ทั่วโลกเดินเกม “สงครามค่าเงิน”

ทั่วโลกเดินเกม “สงครามค่าเงิน” โจทย์หิน ธปท.ถอดสมการอัตราแลกเปลี่ยน

เปิดศักราชปี 2558 ก็เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ต่างพาเหรดดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในรูปแบบต่าง ๆ นำโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดนมาร์ก แคนาดา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เปรู และล่าสุดสิงคโปร์

และถ้ามองย้อนไปถึงปลายปีที่แล้ว พบว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “จีน” เป็นชาติแรก ๆ ที่ใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกดค่าเงินของประเทศตัวเองให้อ่อนลง

บรรดาธนาคารกลางให้เหตุผลการใช้เครื่องมือดังกล่าวว่า เพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อลดต่ำ จากการร่วงหนักของราคาน้ำมัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที และอาจมีประสิทธิภาพที่สุดของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย คือ “อัตราแลกเปลี่ยนลดลง”

“เรากำลังอยู่ในสงครามค่าเงิน ความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขณะนี้ คือ วิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับลดอัตราแลกเปลี่ยน” นายแกรี่ โคห์น ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซกส์ กล่าวระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

14229377151422937746l

สกุลเงินทั่วโลกแข่งลด “ค่าเงิน”

การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในหลายประเทศทั่วโลก และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2549 ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

นับจากกรกฎาคมปีกลายจนถึงขณะนี้ ค่าเงินสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลงแล้วราว 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และนักวิเคราะห์ยังคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะเป็นขาขึ้นต่อไปอีกหลายปี โดย “เงินหยวน” ได้อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนค่าเงินริงกิตของมาเลเซียร่วงลง 14% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ด้าน “เงินเยน” ของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็น 7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเงินยูโรที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปีเทียบกับดอลลาร์ หลังอีซีบีประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร

การแข่งลดค่าเงินกลายเป็นเทรนด์หลักของธนาคารกลางทั่วโลก หวังกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและการจ้างงาน ทั้งยังเพิ่มความสามารถการแข่งขันภาคส่งออกในตลาดโลก

นอกจากนี้ บางประเทศยังเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตมาตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 จนต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด ทำให้ขาดแคลนงบประมาณสำหรับกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลดค่าเงินจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่

ฤๅจะเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” รอบใหม่

นายไซมอน เดอร์ริก จากแบงก์ออฟ นิวยอร์ก เมลลอนวิเคราะห์ว่า รายต่อไปที่จะเคลื่อนไหวกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำลง คือ ตุรกี บราซิล อาจได้เห็นอินเดียหั่นดอกเบี้ยอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ หลังเพิ่งลดอัตราดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาดเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา

และประเมินว่า ไทยและเกาหลีใต้อาจทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ เพราะกรณีเงินบาทไทยอ่อนตัวในอัตราที่ช้ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เสียเปรียบด้านการส่งออก ประกอบกับดีมานด์ในประเทศซบเซา ขณะที่เกาหลีใต้ ได้รับผลกระทบหนักจากการอ่อนตัวของเงินเยนญี่ปุ่น คู่แข่งสำคัญด้านการส่งออกเพราะขายสินค้ากลุ่มเดียวกัน

มาตรการคิวอีและการลดอัตราดอกเบี้ย ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า โดยสหรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญทำให้เริ่มมีความกังวลถึงฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐ

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ดูจะตอบรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแง่บวก เพราะช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดเงินตลาดทุน แต่สงครามค่าเงินรอบนี้จะจบลงยังไงเพราะแต่ละประเทศคงไม่สามารถกดค่าเงินให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ตลอดไป และอาจปะทุเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ได้

เกม 2 ยักษ์ ศก.เขย่าตลาดเงินโลก

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่างจาก 5 ปีก่อนอย่างมาก โดยมีเหตุใหญ่มาจากสหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่องกลับ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังปล่อยสภาพคล่องออกมา อัดเงินเข้ามาเพิ่มและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ จนเกิดเป็นแรงกดดันที่ต่างกัน ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ต้องปรับตัวรับ

“ตอนนี้น้ำที่เคยขึ้นพร้อม ๆ กัน กลับสวนทางกันแล้ว โลกกำลังเตรียมรับมือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 17-18% นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (29 ม.ค.) ค่าเงินยูโรอ่อนลงมาก”

เวลานี้จึงเห็นถึงการปรับตัวของหลาย ๆ ประเทศรับมือแรงกดดันที่ไม่เท่ากันนี้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบยูโรที่ทำให้เงินฟรังก์แข็งค่าขึ้น 20% สิงคโปร์ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์เทียบดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าเร็วเกินไป

“ผมคิดว่าตอนนี้ไม่ใช่การทำสงครามค่าเงิน แต่ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากสกุลเงินหลักเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนที่เหลือจึงต้องเอาตัวรอด ไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้ แม้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะนิ่ง แต่ถ้าดูที่ค่าบาทเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าคู่แข่งจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น”

ไทยคงดอกเบี้ย 2% ท่ามกลางความผันผวน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการคงอัตรานี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังหารือถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากอีซีบีประกาศใช้คิวอีซึ่ง ธปท.ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้เงินไหลเข้าเอเชียมากนัก แตกต่างจากครั้งที่เฟดประกาศใช้คิวอีและทำให้มีเงินเข้ามาในเอเชียค่อนข้างมาก

“ธปท.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการดอกเบี้ยในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ เนื่องจากยังมีมาตรการอื่นในการดูแลอีกหลายเครื่องมือ อีกทั้งเมื่อดูการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนในปัจจุบัน ก็พบว่าเป็นการเคลื่อนไหวปกติ” นายเมธีกล่าวและว่า

ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.กล่าวว่า ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) เมื่อ 27-28 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00-0.25% เป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การจ้างงานเข้มแข็งขึ้น และผลของราคาพลังงานที่ปรับลดลงอาจส่งผลให้เงินเฟ้อโน้มต่ำลงต่อไปในระยะสั้น ทำให้ตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังของปี ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินภูมิภาค

และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยว่าจะอยู่ในเกม “สงครามค่าเงิน” นี้อย่างไร

คลังกางเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมคราววันที่ 6 มกราคม 2558 มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงินและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551  สรุปได้ ดังนี้

 

1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2558 ไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2558 ที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี

 

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

(1) เป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา ประจำปี 2558
 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2558 ที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี

 

(2) การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน
     เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำทุกไตรมาสและเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่        ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร

 

(3) การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกนอกเป้าหมาย
กรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกช่วงเป้าหมายตามที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินชี้แจงสาเหตุ แนวทางแก้ไข และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับ     เข้าสู่ช่วงที่กำหนดไว้โดยเร็ว รวมทั้งให้รายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

 

(4) การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน
     ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

 

ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558 เป็นการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายนโยบายการเงินจากเดิมที่กำหนดไว้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี เป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินสะท้อนถึงระดับค่าครองชีพที่แท้จริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ช่วยให้สื่อสารกับสาธารณะถึงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงินได้มากขึ้นด้วย

เคล็ดลับการลงทุน

images

ผมมีโอกาสไปบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับ กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งมีความตื่นตัวขึ้นมาก ในการลงทุน

คำถามหนึ่งที่นักศึกษา มักต้องถามคือ มีเงินน้อย จะซื้อหุ้นลงทุนอย่างไรดี

ผมมีความเห็นใจมาก เพราะตอนจบมาใหม่ๆ ก็ไม่มีเงินเหมือนกัน แต่ขอยืนยันว่า บทความชื่อ “การเงิน 6 มิติ” และ “การสร้างความมั่งคั่ง” เป็นการเขียนขึ้นจากประสบการจริง ซึ่งได้ช่วยทำให้ผม
มีได้อย่างทุกวันนี้
ประเด็นสำคัญคือ การมีเงินนั้น เป็นไปได้ ถ้ารู้จักเคล็ดลับการออม และเคล็ดลับการลงทุน
เคล็ดลับการออม เป็นเรื่องง่ายๆ คือต้องออมไว้อย่างน้อย 10% แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับคนที่ไม่มีดวงเป็นเศรษฐี
ครั้นสะสมเงินออมได้แล้ว ต้องมีเคล็ดลับการลงทุน โดยต้องเข้าใจว่า ทรัพย์สินที่มีไว้ให้ลงทุน
มีอยู่ 3 ชนิด

ทรัพย์สิน 3 ชนิดที่ว่า ได้แก่
1. เอาไว้เพื่อใช้เอง Utilizing Assets)2. เอาไว้เพื่อขาย Trading Assets)3.เอาไว้เพื่อหารายได้ Earnings Assets)
เป็นนักศึกษา จบมาใหม่ๆ มีงานทำ มีเงินออมบ้างนิดหน่อย คงต้องลงทุนในทรัพย์สินเพื่อใช้ก่อน
โดยเฉพาะบ้านและรถ เพราะถือว่าเป็นของจำเป็น แม้จะต้องกู้เงินมาเสริม ก็ต้องยอม

มีข้อแม้คือ ลงทุนเท่าที่จำเป็น แบบเศรษฐกิจพอเพียง อย่าเอาโก้
และต้องมั่นใจ ว่าจะผ่อนชำระคืนเงินกู้ได้ ทำอย่างนี้ได้ ถือว่าสอบผ่านด่านแรก

ทีนี้พอมีเงินมากขึ้น ก็เริ่มดูลู่ทางลงทุนใน Trading Assets เล็งดูทรัพย์สินที่มีโอกาสเพิ่มค่าเร็ว
เช่น หุ้น ที่ดิน ซื้อมาเพื่อขายทำกำไร เพื่อจะทำให้เงินที่มีอยู่ งอกเงยได้รวดเร็วขึ้น
มีข้อเตือนใจคือ การลงทุนแบบนี้ มีความเสี่ยงสูง เพราะราคาหุ้น ราคาที่ดิน อาจมีปัญหา ตกต่ำลงมาได้
เกิดขาดทุน ทำให้ใจเสีย
ผมก็เคยโดนมาแล้ว
เวลาได้กำไร รู้สึกว่าการหาเงินเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน ทำให้ย่ามใจ ขาดสติ เร่งลงทุนมาก จนเกินกำลัง
กว่าจะรอดมาได้ เหนื่อยเกือบตาย

แต่ก็มีบ้างบางคน ทำได้ดี มีเงินเป็นกอบเป็นกำ และดูๆไป คนส่วนใหญ่เวลานี้ ก็ชอบลงทุนแบบ Trading Assets เพราะต้องการเห็นผลเร็ว ได้เสีย รู้กันไปเลย อันเป็นนิสัย ของคนที่ชอบผจญภัย

เคล็ดลับการลงทุนแบบที่สาม คือลงทุนใน Earnings Assets หรือทรัพย์สินที่ให้รายได้คืนกลับมาอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนแบบนี้ คือการลงทุนแบบห่านทองคำ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินธนาคาร การซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ การลงทุนในหุ้นปันผล การซื้อคอนโดให้เช่า การสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่า หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่สามารถให้กระแสรายได้ เข้ามาแบบระยะยาว

การลงทุนตามสไตล์ห่านทองคำ มีข้อดีคือ ไม่ต้องขายทรัพย์สินไปแบบ Trading Assets ซึ่งเน้นการขายทรัพย์สินเพื่อเอากำไร ครั้งเดียวจบ

กลยุทธหุ้นห่านทองคำ ก็ได้มาจากแนวคิดของ Earnings Assets โดยเน้นการลงทุนในหุ้นปันผล
ที่ดีคือ หุ้นปันผลที่ซื้อลงทุน อยู่ในตลาดหุ้น ทำให้มีโอกาสที่ดียิ่ง ในการลดต้นทุนหุ้นในมือ

การทำเช่นนี้ สามารถช่วยให้คนมีเงินน้อย มีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้มากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป
มีมากจนถึงขั้นว่า เงินปันผลที่ได้รับ สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว โดยไม่ต้องทำงานก็ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นครอบครัวที่ยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟู่ฟ่า สามารถเป็นไท ได้อย่างสบาย
จึงหวังว่า นักศึกษาที่จบใหม่ มีเงินน้อย จะสามารถนำเคล็ดลับการลงทุนนี้ ไปปฏิบัติใช้ ให้เป็นประโยชน์ได้นะครับ

เทพ รุ่งธนาภิรมย์