นักวิเคราะห์จับตาหุ้นพลังงานส่งผลต่อดัชนีหุ้นไทย

 

นักวิเคราะห์จับตาความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบกระทบหุ้นน้ำมัน ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะทะลุผ่าน 1,600 จุดได้หรือไม่ แนะเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มพลังงานได้ในระยะกลาง

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ธนชาติ จับตาราคาน้ำมันดิบล่าสุดฟื้นตัวขึ้นแรง Brent Oil ขึ้นมาอยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลต่อราคาหุ้นน้ำมันโดยเฉพาะ PTT, PTTEP ที่คาดว่าจะมีแรงซื้อกลับมาในสัปดาห์นี้ และเป็นปัจจัยที่จะผลักดันดัชนี SET เคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น โดยคาดกรอบดัชนีทั้งสัปดาห์จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,570-1,600 จุด

“ดัชนี SET น่าจะยังคงเป็นการเคลื่อนไหวแบบแกว่งตัวต่อไปเช่นเดิม รอจังหวะที่จะกลับขึ้นมาทดสอบ 1,600 จุดอีกครั้งในสัปดาห์นี้เป็นสัญญาณซื้อตาม โดยที่สัญญาณบวกจากเครื่องมือชี้ทิศทางยังคงเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่า ตลาดอยู่ในแนวโน้มขึ้นต่อไป และดัชนี SET จะมีโอกาสทะลุ 1,600 จุด เปลี่ยนกรอบขึ้นสู่ 1,650 จุด โดยมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,550 จุด” นักวิเคราะห์ กล่าว

พร้อมแนะนำนักลงทุนถือหุ้นในระดับ 75% ของพอร์ตต่อไป คงระดับ 1,550 จุดเป็นแนวรับสำคัญและเป็นจุดตัดขายระยะสั้นเพื่อปรับพอร์ ขณะเดียวกัน มีสัญญาณเทคนิคสามารถ “ซื้อ” เก็งกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน : ENERG INDEX มีสัญญาณฟื้นตัวจากกราฟระดับสัปดาห์อย่างชัดเจน แท่งเทียนทำรูปแบบ White Marobozu และพักตัวสร้างฐานด้วยปริมาณการซื้อขายที่ลดลง คาดหวังการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ดัชนีมีโอกาสขึ้นทดสอบ 20,000 จุดในระยะสั้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวขึ้น จึงแนะนำเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มพลังงานได้ในระยะกลาง

สอดคล้องต่อบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส โดยทีมนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP ได้ทำ Preview Earnings หุ้น PTTEP พบว่า PTTEP จะต้องรับรู้ผลขาดทุนการด้อยค่าของเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ PTT จะต้องรับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 65% หรือจะกระทบต่อ Fair Value PTT ราว 18 บาทต่อหุ้น ซึ่งโดยรวมจะทำให้ PTT ภายหลังรวมทั้งปัจจุบันบวกและลบแล้วจะอยู่ที่ 396 บาท มี upside 14%

Ant eye view : ภาพรวมของตลาดไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดัชนีแกว่งพักตัวในกรอบเหงาๆ 1,580-1,600 จุด เพื่อรอวันจุดพลุ ซึ่งการพักตัวในปัจจุบันมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความอดทนในการ รอ ดัชนีอาจจะซึมๆ ไปเรื่อยๆ เชื่อว่าจะไม่มีการปรับลดลงรุนแรง และตามสูตรแล้วจะต้องมีวัน Volume เข้า ซึ่งวันนี้จะเป็นวันเริ่มต้นการยิงยาวของดัชนี

“มองฐานแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,575 จุด (แย่สุดก็ไม่ควรต่ำกว่า 1,569 จุด) เชื่อว่าแนวดังกล่าวจะเป็นตัวรองรับการพักตัวของดัชนีในรอบนี้ เพื่อรอวัน Volume เข้าดัน SET ขึ้น Break ออกจาก 1,610 จุด กันอีกครั้ง” นักวิเคราะห์ กล่าว

พร้อมแนะนำการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ถือว่าดีต่อ PTT และ PTTEP โดยฝ่ายวิเคราะห์ยังชื่นชอบหุ้นรายตัวเด่น SYNTEC (FV@B 3.85), GUNKUL (FV@B 36) นอกจากนั้น ให้เลือกกลยุทธ์ตาม Theme อื่นๆ ดังนี้ หุ้น Big Cap ที่มีโอกาสเกิดการ Rotation ของ Fund Flow เลือกอสังหาฯ PS SPALI หุ้น P/E ต่ำเฉลี่ยกลุ่ม ผลประกอบการเด่น : SYNTEC, CHG หุ้นได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง : AAV, BA, SCC และหุ้นปันผลเด่น : ADVANC, INTUCH, AIT, SPALI

‘กวี ‘คาดดัชนีตลาดหุ้นจะทำนิวไฮภายใน2ปี

“กวี” คาด ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทำนิวไฮภายใน 2 ปี จากสถิติเดิมที่ 1,789 จุด คาดครึ่งปีหลังดัชนีแตะ 1700 จุด 

กวี-setlnw

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีโอกาสทำสติถิสูงสุดใหม่ หรือ New High ภายใน 2 ปี จาก High เดิมที่ 1,789 จุด หากไม่เกิดความเสี่ยงจากสงคราม

“ปีนี้ดัชนีก็คงมีการสวิงขึ้นลงได้เห็นอย่างน้อย 100 จุดในแต่ละรอบอย่างแน่นอน ก็ใช้ช่วงที่ดัชนีขึ้นลงนี้แหละให้ทยอยขายและทยอยซื้อ แต่อีกอย่างหนึ่งที่ผมมองไว้ก็คือภายใน 2 ปีนี้ เราอาจจะได้เห็นดัชนี SET ทำ New High อีกจาก High เดิมที่ 1,789 จุด แม้ว่าจะมีความเสี่ยงอยู่ แต่ยกเว้นความเสี่ยงที่เกิดจากสงครามนะ”นายกวี กล่าว

ส่วนทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะสามารถปรับตัวได้ถึง 1,600-1,650 จุด และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ1,650-1,700 จุด ในระดับ P/E ที่ 15 เท่าจากแรงหนุนของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งในปีนี้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในช่วงของกรอบและการปรับตัวแบบขาขึ้น แต่จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าปีก่อน หลังจากดัชนีฯปรับขึ้นมาอยู่ในระดับค่อนข้างแพงแล้ว

ทั้งนี้มองกรอบราคาน้ำมันในปีนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

“มองว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงานในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 3% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง และมีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยลดลงเหลือ 20% จากเดิม 30% โดยมีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มมีสัดส่วนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับสัดส่วนหุ้นไนกลุ่มพลังงาน โดยกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไนปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเติบโตขึ้นและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม” นายกวี กล่าว

ส่วนแผนการลงทุนของภาครัฐในปีนี้จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่คาดว่าในปีนี้จะสร้างมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่จะมีการรับรู้รายได้ในอนาคตได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่น CK และ STEC

ขณะที่กลุ่มสื่อสาร คาดว่า จะยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายปีนี้หากมีการประมูล 4G เกิดขึ้น จะหนุนให้หุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวขึ้นและช่วยผลักดันดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นได้

ด้านกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ แนะนำให้ทยอยขายหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในระดับ 1,600-1,650 จุด และหากดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 1,500 จุด ให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อ

นักลงทุนกังวลราคาน้ำมัน หุ้นสหรัฐฯร่วงเล็กน้อย

ดัชนีหุ้นสหรัฐฯลดลงเล็กน้อยในวันอังคาร จากความกังวลเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลง แม้ข้อมูลผลประกอบการอย่างไม่เป็นทางการของบริษัท อัลโก ที่เปิดเผยในวันเดียวกันจะออกมาดีก็ตาม…

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดการซื้อขายวันที่ 13 ม.ค. ในแดนลบ โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลง 27.16 จุด หรือ 0.15% ปิดที่ 17613.68 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 5.23 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 2023.03 จุด ขณะที่ดัชนีแนสแด็กลดลง 3.21 จุด หรื 0.07% ปิดที่ 4661.50 จุด

setlnw-wordupdate

 

