เปิดตัวรองเอ็มดีใหม่ “กรุงไทย”

เปิดตัวรองเอ็มดีใหม่ “กรุงไทย” ลับคมธุรกิจปูทางขึ้น “แชมป์”

กระบวนการปรับองค์กรและเสริมเขี้ยวเล็บให้ธนาคารกรุงไทย เป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจแบงก์ เปลี่ยนภาพลักษณ์ “แบงก์รัฐ” เป็น “แบงก์พาณิชย์” ที่มีทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้แข่งขันกับแบงก์เอกชนรายใหญ่ให้ได้ ถือเป็นเป้าหมายที่ “วรภัค ธันยาวงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มุ่งมั่นจะทำให้เกิดขึ้น

ขณะที่ผลประกอบการในปี 2557 ที่ผ่านมา แบงก์แห่งนี้มีกำไรสุทธิ 33,196 ล้านบาท ลดลง 3.81% จากปีก่อนหน้า มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 69,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.47% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ 27,909 ล้านบาท ลดลง 6.50% เป็นเงินให้สินเชื่อ 1,897,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.92% เงินฝาก 2,151,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.22% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NET NPLs) 1.34% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 1.49%

สำหรับในปี 2558 กรุงไทยอยู่บนเส้นทางเฟส 2 ซึ่ง “วรภัค” ได้ชักชวนผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานหลายคน

เริ่มที่สายงานที่ต้องสัมผัสกับลูกค้าจำนวนมาก “ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย บอกว่า ปัจจุบันกรุงไทยมี “ฮาร์ดแวร์” หรือโครงสร้างธุรกิจที่ดีมากอยู่แล้ว ด้วยจำนวนสาขาที่มากที่สุดถึง 1,198 แห่ง แต่ต้องพัฒนาด้าน “ซอฟต์แวร์”

โดยยกตัวอย่างซอฟต์แวร์ว่า ประกอบด้วยการคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อุดช่องว่างในตลาด การวางกลยุทธ์ โดยปีนี้จะให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าภาคเอกชนเพิ่มขึ้น หรือใช้กลยุทธ์ด้านราคาในจุดที่จำเป็น การปรับปรุงกระบวนการทำงานการให้บริการ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง ผ่านโครงการกระบวนการทำงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) Loan Factory ซึ่งเป็นการปรับกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวมศูนย์ที่สำนักงานใหญ่จากเดิมให้เขตกับสาขาดำเนินการ 2)การตามหนี้ (Loan Collection) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน เพราะการตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะลด NPLs ได้มาก และ 3) การใช้ข้อมูลเพื่อเข้าใจความเสี่ยงของลูกค้า (Data Analytic)

md

ส่วน “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ เล่าว่า งานของเขาจะโฟกัสใน 5 Ps ได้แก่ Porfolio, Product Capacity, Process, Performance และ People

โดยอธิบายว่า ในด้านพอร์ตโฟลิโอ จะมุ่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับลดขั้นตอนทำงาน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดกลุ่มลูกค้าใน 3 ระดับ ได้แก่ แพลทินัม โกลด์ และซิลเวอร์

ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่เป็นแบ่งเป็น CBC 1 และ CBC 2 (CBC-Corporate Banking Cent) เพราะแต่ละกลุ่มมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้าน ธุรกรรมการเงิน (Transaction Banking) การจัดการเงินสด สินเชื่อเพื่อการค้า การบริหารความเสี่ยง และการระดมทุน

นอกจากนี้ก็ต้องปรับปรุงกระบวนการระเบียบการอนุมัติสินเชื่อ การสร้างความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรให้ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (RM) เข้าใจถึงผลิตภัณฑ์และมีคำแนะนำที่ดีและเหมาะสมให้ลูกค้า สุดท้ายคือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ให้สามารถมองเห็นความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดที่สุด จับจุดที่ลูกค้าอาจยังมองไม่เห็นได้

