ลงทุนอสังหา ฯ แบบบัฟเฟตต์

buffett setvi

สำหรับ Value Investor ที่เน้นการลงทุนในหุ้นแล้ว การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นที่ดินเป็นสิ่งที่ไม่ใคร่พึงประสงค์นัก ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองเกี่ยวกับการลงทุนในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ก็แย่มาก เงินลงทุนย้อนหลังไปกว่า 10 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังติดลบและว่าที่จริงไม่สามารถที่จะ “Cut Loss” หรือขายตัดขาดทุนได้เพราะที่ดินนั้น “หาคนซื้อไม่ได้” ดังนั้น เป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้วที่ผมไม่เคยซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกเลย และก็คิดว่าถ้าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ผมก็จะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น จะไม่ซื้อเพื่อการลงทุน เพราะการลงทุนในอสังหา ฯ นั้น ผมไม่มีความชำนาญและผมก็รู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วมันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น และจากการศึกษาชีวิตของนักลงทุนเอกทั้งหลายของโลกอย่างเช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น ผมก็แทบไม่เคยได้ยินเลยว่าเขาลงทุนในอสังหา ฯ ยกเว้นการซื้อไร่ที่บ้านเกิดในช่วงวัยรุ่น บัฟเฟตต์เองนั้นคงไม่สนใจที่จะเอาเงินไปจมในสิ่งปลูกสร้างมากมายนัก ดังนั้น แม้แต่บ้านของเขาที่อาศัยอยู่นั้นก็เป็นบ้านแบบชนชั้นกลางที่เขาซื้อและอาศัยอยู่มาหลายสิบปี เงินส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดถูกนำไปลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงและทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกระดับต้น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ บัฟเฟตต์ได้เปิดเผยการลงทุนในอสังหา ฯ ของเขา มันเป็นการลงทุนเล็ก ๆ ที่เขานำขึ้นมาพูดเพื่อที่จะเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนในหุ้นแบบ VI

บัฟเฟตต์พูดในหนังสือรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ว่าเขาได้กลับไปเยี่ยมเยือนฟาร์มขนาด 400 เอเคอร์ น่าจะประมาณ 1,000ไร่) ที่เมืองเทคามาร์ของตนเอง ซึ่งนี่เป็นการกลับไปดูเพียงครั้งที่สองหลังจากที่เขาซื้อมาเมื่อปี 1986 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้วในราคา 280,000 เหรียญ เขาเล่าว่าในช่วงปี 1973 ถึง 1981 นั้นราคาพืชผลในย่านมิดเวสต์คือแถวเนบราสกาบ้านเกิดของเขามีราคาพุ่งขึ้นสูงมากเป็น “ฟองสบู่” สาเหตุเนื่องจากคนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น ครั้นแล้วฟองสบู่ก็แตกทำให้ราคาที่ดินทำไร่ตกลงมาถึง 50% หรือมากกว่านั้นส่งผลให้ชาวไร่ที่กู้เงินมาซื้อที่และธนาคารท้องถิ่นที่ปล่อยกู้ล้มละลายเป็นจำนวนมากคิดเป็นจำนวนถึง 5 เท่าของการล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปี 1986 บัฟเฟตต์ได้เข้าไปซื้อฟาร์มจากสถาบันประกันเงินฝากของรัฐที่ยึดที่ดินจากการล้มละลายมาขายในราคา 280,000 เหรียญ ซึ่งต่ำกว่าราคาที่แบงค์ปล่อยกู้ไปพอสมควรในหลายปีที่ผ่านมา บัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำไร่เลย แต่เขามีลูกชายที่รักการทำไร่และรู้ว่าที่แต่ละเอเคอร์จะสามารถปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้เท่าไรและต้องใช้ต้นทุนเท่าไรในการดำเนินการ จากนั้นเขาก็คำนวณได้ว่ากำไรที่ได้จะเป็นประมาณ 10% ต่อปีในช่วงนั้น นอกจากนั้น บัฟเฟตต์ยังคาดว่าประสิทธิภาพของการเพาะปลูกในอนาคตจะต้องดีขึ้นและราคาของพืชผลก็น่าจะสูงขึ้นซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแม้ว่าระหว่างทางอาจจะมีบ้างที่ราคาพืชผลอาจจะผันผวนบ้าง เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้เป็นเวลา 28 ปี กำไรของการทำฟาร์มเพิ่มขึ้น 3 เท่า และราคาของที่ดินเพิ่มขึ้น 5 เท่าหรือมากกว่านั้น บัฟเฟตต์เองก็ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำฟาร์ม

การลงทุนในอสังหา ฯ เรื่องที่สองของบัฟเฟตต์เกิดขึ้นในปี 1993 ขณะที่บัฟเฟตต์เป็น CEO ของซาโลมอนบราเดอร์ที่เขาเข้าไปแก้ปัญหาของบริษัทที่เมืองนิวยอร์ค เขาได้รับทราบว่ามีอาคารพาณิชย์ที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์คประกาศขายโดยกองทุนแก้ปัญหาหนี้เสียที่ได้ยึดที่จากการล้มละลายเนื่องจาก “ฟองสบู่แตก” และนี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่าการวิเคราะห์การลงทุนเป็นเรื่องง่ายเช่นเดียวกับเรื่องของฟาร์มที่เนบราสก้า นั่นก็คือ ราคาที่เขาซื้อนั้นจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 10% ต่อปีจากการปล่อยเช่าอาคารให้กับผู้เช่าที่เป็นร้านค้าขายสินค้าให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ ในช่วงที่เขาซื้อนั้น อาคารถูกบริหารโดยกองทุนซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทำให้มีหลายห้องว่างอยู่โดยไม่มีคนเช่า เขาคิดว่าเมื่อเขาซื้อแล้วก็สามารถนำมาปล่อยเช่าเพิ่มเติมได้ นอกจากนั้น พื้นที่เช่าประมาณ 20% เป็นการเช่าระยะยาวในราคาตารางฟุตละ 5 เหรียญในขณะที่ราคาเช่าปกติของรายอื่นเท่ากับ 70 เหรียญ ดังนั้น ในเวลาอีก 9 ปีที่สัญญาเช่าจะหมดอายุ เขาก็จะได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีกมาก บัฟเฟตต์ตัดสินใจซื้ออาคารร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารอาคารพาณิชย์

หลังจากสัญญาเช่าระยะยาวหมดอายุแล้ว ผลตอบแทนของการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเป็น 35% ต่อปีคิดจากเงินลงทุนครั้งแรก ยิ่งกว่านั้น ในระหว่างทาง บัฟเฟตต์ได้ไปกู้เงิน “รีไฟแน้นซ์” หรือกู้หนี้ใหม่มาใช้คืนหนี้เก่าที่เขาไปซื้ออาคารอีก 2 ครั้งในปี 1996 และ 1999 ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเขาได้เงินคืนคิดเป็น 150% ของเงินที่เขาจ่ายไปเพื่อซื้ออาคาร นั่นเท่ากับว่าเขาได้กำไร 50% หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 6 ปีแถมได้ตึกมาฟรี ๆ ประเด็นที่น่าทึ่งก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ ยังไม่เคยไปดูอาคารหลังนี้เลย

บัฟเฟตต์บอกต่อว่ารายได้ทั้งจากฟาร์มและอาคารพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปเป็นสิบ ๆ ปี แม้ว่ากำไรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายแต่การลงทุนทั้งสองจะมั่นคงและน่าพอใจสำหรับการลงทุนตลอดชีวิตของเขาและต่อไปถึงลูกและหลาน เขาเล่าเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกถึงพื้นฐานของการลงทุนที่ว่า คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในการลงทุน แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณจะต้องตระหนักในข้อจำกัดของคุณและจะต้องปฎิบัติตามแนวทางที่แน่นอนว่าจะใช้ได้ผล จงทำทุกอย่างให้ง่ายและอย่าพยายามเล็งผลเลิศ เมื่อถูกเสนอว่าจะได้กำไรแบบง่าย ๆ และรวดเร็วต้องรีบปฎิเสธทันที เน้นในเรื่องของผลิตภาพในอนาคตของทรัพย์สินที่คุณกำลังดูอยู่ ถ้าคุณไม่มั่นใจกับการประเมินผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินของทรัพย์สินในอนาคตก็อย่าไปซื้อ ไม่มีใครสามารถประเมินการลงทุนได้ทุกตัว คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่คุณต้องเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

