ตลาดพบหุ้นซื้อขายผิดปกติ

“เกศรา” ยอมรับพบหุ้นซื้อขายผิดปกติตั้งแต่สิ้นปี 57 เตรียมส่ง ก.ล.ต.ดำเนินการ ด้านหุ้นอสังหาเล็กปรับขึ้นร้อนแรง

 

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการตรวจสอบหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2557 ถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการคุมหุ้น แต่ก็พบว่ามีหุ้นบางบริษัทที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งตลาดจะดำเนินการตรวจสอบและนำหลักฐาน ส่งให้สำนักงานก.ล.ต.ตรวจสอบต่อไป

ส่วนหุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กที่มีการซื้อขายร้อนแรง เกิดขึ้นเฉพาะบางบริษัทมีปัจจัยเฉพาะตัวเข้าเกี่ยวข้องให้หุ้นปรับตัวขึ้นแรง แต่ไม่ได้เกิดพฤติกรรมแบบนี้ทั้งกลุ่ม ส่วนหุ้นใดที่มีการซื้อขายจนกระทั่งเข้าเกณฑ์ที่เทรดดิ้งอะเลิร์ท ตลาดหลักทรัพย์จะก็ดำเนินการตามขั้นตอน

“การที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้มองว่า เป็นการท้าทายมาตรการควบคุมหุ้นร้อนที่ใช้อยู่ การทำงานในเรื่องนี้จะใช้อารมณ์ไม่ได้ ถ้าหุ้นเข้ามาตามหลักเกณฑ์ก็จะให้บริษัทชี้แจงสาเหตุความผิดปกติ ซึ่งในบางหลักทรัพย์เข้าสู่มาตรการควบคุมหุ้นที่ร้อนแรงในระดับที่ 2 ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 3 สัปดาห์ ถึงจะเลื่อนระดับการควบคุม แต่หากมีการให้บริษัทชี้แจงข้อมูลซ้ำก็จะขึ้นระดับที่ 2 ได้ทันที” นางเกศรากล่าว

นายสุเมธ เลอสุมิตรกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เปิดเผยว่า สมาคมมีความเป็นห่วงในหุ้นที่เคลื่อนไหวร้อนแรงผิดปกติ โดยในช่วงที่ผ่านมาในการประชุมของสมาคม ได้เคยเตือนกับบริษัทจดทะเบียนให้ระมัดระวังการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ทั้งนี้แม้หลายหลักทรัพย์มีระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ในระดับที่สูง

“ระดับพี/อีในตลาดหุ้นเอ็มเอไอ ปัจจุบันผมมองว่าโอเวอร์เกินไป ซึ่งนักลงทุนต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ แต่ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่า บริษัทจดทะเบียนในเอ็มเอไอมีศักยภาพการเติบโตที่สูง ซึ่งสุดท้ายการเติบโตเหล่านั้นจะเข้าไปสะท้อนที่ราคาหุ้น ซึ่งในอีกมุมหนึ่งของบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี แม้ระดับพี/อีสูง แต่ก็ยังสามารถลงทุนได้”

ในส่วนหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวร้อนแรงผิดปกตินั้น ยอมรับว่าทางสมาคม เป็นห่วง เพราะในระยะหลังมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีหลายครั้งที่มีการประชุมร่วมกับสมาคมและหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งทุกครั้งสมาชิกให้การตอบรับที่ดี หลังจากการประชุมไปแล้ว ราคาหุ้นก็จะหยุดหวือหวาไประยะหนึ่ง แต่ก็มีบริษัทส่วนหนึ่งที่แตกแถวไม่รับฟังคำเตือนราคาหุ้นหวือหวามากกว่าปกติ ดังนั้นนักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนให้มากขึ้น

สำหรับมาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรงที่เริ่มใช้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มองว่าจะไม่กระทบกับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะในระยะหลังผู้บริหารบริษัทเอกชนหลายรายมีความเข้าใจในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนมากขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาแข่งขันได้

ราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสข่าวลือการ แตกพาร์ จาก 1 บาทต่อหุ้น เป็น 10 สตางค์ต่อหุ้น และเพิ่มทุนจำนวน 2 หมื่นล้านหุ้นเสนอขายกับนักลงทุนแบบเจาะจง ทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น โดย บริษัท บ้านร็อคการ์เด้น จำกัด (มหาชน) BROCK ปิดที่ บาทต่อหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น % ล่าสุดบริษัทได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทไม่ได้เพิ่มทุนและยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่อย่างไร

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า หุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหวือหวา โดยบริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ thana ปิดที่ 3.56 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 4.71% บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIN ปิดที่ 2.16 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 17.39% บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน)หรือ EVER ปิดที่ 3.54 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 5.99% บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ NCH ปิดที่ 2.48 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 1.68%

ขณะที่มีกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ในระดับ ซิลลิ่ง 7 วันติดต่อกัน อย่าง บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) KC หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับระดับความเข้มข้น นำมาตรการหุ้นที่มีความร้อนแรงในระดับ 2 คือห้ามนำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และให้ซื้อขายด้วยเงินสดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยราคาอยู่ที่ 11.10 บาทต่อหุ้น ปรับลดลง 1.77%

นายชัยรัตน์ โกวิทจินดาชัย ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน)หรือ PRIN กล่าวกับสื่อออนไลน์ว่า ราคาหุ้นของบริษัทฯที่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงนี้น่าจะมาจากการเก็งกำไรกระแสการเข้าซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก ซึ่งบริษัทถือว่าเข้าข่าย เนื่องจากราคาต่อมูลค่าทางบัญชี(P/BV) อยู่ที่ 0.58 เท่า ต่ำสุดในกลุ่มอสังหาฯ แต่ขอยืนยันว่าไม่มีการติดต่อเข้ามาขอซื้อกิจการและไม่ได้อยู่ระหว่างการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

“ในแง่พื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งราคาหุ้นที่ขึ้นมาอาจจะเป็นไปตามการเข้าเก็งกำไรจากกระแสหุ้นอสังหาฯ ตัวเล็กที่เข้าข่ายถูกเทคโอเวอร์ก็เป็นได้ เพราะมีหลายบริษัทราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่ยืนยันว่าไม่มีเข้ามาคุยกับเราและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แม้ P/BV ของเราจะต่ำสุดในกลุ่มเพียง 0.58 เท่า แต่ถามว่าเปิดโอกาสไหม หากจะมีใครเข้ามาคุย ก็ไม่สามารถตอบได้นะ รอให้มีก่อนแล้วค่อยมาว่ากันอีกที”นายชัยรัตน์ กล่าว

ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทปีนี้ ตั้งเป้ารายได้แตะ 3,000 ล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2557 คาดว่าจะทำได้ราว 2,400-2,500 ล้านบาท โดยยอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามรายได้ ซึ่งบริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่ 5 โครงการ มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 1,000 ล้านบาท คอนโดฯ 1,300 ล้านบาท ที่เหลือเป็นทาวน์เฮาส์ ด้านยอดขายรอโอน (แบ็คล็อก)ปัจจุบันมีอยู่ราว 500 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ในปีนี้ทั้งหมด ส่วนงบ ลงทุนในปี 2558 ตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านบาท จะใช้ในการซื้อที่ดินรองรับการเปิดโครงการใหม่

 

@กรุงเทพธุรกิจ

‘ดีเอสไอ’ลุยสอบปั่นหุ้นโซลูชั่น

“ดีเอสไอ” เร่งสอบคดีปั่นหุ้น “โซลูชั่น คอนเนอร์” เรียก”ก.ล.ต.” เข้าให้ปากคำ ยันดำเนินคดีตามพยานหลักฐาน

ขณะ “กมธ.ยกร่างฯ” เล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ หวังสกัดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็น และปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เกรงกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

หลังจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยืนหลักฐานการสร้างราคาหุ้นบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 และตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา

ล่าสุดวานนี้ (8 ม.ค.) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีปั่นหุ้นบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ว่า สำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานก.ล.ต. ในฐานะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มาให้การประกอบสำนวนคดีแล้ว

หลังจากนี้จะสอบสวนดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน โดยคดีนี้ ก.ล.ต. ตรวจพบพฤติการณ์การปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในปี 2553 และได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอเมื่อ เดือนก.ย. 2557 ที่ผ่านมา โดยขอให้ดีเอสสอบสวนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของ นายฉาย บุนนาค กับพวก ซึ่งมีพฤติกรรมปั่นหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะของการสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหุ้น

สำหรับคดีนี้เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ซึ่ง ก.ล.ต. พบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์ ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย. 2553 ที่มีสภาพผิดไปจากปกติจากการกระทำของผู้ต้องสงสัย 11 ราย ซึ่งเป็นการซื้อแบบกระจายตัว และการส่งคำสั่งซื้อขายของบัญชีต้องสงสัย 9 บัญชี มีนัยเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.10 บาท. ในวันที่ 30 มี.ค.2553 เป็น 7.20 บาท ในวันที่ 29 เม.ย.2553 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18.30% โดยสวนทางกับดัชนีตลาดเอ็ม เอ ไอ หรือ MAI ที่ปรับตัวลดลง 3.35%

นอกจากนี้ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ก่อนช่วงเวลาต้องสงสัย 30 วันทำการ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาต้องสงสัย 18 วันทำการ เพิ่มขึ้นจาก 660,000 หุ้น เป็น 2,240,000 หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 239.4% โดยไม่มีสารสนเทศที่มีนัยสำคัญสนับสนุนทางการเพิ่มขึ้นของราคา การเพิ่มขึ้นของราคาและปริมาณหุ้นที่ผิดปกติเกิดจากคำสั่งซื้อหุ้นของบุคคลต้องสงสัย 9 ราย ซึ่งคิดเป็น 55.64% ของปริมาณการซื้อขายทั้งตลาด

จากการโทรสอบถามนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว แต่กลับไปรับการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้

“ผมไม่สะดวกที่จะคุย” นายอารักษ์ กล่าว

กมธ.ยกร่างฯเล็งห้ามซื้อหุ้นครอบงำสื่อ

ด้านความคืบหน้าตามประเด็นการพิจารณารายละเอียดในหลักการเฉพาะเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ได้กำหนดให้มีคณะทำงานคณะเล็กไปพิจารณานั้น

แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน นอกจากจะคงบทบัญญัติด้านสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนกำหนดไว้แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญใหม่ คือ กรณีที่บุคคลจะเข้าครอบงำหลายสื่อเพื่อก่อให้เกิดอิทธิพลต่อการแสดงความเห็นและนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะกระทำไม่ได้ เพราะส่วนดังกล่าวถือเป็นผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณา เช่น ในการทำข่าวต่างจังหวัดที่พบว่ามีนักท่องเที่ยวผูกคอตายในบังกะโลแห่งหนึ่ง แต่เจ้าของบังกะโลที่เป็นผู้มีอิทธิพลสั่งห้ามนักข่าวท้องถิ่นนำเสนอข่าว หากมีใครนำเสนอจะเกิดอันตรายกับนักข่าวคนนั้น ต่อไปจะถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องของประชาชน

ส่วนกรณีที่พบว่ามีนักธุรกิจกว้านซื้อหุ้นในธุรกิจสื่อมวลชนนั้น แหล่งข่าวบอกว่า เป็นประเด็นที่เข้ากรอบหลักการดังกล่าวเช่นกัน

ก.ล.ต.กล่าวโทษ11รายปั่นหุ้นโซลูชั่น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 ราย ได้แก่ 1.นายฉาย บุนนาค 2.นายปฐมัน บูรณะสิน 3.นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ 4.นายมีศักดิ์ มากบำรุง 5.นายอภินันทกานต์ พงศ์สถาบดี 6.นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ 7.นายทรี บุญปราศภัย 8.นายพาวิตต์ นาถะพินธุ 9.นางสาวชนาธิป ตันติพูนธรรม 10.นางสาวศิริญา ดำรงวิถีธรรม และ 11.นายไท บุญปราศภัย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีสร้างราคาหุ้น โซลูชั่น คอนเนอร์

สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-29 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา จึงตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร เช่น บัญชีข้อมูลการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ บัญชีแสดงการหมุนเวียนเงินภายในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งบัญชีกลาง บัญชีรายบุคคล บัญชีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้กับบุคคล 7 ราย ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน

ตลอดจนการให้ถ้อยคำยอมรับของผู้ต้องสงสัยบางราย เกี่ยวกับการควบคุมเงิน และการสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า นายฉาย นายปฐมัน และนายสุพิชยะ ได้ตกลงรู้เห็นร่วมกันซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ในลักษณะสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของบุคคล 9 ราย ได้แก่ นายปฐมัน นายสุพิชยะ นายมีศักดิ์ นายอภินันทกานต์ นายเทพฤทธิ์ นายทรี นายพาวิตต์ นางสาวชนาธิป และนางสาวศิริญา

พบพฤติกรรมสั่งซื้อขายหุ้นผิดปกติ

โดยพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ของบุคคลกลุ่มนี้ มีลักษณะสอดรับกันในด้านจังหวะเวลา การส่งคำสั่งด้านซื้อและขายในปริมาณมากที่หลายระดับราคาเพื่อครองตลาด และควบคุมการเปลี่ยนแปลงราคา และทำราคาตลาดให้สูงขึ้นด้วยการส่งคำสั่งให้เกิดการซื้อขายระหว่างบัญชีของบุคคลในกลุ่ม อันเป็นการลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นโซลูชั่น คอนเนอร์ ซึ่งเมื่อมีผู้ลงทุนจำนวนมากหลงเชื่อและเข้าซื้อขายตาม บัญชีซื้อขายของบุคคลทั้ง 9 รายข้างต้นก็ทยอยขายทำกำไร โดยมีนายไทช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การกระทำในลักษณะข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม