SCC – ซื้อ

คาดผลประกอบการไตรมาส 4/57 ออกมาดี

วิเคราะห์การลงทุน

ที่ผ่านมาตลาดมีความกังวลว่าผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังอันเป็นผลจากราคาแนฟทาและโอเลฟินส์ที่ลดลงอย่างมากอาจกดดันกำไรสุทธิไตรมาส 4/57 ของ SCC ออกมาไม่ดีนัก อย่างไรก็ดี จากการประเมินของเรา เราคาดว่ากำไรของบริษัทจะไม่แย่อย่างที่กลัว เนื่องจากนโยบายการเก็บสินค้าคงคลังไว้ในระดับต่ำและส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากขาดทุนสินค้าคงคลังได้อย่างดี ในมุมมองของเรา บริษัทได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มกำไรในอนาคตที่ดูสดใส โดยมีปัจจัยหนุนจากส่วนต่างราคาโอเลฟินส์ที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้นรวมถึงอุปสงค์ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่กำลังฟื้นตัว ดังนั้นเราจึงเชื่อว่าขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าซื้อหุ้น SCC เรายังคงคำแนะนำ ซือ ด้วยราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2558 ที่ 540 บาท

คาดกำไรไตรมาส 4/57 อยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท

ในวันที่ 28 ม.ค. เราคาด SCC จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/57 ที่ 7.5 พันล้านบาท ลดลง 6% YoY และ 4% QoQ ซึ่งคาดการณ์กำไรสุทธิที่ลดลง YoY มีปัจจัยจากขาดทุนสินค้าคงคลังในธุรกิจปิโตรเคมี (เทียบกับกำไรจากสินค้าคงคลังในไตรมาส 4/56) เงินปันผลรับจากโตโยต้าที่ลดง และไม่มีกำไรจากการขายเงินลงทุนเหมือนปีก่อน ส่วนที่คาดว่าจะลดลง QoQ นั้นมาจากขาดทุนสินค้าคงคลัง

SCC-setlnw

นโยบายสินค้าคลังและส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นช่วยลดผลกระทบจากขาดทุนสินค้าคงคลัง

ผลการดำเนินงานธุรกิจปิโตรเคมีจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด โดยเราคาดว่าบริษัทจะขาดทุนสินค้าคงคลังที่เพียง 2.5 พันล้านบาท เนื่องจาก SCC ปรับลดระดับสินค้าคงคลังครึ่งหนึ่งเหลือเพียงราวๆ 1.5 สัปดาห์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาแนฟทาลดลงมากกว่าราคาผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอยู่มาก ส่วนต่างราคา HDPE-แนฟทา และ PP-แนฟทาเฉลี่ยอยู่ที่ 790 เหรียญต่อตันและ 810 เหรียญต่อตันตามลำดับในไตรมาส 4/57 เพิ่มขึ้นจาก 691 เหรียญต่อตันและ 716 เหรียญต่อตันในไตรมาส 3/57

สิ่งที่สำคัญคือ ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่มาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มากขึ้น (อันได้แก่ HDPE-เอทิลีน และ PP-โพรพิลีน) ดังนั้น SCC ซี่งถือหุ้นใน ในหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ สัดส่วนเต็มจำนวน 100% แต่ถือหุ้นเพียงสองในสามของหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ จึงคาดจะได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างมาก

ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำช่วยขยายระยะวัฏจักรขาขึ้นของโอเลฟินส์ถึงปี 2560

ราคาน้ำมันดิบที่ต่ำอาจส่งผลให้แผนการขุดก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานในสหรัฐฯต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจะส่งผลให้โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่ใช้ก๊าซจากแหล่งดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปด้วย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ส่วนต่างราคาโอเลฟินส์จะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2560 เป็นอย่างน้อย หนุนจากอุปสงค์โอเลฟินส์ทั่วโลกที่คาดจะเติบโต 4-5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2560 ในขณะที่อุปทานคาดจะเพิ่มขึ้นเพียง 3-4% ต่อปี

คาดอุปสงค์ซีเมนต์สูงขึ้นในไตรมาส 2/58 และอุุปสงค์วัสดุก่อสร้างสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558

ความต้องการใช้ซีเมนต์ภายในประเทศมีแนวโน้มหดตัว 1-2% YoY ในไตรมาส 4/57 ในขณะที่ราคาซีเมนต์คาดจะทรงตัวที่ 1,950 บาทต่อตัน SCC มองว่าอุปสงค์จะทรงตัวในไตรมาส 1/58 และจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึนในไตรมาส 2/58 และหลังจากนั้นจะเติบโตอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์เติบโตเฉลี่ย 4-6% ในปีนี้ เรามองว่าอุปสงค์วัสดุก่อสร้างจะเริ่มฟื้นตัวช้ากว่าซีเมนต์ราว 3-6 เดือน จึงคาดว่าความต้องการจะเริ่มกลับมาเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ทั้งนี้ SCC เชื่อว่าราคาซีเมนต์จะทรงตัวได้แม้ว่าจะมีอุปทานใหม่จาก TPIPL เข้ามาในตลาด เนื่องจาก TPIPL มีแนวโน้มที่จะส่งออกผลผลิตใหม่ที่ออกมาไปยังต่างประเทศ

CK&BMCL ช.การช่าง Comeback

 

ปั้น CK & BMCL จนเข้าตา “ขาใหญ่ไซด์พันล้าน” หนึ่งในเรื่องแปลกใจของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์”

กลายเป็น “ศูนย์รวมขาใหญ่” ไปเรียบร้อย สำหรับ บมจ.ช.การช่าง หรือ CK และบริษัทในเครือโดยเฉพาะ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL

เมื่อกวาดตาดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น CK จะพบนักลงทุนชื่อดังที่พร้อมใจกันเข้าลงทุนเพียบ ไม่ว่าจะเป็น “เสี่ยโต-อภิชัย เตชะอุบล” ,“เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล”,“เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์”, “วรพรรณ จึงทรัพย์ไพศาล” ภรรยาคู่ใจ “เสี่ยจึง-วิชัย จึงทรัพย์ไพศาล” และ “เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” สัดส่วนการถือหุ้น 0.73-0.71-0.69-0.59-0.51 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 9 ก.ย.2557

ส่วนหุ้น BMCL แม้ปัจจุบันจะไม่ปรากฏรายชื่อ “เซียนหุ้นไซส์พันล้าน” แต่เมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา “เสี่ยปู่-เสี่ยป๋อง-เสี่ยยักษ์-เสี่ยจึง” ควงแขนกันเข้าซื้อ “บิ๊กล็อต BMCL” หลังผู้บริหาร ช.การช่าง บางรายตัดขายหุ้น BMCL ออกมาให้ 1,000 ล้านบาท ราคา 1 บาท

ในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง เคยเปรียบเปรยบริษัทแห่งนี้ไว้ว่า จากนี้ CK จะเหมือน “สองคนในร่างเดียว” ร่างหนึ่ง คือ “ผู้รับเหมา” หรือ Contractor อีกร่างจะเป็น “ผู้พัฒนา” หรือ Developer โดยในร่างผู้รับเหมาวันนี้ทุกคนมั่นใจในตัวเราแล้ว ส่วนในร่างผู้พัฒนาบริษัทได้ฉายแววมาแล้วเมื่อ 25 ปีก่อน หลังเข้าไปลงทุนในระบบสาธาณูปโภคต่างๆ

ล่าสุด “แม่ทัพใหญ่” ออกมาเรียกเรตติ้งอีกรอบว่า รายได้ 30,000 ล้านบาท คือ เป้าหมายในปี 2558 หากเทียบกับปี 2557 จะเห็นว่ามีตัวเลขลดลง นั่นเป็นเพราะว่า ในปีนี้บริษัทมีรายได้พิเศษจากการขายหุ้นสามัญของบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL จำนวน 1,025 ล้านหุ้น แต่หากไม่คิดรายได้พิเศษรายได้รวมจะออกมาใกล้เคียงปี 2557

ส่วนเรื่องแผนลงทุนในปีหน้า บริษัทจะเดินหน้าประมูลงานภาครัฐต่อไป เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ และโครงการถนนมอเตอร์เวย์ เป็นต้น

นอกจากนั้นบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นขนาดเล็ก หรือ SPP กับบริษัทในเครืออย่างบมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP เพื่อขายไฟฟ้าให้กับโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันยังจะร่วมมือกับบมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW ศึกษาการลงทุนน้ำประปาในประเทศพม่า กำลังการผลิต 10,000 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท

จะใช่เหตุผลนี้หรือไม่ที่ทำให้ “เหล่าเซียนหุ้น” พร้อมใจกันเข้าช้อนหุ้น CK และ BMCL

“เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” เคลียร์เรื่องการลงทุนในหุ้น CK และ BMCL ให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า มีโอกาสเข้าไปรับฟังข้อมูลของ CK เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา หลังบริษัทเดินสายโรดโชว์ตามบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ทำให้เห็นว่า หุ้น CK มีอนาคตที่ดี หลังบริษัทในเครือหลายๆตัวของ CK สร้างผลงานที่ดี ถือเป็น “อภิชาตบุตร” ของแม่ (หัวเราะ)

“ผมลงทุนหุ้น CK มานานแล้ว ตั้งแต่ราคายังยืน 18 บาท ออกแนวเล่นตามสัญญาณเทคนิค เมื่อก่อนเคยมีหุ้น CK เกือบ 20 ล้านหุ้น”

ส่วนหุ้น BMCL เพิ่งได้มาจากการทำบิ๊กล็อตแค่ 10 ล้านหุ้น เรียกว่า ได้น้อยมาก เท่าที่ดูๆหุ้น BMCL มีสัญญาณกราฟเป็นขาขึ้น ตั้งใจจะถือรออนาคต แต่ระหว่างทางก็มีตัดขายกำไรล็กน้อย ส่วนตัวเชื่อว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า เมื่อส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีม่วงแ ล้วเสร็จจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นผลประกอบการของ BMCL จะเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน

ด้าน “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” บอกว่า CK ถือเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตไปเรื่อยๆ ต่อไปธุรกิจก่อสร้างของ CK จะมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย แต่ธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทจะกลายเป็นตัวที่ทำให้เงินของกลุ่ม เห็นได้จากบริษัทลูกที่มีผลประกอบการที่ดีทุกตัว ส่วนตัวตั้งใจจะถือลงทุนหุ้น CK ในระยะยาว เพราะอนาคตภาครัฐจะมีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนหุ้น BMCL เหตุผลที่ตัดสินใจร่วมทำบิ๊กล็อก เพราะมองว่าอนาคตจะดี วันนี้รถไฟฟ้าได้กลายเป็นความจำเป็นในการเดินทางไปแล้ว แม้ตอนนี้บริษัทจะยังมีผลขาดทุน แต่เชื่อว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า “หุ้นตัวนี้จะสวย” เมื่อจำนวนผู้สารเพิ่มขึ้นในระบบ แน่นอนบริษัทจะพลิกมีกำไร

“ปัจจุบันกำลังสนใจหุ้นตัวอื่นๆในเครือ CK อาทิ หุ้น ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP เพราะบริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ แต่ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่”

“พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง ถือโอกาสตอกย้ำคำพูดของนายว่า เมื่อก่อนนักลงทุนเมินหน้าหนีเรา นั่นเป็นเพราะหลายคนไม่แน่ใจว่า บริษัททำธุรกิจอะไรกันแน่ แถมยังมีหนี้สินจำนวนมาก แต่หลังจากรูปแบบธุรกิจมีความชัดเจนมากขึ้น และนักลงทุนเริ่มรับรู้แล้วว่า หนี้จำนวนมากของบริษัทไม่ใช่หนี้ที่ก่อภาระ แต่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้และกำไร แถมเป็นกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่แปลกที่จะเห็นนักลงทุนรายใหญ่จะเข้ามาถือหุ้น CK และบริษัทในเครือบางตัว

ที่ผ่านมาบริษัทพยายามอธิบายหลายๆเรื่องให้นักลงทุนฟัง โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินที่ไม่ก่อภาระ เรื่องผลประกอบการในอนาคต เรื่องกลยุทธ์การลงทุนผ่านบริษัทลูกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL, บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL, บมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW และ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP สัดส่วน 15.15-30.19-19.04-31.78 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งเราตั้งใจจะบอกว่าบริษัทเหล่านั้น คือ outstanding ของบริษัท

“นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นบริษัทแสดงให้เห็นว่า หุ้น CK มีพื้นฐานที่ดี”

“ประเสริฐ มริตตนะพร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มงานบริหาร บมจ.ช.การช่าง พูดเสริมว่า ก่อนหน้านี้มีโอกาสพบผู้ถือหุ้น CK ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนแนว value investing หรือ VI แตกต่างจากอดีตที่แทบไม่มีนักลงทุน VI สนใจหุ้น CK เลย แต่ครั้งนี้มีคนเข้ามาจับจองที่นั่งจนเต็มห้อง เมื่อก่อนหุ้น CK จะมีแต่นักลงทุนสถาบันในและนอกประเทศถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่

เหตุผลที่นักลงทุน VI เริ่มสนใจเรามากขึ้น ก็อย่างที่บอก CK และบริษัทในเครือสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้แล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ BMCL ไม่ค่อยไปไหน เพราะหลายคนวิเคราะห์ว่า คง “เจ๊ง” ลองกลับมาดูราคาตอนนี้แทบอยากจะร้องไห้ ปัจจุบันหุ้น CK และ BMCL ถือเป็น “หุ้นฮอตฮิต” เพราะมีแต่นักลงทุนสถาบันและรายใหญ่เข้ามาลงทุน วันนี้ราคาหุ้น BMCL ติดลมบนไปแล้ว

“เรื่องแปลกใจของ CK คือ การมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นของเราจำนวนมาก แถมยังมีนักลงทุนสถาบันถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ไม่เคยมีเลย หลังเขามองว่าหุ้นเรามีความเสี่ยง วันนี้มันถึงเวลาที่เราจะโชว์ผลงานแล้ว”

ปัจจุบันบริษัทในเครือทุกตัว ขยันส่งกำไรกลับคืนมาให้กับ CK เมื่อเป็นเช่นนั้นหุ้นใหญ่คงไม่คิดขายหุ้น CK และลูกๆให้กับใคร หากคิดจากสัดส่วนการลงทุนใน 4 บริษัทในเครือเท่ากับว่า CK เข้าไปลงทุนแล้วประมาณ 31,000 ล้านบาท มูลค่าลงทุนนี้เป็นตัวเลขเดียวกับที่บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เคยประเมินไว้

ที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้เป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันทั้งในแง่ของ “กำไรสุทธิ” และ “กำไรจากเงินปันผล” ให้กับบริษัทมาตลอด แถมยังเป็นพันธมิตรที่พร้อมจะก้าวขาไปลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า น้ำประปา เขื่อน และพลังงานไฟฟ้า ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ เพื่อรองรับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะช่วยทำให้การเข้าลงทุนต่างๆของ CK ง่ายขึ้น และยังทำให้เรามีภาระการลงทุนน้อยลงด้วย

ที่ผ่านมา “ช.การช่าง” รับรู้ “กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน” มาแล้วหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้น TTW จำนวน 2,203.2 ล้านบาท โดยได้จำหน่ายออกไปในสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นละ 7.55 บาท ล่าสุดบริษัทได้ขายหุ้นBMCL จำนวน 1,025 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.65 บาท รวมมูลค่า 1,691 ล้านบาท ทำให้บริษัทรับรู้กำไรจากการขายครั้งนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะบันทึกกำไรดังกล่าวในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557

“กลยุทธ์ดี พันธมิตรแกร่ง” ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทมีวันนี้ พันธมิตรทั้งหมดเราเป็นผู้ปลุกปั้นเองกับมือ ไม่ว่าจะเป็น “ทางด่วนกรุงเทพ-ทีทีดับบลิว-รถไฟฟ้ากรุงเทพ-ซีเค พาวเวอร์” ทั้งหมดนี้คือ โครงสร้างสำคัญของ ช.การช่าง ฉะนั้นยังไม่คิดจะขายหุ้นออกหมด เขาย้ำ แต่อาจมีการปรับพอร์ตลงทุนบ้างเล็กน้อย “พงษ์สฤษดิ์” พูดตบท้าย

โชว์แผน 5 ปี

“พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” บอกว่า ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2557-2561) เราจะพยายามผลักดันรายได้ให้ขยายตัวปีละ 10-15 เปอร์เซ็นต์ วันนี้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยยังขาดอยู่มาก ฉะนั้นยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกเยอะ โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการลงทุนไปในประเทศพม่าและลาวที่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน เพียงแต่ปัจจุบันรัฐบาลของทั้งสองประเทศยังไม่มีงบประมาณเพียงพอในการลงทุน

 

“ในปี 2559 บริษัทอาจมีรายได้แตะ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะเริ่มมีการเปิดประมูล โดยบริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและบุคคลากรไว้เรียบร้อยแล้ว”

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2558 คาดว่ารายได้อาจยืนระดับ 30,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากในปี 2557 บริษัทมีรายได้พิเศษจากการขายหุ้น BMCL ออกไป 1,025 ล้านหุ้น แต่หากตัดเรื่องรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในปี 2557 ออกไปปีนี้บริษัทจะมีรายได้รวมกว่า 33,000 ล้านบาท หลังได้รับงานใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ปริมาณงานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2557 อยู่สูงถึง 100,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพของบริษัทเป็นอย่างดี

ล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญารับงานก่อสร้างใหม่ 3 งาน มูลค่า 7,600 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น (เฟส 2) มูลค่า 4,310 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะลงนามสัญญาว่าจ้างกับบมจ.ซีเค พาวเวอร์ ในวันที่ 10 พ.ย.2557 ครอบคลุมงานออกแบบ จัดหาและติดตั้งระบบโรงไฟฟ้า มีระยะเวลาดำเนินงาน 29 เดือน

โครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตโรงผลิตน้ำประปา พื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม ครอบคลุมงานออกแบบ จัดหาและติดตั้งโรงผลิตน้ำประปา ระยะเวลาดำเนินงาน 24 เดือน มูลค่า 2,910 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำประปาพื้น ปทุมธานี-รังสิต ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน มูลค่า 370 ล้านบาท รวมมูลค่า 3,280 ล้านบาท โดยบริษัทจะลงนามสัญญาว่าจ้างกับบมจ.ทีทีดับบลิว ในวันที่ 23 ธ.ค.2557

“รายได้รวมในไตรมาส 3/57 คาดจะสูงกว่า 9,000 ล้านบาท เนื่องจากงานก่อสร้างที่เป็นรายได้หลักมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี และบริษัทอาจมีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานที่ 8-10 เปอร์เซ็นต์ และจะมีรายได้พิเศษจากการขายหุ้น BMCL อีกกว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงเงินปันผลที่บริษัทไปลงทุนไว้กว่า 300 ล้านบาท”

สำหรับแผนงานในปี 2558 บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าประมูลโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มูลค่า 25,000 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงปากเกร็ด-หลักสี่-มีนบุรี-สุวินทวงศ์) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี) รวมถึงบริษัทมีความพร้อมเข้ารับงานโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ โดยคาดหวังจะได้งานอย่างน้อย 1 เส้นทาง และโครงการถนนมอเตอร์เวย์

นอกจากนั้นบริษัทคาดว่าจะได้รับงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) มูลค่างาน 20,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากทางภาครัฐว่าจะใช้วิธีประมูล หรือเจรจาตรงกับ BMCL คาดว่าจะได้ความชัดเจนอย่างเร็วที่สุดภายในปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า หากรัฐบาลสามารถสรุปได้ทันภายในปีนี้ งานก่อสร้างคงแล้วเสร็จภายในปี 2560 และจะเดินเครื่องในปี 2561

เขา บอกว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนทั้งในและนอกประเทศเพิ่มเติม โดยในประเทศก็จะเป็นลักษณะของการเดินไปข้างหน้าพร้อมกับงานของภาครัฐที่จะมีออกมา ส่วนงานต่างประเทศบริษัทก็ได้เข้าไปเป็นพันธมิตรกับ TTW เพื่อพัฒนาโครงการน้ำประปา ประเทศพม่า คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2558 เบื้องต้นคงใช้เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงร่วมกับ CKP ศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้าเช่นกัน

สำหรับในส่วนของงานก่อสร้างที่บริษัทดำเนินการอยู่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดีตามแผนงาน เช่น โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวน มีความก้าวหน้า 23 เปอร์เซ็นต์ โครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี มีความก้าวหน้า 45 เปอร์เซ็นต์ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีความก้าวหน้า 48 เปอร์เซ็นต์

โครงการที่เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมากในขณะนี้ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำ เงิน มีความก้าวหน้า 59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้งานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าอยู่ระหว่างลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะทำการขุดเจาะอุโมงค์แล้วเสร็จครบทั้ง 2 อุโมงค์ในปลายปี 2558 และโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีความก้าวหน้า 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้างบริษัท J-Trec ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้า ขณะนี้ได้เริ่มผลิตแล้ว คาดว่าจะส่งขบวนรถขบวนแรกมาถึงเมืองไทยในช่วงเดือนต.ค. 2558 มีความก้าวหน้ารวม 12 เปอร์เซ็นต์

set-lnw-ช.การช่าง

“ในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เดินทางไปโรดโชว์ประเทศฮ่องกง ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยนักลงทุนให้ความสนใจในกลยุทธ์การดำเนินงานและการลงทุนของบริษัท เพราะปัจจัยเหล่านั้นทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรมั่นคง และมีศักยภาพที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการต่างๆ กับภาครัฐและเอกชนสูงกว่าบริษัทก่อสร้างปกติ”