หุ้นที่มีสัญลักษณ์เชิงบวก 4 กุมภาพันธ์ 2558

หุ้นที่มีสัญลักษณ์เชิงบวก

 

โปรแกรม Tisco stock scan

โดยเลือกฟังชั่น Upside% คือการแสกนหุ้นที่สถิติในเชิงบวกโดยคิดเป็นเปอร์เซ็น และได้ผลลัพท์ออกมาดังนี้

  • หุ้น EARTH  มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 31.69%  ราคาอยู่ที่ 4.86 บาท
  • หุ้น HMPRO  มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 30.96%  ราคาอยู่ที่ 8.40 บาท
  • หุ้น ROBINS  มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 26.09%  ราคาอยู่ที่ 46.00 บาท
  • หุ้น SIRI มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 25.00%  ราคาอยู่ที่ 1.84 บาท
  • หุ้น KTC  มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 24.24%  ราคาอยู่ที่ 65.00 บาท
  • หุ้น BANPU มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 21.57%  ราคาอยู่ที่ 25.50 บาท
  • หุ้น CPN มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 19.57%  ราคาอยู่ที่ 46.00 บาท
  • หุ้น PTTEP มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 9.55%  ราคาอยู่ที่ 120.50 บาท
  • หุ้น LH มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 9.10%  ราคาอยู่ที่ 9.35 บาท
  • และ BLAND มีสัญลักษณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น 2.24%  ราคาอยู่ที่ 1.79 บาท

นี่เป็นเพียงสัญลักษณ์และสัญญานทางเทคนิค

ซึ่งนักลงทุนควรศึกษาปัจจัยพื้นฐาน  ของหุ้นแต่ละตัวก่อนลงทุน

และขอให้โชคดีในการเทรดคับ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/setlnw 

บอร์ด ปตท.ขายหุ้น”บางจาก”ให้กองทุนวายุภักษ์

บอร์ด ปตท.ขายหุ้น”บางจาก”ให้กองทุนวายุภักษ์ 15% ที่เหลือเปิดกว้างผู้สนใจเสนอซื้อ

ptt

บอร์ด ปตท.อนุมัติขายหุ้นบางจากให้กองทุนวายุภักษ์ 15% ที่เหลืออีก 12.22% เจรจากับผู้ที่สนใจซื้อ โดยเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเสนอเงื่อนไขและราคาเข้ามา มั่นใจแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2558 ย้ำเหตุเลือกกองทุนวายุภักษ์เนื่องจากเสนอราคาและเงื่อนไขดีที่สุดมา มั่นใจดีลนี้ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และรับรู้เป็นกำไรจากการขายหุ้น 4-5 พันล้านบาท

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)วาระพิเศษเรื่องการขายหุ้นบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(BCP)ที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ 27.22%วันนี้ (3 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดปตท.พิจารณาอนุมัติให้ขายหุ้นบางจากฯทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกขายหุ้นบางจากฯสัดส่วน 15% ให้กับกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งรายละเอียดจะมีการเจรจากันอีกครั้ง

ส่วนที่ 2 จำนวนหุ้นบางจากที่เหลืออีก 12.22%นั้นกำลังเจรจาขายหุ้นกับผู้ที่สนใจที่เสนอเงื่อนไขและราคาที่ดี โดยเปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจนอกเหนือจากผู้สนใจที่ยื่นราคาเสนอซื้อมาก่อนหน้านี้จำนวน 2 ราย คือ บริษัท เมอร์ริเมดไทม์ของกลุ่มนายประยุทธ์ มหากิจศิริ และกลุ่มเอ็มบีโอ ซึ่งนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริษัทบางจาก กลุ่มผู้บริหารและพนักงานบางจากฯ โดยจะเลือกผู้ที่ยื่นข้อเสนอมาดีที่สุด คาดว่าการเจรจาขายหุ้นบางจากทั้งหมดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2558 นี้

นายไพรินทร์ กล่าวยอมรับ การตัดสินใจขายหุ้นบางจากฯ 15%ให้กับกองทุนวายุภักษ์นี้ แม้ว่ากองทุนฯจะยื่นข้อเสนอเงื่อนไขและราคาภายหลังจากที่บริษัทปิดรับผู้ที่สนใจเสนอเงื่อนไขมาก็ตาม แต่ราคาและเงื่อนไขที่กองทุนวายุภักษ์เสนอมานั้นดีที่สุด อีกทั้งกองทุนวายุภักษ์เองก็ถือหุ้นใน ปตท.อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ปตท.มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นบางจากทั้งหมด 27.22%จะได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะบันทึกเป็นกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท

“เราตั้งใจขายหุ้นบางจากฯทั้งหมดอยู่แล้ว เบื้องต้นขายหุ้นบางจากให้กองทุนวายุภักษ์ 15% โดยราคาได้มีการตกลงกันแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้จนกว่าจะเจรจาขายหุ้นบางจากส่วนที่เหลือจบก่อน แต่ยืนยันว่าเป็นข้อเสนอที่เหมาะสมต่อทั้งคนซื้อและคนขาย โดยอยากให้ราคาเสนอขายหุ้นบางจากทั้ง 2 ส่วนมีราคาที่เท่ากัน โดยยืนยันว่าการเสนอขายหุ้นที่เหลืออีก 12.22%จะไม่ปิดทางใคร โดยเชื่อว่าภายในไตรมาส 1นี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด”

นายไพรินทร์ ยืนยันว่า มติบอร์ด ปตท.ในครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นการล้มดีล เนื่องจากมีการขายหุ้นบางจากฯอยู่ เพียงแต่ข้อเสนอของบริษัทที่เสนอซื้อหุ้นบางจากมาก่อนหน้านี้ทั้ง 2 รายยังไม่ใช่ข้อเสนอที่ดีที่สุด และยืนยันว่าการขายหุ้นบางจากไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ผู้ที่สนใจต้องมีแบงก์การันตีถึง 1 หมื่นล้านบาทแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวออกมาว่าดีลการขายหุ้นบางจากฯถูกเบรกไม่ให้ขายหุ้นให้กลุ่มนายประยุทธ์ที่เสนอราคาซื้อหุ้นบางจากฯมาสูงกว่ากลุ่มนายพิชัย เนื่องจากป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนการเมืองเข้ามามีบทบาทการบริหารจัดการบางจากฯ หลังจากมีกระแสคัดค้านจากพนักงานบางจากที่ไม่ต้องการให้ปตท.ขายหุ้นออกไป จึงเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาซื้อแทนผ่านกองทุนวายุภักษ์ แต่เนื่องจากติดเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้กองทุนวายุภักษ์ไม่สามารถเข้ามาซื้อหุ้นบางจากทั้งหมดได้ คงซื้อได้เพียง 15%เท่านั้น

ส่วนแนวทางการการดึงกองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นบางจากนี้ เชื่อว่าฝ่ายบริหารและพนักงานบางจากฯจะเห็นชอบแนวทางนี้ ดีกว่าอยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มนายประยุทธ์อย่างแน่นอน เพราะถ้าบริษัท เมอร์ริเมดไทม์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ สิ่งแรกคือการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทบางจากฯ รวมทั้งแนวนโยบายการบริหารงานซึ่งไม่ส่งผลดีต่อผู้บริหารและพนักงานบางจากฯ

โพส ผู้จัดการออนไลน์

หุ้น UREKA เพิ่มทุน-แจกวอร์แรนต์ฟรี 2:1

ผู้ถือหุ้น UREKA “ยูเรกา ดีไซน์”ไฟเขียวเพิ่มทุน-แจกวอร์แรนต์ฟรี 2:1

ureka

ผู้ถือหุ้น “ยูเรกา ดีไซน์” ไฟเขียวเพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 4:1 ที่ ราคา 1.15 บาท/หุ้น พร้อมแจกวอร์แรนต์ฟรี ในอัตราส่วน 2:1 ด้าน “นรากร ราชพลสิทธิ์” เผยเตรียมนำเงินที่ได้ไปขยายธุรกิจตามแผน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต มั่นใจผลการดำเนินงานปีนี้ “เทิร์นอะราวนด์” ปักธงรายได้รวมแตะ 800 ล้านบาท มั่นใจอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว พร้อมลุยตลาดต่างประเทศเต็มสูบ เพื่อกระจายฐานรายได้

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) (UREKA) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 มีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีก จำนวน 78,625,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 314,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม จำนวน 85 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่เป็น จำนวน 163,625,000 บาท

ทั้งนี้ ได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 85 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายในคราวเดียวกัน หรือต่างคราวกันให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนในอัตรา 4 หุ้นเดิมได้ 1 หุ้นใหม่ ราคาจองซื้อ 1.15 บาท และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 212,500,000 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ ที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิฟรี อายุ 2 ปี ราคาการใช้สิทธิเท่ากับหุ้นละ 0.50 บาท

นอกจากนี้ ยังจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 17 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่บริษัทจะแจกฟรีให้แก่พนักงานของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย ภายใต้โครงการการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่พนักงานของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย (ESOP Scheme) โดยไม่มีราคาเสนอขาย อายุไม่เกิน 3 ปี อัตราการใช้สิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญ 1 หุ้น ราคาการใช้สิทธิเท่ากับหุ้นละ 1.50 บาท

“วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อนำเงินเพิ่มทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และเพื่อใช้รองรับและเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย สร้างโอกาสการเติบโตที่แข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคต และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว” นายนรากร กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2558 จะกลับมาเทิร์นอะราวนด์ โดยตั้งเป้ารายได้รวมที่ 800 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยที่ผ่านมา เราได้ปรับกลยุทธ์และเตรียมความพร้อมรับมือ พร้อมกับกระจายฐานรายได้สู่ตลาดต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดในประเทศ โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากปีนี้ที่คาดมีสัดส่วน 2% ของรายได้รวม

BTSลุ้นสรุปเป็นผู้เดินรถสีเขียวใต้ปีนี้

BTSลุ้นสรุปเป็นผู้เดินรถสีเขียวใต้ปีนี้ หวังจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มรวดเดียว20ขบวน

bts

บีทีเอสลุ้นประมูลซื้อรถไฟฟ้ารวดเดียว 20 ขบวนในปีนี้หากได้ข้อสรุปให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ในกลางปีนี้ ย้ำมีเงินตุนเพียบ เผย 9เดือนมีรายได้จากค่าโดยสารโตตามเป้า 6% เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับอิออนทำบัตร”อิออน-แรบบิท”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีแผนเปิดประมูลซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 7 ขบวนๆละ 4 ตู้ มูลค่ารวม 2 พันล้านบาทอย่างช้าในปลายปีนี้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562 หากได้ข้อสรุปให้บริษัทเป็นผู้เดินรถสายสีเขียวใต้(แบริ่ง-สมุทรปราการ)ภายในปีนี้ ก็จำเป็นต้องซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 13 ขบวน ก็จะดำเนินการประมูลซื้อรถไฟฟ้าไปพร้อมกันทีเดียว 20 ขบวน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6-7 พันล้านบาท

ซึ่งการเปิดประมูลสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวนมากขึ้นจะทำให้บริษัทมีอำนาจในการเจรจาต่อรองด้านราคาและจำนวนผู้ที่ยื่นประมูลแข่งขันก็มากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงซีเมนส์และจีน แต่หากยังไม่มีความคืบหน้าในการให้บริษัทฯเป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในปีนี้ ก็คงไม่รอ และจะเปิดประมูลเพียง 7 ขบวนไปก่อน

ส่วนแหล่งเงินทุนในการซื้อรถไฟฟ้าดังกล่าวนี้ ไม่มีปัญหา เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินในมือสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท และไม่มีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในต่างประเทศด้วย

ก่อนหน้านี้ รมว.คมนาคมได้มอบนโยบายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจรจากับกรุงเทพมหานครและบีทีเอส เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันกรณีรูปแบบการเดินรถเชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งวิธีการเจรจากับบีทีเอสให้เป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้า จะเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่ามากกว่าเปิดประกวดราคา

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ยอดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558/2559 (เม.ย-ธ.ค.58)เพิ่มขึ้น 3% แต่รายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6%ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คาดว่าทั้งปีจะโตได้กว่า 6% ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเฉลี่ยวันละ 6 แสนเที่ยวคน/วัน
นอกจากนี้ บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังจากได้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารมาเมื่อมิ.ย. 2556 เนื่องจากแต่ละปีบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 6%

วันที่ 2 ก.พ.2558  มีการลงนามสัญญาในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ด ซิสเทมจำกัด(BSS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบีทีเอส และบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)( AEONTS) เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจระยะยาวระหว่างบีทีเอส กับอิออน ซึ่งเป็นหนึ่งในการขยายพันธมิตรและ ธุรกิจด้านสมาร์ทการ์ดของบีทีเอสกรุ๊ปหรือบัตรแรบบิท

ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิทอยู่ประมาณ 3.5 ล้านใบ และโดยการเข้าร่วมโครงการนี้ BSSตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มยอดผู้ถือบัตรแรบบิทได้อีกประมาณ 7 แสนใบใน 5ปีข้างหน้าภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ BSS และ AEONTS จะร่วมกันออกบัตรแรบบิทร่วม (the Co-Branded Rabbit) ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกตามโครงการนี้คือบัตรสมาชิกอิออน-แรบบิท (AEON Rabbit Member Card) โดยผู้ถือบัตรนี้สามารถใช้บัตรเพื่อรับบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจาก AEONTSและใช้บัตรเพื่อเดินทางโดยสารในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดจนใช้บัตรนี้ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ร่วมรับบัตร

นอกจากนี้บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ กำลังจะจัดตั้งขึ้น และ AEONTS จะร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อรับโอนสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่เกิดจากการเบิกใ
ช้สินเชื่อผ่านบัตรสมาชิกอิออน-แรบบิท เพื่อดำเนินโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 โดยโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นี้มีอายุไม่เกิน 10 ปี และมีขนาดลงทุนของโครงการไม่เกิน 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะเข้าลงทุนในหุ้นกู้ที่จะออกโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้ในจำนวนไม่เกิน 4,500 ล้านบาท และ BSS Holdings และ AEONTS ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้ตามสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ คาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้เสร็จในไตรมาส1/2558

โดยนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้จะนำเงินที่ระดมทุนได้จากหุ้นกู้และเงินกู้ยืมนี้ไปซื้อสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจาก AEONTS

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย ความหวังพลิกวิกฤตขาดทุน เทกออฟทำกำไร

ทันทีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะการบินไทย ที่ถูกจับตามองจากทุกฝ่ายมากสุด เพราะยังไม่มั่นใจว่าแผนฟื้นฟูจะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วแนวทางที่กำหนดเหมาะสมขนาดไหน และพนักงานที่มีอยู่กว่า 2.5 หมื่นคนจะได้รับผลกระทบเพียงใด

thai-setlnw

-แผนฟื้นฟูหยุดขาดทุน

การจัดทำแผนฟื้นฟูของการบินไทยครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อหยุดการขาดทุน และหาวิธีการให้กลับมามีกำไรให้ได้ หลังจากที่ประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 ที่ขาดทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และในปี 2557 แม้ผลการดำเนินงานทั้งปีจะยังไม่ออกมา แต่ผลประกอบรวม 3 ไตรมาสมีการขาดทุนประมาณ 9.1 พันล้านบาท คาดว่าทั้งปี 2557 จะขาดทุนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

แผนฟื้นฟูจึงเป็นความหวังของการบินไทยที่จะทำให้ผลการดำเนินงานกลับมาเป็นบวก โดยมีเนื้อหาหลักๆ 5 ประเด็น คือ

1.ปรับเส้นทางการบิน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.1 กลุ่มเส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง

1.2 กลุ่มเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงและฟื้นฟูให้กลับมาภายใน 6-12 เดือน โดยกลุ่มนี้ยังถือเป็นกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าจะหยุดหรือไม่ เพราะอนาคตอาจมีศักยภาพจะใช้เวลาอีก 1 ไตรมาส ในการพิจารณาว่าจะหยุดหรือเดินหน้า

1.3 เส้นทางที่พอมีกำไรให้พัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อไม่ให้ขาดช่วง แม้ว่าเป็นกลุ่มที่วันนี้ยังไม่มีกำไร แต่มีแนวโน้มทำกำไรได้ จะต้องไปปรับวิธีการดำเนินงานขายบัตรโดยสารให้ดีขึ้น และ 1.4 เส้นทางที่มีกำไร ซึ่งเปรียบเสมือนกำลังหลัก ส่วนนี้ต้องเพิ่มเที่ยวบิน เช่น ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น (กรณีของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ)

2.การปรับแผนการตลาด จะเน้นปรับกลยุทธ์ขายตั๋ว โดยให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

3.การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ เพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบินจึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสม ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวางหรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ

4.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน โดยยังไม่กำหนดช่วงเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออก

5.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น จะต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าส่วนใดจะโอนออกไปหรือขายอีกครั้ง

โดยมาตรการทั้ง 5 ข้อ ถือเป็นการหยุดเลือดของการบินไทยโดยตัดภาระที่ทำให้ติดลบมากออกไปก่อน ซึ่งในแผนนี้จะรวมถึงการลดการลงทุนลงด้วย เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี ก็ต้องปรับลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินก็จะมีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไปก่อน

