“ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ…ทำทำไม ทำอย่างไร”

 

   คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของรัฐวิสาหกิจ มักคิดว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเพียงกลุ่มบริษัทไม่กี่แห่งที่ให้บริการสาธารณะ จะหวังให้รัฐวิสาหกิจมีคุณภาพดีหรือบริการดีก็คงยาก เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นเพียงแขนขาของระบบราชการ ถูกบริหารโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และต้องเกรงใจอิทธิพลทางการเมือง นอกจากนี้ จะเปลี่ยนแปลงทีไรก็มักถูกแรงต้านจากสหภาพแรงงานอีกด้วย ดังนั้นจะหวังให้รัฐวิสาหกิจเปลี่ยนแปลงได้คงยาก เอาทรัพยากรและพลังไปทำเรื่องอื่นน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าสำหรับสังคมไทย
  เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีความคิดความเห็นแบบนี้ รัฐวิสาหกิจจึงไหลลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราคิดว่ารัฐวิสาหกิจเป็นปัญหาที่ปล่อยปละละเลยได้แล้ว เราจะพลาดโอกาสสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น รัฐวิสาหกิจมีความสำคัญมาก(กว่าที่คนไทยส่วนใหญ่คิด)อย่างน้อยในหกมิติสำคัญ
(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({}); มิติแรก รัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจครอบคลุมทรัพยากรจำนวนมากที่เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ของประเทศ ประเทศไทยจะยกระดับการพัฒนาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ทรัพยากรที่อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่โทรคมนาคม ระบบการขนส่งทางราง ท่าเรือ สนามบิน สิทธิ์การบิน ที่ดินผืนงามๆ กลางเมือง ตลอดไปจนถึงบริการสาธารณะต่างๆ ที่กระทบโดยตรงต่อต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทย และต้นทุนการทำธุรกิจของธุรกิจไทย ถ้าหากรัฐวิสาหกิจไม่สามารถใช้ทรัพยากรในมือของตนได้อย่างเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพแล้ว จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยและความอยู่ดีกินดีของคนไทย
  มิติที่สอง รัฐวิสาหกิจมีงบประมาณรวมกันจำนวนมาก คนไทยส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่างบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีรวมกันถึงสี่ล้านสี่แสนล้านบาท หรือประมาณสองเท่าของงบประมาณของรัฐบาล ถ้าพิจารณาเฉพาะงบลงทุน จะพบว่ารัฐวิสาหกิจมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของทุกรัฐบาล จะต้องทำผ่านรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากรัฐวิสาหกิจยังไหลไปเรื่อยๆ โครงการลงทุนเหล่านี้มีโอกาสสูงมากที่จะล้มเหลวหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ เหมือนกับโครงการลงทุนส่วนใหญ่ของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา

  มิติที่สาม รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ประกอบการสำคัญในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน (ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าร้อยละ 30 ของระบบการเงินไทย) ธุรกิจพลังงาน (ที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่แทบทุกประเภท และมีอิทธิพลในการกำหนดราคา) และธุรกิจขนส่ง พฤติกรรมของรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจต่างๆ มีผลต่อโครงสร้างการทำธุรกิจและโครงสร้างการแข่งขัน สามารถสร้างความบิดเบือนให้กลไกตลาด สร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค และบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่งเอกชน ในบางธุรกิจรัฐวิสาหกิจเป็นทั้งผู้มีอำนาจกำกับดูแลและเป็นผู้ประกอบการเองด้วย สามารถใช้อำนาจกีดกันคู่แข่งเอกชนได้ไม่ยาก ส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว

  มิติที่สี่ แม้ว่าในวันนี้รัฐวิสาหกิจไทยสามารถนำส่งรายได้ให้แก่รัฐบาลรวมกันถึงปีละกว่าแสนล้านบาท แต่เรามีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประสบกับปัญหาขาดทุนโดยต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะขาดทุนเพิ่มขึ้น จากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจ ปัญหาขาดทุนมักถูกซุกใต้พรม ซ่อนไว้รอเวลาที่จะระเบิดออกมาให้รัฐบาลต้องเอาภาษีประชาชนไปช่วยเหลือ เราคุ้นเคยกันดีกับข่าวรัฐบาลล้างหนี้ให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งรอบแล้วรอบเล่า หรือต้องช่วยเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีอัตราหนี้เสียสูงกว่าสถาบันการเงินเอกชนนับสิบเท่า ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการเอกชนในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วจะพบว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่ามาก ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่รัฐได้ใส่เข้าไป และกำไรส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากอำนาจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด

  มิติที่ห้า รัฐวิสาหกิจเป็นช่องทางสำคัญของการคอรัปชั่นในสังคมไทย เพราะรัฐวิสาหกิจมีงบประมาณสูงและมีอำนาจกึ่งรัฐที่จะให้คุณให้โทษได้ในหลายภาคเศรษฐกิจ การคอรัปชั่นขนาดใหญ่ในปัจจุบันวิวัฒนาการไปมาก จากที่เคยเรียกเงินทอนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการคอรัปชั่นผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่มีราคากลาง สามารถปรับตัวเลขสมมุติฐานต่างๆ เพื่อให้แสดงผลตอบแทนที่คุ้มค่าการลงทุนได้โดยง่าย เกิดปรากฎการณ์กินหัวคิวกันตั้งแต่เริ่มชงโครงการไปจนถึงอนุมัติโครงการ โดยไม่ต้องรอให้ดำเนินโครงการจริง เมื่อผ่านไปหลายปีโครงการลงทุนเหล่านี้ล้มเหลวก็จับมือใครดมไม่ได้ โทษผู้บริหารระหว่างทางได้หลายรุ่น และมักอ้างว่าสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองจึงนิยมแย่งกันเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อยู่ในอาณัติ และเราถึงได้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวอยู่มาก

  มิติที่หก รัฐวิสาหกิจได้กลายเป็นช่องทางสำคัญของการทำนโยบายประชานิยม(แบบไร้ความรับผิดชอบ) เพราะกระบวนการงบประมาณและกระบวนการกำกับดูแลมีช่องโหว่อยู่มาก (มากกว่ากระบวนการงบประมาณและกฎระเบียบขอหน่วยงานราชการ) เราคุ้นเคยกันดีกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรแบบรับซื้อทุกเมล็ดในราคาสูงเพื่อแจกเงินซื้อเสียง โครงการพักหนี้ให้แก่ลูกหนี้สารพัดประเภททั้งหนี้เสียและหนี้ดี หรือโครงการบริการสาธารณะฟรีแบบไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โครงการประชานิยม (แบบไร้ความรับผิดชอบ)เหล่านี้อาศัยรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญทั้งสิ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักการเมืองชนะการเลือกตั้ง และสร้างภาระการคลังจำนวนมากให้แก่คนไทยในระยะยาว

  เหตุผลทั้งหกมิติข้างต้นชัดเจนว่าทำไมเราถึงต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่คำถามที่ยากกว่า คือจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างไรให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ของโอกาสปฏิรูปประเทศไทยรอบนี้ ปัญหาของรัฐวิสาหกิจเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน หลายปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ผู้มีอำนาจรัฐที่ผ่านมามักจะซื้อเวลาและปล่อยไว้ให้เป็นปัญหาของรัฐบาลต่อไป จนรัฐวิสาหกิจหลายแห่งอยู่ในฐานะยากที่จะเยียวยา และเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็ใช้วิธีซื้อเวลา หวังว่าเมื่อนักการเมืองกลับมามีอำนาจใหม่ ชีวิตแบบรัฐวิสาหกิจไทยไหลไปเรื่อยๆ ก็จะกลับมาเหมือนเดิม

  ผมเชื่อว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าเรากล้าตัดสินใจเลือกทำเฉพาะเรื่องที่จะเกิดผลต่อเนื่องในระยะยาว อย่างน้อยในสี่เรื่องสำคัญ

  เรื่องแรก จะต้องเร่งจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ ในวันนี้ไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนประชาชนไทยอย่างแท้จริง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานประสานงาน และเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐวิสาหกิจและกระทรวงต่างๆ เท่านั้น อำนาจการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจยังกระจายอยู่ตามกระทรวงต้นสังกัด ทำให้นักการเมืองเจ้ากระทรวงแทรกแซงรัฐวิสาหกิจได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร การชงและอนุมัติโครงการลงทุน หรือการให้รัฐวิสาหกิจทำบทบาทที่เกินพันธะกิจหลักและความสามารถของตนเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง

  การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นแนวทางกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจในหลายประเทศที่เคยมีปัญหาคล้ายกับเราได้สำเร็จ หน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ควรจัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องสามารถเล่นบทบาทเจ้าของรัฐวิสาหกิจได้อย่างเต็มที่ (คล้ายกับผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชน) จะต้องกำกับดูแลให้แน่ใจว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งประสบความสำเร็จตามพันธกิจของการจัดตั้งทั้งในฐานะของการเป็นวิสาหกิจที่ต้องหารายได้และการให้บริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพ หน่วยงานใหม่นี้ต้องสามารถแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถในรัฐวิสาหกิจได้โดยไม่ต้องรอใบสั่งจากนักการเมือง หน่วยงานนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีระบบการบริหารงานที่โปร่งใส เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่องตรงไปตรงมา มีระบบป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง มีพนักงานคุณภาพสูงที่รู้เรื่องการทำธุรกิจและการบริหารการลงทุนขนาดใหญ่ และมีความเป็นอิสระด้านงบประมาณ (คล้ายกับกรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงาน กลต. ที่ไม่ต้องรอให้นักการเมืองจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้)

  อย่างไรก็ดีรัฐวิสาหกิจต้องเป็นกลไกของรัฐ ดังนั้นกำหนดนโยบายที่จะให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งดำเนินการยังเป็นอำนาจของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ควรจัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องพิจารณาผลของการดำเนินนโยบายที่จะเกิดขึ้นต่อรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลขอให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการเรื่องที่อยู่นอกเหนือพันธกิจหลัก รัฐบาลจะต้องรู้ภาระที่จะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ก่อนที่จะดำเนินการ และมีกลไกชดเชยผลกระทบทางการเงินให้แก่รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ใช้รัฐวิสาหกิจแบบขาดความรับผิดชอบและซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมเหมือนกับที่ผ่านมา

  เรื่องที่สองจะต้องยกระดับระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ ระบบบรรษัทภิบาลที่ดีจะต้องเริ่มจากการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนระหว่างรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกัน (ทั้งในระดับหน่วยงาน และระดับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ) เพื่อไม่ให้ชี้นิ้วกันไปมา หรือประนีประนอมกันจนไม่เกิดผลอย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะในด้านการกำหนดนโยบาย (policy maker) การกำกับดูแลตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ (regulator) บทบาทการเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ (owner) และการดำเนินงานของตัวรัฐวิสาหกิจเอง (operator) และที่สำคัญจะต้องสร้างระบบตรวจสอบการทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบแต่ละด้านได้อย่างตรงไปตรงมา

  ในปัจจุบันการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจถูกกำกับโดยกฎหมายและกฎเกณฑ์หลายฉบับ แต่รัฐวิสาหกิจยังมีปัญหาบรรษัทภิบาลอยู่มาก เราอาจจะต้องเร่งทบทวนกฎหมายต่างๆที่มีอยู่ และกำหนดกระบวนการทำงานเกี่ยวกับระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจใหม่ เพื่อแน่ใจว่าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามพันธะกิจหลัก มีเป้าหมายที่ชัดเจน โปร่งใสและตรวจสอบได้ รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างเพียงพอในรูปแบบที่นักวิเคราะห์จะสามารถติดตามได้ คณะกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจต้องปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการทำหน้าที่ทับซ้อน ต้องรับผิดรับชอบต่อการกระทำ และถูกประเมินอย่างเหมาะสมกับสภาวะทางธุรกิจและการแข่งขัน การให้ผลตอบแทนแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องสอดคล้องกับผลงาน และที่สำคัญการทำงานของรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของรัฐบาลจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนทั้งในเรื่องผลสำเร็จที่คาดหวังและต้นทุนการดำเนินงาน

