มารู้จักกรีนบอนด์กันเถอะ

กรีนบอนด์ เป็นตราสารหนี้เช่นเดียวกับพันธบัตรทั่วไป แต่ต่างกันตรงเงินที่ระดมจากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาออกกรีนบอนด์ในตลาดสะท้อนถึงกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การคำนึงถึงความยั่งยืนจากการลงทุนมากขึ้น

การลงทุนแบบยั่งยืนเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้นโดยดัชนีตลาดหุ้นต่างๆที่คำนวณตามเกณฑ์มาตรฐานด้านจริยธรรมและความยั่งยืนได้เริ่มนำมาใช้ราว 15 ปีที่แล้ว นักลงทุนสถาบันกว่า 1,200 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร มูลค่ารวมกันราว 45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ และประกาศจุดยืนในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาใช้พิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนในอนาคต

ปัจจุบันนักลงทุนสถาบันหลายรายกำลังให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรที่มักจะออกมาเพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือพลังงานสะอาด

สำนักวิจัยระดับโลกของเอชเอสบีซีประเมินว่าการออกพันธบัตรระดมทุนที่มีลักษณะเข้าข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในปี 2555 มีมูลค่ารวมกัน 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการกำหนดคำนิยามและประเภทของกรีนบอนด์ยังไม่ชัดเจน

แต่จากมูลค่าทั้งหมด กรีนบอนด์ในขณะนี้ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก พันธบัตรรุ่นแรกที่เรียกเป็น “กรีนบอนด์” ได้อย่างชัดเจน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ในปี 2550 และตั้งแต่นั้นมาตลาดกรีนบอนด์ได้ขยายตัวในอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 55 ต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีการออก “กรีนบอนด์” มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 1.1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2556

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพันธบัตรรุ่นใหม่ที่สะท้อนแนวคิดด้านความยั่งยืนในลักษณะอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีการออก “พันธบัตรเพื่อสังคม” รุ่นแรก เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา พันธบัตรเพื่อสังคมรุ่นต่อ ๆ มามักจะเน้นการระดมทุนเพื่อการศึกษา สุขภาพอนามัย การประกอบธุรกิจของสตรี มาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน และโครงการเพื่อชุมชนระดับท้องถิ่น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า เงินทุนที่ได้จากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ด้านใดได้บ้าง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในโครงการ 3 ด้านหลัก ๆ คือ

-โครงการพลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทน พลังงานที่จำกัดปริมาณคาร์บอน หรือโครงการที่ลดปัญหาความสิ้นเปลืองของพลังงาน

-โครงการที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารสำนักงาน ในอุตสาหกรรม และการขนส่ง

-โครงการที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมด้านการเกษตร ป่าไม้ แหล่งน้ำ ของเสีย และการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลักๆ หลายแห่ง รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ธนาคารโลก (World Bank) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (The International Finance Corporation) เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มกรีนบอนด์ โดยได้ออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุนในโครงการที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งต่อมาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้ทำตาม

ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งก็เริ่มออกกรีนบอนด์ของตนเองเช่นกัน เพื่อระดมทุนให้กับโครงการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ และกระจายฐานนักลงทุนของบริษัท ความต้องการลงทุนในกรีนบอนด์ขณะนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันรายใหญ่หลายรายได้ตัดสินใจลงทุนในกรีนบอนด์มากขึ้นจากแต่เดิมที่ค่อนข้างระมัดระวังบางรายถึงกับประกาศจุดยืนการลงทุนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการระดมทุนและการสร้างความยั่งยืนทางภูมิอากาศ

หลักการและข้อกำหนดของกรีนบอนด์เริ่มประกาศใช้ในเดือนมกราคม2557เพื่อให้ผู้ออกกรีนบอนด์ใช้เป็นมาตรฐานในการถือปฏิบัติแบบสมัครใจ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดกรีนบอนด์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารระหว่างประเทศรวมทั้งเอชเอสบีซีซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายเงินที่ระดมได้การประเมินและคัดสรรโครงการที่เหมาะสม การบริหารเงินทุนที่ระดมได้ และจัดทำรายงานการใช้เงิน การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์โดยหน่วยงานอิสระ

ตลาดกรีนบอนด์ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น แต่เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน และเมื่อตลาดนี้ขยายตัวขึ้น คาดว่ากรีนบอนด์จะได้รับความสนใจมากขึ้นว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ การกำหนดหลักการและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์ถือเป็นก้าวแรกในความพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตลาด ส่วนก้าวต่อไปคือการกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนในพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพรวมของผลการดำเนินงานปี 57 เติบโตเล็กน้อย และเติบโตต่อเนื่องในปี 58

 

KTB : คาดกำไร 4Q57 เพิ่มขึ้น 7% และ 27% และคงประมาณกำไรปี 57 ซึ่งเติบโตราว 2%

คาดกำไร 4Q57 ของ KTB ราว 9.6 พันล้านบาทเติบโต 7% และ 27%และคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ราว 3.46 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 2% ทั้งนี้มีสินเชื่อเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารราว 8% เนื่องจากการเติบของสินเชื่อในทุกกลุ่มทั้งสินเชื่อเอกชนและสินเชื่อภาครัฐ ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรทั้งปี 57 ที่ราว 3.46 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโตราว 2% จากปี 56 และคาดจะเติบโตต่อเนื่องราว 7% ในปี 58 จากปัจจัยหนุนของการเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่ายังดีต่อเนื่องตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 58 และการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.60 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-การเติบโตสินเชื่อที่ต่ำกว่าคาดทำให้ประมาณกำไรปี 57 สำหรับ BBL เติบโตเล็กน้อยเพียง 3%

คาดกำไรปกติในช่วง 4Q57 ของ BBL ทรงตัวใกล้เคียงกับ 3Q57 ที่ระดับ 9.6 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 24%แม้ว่าการเข้าสู่ฤดูกาลในช่วงปลายปีช่วยหนุนให้สินเชื่อ 11 เดือนแรกปี 57 พลิกมาเติบโตจากปลายปี 56 เทียบกับที่หดตัวใน 3Q57 แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการคืนหนี้ก้อนใหญ่ทำให้สินเชื่อปี 57 เติบโตเพียง 1-2% ต่ำกว่าเป้าที่ระดับ 4-5% ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากไตรมาสที่แล้วเนื่องจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากการออกแคมเปญเพื่อระดมเงินฝากในการเพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับทรงตัวจากไตรมาสที่แล้วจากลูกค้าบางรายที่มีปัญหาตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วแต่พอร์ตโดยรวมยังมีคุณภาพดี ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของสินเชื่อเหลือ 2% จากเดิม 5% ส่งผลให้ประมาณกำไรปี 57 ลดลง 3% เหลือ 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 3% จากปี 56 และปรับประมาณการกำไรปี 58 ลดลงจากเดิม 10% เหลือ 4.1 หมื่นล้านบาทซึ่งยังเติบโต 10% บนสมมติฐานว่าสินเชื่อในปี 58 จะกลับมาเติบโตราว 5% ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งจากการมีสาขาในต่างประเทศเป็นจำนวนมากรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 247 บาทจากเดิม 257 บาท (P/BV 1.4 เท่า)

-KBANK : แม้กำไร 4Q57 มีแนวโน้มแผ่วลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่คาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 12%

ฝ่ายวิจัยคาดกำไร 4Q57 ราว 1 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 20% จาก 3Q57 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อแผ่วลงในเดือนสุดท้ายที่มีการชำระคืนเงินกู้ (11 เดือนแรกปี 57 สินเชื่อเติบโตเกือบ 7% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับนี้จนถึงปลายปี 57 และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายจากค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใกล้เคียง 3Q57 ที่ 3.7% ฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสู่ 2.3% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคาร ฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรปี 57 ที่ระดับ 4.6 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% โดยคาดกำไรปี 58 เติบโตต่อเนื่องราว 12% เป็น 5.2 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นที่ปรับลงมากในช่วงก่อนหน้านี้เป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 268 บาท (P/BV2.1 เท่า)

-SCB : คาดกำไร 4Q57 แผ่วลง 17% และ 4%คงคาดกำไรทั้งปี 57 เติบโต 7%

คาดกำไร 4Q57 ราว 1.27 หมื่นล้านบาทลดลง 17% และ 4% จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วตามช่วงฤดูกาลจากกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) น่าจะทรงตัวใกล้เคียง 3Q57 ที่ระดับ 3.35% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ทรงตัว ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหากตัวเลขจริงมีการตั้งสำรองหนี้สูญต่ำกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย จะทำให้ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ที่ราว 5.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 7% จากปี 56 และคาดจะเติบโตราว 4% เป็น 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 58 โดยมี upside จากดีล tender off บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) ในช่วง 1Q58 คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 228 บาท (P/BV 2.4 เท่า)

ตามปกติแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงฤดูกาลที่จะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ในช่วง 4Q57 กลับไม่เห็นสินเชื่อของแต่ละแบงก์เติบโตมากนัก เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การเติบโตของสินเชื่อทั้งปีมีข้อจำกัดและต่ำกว่าเป้าหมายของผู้บริหาร อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อในปี 57 จะเป็นฐานที่ต่ำสำหรับปี 58 ซึ่งผู้บริหารธนาคารตั้งเป้าว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตราว 2 เท่าของตัวเลข GDP (consensus 3.5 – 4%) โดยมีแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทรงตัว ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมยังอยู่ในระดับดีแม้จะมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ SME รายเล็ก แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงของทั้งพอร์ต ด้านฐานะเงินกองทุนยังแข็งแกร่งโดยแต่ละธนาคารมีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์BASEL III ซึ่งจะช่วยเสริมเงินกองทุนให้แข็งแกร่งเพียงพอต่อการรองรับการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในอนาคตจากที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 58 จะเติบโตสูงจากฐานที่ต่ำในปี 57 เราให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็น “Neutral” โดยเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL KBANK KTB และ SCB