คาดตลาดเดือนกุมภาจะผันผวนมากขึ้น

เดือนก.พ. 2558 คาดว่าตลาดจะผันผวนมากขึ้นหลังจากขึ้นไปทดสอบ 1600 จุดแล้วไม่ผ่าน & ยืนเหนืออย่างมั่นคง

setlnw-china

โดยปัจจัยที่กดดัน คือ เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัวลง ล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP ของโลกปี 2558 ลงเป็น 3.3% (เดิม 3.8%) และธนาคารโลกได้ปรับลงเป็น 3.3% เช่นกัน (เดิม 3.7%) เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอ่อนแอลงไปมากหลังราคาน้ำมันดิ่งลงแรง และมีแนวโน้มว่าจะขยับขึ้นได้ไม่มากเพราะอุปทานในตลาดโลกที่ยังสูงมาก

นอกจากนั้นยังมีความกังวลกับทิศทางของกรีซ หลังรัฐบาลใหม่มีนโยบายต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้หรือออกจากยูโรโซน, ความผันผวนด้านการเงินในรัสเซีย และความวุ่นวายทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึง Valuation ของตลาดหุ้นที่อยู่ในโซนแพง

อย่างไรก็ตาม…สภาพคล่องในตลาดโลกที่สูงอาจช่วยจำกัด Downside Risk ทั้งนี้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกอยู่ในระดับสูง ซึ่งมาจากการที่ยูโรโซนจะเริ่มดำเนินโครงการนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนตั้งแต่มี.ค.2558 ถึงก.ย.2559 ด้วยมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน (รวมมูลค่าโครงการ 1.14 ล้านยูโร) และญี่ปุ่นดำเนินการ QE ต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมายขยายฐานเงินปี 2558 อีก 80 ล้านล้านเยน

อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินโลกที่ต่ำมาก ทำให้ตลาดหุ้นเป็นเป้าหมายของการลงทุนในช่วงสั้น ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีในตลาดยูโรโซนลดลงมาใกล้ 0% หลัง ECB ประกาศใช้ QE ในมูลค่าที่สูงกว่าคาด และอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือมีโอกาสลดลงได้อีก เช่น จีน เป็นต้น

คาดเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงเป็น 2.6%QoQ ใน 4Q57 จาก 4.6% ใน 2Q57 และ 5.0% ใน 3Q57 รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่เร็วมากนัก เราคาดว่าเร็วสุดจะเป็นต้น 4Q58

โครงการลงทุนของประเทศไทยคืบหน้ามากขึ้น คาดเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบได้อย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นไป โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาและสวนยางพาราเสร็จสิ้นแล้วในปลายปี 2557 และกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่วงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาทในเดือนก.พ.2558

ด้านโครงการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานก็เดินหน้าต่อเนื่อง คาดรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือจะเซ็นสัญญาได้ใน 2Q58 และเสนอโครงการสายสีส้มให้ครม.พิจารณาเดือนก.พ.2558 เสนอสายสีเหลือง & ชมพูให้พิจารณากลางปี 2558 ส่วนที่กำลังก่อสร้างคือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสีม่วง ก็เป็นไปได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นกระทรวงคมนาคมยังจะของบประมาณซ่อมถนนทั่วประเทศ 4 หมื่นล้านบาทในเร็วๆ นี้ด้วย สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ จะมีประชุมร่วมกับพันธมิตรจีนในเดือนก.พ.นี้ และเริ่มลงพื้นที่สำรวจเดือนมี.ค.58 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเดินหน้าดีขึ้นเป็นลำดับ ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณลงทุนปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 21% เป็น 5.44 แสนล้านบาท

ยังไม่ได้ปรับเป้าหมายของ SET Index ในปี 2558 ที่ให้ไว้ 1602 จุด ซึ่งอิงกับ EPS Growth ปี 2557-2558 ที่ -1.2% และ +10.7% ตามลำดับ และให้ระดับเป้าหมายของ P/E ที่ 16.3 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยใน Band High ย้อนหลัง 5 ปี