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนที่จะทำให้ 2 ส่วนแรกมีสินค้าและบริการที่ดี โดดเด่น ไปเสิร์ฟลูกค้าทุกกลุ่มทุกระดับได้ “ผยง ศรีวณิช” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Market เล่าว่า เนื่องจากสายงานนี้เป็นสานงานใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งมาเพิ่มความคมให้กับธุรกิจ เพื่อให้บริการทั้งด้านข้อมูลและผลิตภัณฑ์การเงินให้กับลูกค้า

“หลังจากนี้จะรุกตลาดมากขึ้น จะเป็นการทำงานที่สอดรับและสนับสนุนกับฝ่ายธุรกิจขนาดใหญ่ เครือข่าย และรายย่อยตลอดเวลา เพื่อทำให้กรุงไทยมีที่สินค้าด้านตราสารหนี้ การแลกเปลี่ยนเงินตรา การลงทุน ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของแบงก์ไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ภายในปี 2561 ให้ได้”

ส่วน “ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนงานหลังบ้านที่สำคัญของแบงก์ และเขาบอกว่า เป้าหมายภายใน 5 ปี จะทำให้ธุรกิจส่วนนี้มีส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10%

ทั้งหมดนี้ เป็นแผนงานที่ท้าทายความสามารถผู้บริหารใหม่เป็นอย่างยิ่ง

แอบรักออนไลน์

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ดูละครหลังข่าวเรื่องใหม่ชื่อ “แอบรักออนไลน์” เพียงหนึ่งหรือสองตอนผมก็รู้สึกว่าละครเรื่องนี้น่าจะ “ฮิต” พอสมควรโดดเฉพาะสำหรับ “คนเมือง” หรือคนที่อยู่ในเมือง มีการศึกษาและฐานะค่อนไปทางดี ไม่ใช่ตลาด “Mass” หรือผู้ชมที่อยู่ในชนบทซึ่งจะเป็นอีกตลาดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพูดถึงละครเรื่องนี้ เราก็ควรจะทำความเข้าใจเสียก่อนว่าตลาดละครหรือรายการต่าง ๆ ในทีวีที่เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่นั้น น่าจะมีอยู่ซัก 2-3 ตลาดนั่นก็คือ ตลาดกลุ่ม “รากหญ้า” นี่คือรายการที่เป็นที่นิยมของคนในชนบทเป็นส่วนใหญ่ รายการจะเน้นไปที่ความสนุกสนานแบบ “ตรงไปตรงมา” เป็นเรื่องชีวิตและความฝันของ “ชาวบ้าน” นักแสดงและดาราที่นำเสนอก็จะมีความเป็น “ชาวบ้าน” ที่ผู้ชมสัมผัสได้เพราะไม่ได้มี “ตระกูลรุนชาติ” เนื้อหาก็มักจะมีเรื่องของความ “ตลกโปกฮา” ปะปนอยู่เสมอ หรือไม่ก็เป็นการ “ขายฝัน” ว่าจะร่ำรวยและมีฐานะดีขึ้นในชั่วข้ามคืนจากอะไรบางอย่างที่เป็นไปได้แต่โอกาสเกิดน้อย เช่น การ “ถูกหวย” หรือการได้แต่งงานกับเศรษฐีหรือ “คุณชาย” ที่มีตระกูลสูง

setlnw-แอบรัก

ตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งก็คือตลาด “คนเมือง” หรือคนที่อาศัยอยู่ในเมือง คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปที่มีการศึกษาและฐานะดีกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในประเทศ ละครหรือรายการที่พวกเขาชอบดูนั้น จะเป็นเรื่องที่ “ซับซ้อน” ขึ้นมาบ้าง จะต้องมีการคิดคาดการณ์ปฏิกิริยาและความคิดของตัวละครหรือเรื่องราวต่าง ๆ แม้ว่าจะเดาไม่ยากนัก เนื้อเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องของ “คนเมือง” เช่น เป็นชีวิตในสำนักงาน ชีวิตของคนที่มีอาชีพที่มีคนรู้จักและเกี่ยวข้องกันมาก เช่น เป็นหมอ เป็นแอร์โฮสเตส ข้าราชการ คนบันเทิงอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ดาราหรือผู้นำเสนอรายการเองนั้น ก็จะต้องเป็นคนที่ดู “ไฮโซ” หน้าตาจะต้อง “อินเทรนด์” ออกแนว “ลูกครึ่ง” หรือแบบ “เกาหลี” การแต่งหน้าแต่งตัวนั้นจะต้องออกแนว “เป๊ะเวอร์” บ้านจะต้อง “อลังการ” แม้ว่าตามเรื่องเจ้าของจะเป็น “คนจน” ส่วนเนื้อเรื่องหรือสาระนั้นก็จะออกแนว “ชิงรักหักสวาท” หรือแนว “โรแมนติกคอมเมดี้” ที่เน้นความน่ารัก ซาบซึ้งและความตลกที่ “ไม่ได้ตั้งใจแสดง”

ส่วนอีกตลาดหนึ่งที่น่าจะมีขนาดใหญ่ก็คือ ตลาด “ทั้งหมด” นั่นก็คือ เป็นรายการที่ดูกันได้ทุกกลุ่มทุกชนชั้น แนวก็จะพยายามครอบคลุมเรื่องที่เป็น “กลาง ๆ” เช่น เรื่องราวประวัติศาสตร์ย้อนยุคที่มีการ “ดัดแปลง” ให้ “ดูดี” ในสายตาของคนยุคปัจจุบัน เช่น ดารานำแสดงอาจจะเป็น “ลูกครึ่ง” ที่ดูสวยหล่อ ธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัยและไม่มีใครเขาทำกันแล้วก็จะต้องมีดัดแปลงให้สมจริงขึ้น ถ้าเป็นรายการวาไรตี้หรือทอล์คโชว์ก็จะต้องเป็นเรื่องที่กลาง ๆ และคนส่วนใหญ่สนใจ เช่น เป็นเรื่องแปลก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ดาราหรือแขกรับเชิญนั้นก็จะต้องไม่จำกัดเฉพาะที่เป็น “ไฮโซ” แต่จะต้องไม่ใช่ “ชาวบ้าน” จากชนบทที่จะทำให้รายการเปลี่ยนไปทันทีเป็นแบบ Mass ถ้าเป็นเรื่องของละครก็จะออกแนวยุค “ซิกตี้” หรือประมาณซัก 40-50 ปี ที่คนไทยเริ่มพัฒนาประเทศเป็นแบบสมัยใหม่ที่ยังมี “คุณชายรุ่นสุดท้าย” ที่หล่อเหลาขับรถหรูเป็นชายในฝันของหญิงทุกคนแต่ยังมี “ท่านแม่” ที่อาจจะคอยกีดกันความรักที่มีกับ “สามัญชน” อะไรทำนองนี้

ผมพูดออกนอกเรื่องไปไกลก็เพื่อจะให้ภาพตลาดของสื่อซึ่งนอกจากจะสะท้อนถึงธุรกิจด้านของทีวีและอีกหลาย ๆ เรื่องแต่นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมจะพูดถึง สิ่งที่ผมต้องการวิเคราะห์จริง ๆ ก็คือ Content หรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอโดยเฉพาะที่ผ่านทางทีวีซึ่งยังเป็นช่องทางหลักของไทยนั้น แท้ที่จริงมันเป็นสิ่งที่ “สะท้อนภาพของสังคม” กล่าวคือ ถ้าสังคมกำลังเป็นอย่างไรหรือคนกำลังนิยมอะไร ละครในทีวีก็จะแสดงออกอย่างนั้น ทีวีนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่ “ผู้นำ” แต่เป็น “ผู้ตาม” แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อทีวีมีการนำเสนอ มันก็จะส่งผลให้คนอื่น ๆ ทำตามหรือคิดตามด้วย ซึ่งก็จะช่วย “กระพือ” ให้สิ่งนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็น “กระแส” หรือมีคนทำกันมากขึ้นนิยมกันมากขึ้นจนกว่ามันจะเป็นกระแสหลัก หรือไม่อย่างนั้น ความนิยมก็จะค่อย ๆ หายไปเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่คนหรือสังคมต้องการให้มันคงอยู่อย่างถาวรจริง ๆ แต่เป็นเพียง “แฟชั่น” ที่ขึ้นอยู่กับ “ช่วงเวลา” อันสั้นนั่นก็คือ “ดัง” ถึงขีดสุดแล้วก็ค่อย ๆ “ดับ” ไป

ละครเรื่องแอบรักออนไลน์นั้น ผมคิดว่าสะท้อน “สังคมยุคใหม่” อย่างน้อย 2 เรื่องที่ผมไม่ใคร่ได้เห็นในละครหลังข่าวเรื่องอื่นมากนักนั่นก็คือ เรื่องแรก สังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมที่น่าจะ “ออนไลน์” กันอย่างมีนัยสำคัญและละครหลังข่าวเริ่ม “สะท้อน” มันออกมา คนที่อ่านบทความนี้อาจจะมีความรู้สึกเหมือนว่าสังคมไทยนั้นติดต่อและพูดคุยผ่านอินเตอร์เน็ตมานานแล้วเนื่องจากตนเองทำมานานและเพื่อน ๆ ก็ออนไลน์มาตั้งนานแล้ว แต่ถ้าไปถาม “ชาวบ้าน” ทั่ว ๆ ไป ผมคิดว่าเราจะได้คำตอบมาอีกอย่างหนึ่ง เนื้อเรื่องของละครนั้น จะเดินผ่านข้อความออนไลน์ที่นักแสดงส่งถึงกันเป็นจำนวนมาก แม้แต่คนที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกันและอาจจะนั่งใกล้ ๆ กันก็อาจจะส่งข้อความกันแทนที่จะพูดกัน และผมเชื่อว่า การออนไลน์นั้นก็อาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่กับเราอย่างถาวรได้

เรื่องที่สองที่ละครสะท้อนมันออกมาและผมเห็นว่าน่าสนใจมากก็คือ “หุ้น” ในอดีตนั้น เรื่องของหุ้นที่จะปรากฏออกมาทางละครหลังข่าวนั้น อย่างมากก็เป็นแค่ว่าตัวแสดงนั้นประกอบอาชีพเกี่ยวกับหุ้นและไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้กระทบกับตัวแสดงคนอื่น เช่น ไปเทคโอเวอร์ธุรกิจที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนอะไรทำนองนี้ แต่ในกรณีของแอบรักออนไลน์นั้น ดาราตัวเอกทั้งหมดอยู่ในบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งให้บริการในการซื้อขายหุ้นให้กับลูกค้า ฉากหลักของเรื่องนั้นอยู่ในออฟฟิสที่มีหน้าจอคอมพิวเตอร์ซื้อขายหุ้น ว่าที่จริงมีแม้กระทั่งฉากการแสดงการวิเคราะห์หุ้นด้วยกราฟและตัวเลขที่ใช้ในการตัดสินใจเรื่องการซื้อขายหุ้นด้วย

ตัวเอกของเรื่องเองนั้น ก็เป็นการบอกว่าเรื่องหุ้นนั้น เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นนำของสังคม โดยที่พระเอกอันดับหนึ่งเรียนจบจากคณะวิศวชั้นนำระดับประเทศ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ นางเอกซึ่งจบจากบอสตันที่ถือว่าเป็นสถานที่ศึกษาของคนชั้นสูงของไทย นี่ก็หมายความว่าอาชีพหรืองานทางการเงินโดยเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหุ้นนั้น เป็นความเท่ เป็นงานที่มีเกียรติ และเป็นงานที่คนใฝ่ฝันอยากทำ ในอีกมุมหนึ่ง การที่ให้นางเอกเรียนจบมหาวิทยาลัยดังจากเมืองนอกแทนที่จะเป็นพระเอก ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมไทยที่ผู้ชายไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำหรือผู้ที่เหนือกว่าอย่างในละครรุ่นเก่าอีกแล้วที่ผู้ชายต้องเป็นคุณชายและนางเอกเป็นคนธรรมดา

ยังมีฉากและเรื่องราวอีกมากที่บ่งบอกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาเป็นสังคมยุคใหม่ในละครเรื่องนี้ ในอเมริกานั้น เราเห็นหนังเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นมาตลอดเวลานานแล้ว เรื่องล่าสุดที่ผมดูมาก็คือ The Wolf of Wall Street ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ความโลภและมุมมืด” ในตลาดหุ้น หุ้นและตลาดหุ้นในอเมริกาอาจจะถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในระดับ Mass ในสังคมมานานแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับหุ้นถ้าจะทำเป็นหนังจะต้องมีจุดเฉพาะเช่น ความโลภอย่างหนัก เป็นต้น แต่ในตลาดหุ้นไทยนั้น หุ้นคงกำลัง “ไต่ระดับ” ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยบางกลุ่มมากขึ้นเรื่อยแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ ละครเรื่องแอบรักออนไลน์นั้น เป็นจุดที่บอกว่า ตอนนี้หุ้นกำลัง “มาแรง” และมีคนเกี่ยวข้องสนใจมากพอที่จะนำเสนอในละครได้แล้ว ดังนั้น เราคงต้องระวังและจับตาดู เพราะอะไรที่มาแรงเกินไปนั้น แม้ว่าในระยะยาวมันก็ยังไปต่อได้ แต่ในระยะสั้น มันก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงแรงเช่นกัน สำหรับผม การเปิดตัวของละครเรื่องนี้ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในด้านของความบันเทิงแล้ว ผมก็ขอ “แอบรัก” ผลงานของคุณ แอน ทองประสม ที่ผมคิดว่าทำได้ดีมาก ทั้งการแสดงและการทำละครเรื่องนี้

‘ดีเอสไอ’ลุยสอบปั่นหุ้นโซลูชั่น

“ดีเอสไอ” เร่งสอบคดีปั่นหุ้น “โซลูชั่น คอนเนอร์” เรียก”ก.ล.ต.” เข้าให้ปากคำ ยันดำเนินคดีตามพยานหลักฐาน

ขณะ “กมธ.ยกร่างฯ” เล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ หวังสกัดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็น และปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เกรงกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

หลังจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยืนหลักฐานการสร้างราคาหุ้นบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 และตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา

ล่าสุดวานนี้ (8 ม.ค.) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีปั่นหุ้นบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ว่า สำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานก.ล.ต. ในฐานะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มาให้การประกอบสำนวนคดีแล้ว

หลังจากนี้จะสอบสวนดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน โดยคดีนี้ ก.ล.ต. ตรวจพบพฤติการณ์การปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในปี 2553 และได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอเมื่อ เดือนก.ย. 2557 ที่ผ่านมา โดยขอให้ดีเอสสอบสวนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของ นายฉาย บุนนาค กับพวก ซึ่งมีพฤติกรรมปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะของการสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหุ้น

สำหรับคดีนี้เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ซึ่ง ก.ล.ต. พบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์ ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย. 2553 ที่มีสภาพผิดไปจากปกติจากการกระทำของผู้ต้องสงสัย 11 ราย ซึ่งเป็นการซื้อแบบกระจายตัว และการส่งคำสั่งซื้อขายของบัญชีต้องสงสัย 9 บัญชี มีนัยเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.10 บาท. ในวันที่ 30 มี.ค.2553 เป็น 7.20 บาท ในวันที่ 29 เม.ย.2553 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18.30% โดยสวนทางกับดัชนีตลาดเอ็ม เอ ไอ หรือ MAI ที่ปรับตัวลดลง 3.35%

นอกจากนี้ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ก่อนช่วงเวลาต้องสงสัย 30 วันทำการ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาต้องสงสัย 18 วันทำการ เพิ่มขึ้นจาก 660,000 หุ้น เป็น 2,240,000 หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 239.4% โดยไม่มีสารสนเทศที่มีนัยสำคัญสนับสนุนทางการเพิ่มขึ้นของราคา การเพิ่มขึ้นของราคาและปริมาณหุ้นที่ผิดปกติเกิดจากคำสั่งซื้อหุ้นของบุคคลต้องสงสัย 9 ราย ซึ่งคิดเป็น 55.64% ของปริมาณการซื้อขายทั้งตลาด

จากการโทรสอบถามนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว แต่กลับไปรับการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้

“ผมไม่สะดวกที่จะคุย” นายอารักษ์ กล่าว

กมธ.ยกร่างฯเล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ

ด้านความคืบหน้าตามประเด็นการพิจารณารายละเอียดในหลักการเฉพาะเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ได้กำหนดให้มีคณะทำงานคณะเล็กไปพิจารณานั้น

แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน นอกจากจะคงบทบัญญัติด้านสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนกำหนดไว้แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญใหม่ คือ กรณีที่บุคคลจะเข้าครอบงำหลายสื่อเพื่อก่อให้เกิดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็นและนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะกระทำไม่ได้ เพราะส่วนดังกล่าวถือเป็นผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณา เช่น ในการทำข่าวต่างจังหวัดที่พบว่ามีนักท่องเที่ยวผูกคอตายในบังกะโลแห่งหนึ่ง แต่เจ้าของบังกะโลที่เป็นผู้มีอิทธิพลสั่งห้ามนักข่าวท้องถิ่นนำเสนอข่าว หากมีใครนำเสนอจะเกิดอันตรายกับนักข่าวคนนั้น ต่อไปจะถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องของประชาชน

ส่วนกรณีที่พบว่ามีนักธุรกิจกว้านซื้อหุ้นในธุรกิจสื่อมวลชนนั้น แหล่งข่าวบอกว่า เป็นประเด็นที่เข้ากรอบหลักการดังกล่าวเช่นกัน

ก.ล.ต.กล่าวโทษ11รายปั่นหุ้นโซลูชั่น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 ราย ได้แก่ 1.นายฉาย บุนนาค 2.นายปฐมัน บูรณะสิน 3.นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ 4.นายมีศักดิ์ มากบำรุง 5.นายอภินันทกานต์ พงศ์สถาบดี 6.นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ 7.นายทรี บุญปราศภัย 8.นายพาวิตต์ นาถะพินธุ 9.นางสาวชนาธิป ตันติพูนธรรม 10.นางสาวศิริญา ดำรงวิถีธรรม และ 11.นายไท บุญปราศภัย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีสร้างราคาหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์

สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา จึงตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร เช่น บัญชีข้อมูลการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ บัญชีแสดงการหมุนเวียนเงินภายในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งบัญชีกลาง บัญชีรายบุคคล บัญชีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้กับบุคคล 7 ราย ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน

ตลอดจนการให้ถ้อยคำยอมรับของผู้ต้องสงสัยบางราย เกี่ยวกับการควบคุมเงิน และการสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า นายฉาย นายปฐมัน และนายสุพิชยะ ได้ตกลงรู้เห็นร่วมกันซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของบุคคล 9 ราย ได้แก่ นายปฐมัน นายสุพิชยะ นายมีศักดิ์ นายอภินันทกานต์ นายเทพฤทธิ์ นายทรี นายพาวิตต์ นางสาวชนาธิป และนางสาวศิริญา

พบพฤติกรรมสั่งซื้อขายหุ้นผิดปกติ

โดยพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ของบุคคลกลุ่มนี้ มีลักษณะสอดรับกันในด้านจังหวะเวลา การส่งคำสั่งด้านซื้อและขายในปริมาณมากที่หลายระดับราคาเพื่อครองตลาด และควบคุมการเปลี่ยนแปลงราคา และทำราคาตลาดให้สูงขึ้นด้วยการส่งคำสั่งให้เกิดการซื้อขายระหว่างบัญชีของบุคคลในกลุ่ม อันเป็นการลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ซึ่งเมื่อมีผู้ลงทุนจำนวนมากหลงเชื่อและเข้าซื้อขายตาม บัญชีซื้อขายของบุคคลทั้ง 9 รายข้างต้นก็ทยอยขายทำกำไร โดยมีนายไทช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การกระทำในลักษณะข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม