“ตลท.” เชื่อมั่น “เอสอี” ไทยโตได้ ชวนภาคธุรกิจ-ภาคตลาดทุนหนุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเชื่อมั่น “กิจการเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise พร้อมเป็นกลไกสำคัญการลงทุนอย่างยั่งยืน เพราะตอบโจทย์ทั้งผลตอบแทนด้านการลงทุนและการแก้ปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม เชิญชวนภาคธุรกิจ ภาคตลาดทุนเข้ามาสนับสนุน

ลงทุน-ตลท-setlnw

ต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรม “SE Tour” ในงาน “คนไทยขอมือหน่อย ปี 2” เมื่อวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมสังคม GLab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรภาคสังคมและภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันเช้นจ์ฟิวชันฯ, กลุ่มทีวายพีเอ็น (Thai Young Philanthropist Network) , เจ.พี. มอร์แกน และมูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกันจัดงาน “ตลาดนัด SE: ธุรกิจน้ำดีของนักลงทุนรักษ์โลก” เปิดพื้นที่การเชื่อมต่อให้นักธุรกิจและนักลงทุนได้เรียนรู้งาน “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “Social Enterprise” ซึ่งหมายถึง กิจการที่ดำเนินการธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมธุรกิจไทย เพื่อร่วมพัฒนาโอกาสทางธุรกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกัน

ตลท-se

   ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจมานานด้วยหวังว่าประเทศจะพัฒนาขึ้น แต่ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกลับมีปัญหาสังคมตามมามากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้ความสำคัญกับการเข้ามาร่วมสร้างสังคมยั่งยืน ทั้งนี้ปัญหาสังคมจะแก้ได้ต้องมีคนที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่กิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise กำลังดำเนินการอยู่ก็เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำหลักการทางธุรกิจมาใช้ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น กิจการเพื่อสังคมจึงต้องประกอบไปด้วย 3 P คือ People หรือคน Planet หรือสิ่งแวดล้อม และ Profit คือ กำไร หรือการสร้างรายได้ ซึ่งเป็นทั้งกำไรที่กลับคืนสู่สังคมและกำไรที่ช่วยให้กิจการเติบโตได้

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในหลายมิติด้วยกัน เช่น จับคู่กองทุนร่วมทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ให้ได้พบกับกิจการเพื่อสังคม เพื่อมาร่วมลงทุนในกิจการที่นอกจากจะได้ผลตอบแทนทางการเงินแล้ว ยังได้ผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้กองทุนรวมออกกองทุนที่มาลงทุนในกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น รวมถึงกิจการเพื่อสังคมด้วย อย่างเช่น กองทุนรวมคนไทยใจดี ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน เปิดตัวไปเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว มีผู้สนใจร่วมลงทุนจนขนาดของกองทุนมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ ยังได้สื่อสารอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่แบ่งงบประมาณมาลงทุนหรือสนับสนุนนกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงพยายามสร้างเกณฑ์มาตรฐานการลงทุนอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วย

วิเชียร พงศธร

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า การจัดงานตลาดนัด SE ในวันนี้ทำให้มีความมั่นใจและรู้สึกว่ากิจการเพื่อสังคมมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น เพราะมีทั้งองค์กรสำคัญและเป็นผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ประกอบการสังคม และผู้ลงทุน มาช่วยกันผลักดันให้กิจการเพื่อสังคมเป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ของประเทศ

“กิจการเพื่อสังคมได้นำเรื่องของสังคมมาเป็นธุระ เป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกลไกที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยทรัพยากรทั้งทุน คน องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ระบบบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล งานในวันนี้เป็นช่องทางให้เกิดความร่วมมือ ผู้ที่เห็นโอกาสแก้ปัญหาสังคมยังต้องการการสนับสนุน ทุกวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน เพียงแค่การสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำบ้าง การสร้างความยั่งยืนที่มองแค่การสร้างความมั่งคั่ง จึงไม่พอแล้ว แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนต่อสังคมด้วย”

นิตยา

รศ.ดร. นิตยา วัจนะภูมิ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวว่า การจัดงาน “ตลาดนัด SE: ธุรกิจน้ำดีของนักลงทุนรักษ์โลก” ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่สำคัญก็คือองค์กรที่มีนโยบายอย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันขับเคลื่อนงานกิจการเพื่อสังคมรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้พยายามขยายผลความคิดให้ภาคธุรกิจและภาคตลาดทุนมาสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ จึงมีความหวังว่า กิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยจะเติบโตได้และมีส่วนในการแก้ปัญหาสังคม

“งานวันนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านหลักคิด และแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสังคมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การร่วมเป็นพันธมิตร ซื้อสินค้าและการบริการล่วงหน้า พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดการ รวมถึงลงทุนเพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม น่ายินดีค่ะที่มีนักธุรกิจและนักลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไปพัฒนางานอีกด้วย”

ทั้งนี้ กิจการเพื่อสังคมจำนวน 28 องค์กรที่มาร่วมจัดงานในวันนี้ เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการสังคม GLab Scaling Impact ที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 1 ปี โดย ได้รับการสนับสนุนจาก เจ.พี. มอร์แกน และมูลนิธิ เจ.พี. มอร์แกนเชส เพื่อดำเนินการอบรมสร้างเสริมความรู้และทักษะในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและสร้างผลลัพธ์ให้กับสังคมไทยในวงกว้างได้

“ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีศักยภาพสูง มีความเป็นผู้ประกอบการในตัวสูงและกล้าที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ รวมทั้งมีความตั้งใจดีที่จะลงมือทำเพื่อสร้างประโยชน์ที่ดีให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร วิทยาลัยฯ จึงสนใจที่จะส่งเสริมคนเหล่านี้ ทาง GLab ได้คัดเลือกผู้ที่ริเริ่มพัฒนาแบบทดลองความคิดทางธุรกิจ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ หรือการบริการ (Prototype) แล้วจากนั้นได้ส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจนจัดตั้งเป็นกิจการเพื่อสังคม”

สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่มาร่วมจัดงาน เป็นกิจการที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาสังคมที่หลากหลาย เช่น การศึกษา การเกษตรและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการพัฒนาชุมชน เป็นต้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้พบปะกับนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้สนใจในธุรกิจ

 

 

ครบรอบ 40 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนา บจ.

ครบรอบ 40 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนา บจ. เพื่อให้ดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ครบรอบ 40 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนา บจ. เพื่อให้ดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และมีบรรษัทภิบาล เตรียมจัดอบรม 9 หลักสูตร พุ่งเป้าหมายที่จะสร้างคุณค่าในระดับองค์กร และสร้างคุณค่าในระดับสังคม

นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในปี 2558 ที่ ตลท. ครบรอบ 40 ปี การดำเนินงาน ตลท. ได้วางทิศทางองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการพัฒนา และยกระดับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และมีบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่ง บจ.ไทยได้ให้ความสำคัญ และมีพัฒนาการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง

การวางแนวทางการพัฒนา บจ. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมได้คำนึงถึงความพร้อมของ บจ. แต่ละรายทั้งในระดับเริ่มต้นที่จะเน้นการปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลผ่านรายงานแห่งความยั่งยืน สำหรับ บจ. ที่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจแล้ว จะเน้นที่การนำความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดเป็นกลยุทธ์องค์กร และเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจหลักให้คำนึงถึง ESG

ส่วน บจ.ในระดับที่มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตัวชี้วัดความยั่งยืนในระดับสากล ตลท. จะจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนของ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ทั้งในระดับ CEO และในระดับปฏิบัติการ การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องต่อแนวทางการพัฒนา ตลท. ให้เป็น Sustainable Stock Exchange (SSE) อันเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุน และเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ตลาดทุน

