กนง.เมินงัด’ดอกเบี้ย’คุมบาท

กนง.ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากหลายประเทศเข้าสู่”สงครามค่าเงิน” ชี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมาก

คาดไหลเข้าไม่มากเหมือนกรณีสหรัฐฯ พร้อมมีมติ 5 ต่อ 2 “คง” ดอกเบี้ยนโยบาย 2% ด้าน”ปรีดิยาธร”เผยเงินไหลเข้า ค่าบาทยังมีเสถียรภาพ ยังไม่เห็นผลกระทบต่อส่งออก ขณะ”บัณฑูร”แนะรัฐควรเร่งเบิกจ่ายมากกว่า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินสถานการณ์ทุนเคลื่อนย้าย หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)และธนาคารหลายประเทศลดดอกเบี้ย คาดยังไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจากเงินไหลเข้า

การประชุมกนง.ครั้งแรกของปี 2558 วานนี้ (28 ม.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2% เนื่องจากมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้ง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า การประชุมรอบนี้ ที่ประชุมได้พูดคุยกันพอสมควรถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ด้วยการประกาศซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิก

ดอกเบียคุมบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว คณะกรรมการมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า คิวอีของยุโรปไม่เหมือนกับคิวอีของสหรัฐฯ เพราะยุโรปแม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่ม แต่เม็ดเงินอาจไม่ได้ไหลมาทางเอเชียและไทยมากนัก ต่างจากคิวอีของสหรัฐช่วงที่ผ่านมา

“เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีการคุยกัน ซึ่งความเป็นห่วงอาจไม่ได้เหมือนกับที่ตลาดกังวลมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ห่วง หรือจะไม่เข้าไปดูแล ซึ่งการดูแลยังคงดูตามความเหมาะสม และคณะกรรมการเองก็ขอให้แบงก์ชาติติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพราะท่านเห็นว่า ช่วงนี้ควรต้องตามใกล้ชิดมากๆ”นายเมธีกล่าว

ย้ำดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือแรกดูแลค่าเงิน

ส่วนคำถามที่ว่าเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยสามารถนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่กรรมการหลายท่านเห็นตรงกันว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใดๆ ในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็อยากให้ใช้เครื่องมืออื่นๆก่อน ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือที่ ธปท. มีและเคยใช้ในช่วงก่อนหน้านี้

“ไม่ได้หมายความว่า ดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ยอมรับว่ามีผลบ้าง เพียงแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญแรกๆ ที่มีผล อีกทั้งดอกเบี้ยก็ยังเป็นเครื่องมือที่กว้าง ไม่สามารถทาร์เก็ตไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เรากังวลได้แบบเฉพาะ”

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคนั้น นายเมธี กล่าวว่า ถ้าดูดัชนีค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับภูมิภาค ยอมรับว่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ถึงกับออกนอกปัจจัยพื้นฐานแต่อย่างใด ส่วนผลต่อการส่งออกนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ยืนยันมาตลอดว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลบ้าง ในเชิงของรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง

อุปสงค์ไม่หดแม้เงินเฟ้อร่วง

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึง สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินที่1%ว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการ ได้พูดคุยกันอย่างหนักเช่นกัน ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลด

ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังไม่มีการปรับลดราคาลงตาม สะท้อนว่าด้านอุปสงค์ยังไม่ได้มีปัญหา กำลังซื้อของคนยังมี และคนทั่วไปก็ยังมองว่า อนาคตเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับ 2% ได้ ดังนั้นแม้ภาพรวมเงินเฟ้อในปัจจุบันจะต่ำแต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล

สำหรับประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังมี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวและราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ลดลง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว

คาดเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้นครึ่งปีหลัง

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์

“ในการตัดสินนโยบาย กนง. ส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า นโยบายการเงินควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น

