กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก ดร.นิเวศน์

green-investments-VI

ในช่วงที่ผมเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ เกือบ 20 ปีมาแล้วนั้น ผมเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงนั้นตลาดหุ้นตกต่ำมาก หุ้นในตลาดแทบทุกตัวต่างก็มีราคา “ถูก” การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกจึงทำได้ง่าย กลยุทธการลงทุนของผมในตอนนั้นก็คือการซื้อหุ้นที่มีคุณภาพพอใช้ได้แต่มีราคาถูกมาก หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีราคาถูกพอสมควรทีเดียว ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นพร้อม ๆ กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ราคาหุ้นทั่วไปในตลาดก็ไม่ถูกเหมือนเดิมแต่ก็ยังค่อนข้างถูก กลยุทธการลงทุนของผมก็เปลี่ยนแปลงไป ผมหันมาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีมากที่มีราคาถูกหรือราคา “ไม่แพง” เป็นแนวลงทุนแบบ Super Stock จวบจนถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นปกติแล้วและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเต็มที่ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น ส่งผลให้หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นซุปเปอร์สต็อกมีราคาแพงขึ้นมากจนแทบจะไม่เหลือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยในการลงทุน ปัญหาของผมก็คือ ถ้าเราได้รับปันผลมาหรือขายหุ้นบางตัวทิ้งเราควรจะเอาเงินไปลงทุนแบบไหน? และนี่นำมาสู่ประเด็นที่ผมจะพูด นั่นก็คือ กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์

ในภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นนั้น เรายังมีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในความหมายที่ว่า ค่า PE ยังต่ำกว่าหรือประมาณ 10 เท่าต้น ๆ ค่า PB ไม่ถึง 1 หรือหนึ่งเท่าเศษ ๆ และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3-4% ของปีล่าสุด การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีหรืออาจจะมีปัญหาการทำกำไรในอนาคตทำให้ตลาดไม่ให้คุณค่ามันเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม “ตลาดอาจจะผิด” ในบางอุตสาหกรรมหรือในหุ้นบางตัว ดังนั้น กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูกของผมนั้น หลัก ๆ แล้วก็คือ พยายามหาหุ้นที่ “ถูกมาก” ที่ตัวธุรกิจหรือกิจการอาจจะไม่ “เลวร้าย” อย่างที่ตลาดหรือนักลงทุนทั่ว ๆ ไปคิด ลองมาดูกันไปทีละกลุ่มที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนเนื่องจากว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังมีราคาถูกหรือไม่แพงในยามนี้

หุ้นกลุ่มแรกที่ยังถูกอยู่และก็คงถูกไปเรื่อย ๆ ก็คือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ผลิตสิ่งทอที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแฟชั่น และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้มีปัญหาว่าในระยะยาวแล้วอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นซึ่งทำให้ธุรกิจต้องค่อย ๆ หดตัวลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นถูกกลุ่มนี้จึงไม่มีประโยชน์ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจะยากมาก กลยุทธก็อาจจะเป็นว่าเราไม่สนใจจะดู อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าใจกิจการอย่างลึกซึ้งก็อาจจะหาหุ้นที่ไม่ได้ผลิตสินค้า “ตะวันตกดิน” อย่างที่คนอื่นคิดแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น ถ้าพบบริษัทที่มีอนาคตแต่ราคาถูกมากก็สามารถลงทุนได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เราไม่ควรมองผลประกอบการระยะสั้นแล้วเข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มตะวันตกดินแม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกมาก

หุ้นกลุ่มต่อมาที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็คือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายอานิสงค์จากการที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้จากผลกระทบเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง การที่หุ้นขายบ้านจัดสรรหรือทำคอนโดมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะค่อนข้าง “อิ่มตัว” และมีคู่แข่งมาก อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ดังนั้น โดยปกติที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล การที่จะหวังให้หุ้นมีค่า PE ที่สูงขึ้นจึงอาจจะหวังไม่ได้มากนัก ดังนั้น ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ นอกจากหุ้นจะต้องถูกมากแล้ว ผมคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะมีกำไรมากขึ้นอย่างน้อยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแน่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม โดยที่ค่า PE ก็ยังเท่าเดิมหรือไม่น่าจะต่ำลง แต่ถ้าโชคดี ค่า PE ก็เพิ่มขึ้นด้วยเราก็จะได้ “สองเด้ง” ส่วนข้อที่ต้องระวังก็คือ อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ถ้ามีการปรับขึ้นแรง ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลง เช่นเดียวกัน ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การซื้อบ้านก็อาจจะลดลงมาก และนั่นทำให้การลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงพอสมควร

หุ้นกลุ่มใหญ่มากกลุ่มหนึ่งที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่พอสมควรก็คือหุ้นธุรกิจการเงินซึ่งรวมถึงหุ้น ธนาคาร เงินทุน และหลักทรัพย์ หุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนให้คุณค่าน้อยทำให้มีค่า PE PB ไม่สูง และปันผลตอบแทนค่อนข้างดีนั้น เป็นเพราะเรื่องของความเสี่ยงที่ “รุนแรง” ในกรณีของบริษัทที่อิงอยู่กับการปล่อยกู้อย่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหลาย โดยที่บริษัทเหล่านี้อาจจะประสบกับปัญหาหนี้เสียที่รุนแรงซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนหนักหรืออาจจะล้มละลายได้เนื่องจากจำนวนเงินปล่อยกู้นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัทเอง ส่วนในกรณีของธุรกิจหลักทรัพย์เองนั้น การแข่งขันในธุรกิจรุนแรงและมักเป็นการแข่งขันกันทางด้านของราคาเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่งนั้น ปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทโบรกเกอร์เองนั้น ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้นราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จึงไม่สามารถจะแพงเหมือนธุรกิจอื่นที่มีความแน่นอนกว่า

กลยุทธการลงทุนในธุรกิจปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นแบงค์หรือบริษัทให้กู้เช่าซื้อนั้น ผมคิดว่าการที่หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในด้านของบุคคลธรรมดา ดังนั้น กลยุทธที่ควรใช้ก็คือ เราควรเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มที่ราคาก็ถูกอยู่แล้ว นอกจากนั้น เราควรต้องดูว่าหนี้เสียของบริษัทนั้นจะสามารถควบคุมได้ไม่สูงเกินไป นอกจากนั้น ความสม่ำเสมอของผลงานในอดีตก็ควรจะต้องเป็นปัจจัยประกอบในการวิเคราะห์ด้วย ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ผมคิดว่าถ้าจะลงทุนควรจะเน้นที่ความถูกมาก ๆ เช่น เฉพาะเงินสดที่มีในบริษัทก็อาจจะมากกว่าราคาหุ้นแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าเลิกบริษัทเอาเงินมาแบ่งกันก็อาจจะคุ้มแล้ว ผมเองไม่ทราบว่ายังมีหุ้นหลักทรัพย์ที่ถูกขนาดนั้นหรือไม่ แต่นี่ก็คือกลยุทธหนึ่งที่จะซื้อหุ้นหลักทรัพย์

หุ้นพลังงาน “ดั้งเดิม” บางตัว นี่คือหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มีมานาน หุ้นบางตัวนั้นขนาดใหญ่มากและทำธุรกิจหลากหลายเกี่ยวกับพลังงาน แม้ว่ากิจการจะมีกำไรผันผวนตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว กำไร “ปกติ” ของบริษัทก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ทำให้ขาดแรง “เก็งกำไร” จากนักลงทุนรายย่อย นอกจากนั้น การเติบโตของกิจการเองก็ไม่สูง ทำให้ตลาดไม่ใคร่ให้คุณค่ามากนัก ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ถือว่ายังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ควรจะต้องเข้าใจว่า ข้อแรก ราคานั้นไม่ได้ถูกมาก ข้อสอง การจะได้ผลตอบแทนมากและเร็วน่าจะยาก การลงทุนควรจะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนพอสมควรและความเสี่ยงไม่สูง ส่วนกลยุทธการลงทุนก็เช่นเคย ต้องเน้นที่หุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน ขณะเดียวกัน ผลประกอบการก็จะต้องมีความสม่ำเสมอมั่นคงพอสมควร และปันผลที่ได้ก็ต้องค่อนข้างดี อย่างน้อยควรจะได้ถึง 4%ในปีล่าสุด

ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธคร่าว ๆ ของการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนนี้ สำหรับผมแล้ว มันเป็นการเลือกที่เรียกว่า “Second Best” คือ ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด แต่มันยังดีกว่าการเก็บเป็นเงินสดไว้ในธนาคาร การลงทุนในหุ้นถูกแบบนี้ อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถือไว้ยาวนานมาก เราต้องคอยเฝ้าดูอยู่เสมอว่ามันถึงเวลาขายหรือยัง ไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่เราลงทุน แต่ต้องดูว่ามีโอกาสที่จะพบหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าและถือลงทุนระยะยาวกว่าได้หรือไม่ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว นี่คือการลงทุนที่อาจจะไม่ “ถาวร” แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และดังนั้น มันจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา

หุ้นเครื่องแต่งตัว

เครื่องแต่งตัว

  เมื่อคนมีรายได้มากขึ้นจนสามารถใช้จ่ายในสิ่ง  “จำเป็น”  ของชีวิต เช่น อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และการรักษาโรค ที่เป็นพื้นฐานแล้ว  สิ่งต่อมาที่คนจะใช้จ่ายก็คือ  การทำให้ตนเอง “ดูดี” โดยเฉพาะในสายตาของเพศตรงข้าม  นี่ก็เป็นเรื่อง  “ธรรมชาติ”  ที่ว่ามนุษย์นั้นมี “ภารกิจสำคัญ” ที่จะต้อง  เอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์   การทำให้ตัวเองดูดีขึ้นเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามนี้จึงเป็นธุรกิจใหญ่และจะเติบโตได้ดีในภาวะที่คนในสังคมมีรายได้สูงขึ้นจนผ่านจุดที่มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นอย่างอื่นแล้วและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่คนมีรายได้สูงขึ้น  อาจจะเรียกว่าเป็นสังคมของ  “คนชั้นกลาง” ก็ได้   และนี่ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ากำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย  นั่นก็คือ  คนไทยกำลังมีเงินมากขึ้นถึงจุดที่จะ “แต่งตัว” กันมากขึ้น  และนี่อาจจะทำให้บริษัทหรือหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการแต่งตัวมีโอกาสที่จะเติบโต  เป็นโอกาสในการลงทุนของ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวได้

 ความหมายของคำว่า  “เครื่องแต่งตัว”  ของผมนั้น  รวมถึงการทำอะไรก็ได้ที่ทำหรือใช้  “ติดกับตัว” เราที่จะทำให้เรา  “ดูดีขึ้น”   ดังนั้น  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงรวมไปถึงเรื่องที่ลึกลงไปถึงผิวหนังเช่น  การศัลยกรรมพลาสติกและการดูแลผิวที่ทำโดยคลินิคเสริมความงามทั้งหลายที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แม้ว่าจะมีการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ และอาจจะเข้าตลาดในไม่ช้า   ธุรกิจนี้ผมคิดว่าน่าสนใจเห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจอย่างรวดเร็วและมีการเปิดกิจการไปทั่วทุกหัวระแหงในที่ชุมนุมชนในเมืองใหญ่ ๆ  รวมถึงในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ก็มีคลินิกเสริมความงามเป็นมาตรฐานกันไปแล้ว

   ธุรกิจต่อมาก็คือ  ธุรกิจเครื่องสำอางซึ่งก็เป็นธุรกิจใหญ่มานานแต่ในช่วงระยะหลังนี้ดูเหมือนว่าจะโตขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในเครื่องสำอางที่มีคุณภาพสูงขึ้นแต่ราคากลับไม่สูงมากนัก นอกจากนั้น  การใช้เครื่องสำอางของคนไทยในระยะหลังนั้น  เพิ่มจำนวนและปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ   คนไทยยุคใหม่นี้ไม่ได้ใช้แค่แป้งผัดหน้า  แต่เราใช้ตั้งแต่ครีมที่ทำให้ผิวขาว  ครีมทาตัวที่ทำให้ผิวนุ่ม  เรามีผลิตภัณฑ์สารพัดที่ทำให้ผมและตาดูสวยงามขึ้น  เรามีผลิตภัณฑ์สารพัดที่ทำให้ดูอ่อนเยาว์  นอกจากนั้น  ผู้ชายเองก็เริ่มหันมาใช้เครื่องสำอางกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้น  ธุรกิจเครื่องสำอางจึงน่าจะโตได้ดีโดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีคุณภาพแต่มีราคาที่รับได้ของคนชั้นกลาง  ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์เราก็บริษัทจดทะเบียนที่เพิ่งเข้าตลาดอยู่ 2-3 บริษัทที่ทำธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราว

    ธุรกิจเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นนั้นต้องถือว่าอยู่ในตลาดหุ้นมานานมาก   อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าหุ้นส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงหุ้น  “สิ่งทอ”  ที่ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับคนที่ผลิตและขายเสื้อผ้าที่เป็นสินค้าแฟชั่น  ซึ่งในกรณีแบบนี้  หุ้นก็จะไม่ใช่หุ้นเครื่องแต่งตัวในนิยามของผมจริง ๆ    ในความหมายที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ  เสื้อผ้าที่จะเป็นเครื่องแต่งตัวที่คนไทยรุ่นใหม่ที่มีเงินมากขึ้นต้องการนั้น   จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีแบรนด์ที่ดูดี  มีราคาที่ไม่แพง  และนี่ก็คือสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะโตเร็วในสภาวะของประเทศไทยในช่วงนี้  โดยที่หุ้นที่เข้าข่ายก็คล้าย ๆ  กับในกรณีของเครื่องสำอางที่มักเป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดในระยะหลัง ๆนอกจากเสื้อผ้าแล้ว  พวกรองเท้าและกระเป๋าถือที่เป็นเครื่องหนังก็เป็นเครื่องแต่งตัวอีกอย่างหนึ่งที่โตตามกันไป  อย่างไรก็ตาม  กิจการเหล่านี้ดูเหมือนว่าในเมืองไทยอาจจะเล็กเกินไปหรือไม่มีบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

 กลุ่มสุดท้ายของเครื่องแต่งตัวก็คือ  เครื่องประดับโดยเฉพาะที่เป็นทองหรือเพชรพลอย   ดูเหมือนว่าทองที่เคยเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งตัวหลักสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้นจะถดถอยไปจนเกือบล้าสมัยแล้ว  ส่วนเพชรนั้นผมคิดว่ายังอยู่ในกระแส  เหตุผลก็คงเป็นเพราะคนไทยที่เป็นคนชั้นกลางมีรายได้มากขึ้นในขณะที่ราคาของเครื่องประดับเพชรในปัจจุบันจะไม่ได้ปรับขึ้นไปมาก  การซื้อเครื่องประดับเพชรจึงน่าจะเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตไปได้  และนี่ก็เช่นเดียวกัน  บริษัทที่อยู่ในตลาดที่ทำเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชรก็ยังค่อนข้างใหม่  และสุดท้ายที่เป็นกลุ่มเล็กและผมไม่รู้จะไปรวมไว้กับใครก็คือ   ธุรกิจแว่นตาแฟชั่นซึ่งในเมืองไทยก็ดูเหมือนว่าจะเติบโตขึ้น  คนหันมาใส่แว่นมากขึ้น  และซักวันหนึ่งเราก็อาจจะมีบริษัทขายแว่นเข้ามาจดทะเบียนก็เป็นได้

ในแง่ของการลงทุน  ผมคิดว่าธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวนั้นมีความน่าสนใจ  เหตุผลไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็วเนื่องจากคนไทยรวยขึ้นและต้องการแต่งตัวมากขึ้นเท่านั้น  แต่เป็นเพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เป็นที่  “ต้องการ”  ไม่ใช่สินค้า  “จำเป็น” ดังนั้น  คนจะยอมจ่ายเงินมากกว่าต้นทุนการผลิตมากด้วยเหตุผลที่ว่าเขา  “พอใจ”  หรือ  “อยากได้”   ด้วยเหตุนี้  สินค้าเครื่องแต่งตัวจึงมักจะมีมาร์จินหรือเปอร์เซ็นต์กำไรขั้นต้นต่อยอดขายสูงเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ  อีกหลายอย่าง  พูดหยาบ ๆ  ก็เช่น  เสื้อผ้าขายตัวแถมตัวก็ยังกำไร  หรือเพชรเม็ดหนึ่งราคาต้นทุนค่าเพชร 3,000 บาทแต่ขาย 10,000 บาท  อย่างไรก็ตาม ถ้าขายน้อยชิ้น  กำไรที่ได้อาจจะไม่พอกับค่าเช่าหรือค่าโสหุ้ยอื่น   ดังนั้นประเด็นยอดขายที่ทำได้  ซึ่งมักจะอิงกับเรื่องของแบรนด์หรืออื่น ๆ  จึงเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายว่าบริษัทไหนจะกำไรหรือขาดทุน  หรือบริษัทไหนจะกำไรดีมากและบริษัทไหนจะไปไม่รอด

ความสามารถในการทำการตลาด  ซึ่งรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์  การจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย  การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของบริษัทเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขัน  บริษัทที่โดดเด่นในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ผมสังเกตเห็นก็คือบริษัทที่ขายสินค้าที่มีคุณภาพดีและตั้งราคาไม่ใคร่แพง

ที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่รับได้  การออกแบบหีบห่อนั้นต้องดูทันสมัยแนวเกาหลีหรือญี่ปุ่นในกรณีของเครื่องสำอาง  ส่วนทางด้านของเสื้อผ้าและเครื่องประดับอาจจะเป็นแนวของยุโรปที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบ  ช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นดูเหมือนว่าคนจะสนใจซื้อจากร้านที่ขายสินค้าเฉพาะอย่างเช่น  เป็นร้านขายเสื้อผ้าหรือขายเครื่องสำอางที่คนมีโอกาสเลือกสินค้าได้หลากหลาย   อย่างไรก็ตาม  ในกรณีสินค้าราคาถูกลงมาหรือเป็นสินค้าพื้น ๆ  นั้น   ความสะดวกก็เป็นเรื่องสำคัญในการจัดจำหน่าย

ขนาดของกิจการเทียบกับคู่แข่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะบอกว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือไม่  การมียอดขายที่สูงกว่านั้น  ทำให้บริษัทจะมี Economies of Scale คือมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนซึ่งรวมถึงต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนของสินค้า  และต้นทุนทางด้านการตลาด   การมีสาขาร้านที่ขายสินค้าเฉพาะที่มีจำนวนมากนั้นโดยตัวของมันเองก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาเนื่องจากผู้บริโภคจะเห็นบ่อยและช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ  นอกจากนั้น บริษัทจะสามารถมีสินค้าหลากหลายกว่าคู่แข่งได้  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้จะดึงดูดให้คนอยากเข้าร้านและเลือกซื้อสินค้าของบริษัทมากกว่าคู่แข่งที่มียอดขายน้อยและ/หรือไม่มี “หน้าร้าน” เพียงพอ   ดังนั้น  การได้เปรียบทางด้านของต้นทุนไม่เพียงแต่จะทำให้บริษัทกำไรดีแต่ยังทำให้ยอดขายของบริษัทโตเร็วขึ้นและก่อให้เกิดกำไรเพิ่มขึ้นอีก  เป็นวงจรแห่งความมั่งคั่ง

ข้อเสียของธุรกิจเครื่องแต่งตัวก็มีอยู่เหมือนกันนั่นคือ  ธุรกิจนี้ใช้ทุนไม่มากและการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย  นอกจากนั้น  ปัจจัยในการแข่งขันเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายคล้าย ๆ  กับแฟชั่นเหมือนกัน  ความนิยมเกาหลีหรือญี่ปุ่นอาจจะเปลี่ยนไป  ช่องทางการจัดจำหน่ายก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ง่ายเนื่องจากสินค้ามักจะเป็นชิ้นเล็ก  ช่องทางใหม่ ๆ  และการตลาดแบบใหม่อาจจะทำให้บริษัทที่ดีเยี่ยมเดิมตกยุคหรือล้าสมัย  นอกจากนั้น  สินค้าจากต่างประเทศที่เรียกว่า Inter Brand ที่โดดเด่นระดับโลกก็มีโอกาสที่จะเข้ามาแข่งขันกับผู้ที่ประสบความสำเร็จเดิมได้ ดังนั้น  การติดตามข้อมูลและพัฒนาการของหุ้นเครื่องแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าหากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขายได้สูง  การทำกำไรก็จะดีมาก  ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการวิเคราะห์ในด้านของตัวธุรกิจซึ่งจะเห็นว่ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย   การที่จะเลือกลงทุนในหุ้นนั้นเราก็ยังจำเป็นที่จะต้องดูถึงความถูกความแพงหรือความคุ้มค่าของราคาหุ้น  สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือค่า PE ของหุ้นเครื่องแต่งตัวนั้น  ถ้าสูงเกินไปก็ต้องระวังเนื่องจากธุรกิจนี้ของไทยดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับบริษัทระดับซุปเปอร์สต็อกของต่างประเทศบางแห่ง

 

Cr.  ดร.นิเวศน์  https://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/17/1408

โลกในมุมมอง VI

ดร.นิเวศ VI Thailand

 

Value Investor จำนวนมากหรืออาจจะเรียกว่าส่วนใหญ่ ชอบลงทุนในหุ้นตัวเล็กหรือบริษัทขนาดเล็ก เหตุผลก็คือ พวกเขาเชื่อว่าหุ้นตัวเล็กนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติได้หลัก ฐานที่ปรากฏในตลาดหุ้นก็ “ชัดเจน” หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า บางตัวเป็นสิบเท่าภายในเวลาเพียงไม่เกิน 1- 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. ไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท หลายตัวอาจจะไม่เกินพันล้านบาทด้วยซ้ำ หุ้นตัวเล็กนั้นมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนไม่เฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไรเล่นหุ้น รายวัน แต่เป็นขวัญใจของ VI ด้วย ว่าที่จริง VI ระดับ “เซียน” ที่ทำผลตอบแทนมหาศาลในช่วงเร็ว ๆ ต่างก็รวยมาด้วยหุ้นตัวเล็กเป็นส่วนใหญ่ แทบจะเป็นข้อสรุปได้เลยว่า ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในหุ้นสูงมากโดยเฉพาะเมื่อพอร์ตของคุณยังเล็กอยู่ นั้น ไม่มีทางอื่นนอกจากลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก

ลองมาดูกันว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และความเสี่ยงอยู่ที่ไหน

ประเด็นแรก มองกันที่พื้นฐาน หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะมีโอกาสเติบโตสูงในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น มักจะเติบโตเต็มที่หรือเติบโตไปมากแล้ว การที่หุ้นตัวใหญ่จะมียอดขายและกำไรเติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลา 3-4 ปี นั้นน่าจะทำได้ยากมาก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นบางบริษัทสามารถเติบโตเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัว ได้ภายในระยะเวลาเดียวกัน แนวความคิดก็คือ หุ้นตัวใหญ่นั้นมักจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมักอยู่ในตลาด ที่อิ่มตัวหรือใกล้จะอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะโตต่อไปก็จะน้อยลงในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะอยู่ในธุรกิจที่ ตลาดกำลังโตหรือไม่ก็ยังเป็นกิจการที่เล็กและมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย ดังนั้น จึงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้

ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในเรื่องของตลาดที่อิ่มตัวนั้นบ่อยครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง แน่นอนว่าการเติบโตระดับที่เกินปีละ 15-20 % ในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไปสำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่การโตปีละ 7-10% ก็น่าจะยังทำได้อยู่ไม่น้อย แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เริ่มจะเกิดขึ้นในเมืองไทยก็คือ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่ม “Go Inter” นั่นคือเริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และถ้าหากว่าทำสำเร็จ ข้อจำกัดเรื่องตลาดอิ่มตัวก็จะหมดไป ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังมีโอกาสโตไปได้เรื่อย ๆ ในระดับที่น่าประทับใจซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นยังสูงขึ้นได้เรื่อย ๆ นี่ทำให้ผมนึกถึงหุ้นโค๊กที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนในช่วงนั้นถ้าไม่คิดถึงตลาดต่างประเทศแล้วโค๊กก็ น่าจะเป็นหุ้นที่ “อิ่มตัว” เพราะคนอเมริกันทุกคนดื่มโค๊กกันแทบจะแทนน้ำแต่หลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อจีนและประเทศกำลังพัฒนาเปิดกิจการโค๊กก็โตขึ้นจากการขยาย กิจการไปต่างประเทศและทำให้หุ้นโค๊กปรับตัวขึ้นมหาศาล

แน่นอนว่าหุ้นตัวเล็กที่เติบโตสูงนั้นสามารถเติบโตได้มากกว่าหุ้นตัวใหญ่ แต่ความเสี่ยงของหุ้นตัวเล็กก็สูงกว่ามาก ถ้ามองจากสถิติโดยรวมบางทีก็อาจจะพบว่าหุ้นตัวเล็กจำนวนมากนั้น ไม่ได้โตไปไหนเลย เคยเล็กอย่างไรก็เล็กอย่างนั้น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่โตขึ้นนั้น บางทีก็โตแบบไม่มีคุณภาพ นั่นคือ โตโดยที่กำไรไม่เพิ่มหรือโตโดยที่ต้องลงทุนไปมากจนแทบไม่คุ้มที่จะโต อาจจะมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่โตจริงและโตมากซึ่งทำให้เกิดภาพว่าหุ้นตัว เล็กโตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในแง่ของธุรกิจนั้น หุ้นตัวเล็กก็น่าจะสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ดังนั้น สำหรับ VI หรือนักลงทุนที่ไม่ใช่ “เซียน” แล้ว การเล่นหุ้นตัวเล็กก็อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหนือกว่า ถ้าจะพูดไป การลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่ยังเติบโตดีในระดับ 15% ต่อปีนั้นผมคิดว่าดีกว่าเล่นหุ้นตัวเล็กที่มีโอกาสโต 30% แต่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

ประเด็นที่สอง คือเรื่องที่หุ้นตัวเล็กนั้นไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นติดตามหรือวิเคราะห์หา มูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น หุ้นตัวเล็กส่วนใหญ่จึงถูก “มองข้าม” หุ้นหลายตัวอาจจะมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากเรียกว่าเป็นหุ้นที่ “Under Valued” สุด ๆ จึงเป็นโอกาสที่ VI จะสามารถเข้าไปซื้อและทำกำไรได้มหาศาลหลังจากที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะ ตระหนักถึงมูลค่าของมันและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นบูม มีการเก็งกำไรสูงอย่างในปัจจุบันนั้น หุ้นตัวเล็กกลับ กลายเป็นหุ้นยอดนิยม ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อาจจะไม่ได้ ทำรายงานการวิเคราะห์เป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่วิเคราะห์เลยแต่นักลงทุนโดย เฉพาะที่เป็นแนว VI
ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากและมีความสามารถสูงไม่แพ้นักวิเคราะห์ก็หันมาสนใจ หุ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ ดังนั้น ที่บอกว่าหุ้นตัวเล็กนั้นเป็นหุ้นที่ถูกมองข้ามนั้น ในอดีตอาจจะเป็นจริง แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีน้อยลงไปมาก ว่าที่จริงถ้าดูกันที่ค่า PE ซึ่งบ่งบอกถึงความถูกความแพงของหุ้นโดยรวมแล้ว หุ้นตัวเล็กไม่ได้ถูกกว่า หุ้นตัวใหญ่เลย ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นตัวเล็กนั้น ในขณะนี้ไม่ได้ถูก “มองข้าม” อีกต่อไป และดังนั้น หุ้นตัวเล็กก็ไม่ได้ Under Valued ตรงกันข้าม จำนวนไม่น้อยน่าจะ Over Valued ด้วยซ้ำ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้นมีโอกาสที่จะถูก “แจ็คพ็อต” คืออาจจะทำกำไรได้หลาย ๆ “เด้ง” หรือหลาย ๆ เท่าหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น บางทีไม่ถึงปีในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็มักจะไม่สามารถทำ กำไรแบบนั้นได้ ถ้าจะโตระดับนั้นได้ก็มักจะต้องอาศัยเวลาหลาย ๆ ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทน “ระดับเทพ” ได้

ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ที่มีความเสี่ยงและเป็นเรื่องที่เราจะต้องเลือกว่าเราจะไปในเส้น ทางไหน นั่นก็คือ จะเติบโตอย่างปลอดภัยและไปช้ากว่า หรือจะโตอย่างรวดเร็วแต่เสี่ยงที่จะล้ม เหลวเมื่อหุ้นที่อาจจะโตหลายเด้งนั้นกลายเป็นลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จสูงมากในระยะยาวไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนดีผิด ปกติในปีใดปีหนึ่งแต่ขึ้นอยู่กับความคงเส้นคงวาของผลตอบแทนที่ดีปีแล้วปี เล่า วอเร็น
บัฟเฟตต์ เองนั้น ไม่เคยมีปีใดที่เขาสามารถทำผลตอบแทนของพอร์ตได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ เลย แต่สถิติระยะยาวของเขาไม่มีคนเทียบได้ และเขาแทบจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวเล็กเลย

ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบหุ้นตัวเล็กว่าที่จริงในช่วงแรก ๆ ของการลงทุนนั้น
ส่วนใหญ่ผมมักจะลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และทุกวันนี้ผมก็คิดว่าโอกาสในหุ้นตัว เล็กก็ยังดีกว่าหุ้นตัวใหญ่แม้ว่าหุ้น ตัวเล็กสำหรับผมในปัจจุบันอาจจะเป็น “หุ้นขนาดกลาง” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลในการลงทุนในหุ้นตัวเล็กหลายๆ เรื่องนั้นในปัจจุบันมีน้ำหนัก น้อยลงไป พูดง่ายๆ หุ้นตัวเล็กไม่ใช่ขวัญใจของผมและผมไม่เน้นหุ้นตัวเล็ก ไม่ใช่แค่ เพราะว่าหุ้นตัวเล็กหาซื้อหุ้นยากไม่มีสภาพคล่อง แต่เป็นเพราะว่าหุ้นตัว เล็กนั้นส่วนใหญ่ไม่มีความเข้มแข็งหรือความโดดเด่นพอในแง่ของธุรกิจ ซึ่งทำ ให้การลงทุนระยะยาวไม่สามารถทำได้ง่าย เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงก็มักจะสูงกว่าที่ผมอยากจะรับ