หุ้นไทยยังสดใส

บลจ.วรรณแนะลงทุนในหุ้นทั่วโลกและหุ้นไทย เชื่อแนวโน้มการลงทุนยังสดใส โดยเฉพาะผลบวกจาก QE ที่มาตามคาด ผลักให้กองทุนเปิด ONE-EURO รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติอีกครั้ง ขณะที่กองหุ้นไทยรับอานิสงส์จ่ายปันผลรวด 6 กองทุน

 

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาปรับตัวในลักษณะ Sideway Up แม้จะมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง หลังจากที่นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศของยูเครนและรัสเซีย แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และการเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียบางประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมของทางธนาคารกลางหลักในประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยูโรโซน ด้วยเม็ดเงินมหาศาลก็สามารถผลักดันให้ดัชนีฯ ตลาดส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นได้

ขณะที่ในปีนี้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศระยะถัดไปในระยะสั้นมองว่าตลาดหุ้นยังคงปรับตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายของพรรคไซรีซา หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของกรีซ ทำให้ตลาดมองว่าอาจมีการแยกกรีซออกจากยูโรโซนและอาจเกิดปัญหาการชำระหนี้ประเทศกับทาง IMF และธนาคารกลางยุโรป ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อรอดูเหตุการณ์ก่อน แต่อย่างไรก็ดี ด้วยกระบวนการทางกฎหมายและคะแนนเสียงที่พรรคดังกล่าวยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียวแล้ว ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อ Sentiment เชิงลบในระยะสั้นเท่านั้น และจะไม่กระทบในวงกว้าง ทำให้ตลาดจะยังสามารถกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงถัดไป

สำหรับการลงทุนในระยะกลางถึงยาว ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณของธนาคารกลางหลักของญี่ปุ่นและยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยูโรโซนที่การประชุม ECB ล่าสุดได้ประกาศการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่เดือนมี.ค. 58 ถึงเดือน ก.ย. 59 ซึ่งคิดแล้วเป็นมูลค่าวงเงินรวมสูงถึง 1.2 ล้านล้านยูโร และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ค่อนข้างมากที่ 5 แสนล้านยูโร ซึ่งจะผลักดันให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและทำให้สินทรัพย์เสี่ยงยังเป็นที่น่าสนใจทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัวได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทำให้ Sentiment การลงทุนเริ่มผันผวนน้อยลง และทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่ม Market Cap ค่อนข้างใหญ่ในแต่ละตลาดหุ้น เริ่มรักษาระดับราคาไว้ได้ หลังจากที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา

โดยมองว่าราคาน้ำมันตอนนี้เริ่มใกล้เคียงกับราคาต้นทุน (Cashing Cost) ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้คาดว่า Downside Risk ของราคาน้ำมันเริ่มจำกัด โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวได้ในกรอบ +/- 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเล็กน้อย และยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ จากต้นทุนพลังงานที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในระดับที่มากหรือน้อยเพียงไร สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามได้แก่ ท่าทีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในส่วนของยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ควบคู่ไปด้วย เพราะบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเติม นอกเหนือจากแรงสนับสนุนเชิงบวกดังกล่าวเช่นกัน

สำหรับด้านการลงทุนของตลาดหุ้นไทยนั้น เรายังมีมุมมองเชิงบวกสอดคล้องกับตลาดหุ้นโดยรวมของทั่วโลกเช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว นำโดยการใช้จ่ายภาครัฐจากการเริ่มประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และราคาสินค้าการเกษตร เช่น ข้าว และยางพารา ที่เริ่มฟื้นตัวได้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการส่งออกในปี 2558 ให้ฟื้นตัวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าด้วยแรงสนับสนุนผ่านมาตรการของภาครัฐและการเมืองที่คลี่คลายก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยวในปีนี้มีการฟื้นตัวได้ โดยจะเห็นได้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4/57 ที่ผ่านมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญ

นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่ฟื้นตัวแล้ว ผมยังมองว่าปัจจัยที่สำคัญที่ยังผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวต่อไปได้ ได้แก่ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินการ QE เพิ่มเติมของ ECB และ BOJ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังมีเม็ดเงินมหาศาลรอเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงถัดไป ขณะที่มูลค่าหุ้นไทยเองก็ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่ม TIP Region โดยปัจจุบันราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ไทยอยู่ที่ 15.29 เท่าเมื่อเทียบกับระดับ PE ของอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ 15.56 และ 18.87 เท่า ตามลำดับ ประกอบกับ Downside risk จากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติที่จำกัดมากขึ้นหลังจากที่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ทำให้ผมมองว่า SET Index ในปี 2558 นี้จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,700 จุด จากปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวข้างต้น

