ออสเตรเลีย

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันลาท่านผู้อ่านเพื่อไปสังเกตการณ์ฤดูร้อนในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ คือประเทศออสเตรเลีย

เวลาไปออสเตรเลีย มักจะได้ยินสถิติต่างๆว่าใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้บ้างล่ะ ทันสมัยที่สุด หรือสูงที่สุดในซีกโลกใต้ แน่นอนค่ะ เพราะเป็นประเทศเดียวที่ครอบครองทวีปออสเตรเลียทั้งทวีป แม้ว่าจะเป็นทวีปที่เล็กที่สุดก็ตาม

ออสเตรเลียมีพื้นที่ 7.74 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 15 เท่าของพื้นที่ประเทศไทย นับความใหญ่ของพื้นที่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีชายฝั่งยาวถึง 25,760 กิโลเมตร

เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ภูมิอากาศจึงแตกต่างกันไป ทางตอนเหนือซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จะมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน มีพืชพันธุ์ธัญญาหารคล้ายๆกับบ้านเรา ในขณะพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของเกาะจะมีภูมิอากาศแบบอบอุ่น

แต่เดิม เมื่อประมาณ 40,000 ปี ก่อนที่ชาวยุโรปจะค้นพบทวีปออสเตรเลีย ผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียกลุ่มแรก มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หากถอยหลังไปดูการจำลองพื้นที่ของโลกโบราณจะพบว่าทวีปออสเตรเลียเคยเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย แล้วภายหลังแตกหลุดออกไป)

ทวีปออสเตรเลียในยุคใหม่ ถูกค้นพบโดย กัปตันเจมส์ คุก เมื่อปี 1770 และได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนกระทั่ง 1 มกราคม 1901 จึงได้รับเอกราช แต่ยังคงเป็นประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เรียกว่า Commonwealth of Australia

ออสเตรเลียแบ่งเขตการปกครองเป็น 6 รัฐ และ 2 อาณาเขต มีประชากรน้อยกว่าที่ใครๆมักจะคิด เพียง 22.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ คือ 89.2% อาศัยอยู่ในเมือง

เมืองหลวงคือ แคนเบอร์รา เมืองใหญ่ที่สุดคือซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองธุรกิจ มีประชากร 4.5 ล้านคน รองลงมาคือ เมลเบอร์น มีประชากรประมาณ 4 ล้านคน และ บริสเบน มีประชากร 2.04 ล้านคน

ประชากรของออสเตรเลียส่วนใหญ่คือประมาณ 92% เป็นคนผิวขาว ถัดมาเป็นเอเชีย 7% และเชื้อชาติอะบอริจินซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ก่อนการค้นพบของกัปตันคุก รวมกับเชื้อชาติอื่นๆ ประมาณ 1%

และแน่นอนว่า ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ โดยมีสัดส่วนของโปรแตสแตนท์และคาทอลิกใกล้ๆกันค่ะ รวมกันประมาณ 50% ถัดมาเป็นกลุ่มไม่นับถือศาสนาใด 22%

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดการณ์ขนาดของเศรษฐกิจวัดโดย GDP ในปี 2014 ประมาณ 1.488 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 48.5 ล้านล้านบาท โดยมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 43,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาทต่อปี

เวลาพูดถึงออสเตรเลีย คนมักจะนึกถึงแร่ธาตุ ทองคำ และน้ำมัน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ออสเตรเลียมีอยู่มากมาย และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ ออสเตรเลียขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และอาหารรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกถ่านหินถึง 29%ของการส่งออกทั่วโลก

นอกจากถ่านหิน ทองคำ และน้ำมันแล้ว ออสเตรเลียยังมีแร่ธาตุอื่นมากมาย ทั้งบ๊อกไซต์ เหล็ก ทองแดง ดีบุก เงิน ยูเรเนียม นิเกิล ทังสเตน ตะกั่ว สังกะสี เพชร และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ

1421639531

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเลื่องชื่อเกี่ยวกับปศุสัตว์ เช่น วัว และแกะ และเป็นประเทศที่มีสัตว์แปลกๆมากมาย เช่น จิงโจ้ วิลโลบี หมีโคอาลา เนื่องจากเป็นทวีปที่แยกออกมาห่างไกลจากทวีปอื่น สัตว์ดึกดำบรรพ์จึงสามารถคงอยู่ได้โดยไม่สูญพันธ์ุ

ทั้งนี้ การนำเข้าพืชพันธุ์ต่างๆเข้มงวดมาก ประเทศเกาะส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนี้ เพราะหากไม่เข้มงวด อาจจมีการนำเอาเชื้อโรคใหม่ๆที่เป็นอันตรายต่อพืชพันธุ์และปศุสัตว์มาแพร่กระจายได้ และจะแก้ปัญหายาก ดังนั้นผู้เดินทางเข้าประเทศจะถูกห้ามนำอาหารสด อาหารที่มีส่วนผสมของนม ติดตัวเข้าไปโดยเด็ดขาด

ธงชาติทั่วโลก6

กฎหมายของเขาเข้มงวด และมีการบังคับใช้ได้ดีมาก การฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ

วันชาติของออสเตรเลีย ไม่ได้เรียกว่า National Day เหมือนวันชาติของประเทศอื่นๆ แต่เรียกว่า Australia Day คือเป็นวันที่ระลึกถึงผู้อพยพจากอังกฤษมาตั้งถิ่นฐานในทวีปนี้ชุดแรก ซึ่งเดินทางมาถึง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 1788

เนื่องจากออสเตรเลียอยู่ในซีกโลกใต้ ฤดูกาลจะสลับกับซีกโลกเหนือที่เราคุ้นเคยกันอยู่ค่ะ

ดิฉันไปเยือนออสเตรเลียในช่วงที่มีการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมแรกของปี คือ ออสเตรเลียนโอเพ่น ซึ่งจัดที่เมืองเมลเบอร์น ในกลางฤดูร้อน คือสัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนมกราคม ซึ่งจะคร่อมช่วงของ Australian Day ทำให้ได้มีโอกาสดูพาเหรด ดูทีวีเห็นกิจกรรมต่างๆ การมอบรางวัล “บุคคลแห่งปี”ให้กับหญิงและชาย ท่านละหนึ่งรางวัล

ในปีนี้ได้ไปดูการจุดพลุฉลอง ที่เขาแจ้งว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองเมลเบอร์น เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 100 ปีของ ANZAC ทางการได้ทำเหรียญที่ระลึก 100 ปีออกมาจำหน่ายด้วย

ดิฉันสงสัยว่า ANZAC คืออะไร ไปค้นหาจึงพบว่า เป็นการครบรอบ 100 ปีของการที่ทหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยกพลขึ้นบกที่ตุรกี ในคราวที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1915

ออสเตรเลียยังมีกลิ่นไอของประเทศเกิดใหม่อยู่มาก มีโอกาสในการทำงาน สร้างฐานะ มีการก่อสร้างเกิดขึ้นตลอดเวลา และมีผู้คนอพยพไปอยู่เรื่อยๆ คนขับรถแท้กซี่เล่าว่า เขามาจากอินเดียเมื่ออายุ 17 ปี ตอนนี้อายุ 24 ปี สามารถมีแท้กซี่ให้เช่าและขับเองถึง 3 คัน เขามาเที่ยวเมืองไทยบ่อยๆด้วยค่ะ

ออสเตรเลียใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษา 5.6%ของ GDP (ดิฉันค้นดูแล้วไทยเราใช้ถึง 5.8% ของ GDP ค่ะ แต่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่า) และเป็นประเทศที่คนเอเชียอยากไปเรียนต่อ เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักที่อยู่ใกล้ทวีปเอเชียที่สุด และมีคนเอเชียโดยเฉพาะชาวจีน อยู่มาก ประมาณว่ามีคนใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาหลัก 1.2% และใช้จีนกวางตุ้งเป็นภาษาหลัก 1.2%

ร้านอาหารจีนในออสเตรเลียส่วนใหญ่อร่อยค่ะ เพราะมีวัตถุดิบอาหารที่สด ในเมลเบอร์นมีไชน่าทาวน์หรือย่านชุมชนชาวจีนที่ค่อนข้างใหญ่ คือประมาณ 3 ช่วงตึก ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกค่ะ

ค่าเงินออสเตรเลีย ถือเป็นค่าเงินที่ผันผวนมากสกุลหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศอิงกับโภคภัณฑ์ ในยามที่ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวสูง ค่าเงินก็จะแข็ง เช่นในปี 2008 ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ราคาเหล็กและน้ำมัน พุ่งขึ้นไปสูงมาก ในเดือน กรกฎาคม 2008 หนึ่งเหรียญออสเตรเลีย แลกได้ 0.95 เหรียญสหรัฐ หลังเกิดวิกฤติเพียงหนึ่งเดือน คือในเดือนตุลาคม 2008 ค่าเงินอ่อนตัวไปถึง 0.60 เหรียญสหรัฐ และแข็งขึ้นมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 ที่ 1.1 เหรียญสหรัฐ แต่ในปัจจุบันเมื่อราคาน้ำมันตกฮวบฮาบ ในวันที่ 30 มกราคม 2015 ล่าสุด 1 เหรียญออสเตรเลีย แลกได้เพียง 0.7754 เหรียญสหรัฐเท่านั้นค่ะ