อย่างไรก็ตาม P/E ตลาดอาจขยายขึ้น (Expansion) ได้จากเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ที่เข้ามา และทำให้ดัชนีขึ้นไปสูงกว่าเป้าหมายที่เราให้ไว้ แต่การปรับขึ้นของตลาดในรูปแบบนี้มักจะตามมาด้วยความผันผวนสูง เนื่องจากไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ

กลยุทธ์ : เลือกซื้อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีในปี 2558 โดย Top Picks สำหรับเดือนก.พ.2558 เราเลือกเป็น AAV, MINT, QH, RATCH, STPI ส่วนหุ้น Dark Horse คือ SC, TMB

ตลท. ปลื้มสกัดหุ้นร้อนได้อยู่หมัด

ตลท. ปลื้มสกัดหุ้นร้อนได้อยู่หมัด ไม่กระทบวอลุ่มอย่าที่วิตกกัน ลั่นคุมหุ้น BAY ใช้มาตรฐานเดียวกัน

ตลท. ปลื้มใช้มาตรการสกัดหุ้นร้อนได้ผล เผยช่วยลดหมุนรอบเก็งกำไร และยังทำให้วอลุ่มสูงขึ้น ไม่ได้เกิดผลกระทบในแง่ลบต่อดัชนีหรือปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน อย่างที่มีผู้กังวลกันก่อนหน้านี้ ยันกรณีหุ้น BAY พุ่งร้อนแรงจนมีผลต่อดัชนีฯ ตลท. ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับหุ้นตัวอื่นทุกตัว และไม่มีการเลือกปฏิบัติจนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน

นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกำกับตลาดและดูแลสายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า มาตรการที่ ตลท.นำมาใช้สกัดหุ้นร้อนตั้งแต่ 5 ม.ค.58 ทำให้การหมุนรอบของการเก็งกำไรหุ้นที่เกิดความเคลื่อนไหวของราคาผิดปกติลดลง ขณะที่ไม่ได้เกิดผลกระทบในแง่ลบต่อดัชนีหรือปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยอย่างที่มีผู้กังวลกันก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ตลท.พบว่า ตั้งแต่เริ่มใช้มาตรการจนถึงปัจจุบันการหมุนรอบของการเก็งกำไรของหุ้นร้อนลดลงเหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 1% จากไตรมาส 4/57 อยู่ที่ 2-3% ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยในเดือน ม.ค.58 เพิ่มขึ้นเป็น 5.2-5.3 หมื่นล้านบาท และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 4-5% ทำให้มั่นใจได้ว่าการใช้มาตรการดังกล่าวมีผลในเชิงบวกมากกว่าผลกระทบเชิงลบ

“เรามีการ review มาตราการนี้มาก่อนประกาศใช้ เรามีการพูดคุยกับโบรกเกอร์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจก่อนออกประกาศ และจนถึงวันนี้เราก็เห็นการ Turnover โดยเฉลี่ยลดลงจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แต่ปริมาณการซื้อขายและ index เพิ่มขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่ายังไม่มีผลเสียต่อตลาด จริงๆ แล้วถ้าตลาดมีการเก็งกำไรที่สูงเกิดขึ้นจะทำไห้คนไม่กล้าลงทุนในระยะยาว” นายสุกิจ กล่าว

ปัจจุบัน ยังไม่มีหุ้นตัวใดใช้เกณฑ์ Cash Balance ครั้งที่ 3 ขณะนี้มีเพียงหุ้น KC ที่ถูกสั่งให้ใช้เกณฑ์ Cash Balance ครั้งที่ 2 เท่านั้น ส่วนหุ้น BAY แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีราคาและ Market Cap เพิ่มขึ้น ซึ่งมีน้ำหนักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมีนัยสำคัญนั้น ทาง ตลท.ยืนยันว่าได้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับหุ้นตัวอื่นทุกตัว และไม่มีการเลือกปฏิบัติจนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งในกรณีของหุ้น BAY ยังไม่ครบเงื่อนไขที่จะต้องใช้เกณฑ์ Cash Balance โดยราคาเคลื่อนไหวของราคาและมูลค่าการซื้อขายเป็นปกติ

“ยอมรับว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น BAY มี Impact และมีน้ำหนักเยอะต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมาก แต่เราก็มีการตรวจสอบความผิดปกติอยู่ตลอด เราใช้มาตรฐานเดียวกันกับหุ้นตัวและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งทั่วไปแล้วหุ้นใหญ่จะเข้าเกณฑ์ฯ ได้ง่ายกว่าหุ้นขนาดเล็ก โดยหุ้น BAY ที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ เพราะราคาติดมูลค่าติด แต่ในด้าน Turn over ไม่ติด” นายสุกิจ กล่าวย้ำทิ้งท้าย

รายงานภาวะรอบด้านตลาดหุ้น 2 กุมภาพันธ์ 2558

“Up and Down” วันนี้คาดดัชนีฯ ผันผวน แนวรับ 1,571 แนวต้าน 1,590 จุด

ปัจจัยลบ Liquidity drain (กันเงินจองซื้อ IPO JASIF 28 ม.ค.-3 ก.พ.), US-GDP 4Q14 เมื่อวันศุกร์ +2.6% แย่กว่าคาดที่ +3.2% (จาก 5%) และตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์นี้คาดชะลอลง (เมื่อวันอาทิตย์ จีน PMI ลงเหลือ 49.8 จาก 50.1 แย่กว่าคาด) ส่งผลวิตก Earning downward revision, การชุมนุมในสเปนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลวิตกพรรคฯต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ชนะเลือกตั้ง พย.นี้ (EU-QE ขาดเอกภาพ) ส่วนปัจจัยหนุนดัชนีฯ คาดจะมาจากการรีบาวด์ (ไม่ไกล) ของหุ้นน้ำมัน ตามราคาน้ำมันดิบ (เด้งมาเป็นโอกาสในการขาย Short)

ระยะสัปดาห์ คาดดัชนีฯมีแนวโน้มลงทดสอบ แนวรับ 1,560 จุด แนวต้าน 1,600/1,610 จุด จากผิดหวังกำไร บจ.ไม่ดีอย่างที่คาด
ระยะเดือน (กพ.) คาดความผันผวนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดการเงินโลก และ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกแย่กว่าคาด จะกดดันหุ้นโลก และหุ้นไทย กลยุทธ์ แนะนำ รีบาวด์เป็นโอกาสในการกระชับพอร์ต หุ้นใหญ่ (น้ำมัน ปิโตรเคมี สินค้าโภคภัณฑ์ แบงก์ บ้าน ฯลฯ) แนวรับรายเดือนคาด 1,550 ถ้าหลุดคาดแนวรับถัดไป 1,515 จุด แนวต้าน 1,600 (+/-10) จุด

หุ้นแนะนำ เก็งกำไรหุ้น Local play: TSR JMART, BCP เก็งข่าววายุภักดิ์รับซื้อจาก (ปลดล็อกประเด็น PTT ขายในตลาดกดดันราคาหุ้น)

ปัจจัยที่มีผลต่อตลาด

(-) รัสเซียลดดอกเบี้ย 2% เหลือ 15% สร้างความประหลาดใจต่อตลาด คาดค่าเงินรัสเซียจะผันผวนหนัก ส่งผลให้ เงินทุนมีโอกาสไหลออก กดดันตลาดหุ้นรัสเซีย (ผลขาดทุนจากตลาดหุ้น BRIC (รัสเซียรวมอยู่ในตะกร้า BRIC ด้วย) คาดมีผลต่อแรงขายล็อกกำไรตลาดหุ้น EM)

