ธอส.ปลื้มผลงานปี′57 ปล่อยสินเชื่อทะลุเป้า 142,697 ล้าน

ธอส.ปลื้มผลงานปี′57 ปล่อยสินเชื่อทะลุเป้า 142,697 ล้าน เดินหน้ายุทธศาสตร์นำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แจงผลการดำเนินงานปี 2557 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้จำนวน 142,697 ล้านบาท เกินกว่าเป้าสินเชื่อปี 2557 ที่ตั้งไว้ 134,000 ล้านบาท พร้อมบริหารจัดการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ดีกว่าเป้าหมาย โดย NPL คงเหลือ 42,613 ล้านบาท คิดเป็น 5.36% ของสินเชื่อคงค้าง ลดลงจากปี 2557 จำนวน 2,436 ล้านบาท สำหรับปี 2558 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ตามแผนธุรกิจ จำนวน 140,700 ล้านบาท พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์เชิงรุกนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศทุกด้าน ควบคู่กับกลยุทธ์มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้าในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกระดับ และเดินหน้าโครงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “ธอส.บริการด้วยหัวใจ” เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด ตอกย้ำภาพลักษณ์ “ธนาคารมั่นคงทันสมัย และเป็นผู้นำสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”

นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2557 เมื่อเทียบกับปี 2556 ว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 142,697 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา 15,858 ล้านบาท และเกินเป้าหมายปี 2557 ที่ตั้งไว้ 134,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 8,697 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จำนวน 66,586 ล้านบาท คิดเป็น 46.66% ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 794,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.85% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่จำนวน 42,613 ล้านบาท คิดเป็น 5.36% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งมี NPL อยู่ที่ 45,049 ล้านบาท หรือ 6.12% ของสินเชื่อรวม ซึ่งลดลง 2,436 ล้านบาท นับว่าธนาคารสามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขณะที่ทรัพย์สินรอการขาย (NPA) คงเหลือจำนวน 1,491 ล้านบาท ลดลง 10.31% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านสินทรัพย์ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 824,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58,724 ล้านบาท คิดเป็น 7.66% เงินฝากรวม 652,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52,464 ล้านบาท คิดเป็น 8.75%

จากตัวเลขผลการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ในปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและร่วมแรงร่วมใจภายในองค์กร ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้บรรลุเป้าหมายทุกด้าน สามารถเป็นสถาบันการเงินหลักในการสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองถึง 120,579 ราย ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจหลักของ ธอส.

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่รองรับความต้องการของลูกค้าทุกระดับ และมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ โครงการบ้าน ธอส.เพื่อสานรัก ปี 2557 สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีรายได้สุทธิไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน มียอดอนุมัติสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2557 จำนวน 6,422 บัญชี วงเงิน 4,655 ล้านบาท รวมถึง 2 โครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและคืนความสุขให้แก่ประชาชนตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ โครงการสินเชื่อบ้าน ธอส. เพิ่มสุข สำหรับลูกค้าเดิมที่มีประวัติการผ่อนชำระดีจะได้รับสิทธิ์กู้เพิ่ม ยอดอนุมัติสินเชื่อ 2,340 ล้านบาท 10,268 บัญชี และโครงการสินเชื่อ ธอส. มีบ้าน มีสุข 1 และ 2 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษคงที่ 3.50% ต่อปี นาน 2 ปีแรก ยอดอนุมัติสินเชื่อรวม 13,551 ล้านบาท หรือ 10,170 บัญชี เป็นต้น

“ขณะเดียวกันยังได้จัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กรเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดทำ “คู่มือมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กร” เพื่อให้พนักงาน ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศถือปฏิบัติ มีการขยายพื้นที่การให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชน โดยการเปิดสาขาใหม่ในปี 2557 จำนวน 12 แห่ง และขยายพื้นที่การให้บริการของสาขาเดิมอีก 9 แห่ง โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2557 ธนาคารมีจำนวนสาขารวม 202 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของ ธอส.ได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับปี 2557 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ธนาคารประสบความสำเร็จโดยนิตยสารดอกเบี้ย และหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ได้ประกาศยกย่องให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็น “สุดยอดธนาคารแห่งปี 2557” หรือ “Bank of the Year 2014” และ “สุดยอดนักการธนาคารแห่งปี 2557” หรือ “Banker of the Year 2014” นางอังคณากล่าว

นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานปี 2558 ธนาคารยังคงมุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินตามพันธกิจเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายยิ่งขึ้น ธนาคารกำหนดเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ไว้จำนวน 140,700 ล้านบาท และให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ดูแลลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ตลอดจนนโยบายดูแลลูกค้าตลอดอายุสัญญากู้ แม้ในระหว่างผ่อนชำระเงินงวดลูกค้าประสบปัญหาวิกฤตจากภัยธรรมชาติไม่สามารถชำระเงินงวดค่าบ้านได้ ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลดภาระเงินงวดเพื่อให้ลูกค้ามีกำลังผ่อนชำระเพื่อให้สามารถรักษาบ้านเป็นของตนเองไว้ได้