ได้รู้จักกับออสเตรเลียพอหอมปากหอมคอนะคะ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

สิงคโปร์-จีนรับมือ เสี่ยงสงครามค่าเงิน

เป็นที่รู้กันว่า ภายใต้สถานการณ์ที่สงครามค่าเงิน ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำนโยบาย QE

(Quantitative Easing) ของ 4 ธนาคารกลางหลักของโลก โดยล่าสุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB (EuropeanCentral Bank) ประกาศอัดฉีดเงินเดือนละ 60,000 ล้านยูโร หรือ 70,000 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ประสบทั้งปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ และปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เป็นผลมาจากภาวะเงินฝืด รวมถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินภาคธุรกิจที่มีขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และลูกหนี้ของระบบธนาคาร เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง 19 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.-ก.ย. 2559 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษ แม้ได้หยุดทำ QE ใหม่ๆ แต่ยังพบว่า QE ก่อนหน้านี้ยังคงตกค้างอยู่ในระบบการเงินโลกรวมกันเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์

กรณีวิกฤติในยุโรปนับเป็นเม็ดเงินก้อนมหึมาที่ ECB ต้องใช้ในการดำเนินการ QE รอบนี้ถึง 1.14 ล้านล้านยูโร หรือราว 1.4ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของยูโรโซน โดยตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ต่อปี ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ (Bank of Japan) ที่กำลังทำ QE ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนด 2 ปี ตามเป้าหมายในเดือนก.พ.นี้ พร้อมกับการประกาศอัดฉีดเงินเพิ่มในปริมาณเงินอีกเดือนละ 20 ล้านล้านเยน โดยที่ BOJ ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นทั้ง 100% หวังให้รัฐบาลนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันหลุดจากภาวะเงินฝืด พร้อมตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% เช่นกัน รวมถึงการแจกจ่ายคูปองแลกเป็นเงินช่วยเหลือให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นไปขยายการค้าและการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการกอบกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอีกด้านหนึ่ง

สงครามค่าเงินที่เกิดขึ้นนี้ ด้านหนึ่งเกิดมาจากวิกฤติรูเบิลที่ร่วงลงหนักถึง 60% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เพราะมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐและนาโต้ที่มีต่อรัสเซีย ประกอบกับการตกต่ำของราคาน้ำมันที่ดิ่งลงกว่า 50% กับอีกด้านหนึ่งเกิดวิกฤติแข็งค่าของเงินฟรังก์สวิสทันที 30% หลังจากที่ ECB ประกาศทำ QE เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินยูโรดิ่งลงอย่างหนักจากเงินยูโรที่เคยเทียบเท่า 1.38 ดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค.2557 มาอยู่ที่ 1.11-1.13ดอลลาร์ เป็นการปรับตัวลดลง 18% เช่นเดียวกับเงินเยนที่อ่อนค่าลง 15% ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 118-120 เยน ดังนั้นสงครามค่าเงินขณะนี้จึงมาจากการที่ ECB และ BOJ ทำการลดค่าเงินของตัวเองจนทำให้เงินสกุลอื่นแข็งค่าโดยปริยาย ซึ่งหากประเทศใดต้องการให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนลงต้องทำ QE ปั๊มเงินออกมาแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในทำนองเดียวกัน

เช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางสวิสกำลังดำเนินการขณะนี้ รวมทั้งล่าสุดธนาคารกลางสิงคโปร์ก็ร่วมโดดลงในสนามสงครามค่าเงินด้วยการทำ QE เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อลดค่าเงินลงมาที่ 1.35 ต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. หวั่นเงินฝืดเข้าครอบงำเศรษฐกิจหลังแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับเพียงแค่ 0.5% ขณะเดียวกันกับธนาคารกลางจีนเลิกผูกเงินหยวนกับดอลลาร์ ที่เรียกว่าการทำ depeg กับเงินสกุลอื่น เพื่อให้หยวนมีความยืดหยุ่นโดยอาจทำ depeg กับตะกร้าเงิน หรือ depeg กับสกุลเงินอ่อนค่าอยู่แล้วเช่นเงินเยน ก็เพื่อให้เงินหยวนอ่อนค่าลงโดยเคลื่อนไหวที่ระดับ 6.25 ต่อดอลลาร์ และสามารถรักษาขีดแข่งขันการส่งออกไว้ได้ สำหรับบ้านเราก็เช่นกัน เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบดอลลาร์ที่ 32.70 แต่เงินบาทกลับแข็งค่า เมื่อเทียบเงินยูโรที่ 36.60 บาท เทียบเงินเยนที่ 27.50 บาท หรือเทียบเงินปอนด์ที่ 43 บาท อาจส่งผลกระทบต่อส่งออก ดังนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามสงครามค่าเงินที่เสี่ยงจ่อเข้ามาใกล้ตัวเราไม่ได้แล้ว

ค่าบาทแข็งค่ารอบ2เดือน รับอียูทำคิวอี’เงิน’เข้าเอเชีย

ค่าเงินบาทแข็งค่ารอบกว่า 2 เดือน จากเงินไหลเข้าเอเชีย หลังสวิสลอยค่าเงิน ส่งผลนักลงทุนเทขายค่าเงินยูโร

ลงทุนประเทศที่เศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและเงินดอลลาร์

ค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (19 ม.ค.) ที่ 32.58-32.60 บาทต่อดอลล์ โดยแข็งค่ามากสุดของวันที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังนักลงทุนสนใจค่าเงินภูมิภาคเอเชียมากขึ้นจากวิกฤติยูโร

บรรยากาศตลาดเงินวานนี้ (19 ม.ค.) เปิดตลาดที่ 32.54-32.56 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และโดยระหว่างวันค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ และวันนี้ (20 ม.ค.) คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.65 บาทต่อดอลล์

นักค้าเงินจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวานนี้ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนมองว่าตลาดเอเชีย ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ในสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าในตลาดเอเชียเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทรวมไปถึงค่าเงินอื่น ๆในภูมิภาคเป็นที่สนใจของนักลงทุน ซึ่งคงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้คาดอยู่ที่ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

คาดบาทแข็งค่าแตะ 32

ขณะที่ นักค้าเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า นักลงทุนกำลังติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในรอบสัปดาห์หน้า รวมไปถึงการเลือกตั้งของประเทศกรีซ ในวันที่ 25 ม.ค. นี้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท อยู่ที่ 32.50 -32.60-32.65 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้เปิดตลาดที่ระดับ 32.54-32.55 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะปรับตัวแข็งค่าไปถึงระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 32.58-32.59 บาทต่อดอลลาร์จากช่วงสิ้นเดือนต.ค. 2557 เนื่องจากมีแรงซื้อกลับเข้ามาในค่าเงินสกุลปลอดภัย ทั้งเยนและสิงคโปร์ รวมถึงประเทศในตลาดเกิดใหม่ โดยระยะปานกลาง มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าไปได้ถึง 32 บาทต่อดอลลาร์แต่ในระยะสั้นคาดเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-32.70 บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาทควรอ่อนค่า เพราะว่าเฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย แต่พอสวิสลอยค่าเงิน ทำให้นักลงทุนเทขายค่าเงินยูโร และมีเงินไหลเข้าซื้อฟรังก์สวิส และประเทศที่เศรษฐกิจคาดจะดีขึ้น รวมถึงทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่แข็งค่าส่วนหนึ่งเพราะทองด้วย นักลงทุนขายดอลลาร์มาซื้อบาท หากทองยังขึ้นเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่า”

ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากกว่าประเทศไทย

ดันทุนไหลเข้าเอเชีย-ไทยมากขึ้น

ด้าน นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ กล่าวคือ ยุโรปจะยังคงต้องมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวตามคาด ดังนั้นอาจจะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามายังเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องติดตามการไหลออกของเงินทุนกลับไปยังสหรัฐด้วย เนื่องจากสหรัฐมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้

ส่วนแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ คาดว่า จีดีพีจะเติบโตได้ 4% ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึง ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจะช่วยส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนในประเทศด้วย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงประเทศไทยจะสามารถหาประโยชน์จากปัจจัยบวกดังกล่าวได้หรือไม่ และเห็นว่า ราคาน้ำมันในประเทศควรปรับลดลงอีก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่จะเดินหน้าในระยะต่อไปที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เชื่อยุโรปออกมาตรการอัดฉีดเงิน

ขณะที่ นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (THAIBMA) เปิดเผยว่า การซื้อขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ โดยเงินที่ซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้นเฉลี่ยอยู่วันละ 1,000-2,000 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่เงินลงทุนระยะยาว ยังไหลเข้ามาต่อเนื่องตามปกติ