(-) วันจันทร์ US ISM (ม.ค.) คาด 55 ลดลงจาก 55.5, US Core PCE คาด 0%, Personal spending (ธ.ค.)คาด -0.2% จาก +0.6% m-m, EU PMI (ม.ค.) คาด 51 (ไม่เปลี่ยนแปลง), ไทย รายงานเงินเฟ้อ (ม.ค.) คาด +0.4% จาก 0.6% / ภาวะเศรษฐกิจโลก และเงินเฟ้อไทย ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบ Earning downward revision

(-) อังคาร คาด ธนาคารกลางออสเตรเลียลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 2.25%, อินเดีย คาดคงดอกเบี้ย 7.75% (แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอกว่าคาด)

(+) พุธ US ISM ภาคบริการ (ม.ค.) คาด +56.5 จาก 56.2, EU PMI composite (ม.ค.) 52.2 (ไม่เปลี่ยนแปลง)
(-) พฤหัส BOE meeting, อินโดนีเซีย คาด GDP 4Q14 ลงเหลือ 4.9% จาก 5%y-y, ฟิลิปปินส์ คาด เงินเฟ้อ (ม.ค.) CPI ลงเหลือ 2.3% จาก 2.7%

(-) ศุกร์ US การจ้างงานนอกภาคเกษตร +2.31 แสนราย (ลดลงจาก 2.52 แสนราย) และอัตราว่างงาน 5.6% (คงที่)

หุ้นไทยยังสดใส

บลจ.วรรณแนะลงทุนในหุ้นทั่วโลกและหุ้นไทย เชื่อแนวโน้มการลงทุนยังสดใส โดยเฉพาะผลบวกจาก QE ที่มาตามคาด ผลักให้กองทุนเปิด ONE-EURO รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติอีกครั้ง ขณะที่กองหุ้นไทยรับอานิสงส์จ่ายปันผลรวด 6 กองทุน

 

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาปรับตัวในลักษณะ Sideway Up แม้จะมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง หลังจากที่นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศของยูเครนและรัสเซีย แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และการเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียบางประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมของทางธนาคารกลางหลักในประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยูโรโซน ด้วยเม็ดเงินมหาศาลก็สามารถผลักดันให้ดัชนีฯ ตลาดส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นได้

ขณะที่ในปีนี้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศระยะถัดไปในระยะสั้นมองว่าตลาดหุ้นยังคงปรับตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายของพรรคไซรีซา หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของกรีซ ทำให้ตลาดมองว่าอาจมีการแยกกรีซออกจากยูโรโซนและอาจเกิดปัญหาการชำระหนี้ประเทศกับทาง IMF และธนาคารกลางยุโรป ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อรอดูเหตุการณ์ก่อน แต่อย่างไรก็ดี ด้วยกระบวนการทางกฎหมายและคะแนนเสียงที่พรรคดังกล่าวยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียวแล้ว ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อ Sentiment เชิงลบในระยะสั้นเท่านั้น และจะไม่กระทบในวงกว้าง ทำให้ตลาดจะยังสามารถกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงถัดไป

สำหรับการลงทุนในระยะกลางถึงยาว ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณของธนาคารกลางหลักของญี่ปุ่นและยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยูโรโซนที่การประชุม ECB ล่าสุดได้ประกาศการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่เดือนมี.ค. 58 ถึงเดือน ก.ย. 59 ซึ่งคิดแล้วเป็นมูลค่าวงเงินรวมสูงถึง 1.2 ล้านล้านยูโร และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ค่อนข้างมากที่ 5 แสนล้านยูโร ซึ่งจะผลักดันให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและทำให้สินทรัพย์เสี่ยงยังเป็นที่น่าสนใจทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัวได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทำให้ Sentiment การลงทุนเริ่มผันผวนน้อยลง และทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่ม Market Cap ค่อนข้างใหญ่ในแต่ละตลาดหุ้น เริ่มรักษาระดับราคาไว้ได้ หลังจากที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา

โดยมองว่าราคาน้ำมันตอนนี้เริ่มใกล้เคียงกับราคาต้นทุน (Cashing Cost) ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้คาดว่า Downside Risk ของราคาน้ำมันเริ่มจำกัด โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวได้ในกรอบ +/- 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเล็กน้อย และยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ จากต้นทุนพลังงานที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในระดับที่มากหรือน้อยเพียงไร สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามได้แก่ ท่าทีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในส่วนของยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ควบคู่ไปด้วย เพราะบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเติม นอกเหนือจากแรงสนับสนุนเชิงบวกดังกล่าวเช่นกัน

สำหรับด้านการลงทุนของตลาดหุ้นไทยนั้น เรายังมีมุมมองเชิงบวกสอดคล้องกับตลาดหุ้นโดยรวมของทั่วโลกเช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว นำโดยการใช้จ่ายภาครัฐจากการเริ่มประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และราคาสินค้าการเกษตร เช่น ข้าว และยางพารา ที่เริ่มฟื้นตัวได้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการส่งออกในปี 2558 ให้ฟื้นตัวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าด้วยแรงสนับสนุนผ่านมาตรการของภาครัฐและการเมืองที่คลี่คลายก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยวในปีนี้มีการฟื้นตัวได้ โดยจะเห็นได้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4/57 ที่ผ่านมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญ

นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่ฟื้นตัวแล้ว ผมยังมองว่าปัจจัยที่สำคัญที่ยังผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวต่อไปได้ ได้แก่ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินการ QE เพิ่มเติมของ ECB และ BOJ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังมีเม็ดเงินมหาศาลรอเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงถัดไป ขณะที่มูลค่าหุ้นไทยเองก็ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่ม TIP Region โดยปัจจุบันราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ไทยอยู่ที่ 15.29 เท่าเมื่อเทียบกับระดับ PE ของอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ 15.56 และ 18.87 เท่า ตามลำดับ ประกอบกับ Downside risk จากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติที่จำกัดมากขึ้นหลังจากที่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ทำให้ผมมองว่า SET Index ในปี 2558 นี้จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,700 จุด จากปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวข้างต้น

ด้วยปัจจัยด้าน QE ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ของตลาดมาในช่วงระยะหนึ่งและมีการดำเนินการตามคาดการณ์ ทำให้กองทุนเปิด วรรณ ยูโรเปี้ยน ฟันด์ 12 (ONE-EURO) สามารถจ่าย Auto Redemption (รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 58 ที่ผ่านมาอีกประมาณ 3% หลังจากที่จ่าย 3% แรกไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยครั้งนี้กองทุนฯ มีการจ่าย Auto Redemption ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.3135 บาทต่อหน่วย และกองทุนฯ มีเป้าหมายรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติครั้งถัดไปเมื่อ NAV แตะระดับ 10.90 บาทต่อหน่วย และเลิกกองทุนเมื่อ NAV แตะระดับ 11.25 บาทต่อหน่วย

ขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย สามารถจ่ายเงินปันผลจำนวน 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ไซรัส โมเมนตัม ฟันด์ (SYRUS-M) กองทุนเปิด สหธนาคารเอกปันผล 3 (ONE-UB3) กองทุนเปิด วรรณ อิควิตี้ (ONE-EQ) และกองทุนเปิด วรรณเฟล็กซิเบิล (ONE-FLEX) โดยจะปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 26, 27, 28 และ 30 ม.ค. 58 ตามลำดับ และจะจ่ายปันผลในอัตราหน่วยลงทุนละ 2.25 บาท, 1.83 บาท, 2.75 บาท และ 0.543 บาท ตามลำดับ ในวันที่ 19 ก.พ. 58

สำหรับกองทุนรวมประเภท ETF ทาง บลจ.วรรณจะมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) และกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ SET High Dividend อีทีเอฟ (1DIV) โดยจะปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 5 ก.พ. 58 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.314 บาท และ 0.233 บาท โดยมีกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 23 ก.พ. 58

ลงทุนหุ้น

“สำหรับทิศทางการเสนอขายกองทุนรวมในปีนี้ ยังคงมีแผนที่จะเสนอขายกองทุนรวมอีกหลายกองทุน เนื่องจากมองว่าปีนี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่การลงทุนในหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย อย่างเช่นญี่ปุ่น จีน และไทย รวมทั้งอาจมีโอกาสเสนอขายกองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันหลังจากที่มองว่า Downside risk ของราคาน้ำมันเริ่มจำกัด โดยการเสนอขายจะพิจารณาจังหวะการลงทุนอีกครั้ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมกับภาวะการลงทุนให้แก่นักลงทุนมากที่สุด”

2558 ปีแห่งความท้าทายและโอกาสลงทุน

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย เกศรา มัญชุศรี
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ ทักทายกันเป็นครั้งแรกสำหรับปีนี้ หากมองย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในปี 2557 ที่ผ่านมา แม้ตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัยทั้งการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยูโรโซน และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ก็ถือเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนในพันธบัตรและหุ้น เนื่องจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศและไทยโดยรวมให้ผลตอบแทนถึงประมาณ 7-9%

ส่วนการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคกล่าวคือ ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ตลาดหุ้นอื่นในเอเชียก็เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง เริ่มจากตลาดหุ้นจีนที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก สูงกว่า 50% และใน 10 อันดับแรกก็เป็นตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียถึง 7 แห่งรวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 15.32% เนื่องจากการเมืองภายในเริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยตลาดหุ้นไทยเมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 45,466 ล้านบาทต่อวัน และมีหลักทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 46 หลักทรัพย์

สำหรับปี 2558 บรรยากาศการลงทุนน่าจะเป็นปีที่มีความท้าทายอีกปีหนึ่ง เริ่มจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีแนวทางแตกต่างกันอย่างชัดเจนขึ้น (Policy Divergence) โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐ กับกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่น กล่าวคือเราน่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจต้องดำเนินมาตรการ QE ต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดวิกฤตปัญหาภาวะเงินฝืด (Deflation)

ประเด็นที่ต้องจับตาคือ ปฏิกิริยาของผู้ลงทุนกลุ่มที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (Risky Assets) หาก Fed ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น รวมทั้งการดำเนินมาตรการ QE ของประเทศอื่นอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ.มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยในปี 2558 นับว่ามีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนของโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดรัฐบาลก็ตั้งเป้าว่าจะเร่งโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่หลายสายให้สามารถประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2558

นอกจากนี้ไทยเรายังได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในอัตราสูง ประกอบด้วย ไทย จีน พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมุ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาคนี้ กล่าวคือเป็นแหล่งระดมทุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจและเสริมสร้างศักยภาพตอบรับกับโอกาสการขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งในรูปแบบของการออกหุ้นสามัญและการออกตราสารหนี้ รวมไปถึงหุ้นใหม่ ๆ จากกลุ่มประเทศ GMS ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้การสนับสนุนและชักชวนผู้ประกอบการในต่างประเทศมาระดมทุนในตลาดไทย

ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าตัวท่านผู้อ่านจะมีอาชีพใด ต้องถือ ว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราทุกท่าน ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา หาความรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าความสำเร็จจากการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องลงทุนทั้งในเรื่องของเวลา และหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าสถานการณ์ภายนอกประเทศในปีนี้อาจคาดการณ์ได้ยาก การลงทุนระยะสั้นอาจมีความผันผวน และมีปัญหามากมายที่คอยท้าทายผู้กำหนดนโยบาย แต่ดิฉันยังเชื่อว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีได้ในปี 2558 อันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดธุรกิจที่เติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ รวมทั้งโอกาสการลงทุนในบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาดทั้งจากในและต่างประเทศ

สุดท้ายนี้ ดิฉันขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือได้ประสาทพรให้กับท่านผู้อ่าน ให้พบกับความสำเร็จ ความสมหวัง มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมทั้งประสบความสำเร็จในการลงทุน และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ท่านผู้อ่านทุกท่านและครอบครัวค่ะ