นอกจากนี้ธนาคารยังมีนโยบายด้านผลิตภัณฑ์และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร / คู่ค้า คิดค้นปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกระดับ และเดินหน้าโครงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “ธอส.บริการด้วยหัวใจ” เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด โดยธนาคารได้จัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุกในการเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ ในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกกลุ่ม เพิ่มช่องทางการให้บริการ ขยายสาขา คลอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการให้บริการทางInternet & Mobile Banking พร้อมๆกับการบริหารต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อเพื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับลูกค้าและประชาชน

ในการดำเนินการ ธนาคารมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความพึงพอใจและความผูกพันกับลูกค้า ผ่านกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกค้าและผู้มีได้ส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจรและยั่งยืน อาทิ การออกแบบนวัตกรรมสินเชื่อบ้านสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อตอกย้ำแบรนด์ ธอส. ที่เป็นที่หนึ่งในด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

สำหรับยุทธศาสตร์ในการบริหารงาน ธนาคารจะส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล/ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CG/CSR ให้เข้มแข็ง โดยการรับฟังความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานสู่ภายนอกอย่างมีธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งเน้น การพัฒนาทุนมนุษย์และองค์กรแห่งการเรียนรู้ ด้วยการสร้างความพร้อมของบุคลากรต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ สร้างบุคลากรที่มีความสามารถสูง ปลูกฝังค่านิยมองค์กร (GIVE) ประกอบด้วย “ยึดมั่นธรรมาภิบาล (Good Governance) สร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovative Thoughts) ร่วมใจทำงาน (Value Teamwork) บริการเป็นเลิศ (Excellent Services) และจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ ข้างต้นถือเป็นส่วนสำคัญที่จะนำธนาคารสู่ความเป็นเลิศทุกด้าน และทำให้ธนาคารสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสำคัญของธนาคารภายในปี 2562 ที่ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อคงค้าง 1 ล้านล้านบาท สัดส่วน NPL ลดลงเหลือ 4.00% รวมถึงเป็นผู้นำสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางอีกด้วย

ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิงวดปี′57 จำนวน 988.8 ล้านบาท

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีกำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 1,236.0 ล้านบาท และกำไรสุทธิจำนวน 988.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.2 และร้อยละ 33.6 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 สาเหตุหลักเกิดจากในปี 2556 ธนาคารมีรายการพิเศษที่สำคัญ คือ ส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท. กำไรจากการชำระบัญชีของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของธนาคาร กำไรจากการไถ่ถอนกองทุนรวมวายุภักษ์1 เงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เกิดจากการตั้งสำรองพิเศษเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบจากวัฏจักรธุรกิจ หากหักรายการพิเศษดังกล่าวแล้ว กำไรก่อนภาษีเงินได้ของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นจำนวน 237.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.5 ในขณะที่กำไรสุทธิจะลดลงจำนวน 92.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เป็นผลจากการปรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ในปี 2557 ที่สืบเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ของผลขาดทุนทางภาษีจากปี 2556

เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และ 2556 รายได้จากการดำเนินงานปี 2557 ของกลุ่มธนาคารมีจำนวน 10,506.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 260.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 (แต่หากหักรายการพิเศษแล้วรายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจำนวน 1,783.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 20.7) การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ กำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่กำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,364.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิก่อนกำหนด รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 80.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายประกัน ในส่วนของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน 1,090.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 152.7 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมการบริหารเงิน ในขณะที่กำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดลงจำนวน 91.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 และรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจำนวน 89.6 ล้านบาท และร้อยละ 27.4 เนื่องจากรายการพิเศษในปี 2556

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปี 2557 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,045.5 ล้านบาทหรือร้อยละ 17.2 เป็นจำนวน 7,140.6 ล้านบาทจากปี 2556 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์และระบบเครือข่ายของธนาคาร อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 68.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 59.5 ซึ่งเกิดจากรายการพิเศษปี 2556 แต่หากหักรายการพิเศษแล้ว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานของปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 72.8

ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทั้งด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ กลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สามารถดำรงอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.37 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.18 โดยธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากที่ดีขึ้น

วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 190.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 211.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 จากสิ้นปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 190.6 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อ เงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 90.1 จากร้อยละ 90.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เป็นผลจากการชะงักตัวของภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าภาคธุรกิจบางรายและลูกค้ารายย่อย อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 95.2 ลดลงจากสิ้นปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 107.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 6.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.2 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีจำนวน 31.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 15.2 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.1

 

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไทยพาณิชย์กำไรปี 57 อู้ฟู่ 53,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2%

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2557 ธนาคารมีกำไรสุทธิก่อนตรวจสอบจำนวน 53,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2556 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิเติบโตในระดับที่ดีต่อเนื่องมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 11.1% จากปี 2556 หรือมีจำนวน 81,100 ล้านบาท ผลจากการลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยลงได้แม้มีปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากปีที่แล้ว 6.9% มาอยู่ที่ 47,030 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้เงินปันผลที่ลดลง (เมื่อเทียบกับเงินปันผลรับในระดับสูงที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 และ 3 ของปี 2556) รวมทั้งการลดลงของรายได้จากธุรกรรมค้าเงินและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ตลอดจนรายได้จากเบี้ยประกันภัย

ด้านคุณภาพสินเชื่อ ในปี 2557 อยู่ในระดับคงที่แม้จะมีความกดดันในเชิงลบ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 2.11% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ลดลงจาก 2.14% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 ยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 42,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากสิ้นปี 2556 โดยธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 2557 เป็นจำนวน 13,214ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปี 2557 มีการลดลงของเงินปันผลรับ (เมื่อเทียบกับเงินปันผลรับที่สูงมากในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2556) และการลดลงของกำไรจากธุรกรรมค้าเงินและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

“ปีที่ผ่านมาต้องถือว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจที่ธนาคารนำมาใช้ดำเนินการได้ถูกทดสอบอย่างเข้มข้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ดังนั้นการที่ธนาคารสามารถสร้างผลงานที่ดีต่อเนื่องและผ่านปีอันท้าทายมาได้อย่างดีเป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จและแสดงถึงความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางด้านยุทธศาสตร์ และความสามารถของทีมผู้บริหารและพนักงานของธนาคารเป็นอย่างดี”

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ตามที่ได้มีประกาศให้ทราบเป็นการทั่วกันแล้วว่า ดิฉันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในต้นเดือนเมษายนนี้ ดิฉันจึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณมายังคณะกรรมการธนาคาร เพื่อนพนักงาน และลูกค้าทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนดิฉันมาเป็นอย่างดี หากปราศจากท่านทั้งหลายผลสำเร็จด้านกำไรที่สูงขึ้นติดต่อกัน 5 ปีเช่นนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ดิฉันได้มีโอกาสนำธนาคารไทยแห่งแรกสู่ความสำเร็จในระดับนี้ ดิฉันมั่นใจอย่างยิ่งว่าคณะผู้บริหารชุดใหม่จะสามารถนำธนาคารก้าวสู่ความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปและผลักดันให้ธนาคารไทยพาณิชย์บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ในการเป็นธนาคารที่ทุกคนเลือก (Bank of Choice)”

VGI+MACO กินรวบสื่อนอกบ้าน

ช่วย“มาสเตอร์ แอด”ขายโฆษณาขนาดเล็ก หน้าที่ใหม่ของ“วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย” ในฐานะหุ้นใหญ่ พร้อมรับประกันรายได้ 

“ปีหน้า (2558) เรามีโปรเจคมากมายที่จะทำร่วมกับ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย หรือ VGI ในฐานะหุ้นใหญ่อันดับ 1 ที่เพิ่งเข้ามาซื้อหุ้นเรา เมื่อเดือนพ.ค.2557 ในสัดส่วน 24.43 เปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นละ 9 บาท มูลค่ารวม 661.50 ล้านบาท” “ตั้ม-นพดล ตัณศลารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มาสเตอร์ แอด หรือ MACO ผู้ผลิตสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยรายใหญ่ เปิดใจกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week”

ได้ข่าวว่า VGI อยากได้หุ้น MACO เพิ่มเติม? เขาตอบคำถามนี้ว่า ถ้าอยากได้จริงๆ คงต้องไปหาซื้อในกระดาน หรือไม่ก็มาขอซื้อกับผม (เขาพูดทีเล่นทีจริง) ที่ผ่านมายังไม่เคยคุยเรื่องนี้กัน ถ้ามีจะมาเล่าให้ฟัง (หัวเราะ) หน้าที่ของผมในฐานะผู้บริหาร MACO คือ ต้องให้ข้อมูลนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยในทิศทางเดียวกัน ผมไม่อยากให้รายย่อยมาตำหนิว่า ทำไมต้องให้สิทธิเฉพาะคนพิเศษ

วันนี้ผมยังคงถือหุ้น MACO เท่าเดิม (ณ วันที่ 14 ต.ค.2557 สัดส่วน 3.44 เปอร์เซ็นต์) หากราคาหุ้น MACO ถูกรับรองเข้าไปเก็บเพิ่มแน่นอน ผมทำงานอยู่ย่อมรู้ดีว่า ที่ผ่านมาบริษัทให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ในระดับเท่าไหร่ แม้ปี 2557 เราจะมีรายได้เพียง 600 ล้านบาท และมีกำไรลดลงจากปี 2556 จากสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อเถอะว่า บริษัทจะยังคงจะจ่ายเงินปันผล 2 ครั้งต่อปีเหมือนเดิม ที่สำคัญปีนี้จะจ่ายเป็นเงินสดด้วย

ปัจจุบัน MACO มี “แฟนพันธุ์” เป็นนักลงทุนรายใหญ่หลายคน ส่วนใหญ่ถือลงทุนมานานมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “นเรศ งามอภิชน” คนนี้เป็น “เซียนหุ้นไซด์บิ๊ก” นอกจากนั้นยังมี “วันชัย พันธ์วิเชียร” ขานี้รู้จักกันมานานกว่า 10 ปี นอกจากเขาจะเป็นผู้ถือหุ้นแล้วยังเป็นซัพพลายเออร์ คอยจัดหาสินค้าในลักษณะ made to order ให้กับบริษัทด้วย

ส่วน “พีรนาถ โชควัฒนา” คนนี้เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว เขายังเป็นคนตรวจสอบป้ายของ MACO (หัวเราะ) เวลามีป้ายไหนมีปัญหา เขาชอบยกหูมาบอกเรา ทุกครั้งที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น เขาไม่พลาด ชอบ MACO มากแค่ไหนไม่รู้ แต่ “พีรนาถ” ลงทุนทั้งในนามส่วนตัว และในนามบริษัท หลานปู่ จำกัด และบริษัท พีรธร จำกัด ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนของตระกูลโชควัฒนา

“การที่เรามีนักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเขามักมีไอเดียในการทำธุรกิจและมีมุมมองที่เราคาดไม่ถึง”

“ชายวัย 54” เล่าถึงแผนงานที่จะทำร่วมกับ VGI ว่า ในปี 2558 เขาจะเข้ามาช่วยเราขายโฆษณามากขึ้น ซึ่ง VGI เชี่ยวชาญเรื่องสื่อโฆษณาขนาดเล็ก หลักๆเขาจะช่วยบริหารสื่อโฆษณาบริเวณถนน (Street Furniture) และสื่อโฆณษสถานีขนส่งและยานพาหนะ หรือ Transit โดยจะเน้นบริเวณเสาตอม่อใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ,เสาตอม่อสะพานข้ามแยกสำคัญๆในกรุงเทพฯ,บริเวณด่านเก็บเงินทางด่วน และสถานีขนส่งหมดชิตใหม่ เป็นต้น ซึ่งการมี VGI มาช่วยขายของจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น อย่าลืมว่า VGI ขายสื่อโฆษณษเก่งนะ..

“เบื้องต้น VGI การันตีรายได้จากการบริหารสื่อโฆษณาให้ MACO ที่ตัวเลขประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี หากเขาทำได้มากกว่านั้นค่อยมาทำ Revenue Sharing หรือ ส่วนแบ่งรายได้กัน”

เขา เล่าต่อว่า เป้าหมายรายได้ในปี 2558 ของ MACO อยู่ที่ระดับ 800-900 ล้านบาท ซึ่งเราได้ VGI ช่วยแล้ว 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากไหน แน่นอนเรามีเรื่องเตรียม “เซอร์ไพรส์” แฟนคลับเพียบ!! แต่ตอนนี้จะขอพูดเพียงเรื่องที่พอเปิดเผยได้ก่อน

วันนี้บริษัทมีพื้นที่สื่อโฆษณา 80,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น สื่อป้ายโฆษณากลางแจ้ง หรือ Billboard ประมาณ 60,000 ตารางเมตร สื่อบริเวณถนน หรือ Street Furniture 10,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลือเป็นสื่อบริเวณสถานีขนส่งและยานพาหนะ หรือ Transit

ปี 2558 บริษัทตั้งใจจะขยายพื้นที่สื่อโฆษณาเป็น 100,000 ตารางเมตร ตัวเลขนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายของแต่ละหน่วยงาน เป้าหมายการทำงานของแต่ละหน่วย คือ ต้องมีรายได้เติบโตหน่วยงานละ 15 เปอร์เซ็นต์ หากทำได้มากกว่านั้น ถือเป็นผลพลอยได้

MACO จะขยายพื้นที่สื่อโฆณาในสื่อประเภทไหนบ้าง? แน่นอนสื่อโฆษณาหลัก 3 ประเภท ยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่ต่อไป แต่เราจะเพิ่มสื่อโฆษณาประเภทที่ 4 นั่นคือ สื่อดิจิตอล วิธีการ คือ พื้นที่สื่อโฆษณาเดิมที่มีอยู่แล้ว 80,000 ตารางเมตร หากบริษัทเห็นว่า พื้นที่ไหนควรเปลี่ยนเป็นสื่อดิจิตอลเราจะทำทันที ส่วนพื้นที่ใหม่ 20,000 ตารางเมตร เราจะดูทำเลและความเหมาะสมอีกครั้ง ถ้าพบว่า “คุ้มค่า” เราจะทำเป็นเลย

จริงอยู่สื่อดิจิตอลมักมีการลงทุนที่สูง แต่หากบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพรับรองจะมีกำไรขั้นต้นอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉลี่ยกำไรขั้นต้นน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5-10 เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นวางเป้าหมายรายได้สื่อดิจิตอลในปี 2558 ที่ระดับ 50 ล้านบาท พิจารณาตัวเลขเหมือนไม่มาก แต่อย่าลืมว่าการติดตั้งสื่อดิจิตอลต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน

ฉะนั้นในปี 2559 น่าจะมีรายได้จากส่วนนี้เฉลี่ย “หลักร้อยล้าน” ขึ้นไป ช่วงแรกๆ รายได้จากสื่อดิจิตอลมักทำได้ง่ายเฉลี่ยการเติบโตปีละ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจาก 2-3 ปีไปแล้วคงขยายตัวประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

“นพดล” เล่าต่อว่า งานอีกส่วนที่จะมาช่วยผลักดันรายได้ในปี 2558 คือ การเข้าไปทำสื่อ โฆษณาในสถานีบริการน้ำมันปตท.ซึ่งเป็นแบรนด์ Jiffy เดิม จำนวน 147 สถานี ที่ผ่านมาเราเข้าไปซื้อหุ้น บริษัท โอเพ่น เพลย์ จำกัด สัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานในการบริหารพื้นที่สื่อโฆษณาในสถานีบริการน้ำมันปตท.

เราตั้งใจจะติดตั้งสื่อโฆษณา Light Box (กล่องไฟ) จำนวน 300 ป้าย ใน 147 สถานี คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.2558 อนาคตหากทางปตท.เห็นว่า ป้ายกล่องไฟของเรามีความปลอดภัย เขาอาจเปลี่ยนเป็นสื่อดิจิตอลก็ได้ คงใช้เวลาดูความเหมาะสม 6 เดือน ถึง 1 ปี การมีโฆษณาในสถานีบริการน้ำมันปตท.ถือเป็นครั้งแรกของเขา

“เรากำลังเจรจากับปตท.เพื่อขอเพิ่มป้ายโฆษณาในสถานีบริการน้ำมันปตท.เบื้องต้นอยากได้เพิ่มอีก 500 ป้าย ปัจจุบันปตท.มีสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,000 กว่าแห่ง หากได้งานนี้ต้องใช้เวลาติดตั้ง 6 เดือน และคงไปรับรายได้ในปีถัดไป”

งานอีกอย่างที่ MACO ทำควบคู่มาตลอด คือ การไปเสนอตัวช่วยผู้ประกอบการรายเล็กๆขายโฆษณาในช่วงที่เขาขายไม่ได้ เพราะป้ายโฆษณาของผู้ประกอบการรายเล็กที่มีอยู่ประมาณ 300-400 ราย ส่วนใหญ่มีทำเลที่ดีจนถูกใจลูกค้าบางรายของเรา ตอนนี้กำลังคุยกับเจ้าของป้ายหลายราย โดยไม่จำกัดว่า ผู้ประกอบการรายนั้นต้องเป็นเจ้าของกี่ป้าย

“เปลี่ยน “ซัพพลายเออร์” เป็น “พาร์ทเนอร์” คือ เรื่องที่เราต้องทำ วันนี้เรามีซัพพลายเออร์ประมาณ 20-30 ราย”

การทำงานในลักษณะนี้จะมี “กำไรขั้นต้น” เฉลี่ย 10-20 เปอร์เซ็นต์ สิ้นปี 2557 บริษัทบริหารป้ายให้ผู้ประกอบการรายเล็กประมาณ 30 ป้าย แต่ปี 2558 อยากมีเพิ่มเป็น 50-60 ป้าย ถามว่าทำไมลูกค้าไม่ติดต่อขอซื้อโฆษณากับเจ้าของป้ายโดยตรง คำตอบ คือ ลูกค้ากลัวหาตัวเจ้าของไม่เจอ หากป้ายมีปัญหา ที่สำคัญ คือ เขาไว้ใจเรา เพราะ MACO คือ มืออาชีพ ปี 2557 เรามีรายได้จากการบริหารป้ายประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

“บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลงานใหม่ของรัฐบาลและเอกชน ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีต่อโครงการควรยืนระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ปี 2557 เราทำผลตอบแทนได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานภาครัฐบาลและภาคเอกชน 50:50 เปอร์เซ็นต์”

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2558-2560) ? “แม่ทัพใหญ่” บอกว่า รายได้เฉลี่ยต้องเติบโตประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขภายในที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ คือ ต้องขยายตัวมากกว่านี้ (แอบบอกตัวเลข) เราขอคิดใหญ่ไว้ก่อน เนื่องจากวันนี้เรามีงานอยู่ในมือ 10 โปรเจค คิดเป็นพื้นที่สื่อโฆษณาประมาณ 50,000 ตารางเมตร โดยจะเป็นทั้งงานของภาครัฐและเอกชน มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปได้ 2-3 โปรเจคต่อปี

“เรื่องเงินลงทุนไม่ต้องเป็นห่วง ปัจจุบันเรามีเงินสดประมาณ 300 ล้านบาท มีวงเงินกู้จากธนาคาร 300-400 ล้านบาท และสามารถออกหุ้นกู้ได้ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเราขอผู้ถือหุ้นไว้เรียบร้อยแล้ว”

“นพดล” เล่าเรื่อง “โกอินเตอร์” ให้ฟังว่า แม้งานต่างประเทศจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการเติบโต แต่ที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปคุยกับผู้ประกอบการสื่อโฆษณาขนาดกลางในแถบ AEC หลายแห่ง เช่น พม่า มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น โดยเราได้ให้ “ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์” หรือ PWC เป็นผู้ช่วยหาดีลให้ บริษัทว่าจ้างเขาปีละ 2 ล้านบาท

แต่เท่าที่ดูๆ บริษัทที่เข้ารอบน่าจะเป็นผู้ประกอบการของประเทศมาเลเซีย เนื่องจากวัฒนธรรม ระบบการทำงาน และกลุ่มลูกค้า ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญความต้องการสื่อโฆษณายังไม่สูงมาก แต่เราจะไปช่วยให้ความต้องการมากขึ้น เพราะสินค้าที่โฆษณาส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ของเมืองไทย

ตอนนี้ติดปัญหาเรื่องราคาหุ้น เพราะเขาเสนอราคามาแพงเกินไป ซึ่งรูปแบบการลงทุนของ MACO คือ จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าจะได้ข้อสรุปช่วงไหน บอกตรงๆ หากเขาขายแพงมากคงไม่เสี่ยงที่จะลงทุน ฉะนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ขอต่อลองราคาก่อน..

เขา ทิ้งท้ายว่า เราจะเดินธุรกิจด้วย 2 สื่อ นั่นคือ สื่อประเภท MACO Space ได้แก่ ป้ายโฆษณากลางแจ้ง สื่อบริเวณถนน สื่อบริเวณสถานีขนส่งและยานพาหนะ และสื่อดิจิตอล โดยจะมีรายได้จากสื่อประเภทนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ คือ สื่อประเภท Non MACO Space เน้นผลิตสื่อตามความต้องการของลูกค้า แม้ว่าการทำสื่อตาม Made To Order จะไม่ใช่งานหลัก แต่สามารถต่อยอดธุรกิจได้

“ปี 2558 พื้นฐาน MACO จะดีกว่าปี 2557 แน่นอน และก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ” “นพดล ตัณศลารักษ์” พูดยืนยัน

vgi-bts-setlnw

ชำแหละกำไร “กูรูหุ้น” ปี 57″วีไอ” เป๋าแบน “เทคนิค” เป๋าตุง

เซียนหุ้นวีไอ“เซ็ง”ตลาดหุ้นไทยปี 57 ขึ้นเร็วลงแรง กดผลตอบแทนขยับน้อยกว่าปีก่อนตรงข้าม“เทคนิค”และ“พันธุ์ผสม”  
กว่า “เหล่าเซียนหุ้น” จะยอมเปลี่ยนที่อยู่ของเงิน โยกจากฝากแบงก์มาลงทุนในตลาดหุ้น ก็ล่วงเลยปี 2557 มาแล้วเกือบครึ่งปี ในครานั้นนักลงทุนไซด์บิ๊กหลายราย พูดในทำนองเดียวกันว่า “การเมืองไทยที่วุ่นวายในช่วง 5 เดือนแรก ทำให้ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไม่ออก เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครหน้าไหนจะกล้าเล่นหุ้น”

ท่ามกลางความไม่ปกติของการเมืองไทย ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ตลาดหุ้นค่อยๆ ขึ้นจาก “จุดต่ำสุด” 1,224.62 จุด (วันที่ 3 ม.ค.2557) มาแตะระดับ 1,401 จุด (วันที่ 16 เม.ย.) แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย SET INDEX ก็ทะยานสู่ระดับ 1,543 จุด ในเดือนส.ค.ก่อนจะขึ้นไปสร้าง “จุดสูงสุด” ที่ 1,600 จุด (26 ก.ย.2557)

เมื่อดัชนีปี 2557 ผันผวนเช่นนี้ ผลตอบแทนของ “กูรูหุ้น” จะเป็นเช่นไร “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” มีคำตอบ

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ในฐานะผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย หรือ วีไอ เล่าถึงผลตอบแทนจากการลงทุนของปี 2557 ว่า “พอร์ตรวมมีกำไรแต่บวกน้อยกว่าตลาดหุ้นเล็กน้อย” ซึ่งผลตอบแทนของตลาดหุ้นอยู่เฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเมื่อเราเป็นนักลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนจึงออกมาเป็นเช่นนี้

“ปี 2557 การลงทุนออกแนวไม่ค่อยสบายตัว เพราะราคาหุ้นตัวเล็กๆปรับขึ้นค่อนข้างรุนแรง ขณะที่หุ้นพื้นฐานไม่ค่อยไปไหน แถมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มออกมาไม่ค่อยดี”

จากสถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวน ทำให้ในปี 2557 จำเป็นต้องจัดพอร์ตลงทุนใหม่ ด้วยการหันมาถือเงินสดมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในตลาดหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ นโยบายเก็บเงินสด ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เพราะตั้งแต่เป็นนักลงทุนวีไอแทบนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น “ร้อยเปอร์เซ็นต์”

“นโยบายถือเงินสด ทำให้รู้สึกอึดอัด เพราะจะทำให้มีผลตอบแทนจากการลงทุนออกมาน้อยมาก”

“กูรูตลาดหุ้น” ยอมรับว่า ด้วยความที่ไม่อยากเก็บเงินสดไว้มากๆ ทำให้เมื่อ 3-4 เดือนก่อน เริ่มเข้าไปชิมลางตลาดหุ้นต่างประเทศ ด้วยการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม วิธีการ คือ เน้นซื้อหุ้นพื้นฐานที่มีราคาไม่แพง