ดัชนีหุ้นสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการซื้อขาย แต่ในช่วงบ่ายกลับลดลงสู่แดนลบ ในขณะที่นักลงทุนจับตาดูราคาน้ำมันดิบ ทั้ง ‘เวสต์ เทกซัส’ สำหรับเดือนก.พ. ที่ขณะนี้อยู่ที่ 45.89 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2009 ส่วนราคาน้ำมัน ‘เบรนท์’ ของอังกฤษ ลดลงอีก 84 เซนต์ เหลือ 46.59 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล.

setlnw หุ้นเช้าปิดร่วง2.03จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยภาคเช้าปิดการซื้อขายที่1,529.18จุด ลดลง2.03จุด หรือ (0.13%) มูลค่าการซื้อขาย22,898.37ล้านบาท

หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่

1.TRUE มูลค่าการซื้อขาย 2,468,962 ล้านบาท ปิดที่ 12.20 บาท ลดลง 0.10

2.ITD มูลค่าการซื้อขาย 1,377,886 ล้านบาท ปิดที่ 7.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.15

3.AJD มูลค่าการซื้อขาย 916,626 ล้านบาท ปิดที่ 4.96 บาท เพิ่มขึ้น 0.60

4.PTT มูลค่าการซื้อขาย 827,235 ล้านบาท ปิดที่ 328.00 บาท ลดลง 5.00

5.AKR มูลค่าการซื้อขาย 791,317 ล้านบาท ปิดที่ 2.94 บาท เพิ่มขึ้น 0.06

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!

ด้วยความที่ผมเป็นนักลงทุนสไตล์ Systematic Trend Following มานานพอสมควร หลายต่อหลายครั้งที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงหรือลงแรงๆ หรือแม้แต่การประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจต่างๆจะย่ำแย่ลงนั้น ผมมักที่จะได้รับความห่วงใยจากเพื่อนฝูง, พี่น้อง, พ่อแม่ และพี่ป้าน้าอาว่าให้ระวังตลาดด้วยนะ อย่ามัวแต่เล่นหุ้นโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆภายนอกอะไรเลย แน่นอนว่าผมย่อมรู้สึกยินดีที่ได้รับความห่วงใยจากทุกคนที่รู้จักเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผมก็มักจะทนไม่ไหวที่จะต้องตอบกลับไปว่าระบบการลงทุนที่ผมใช้อยู่นั้นสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องไปสนใจปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากราคาหุ้นสักเท่าไหร่นัก ซึ่งผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ ด้วยคำพูดปากปล่าวของผมเพียงอย่างเดียวมันทำให้ในหลายๆครั้งไม่มีใครเข้าใจผมสักเท่าไหร่ ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะแชร์คำตอบอย่างละเอียดที่ว่าทำไมผมและนักลงทุนตามแนวโน้มอีกหลายๆท่าน จึงน่าจะเป็นนักลงทุนที่ “ตายยาก” และอยู่ในตลาดไปได้นานอีกหลายปีกันครับ

เล่นไปตามแนวโน้มของตลาด
ความลับข้อแรกที่ทำให้โอกาสขาดทุนแบบบักโกรกจนต้องตายจากไปจากตลาดหุ้นของพวกผมนั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยก็คือ ผมเล่นหุ้นตามแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นของตลาดครับ

แล้วมันจะช่วยอะไรผมได้อย่างนั้นหรือ?
คำตอบก็เพราะปรากฎการณ์ “แนวโน้มราคา” ของตลาดหรือหุ้นนั้น เป็นปรากฎการณ์ความไร้ประสิทธิภาพของตลาดหุ้น (Market Anomaly) ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและ “สันดาน” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงของนักลงทุนในตลาดอย่างเราๆทั้งหลาย ที่มีมาอย่างยาวนานและกว้างขวางในตลาดหุ้นหรือแม้แต่ตลาดสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลกนั้่นเอง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ช่วยให้นักลงทุนและกองทุนชื่อดังหลายๆคนสามารถที่จะทำกำไรเอาชนะตลาดจนร่ำรวยมหาศาลมาได้นักต่อนัก และโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยนั้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่ามันจะจบลงหรือหมดประสิทธิภาพไปอย่างง่ายๆเลย โดยที่คุณจะสังเกตุได้จากกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นผลตอบแทนทบต้นตามช่วงเวลาในการคำนวณย้อนหลังจุดละ 36 เดือนหรือ 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันยังคงมีความเสถียรและเอาชนะดัชนี SET Index ได้อยู่ในระยะยาว
แน่นอนครับว่าแม้ในอนาคตจะไม่มีอะไรแน่นอน และปรากฎการณ์เหล่านี้ก็อาจจะลดพลังของมันลงหรือหายไปก็เป็นได้ แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้นั้นจากงานวิจัยต่างๆหลายๆชิ้น มันก็ยังถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์รูปแบบหนึ่งที่มีความเสถียร (Robust Anomaly) และมีประสิทธิภาพในการทำกำไรชนิดหนึ่งของโลกใบนี้เลยก็ว่าได้

setlnw1-Cumulative-Return-Chart_thumb

 

ภาพที่ 1 : ภาพกราฟ Cummulative Return แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนสะสมของระบบ Trend Following ธรรมดาๆรูปแบบหนึ่งซึ่งอาศัยการทำกำไรจากแนวโน้มขนาดใหญ่ในตลาด เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยที่ภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จากการทดสอบย้อนหลัง (Backtest) ด้วยการกำหนดเงื่อนไขอย่างเข้มงวดในระดับหนึ่ง มันได้สร้างการผลกำไรสะสมราว 25.46 เท่าเมื่อเทียบกับดัชนี SET Index ที่ 1.2 เท่า และให้ผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR ที่ราว 40% ต่อปี ในขณะที่ SET Index มี CAGR อยู่ที่ราว 9% เท่านั้น

setlnw2-ATH-Rolling-CAGR_thumb

 

ภาพที่ 2 : ภาพกราฟ Rolling CAGR ของระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเสถียรของระบบการลงทุนในลักษณะนี้ โดยที่ค่าที่แสดงให้เห็นนี้เป็นค่า CAGR คำนวณย้อนหลัง 3 ปีในแต่ละจุดของเวลาเปรียบเทียบระหว่างระบบ Trend Following รูปแบบหนึ่งกับดัชนี SET Index ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 2005-2014

การตัดขาดทุนและถอยเพื่อรอโอกาส

การตัดขาดทุน (Cut Losses) คือกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มตายยากยิ่งขึ้น สาเหตุก็เพราะว่าพวกมันนั้นทำหน้าที่เสมือนกับ Safe-T-Cut ช่วยตัดโอกาสที่เราจะเจอกับการขาดทุนอย่างหนักจนทำให้พอร์ทโฟลิโอโดยรวมนั้น “ฟกช้ำดำเขียว” จนเน่าเฟะและยากต่อการที่จะสามารถทำกำไรกลับมาเท่าทุนได้ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่หลายๆคนไม่เคยรู้เลยก็คือ สัญญาณการขายหรือ Exit Signal ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์แบบ Trend Following นั้น มักที่จะค่อยๆทยอยเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดหุ้นโดยรวมจะเกิดการดำดิ่งลงไปอย่างนักเสียด้วย! นั่นจึงทำให้นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ที่มีวินัยส่วนใหญ่นั้นสามารถที่จะรอดพ้นเงื้อมือมัจจุราจของตลาดหุ้น โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจปัจจัยอื่นๆเลยนอกจากแนวโน้มของราคาหุ้นในขณะนั้น

SETlnw3-All-Stocks-Trend_thumb

ภาพที่ 3 : ภาพกราฟ SET Index VS. Bullish Stock Composite แสดงสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นในแต่ละวัน โดยที่มันได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อตลาดหรือ SET Index เริ่มย่ำแย่ลง หุ้นต่างๆในตลาดจะเริ่มมีสัญญาณขายออกมาจนทำให้แนวโน้มของหุ้นที่เป็นขาขึ้นในขณะนั้นลดลงไปเรื่อยๆโดยอัตโนมัติ ในขณะที่สัญญาณซื้อจะค่อยๆเกิดขึ้นเมื่อตลาดกลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง จนทำให้สัดส่วนของจำนวนขึ้นที่เป็นขาขึ้นนั้นสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