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2557) ตลท. จัดหลักสูตรอบรม บจ. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเข้มข้น โดยมี บจ. เข้าร่วมแล้วถึง 427 บริษัท คิดเป็น 70% ของ บจ.ทั้งหมด และมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 1,350 คน ในปีนี้จะจัดอบรมให้ความรู้ถึง 9 หลักสูตร และมุ่งเน้นให้ บจ. ที่เข้าร่วมโครงการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น”

นอกจากนี้ ตลท. ยังเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยล่าสุด ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจัดทำ “Thailand Sustainable Investment” ซึ่งรวบรวมรายชื่อ บจ.ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาลงทุน

นายอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจอย่างยั่งยืน ในฐานะวิทยากรโครงการอบรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ ตลท. กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมยังคงมุ่งเน้นในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างคุณค่าในระดับองค์กร และสร้างคุณค่าในระดับสังคม

นอกจากนี้ การเรียนรู้เรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตจะไม่ใช่ความรู้ในมุมกว้างอีกต่อไป แต่จะเจาะเป็นประเด็นเฉพาะทาง เช่น การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทาน (Responsible Supply Chain Management) การเคารพสิทธิมนุษยชน (Human Rights) การวิเคราะห์ความเสี่ยง และประเด็นสำคัญของความยั่งยืน (Sustainability Risk and Materiality Analysis) และการสื่อสารด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective CSR Communication)

รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานและการจัดการความรู้ (CSR Evaluation and Knowledge Management) ให้สอดคล้องต่อแนวทาง และมาตรฐานการประเมินในระดับสากล เพื่อแสดงให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงคุณค่าทางสังคมให้เป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าที่เป็นตัวเงิน

ปีมะแมคึก “10อสังหาฯ” จ่อเปิดโครงการ 3 แสนล้าน

เปิดแผนอสังหาฯปี”58 รายใหญ่-รายกลาง 10 บริษัท ลุยเปิดโครงการใหม่ทั้งแนวราบ-แนวสูง 242 โครงการ รวมมูลค่าขายกว่า 2.9 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเปิดตัว 181 โครงการ บิ๊กแบรนด์ “พฤกษาฯ” แชมป์เปิด 80 ไซต์ ขยายลงทุนต่างจังหวัดรับอานิสงส์เปิดเออีซี
ผู้สื่อข่าวสำรวจแผนเปิดโครงการปี 2558 ของบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่และรายกลางในตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 บริษัท (ดูตาราง) เตรียมแผนเปิดโครงการใหม่รวม 222-242 โครงการ มูลค่าขายรวมกว่า 2.9 แสนล้านบาท จากปีที่ผ่านมาเปิดตัวรวม 181 โครงการ

ทั้งนี้ ในจำนวน 10 บริษัท บมจ.พฤกษาฯยังคงเป็นบริษัทที่เปิดตัวมากที่สุดอยู่ที่ 70-80 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มสัดส่วนคอนโดมิเนียมจาก 20% เป็น 25% ส่วนแนวราบเตรียมขยายต่างจังหวัด เช่น ระยอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ขณะที่ปีก่อนเปิดตัว 62 โครงการ

setlnw-asangha

ศุภาลัยบุก ตจว.ไม่ยั้ง

ส่วน บมจ.ศุภาลัย ยังขยายโครงการในต่างจังหวัดต่อเนื่อง จะเปิดตัวโครงการในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวม 28-30 โครงการ มูลค่าโครงการกว่า 2.8-3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ 20-22 โครงการ และคอนโดฯ 8-10 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการต่างจังหวัด 12-13 โครงการ เน้นแนวราบ อาทิ จังหวัดสงขลาอย่างน้อย 1 โครงการ ชลบุรี 2 โครงการ ภูเก็ต 1 โครงการ

ขณะที่ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เจ้าตลาดคอนโดฯระดับกลาง-ล่าง วางแผนเปิดคอนโดฯใน กทม.และปริมณฑล 12 โครงการ มูลค่าโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท และแนวราบ 4 โครงการ ในจำนวนนี้มีที่ดินในมือพัฒนาทาวน์เฮาส์แล้ว 2 แปลงคือ 1) ลุมพินีทาวน์วิลล์ สุขสวัสดิ์ 26 จำนวน 170 ยูนิต และ 2) ลุมพินีทาวน์วิลล์ ทำเลซอยวัดกู้ จำนวน 120 ยูนิต ทั้ง 2 โครงการจะเป็นทาวน์เฮาส์ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 2 ล้านบาท

คิวเฮ้าส์-AP เคาะ 30 โครงการ

บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ ภายใต้การขับเคลื่อนแผนของซีอีโอคนใหม่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีแผนจะเปิดตัวไม่ต่ำกว่า 30 โครงการ เป็นแนวราบ 21-24 โครงการ และคอนโดฯ6-9 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีเปิดตัวโครงการในต่างจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชลบุรี ฯลฯ ส่วน บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) วางแผนเปิดตัว 20 โครงการ เป็นแนวราบ 10 โครงการ และคอนโดฯ 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีโครงการต่างจังหวัด

บมจ.แสนสิริ เตรียมเปิดโครงการใหม่ 18-20 โครงการ แยกเป็นแนวราบ 9-10 โครงการ และคอนโดฯ 10-11 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3.5 หมื่นล้านบาท จากปีที่ผ่านมาเปิดตัว 10 โครงการ แบ่งเป็นแนวราบ 8 โครงการ และคอนโดฯ 2 โครงการ ต่ำกว่าแผนที่ประกาศไว้ เนื่องจากคอนโดฯยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ปีนี้ค่อนข้างรุกหนักเตรียมเปิดโครงการใหม่ประมาณ 25 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นแนวราบ 21 โครงการ และคอนโดฯ 4 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการต่างจังหวัด 2 โครงการ ที่เขาใหญ่และจังหวัดระยอง ส่วนในกรุงเทพฯและปริมณฑลเน้นโครงการแนวราบโซนรัตนาธิเบศร์ บางบัวทอง ราชพฤกษ์ รับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ด้าน บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จะเปิดตัวคอนโดฯ 3-4 โครงการ มูลค่าโครงการ 7-8 พันล้านบาท

ปริญสิริ-เสนาฯขอแจม

ขณะที่ บมจ.ปริญสิริ จะเปิดโครงการใหม่ 5 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 5-6 พันล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 4 โครงการ คอนโดฯ 1 โครงการ ไฮไลต์คือทำเลศาลายามีที่ดิน 100 ไร่ จะเปิดตัวทั้งโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดฯ ส่วนปีที่ผ่านมาเปิด 6 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ปีนี้จะบุกมากขึ้น เปิดโครงการใหม่ 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 9 พันล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 5 โครงการ และคอนโดฯ 5 โครงการ จากปีที่ผ่านมาเปิด 6 โครงการ มูลค่าโครงการกว่า 3 พันล้านบาท

ลุ้นกำลังซื้อฟื้น

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการบมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็วจากปัจจัยภายในและภายนอก การวางแผนธุรกิจปีนี้ต้องทำอย่างรอบคอบและคอนเซอร์เวทีฟ หากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไม่ฟื้นตัว อาจจะทบทวนแผนธุรกิจใหม่

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 ทุกคนมองว่าดีกว่าปีนี้แน่นอน แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะดีแค่ไหน เพราะมีตัวแปรหลายอย่าง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจรัสเซียจะรุนแรงกว่านี้หรือไม่, กรณีสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบเกิดภาวะเงินทุนไหลออก, หนี้ครัวเรือนที่สูง ฯลฯ