ถามว่ามองเห็นอะไรในตลาดหุ้นเวียดนาม? แน่นอนว่า ผลตอบแทนย่อม “คุ้มค่า” กว่าตลาดหุ้นไทย อีกอย่างการหันออกไปลงทุนนอกบ้าน ถือเป็นการปรับตัว เพื่อให้เข้ากับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปลายปี 2558

หากมองภาพรวมของพอร์ตในระยะยาว ตลาดหุ้นต่างประเทศอาจเริ่มมีนัยสำคัญ แต่ถ้ามองการลงทุนระยะสั้นยังคงให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นไทยเหมือนเคย เพราะในบ้างจังหวะที่หุ้นไทยปรับตัวลงมาแรงๆ ก็ถือเป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม

ตลาดหุ้นเวียดนามมีความแตกต่างจากตลาดหุ้นไทย ตรงที่ไม่ค่อยมีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร ฉะนั้นผลตอบแทนจากการลงทุนย๋อมมีไม่มาก ฉะนั้นถือเป็นเรื่องยาก หากหวังจะมีกำไรในตลาดหุ้นเวียดนามมากๆเหมือนที่ทำได้ในตลาดหุ้นไทย

“นักลงทุนวีไอจะไม่ค่อยชอบตลาดกระทิง แต่จะชอบตลาดหุ้นอนุรักษ์นิยม”

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปี 2557 “ดร.นิเวศน์” ถือลงทุนหุ้นหลากหลายกลุ่ม เช่น หุ้น บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS จำนวน 4,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.78 เปอร์เซ็นต์ หุ้น จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.60 เปอร์เซ็นต์ หุ้น เอ็ม บี เค หรือ MBK จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.53 เปอร์เซ็นต์ หุ้น มูราโมโต้ อีเล็คตรอน หรือ METCO จำนวน 120,000 หุ้น คิดเป็น 0.57 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ด้าน “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” เซียนหุ้นรายใหญ่ บอกว่า ผลตอบแทนที่ทำได้ในปี 2557 อยู่ที่ตัวเลขประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่มาจาก 4 หุ้นหลัก แบ่งเป็นหุ้นไอพีโอ 2 ตัว คือ หุ้น เซ็ปเป้ หรือ SAPPE และ หุ้น ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 หรือ SAWAD ซึ่งหุ้นสองตัวนี้ได้มาตั้งแต่ราคาไอพีโอ (หุ้น SAPPE ราคาไอพีโอ 13.50 บาท หุ้น SAWAD 6.90)

ส่วนหุ้นอีก 2 ตัว คือ หุ้น ทรัพย์ศรีไทย หรือ SST และ หุ้น เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK ซึ่งได้มาตั้งแต่ต้นทุน 20 บาท สนใจหุ้น WORK เพราะเขาคือ อันดับหนึ่งของธุรกิจทีวีดิจิทัล ปัจจุบันหุ้น WORK ซื้อขายเฉลี่ย 44.64 บาท และหุ้น SST ซื้อขายเฉลี่ย 27.52 บาท

“ตลอดปี 2557 หุ้น IPO ถือเป็นตัวสร้างกำไรดีที่สุด ซึ่งในปี 2558 เชื่อว่าหุ้น IPO ยังคงน่าสนใจเหมือนเดิม หากราคาไม่สูงเกินไป และมีอนาคตที่ดี เนื่องจากปัจจุบันหุ้นหลายตัวที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นมีราคาแพงเกินไป หลังถูกนักลงทุนบางรายลากราคาขึ้นไปค่อนข้างสูง ซึ่งหุ้นประเภทนี้ผมจะไม่เข้าไปยุ่ง”

“เสี่ยปู่” บอกว่า ปัจจุบันได้ปรับลดพอร์ตลงทุนลงมาอยู่ระดับ 80-90 เปอร์เซ็นต์ หลังหันมากระจายความเสี่ยง ด้วยการซื้อที่ดินในแถบกรุงเทพฯและปริมณฑลมากขึ้น วิธีการ คือ ทยอยสะสม และหากได้ราคาที่ดี ก็จะขายทำกำไรทันที ซึ่งการลงทุนในที่ดินจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง

ตลอดปี 2557 “เสี่ยปู่” ถือลงทุน หุ้น บางกอก เดค-คอน หรือ BKD จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.43 เปอร์เซ็นต์ หุ้น บ้านร็อคการ์เด้น หรือ BROCK จำนวน 87,569,650 หุ้น คิดเป็น 8.54 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ช.การช่าง หรือ CK จำนวน 12,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.71 เปอร์เซ็นต์ หุ้น เด็มโก้ หรือ DEMCO จำนวน 9,228,600 หุ้น คิดเป็น 1.33 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

“เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” เจ้าของพอร์ตหุ้นหลายพันล้าน ส่งยิ้มเป็นคำตอบ ก่อนบอกว่า “ร้อยเปอร์เซ็นต์” คือ ตัวเลขกำไรที่ทำได้ในปี 2557 ส่วนใหญ่ได้จาก “หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง”ซึ่งในปี 2558 ยังคงให้น้ำหนักในกลุ่มนี้ต่อไป

ตลอดปี 2557 ได้ปรับลดพอร์ตลงทุน จาก “ร้อยเปอร์เซ็นต์” เหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยกระจายการลงทุนไปในกลุ่มอสังหริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง แต่การลงทุนในปี 2558 คงไม่ปรับลดน้ำหนักไปมากกว่านี้ ตรงข้ามจะรอจังหวะซื้อเพิ่มมากกว่า

สำหรับกลุ่มที่น่าสนใจอาจเป็นบริษัทที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐบาล อาทิ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หรือหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“ปีก่อนแอบเห็นนักลงทุนบางรายได้รับผลตอบแทนน้อย บางคนถึงขั้น “ขาดทุน” แม้ดัชนีจะขึ้นไปกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่ลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน”

ตลอดปี 2557 พบชื่อ “เสี่ยยักษ์” ถือหุ้นหลากหลายตัว เช่น หุ้น บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี หรือ BJCHI จำนวน 12,632,600 หุ้น คิดเป็น 3.95 เปอร์เซ็นต์ หุ้น บางกอกแลนด์ หรือ BLAND จำนวน 142,002,000 หุ้น คิดเป็น 0.69 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ช.การช่าง หรือ CK จำนวน 11,741,800 หุ้น คิดเป็น 0.69 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP จำนวน 9,533,300 หุ้น คิดเป็น 0.87 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้นยังมีหุ้น มิลล์คอน สตีล หรือ MILL จำนวน 40,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.15 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE จำนวน 203,132,500 หุ้น คิดเป็น 1.40 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ทรีซิกตี้ไฟว์ หรือ TSF จำนวน 12,355,473 หุ้น คิดเป็น 0.51 เปอร์เซ็นต์ หุ้น วินเทจ วิศวกรรม หรือ VTE จำนวน 10,500,000 หุ้น คิดเป็น 3.30 เปอร์เซ็นต์ และหุ้น วธน แคปปิตัล หรือ WAT จำนวน 308,091,200 หุ้น คิดเป็น 0.58 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ฟาก “เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” เซียนหุ้นเทคนิค เล่าว่า แม้ตลาดหุ้นจะออกแนวหวือหวาจนทำให้เกิดความกังวลในหลายๆครั้ง แต่พอร์ตรวมก็ยังมี “กำไรกว่า 50 เปอร์เซ็นต์” สำหรับ “พระเอกของพอร์ต” คือ “กลุ่มสื่อสาร” ไม่ว่าจะเป็นหุ้น โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC หุ้น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และหุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE

นอกจากยังมี “กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” และ “กลุ่มอสังหาริมทรัพย์” ขณะเดียวกันยังมีกำไรมาจาก “หุ้น IPO” ส่วนตัวเชื่อว่า ปี 2558 หุ้น IPO ยังคงน่าสนใจเหมือนเคย แต่จะดีมากหรือดีน้อยให้จับตาดูภาพรวมของตลาดหุ้นไทย หากดัชนีวิ่งต่อ หุ้น IPO สวยเหมือนปีก่อนแน่

เขา ยอมรับว่า กำไรกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ เพิ่งมาได้ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2557 เพราะครึ่งปีแรกไม่ค่อยกล้าลงทุนเท่าไหร่ หลังสถานการณ์ต่างๆไม่เอื้ออำนวย ช่วงนั้นได้แต่นั่งดูหุ้นทุกวัน แต่ไม่กล้าควักเงินซื้อ แต่ทันทีที่บ้านเมืองสงบสุข ก็กลับเข้ามาลงทุนเต็มตัวอีกครั้ง

“ตลาดหุ้นปี 2558 น่าจะกลับมาพีคอีกครั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า หุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ครอบครัวปตท. เป็นต้น”

จากการสำรวจข้อมูล พบว่า “เสี่ยป๋อง” ถือหุ้น บางกอกแลนด์ หรือ BLAND จำนวน 220,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.06 เปอร์เซ็นต์ หุ้น คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ หรือ CGD จำนวน 50,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.72 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ช.การช่าง หรือ CK จำนวน 8,800,000 หุ้น คิดเป็น 0.52 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง หรือ ECL จำนวน 6,500,000 หุ้น คิดเป็น 1.09 เปอร์เซ็นต์

หุ้น อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI จำนวน 7,500,000 หุ้น คิดเป็น 0.58 เปอร์เซ็นต์ หุ้น เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือ MLINK จำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.93 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 หรือ SAWAD จำนวน 5,100,000 หุ้น คิดเป็น 0.51 เปอร์เซ็นต์ หุ้น ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม หรือ TFD จำนวน 10,600,000 หุ้น คิดเป็น 0.83 เปอร์เซ็นต์ และหุ้น ไทยรับประกันภัยต่อ หรือ THRE จำนวน 30,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.85 เปอร์เซ็นต์