กนง.เมินงัด’ดอกเบี้ย’คุมบาท

กนง.ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากหลายประเทศเข้าสู่”สงครามค่าเงิน” ชี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมาก

คาดไหลเข้าไม่มากเหมือนกรณีสหรัฐฯ พร้อมมีมติ 5 ต่อ 2 “คง” ดอกเบี้ยนโยบาย 2% ด้าน”ปรีดิยาธร”เผยเงินไหลเข้า ค่าบาทยังมีเสถียรภาพ ยังไม่เห็นผลกระทบต่อส่งออก ขณะ”บัณฑูร”แนะรัฐควรเร่งเบิกจ่ายมากกว่า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)และธนาคารหลายประเทศลดดอกเบี้ย คาดยังไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจากเงินไหลเข้า

การประชุมกนง.ครั้งแรกของปี 2558 วานนี้ (28 ม.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2% เนื่องจากมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้ง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า การประชุมรอบนี้ ที่ประชุมได้พูดคุยกันพอสมควรถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ด้วยการประกาศซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิก

ดอกเบียคุมบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว คณะกรรมการมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า คิวอีของยุโรปไม่เหมือนกับคิวอีของสหรัฐฯ เพราะยุโรปแม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่ม แต่เม็ดเงินอาจไม่ได้ไหลมาทางเอเชียและไทยมากนัก ต่างจากคิวอีของสหรัฐช่วงที่ผ่านมา

“เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีการคุยกัน ซึ่งความเป็นห่วงอาจไม่ได้เหมือนกับที่ตลาดกังวลมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ห่วง หรือจะไม่เข้าไปดูแล ซึ่งการดูแลยังคงดูตามความเหมาะสม และคณะกรรมการเองก็ขอให้แบงก์ชาติติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพราะท่านเห็นว่า ช่วงนี้ควรต้องตามใกล้ชิดมากๆ”นายเมธีกล่าว

ย้ำดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือแรกดูแลค่าเงิน

ส่วนคำถามที่ว่าเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยสามารถนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่กรรมการหลายท่านเห็นตรงกันว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใดๆ ในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็อยากให้ใช้เครื่องมืออื่นๆก่อน ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือที่ ธปท. มีและเคยใช้ในช่วงก่อนหน้านี้

“ไม่ได้หมายความว่า ดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ยอมรับว่ามีผลบ้าง เพียงแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญแรกๆ ที่มีผล อีกทั้งดอกเบี้ยก็ยังเป็นเครื่องมือที่กว้าง ไม่สามารถทาร์เก็ตไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เรากังวลได้แบบเฉพาะ”

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคนั้น นายเมธี กล่าวว่า ถ้าดูดัชนีค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับภูมิภาค ยอมรับว่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ถึงกับออกนอกปัจจัยพื้นฐานแต่อย่างใด ส่วนผลต่อการส่งออกนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ยืนยันมาตลอดว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลบ้าง ในเชิงของรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง

อุปสงค์ไม่หดแม้เงินเฟ้อร่วง

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึง สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินที่1%ว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการ ได้พูดคุยกันอย่างหนักเช่นกัน ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลด

ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังไม่มีการปรับลดราคาลงตาม สะท้อนว่าด้านอุปสงค์ยังไม่ได้มีปัญหา กำลังซื้อของคนยังมี และคนทั่วไปก็ยังมองว่า อนาคตเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับ 2% ได้ ดังนั้นแม้ภาพรวมเงินเฟ้อในปัจจุบันจะต่ำแต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล

สำหรับประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังมี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวและราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ลดลง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว

คาดเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้นครึ่งปีหลัง

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์

“ในการตัดสินนโยบาย กนง. ส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า นโยบายการเงินควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น

นายเมธี กล่าวด้วยว่า ระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรรมการจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึงการปรับช่วงการซื้อขายของค่าเงินสิงคโปร์ด้วยว่า หลังจากสิงคโปร์ประกาศนโยบายดังกล่าวออกมา มีผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคอ่อนค่าลงไปบ้าง โดยค่าเงินบาทไทยเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเล็กน้อย โดยช่วงเช้าของวานนี้ มีการอ่อนค่าลงมาบ้าง

เผยยังไม่พบเก็งกำไรค่าบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสัปดาห์ที่แล้วมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา แต่เท่าที่ติดตามยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแน่นอน เพราะการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในครั้งนี้ คือ การเอาเงินเติมในระบบเศรษฐกิจของยุโรปและจะทำเดือนละ 60,000 ล้านยูโรต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งไทยเองก็ต้องเตรียมตัวและตื่นตัวตลอดเวลา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ธปท.ตื่นตัวตลอดเวลา และขอชื่นชมว่ารับมือได้ดีมาก เพราะเงินไหลเข้าธรรมดาจะมีเงินดอลลาร์ในตลาดจำนวนมากและเงินบาทจะแข็งขึ้นทันที ซึ่งจะกระทบผู้ส่งออกอย่างมากแต่ ธปท.รับมือกับเรื่องนี้ได้

“เงินที่ไหลเข้ามาเยอะในสัปดาห์ที่แล้ว ตัวที่บอกว่าเข้ามาเยอะคือหุ้นขึ้นมาเกือบ 100 จุด เพราะมีเงินไหลเข้ามาซื้อ เข้ามาเยอะขนาดนี้แต่ยังดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่เดิมได้ ผมถือว่าเขาได้ทำหน้าที่แล้ว ผมก็เลยค่อนข้างสบายใจว่าคงจะไม่มีผลกระทบแล้ว”

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ในช่วงท้ายตลาดวานนี้ (28 ม.ค.) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้า หลังกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเงินบาทในช่วงเช้าอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนคาดว่า กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ในช่วงเช้านี้อ่อนค่าสุดที่ 32.64 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าสุดที่ 32.52

ยังไม่เห็นผลกระทบส่งออกจากบาทแข็ง

ส่วนผลกระทบกับภาคส่งออกหากค่าเงินแข็ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เพราะถ้าเงินบาทแข็งจะฉุดการส่งออก แต่ตอนนี้บาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก การส่งออกของไทยที่ไม่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ว่ากระทรวงพาณิชย์ทำไม่ดี หรือสินค้าเราไม่ดี แต่ผู้ซื้ออ่อนแอ ผู้ซื้อคือสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นไม่ได้ฟื้นตัวจริง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสัดส่วนประมาณ 27-28%ของการส่งออกของไทย

ส่วนจีนเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลง ซึ่งมีสัดส่วนอีก 12%รวมเป็นประมาณ 40% ที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อชะลอลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เขาดูแลเต็มที่ เขาจะนำทีมไปเปิดตลาดใหม่ด้วย เขาจะไปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

“บัณฑูร”แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2%ไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ เร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ในปีที่ผ่านมาแม้จะมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้กระทบกับการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยให้กับเอกชน เพราะยังเติบโตได้ดี ซึ่งตอนนี้ภาคเอกชนมีความกังวล เรื่องการส่งออกที่อาจจะพลาดเป้าหมายจากที่ประเมินกันไว้

ขณะที่ความห่วงใยในเรื่องของระดับหนี้ครัวเรือนนั้น หลายคนมองว่าอยู่ในระดับสูง แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่ากังวล เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ระดับของหนี้ครัวเรือนก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้

ใส่ความเห็น