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดเผยว่า บริษัททำแผนธุรกิจปี 2558 เสร็จแล้ว แต่จะขอดูตัวเลขปริมาณลูกค้าเข้าชมโครงการในเดือนมกราคม หากไม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อาจทบทวนแผนใหม่ เพราะตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา กำลังซื้อค่อนข้างชะลอตัว ถึงแม้จัดโปรโมชั่นก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร สะท้อนว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนมีผลต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยจริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อมั่นทำให้ชะลอซื้อที่อยู่อาศัยเท่านั้น

ส่วนการเปิดโครงการคอนโดฯต่างจังหวัด นอกจากโครงการชะอำและหัวหินที่เลื่อนจากปี 2557 ยังไม่มีแผนเปิดโครงการในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติม เพราะมีโครงการที่จอมเทียน ชลบุรี และอุดรฯ ที่สร้างเสร็จและยังมีซัพพลายเหลือขายบ้าง

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์การตลาด บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า แผนรับความเสี่ยงธุรกิจปีนี้จะให้ความสำคัญกับการรักษาระดับหนี้สินต่อทุนไม่ให้สูงกว่า 1 เท่า และบริหารโครงการแนวราบ-แนวสูงในพอร์ตอยู่ที่ 50 : 50 เพราะหากมีปัจจัยที่มากระทบเศรษฐกิจแรง ๆ การพัฒนาโครงการแนวราบสามารถชะลอลงทุนได้

‘ดีเอสไอ’ลุยสอบปั่นหุ้นโซลูชั่น

“ดีเอสไอ” เร่งสอบคดีปั่นหุ้น “โซลูชั่น คอนเนอร์” เรียก”ก.ล.ต.” เข้าให้ปากคำ ยันดำเนินคดีตามพยานหลักฐาน

ขณะ “กมธ.ยกร่างฯ” เล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ หวังสกัดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็น และปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เกรงกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

หลังจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยืนหลักฐานการสร้างราคาหุ้นบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 และตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา

ล่าสุดวานนี้ (8 ม.ค.) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีปั่นหุ้นบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ว่า สำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานก.ล.ต. ในฐานะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มาให้การประกอบสำนวนคดีแล้ว

หลังจากนี้จะสอบสวนดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน โดยคดีนี้ ก.ล.ต. ตรวจพบพฤติการณ์การปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในปี 2553 และได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอเมื่อ เดือนก.ย. 2557 ที่ผ่านมา โดยขอให้ดีเอสสอบสวนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของ นายฉาย บุนนาค กับพวก ซึ่งมีพฤติกรรมปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะของการสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหุ้น

สำหรับคดีนี้เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ซึ่ง ก.ล.ต. พบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์ ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย. 2553 ที่มีสภาพผิดไปจากปกติจากการกระทำของผู้ต้องสงสัย 11 ราย ซึ่งเป็นการซื้อแบบกระจายตัว และการส่งคำสั่งซื้อขายของบัญชีต้องสงสัย 9 บัญชี มีนัยเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.10 บาท. ในวันที่ 30 มี.ค.2553 เป็น 7.20 บาท ในวันที่ 29 เม.ย.2553 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18.30% โดยสวนทางกับดัชนีตลาดเอ็ม เอ ไอ หรือ MAI ที่ปรับตัวลดลง 3.35%

นอกจากนี้ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ก่อนช่วงเวลาต้องสงสัย 30 วันทำการ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาต้องสงสัย 18 วันทำการ เพิ่มขึ้นจาก 660,000 หุ้น เป็น 2,240,000 หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 239.4% โดยไม่มีสารสนเทศที่มีนัยสำคัญสนับสนุนทางการเพิ่มขึ้นของราคา การเพิ่มขึ้นของราคาและปริมาณหุ้นที่ผิดปกติเกิดจากคำสั่งซื้อหุ้นของบุคคลต้องสงสัย 9 ราย ซึ่งคิดเป็น 55.64% ของปริมาณการซื้อขายทั้งตลาด

จากการโทรสอบถามนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว แต่กลับไปรับการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้

“ผมไม่สะดวกที่จะคุย” นายอารักษ์ กล่าว

กมธ.ยกร่างฯเล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ

ด้านความคืบหน้าตามประเด็นการพิจารณารายละเอียดในหลักการเฉพาะเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ได้กำหนดให้มีคณะทำงานคณะเล็กไปพิจารณานั้น

แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน นอกจากจะคงบทบัญญัติด้านสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนกำหนดไว้แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญใหม่ คือ กรณีที่บุคคลจะเข้าครอบงำหลายสื่อเพื่อก่อให้เกิดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็นและนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะกระทำไม่ได้ เพราะส่วนดังกล่าวถือเป็นผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณา เช่น ในการทำข่าวต่างจังหวัดที่พบว่ามีนักท่องเที่ยวผูกคอตายในบังกะโลแห่งหนึ่ง แต่เจ้าของบังกะโลที่เป็นผู้มีอิทธิพลสั่งห้ามนักข่าวท้องถิ่นนำเสนอข่าว หากมีใครนำเสนอจะเกิดอันตรายกับนักข่าวคนนั้น ต่อไปจะถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องของประชาชน

ส่วนกรณีที่พบว่ามีนักธุรกิจกว้านซื้อหุ้นในธุรกิจสื่อมวลชนนั้น แหล่งข่าวบอกว่า เป็นประเด็นที่เข้ากรอบหลักการดังกล่าวเช่นกัน

ก.ล.ต.กล่าวโทษ11รายปั่นหุ้นโซลูชั่น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 ราย ได้แก่ 1.นายฉาย บุนนาค 2.นายปฐมัน บูรณะสิน 3.นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ 4.นายมีศักดิ์ มากบำรุง 5.นายอภินันทกานต์ พงศ์สถาบดี 6.นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ 7.นายทรี บุญปราศภัย 8.นายพาวิตต์ นาถะพินธุ 9.นางสาวชนาธิป ตันติพูนธรรม 10.นางสาวศิริญา ดำรงวิถีธรรม และ 11.นายไท บุญปราศภัย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีสร้างราคาหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์

สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา จึงตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร เช่น บัญชีข้อมูลการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ บัญชีแสดงการหมุนเวียนเงินภายในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งบัญชีกลาง บัญชีรายบุคคล บัญชีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้กับบุคคล 7 ราย ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน

ตลอดจนการให้ถ้อยคำยอมรับของผู้ต้องสงสัยบางราย เกี่ยวกับการควบคุมเงิน และการสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า นายฉาย นายปฐมัน และนายสุพิชยะ ได้ตกลงรู้เห็นร่วมกันซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของบุคคล 9 ราย ได้แก่ นายปฐมัน นายสุพิชยะ นายมีศักดิ์ นายอภินันทกานต์ นายเทพฤทธิ์ นายทรี นายพาวิตต์ นางสาวชนาธิป และนางสาวศิริญา

พบพฤติกรรมสั่งซื้อขายหุ้นผิดปกติ

โดยพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ของบุคคลกลุ่มนี้ มีลักษณะสอดรับกันในด้านจังหวะเวลา การส่งคำสั่งด้านซื้อและขายในปริมาณมากที่หลายระดับราคาเพื่อครองตลาด และควบคุมการเปลี่ยนแปลงราคา และทำราคาตลาดให้สูงขึ้นด้วยการส่งคำสั่งให้เกิดการซื้อขายระหว่างบัญชีของบุคคลในกลุ่ม อันเป็นการลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ซึ่งเมื่อมีผู้ลงทุนจำนวนมากหลงเชื่อและเข้าซื้อขายตาม บัญชีซื้อขายของบุคคลทั้ง 9 รายข้างต้นก็ทยอยขายทำกำไร โดยมีนายไทช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การกระทำในลักษณะข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม