆ การมอบรางวัล “บุคคลแห่งปี”ให้กับหญิงและชาย ท่านละหนึ่งรางวัล

ในปีนี้ได้ไปดูการจุดพลุฉลอง ที่เขาแจ้งว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองเมลเบอร์น เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 100 ปีของ ANZAC ทางการได้ทำเหรียญที่ระลึก 100 ปีออกมาจำหน่ายด้วย

ดิฉันสงสัยว่า ANZAC คืออะไร ไปค้นหาจึงพบว่า เป็นการครบรอบ 100 ปีของการที่ทหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยกพลขึ้นบกที่ตุรกี ในคราวที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1915

ออสเตรเลียยังมีกลิ่นไอของประเทศเกิดใหม่อยู่มาก มีโอกาสในการทำงาน สร้างฐานะ มีการก่อสร้างเกิดขึ้นตลอดเวลา และมีผู้คนอพยพไปอยู่เรื่อยๆ คนขับรถแท้กซี่เล่าว่า เขามาจากอินเดียเมื่ออายุ 17 ปี ตอนนี้อายุ 24 ปี สามารถมีแท้กซี่ให้เช่าและขับเองถึง 3 คัน เขามาเที่ยวเมืองไทยบ่อยๆด้วยค่ะ

ออสเตรเลียใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษา 5.6%ของ GDP (ดิฉันค้นดูแล้วไทยเราใช้ถึง 5.8% ของ GDP ค่ะ แต่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่า) และเป็นประเทศที่คนเอเชียอยากไปเรียนต่อ เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักที่อยู่ใกล้ทวีปเอเชียที่สุด และมีคนเอเชียโดยเฉพาะชาวจีน อยู่มาก ประมาณว่ามีคนใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาหลัก 1.2% และใช้จีนกวางตุ้งเป็นภาษาหลัก 1.2%

ร้านอาหารจีนในออสเตรเลียส่วนใหญ่อร่อยค่ะ เพราะมีวัตถุดิบอาหารที่สด ในเมลเบอร์นมีไชน่าทาวน์หรือย่านชุมชนชาวจีนที่ค่อนข้างใหญ่ คือประมาณ 3 ช่วงตึก ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกค่ะ

ค่าเงินออสเตรเลีย ถือเป็นค่าเงินที่ผันผวนมากสกุลหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศอิงกับโภคภัณฑ์ ในยามที่ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวสูง ค่าเงินก็จะแข็ง เช่นในปี 2008 ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ราคาเหล็กและน้ำมัน พุ่งขึ้นไปสูงมาก ในเดือน กรกฎาคม 2008 หนึ่งเหรียญออสเตรเลีย แลกได้ 0.95 เหรียญสหรัฐ หลังเกิดวิกฤติเพียงหนึ่งเดือน คือในเดือนตุลาคม 2008 ค่าเงินอ่อนตัวไปถึง 0.60 เหรียญสหรัฐ และแข็งขึ้นมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 ที่ 1.1 เหรียญสหรัฐ แต่ในปัจจุบันเมื่อราคาน้ำมันตกฮวบฮาบ ในวันที่ 30 มกราคม 2015 ล่าสุด 1 เหรียญออสเตรเลีย แลกได้เพียง 0.7754 เหรียญสหรัฐเท่านั้นค่ะ

ได้รู้จักกับออสเตรเลียพอหอมปากหอมคอนะคะ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

สื่ออังกฤษชี้ AEC ไม่ช่วย “ไทย” หลังเสียศูนย์จากพิษการเมือง

สื่ออังกฤษชี้ AEC ไม่ช่วย “ไทย” หลังเสียศูนย์จากพิษการเมือง แต่กลุ่มทุนข้ามชาติได้เต็มๆจากละเมิดสิทธิฯในอาเซียน

เอเจนซีส์ – AEC หรือการรวมตัว 10 ชาติในย่านเอเชียแปซิฟิกที่มีประชากรอาศัยรวมกันร่วม 620 ล้านคนเพื่อเป็นตลาดเดียวที่มีมูลค่าสูงถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะเปิดพรมแดนติดต่อร่วมกันเป็นทางการในปลายปีนี้ แต่ทว่าเดอการ์เดียน สื่ออังกฤษชี้ว่า การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เลียนแบบกลุ่มสหภาพยุโรปนี้ อาจไม่ช่วยประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจทั้งหมดอาจตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนขนาดยักษ์แทน นอกจากนี้ สื่ออังกฤษยังชี้ ไทยอาจไม่ได้รับความได้เปรียบทางการแข่งขันจากการรวมตัวของ AEC เพราะโดนพิษการเมืองเล่นงาน ทำให้เสียความได้เปรียบไปให้กับประเทศที่มีการเมืองมั่นคง และค่าแรงถูก รวมไปถึงระบบควบคุมทางธุรกิจที่เอื้อนักลงทุนมากกว่า

เดอะการ์เดียน รายงานวันที่ 3 ก.พ. 2014 ถึงโอกาสและศักยภาพของ AEC การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของ 10ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่มี (1)พม่า (2)บรูไน (3)กัมพูชา (4) อินโดนีเซีย (5)ลาว (6)มาเลเซีย (7)ฟิลิปปินส์ (8)ไทย (9)สิงคโปร์ และ (10)เวียดนาม เป็นสมาชิกในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่มีรูปแบบคล้ายสหภาพยุโรป เพื่อหาประโยชน์จากการรวมตัวการค้าตลาดเดียวมูลค่าสูงถึง2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีประชากรร่วม 620 ล้านคนอาศัย และช่องทางการค้าเสรีที่ทำให้มีศักยภาพในการต่อรองสูงขึ้น ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดตัวของ AEC อย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นความหอมหวลของ AEC สามารถดึงดูดนักลงทุนที่สนใจเข้ามาในภูมิภาคนี้แล้ว

แต่กระนั้นบรรดานักสังเกตการณ์เตือนว่า ในบางส่วนของพื้นที่ หรือแม้กระทั่งทั้งประเทศอาจอยู่ในสภาพที่แย่กว่าเดิม เนื่องมาจากความเสี่ยงพลเมืองในพื้นที่ที่จะถูกริดรอนสิทธิมนุษยชน รีดเอาหยาดเหงื่อแรงงานและสิทธิที่ควรได้ในฐานะความเป็นมนุษย์ไปให้กับการเติบโตทางตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มทุนขนาดยักษ์แทน

ทั้งนี้มีการคาดการตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 5 % ต่อปี ของ AECที่มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และถึงขั้นต้องการให้แซงหน้ากลุ่มเศรษฐกิจสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่น ไปในท้ายที่สุดก่อนปี 2018 แต่ทว่าเมื่อวิเคราะห์ถึงศักยภาพของแต่ละประเทศสมาชิก สื่ออังกฤษชี้ว่า ทั้ง 10ประเทศมีความแตกต่างเป็นอย่างมากทั้งในด้านการปกครอง สภาพเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง และภาษาที่ใช้ ทำให้มีความกังวลว่า ความฝันที่จะทำให้ AEC จะเริ่มเปิดได้จริงตามกำหนดภายในสิ้นปีนี้ได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาว่า เช่น พม่า ซึ่งเป็นชาติที่จนที่สุดในบรรดา 10ประเทศ ซึ่ง 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในขณะที่สิงคโปร์ ที่ถือเป็นชาติร่ำรวยที่สุดในกลุ่ม มีพลเมืองถูกจัดอันดับว่าร่ำรวยที่สุดในโลก

มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาเลเซียกล่าวว่า “ประชาคมโลกธุรกิจต้องการอาเซียนรวมตัวเป็นตลาดเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัญหาอีกมาก เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาศุลกากร ปัญหาการเดินทางข้ามถิ่น และระบบควบคุมที่ใช้มาตรฐานต่างกัน”

ทั้งนี้มาเลเซีย ที่ถือเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลกทรอนิก นั่งเป็นประธานกลุ่ม AEC ที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ได้ออกมาเตือนว่า จะไม่มีโอกาสได้เห็นการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้าและบริการข้ามพรมแดนภายใน AEC ก่อนปี 2020 อย่างแน่นอน ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นทางประเทศสมาชิกเพียงแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับการเปิดใช้จริง”

อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนชี้ว่า ถึงแม้จะมีความต่างเป็นอย่างมากในะหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่นี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนขยาด แต่ทว่าสื่ออังกฤษไม่คิดว่า AEC จะประสบปัญหาหนี้เน่าเหมือนเช่น EU กำลังเผชิญหน้าอยู่ เป็นเพราะในแต่เริ่มแรก AEC ไม่มีเป้าหมายรวมตัวเพื่อใช้สกุลเงินเดียว และมีรัฐสภายุโรป เช่น สหภาพยุโรป

แต่ทว่าความต่างที่หลากหลายทางสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก ทำให้บางประเทศได้รับผลประโยชน์ไปแล้วจากแนวคิดการรวมตัว AEC แซงหน้าประเทศอื่น ซึ่งจากรายงานล่าสุดของบริษัทกฎหมาย เบเกอร์และแมคเคนซีชี้ว่า สิงคโปร์ยังคงได้รับความไว่วางใจจากธุรกิจข้ามชาติให้เป็นฐานถึง 80 % จากการที่สิงคโปร์เป็นฮับทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ รวมถึงการเป็นตลาดเปิด

นอกจากนี้ยังพบว่า อินโดนีเซีย และพม่าจะเป็นอีก 2 ชาติที่ได้รับประโยชน์ในการเปิด AEC จากการที่ทั้งสองชาติถูกโหวตให้เป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติในอีก 5 ปีข้างหน้า

ซึ่งต่างจากไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ แต่ไทยได้เสียศักยภาพการแข่งขันไปให้กับประเทศที่มีการเมืองมั่นคง และค่าแรงถูก รวมไปถึงระบบควบคุมทางธุรกิจที่เอื้อนักลงทุนมากกว่า ราจีฟ บิสวาซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกเอเชียแปซิฟิกประจำIHS ให้ความเห็น “ความยุ่งเหยิงทางการเมืองล่าสุดในไทยทำให้ประเทศดูมีความเสี่ยงมากขึ้นในสายตานักลงทุนข้ามชาติ และทำให้คนเหล่านี้ลังเลที่จะนำเม็ดเงินกลับเข้ามาลงทุนในไทยอีกครั้ง แต่ในทางตรงกันข้าม เวียดนามจะเห็นการลงทุนต่างชาติมากขึ้น ในการทำสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมไปถึงทำให้ค่าแรงของเวียดนามต่ำลงเพื่อที่จะสามารถสู้กับค่าแรงของจีนได้”

เดอะการเดียนวิเคราะห์ว่า การเติบโตของชุมชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะหมายถึงศักภาพตลาดภายในภูมิภาคที่มีกำลังซื้อสูงตามไปด้วย และหากค่าแรงของจีนถูกปรับเพิ่มขึ้น จะกลายเป็นโอกาสสำหรับอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีการเติบโตของแรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือตามมาเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร 620 ล้านคนในกลุ่ม AEC เหล่านักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “น่าเป็นห่วง” จากปัญหาการค้าแรงงานทาสที่เป็นปัฯหาสำคัญในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงปัญหาแนวคิดก่อการร้าย

ในแถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดAsean People’s Forum หรือ APF ได้แจกแจงปัญหาที่เกิดในภูมิภาคนี้ เช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน คอรัปชันและการไร้ประสิทะภาพในการบริหารประเทศ การเข้ายึดครองที่ดินของรัฐ รัฐบาลทหารและเผด็จการ ปัญหาแรงงานทาส ปัญหาการรใช้อำนาจป่าเถื่อนของตำรวจในเครื่องแบบ การขาดธรรมาธิบาลและความรับผิดชอบสังคมของกลุ่มธุรกิจ และที่กลุ่ม APF เป็นกังวลมากขึ้น คือการที่กลุ่มทุนใช้ต้นทุนมนุษย์ของประชาชนในการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น ในบางประเทศสมาชิก AEC อนุญาตให้บริษัทสามารถฟ้องรัฐบาลหากเกิดข้อขัดแย้งกับกฎหมายท้องถิ่นที่ขวางการทำธุรกิจ ซึ่งการรวมตัวจะทำให้สิทธิของชุมชนในพื้นที่ การขยายขอบเขตการปกป้องแรงงาน หรือการป้องกันมลพิษนั้นอาจต้องหมดไปหากมี AEC เกิดขึ้น และจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล ประชากรรากหญ้าที่อาศัยในชุมชน และบริษัทข้ามชาติ ระบาดไปทั่วAEC ฟิล โรเบิร์ตสัน ( Phil Robertson ) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนกล่าว

แต่ทว่าในท้ายที่สุด สื่ออังกฤษสรุปท้ายจากความเห็นของนักธุรกิจชั้นนำของพม่า Thaung Su Nyein ว่า การเกิดของ AEC สมควรที่จะต้องให้ความสนใจมากกว่าหวาดระแวง เนื่องจากจะนำการเติบโตทางเศรษฐกิจและการคมนาคมอย่างยั่งยืนมาสู่ภูมิภาค “ คิดว่าเราต่างควรต้อนรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ฝึกคน

aec-setlnw-thai2

กนง.เมินงัด’ดอกเบี้ย’คุมบาท

กนง.ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากหลายประเทศเข้าสู่”สงครามค่าเงิน” ชี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมาก

คาดไหลเข้าไม่มากเหมือนกรณีสหรัฐฯ พร้อมมีมติ 5 ต่อ 2 “คง” ดอกเบี้ยนโยบาย 2% ด้าน”ปรีดิยาธร”เผยเงินไหลเข้า ค่าบาทยังมีเสถียรภาพ ยังไม่เห็นผลกระทบต่อส่งออก ขณะ”บัณฑูร”แนะรัฐควรเร่งเบิกจ่ายมากกว่า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)และธนาคารหลายประเทศลดดอกเบี้ย คาดยังไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจากเงินไหลเข้า

การประชุมกนง.ครั้งแรกของปี 2558 วานนี้ (28 ม.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2% เนื่องจากมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้ง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า การประชุมรอบนี้ ที่ประชุมได้พูดคุยกันพอสมควรถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ด้วยการประกาศซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิก

ดอกเบียคุมบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว คณะกรรมการมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า คิวอีของยุโรปไม่เหมือนกับคิวอีของสหรัฐฯ เพราะยุโรปแม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่ม แต่เม็ดเงินอาจไม่ได้ไหลมาทางเอเชียและไทยมากนัก ต่างจากคิวอีของสหรัฐช่วงที่ผ่านมา

“เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีการคุยกัน ซึ่งความเป็นห่วงอาจไม่ได้เหมือนกับที่ตลาดกังวลมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ห่วง หรือจะไม่เข้าไปดูแล ซึ่งการดูแลยังคงดูตามความเหมาะสม และคณะกรรมการเองก็ขอให้แบงก์ชาติติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพราะท่านเห็นว่า ช่วงนี้ควรต้องตามใกล้ชิดมากๆ”นายเมธีกล่าว

ย้ำดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือแรกดูแลค่าเงิน

ส่วนคำถามที่ว่าเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยสามารถนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่กรรมการหลายท่านเห็นตรงกันว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใดๆ ในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็อยากให้ใช้เครื่องมืออื่นๆก่อน ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือที่ ธปท. มีและเคยใช้ในช่วงก่อนหน้านี้

“ไม่ได้หมายความว่า ดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ยอมรับว่ามีผลบ้าง เพียงแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญแรกๆ ที่มีผล อีกทั้งดอกเบี้ยก็ยังเป็นเครื่องมือที่กว้าง ไม่สามารถทาร์เก็ตไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เรากังวลได้แบบเฉพาะ”

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคนั้น นายเมธี กล่าวว่า ถ้าดูดัชนีค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับภูมิภาค ยอมรับว่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ถึงกับออกนอกปัจจัยพื้นฐานแต่อย่างใด ส่วนผลต่อการส่งออกนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ยืนยันมาตลอดว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลบ้าง ในเชิงของรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง

อุปสงค์ไม่หดแม้เงินเฟ้อร่วง

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึง สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินที่1%ว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการ ได้พูดคุยกันอย่างหนักเช่นกัน ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลด

ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังไม่มีการปรับลดราคาลงตาม สะท้อนว่าด้านอุปสงค์ยังไม่ได้มีปัญหา กำลังซื้อของคนยังมี และคนทั่วไปก็ยังมองว่า อนาคตเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับ 2% ได้ ดังนั้นแม้ภาพรวมเงินเฟ้อในปัจจุบันจะต่ำแต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล

สำหรับประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังมี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวและราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ลดลง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว

คาดเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้นครึ่งปีหลัง

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์

“ในการตัดสินนโยบาย กนง. ส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า นโยบายการเงินควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น

นายเมธี กล่าวด้วยว่า ระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรรมการจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึงการปรับช่วงการซื้อขายของค่าเงินสิงคโปร์ด้วยว่า หลังจากสิงคโปร์ประกาศนโยบายดังกล่าวออกมา มีผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคอ่อนค่าลงไปบ้าง โดยค่าเงินบาทไทยเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเล็กน้อย โดยช่วงเช้าของวานนี้ มีการอ่อนค่าลงมาบ้าง

เผยยังไม่พบเก็งกำไรค่าบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสัปดาห์ที่แล้วมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา แต่เท่าที่ติดตามยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแน่นอน เพราะการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในครั้งนี้ คือ การเอาเงินเติมในระบบเศรษฐกิจของยุโรปและจะทำเดือนละ 60,000 ล้านยูโรต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งไทยเองก็ต้องเตรียมตัวและตื่นตัวตลอดเวลา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ธปท.ตื่นตัวตลอดเวลา และขอชื่นชมว่ารับมือได้ดีมาก เพราะเงินไหลเข้าธรรมดาจะมีเงินดอลลาร์ในตลาดจำนวนมากและเงินบาทจะแข็งขึ้นทันที ซึ่งจะกระทบผู้ส่งออกอย่างมากแต่ ธปท.รับมือกับเรื่องนี้ได้

“เงินที่ไหลเข้ามาเยอะในสัปดาห์ที่แล้ว ตัวที่บอกว่าเข้ามาเยอะคือหุ้นขึ้นมาเกือบ 100 จุด เพราะมีเงินไหลเข้ามาซื้อ เข้ามาเยอะขนาดนี้แต่ยังดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่เดิมได้ ผมถือว่าเขาได้ทำหน้าที่แล้ว ผมก็เลยค่อนข้างสบายใจว่าคงจะไม่มีผลกระทบแล้ว”

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ในช่วงท้ายตลาดวานนี้ (28 ม.ค.) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้า หลังกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเงินบาทในช่วงเช้าอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนคาดว่า กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ในช่วงเช้านี้อ่อนค่าสุดที่ 32.64 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าสุดที่ 32.52

ยังไม่เห็นผลกระทบส่งออกจากบาทแข็ง

ส่วนผลกระทบกับภาคส่งออกหากค่าเงินแข็ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เพราะถ้าเงินบาทแข็งจะฉุดการส่งออก แต่ตอนนี้บาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก การส่งออกของไทยที่ไม่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ว่ากระทรวงพาณิชย์ทำไม่ดี หรือสินค้าเราไม่ดี แต่ผู้ซื้ออ่อนแอ ผู้ซื้อคือสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นไม่ได้ฟื้นตัวจริง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสัดส่วนประมาณ 27-28%ของการส่งออกของไทย