ถ้าคุณเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของราคาของอสังหา ฯ ที่คุณกำลังคิดที่จะซื้อ คุณก็กำลังเก็งกำไร ไม่มีอะไรผิดหรือไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามบัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะเก็งกำไรและก็ค่อนข้างไม่เชื่อคนที่อ้างว่าสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ในกรณีอสังหาฯเล็ก ๆ สองแห่งของเขา เขาคิดแต่เพียงว่ามันจะผลิตหรือให้บริการอะไรได้ เขาไม่สนใจความผันผวนของราคารายวัน เกม ๆ นี้คนที่จะชนะก็คือคนที่เน้นไปที่ “สนาม” ไม่ใช่คนที่เน้นไปที่ “กระดานคะแนน” ความหมายของเขาก็คือ อย่าไปสนใจราคาอสังหาฯ แต่ให้สนใจว่าตัวอสังหาฯ นั้นทำเงินได้แค่ไหนและอย่างไร เช่นเดียวกัน การคิดถึงและพยากรณ์เรื่องภาวะเศรษฐกิจหรือภาพของตลาดก็เป็นเรื่องที่เสียเวลาและอาจจะอันตราย เพราะว่ามันทำให้เรามองไม่เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ กับการลงทุนของเรา เขาบอกว่าเมื่อเขาซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งแล้ว อะไรที่เกิดขึ้นในปีต่อมาคือปี 1987 และ 1994 ไม่มีความสำคัญกับความสำเร็จของการลงทุนของเขาเลยและเขาก็จำอะไรไม่ได้ เขารู้แต่เพียงว่า ข้าวโพดก็ยังคงถูกปลูกและเติบโตขึ้นที่เนบราสก้า และนักศึกษาก็ยังมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับการลงทุนในอสังหาฯตัวเล็ก ๆ สองตัวกับการลงทุนในหุ้นของบัฟเฟตต์ก็คือ หุ้นนั้นมีราคาให้เราเห็นนาทีต่อนาทีในขณะที่อสังหาฯ ไม่มี แต่การวิเคราะห์การลงทุนนั้นก็เหมือนกัน ก่อนที่จะจบบทความนี้ผมเองก็มีข้อสังเกตก็คือ การซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งของบัฟเฟตต์นั้น เป็นการซื้อจากการยึดของสถาบันการเงินในทรัพย์สินที่ราคาขึ้นไปเป็นฟองสบู่และตกลงมาอย่างหนักเมื่อฟองสบู่แตก ซึ่งทำให้ราคาน่าจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก และนี่ก็เป็นโอกาสของบัฟเฟตต์ที่จะซื้อทรัพย์สินที่มีคุณค่ายอดเยี่ยมในราคาที่ถูกสุดยอด ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ ก็ยังสามารถได้ผลตอบแทนที่งดงามจากการลงทุนได้โดยใช้หลักการแบบ VI

 

Cr. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร

เติบโตอย่างยั่งยืน

หุ้น-growth-chart

ในวงการตลาดหุ้นเวลาพูดถึงความสำเร็จของตลาดหุ้นมักจะพูดถึงเรื่อง มูลค่าตลาด
Market Capitalization) ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน
            ยิ่งมีขนาดใหญ่มาก ก็ยิ่งถือว่าเก่ง ประสบความสำเร็จสูง
            แต่ถ้ามีขนาดเล็กก็ดูจะเดือดร้อนต้องออกแรงทำให้ใหญ่ขึ้น
            มาตรการที่จะทำให้ใหญ่ขึ้น ดูเหมือนจะเน้นอยู่ 2 ยุทธศาสตร์ คือ
 
          1.หาบริษัทใหม่ๆมาจดทะเบียนให้มากขึ้น
2. หาทางไปชักชวนนักลงทุนต่างด้าว ให้มาลงทุนมากขึ้น

            2 มาตรการ 2 ยุทธศาสตร์นี้ ถือว่าสำคัญและจำเป็น
         เพราะถ้ามีบริษัทเข้ามามากขึ้น ก็หมายถึงปริมาณหุ้นในตลาดมีมากขึ้น

            ขณะเดียวกัน ถ้ามีคนต่างประเทศขนเงินเข้ามาซื้อหุ้น
ย่อมมีส่วนทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปได้

           ทั้งจำนวนก็มีมากขึ้น ทั้งราคาก็ขยับขึ้น 
Market Cap ก็ย่อมจะใหญ่ขึ้น
            เพราะ Market Cap จริงๆ แล้วคือ ผลคูณของปริมาณหุ้นกับ ราคาหุ้นทั้งตลาด
แล้วจะมารวมกัน
            ผมมีข้อเสนอเป็นมาตรการที่ 3 ที่จะทำให้ 
Market Cap ของตลาดหุ้น
เติบโตอย่างมีคุณภาพ นอกจากจะเติบโตแบบปริมาณ ตาม 2 มาตรการแรก
 
            มาตรการที่ 3 คือ ให้มีความสนใจ กับคุณภาพการสร้างมูลค่า
Quality of Value Creation)
ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว
            ตอนนี้ เรามีบริษัทในตลาดหุ้นกว่า 500 บริษัท
 
ถ้า CEO แต่ละบริษัท สามารถทำให้กำไรสุทธิของตน โตขึ้น 10%
Market Cap ก็น่าจะโตขึ้น 10% ด้วยเช่นกัน
            เป็นการโตที่ยังไม่ต้องพึ่งจากพลังภายนอก เช่น การนำบริษัทใหม่ๆมาจดทะเบียน
หรือการดึงเงินจากต่างประเทศเข้ามา
 
เพราะต้องถือว่า การเติบโตแบบนี้ เป็นการเติบโตในเชิงปริมาณ
            ตรงข้ามกับการเติบโตในเชิงคุณภาพ เป็นการเติบโตจากภายใน
คือ จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดเรียบร้อยแล้ว
            
ถามว่า เป็นไปได้ไหม?
            ขอตอบว่า เป็นไปได้อย่างยิ่ง เห็นได้ชัดๆ จากบริษัทพลังงานใหญ่แห่งหนึ่ง
ซึ่งเข้ามาจดทะเบียนในปี 25….
            
บริษัทมีทุนชำระแล้ว 28,184,770,250 บาท
ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท
เท่ากับมีหุ้นกว่า 2,818 ล้านหุ้น
            
ตอนหุ้น IPO บริษัทนี้เสนอให้คนจอง เพียงราคา 35 บาท
ผลคือมีคนจองจนล้น ภายในเวลาพริบตาเดียว
            
Market Cap ของบริษัทนี้ ในตอน IPO จึงเท่ากับ 2,818 x 35 = 98,630 ล้านบาท
 
            พอวันแรกเข้ามาซื้อขาย ราคาหุ้นก็ขึ้นไปเกินราคาจองนิดหน่อย แล้วก็ลงมาตลอด
เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน
            
ใครที่จองไม่ได้ มีโอกาสซื้อของถูกกว่าราคาจอง ได้อย่างสะดวกโยธิน
อาจจะเป็นเพราะตอนนั้น คนยังมองไม่ออก ถึงศักยภาพการสร้างมูลค่า
ของ CEO และผู้บริหาร ก็เป็นได้
 
            หลังจากนั้น พอผลประกอบการออกมาดี ไตรมาสแล้ว ไตรมาสเล่า นักลงทุนทั้งไทย ทั้งเทศ
ทั้งใหญ่ ทั้งเล็ก ก็หันมาให้ความสนใจ ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แม้บางครั้งจะมีการปรับตัวลงมาบ้าง ก็เป็นช่วงสั้นๆ
แต่แนวโน้มระยะยาว ดูสดใสยิ่งนัก
            หุ้นของบริษัทเคยมีราคาสูงถึง 440 บาทต่อหุ้น
Market Cap  ขึ้นมาเท่ากับ 2,818 ล้านหุ้น x 440
หรือ 1,239,920 ล้านบาท คิดเป็น 12.6 เท่าของตอน 
IPO ทั้งๆที่บริษัทไม่ได้มีการเพิ่มทุน แม้แต่หุ้นเดียว
 
            จริงครับ บริษัทอาจจะโชคดี ที่อยู่ในหมวดพลังงาน
เลยได้อานิสงฆ์ จากการที่ราคาน้ำมันดิบ ขึ้นมาอย่างบ้าเลือด
ถึงบาเรลล์ละกว่า $126 หรือในอนาคตอาจจะสูงกว่านี้ก็ได้
ไม่มีใครรู้
            ผมว่า ราคาน้ำมันขึ้น ก็เป็นเพียงปัจัยสำคัญ
ปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยให้รายได้ของบริษัท เติบโตเพิ่มขึ้น
            แต่ถ้าทีมผู้บริหาร ซึ่งมี CEOคนเก่งเป็นแม่ทัพ
ไม่ได้บริหารงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อสร้างมูลค่า ให้แก่ผู้ถือหุ้น
บริษัทอาจจะไม่ได้มาไกล ขนาดนี้ ก็เป็นได้
 
            เห็นไหมครับ บริษัทนี้ช่วยเพิ่ม Market Cap ได้
โดยไม่ต้องมีการเพิ่มจำนวนหุ้น แต่ก็เป็นได้ว่า
มีนักลงทุนต่างชาติ เช้ามาซื้อช่วยดันให้ราคาวิ่งขึ้นด้วย
            อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า ต่างชาติเป็นนักลงทุนที่มีสมองเหมือนกัน
ไม่ใช่ลงทุนตามกระแส และที่เขาเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทนี้
เพราะเชื่อในพลังการสร้างมูลค่า ของทีมผู้บริหารเป็นหลัก
 
            โดยสรุปคือ ถ้าเราทำให้ CEO ทั้ง 500 กว่าบริษัท
มีความตั้งใจมุ่งมั่น ที่จะสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น อย่างมีคุณภาพ
 
            ตลาดหุ้นของไทย จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ผู้ลงทุนจะได้นอนหลับฝันดีครับ