SETlnw4-VS-Margin_thumb

ภาพที่ 4 : กราฟ SET Index VS. %Margin ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนมูลค่าเงินลงทุน ของพอร์ทโฟลิโอในแต่ละช่วงเวลา โดยเราจะสังเกตได้ว่าเมื่อตลาดเป็นย่ำแย่นั้น สัดส่วน %Margin ลดลงโดยอันโนมัติ ในขณะที่เมื่อตลาดค่อยๆดีขึ้น %Margin ก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเช่นกันจากสัญญาณที่เกิดขึ้นจากระบบ

การเล่นแบบเป็นเข่ง 

ความลับที่ไม่ลับอีกอย่างของกลยุทธ์ Trend Following ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการเล่นแบบเป็นเข่งหรือ Portfolio Trading ครับ เนื่องจากว่ากลยุทธ์การทำกำไรตามแนวโน้มนั้น ชื่อก็บอกว่าอยู่แล้วว่าเป็นการทำกำไรตามแนวโน้ม ดังนั้นถ้าหุ้นไม่มีแนวโน้มขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันมันก็ไม่มีทางกำไร และแนวโน้มใหญ่ๆที่ว่านี้ก็มักจะเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งในหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น (หุ้นตัวหนึ่งๆอาจมีแนวโน้มใหญ่ๆแบบ Super Trend เพียง 2-3 รอบของชีวิตเท่านั้น)

นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงหาทางออกด้วยวิธีการง่ายๆอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเฝ้ามองหุ้นเป็นตะกร้าคราวละหลายๆตัวแทนที่จะเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัว และค่อยๆทยอยเข้าซื้อขายหุ้นคราวละน้อยๆแทน โดยมีเหตุผลเพื่อที่จะทำให้เราสามารถเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้อยู่เสมอ และไม่พลาดโอกาสในการเข้าทำกำไรไป

ด้วยความประจวบเหมาะตรงนี้เองที่ทำให้พอร์ทโฟลิโอของนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมีลักษณะของการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นหลายๆตัวโดยอัตโนมัติ จนทำให้ความเสี่ยงรายตัวของหุ้นที่ถืออยู่ลดลง คงเหลืออยู่แต่ความเสี่ยงของตลาดหรือ Market Risk ที่มักจะเป็นตัวกดดันให้หุ้นส่วนใหญ่วิ่งไปพร้อมๆกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากตลาดหรือ Market Risk ตรงนี้ก็จะถูกบรรเทาลงไปได้ด้วยการใช้กลไกของการ Stop Loss ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดไม่เป็นใจนั่นเองครับ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว สำหรับนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มที่มีพอรท์การลงทุนที่ใหญ่และกว้างขวางสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์หลายๆอย่างก็ยิ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการเล่นแบบเป็น “เข่ง” ในข้อนี้ยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้กองทุน Hedge Fund ประเภท Commodity Trading Advisor (CTA) ชื่อดังหลายๆกองทุนได้แจ้งเกิดในเวทีโลกกันอย่างมากมาย

SETlnw5-Indrustries-Cumulative-Returns-2011-2014_thumb

ภาพที่ 5 : ภาพกราฟ Industries Cummulative Returns ซึ่งช่วยแยกผลกำไรที่เกิดจากระบบ Trend Following ออกเป็นรายอุตสาหกรรม ทำให้เราได้เห็นว่าการมีหุ้นที่เป็น Watchlist และกระจายน้ำหนักการลงทุนไปในหลายๆอุตสาหกรรมนั้นจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นในอุตสาหกรรมหลายๆกลุ่มอาจไม่ได้วิ่งขึ้นลงพร้อมๆกัน การมีตะกร้าหุ้นที่กว้างขวางจะช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถทำกำไรได้บ่อยครั้งและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

 

Note : ค่ากราฟไม่ได้เริ่มต้นจาก 0 เนื่องจากผมได้ทำการ Backtest เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – ปัจจุบัน

การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นอกจากที่กลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มแบบ Trend Following จะช่วยทำให้เราไม่ตกรถในตลาดขาขึ้น และติดดอยในตลาดขาลงแล้วนั้น เป็นที่รู้กันดีว่ากลยุทธ์แบบ Trend Following นั้นมักที่จะให้สัญญาณการซื้อที่มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ (แต่ก็ช่วยชนะตลาดได้นะ 55) ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆอีกอย่างหนึ่งของพวกมันก็คือการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดขนาดหรือเม็ดเงินในการลงทุนให้เหมาะสมในการซื้อขายแต่ละครั้งอยู่เสมอ (Money-Risk Management) นั่นจึงทำให้เรามักไม่เกิดการขาดทุนอย่างหนักขึ้นในการซื้อขายแต่ละครั้ง ดังนั้นเมื่อเวลาที่ตลาดเป็นขาลงหรือตลาดที่ผันผวนมากๆมาถึงแบบไม่รู้ตัวนั้น นักเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following จึงมักที่จะรอดตายได้อย่างปาฎิหารย์แบบไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้

setlnw7-Drawdown-2007-2008_

ภาพที่ 6  : ภาพกราฟ Drawdown แสดงให้เห็นถึงอัตราการขาดทุนสะสมของระบบ Trend Following จากจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี ค.ศ 2007-2008 (สีเขียว) เปรียบเทียบกับ Drawdown ของดัชนี SET Index ในขณะนั้น (สีดำ) ซึ่งทำให้เห็นว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following สามารถที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดไม่เจ็บตัวอย่างหนักได้เป็นอย่างดี

setlnw6-Drawdown-2014

ภาพที่ 7 : ภาพกราฟ Drawdown ของระบบเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ในปีล่าสุด ค.ศ. 2014 ที่พึ่งจะเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นดำดิ่งและเหวี่ยงอย่างรุนแรงในวันที่ 15-12-2014 ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following ก็ยังคงสามารถที่จะเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมนักเล่นหุ้นตามแนวโน้มหลายๆคนถึงยังขาดทุนจนเจ๊งล่ะ?

ก่อนจะจบบทความนี้นั้น ผมเองก็อยากจะพูดถึงคำถามที่มักจะถูกถามหลังจากที่ผมอธิบายสิ่งเหล่านี้จนจบไปเรียบร้อยแล้วอีกสักนิด โดยที่คำตอบของผมนั้นก็คงจะเหมือนกับการที่คุณถามว่า “ทำไมหลายๆคนที่เรียนบริหารธุรกิจ จึงยังทำธุรกิจจนเจ๊งขาดทุน” นั่นแหละครับ

มันยังคงมีองค์ประกอบอื่นๆในการลงทุนอีกมากมายนอกเหนือจากกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นความอดทนมุ่งมั่น, ความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้นๆ, ทัศนคติในการลงทุน, วินัยในการลงทุนต่างๆ, EQ-IQ รวมไปถึงข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละคน หรือแม้แต่คำว่า “ดวง” อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อผลการลงทุนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วมันจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีทั้งคนที่ยังขาดทุนจนย่อยยับ จนไล่ไปถึงคนที่สามารถจะดำรงชีพอยู่ด้วยการลงทุนในตลาดนั่นเอง

และนี่ก็คือทั้งหมดของบทความนี้ครับ ซึ่งผมหวังว่ามันจะช่วยให้คุณเข้าใจว่าเหตุใดคนที่สามารถจะลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มอย่างมีวินัย จึงมีโอกาสที่จะขาดทุนอย่างย่อยยับค่อนข้างน้อย แม้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับสภาพตลาดที่ผันผวนสักเท่าไรนั่นเองครับ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน แล้วเจอกันใหม่ครับผม

mangmaoclub

สาเหตุที่ทำให้คนเล่นหุ้นแบบ Trend Following ตายยาก!