นายเมธี กล่าวด้วยว่า ระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรรมการจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ นายเมธี ยังกล่าวถึงการปรับช่วงการซื้อขายของค่าเงินสิงคโปร์ด้วยว่า หลังจากสิงคโปร์ประกาศนโยบายดังกล่าวออกมา มีผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคอ่อนค่าลงไปบ้าง โดยค่าเงินบาทไทยเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเล็กน้อย โดยช่วงเช้าของวานนี้ มีการอ่อนค่าลงมาบ้าง

เผยยังไม่พบเก็งกำไรค่าบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสัปดาห์ที่แล้วมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา แต่เท่าที่ติดตามยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแน่นอน เพราะการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในครั้งนี้ คือ การเอาเงินเติมในระบบเศรษฐกิจของยุโรปและจะทำเดือนละ 60,000 ล้านยูโรต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งไทยเองก็ต้องเตรียมตัวและตื่นตัวตลอดเวลา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ธปท.ตื่นตัวตลอดเวลา และขอชื่นชมว่ารับมือได้ดีมาก เพราะเงินไหลเข้าธรรมดาจะมีเงินดอลลาร์ในตลาดจำนวนมากและเงินบาทจะแข็งขึ้นทันที ซึ่งจะกระทบผู้ส่งออกอย่างมากแต่ ธปท.รับมือกับเรื่องนี้ได้

“เงินที่ไหลเข้ามาเยอะในสัปดาห์ที่แล้ว ตัวที่บอกว่าเข้ามาเยอะคือหุ้นขึ้นมาเกือบ 100 จุด เพราะมีเงินไหลเข้ามาซื้อ เข้ามาเยอะขนาดนี้แต่ยังดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่เดิมได้ ผมถือว่าเขาได้ทำหน้าที่แล้ว ผมก็เลยค่อนข้างสบายใจว่าคงจะไม่มีผลกระทบแล้ว”

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ในช่วงท้ายตลาดวานนี้ (28 ม.ค.) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้า หลังกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเงินบาทในช่วงเช้าอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนคาดว่า กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ในช่วงเช้านี้อ่อนค่าสุดที่ 32.64 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าสุดที่ 32.52

ยังไม่เห็นผลกระทบส่งออกจากบาทแข็ง

ส่วนผลกระทบกับภาคส่งออกหากค่าเงินแข็ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เพราะถ้าเงินบาทแข็งจะฉุดการส่งออก แต่ตอนนี้บาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก การส่งออกของไทยที่ไม่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ว่ากระทรวงพาณิชย์ทำไม่ดี หรือสินค้าเราไม่ดี แต่ผู้ซื้ออ่อนแอ ผู้ซื้อคือสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นไม่ได้ฟื้นตัวจริง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสัดส่วนประมาณ 27-28%ของการส่งออกของไทย

ส่วนจีนเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลง ซึ่งมีสัดส่วนอีก 12%รวมเป็นประมาณ 40% ที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อชะลอลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เขาดูแลเต็มที่ เขาจะนำทีมไปเปิดตลาดใหม่ด้วย เขาจะไปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

“บัณฑูร”แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2%ไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ เร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ในปีที่ผ่านมาแม้จะมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้กระทบกับการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยให้กับเอกชน เพราะยังเติบโตได้ดี ซึ่งตอนนี้ภาคเอกชนมีความกังวล เรื่องการส่งออกที่อาจจะพลาดเป้าหมายจากที่ประเมินกันไว้

ขณะที่ความห่วงใยในเรื่องของระดับหนี้ครัวเรือนนั้น หลายคนมองว่าอยู่ในระดับสูง แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่ากังวล เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ระดับของหนี้ครัวเรือนก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้

กสิกรไทย ผนึกซีพี ออลล์ เปิดตัว “บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE”

กสิกรไทย ผนึกซีพี ออลล์ เปิดตัว “บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE” ตั้งเป้าออกบัตรปีนี้ 1 ล้านใบ

setlnw-kasikornbank cpall_new_setlnw

ธนาคารกสิกรไทย จับมือซีพี ออลล์ ออก “บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE” เน้นเป็นยูนิเวอร์แซล เดบิต การ์ด (Universal Debit Card) ชูจุดแข็งใบเดียวสะดวกสุด ๆ ใช้ที่เซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ และร้านอื่นได้ทั่วโลก พร้อมรับสิทธิประโยชน์ครบครันจากธนาคารกสิกรไทย และเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดบริการมีนาคมนี้ ตั้งเป้าออกบัตร 1 ล้านใบ

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจบัตรเดบิต ธนาคารกสิกรไทยยังคงมุ่งพัฒนา “ยูนิเวอร์แซล เดบิต การ์ด” (Universal Debit Card) คือ ใช้บัตรเดบิตเพียงบัตรเดียวได้ในทุกที่และทุกเรื่อง ทั้งธุรกรรมการเงิน การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การเดินทาง ท่องเที่ยว การช้อปปิ้งทั้งในร้านค้าและบนออนไลน์ พร้อมมีสิทธิประโยชน์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายในแต่ละไลฟ์สไตล์

ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ออกบัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ร่วมกับเซเว่นอีเลฟเว่นในการออกบัตรเดบิตโคแบรนด์ ที่เป็นทั้งบัตรเดบิตและเป็นกระเป๋าเงินสด (Electronic Purse) ในบัตรเดียวกัน ที่สำคัญเป็นการขยายช่องทางเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ถือบัตรเดบิตในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันผ่านเครือข่ายร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีกว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถตอบความต้องการของลูกค้าได้ตลอดเวลา และยังสามารถนำ บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ไปใช้ได้ที่ร้านค้าอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ โดยบัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE จะเปิดให้สมัครใช้บริการได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป และตั้งเป้ายอดบัตรเดบิตดังกล่าว 1 ล้านใบภายในสิ้นปีนี้

นายปกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมตลาดบัตรเดบิตในปี 2557 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเดบิตประมาณ 45 ล้านใบ มีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ในประเทศประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ครองความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจบัตรเดบิต โดยธนาคาร ฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการออกบัตรเดบิตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้ง K-My Debit card และ K-Max Debit Card ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าทั้งสิทธิประโยชน์ (Functional) และการสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ (Emotional)

นายโกษา พงศ์สุพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด บริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเซเว่นอีเลฟเว่นมีอยู่กว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศมีลูกค้าใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ล้านคน รวมถึงเล็งเห็นแนวโน้มของการใช้บัตรเดบิตที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในการพัฒนา บัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเซเว่นอีเลฟเว่นได้มอบสิทธิประโยชน์ความเป็นสมาชิกบัตรเซเว่นการ์ดให้กับลูกค้าบัตรเดบิตกสิกรไทย 7 PURSE ด้วยทันที อาทิเช่น การได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่า, การสะสมแต้มจากการใช้จ่ายและสามารถนำมาใช้แทนเงินสด หรือแลกพรีเมี่ยม และสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงธุรกิจในกลุ่มซีพี ออลล์ เช่น บุ๊คสไมล์, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง, ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส, ร้านกาแฟ และเบเกอรี่อบสด คัดสรร นอกจากนี้ยังสามารถนำบัตรไปใช้จ่ายตามร้านค้าเครือข่ายของสมาร์ทเพิร์ส ทั้งสถานีบริการน้ำมัน ค่าผ่านทางโทลล์เวย์ และอื่น ๆ อีกกว่า 24,000 จุดทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่าบัตรใบนี้จะช่วยขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่ใช่ลูกค้าประจำของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเพิ่มเติมด้วย”

มารู้จักกรีนบอนด์กันเถอะ

กรีนบอนด์ เป็นตราสารหนี้เช่นเดียวกับพันธบัตรทั่วไป แต่ต่างกันตรงเงินที่ระดมจากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาออกกรีนบอนด์ในตลาดสะท้อนถึงกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การคำนึงถึงความยั่งยืนจากการลงทุนมากขึ้น

การลงทุนแบบยั่งยืนเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้นโดยดัชนีตลาดหุ้นต่างๆที่คำนวณตามเกณฑ์มาตรฐานด้านจริยธรรมและความยั่งยืนได้เริ่มนำมาใช้ราว 15 ปีที่แล้ว นักลงทุนสถาบันกว่า 1,200 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร มูลค่ารวมกันราว 45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ และประกาศจุดยืนในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาใช้พิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนในอนาคต

ปัจจุบันนักลงทุนสถาบันหลายรายกำลังให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรที่มักจะออกมาเพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือพลังงานสะอาด

สำนักวิจัยระดับโลกของเอชเอสบีซีประเมินว่าการออกพันธบัตรระดมทุนที่มีลักษณะเข้าข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในปี 2555 มีมูลค่ารวมกัน 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการกำหนดคำนิยามและประเภทของกรีนบอนด์ยังไม่ชัดเจน

แต่จากมูลค่าทั้งหมด กรีนบอนด์ในขณะนี้ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก พันธบัตรรุ่นแรกที่เรียกเป็น “กรีนบอนด์” ได้อย่างชัดเจน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ในปี 2550 และตั้งแต่นั้นมาตลาดกรีนบอนด์ได้ขยายตัวในอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 55 ต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีการออก “กรีนบอนด์” มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 1.1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2556

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพันธบัตรรุ่นใหม่ที่สะท้อนแนวคิดด้านความยั่งยืนในลักษณะอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีการออก “พันธบัตรเพื่อสังคม” รุ่นแรก เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา พันธบัตรเพื่อสังคมรุ่นต่อ ๆ มามักจะเน้นการระดมทุนเพื่อการศึกษา สุขภาพอนามัย การประกอบธุรกิจของสตรี มาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน และโครงการเพื่อชุมชนระดับท้องถิ่น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า เงินทุนที่ได้จากกรีนบอนด์จะนำไปใช้ด้านใดได้บ้าง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในโครงการ 3 ด้านหลัก ๆ คือ

-โครงการพลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทน พลังงานที่จำกัดปริมาณคาร์บอน หรือโครงการที่ลดปัญหาความสิ้นเปลืองของพลังงาน

-โครงการที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารสำนักงาน ในอุตสาหกรรม และการขนส่ง

-โครงการที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมด้านการเกษตร ป่าไม้ แหล่งน้ำ ของเสีย และการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลักๆ หลายแห่ง รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (The European Investment Bank) ธนาคารโลก (World Bank) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (The International Finance Corporation) เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มกรีนบอนด์ โดยได้ออกกรีนบอนด์เพื่อระดมทุนในโครงการที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งต่อมาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้ทำตาม

ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งก็เริ่มออกกรีนบอนด์ของตนเองเช่นกัน เพื่อระดมทุนให้กับโครงการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ และกระจายฐานนักลงทุนของบริษัท ความต้องการลงทุนในกรีนบอนด์ขณะนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันรายใหญ่หลายรายได้ตัดสินใจลงทุนในกรีนบอนด์มากขึ้นจากแต่เดิมที่ค่อนข้างระมัดระวังบางรายถึงกับประกาศจุดยืนการลงทุนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการระดมทุนและการสร้างความยั่งยืนทางภูมิอากาศ

หลักการและข้อกำหนดของกรีนบอนด์เริ่มประกาศใช้ในเดือนมกราคม2557เพื่อให้ผู้ออกกรีนบอนด์ใช้เป็นมาตรฐานในการถือปฏิบัติแบบสมัครใจ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดกรีนบอนด์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารระหว่างประเทศรวมทั้งเอชเอสบีซีซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายเงินที่ระดมได้การประเมินและคัดสรรโครงการที่เหมาะสม การบริหารเงินทุนที่ระดมได้ และจัดทำรายงานการใช้เงิน การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์โดยหน่วยงานอิสระ

ตลาดกรีนบอนด์ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น แต่เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน และเมื่อตลาดนี้ขยายตัวขึ้น คาดว่ากรีนบอนด์จะได้รับความสนใจมากขึ้นว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ การกำหนดหลักการและกฎเกณฑ์ของกรีนบอนด์ถือเป็นก้าวแรกในความพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตลาด ส่วนก้าวต่อไปคือการกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนในพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

บอร์ด ปตท.ขายหุ้น”บางจาก”ให้กองทุนวายุภักษ์

บอร์ด ปตท.ขายหุ้น”บางจาก”ให้กองทุนวายุภักษ์ 15% ที่เหลือเปิดกว้างผู้สนใจเสนอซื้อ

ptt

บอร์ด ปตท.อนุมัติขายหุ้นบางจากให้กองทุนวายุภักษ์ 15% ที่เหลืออีก 12.22% เจรจากับผู้ที่สนใจซื้อ โดยเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเสนอเงื่อนไขและราคาเข้ามา มั่นใจแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2558 ย้ำเหตุเลือกกองทุนวายุภักษ์เนื่องจากเสนอราคาและเงื่อนไขดีที่สุดมา มั่นใจดีลนี้ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และรับรู้เป็นกำไรจากการขายหุ้น 4-5 พันล้านบาท

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)วาระพิเศษเรื่องการขายหุ้นบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(BCP)ที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ 27.22%วันนี้ (3 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดปตท.พิจารณาอนุมัติให้ขายหุ้นบางจากฯทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกขายหุ้นบางจากฯสัดส่วน 15% ให้กับกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งรายละเอียดจะมีการเจรจากันอีกครั้ง

ส่วนที่ 2 จำนวนหุ้นบางจากที่เหลืออีก 12.22%นั้นกำลังเจรจาขายหุ้นกับผู้ที่สนใจที่เสนอเงื่อนไขและราคาที่ดี โดยเปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจนอกเหนือจากผู้สนใจที่ยื่นราคาเสนอซื้อมาก่อนหน้านี้จำนวน 2 ราย คือ บริษัท เมอร์ริเมดไทม์ของกลุ่มนายประยุทธ์ มหากิจศิริ และกลุ่มเอ็มบีโอ ซึ่งนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริษัทบางจาก กลุ่มผู้บริหารและพนักงานบางจากฯ โดยจะเลือกผู้ที่ยื่นข้อเสนอมาดีที่สุด คาดว่าการเจรจาขายหุ้นบางจากทั้งหมดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2558 นี้

นายไพรินทร์ กล่าวยอมรับ การตัดสินใจขายหุ้นบางจากฯ 15%ให้กับกองทุนวายุภักษ์นี้ แม้ว่ากองทุนฯจะยื่นข้อเสนอเงื่อนไขและราคาภายหลังจากที่บริษัทปิดรับผู้ที่สนใจเสนอเงื่อนไขมาก็ตาม แต่ราคาและเงื่อนไขที่กองทุนวายุภักษ์เสนอมานั้นดีที่สุด อีกทั้งกองทุนวายุภักษ์เองก็ถือหุ้นใน ปตท.อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ปตท.มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นบางจากทั้งหมด 27.22%จะได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะบันทึกเป็นกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท

“เราตั้งใจขายหุ้นบางจากฯทั้งหมดอยู่แล้ว เบื้องต้นขายหุ้นบางจากให้กองทุนวายุภักษ์ 15% โดยราคาได้มีการตกลงกันแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้จนกว่าจะเจรจาขายหุ้นบางจากส่วนที่เหลือจบก่อน แต่ยืนยันว่าเป็นข้อเสนอที่เหมาะสมต่อทั้งคนซื้อและคนขาย โดยอยากให้ราคาเสนอขายหุ้นบางจากทั้ง 2 ส่วนมีราคาที่เท่ากัน โดยยืนยันว่าการเสนอขายหุ้นที่เหลืออีก 12.22%จะไม่ปิดทางใคร โดยเชื่อว่าภายในไตรมาส 1นี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด”

