ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ กับการทำให้ธุรกิจอยู่รอด

สวัสดีครับปีใหม่ปีนี้เข้ามาและสัปดาห์สุดท้ายก็กำลังจะผ่านไปแล้วนะครับ  

ในปีใหม่นี้ มีเรื่องและปัจจัยหลายเรื่องที่มีโอกาสทำให้การทำธุรกิจของเราและท่านทั้งหลายมี ความท้าทายมาก เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาและพูดคุย กับผู้ใหญ่และผู้บริหารหลายท่าน หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่มีการสนทนากันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง การเคลื่อน ย้ายของเงินทุนที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกและมีผลกระทบต่อเรา

จากการฟังและสนทนานั้น ประกอบกับผมสังเกตในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 1-2 ปี ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนธุรกิจ หรือรัฐบาลเอง พยายามหากุศโลบายในการทำให้เกิด ความสนใจและความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ หลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงในการสื่อความ การนำเอาการ์ตูน หรือการเล่าเรื่องราวแบบ ง่าย ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีความกระชับและเข้าใจง่ายมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการ สื่อสารที่มีความกระชับและสม่ำเสมอนั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และสามารถส่งต่อให้กัน และกันเป็นวงกว้างมากขึ้นโดยใช้ระยะเวลาในการสื่อสารน้อย ซึ่งหนึ่งในการสื่อสารที่ ทำให้เกิดความสมานสามัคคี และทำให้เกิดแรงบันดาลใจโดยง่าย คือ การสื่อสารค่า นิยมหลักของคนไทยซึ่งหากผมนำเอาค่านิยมหลักของคนไทย (ซึ่งรวมถึงเรา ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการ) ด้วยแล้วนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มภูมิป้องกันตัวเองในการดำเนิน การและแข่งขันได้ดีกับคนอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย

ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการนั้น ประกอบด้วย

1. มีความรักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์

2. ซื่อสัตย์เสียสละอดทนมีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

3. กตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ปกครองครูบาอาจารย์

4. ใฝ่หาความรู้หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม

6. มีศีลธรรมรักษาความสัตย์หวังดีต่อผู้อื่นเผื่อแผ่และแบ่งปัน

7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

8. มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่

9. มีสติรู้ตัวรู้คิดรู้ทำรู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นมีไว้พอกินพอใช้ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่ายและพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อมเมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี

11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่างหรือกิเลสมีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

ซึ่งหากเรานำเอาค่านิยมเหล่านั้นมาดัดแปลงเพิ่มเติมในการดำเนินการธุรกิจของเรานั้น การดำเนินการของธุรกิจเราสามารถนำเอาค่านิยมมาเป็นแนวทางคือ

การทำธุรกิจของเรานั้นเราจักทำธุรกิจให้อยู่รอดได้เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการและมีการจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้ดีบ่อยครั้งมีคำถามว่าค่าเงินเป็นอย่างไรดอกเบี้ยเป็นอย่างไร AEC เปิดแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็น ปัจจัยที่เกิดจากการกระทำภายนอก แต่หากเราพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้วนั้น การเตรียม ตัวจากด้านในนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าการดำเนินการเพื่อรับ มือภายนอกเสียอีก

ผมจึงขอนำเอาค่านิยมคนไทย 12 ประการมาเป็นแนวทางในการดำเนินการปรับตัว ภายในของการดำเนินการธุรกิจ ซึ่งการดำเนินการปรับตัวภายในนี้นั้นเป็นเสมือนกับ การเตรียมร่างกาย จิตใจ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราสามารถดำเนินการเองได้ให้ พร้อมเสียก่อน และด้วยความเชื่อว่าหากเราเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว การพัฒนา การต่อสู้ไม่ว่าเรื่องไหนก็แล้วแต่ เรามีโอกาสที่จะอยู่รอด และชนะการดำเนินการนั้น ๆ

ในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด และนำเอาค่านิยมมาเป็นหลัก ผมขออนุญาตนำเอาคำหลัก ๆ จัดรวมเป็นกลุ่ม ๆ คือ

เราเป็นธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และมีฐานเริ่มต้นจากประเทศไทย เราต้องมีความรักและหวงแหนในประเทศของเรา ประเทศไทยมีชัยภูมิที่ดี เป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมจากหลาย ๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นอาเซียน เอเชีย หรือการค้าข้ามประเทศ ซึ่งด้วยความมีเปรียบในด้านชัยภูมิดังกล่าว มีคนหลาย ๆ คนในหลาย ๆ ประเทศเข้ามาทำการค้าขายและตั้งรากฐานในประเทศ ของเราเพิ่มเติมขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต ความรักในดินแดน ในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเราจะทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงานใดๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

การค้าขาย หรือการดำเนินการใด ๆ นั้น จำต้องเริ่มต้นและดำเนินการด้วยความตั้งใจ ความซื่อสัตย์ มีระเบียบ เคารพกฎกติกาต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วนั้น กฎต่าง ๆ ที่ดำเนินการออกมาก็เพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองสังคมให้มีการดำเนินการไปด้วยความสุข และมีความคุ้มครองบุคคลต่าง ๆ ในสังคมนั้น ๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ คนในประเทศ คนนอกประเทศ เป็นต้น ความซื่อสัตย์ และการเคารพกฎต่าง ๆ จะทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราที่มีให้กับลูกค้าของเรา

ในการประกอบธุรกิจนั้น การพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ไปตามเวลา การแข่งขัน เทคโนโลยี การใช้งาน และอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ และเราในฐานะของผู้ทำธุรกิจก็จำต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ ทำวิจัย มีสติ ก็จะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่มีความเปลี่ยน แปลงไป

สุดท้ายนั้น ในการทำธุรกิจใด ๆ ก็ต้องทำธุรกิจด้วยความสุจริต และมีความพอเพียง หรือ เพียงพอ ทั้งในด้านการเตรียมการ การหากำไร การดูแลสังคม และคนหรือสิ่ง รอบตัวที่อยู่ในการทำธุรกิจของเรา ซึ่งการทำให้เกิดประโยชน์เป็นองค์รวมนั้นจะทำ ให้การดำเนินการหรือประกอบธุรกิจใด ๆ เกิดความยั่งยืน และได้รับความยอมรับเป็น คู่ค้าคู่สังคมที่อยู่ด้วย

การนำเอาค่านิยมการสำหรับคนไทยมาปรับและสะท้อนอีกมิติของการดำเนินธุรกิจ อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่การดำเนินการให้เกิดความเข้าใจและจำได้ของค่านิยมนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ กุศโลบายในการทำให้เกิดความเข้าใจในปัจจุบันมีมากและสามารถ เลือกใช้ได้ เพียงแต่เราขอเวลาของเราสักนิด หยุด…. และทำความเข้าใจ

คนคือผู้ดำเนินการธุรกิจ ธุรกิจเดินได้ด้วยคนที่บริหารและดำเนินการ ดังนั้นธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยการกระทำ … ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากคนต่าง ๆ นั้น จะมีผลก็ต่อเมื่อเราเตรียมร่างกาย(ทางธุรกิจ) ของเราให้พร้อม ปัจจัยภายนอกที่มาก็จะไม่มีผลมากนักกับเรานะครับ

CK “ช.การช่าง” จัดทัพบริษัทลูกครั้งใหญ่

CK “ช.การช่าง” จัดทัพบริษัทลูกครั้งใหญ่ ควบรวม”บีอีซีแอล-บีเอ็มซีแอล” ตั้งบริษัทใหม่ ถือหุ้นใหญ่ 40%

ck-setlnw

หวังรองรับโครงการพื้นฐานต่อยอดธุรกิจ เสริมศักยภาพด้านการเงิน เพิ่มโอกาสการลงทุนใน-นอกประเทศ เผยแผนควบรวมเสร็จส.ค.นี้ พร้อมจ่ายปันผลทันที ขณะที่บริษัทใหม่พร้อมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เดือนก.ย.นี้

กลุ่มช.การช่าง ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มครั้งใหญ่ โดยคณะกรรมการ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL และ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL มีมติเห็นชอบแผนการควบบริษัทระหว่างบีอีซีแอล และบีเอ็มซีแอล โดยเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท ให้มีมติควบรวมบริษัท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลยุทธ์ผสานความแข็งแกร่งของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ จากการเพิ่มโอกาสในการขยายและต่อยอดธุรกิจ พร้อมช่วยเสริมสร้างศักยภาพของบริษัทใหม่ ทั้งในด้านการเงิน การดำเนินงาน และความสามารถในการแข่งขัน ช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ และเป็น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในอนาคตอีกด้วย

กลุ่มบริษัทช.การช่าง แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทลูกมีการปรับโครงสร้างภายในเครือทั้งหมด โดย ปัจจุบันช.การช่างถือหุ้นอยู่ในบีอีซีแอล 15.15% และถือหุ้นอยู่ในบีเอ็มซีแอล 25.19% ขณะที่บีอีซีแอล ถือหุ้นอยู่ในบีเอ็มซีแอล 10%

ควบรวม2บริษัทลูกตั้งบริษัทใหม่

ดังนั้นเพื่อเป็นการขจัดการถือหุ้นซ้ำซ้อน บริษัทช.การช่าง จะเข้าซื้อหุ้นบีเอ็มซีแอล ในส่วนที่บีอีซีแอลถือทั้งหมด โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมด 3.67 พันล้านบาท ในราคาหุ้นละ 1.79 บาท หลังจากการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวแล้ว จะทำให้ช.การช่างถือหุ้นในบีเอ็มซีแอลเพิ่มเป็น 35.19%

ส่วนการควบรวมกิจการระหว่างบีอีซีและบีเอ็มซีแอลนั้น จะเป็นการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา จากนั้นจะเป็นการแลกหุ้นของบริษัทใหม่ โดย 1 หุ้น บีอีซีแอล แลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 8.065538 หุ้น และ 1 หุ้นบีเอ็มซีแอล แลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 0.42051 หุ้น ดังนั้นการแลกหุ้นในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทใหม่มีทุนจดทะเบียน 15,285 หุ้น หรือ 15,285 ล้านบาทพาร์หุ้นละ 1 บาท สำหรับบริษัทตั้งใหม่นี้ จะถูกถือหุ้นโดยช.การช่างประมาณ 40% และที่เหลืออีก 60% จะเป็นหุ้นสภาพคล่อง หรือฟรีโฟลท ซึ่งถือโดยนักลงทุนทั่วไป

ขายหุ้นไซยะบุรีให้ซีเคพาวเวอร์

นอกจากนี้ ช.การช่าง ยังขายหุ้นโรงไฟฟ้า ไซยะบุรี ให้กับบริษัทซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP ทั้งหมดที่ถืออยู่ 30% มูลค่า 4.34 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ซีเค พาวเวอร์ จะเพิ่มทุน ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 0.34 หุ้นใหม่ ราคา 3 บาท ซึ่งจะทำให้ ซีเค พาวเวอร์ ได้รับเงินจากเพิ่มทุน 5.6 พันล้านบาท พร้อมแจกวอร์แรนท์สำหรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนท์ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จะเพิ่มทุนจดทะเบียน จะทำการแตกพาร์จาก 5 บาท เป็น 1 บาทก่อน

วานนี้ (22 ม.ค.) ราคาหุ้น ช.การช่าง (CK) ปิดตลาดที่ 28.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท หรือ 6.54% มูลค่าซื้อขาย 4,072.09 ล้านบาท ขณะหุ้น บีอีซีแอล (BECL) ปิดตลาดที่ 42 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ ลดลง 1.18% มูลค่าซื้อขาย 800.37 ล้านบาท และบริษัทซีเค พาวเวอร์ ปิดตลาดที่ 18.60 บาท ลดลง 4.62 % มูลค่าซื้อขาย 889.13 ล้านบาท

ควบรวมหวังเตรียมรองรับแข่งขัน

ด้าน นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. แผนการเห็นชอบในการควบรวมกิจการ กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันในอนาคต ซึ่งการควบรวมดังกล่าว จะส่งผลให้ บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ศักยภาพในการเติบโต

“การควบรวมทั้ง 2 บริษัท จะช่วยให้ศักยภาพทั้ง 2 บริษัทเติบโตขึ้น ซึ่งบีอีซีแอล มีความพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางการเงินแข็งแกร่งอยู่แล้ว และบีเอ็มซีแอล มีอนาคตการเติบโตที่ดี จากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นการนำเอาความแข็งแกร่งของทั้ง 2 บริษัทเข้ามารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งในอนาคตหากใครที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ หรือใครที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ต้องใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทแน่นอน”นายสมบัติ กล่าว

บีเอ็มซีแอลลดทุนล้างขาดทุนสะสม

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่บีเอ็มซีแอลจะได้ คือ เดิมทีผู้ถือหุ้นบีเอ็มซีแอล มักจะมีคำถามว่า บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้เมื่อใด เพราะปัจจุบันบริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท บริษัทจะมีผลกำไรจากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปี 2559 และต้องทยอยล้างขาดทุนสะสมก่อน ถึงจะปันผลได้

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการควบรวมบริษัทครั้งนี้ บีเอ็มซีแอลจะใช้วิธีลดทุนจดทะเบียนจาก 20,000 ล้านบาท เหลือ 7,000 ล้านบาท จากนั้นลดพาร์จาก 1 บาท เหลือ 30 สตางค์ โดยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ที่มีอยู่ ส่งผลให้บริษัทจะมีหนี้เหลืออยู่ในหลัก 100 ล้านบาท ดังนั้นจะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยลดลง ส่งผลต่อศักยภาพในการระดมทุนมากขึ้น

ยุติออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

“การควบรวมกิจการครั้งนี้ ทำให้การระดมทุนในอนาคต โดยการใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้นลืมไปได้เลย หรือไม่จำเป็นออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพราะบริษัทมีฐานทุนที่มากพอจะขยายธุรกิจ และทำให้จ่ายเงินปันผลได้ทันทีหากมีกำไร”นายสมบัติ กล่าว

การรวมหุ้นครั้งนี้ จะต้องเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ในเดือนก.พ. และคาดว่า จะสามารถควบรวมแล้วเสร็จ และนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในเดือนส.ค.นี้ โดยบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นนั้น จะมีทุนจดทะเบียน 15,285 ล้านบาท ในราคา พาร์ ที่ 1 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้ง 2 บริษัทรวมกันอยู่ในลำดับที่ 35 ที่ 78,403 ล้านบาท โดยบริษัทใหม่สามารถเข้าซื้อขายได้ในเดือนก.ย.นี้

“ส่วนนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทใหม่จะไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ”นายสมบัติ กล่าว

หุ้นบีเอ็มซีแอลดิ่งรับข่าวที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้นนั้น มองว่าผู้ถือหุ้นจะยอมรับกับข้อเสนอการควบรวมดังกล่าวได้ เพราะทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีพื้นฐานที่เข้มแข็งขึ้น และผู้ถือหุ้นได้ถือหุ้นในบริษัทที่ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบีเอ็มซีแอล ที่ปรับตัวลดลงแรงวานนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการรับข่าวที่เกิดขึ้นวานนี้

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า สำหรับการทำราคาหุ้นที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ ใช้ราคาหุ้นย้อนหลัง 60 วัน ซึ่งหลังจากการทำราคาหุ้นนั้น หุ้นของทั้ง 2 บริษัทอาจปรับตัวสูงกว่าการทำราคาสว็อปหุ้น การปรับตัวลดลงจึงเป็นการตอบสนองกับมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทไม่ได้มองว่าเกิดจากความไม่เชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น ส่วนนักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นของบริษัทอยู่ จะเดินหน้าให้ข้อมูลถึงประโยชน์ในการควบรวมครั้งนี้ และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น

ราคาหุ้นบีเอ็มซีแอล(BMLC) ปิดตลาดวานนี้ ที่ระดับ 2.06 บาท ลดลง 0.32 บาท หรือ 13.45% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 2,436.17 ล้านบาท

เติบโตตามการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า

สำหรับการเติบโตของบีเอ็มซีแอลในอนาคตจะมีอีกมาก หากพิจารณาจำนวนเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีอยู่ปัจจุบัน ระยะทางเกือบ 60 กิโลเมตร เป็นของบริษัท 20 กิโลเมตร และนโยบายของรัฐบาลต้องการเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครบ 500 กิโลเมตรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้บริษัทยังเห็นโอกาสเติบโต

เขากล่าวต่อว่า ล่าสุดบริษัทได้รับการประมูลการเดินรถในเส้นทางเดินสายสีม่วง และคาดจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 12 ส.ค. 2559 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทพลิกมีกำไร

นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการขยายเส้นทางเดินรถไปยังส่วนต่อขยายในระยะเวลาอันสั้นอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีเขียว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในอนาคตจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าในอีก 3 เส้นทาง ทั้งสายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง ทำให้เห็นโอกาสของการเติบโตที่อยู่อย่างมาก ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทมีเงินทุนเข้าไปประมูลได้

ช.การช่างพร้อมรับซื้อหุ้นบีเอ็มซีแอล

ด้านนางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เปิดเผยว่า หลังจากควบรวมกิจการ จะมีรายได้รวมในปีนี้อยู่ที่ 11,657 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.42% จากปี 2557 ที่มีรายได้รวม 11,276 ล้านบาท โดยจะมาจากรายได้ของ บีเอ็มซีแอล 2,974 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 10% ตามการปรับอัตราค่าโดยสารและมีผู้ใช้บริการโดยสารมากขึ้น และรายได้จาก บีอีซีแอล 8,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากปี 2557

ส่วนนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ช.การช่วง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในส่วนของบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง 2 บริษัท มองว่า การควบรวมดังกล่าว ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ ทำให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะรับซื้อหุ้นทั้งหมด หากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นกับการทำรายการครั้งนี้

“สำหรับหุ้นของบีเอ็มซีแอล ที่บีอีซีแอลถือกว่า 10%นั้น บริษัทจะรับซื้อทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการควบรวม โดยหลังจากการควบรวมนั้น ช.การช่าง จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ราว 40%” นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว

กรุงเทพธุรกิจ

“เทสโก้” เปิดแผน “กู้วิกฤต” ขายธุรกิจ

“เทสโก้” เปิดแผน “กู้วิกฤต” ขายธุรกิจ หั่นทิ้งงบฯลงทุน

ยังคงเป็นที่จับตามองของทั้งนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าปลีกสำหรับ “เทสโก้” ที่กำลังเผชิญวิกฤตหนักสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมากว่า 95 ปี แม้ผลงานในช่วงคริสต์มาสจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ช่วยภาพรวมของบริษัทได้ไม่มากนัก

ล่าสุด “เดฟ ลูอีส” ซีอีโอของเทสโก้ได้ประกาศแผนฟื้นฟูบริษัทออกมาแล้ว ซึ่งใจความหลักของแผนนี้จะเป็นการรัดเข็มขัดครั้งมโหฬาร ด้วยเป้าที่จะลดรายจ่ายการลงทุนในปี 2558 ลงกว่าครึ่งจาก 2.1 พันล้านปอนด์ เหลือเพียง 1 พันล้านปอนด์ รวมถึงลดรายจ่ายประจำปีลง 250 ล้านปอนด์ ผ่านมาตรการต่าง ๆ

Tesco-setlnw

โดยสำนักข่าว “บีบีซี” ของอังกฤษ รายงานว่า ในบรรดามาตรการรัดเข็มขัดเหล่านั้นประกอบด้วย การปิดสำนักงานใหญ่และสาขาในประเทศอังกฤษที่ไม่ทำกำไรอีก 43 สาขา ยกเลิกการจ่ายปันผล ยกเลิกเงินบำนาญพนักงาน ขายธุรกิจบรอดแบนด์และธุรกิจสื่อบันเทิงออนไลน์ Blinkbox ให้แก่ บริษัท TalkTalk รวมถึงพิจารณาขายธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล “Dunnhumby” พร้อมทั้งพับแผนที่จะเปิดสาขาขนาดใหญ่อีก 49 สาขาไปก่อน

ซีอีโอของเทสโก้อธิบายว่า หลังจากปิดสำนักงานใหญ่เดิมใน Cheshunt แล้ว บริษัทจะย้ายไปที่ Welwyn Garden City ซึ่งอยู่ใน Hertfordshire เช่นกัน สำหรับ 43 สาขาที่จะปิดนั้นเป็นส่วนใหญ่จะเป็นโมเดล Tesco Express ส่วนการขาย “Dunnhumby” บริษัทให้ Goldman Sachs เป็นผู้พิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อยู่ นอกจากนี้จะยังมีการลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางลง 30% และลดจำนวนทีมผู้บริหารลงจาก 17 คนเหลือ 13 คน

ทั้งนี้แม้เทสโก้จะไม่เปิดเผยมูลค่าของธุรกิจบรอดแบนด์และธุรกิจสื่อบันเทิงออนไลน์ Blinkbox ที่ขายให้แก่ บริษัท TalkTalk แต่สำนักข่าว “เดอะ เทเลกราฟ” คาดว่าจะมีการจ่ายเงินสดอย่างน้อย 5 ล้านปอนด์ในดีลนี้ หลังจากประกาศแผนกู้วิกฤตนี้ออกมาราคาหุ้นของเทสโก้เพิ่มขึ้นทันที 5% สะท้อนว่าเหล่านักลงทุนของอังกฤษถูกใจแผนนี้อยู่ไม่น้อย

“ผมทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทแต่เราจำเป็นต้องเผชิญกับความเป็นจริงของสถานการณ์ซึ่งนี่เป็นเพียงก้าวแรกที่จะนำบริษัทไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องและยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องทำหลังจากนี้”เดฟลูอีส กล่าว

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเทสโก้อาจมีความหวังอยู่บ้างด้วยยอดขายช่วง 6 สัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 3 ม.ค. 2558 ที่ลดลง 0.3% และลดลง 2.9% ในช่วง 19 สัปดาห์ ซึ่งน้อยกว่ายอดไตรมาส 3 ที่ลดลงถึง 5.4% และยังเป็นผลประกอบการที่ดีกว่าคู่แข่งอย่าง Sainsbury อีกด้วย แต่ยังต้องเผชิญกับร้านลดราคาจากเยอรมันอย่าง Lidl และ Aldi ที่เข้ามาเขย่าตลาดค้าปลีกอังกฤษอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่านโยบายของเทสโก้จะส่งผลต่อการดำเนินงานของ”เทสโก้โลตัส”ในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

โต 100% TSE รับรองฐานะช่วงแรก

 

เจเนอเรชั่น3 ตระกูลมาลีนนท์ โชว์ทางเติบโต“ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่” แม้เพิ่งออกมาโลดแล่นในโลกพลังงานทดแทน

ก่อนจะกลายเป็น “ขวัญใจเสี่ย” บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ เคยประสบผลขาดทุนและไม่มีตังค์ขยายกิจการในช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ “ตระกูลมาลีนนท์” ในฐานะหุ้นใหญ่ ตัดสินใจหาเงินลงทุน ด้วยการเชื้อเชิญนักลงทุนรายใหญ่มาร่วมวง ไม่ว่าจะเป็น “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” และ “นเรศ งามอภิชน” โดยได้ขายหุ้นเพิ่มทุนราคาหุ้นละประมาณ 1.20 บาท

“ความฮอต” ของหุ้น TSE วัดได้จากราคาเปิดวันแรก (30 ต.ค.2557) ที่พุ่งจาก 3.90 บาท มายืน 8 บาท ก่อนราคาจะขยับปรับฐานขึ้นมาเรื่อยๆ ส่งผลให้ “ขาใหญ่บางราย” ตัดสินใจปล่อยหุ้นในส่วนของ IPO ออกที่ 10 บาท แม้ช่วงนั้นบริษัทต้องเผชิญหน้ากับการที่ “ไพบูลย์ มัทธุรนนท์” อดีตผู้ถือหุ้น TSE ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ระงับการจดทะเบียนของหุ้น TSE แต่ราคาหุ้นก็ยัง “ทุบสถิติสูงสุด” ที่ 11.30 บาท เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557

ทำไมเซียนหุ้นถึงชอบหุ้น TSE? “ดร.แคทลีน มาลีนนท์” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ แสดงความคิดเห็นกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ว่า นักลงทุนไซด์ใหญ่หลายคนเข้ามาลงทุนใน TSE ตั้งแต่บริษัทยังมีผลขาดทุน อย่าง “เสี่ยปู่” เข้ามาตามคำเชื้อเชิญผู้บริหารรายหนึ่งของบริษัท ซึ่งเขารู้จักกัน เมื่อเราฉายภาพธุรกิจให้ฟัง เขาก็ตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนบริษัทจะเข้าตลาดหุ้น

“เสี่ยปู่ ไม่ได้บอกว่าจะถือหุ้น TSE ไปถึงเมื่อไหร่ ทุกอย่างเป็นสัญญาใจ (ยิ้ม) แต่ตราบใดที่บริษัทยังดำเนินธุรกิจจนเจริญเติบโต ก็คงไม่มีเหตุผลที่เซียนหุ้นรายนี้จะไม่ถือหุ้นของเราต่อ”

ก่อนจะเล่าแผนธุรกิจในอนาคต “นายหญิงวัย 43 ปี” ย้อนที่มาของการเข้ามานั่งบริหาร TSE ว่า หลายปีก่อน “ตระกูลมาลีนนท์” มีความคิดอยากแตกไลน์ออกมาทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ด้วยความที่อยากทำอะไร “ท้าทาย” จึงตัดสินใจขอพ่อ (ประชา มาลีนนท์) เข้ามาทำงานใน TSE หลังมองว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนน่าจะเป็นตลาดหอมหวนในอนาคต

“พี่น้องคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่น 3 ของตระกูล (เธอเป็นลูกสาวคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 7 คน ผู้หญิง 5 คน ผู้ชาย 2 คน) เขาสนใจธุรกิจทีวีมากกว่า” “แคทลีน” บอกอย่างนั้น

เธอเริ่มเข้ามานั่งทำงานใน TSE เมื่อปี 2554 หลังบริษัทก่อตั้งมาแล้ว 2 ปี แรกเริ่มของการทำงาน “แคทลีน” ยอมรับว่า มันไม่ง่ายเลย เพราะเมื่อ 3 ปีก่อน (2554-2556) บริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่การที่บริษัทมีทีมงานเก่งๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมวิศวกรรมและไฟแนนซ์ ทำให้ TSE มีวันนี้