ส่วนจีนเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลง ซึ่งมีสัดส่วนอีก 12%รวมเป็นประมาณ 40% ที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อชะลอลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เขาดูแลเต็มที่ เขาจะนำทีมไปเปิดตลาดใหม่ด้วย เขาจะไปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

“บัณฑูร”แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2%ไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ เร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ในปีที่ผ่านมาแม้จะมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้กระทบกับการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยให้กับเอกชน เพราะยังเติบโตได้ดี ซึ่งตอนนี้ภาคเอกชนมีความกังวล เรื่องการส่งออกที่อาจจะพลาดเป้าหมายจากที่ประเมินกันไว้

ขณะที่ความห่วงใยในเรื่องของระดับหนี้ครัวเรือนนั้น หลายคนมองว่าอยู่ในระดับสูง แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่ากังวล เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ระดับของหนี้ครัวเรือนก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้

มารู้จักกรีนบอนด์กันเถอะ

กรีนบอนด์ เป็นตราสารหนี้เช่นเดียวกับพันธบัตรทั่วไป แต่ต่างกันตรงเงินที่ระดมจากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาออกกรีนบอนด์ในตลาดสะท้อนถึงกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การคำนึงถึงความยั่งยืนจากการลงทุนมากขึ้น

การลงทุนแบบยั่งยืนเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้นโดยดัชนีตลาดหุ้นต่างๆที่คำนวณตามเกณฑ์มาตรฐานด้านจริยธรรมและความยั่งยืนได้เริ่มนำมาใช้ราว 15 ปีที่แล้ว นักลงทุนสถาบันกว่า 1,200 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร มูลค่ารวมกันราว 45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ และประกาศจุดยืนในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาใช้พิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนในอนาคต

ปัจจุบันนักลงทุนสถาบันหลายรายกำลังให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรที่มักจะออกมาเพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือพลังงานสะอาด

สำนักวิจัยระดับโลกของเอชเอสบีซีประเมินว่าการออกพันธบัตรระดมทุนที่มีลักษณะเข้าข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในปี 2555 มีมูลค่ารวมกัน 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการกำหนดคำนิยามและประเภทของกรีนบอนด์ยังไม่ชัดเจน

แต่จากมูลค่าทั้งหมด กรีนบอนด์ในขณะนี้ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก พันธบัตรรุ่นแรกที่เรียกเป็น “กรีนบอนด์” ได้อย่างชัดเจน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ในปี 2550 และตั้งแต่นั้นมาตลาดกรีนบอนด์ได้ขยายตัวในอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 55 ต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีการออก “กรีนบอนด์” มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 1.1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2556

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพันธบัตรรุ่นใหม่ที่สะท้อนแนวคิดด้านความยั่งยืนในลักษณะอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีการออก “พันธบัตรเพื่อสังคม” รุ่นแรก เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา พันธบัตรเพื่อสังคมรุ่นต่อ ๆ มามักจะเน้นการระดมทุนเพื่อการศึกษา สุขภาพอนามัย การประกอบธุรกิจของสตรี มาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน และโครงการเพื่อชุมชนระดับท้องถิ่น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า เงินทุนที่ได้จากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ด้านใดได้บ้าง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในโครงการ 3 ด้านหลัก ๆ คือ

-โครงการพลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทน พลังงานที่จำกัดปริมาณคาร์บอน หรือโครงการที่ลดปัญหาความสิ้นเปลืองของพลังงาน

-โครงการที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารสำนักงาน ในอุตสาหกรรม และการขนส่ง

-โครงการที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมด้านการเกษตร ป่าไม้ แหล่งน้ำ ของเสีย และการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลักๆ หลายแห่ง รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ธนาคารโลก (World Bank) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (The International Finance Corporation) เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มกรีนบอนด์ โดยได้ออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุนในโครงการที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งต่อมาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้ทำตาม

ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งก็เริ่มออกกรีนบอนด์ของตนเองเช่นกัน เพื่อระดมทุนให้กับโครงการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ และกระจายฐานนักลงทุนของบริษัท ความต้องการลงทุนในกรีนบอนด์ขณะนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันรายใหญ่หลายรายได้ตัดสินใจลงทุนในกรีนบอนด์มากขึ้นจากแต่เดิมที่ค่อนข้างระมัดระวังบางรายถึงกับประกาศจุดยืนการลงทุนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการระดมทุนและการสร้างความยั่งยืนทางภูมิอากาศ

หลักการและข้อกำหนดของกรีนบอนด์เริ่มประกาศใช้ในเดือนมกราคม2557เพื่อให้ผู้ออกกรีนบอนด์ใช้เป็นมาตรฐานในการถือปฏิบัติแบบสมัครใจ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดกรีนบอนด์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารระหว่างประเทศรวมทั้งเอชเอสบีซีซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายเงินที่ระดมได้การประเมินและคัดสรรโครงการที่เหมาะสม การบริหารเงินทุนที่ระดมได้ และจัดทำรายงานการใช้เงิน การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์โดยหน่วยงานอิสระ

ตลาดกรีนบอนด์ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น แต่เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน และเมื่อตลาดนี้ขยายตัวขึ้น คาดว่ากรีนบอนด์จะได้รับความสนใจมากขึ้นว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ การกำหนดหลักการและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์ถือเป็นก้าวแรกในความพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตลาด ส่วนก้าวต่อไปคือการกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนในพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั่วโลกเดินเกม “สงครามค่าเงิน”

ทั่วโลกเดินเกม “สงครามค่าเงิน” โจทย์หิน ธปท.ถอดสมการอัตราแลกเปลี่ยน

เปิดศักราชปี 2558 ก็เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ต่างพาเหรดดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในรูปแบบต่าง ๆ นำโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดนมาร์ก แคนาดา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เปรู และล่าสุดสิงคโปร์

และถ้ามองย้อนไปถึงปลายปีที่แล้ว พบว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “จีน” เป็นชาติแรก ๆ ที่ใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกดค่าเงินของประเทศตัวเองให้อ่อนลง

บรรดาธนาคารกลางให้เหตุผลการใช้เครื่องมือดังกล่าวว่า เพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อลดต่ำ จากการร่วงหนักของราคาน้ำมัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที และอาจมีประสิทธิภาพที่สุดของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย คือ “อัตราแลกเปลี่ยนลดลง”

“เรากำลังอยู่ในสงครามค่าเงิน ความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขณะนี้ คือ วิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับลดอัตราแลกเปลี่ยน” นายแกรี่ โคห์น ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซกส์ กล่าวระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

14229377151422937746l

สกุลเงินทั่วโลกแข่งลด “ค่าเงิน”

การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในหลายประเทศทั่วโลก และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2549 ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

นับจากกรกฎาคมปีกลายจนถึงขณะนี้ ค่าเงินสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลงแล้วราว 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และนักวิเคราะห์ยังคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะเป็นขาขึ้นต่อไปอีกหลายปี โดย “เงินหยวน” ได้อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนค่าเงินริงกิตของมาเลเซียร่วงลง 14% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ด้าน “เงินเยน” ของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็น 7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเงินยูโรที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปีเทียบกับดอลลาร์ หลังอีซีบีประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร

การแข่งลดค่าเงินกลายเป็นเทรนด์หลักของธนาคารกลางทั่วโลก หวังกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและการจ้างงาน ทั้งยังเพิ่มความสามารถการแข่งขันภาคส่งออกในตลาดโลก

นอกจากนี้ บางประเทศยังเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตมาตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 จนต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด ทำให้ขาดแคลนงบประมาณสำหรับกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลดค่าเงินจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่

ฤๅจะเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” รอบใหม่

นายไซมอน เดอร์ริก จากแบงก์ออฟ นิวยอร์ก เมลลอนวิเคราะห์ว่า รายต่อไปที่จะเคลื่อนไหวกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำลง คือ ตุรกี บราซิล อาจได้เห็นอินเดียหั่นดอกเบี้ยอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ หลังเพิ่งลดอัตราดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาดเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา

และประเมินว่า ไทยและเกาหลีใต้อาจทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ เพราะกรณีเงินบาทไทยอ่อนตัวในอัตราที่ช้ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เสียเปรียบด้านการส่งออก ประกอบกับดีมานด์ในประเทศซบเซา ขณะที่เกาหลีใต้ ได้รับผลกระทบหนักจากการอ่อนตัวของเงินเยนญี่ปุ่น คู่แข่งสำคัญด้านการส่งออกเพราะขายสินค้ากลุ่มเดียวกัน

มาตรการคิวอีและการลดอัตราดอกเบี้ย ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า โดยสหรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญทำให้เริ่มมีความกังวลถึงฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐ

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ดูจะตอบรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแง่บวก เพราะช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดเงินตลาดทุน แต่สงครามค่าเงินรอบนี้จะจบลงยังไงเพราะแต่ละประเทศคงไม่สามารถกดค่าเงินให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ตลอดไป และอาจปะทุเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ได้

เกม 2 ยักษ์ ศก.เขย่าตลาดเงินโลก

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่างจาก 5 ปีก่อนอย่างมาก โดยมีเหตุใหญ่มาจากสหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่องกลับ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังปล่อยสภาพคล่องออกมา อัดเงินเข้ามาเพิ่มและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ จนเกิดเป็นแรงกดดันที่ต่างกัน ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ต้องปรับตัวรับ

“ตอนนี้น้ำที่เคยขึ้นพร้อม ๆ กัน กลับสวนทางกันแล้ว โลกกำลังเตรียมรับมือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 17-18% นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (29 ม.ค.) ค่าเงินยูโรอ่อนลงมาก”

เวลานี้จึงเห็นถึงการปรับตัวของหลาย ๆ ประเทศรับมือแรงกดดันที่ไม่เท่ากันนี้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบยูโรที่ทำให้เงินฟรังก์แข็งค่าขึ้น 20% สิงคโปร์ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์เทียบดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าเร็วเกินไป

“ผมคิดว่าตอนนี้ไม่ใช่การทำสงครามค่าเงิน แต่ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากสกุลเงินหลักเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนที่เหลือจึงต้องเอาตัวรอด ไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้ แม้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะนิ่ง แต่ถ้าดูที่ค่าบาทเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าคู่แข่งจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น”

ไทยคงดอกเบี้ย 2% ท่ามกลางความผันผวน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการคงอัตรานี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังหารือถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากอีซีบีประกาศใช้คิวอีซึ่ง ธปท.ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้เงินไหลเข้าเอเชียมากนัก แตกต่างจากครั้งที่เฟดประกาศใช้คิวอีและทำให้มีเงินเข้ามาในเอเชียค่อนข้างมาก

“ธปท.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการดอกเบี้ยในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ เนื่องจากยังมีมาตรการอื่นในการดูแลอีกหลายเครื่องมือ อีกทั้งเมื่อดูการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนในปัจจุบัน ก็พบว่าเป็นการเคลื่อนไหวปกติ” นายเมธีกล่าวและว่า

ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.กล่าวว่า ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) เมื่อ 27-28 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00-0.25% เป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การจ้างงานเข้มแข็งขึ้น และผลของราคาพลังงานที่ปรับลดลงอาจส่งผลให้เงินเฟ้อโน้มต่ำลงต่อไปในระยะสั้น ทำให้ตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังของปี ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินภูมิภาค

และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยว่าจะอยู่ในเกม “สงครามค่าเงิน” นี้อย่างไร