นายไพรินทร์ ยืนยันว่า มติบอร์ด ปตท.ในครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นการล้มดีล เนื่องจากมีการขายหุ้นบางจากฯอยู่ เพียงแต่ข้อเสนอของบริษัทที่เสนอซื้อหุ้นบางจากมาก่อนหน้านี้ทั้ง 2 รายยังไม่ใช่ข้อเสนอที่ดีที่สุด และยืนยันว่าการขายหุ้นบางจากไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ผู้ที่สนใจต้องมีแบงก์การันตีถึง 1 หมื่นล้านบาทแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวออกมาว่าดีลการขายหุ้นบางจากฯถูกเบรกไม่ให้ขายหุ้นให้กลุ่มนายประยุทธ์ที่เสนอราคาซื้อหุ้นบางจากฯมาสูงกว่ากลุ่มนายพิชัย เนื่องจากป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนการเมืองเข้ามามีบทบาทการบริหารจัดการบางจากฯ หลังจากมีกระแสคัดค้านจากพนักงานบางจากที่ไม่ต้องการให้ปตท.ขายหุ้นออกไป จึงเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาซื้อแทนผ่านกองทุนวายุภักษ์ แต่เนื่องจากติดเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้กองทุนวายุภักษ์ไม่สามารถเข้ามาซื้อหุ้นบางจากทั้งหมดได้ คงซื้อได้เพียง 15%เท่านั้น

ส่วนแนวทางการการดึงกองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นบางจากนี้ เชื่อว่าฝ่ายบริหารและพนักงานบางจากฯจะเห็นชอบแนวทางนี้ ดีกว่าอยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มนายประยุทธ์อย่างแน่นอน เพราะถ้าบริษัท เมอร์ริเมดไทม์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ สิ่งแรกคือการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทบางจากฯ รวมทั้งแนวนโยบายการบริหารงานซึ่งไม่ส่งผลดีต่อผู้บริหารและพนักงานบางจากฯ

โพส ผู้จัดการออนไลน์

หุ้น UREKA เพิ่มทุน-แจกวอร์แรนต์ฟรี 2:1

ผู้ถือหุ้น UREKA “ยูเรกา ดีไซน์”ไฟเขียวเพิ่มทุน-แจกวอร์แรนต์ฟรี 2:1

ureka

ผู้ถือหุ้น “ยูเรกา ดีไซน์” ไฟเขียวเพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 4:1 ที่ ราคา 1.15 บาท/หุ้น พร้อมแจกวอร์แรนต์ฟรี ในอัตราส่วน 2:1 ด้าน “นรากร ราชพลสิทธิ์” เผยเตรียมนำเงินที่ได้ไปขยายธุรกิจตามแผน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต มั่นใจผลการดำเนินงานปีนี้ “เทิร์นอะราวนด์” ปักธงรายได้รวมแตะ 800 ล้านบาท มั่นใจอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว พร้อมลุยตลาดต่างประเทศเต็มสูบ เพื่อกระจายฐานรายได้

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) (UREKA) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 มีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีก จำนวน 78,625,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 314,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม จำนวน 85 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่เป็น จำนวน 163,625,000 บาท

ทั้งนี้ ได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 85 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายในคราวเดียวกัน หรือต่างคราวกันให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนในอัตรา 4 หุ้นเดิมได้ 1 หุ้นใหม่ ราคาจองซื้อ 1.15 บาท และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 212,500,000 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ ที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิฟรี อายุ 2 ปี ราคาการใช้สิทธิเท่ากับหุ้นละ 0.50 บาท

นอกจากนี้ ยังจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 17 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่บริษัทจะแจกฟรีให้แก่พนักงานของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย ภายใต้โครงการการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่พนักงานของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย (ESOP Scheme) โดยไม่มีราคาเสนอขาย อายุไม่เกิน 3 ปี อัตราการใช้สิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญ 1 หุ้น ราคาการใช้สิทธิเท่ากับหุ้นละ 1.50 บาท

“วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อนำเงินเพิ่มทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และเพื่อใช้รองรับและเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย สร้างโอกาสการเติบโตที่แข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคต และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว” นายนรากร กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2558 จะกลับมาเทิร์นอะราวนด์ โดยตั้งเป้ารายได้รวมที่ 800 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยที่ผ่านมา เราได้ปรับกลยุทธ์และเตรียมความพร้อมรับมือ พร้อมกับกระจายฐานรายได้สู่ตลาดต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดในประเทศ โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากปีนี้ที่คาดมีสัดส่วน 2% ของรายได้รวม