ก่อนจะเข้ามานั่งบริหารงานเต็มตัว ความรู้เรื่องพลังงานทดแทนอยู่ในระดับศูนย์ ยิ่งตอนนั้นบริษัทมีหนี้สินสูงถึง 1,100 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโปรเจคใหม่รอใส่เงินอีก 10 โครงการ ยิ่งทำให้รู้สึกเครียด แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยดี วิธีการคือ ปรับโครงสร้างหนี้ และหาผู้ร่วมทุน

ปัจจุบัน TSE ติด 1 ใน 5 ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ เราเชื่อว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า มีโอกาสจะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เป้าหมายของภาครัฐ คือ ต้องผลิตพลังงานหมุนเวียน 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลดำเนินการไปแล้ว 2,000 เมกะวัตต์ เหลือค้างท่ออีก 2,000 เมกะวัตต์

จริงๆแล้วก่อนจะเข้ามาทำงานใน TSE ช่วงเรียนจบปริญญาเอก ประเทศสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ ได้เข้าไปนั่งตำแหน่งนักลงทุนสัมพันธ์ใน “บีอีซี เทโร” การทำงานในครั้งนั้น ทำให้ได้เรียนรู้ว่า นักลงทุนคาดหวังอะไรกับบริษัทจดทะเบียน ทำงานได้ 5 ปี ก็ขยับมาบริหารงานใน บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ หรือ WAVE ช่วงปี 2551 ตอนนั้นคุณพ่อขอให้เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างธุรกิจ ช่วงนั้นเหนื่อยมาก เข้ามาทำงานแบบไม่มีความรู้อะไรเลย ยิ่งธุรกิจอยูในช่วงขาลง หลังซีดีและดีวีดีเถื่อนระบาดยิ่งเหนื่อย

“โจทย์ยากของ WAVE” ในตอนนั้น คือ มีกระแสเงินสดเพียง 400 ล้านบาท แต่ต้องทำธุรกิจให้รอดในช่วงขาลง ทางออกในครานั้นมี 2 ทาง คือ ดันยอดขาย และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ช่วงนั้นเราตัดสินใจลดในส่วนของตัวแทนจำหน่ายลงจาก 300 คน เหลือ 100 คน และเติมธุรกิจใหม่เข้าไป นั่นคือ ธุรกิจผู้ผลิตคอนเทนท์ให้กับเจ้าของสื่อ

วันนี้ WAVE เติบโตแบบ “Organic growth” หรือ เติบโตจากสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องหาธุรกิจใหม่มาเสริม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการ หรือ M&A ล่าสุดบริษัทเริ่มจับมือกับผู้ประกอบการเอ็นเตอร์เทนเมนท์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น ปัจจุบันกำลังมีสัญญาณ “เทิร์นอะราวด์”

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เวฟ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นนบริษัทย่อยของ WAVE ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เจฟเฟอร์ เรสโตรองต์ จำกัด จำนวน 10,098,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท แบ่งเป็นการซื้อหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิจากผู้ถือหุ้นเดิม 98,000 หุ้น และซื้อหุ้นสามัญออกใหม่ 10 ล้านหุ้น ปัจจุบัน “เจฟเฟอร์ เรสโตรองต์” ประกอบกิจการร้านอาหาร ภายใต้ชื่อ “เจฟเฟอร์” จำนวน 74 สาขาทั่วประเทศ

setlnw-TSE30

“ดร.แคทลีน” แชร์แผนธุริจของ TSE ว่า “ปีแรกๆของการลงทุน แน่นอนรายได้คงเติบโต “ร้อยเปอร์เซ็นต์” จากนั้นจะขยายตัวเฉลี่ย 10-15 เปอร์เซ็นต์”

ปัจจุบันบริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 3 แบบ คือ 1.โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในระบบรางรวมแสง (โรงไฟฟ้า Thermal) ซึ่งบริษัทถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินการระบบนี้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2557 บริษัทมีโรงไฟฟ้า Thermal จำนวน 1 แห่ง กำลังการผลิต 4.5 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่กว่า 150 ไร่ งบลงทุนกว่า 900 ล้านบาท ลูกค้าสำคัญ คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้า Thermal แห่งใหม่ แต่อาจเพิ่มกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่เป็น 9 เมกะวัตต์ ซึ่งการเพิ่มการผลิตจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดทางทีมบริหารได้พูดคุยกับทีมวิศวกรว่า เนื่องจากเรามีความรู้ในระบบโรงไฟฟ้า Thermal อย่างดี ฉะนั้นหากบริษัทต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย จะมาจ้างบริษัทผลิตก็ควรทำ ตอนนี้มีติดต่อมาบ้าง แต่เราขอเวลาศึกษาอีกสักพัก

2.โรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไป ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้า PV ประเภท Solar Farm ที่ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับกฟภ.ไปแล้วจำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ ล่าสุดบริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมอีก ถือเป็นการลงทุนตามนโยบายของภาครัฐ คาดว่าจะลงทุนทำ Solar Farm อีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ โครงการคงแล้วเสร็จปลายปี 2558

“วันนี้ยังมีงานค้างท่อรอรัฐอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าอีก 1,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเรากำลังเจรจาขอซื้อไลเซนส์ต่อจากผู้ประกอบการที่ได้ไลเซนส์ไปแล้ว แต่ไม่พร้อมทำ หรือไม่อยากทำ เพราะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไม่คุ้ม”

เธอ ยอมรับว่า โอกาสการลงทุนทำ Solar Farm ยังมีอีกจำนวน “มหาศาล” ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า (2558-2560) ส่วนโรงไฟฟ้าซีวมวลและชีวภาพ แน่นอนเราไม่พลาดที่จะศึกษา ล่าสุดมี 2 ผู้ประกอบการมาเสนอขายโรงไฟฟ้าประเภทนี้ให้กับบริษัท คาดว่าจะเห็นความเป็นไปได้ในช่วงกลางปีหรือปลายปี 2558 วันนี้ต้องยอมรับว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพมีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ

3.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์” (โครงการ PV ประเภท Commercial Rooftop) ปัจจุบันบริษัทมีโครงการ PV จำนวน 14 โครงการ แบ่งเป็นโครงการละ 1 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 14 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมดภายในปี 2557 ซึ่งทั้ง 14 โครงการเป็นการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของสาขา “โฮมโปร” และ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ล่าสุดกำลังเจรจากับค้าปลีกรายอื่นๆ เพื่อเข้าไปติดตั้ง PV

“จากแผนธุรกิจดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป โดยเราจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า Thermal เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยรับมากถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรงไฟฟ้า PV ประเภท Solar Farm จะรับรู้ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะรับรู้รายได้จากโครงการ PV ประเภท Commercial Rooftop ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามถึงแผนลงทุนในต่างประเทศ? เธอย้ำเหมือนเดิมว่า กำลังศึกษาการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ล่าสุดได้จับมือเป็นพันธมิตรกับนักธุรกิจท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยจะร่วมกันทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 2-3 ดีล กำลังการผลิตประมาณ 10 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะได้สรุป 1 ดีล ภายในไตรมาสแรกของปี 2558 ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 15-20 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหน้าตาพันธมิตร และโครงสร้างการถือหุ้น หากเข้าไปดำเนินการจริง อยากมีกำลังการผลิตประมาณ 10-20 เมกกะวัตต์

“บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาจะจับมือกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบมจ.ปตท.หรือ PTT เพื่อร่วมกันทำพลังงานทดแทน แต่ตอนนี้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปิดท้ายบนสนทนาว่า เรามีแผนล้างขาดทุนสะสมทั้งหมด 234 ล้านบาท ในปี 2558 ด้วยการนำกำไรจากการดำเนินงานไปล้างขาดทุนสะสม โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2557 บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 648 ล้านบาท ฉะนั้นบริษัทอาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตามนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ

“เราอยากเป็น “หุ้นเติบโต” หรือ Growth stock ขณะเดียวกันก็อยากเห็นนักลงทุนได้รับเงินปันผลสม่ำเสมอ”

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 คงดีกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีรายได้ 241.96 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วง High season ของธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม ขณะเดียวกันบริษัทจะรับรู้รายได้จากโซลาร์ฟาร์มครบทั้ง 10 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้แล้ว 1,094 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 760 ล้านบาท

“อยากบอก “แฟนคลับหุ้น TSE” ว่า บางครั้งก็ตอบอยากเหมือนกันว่า บริษัทจะเติบโตไปในทิศทางไหน แต่อยากให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ด้วยความที่พลังงานทดแทนอยู่ใกล้ตัวทุกคน และไม่มีวันหมดไปจากโลก ทำให้ธุรกิจนี้มีความน่าสนใจ ฉะนั้นเรายังสามารถหันไปทำพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆได้อีก ที่สำคัญบริษัทไม่เปิดกั้นเรื่องพันธมิตร”