ด้วยปัจจัยด้าน QE ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ของตลาดมาในช่วงระยะหนึ่งและมีการดำเนินการตามคาดการณ์ ทำให้กองทุนเปิด วรรณ ยูโรเปี้ยน ฟันด์ 12 (ONE-EURO) สามารถจ่าย Auto Redemption (รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 58 ที่ผ่านมาอีกประมาณ 3% หลังจากที่จ่าย 3% แรกไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยครั้งนี้กองทุนฯ มีการจ่าย Auto Redemption ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.3135 บาทต่อหน่วย และกองทุนฯ มีเป้าหมายรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติครั้งถัดไปเมื่อ NAV แตะระดับ 10.90 บาทต่อหน่วย และเลิกกองทุนเมื่อ NAV แตะระดับ 11.25 บาทต่อหน่วย

ขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย สามารถจ่ายเงินปันผลจำนวน 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ไซรัส โมเมนตัม ฟันด์ (SYRUS-M) กองทุนเปิด สหธนาคารเอกปันผล 3 (ONE-UB3) กองทุนเปิด วรรณ อิควิตี้ (ONE-EQ) และกองทุนเปิด วรรณเฟล็กซิเบิล (ONE-FLEX) โดยจะปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 26, 27, 28 และ 30 ม.ค. 58 ตามลำดับ และจะจ่ายปันผลในอัตราหน่วยลงทุนละ 2.25 บาท, 1.83 บาท, 2.75 บาท และ 0.543 บาท ตามลำดับ ในวันที่ 19 ก.พ. 58

สำหรับกองทุนรวมประเภท ETF ทาง บลจ.วรรณจะมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) และกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ SET High Dividend อีทีเอฟ (1DIV) โดยจะปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 5 ก.พ. 58 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.314 บาท และ 0.233 บาท โดยมีกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 23 ก.พ. 58

ลงทุนหุ้น

“สำหรับทิศทางการเสนอขายกองทุนรวมในปีนี้ ยังคงมีแผนที่จะเสนอขายกองทุนรวมอีกหลายกองทุน เนื่องจากมองว่าปีนี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่การลงทุนในหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย อย่างเช่นญี่ปุ่น จีน และไทย รวมทั้งอาจมีโอกาสเสนอขายกองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันหลังจากที่มองว่า Downside risk ของราคาน้ำมันเริ่มจำกัด โดยการเสนอขายจะพิจารณาจังหวะการลงทุนอีกครั้ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมกับภาวะการลงทุนให้แก่นักลงทุนมากที่สุด”

สั่งจับตาทุนไหลเข้า-เก็งกำไรบาท

 

“พลเอกประยุทธ์  จันโอชา” สั่งหน่วยงานเศรษฐกิจจับตาค่าเงินบาทผันผวน หลังยุโรปอัดฉีดคิวอี ผวาเก็งกำไรกระทบเศรษฐกิจภาพรวม

ด้าน”ปรีดิยาธร”ชี้แบงก์ชาติรับมือได้ พาณิชย์ห่วงค่าเงินผันผวน แนะผู้ประกอบการประกันความเสี่ยง ขณะตลาดจับตาผลการประชุมเฟด-กนง.วันนี้

นายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์การเงินโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ผันผวนมากนัก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องตั้งแต่อีซีดี ดำเนินมาตรการคิวอี จากการคาดการณ์ว่าจะมีเงินไหลเข้าเอเชียมากขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดยังจับตามองการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 27-28 ม.ค.นี้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในวันนี้ (28 ม.ค.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวได้เรียกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และกระทรวงการคลัง มาหารือเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านโดยสอบถามว่าจะมีผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นหรือไม่ ซึ่งได้รับคำยืนยันจาก ธปท.ว่ายังไม่มีผลกระทบต่อไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินบาท

“เงินที่เข้ามาเป็นเงินของกองทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งยังไม่มีผลกระทบ แต่ในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ได้มีการเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว และให้มั่นใจว่า ธปท.ยังสามารถดูแลได้”

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในระหว่างการประชุมครม.นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้เม็ดเงินจากต่างประเทศมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาดูทิศทางเงินทุนไหลเข้าและการเก็งกำไรค่าเงินเพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม

“ปรีดิยาธร”ชี้ธปท.ดูแลได้ดี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยซึ่ง ธปท.ได้ดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าได้ดีมากเห็นได้จากค่าเงินบาทที่ไม่ได้ผันผวน แม้ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นไปสูงถึง 1,600 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธปท.ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีแล้วจึงไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นๆเพิ่มเติมอีก

“สัปดาห์ก่อนเงินไหลเข้ามา ซึ่งต้องไปดูว่าเงินเข้ามาเท่าไรแล้ว ค่าเงิน อยู่กับที่ได้ ถามแบงก์ชาติสิผมสั่ง นายกฯไม่ได้สั่ง ถามแบงก์ชาติ เงินทั้งอาทิตย์ ตลาดหุ้นขึ้นมาเกือบถึง 1600 จุด เพราะเงินไหลเข้าเยอะ แล้วทำไมค่าเงินบาทไม่แข็ง ไม่ต้องเพิ่มอะไรเข้าไปหรอก แบงก์ชาติทำได้เนี้ยบมาก”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

พอใจตัวเลขส่งออกปี 2557

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังกล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกของไทยหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี2557 นั้นพบว่า ตัวเลขส่งออกยังติดลบ 0.41 % ว่าการคำนวณตัวเลขส่งออกต้องนำสินค้า น้ำมัน ยางพารา ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณออก เพราะเวลาราคาน้ำมันลง ในการคิดมูลค่าจะดึงราคายางและดึงราคาทองคำ โลหะลง นอกจากนี้ไทยได้ส่งออกน้ำมันส่ง โดยนำเข้าน้ำมันดิบ และกลั่นน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซล โดยในประเทศเราใช้น้ำมันดีเซลจำนวนมาก ขณะที่ราคาส่งออกน้ำมันเบนซินนั้นลง ทำให้มีผลต่อการส่งออกน้ำมันเบนซิน

ดังนั้นหากไม่นับ น้ำมัน ยางพารา ทองคำ ที่มีปริมาณการส่งออกเท่าเดิม แต่ราคาการส่งออกลดลงนั้น เชื่อว่า ตัวเลขการส่งออกทั้งทั้งปีที่จะอยู่ 1.5% คือเป็นบวก ส่วนในปี2558 เชื่อว่า การคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกไทย 4% ยังมีความเป็นไปได้เนื่องจากมองว่าราคาน้ำมันไม่น่าลดลงมากกว่านี้แล้ว

“ตัวเลขการส่งออกถือว่าพอใจ เพราะว่าเศรษฐกิจทั้งโลกยังไม่ฟื้น เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกาก็เพิ่งฟื้น แต่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ญี่ปุ่นฟื้นและหยุดชะงักไป ส่วนจีนที่เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 8 % ก็ลดลงเหลือ 6% นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราก็โดนผลกระทบเหมือนกันหมด ดังนั้นการที่การส่งออกไทยยังยืนอยู่ได้ก็แสดงว่า กระทรวงพาณิชย์เก่งมากแล้ว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

พาณิชย์ชี้คิวอียุโรปดันบาทแข็ง

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) อัดฉีดเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์เข้ามาในงบดุลของอีซีบี แต่คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25 % เท่ากับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ( QE ) นี้ แสดงให้เห็นว่า ยูโรโซนกำลังเผชิญสภาวะเงินฝืด ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบลดลง และเป็นไปในแนวทางเดียวกับสหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น ได้เคยทำไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าเม็ดเงินจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย และไทย อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบการส่งออกสินค้าของไทยที่ได้ตกลงราคาไว้แล้วเพียงระยะสั้น

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นของโลก ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สงครามการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้ จนถึง ก.ย.2559 เป็นอย่างน้อย รวมใช้เงิน 1.1 ล้านล้านยูโรหรือ ราว 41.8 ล้านล้านบาท ในการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยูโรโซนและผลักดันเงินเฟ้อแต่ระยะเวลาสิ้นสุด ยังถูกเปิดไว้ เชื่อว่าคงคล้ายกับสหรัฐที่รอดูจนกว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเข้าที่” นางนันทวัลย์ กล่าว

แนะประกันความเสี่ยงค่าเงิน

นางนันทวัลย์ กล่าวว่ารัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเตรียมมาตรการรับมือกรณีคิวอีของอีซีบี ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์และปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นระยะๆ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรทำประกันความความเสี่ยงจากตลาดการเงินที่มีความผันผวนไปทั่วโลกในปีนี้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ค่าเงินยูโรอ่อน นับเป็นโอกาสเหมาะในการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรโดยเฉพาะจากเยอรมัน เพื่อก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้มีต้นทุนถูกลง สำหรับมาตรการด้านการคลังนั้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ทำพอสมควร โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เช่น การลดภาษีให้กับเอสเอ็มอี การลดภาษีวัตถุดิบ เครื่องจักร นาโนไฟแนนซ์ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา

จับตาประชุมกนง.วันนี้

นักค้าเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (27 ม.ค.) ปิดตลาดที่ 32.53-32.55 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากช่วงเช้า โดยระหว่างวันค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยปรับตัวแข็งค่าสุดที่ 32.53 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์

ขณะนี้นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันนี้ (28 ม.ค.) ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้คงยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจับตาดูการแถลงกนง. แต่มองแนวต้านไว้ที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์ และแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์

เกาะติดนโยบายแต่ละประเทศ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะฟื้นตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่คงไม่แรงมากนัก โดยตลาดยังมองว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนยังต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ

รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดด้วย ซึ่งธนาคารมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยปัจจัยที่สำคัญคือแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยมองว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนไปถึง 33.5 บาทต่อดอลลาร์

สถิติ SET Index ที่ท่านอาจไม่รู้

พัฒนาการของตลาดทุนไทย เริ่มต้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 โดยได้มีการจัดตั้งตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) ในสมัยนั้นมีมูลค่าซื้อขายที่น้อยมาก เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจ จนปี พ.ศ. 2511 มีมูลค่าการซื้อขายทั้งปีเป็นจำนวน 160 ล้านบาท แล้วค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2515 โดยมีมูลค่าซื้อขายในปีนั้นเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับมูลค่าซื้อขายในปัจจุบันซึ่งตกวันละประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาทต่อวัน เหมือนดูหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

เรามาดูสถิติย้อนหลังที่น่าสนใจว่า ดัชนี (SET Index) มีการขึ้นลงอย่างไรกันครับ

1.SET Index ที่เริ่มต้นจากฐานที่ 100 จุด เมื่อวันแรกเปิดตลาด ได้ไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด ในเดือนมกราคม 2537 นับว่าเป็นการขึ้นที่ดีมาก คือขึ้นไปถึง 1,689.16 จุดภายในเวลา 18 ปี 9 เดือนเท่านั้น คิดเป็นผลตอบแทนในการลงทุนแบบทบต้นประมาณ 16.50% นั่นหมายความว่า ถ้าท่านลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถสร้างผลกำไรตอบแทนจากการลงทุนได้เทียบเท่าการขึ้นมาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้รับผลตอบแทนดังกล่าว บวกกับอัตราเงินปันผลที่ได้รับจากการถือครองหุ้นอีก ซึ่งปกติ Dividend Yield เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4%

ดังนั้นผลตอบแทนรวมที่ท่านได้รับจะเท่ากับ 20% (แบบทบต้น) โดยประมาณ ยิ่งถ้าท่านสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนี ที่ผมใช้เป็น Benchmark ผลตอบแทนยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงดูดผู้มีเงินออมให้นำเงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งทางตรง (ลงทุนซื้อหุ้นเอง) และทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน)

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ Black Monday (ตุลาทมิฬ) ที่สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาที่มีการเทขายอย่างหนักหน่วง ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาตกระเนระนาด พลอยทำให้ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกต้องถูกแรงขายเทกระหน่ำ ราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเจ๊ง โดยเฉพาะ SET Index ของเราลงจาก 472.86 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 243.97 จุด คิดเป็น 48.41% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน และหลังจากที่ SET Index ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด เมื่อเดือนมกราคม 2537 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง หลังจากที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาตลอดช่วงเวลา 18 ปี 9 เดือน โดยลงไปถึง 204.59 จุด ในเดือนกันยายน 2541 คือลงไปถึง 1,584.57 จุด หรือ 88.60% ภายในเวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน

ลองคิดเล่น ๆ ดูสิครับ ว่าถ้าท่านอยู่ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร เงินลงทุนของท่าน สมมุติว่า 1 ล้านบาท จะเหลือเพียง 114,000 บาท มีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวหลายคนเลยทีเดียว สุภาษิตบทหนึ่งที่เขียนไว้เตือนใจนักลงทุนก็คือ “อย่าเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพราะว่ามันจะแตกง่าย ถ้าช่วงนั้นท่านนำทรัพย์สินทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้น

ลองเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจในการลงทุนครั้งต่อ ๆ ไปของท่าน เพื่อให้การลงทุนของท่านมีความระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้น และลงทุนไม่เกินตัว

สำหรับนักลงทุนมาร์จิ้น ถ้าเจอสภาพแบบนี้เงินลงทุนของท่านจาก 1 ล้านบาท ซื้อหุ้นไป 2 ล้านบาท (ใช้วงเงินมาร์จิ้นจากโบรกเกอร์อีก 1 ล้านบาท) หุ้นตก 48.41% เท่ากับขาดทุนไป 968,200 บาท เมื่อบวกกับดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิ้น ท่านแทบจะไม่เหลือเงินเลย นั่นหมายถึงการสูญเงินลงทุนทั้งจำนวน นั่นหมายถึงเงินออมที่อดออมมาจากน้ำพักน้ำแรงที่ท่านอุตสาหะ ต้องแทบจะหมดสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว

สาเหตุที่ SET Index ลงวินาศสันตะโร ขนาดนั้น เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นจากประเทศไทยแล้วแพร่ระบาดไปหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แม้กระทั่งเกาหลีเองก็โดนผลกระทบวิกฤตนี้ ค่าเงินบาทที่เคยผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ 27 บาทต่อดอลลาร์ก็อ่อนปวกเปียกจนไปถึงเกือบ 60 บาทต่อดอลลาร์

ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ควรจะมีการจัดสรรเงินลงทุนลงในสินทรัพย์หลายประเภท ซึ่งในหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” ผมได้เขียนถึงสินทรัพย์ในแต่ละประเภทที่ท่านควรจะลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะสมตามช่วงวัย ขนาดของเงินลงทุน อุปนิสัยส่วนตัว ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ฯลฯ ฉบับหน้าผมจะนำสถิติของ SET Index มาเล่าให้ฟังกันต่อครับ

สิ้นปี 2558 นี้หุ้นไทยจะไปถึงไหน

“สิ้นปี 2558 นี้หุ้นไทยจะไปถึงไหน”

เป็นคำถามที่ผู้คนในวงการกองทุนและหลักทรัพย์มักโดนถามเรื่อยๆ และเป็นคำถามที่เราไม่เคยตอบได้เลยว่าดัชนีจะเป็นเท่าไร เนื่องจากไม่รู้จริงๆ

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ในระยะสั้นดัชนีไม่ได้คำนวณได้แบบเป็นบัญญัติไตรยางค์กับค่า PE เนื่องจาก PE ไม่ได้รวมอารมณ์ของผู้เล่นในตลาด ซึ่งในช่วงสั้นๆ การซื้อขายมักขึ้นกับอารมณ์มากกว่าเหตุผล

แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร ยังพอให้มุมมองได้ แต่ก็เคยบอกไปแล้วว่าเป็นปีที่ไม่ง่าย ไม่สบาย ไม่หมู เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายตัวที่ประกอบเป็น GDP นั้นเกือบทุกตัวเครื่องยังไม่ร้อน

GDP = C+I+G+(X-M)

C คือ Consumption หรือการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือน

ครัวเรือนมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เร่งสูงขึ้นมาก จากกว่า 50% ในปี 2552 มาเป็นเกิน 80% ในปัจจุบัน ทำให้การจะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคตึงมือมากขึ้น และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ซึ่งใครๆ ก็บอกว่าเป็นเพราะหนี้จากนโยบายรถยนต์คันแรก แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะธนาคารต่างๆ หลายแห่งใช้นโยบายการตลาดที่กระตุ้นให้ภาคครัวเรือนมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลสูงขึ้น สรุปรวมๆ คือปีนี้หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแต่น่าจะพีกในปีนี้ และปีหน้า 2559 น่าจะเริ่มทรงตัวและหวังว่าจะผ่อนคลายลง (เพราะหลายคนอาจจะเข็ดแล้ว) นอกจากนี้ กำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตรก็ถูกบั่นทอนด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำด้วย

I คือ Investment หรือการลงทุนของภาคเอกชน

การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตยังคงมีไม่มาก เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ และรอให้เศรษฐกิจในประเทศกับการส่งออกฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

G คือ Government Spending ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการรวมถึงเงินเดือนข้าราชการ การซื้ออาวุธทางทหาร และค่าใช้จ่ายลงทุนของรัฐ

แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในเดือน พ.ย. 2557 ชะลอลงหลังมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประจำในเดือนก่อนไปแล้ว ขณะที่การใช้จ่ายงบลงทุนยังมีต่อเนื่อง แต่โดยรวมแล้วการเบิกจ่ายทำได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับเป้าหมาย ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรียังบ่นในระหว่างแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนเรื่องความล่าช้าของระบบราชการที่ติดขัดซ้ำซ้อนมากมาย จนทำให้งานหลายอย่างมีปัญหาล่าช้าในการเบิกจ่ายงบ ทั้งนี้ เราส่วนใหญ่คาดหวังกันมากเหลือเกินว่าปี 2559 ฟ้าเศรษฐกิจจะเป็นสีทองผ่องอำไพ เพราะรัฐบาลจะทำโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานใหญ่ๆ ให้เกิดขึ้น แต่มันไม่เกิดเร็วหรอก อย่างเร่งได้เต็มที่ก็ต้องรอไปครึ่งหลังของปี 2558

X คือการส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ

ณ วันนี้ยังคงฟื้นตัวแบบหอยทากคืบคลาน เพราะมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของอุปสงค์จีน ญี่ปุ่น และยุโรป นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดก็ปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้า 11 เดือนแรกของปี 2557 หดตัวลงเล็กน้อยจากระยะเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้ อย่าไปคาดหวังว่าในปี 2558 การส่งออกจะดีขึ้นมากมาย เพราะเรายังมีอุปสรรคจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศอื่นๆ และเศรษฐกิจจีน ยุโรป ก็น่าจะชะลอลงด้วย

M คือการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ

ปัจจุบันมีมูลค่าลดลงตามการนำเข้าน้ำมันดิบ และการชะลอปริมาณการนำเข้าของโรงกลั่นน้ำมันเนื่องจากเขามองว่าราคาน้ำมันโลกอาจลดต่ำลงอีก

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในปีนี้ของเราจึงยังไม่ร้อน แค่กำลังวอร์มอัพเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะประหลาดใจ เพราะมันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว

เราลงทุนในหุ้น ไม่ได้ลงทุนในดัชนี เราลงทุนในกิจการที่เราวิเคราะห์แล้วจนเชื่อมั่นว่าจะมีกำไรที่ดี แม้จะต้องผ่านมรสุมบ้าง แต่เราอดทนได้ เพราะเราลงทุนระยะยาวหลายๆ ปีเพื่อเก็บเกี่ยวผลดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้ลงทุนเพื่อหากำไรระยะสั้นๆ เราจึงไม่กังวลกับเศรษฐกิจหรือดัชนี

หุ้นไทยตั้งลำทะยาน หลังนักลงทุนทยอยเข้าซื้อ

หุ้นไทยตั้งลำทะยาน หลังนักลงทุนทยอยเข้าซื้อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ดันดัชนีฟื้น ฟากโบรกฯแนะลงทุนหุ้นเด่นกลุ่มธนาคาร KTB- KBANK

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันที่ 13 ม.ค. ดัชนีปรับตัวลดลงในช่วงเช้า เนื่องจากความกดดันในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จนส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายดัชนีมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากเริ่มมีแรงเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่กำลังมีการทยอยประกาศผลประกอบการ จึงทำให้ดัชนีแกว่งตัวขึ้นมาในแดนบวกได้ในที่สุด

ทั้งนี้ ประเมินว่าวันที่ 14 ม.ค. ดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบแนวรับ 1,525-1,520 จุด แนวต้านที่ 1,546-1,550 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือทิศทางราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากต้องยอมรับว่าหุ้นกลุ่มพลังงานมีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นเป็นปัจจัยดังกล่าวจึงที่มีอิทธิพลต่อการลงทุน ทั้งนี้หุ้นกลุ่มที่แนะนำ ได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากโครงการรัฐ ได้แก่ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (UNIQ) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)