“เทสโก้” เปิดแผน “กู้วิกฤต” ขายธุรกิจ

“เทสโก้” เปิดแผน “กู้วิกฤต” ขายธุรกิจ หั่นทิ้งงบฯลงทุน

ยังคงเป็นที่จับตามองของทั้งนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าปลีกสำหรับ “เทสโก้” ที่กำลังเผชิญวิกฤตหนักสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมากว่า 95 ปี แม้ผลงานในช่วงคริสต์มาสจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ช่วยภาพรวมของบริษัทได้ไม่มากนัก

ล่าสุด “เดฟ ลูอีส” ซีอีโอของเทสโก้ได้ประกาศแผนฟื้นฟูบริษัทออกมาแล้ว ซึ่งใจความหลักของแผนนี้จะเป็นการรัดเข็มขัดครั้งมโหฬาร ด้วยเป้าที่จะลดรายจ่ายการลงทุนในปี 2558 ลงกว่าครึ่งจาก 2.1 พันล้านปอนด์ เหลือเพียง 1 พันล้านปอนด์ รวมถึงลดรายจ่ายประจำปีลง 250 ล้านปอนด์ ผ่านมาตรการต่าง ๆ

Tesco-setlnw

โดยสำนักข่าว “บีบีซี” ของอังกฤษ รายงานว่า ในบรรดามาตรการรัดเข็มขัดเหล่านั้นประกอบด้วย การปิดสำนักงานใหญ่และสาขาในประเทศอังกฤษที่ไม่ทำกำไรอีก 43 สาขา ยกเลิกการจ่ายปันผล ยกเลิกเงินบำนาญพนักงาน ขายธุรกิจบรอดแบนด์และธุรกิจสื่อบันเทิงออนไลน์ Blinkbox ให้แก่ บริษัท TalkTalk รวมถึงพิจารณาขายธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล “Dunnhumby” พร้อมทั้งพับแผนที่จะเปิดสาขาขนาดใหญ่อีก 49 สาขาไปก่อน

ซีอีโอของเทสโก้อธิบายว่า หลังจากปิดสำนักงานใหญ่เดิมใน Cheshunt แล้ว บริษัทจะย้ายไปที่ Welwyn Garden City ซึ่งอยู่ใน Hertfordshire เช่นกัน สำหรับ 43 สาขาที่จะปิดนั้นเป็นส่วนใหญ่จะเป็นโมเดล Tesco Express ส่วนการขาย “Dunnhumby” บริษัทให้ Goldman Sachs เป็นผู้พิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อยู่ นอกจากนี้จะยังมีการลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางลง 30% และลดจำนวนทีมผู้บริหารลงจาก 17 คนเหลือ 13 คน

ทั้งนี้แม้เทสโก้จะไม่เปิดเผยมูลค่าของธุรกิจบรอดแบนด์และธุรกิจสื่อบันเทิงออนไลน์ Blinkbox ที่ขายให้แก่ บริษัท TalkTalk แต่สำนักข่าว “เดอะ เทเลกราฟ” คาดว่าจะมีการจ่ายเงินสดอย่างน้อย 5 ล้านปอนด์ในดีลนี้ หลังจากประกาศแผนกู้วิกฤตนี้ออกมาราคาหุ้นของเทสโก้เพิ่มขึ้นทันที 5% สะท้อนว่าเหล่านักลงทุนของอังกฤษถูกใจแผนนี้อยู่ไม่น้อย

“ผมทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทแต่เราจำเป็นต้องเผชิญกับความเป็นจริงของสถานการณ์ซึ่งนี่เป็นเพียงก้าวแรกที่จะนำบริษัทไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องและยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องทำหลังจากนี้”เดฟลูอีส กล่าว

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเทสโก้อาจมีความหวังอยู่บ้างด้วยยอดขายช่วง 6 สัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 3 ม.ค. 2558 ที่ลดลง 0.3% และลดลง 2.9% ในช่วง 19 สัปดาห์ ซึ่งน้อยกว่ายอดไตรมาส 3 ที่ลดลงถึง 5.4% และยังเป็นผลประกอบการที่ดีกว่าคู่แข่งอย่าง Sainsbury อีกด้วย แต่ยังต้องเผชิญกับร้านลดราคาจากเยอรมันอย่าง Lidl และ Aldi ที่เข้ามาเขย่าตลาดค้าปลีกอังกฤษอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่านโยบายของเทสโก้จะส่งผลต่อการดำเนินงานของ”เทสโก้โลตัส”ในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ThaiBMAชี้ ต้นศักราชบจ.ขายหุ้นกู้ทะลุหมื่นล.

ThaiBMA เผยตลาดบอนด์คึกเปิดศักราช ครึ่งเดือนแรกของปีมี บจ. พร้อมขายหุ้นกู้แล้ว 1.15 หมื่นล้าน ก่อนสิ้นเดือนจ่อขายเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5 บริษัท ชี้มูลค่าระดมทุนแซงหน้าช่วงเดียวกันปีก่อนแน่นอน แบงก์ชี้ภาวะเศรษฐกิจหนุนทั้งผู้ลงทุน-ผู้ระดมทุนใช้จังหวะดอกเบี้ยยังต่ำ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ไทย (บอนด์) คึกคักตั้งแต่สัปดาห์แรกของปี ล่าสุด มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ในเดือน ม.ค.แล้ว จำนวน 5 ราย คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนกว่า 1.15 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีอีก 5 รายอยู่ระหว่างเตรียมการออกหุ้นกู้ มูลค่าราว 7,700 ล้านบาท จึงมีโอกาสสูงที่ในเดือนนี้จะมีหุ้นกู้ออกใหม่มีมูลค่ามากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ บจ.ที่เตรียมขายหุ้นกู้ ได้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน, บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD), บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP), บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) และ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) เป็นต้น

“ปกติช่วงต้นปีจะไม่ค่อยมีบริษัทเอกชนมาออกหุ้นกู้มากนัก และจะทยอยออกกันประมาณเดือน เม.ย.เป็นต้นไป เพื่อรอขออนุมัติผู้ถือหุ้นก่อน แต่ปีนี้ต่างออกไป เพราะเห็นเอกชนออกหุ้นกู้จำนวนมากตั้งแต่เดือนแรกของปี ซึ่งอาจเป็นผลจากการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับบริษัทหน้าใหม่ก็ตื่นตัวมาระดมทุนผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น หลังจากที่สมาคมเดินสายพบปะผู้ประกอบการหลายครั้งในปีที่ผ่านมา”

setlnw
นอกจากนี้ เชื่อว่าในปี 2558 ยังเป็นปีที่ดีของผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุน เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่ค่อนข้างสูง และทิศทางดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผู้ลงทุนก็มีโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงเช่นตราสารหนี้เพิ่มขึ้น

ด้านนางสาวดวงใจแก้วบุตตากรรมการผู้จัดการ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท อายุ 2 ปี 30 วัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.50% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยเป็นการเสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ กำหนดจองขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณของ 100,000 บาท เปิดจองซื้อและรับหนังสือชี้ชวนระหว่างวันที่ 13-15 ม.ค.นี้

“วัตถุประสงค์ระดมทุนครั้งนี้ เพื่อจ่ายคืนเจ้าหนี้เงินกู้ปล่อยสินเชื่อและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และได้แต่งตั้ง 4 ธนาคารเป็นตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ธนาคารธนชาต และธนาคารยูโอบี”

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค.นี้ บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 6,000 ล้านบาท จำนวน 2 รุ่น อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.85% ต่อปี และอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.20% ต่อปี โดยรุ่นแรกจะเสนอขายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และมีสำรองเพื่อขยายเพิ่มเติมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนรุ่นที่ 2 ก็เช่นกัน โดยจะเสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไปในระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.นี้

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการและรองรับการลงทุนทั้งในปัจจุบันและอนาคต อีกส่วนใช้ชำระหนี้เงินกู้ก่อนกำหนด (รีไฟแนนซ์) ในส่วนที่มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ยังเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในปีนี้ ประกอบกับสัญญาณภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วไป ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้เม็ดเงินดังกล่าวมีโอกาสไหลเข้ามาที่ตลาดตราสารหนี้ของหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย

“แนวโน้มของทิศทางดอกเบี้ยในไทยยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเป็นทางเลือกของผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้และน่าจะทำให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ปี2558 น่าจะมีความคึกคัก” นายสุภัคกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม ปีนี้ มีการระดมเงินทุนทั้งภาคเอกชนผ่านการออกหุ้นกู้ และภาครัฐบาล ซึ่งล่าสุด กระทรวงการคลัง แถลงเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ “สุขกันเถอะเรา” วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเริ่มเปิดขายตั้งแต่วันที่ 12 – 23 ม.ค. 2558 ให้แก่นักลงทุนบุคคล รวมไปถึงองค์กรการกุศล