เขากล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องอื่นมากกว่า โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เลิกผูกค่าเงินกับยูโร จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นโดยรวม และน่าจะทำให้มีการเข้ามาเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่มนักค้าเงินขึ้น ที่ส่งผลต่อค่าเงินมากกว่า

“การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของต่างชาติเองยังมีมาต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ การแข็งค่าขึ้นน่าจะมาจากการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมากกว่า” นายสุชาติ กล่าว

คาดอีซีบีทำคิวอีวงเงิน6แสนล้านยูโร

ลอยด์แบงก์แห่งอังกฤษ คาดว่าในการประชุมสัปดาห์นี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะไม่เจาะจงลงไปถึงปริมาณการจัดทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในรูปของการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และคงไม่ให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับกรอบการทำคิวอี แต่นายดรากีน่าจะย้ำเจตนารมณ์ในการเพิ่มงบดุลของอีซีบีให้ไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปี 2555 อันอาจหมายความว่าถึงเม็ดเงิน 600,000 ล้านยูโรในการทำคิวอี

นอกจากนั้น นายดรากียังน่าจะพยายามไม่สร้างความผิดหวังแก่ตลาด ด้วยการระบุว่าอาจเพิ่มงบดุลได้อีกในอนาคตในกรณีที่จำเป็น

ด้านธนาคารโซซิเอเต เจอเนอราล ไม่ค่อยแน่ใจว่าหากอีซีบีทำคิวอีแล้วจะประสบความสำเร็จ พร้อมระบุว่าคิวอีของอีซีบีน่าจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคิวอีของสหรัฐ 5 เท่า ดังนั้นภารกิจหลักจะยังอยู่ที่การปฏิรูปนโยบายการคลังและการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หวังยากอีกเช่นกัน

ชี้หากไม่มากพออาจบั่นทอนยูโรโซน

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าแหล่งข่าวเผยว่าอีซีบีกำลังพิจารณาแนวทางแบบลูกผสมในการเข้าซื้อพันธบัตร ด้วยการผสานทั้งการที่อีซีบีเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปทั่วยูโรโซน เข้ากับการที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อบรรเทาความวิตกของเยอรมนี

นักลงทุนในตลาดและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าหากมาตรการคิวอีที่ประกาศออกมานั้น ไม่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่จำกัด ก็ไม่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนได้ ทั้งยังอาจบั่นทอนเอกภาพของยูโรโซน

แหล่งข่าวเผยว่าสภากำหนดนโยบายของอีซีบีได้หารือสถานการณ์ในปัจจุบันในการรับประทานอาหารเย็นกลางสัปดาห์ที่แล้ว โดยสภากำหนดนโยบายมีความเห็นเป็นเอกฉันท์มากขึ้นว่าอาจจำเป็นต้องทำคิวอี ประเด็นที่ยังเห็นต่างกันคือปริมาณการทำ ทำเป็นแบบปลายเปิดหรือทำไปเรื่อยๆ หรือกำหนดเวลายุติชัดเจน และต้องมีการกระจายความเสี่ยงหรือไม่

แหล่งข่าวอีกคนเผยว่าผู้เชี่ยวชาญอีซีบีกล่าวทำนองว่าน่าจะทำคิวอี 500,000 ล้านยูโร แหล่งข่าวอีกคนเผยว่าทางเลือกหนึ่งคืออีซีบีจะเข้าซื้อพันธบัตรจำนวนหนึ่งและในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะกระจายความเสี่ยงไปในหมู่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ พิจารณาจากสัดส่วนทุน ส่วนการเข้าซื้อพันธบัตรอีกจำนวนหนึ่งจะเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางแต่ละประเทศและต้องแบกรับความเสี่ยงกันไปเอง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษ ใช้คิวอีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจของยูโรโซนพึ่งพาธนาคารต่างๆ มากกว่าอีกทั้งยังไม่มีระบบการคลังเดียวกัน ทำให้ยากในการใช้คิวอี ธนาคารกลางเยอรมนีคัดค้านอย่างหนักในการทำคิวอี เพราะวิตกว่าเยอรมนีที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป อาจต้องรับภาระความเสี่ยงของประเทศอื่น ทั้งยังวิตกว่าการทำคิวอีจะทำให้ประเทศต่างๆ ไม่ยอมปฏิรูปเศรษฐกิจและพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ปัญหาแทน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์