-สหภาพค้านปลดพนักงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) ทราบข่าวแผนฟื้นฟูผ่าน คนร.แล้ว ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทันที โดยยืนยันว่าการบินไทยไม่สามารถปลดพนักงานได้ เพราะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนข้อเสนอที่จะปรับลดพนักงานลง 5 พันคน ทางสหภาพยังได้เข้าไปขอความชัดเจนจากฝ่ายบริหารการบินไทยเพิ่มเติมจนทราบว่า เรื่องปรับลดพนักงานเป็นแผนดำเนินการ 5 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากพนักงานที่เกษียณอายุประมาณ 500 คนต่อปี และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประมาณ 500 คนต่อปี รวมทั้ง 2 ส่วน ภายใน 5 ปี จะมีพนักงานลดลงตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันทางสหภาพได้เสนอให้ปรับลดพนักงานที่ว่าจ้างจากภายนอก (เอาต์ซอร์ส) โดยเฉพาะกลุ่มที่ประจำสำนักงานใหญ่การบินไทย คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1 พันคน เพราะมองว่าปัญหาของการบินไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับขยายโครงสร้างของฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีฝ่ายปฏิบัติ จึงว่าจ้างพนักงานเอาต์ซอร์สเข้ามาเสริมการทำงาน ในขณะที่พนักงานประจำไม่ทราบว่าได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้น หากจะปรับลดพนักงานก็น่าจะปรับลดเอาต์ซอร์สก็จะช่วยลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายลงได้ส่วนหนึ่ง

– เฮดจิ้งน้ำมันทำต้นทุนสูง

ขณะที่การประชุมระดับปลัดและหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้สอบถามเกี่ยวกับการลดต้นทุนของสายการบินไทยเช่นเดียวกัน โดยมองว่าสาเหตุขาดทุนหลักเพราะสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้า (เฮดจิ้ง) จนกลายเป็นการบริหารต้นทุนที่ผิดพลาด เพราะเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง ต้นทุนของการบินไทยไม่ลดลงตาม เนื่องจากยังใช้น้ำมันในราคาที่สูงอยู่นั่นเอง แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการนี้สายการบินทั่วไปก็ใช้กัน เพราะจะส่งผลดีในช่วงที่ราคาน้ำมันสูง แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ก็จะส่งผลให้ขาดทุนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นการบริหารความเสี่ยงของแต่ละสายการบินอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานต้อนรับหรือแอร์โฮสเตสของการบินไทย สามารถลาออกได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุ 40-50 ปี ที่ต้องการพักผ่อนให้สามารถลาออกได้ โดยจะต้องไปกำหนดรูปแบบว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ให้เหมาะสมมากที่สุดต่อไป

– มั่นใจปีนี้หยุดขาดทุน

ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ออกมาบอกว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยเป็นแผน 2 ปีคือ ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยมั่นใจว่ามาถูกทางแน่ พร้อมกันนี้ยังได้วางเป้าหมายจะหยุดขาดทุนให้ได้ในปี 2558 นี้ จากนั้นปี 2560 จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน สำหรับการปรับลดพนักงาน 5,000 คน จะให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป เพราะจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการบริหารงานค่าใช้จ่ายด้านอื่นก่อน หากมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ถึงจะพิจารณาปรับลดพนักงาน

ส่วนขั้นตอนการปฏิรูปการบินไทยจะมี 3 ขั้นตอน 6 กลยุทธ์ ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกลดการขาดทุนให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยในปีนี้มีแผนยกเลิกเส้นทาง ลดความถี่เที่ยวบินที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีศักยภาพทำกำไรรวมประมาณ 10% ของเที่ยวบินทั้งหมด เช่น ยกเลิกเที่ยวภูเก็ต -กรุงโซล, กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนเที่ยวบินไปกลับสุราษฎร์ธานี อุดรธานี อุบลราชธานี จะลดความถี่ลงและให้สายการบินไทยสมายล์บินแทน โดยเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-มาดริด, กรุงเทพฯ-มอสโก, กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก โดยจะมีผลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 เนื่องจากเส้นทางบินดังกล่าวอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ ไม่มีศักยภาพและในระยะปานกลางก็ไม่มีศักยภาพ

เรื่องการขายสินทรัพย์ จะพิจารณาขายเครื่องบินก่อนส่วนแรก 22 ลำ ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 จากทั้งหมดที่มี 102 ลำ ส่วนทรัพย์สินอื่น เช่น บ้านพักและสำนักงานต่างประเทศ ก็ต้องประเมินอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจนอกเหนือจากการบิน เช่น หุ้นโรงแรม จะต้องพิจารณาอีกที ถ้าไม่สามารถบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพก็อาจต้องขาย ซึ่งจะจัดทำแผนบริหารเพื่อดูสินทรัพย์ว่าส่วนไหนมีศักยภาพ มีผลตอบแทนดีจะเก็บไว้ แต่ถ้าไม่ดีก็จะขายทิ้ง แต่เท่าที่ดูปีนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขายธุรกิจ

– รายได้ไม่ถึง2แสนล้าน

ขั้นตอนที่ 2 จะเร่งสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน โดยปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ บุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ในการหารายได้ทุกช่องทาง แต่ยังให้บริการเต็มรูปแบบ และขั้นตอนที่ 3 การขยายธุรกิจให้เติบโตและมีกำไรในระยะยาว โดยใช้จุดแข็งขององค์กรเป็นหลักในการเติบโต ขณะเดียวกันยอมรับว่าแผนเลื่อนการรับมอบเครื่องบิน เป็นหนึ่งในแผนช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ส่วนสภาพคล่องตอนนี้ยังไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องกู้ในปีนี้ แต่การขอสินเชื่อก็มีอยู่ในแผนการบริหารสภาพคล่องปกติ อย่างไรก็ตามปีนี้รายได้คงไม่ถึง 2 แสนล้านบาท

สำหรับ 6 กลยุทธ์ที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย การปรับปรุงเครือข่ายสายการบิน การปรับปรุงฝูงบิน เพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย การปรับปรุงโครงสร้างองค์การ และการจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัทอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดธุรกิจหลักและธุรกิจสนับสนุนให้ชัดเจน

– เจาะกลุ่มลูกค้าหลัก

พร้อมกันนี้ดีดียังสั่งการให้ฝ่ายพาณิชย์เร่งจัดทำแผนการตลาดเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มลูกค้าหลัก 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มลูกค้าข้าราชการ ลูกค้าบุคคล กลุ่มทัวร์ โดยให้ดึงส่วนแบ่งเพิ่มจากสายการบินอื่น ผ่านการทำตลาดในช่องทางซื้อต่างๆ รวมถึงทางเว็บไซต์ โดยกำหนดให้ทุกกลุ่มลูกค้าและทุกช่องทางการซื้อต้องมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทั้งหมดในปี 2558 ขณะเดียวกันยังสั่งการให้เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ซ่อมเครื่องบินเพื่อรองรับแผนการเปิดซ่อมเครื่องบินของสายการบินอื่นรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า เพราะในอนาคตจะมีเครื่องบินเข้ามาอยู่ในแถบประเทศไทยประมาณ 2,000 ลำ โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากการซ่อมเครื่องบินให้สูงขึ้น แบ่งเป็นเครื่องของการบินไทย 70% และเครื่องของสายการบินอื่น 30%

– เปิดเออร์ลี่รีไทร์พลัส

ฝั่งของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนฟื้นฟูของการบินไทยที่ยังสรุปไม่ได้มี 2 เรื่อง คือ 1.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทยหรือ นอน คอร์ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินในลักษณะใด ดังนั้น การบินไทยต้องไปพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่าธุรกิจในส่วนไหนบ้างที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดผลกำไรขึ้นมา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการขายหุ้นก็ได้ เช่น กรณีของโรงแรม ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับการบินก็ไม่ใช่ เพราะหากเกิดปัญหาต้องนำผู้โดยสารไปพักก็ต้องนำไปพักที่โรงแรม หรือธุรกิจท่อน้ำมัน เครื่องบินของการบินไทยก็ต้องเติมน้ำมัน เป็นต้น 2.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังให้เหลือ 2 หมื่นคน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่การบินไทยจะต้องไปกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน ซึ่งการปรับลดอัตรากำลังดังกล่าวไม่ใช่การปลดพนักงาน แต่เป็นการเปิดเกษียณอายุก่อนกำหนดแบบพิเศษหรือเออร์ลี่รีไทร์ พลัส จะให้ผลตอบแทนมากกว่าการเออร์ลี่รีไทร์ปกติ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรก็ขอให้การบินไทยไปพิจารณาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จ

จากข้อมูลข้างต้นหลายฝ่ายต่างคาดหวังให้การบินไทยทะยานไปข้างหน้าอย่างราบรื่น แต่ยังอดห่วงไม่ได้เพราะตราบใดมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซง โอกาสจะนอนยาวไร้สติอยู่ในห้องไอซียูยังเกิดขึ้นได้เสมอ !!