  เรื่องที่สาม จะต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกับผู้ประกอบการเอกชนในกิจการหารายได้ของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน การแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง รัฐวิสาหกิจไม่ควรใช้ความได้เปรียบจากอำนาจรัฐสร้างเกราะป้องกันตัวเองจากการแข่งขัน หรือบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่งเอกชน ในปัจจุบันมีหลายเรื่องที่รัฐวิสาหกิจได้เปรียบคู่แข่ง อาทิเช่น รัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจ(แทนที่จะให้เงินอุดหนุนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย)ทำให้รัฐวิสาหกิจมีต้นทุนการทำธุรกิจลดลง กฎเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐยังคงให้สิทธิ์รัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าไม่ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดและทำธุรกิจแข่งกับเอกชน และรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังเป็นผู้กำกับดูแลคู่แข่งเอกชนด้วย

  ในขณะเดียวกันมีหลายปัจจัยที่ทำให้รัฐวิสาหกิจแข่งขันกับคู่แข่งเอกชนด้วยความเสียเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับให้ทำหน้าที่เกินพันธกิจหลักของตนโดยไม่ได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมและทันการณ์ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและแรงงานรัฐวิสาหกิจขาดความยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับสภาวะการแข่งขันและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข รัฐวิสาหกิจจะแข่งขันไม่ได้ กลายเป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องดูแลในอนาคต และรัฐวิสาหกิจต้องพยายามหาอำนาจรัฐสร้างเกราะป้องกันการแข่งขันให้ตนเองจนเกิดความบิดเบือนในกลไกตลาด

  เรื่องสุดท้าย รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจปรับเปลี่ยนสถานะรัฐวิสาหกิจที่ไม่ควรเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ให้อยู่ในรูปองค์กรอื่นที่เหมาะสมกว่า หรือลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลง สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันและปัญหาทางการเงิน รัฐบาลต้องกล้าที่จะผ่าตัดปฏิรูปอย่างเด็ดขาด ไม่เลี้ยงไข้ไว้สร้างปัญหาที่รุนแรงกว่าในระยะยาว รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาไม่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ หรือถูกมอบหมายให้ดำเนินโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าจะเกิดการปฏิรูปการดำเนินงานอย่างแท้จริง

  การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหานี้หนีไม่พ้นที่รัฐบาลและคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจต้องกล้าตัดสินใจเรื่องพนักงาน ทั้งในด้านจำนวนที่มักเกินพอดี และคุณภาพของพนักงานที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะการแข่งขัน ปัญหาของรัฐวิสาหกิจเป็นปัญหาโครงสร้างที่หมักหมมมานานและมักไม่ใช่ความผิดของพนักงาน ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลพนักงานที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

  ช่วงระยะเวลาหนึ่งปีข้างหน้านี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับการวางโครงสร้างปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนี่งที่จะต้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะถ้าเรานิ่งเฉยไม่ทำอะไรกันอย่างจริงจังแล้ว รัฐวิสาหกิจมีแนวโน้มที่จะเป็นระเบิดเวลา และเป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ทั้งความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย การอยู่ดีกินดีของประชาชน และที่สำคัญการพัฒนาระบบประชาธิปไตย ให้ก้าวข้ามการคอรัปชั่นและกับดักนโยบายประชานิยม (แบบไร้ความรับผิดชอบ) ไปได้อย่างยั่งยืน

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ

2558 ปีแห่งความท้าทายและโอกาสลงทุน

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย เกศรา มัญชุศรี
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ ทักทายกันเป็นครั้งแรกสำหรับปีนี้ หากมองย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในปี 2557 ที่ผ่านมา แม้ตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัยทั้งการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยูโรโซน และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ก็ถือเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนในพันธบัตรและหุ้น เนื่องจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศและไทยโดยรวมให้ผลตอบแทนถึงประมาณ 7-9%
ส่วนการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคกล่าวคือ ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ตลาดหุ้นอื่นในเอเชียก็เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง เริ่มจากตลาดหุ้นจีนที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก สูงกว่า 50% และใน 10 อันดับแรกก็เป็นตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียถึง 7 แห่งรวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 15.32% เนื่องจากการเมืองภายในเริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยตลาดหุ้นไทยเมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 45,466 ล้านบาทต่อวัน และมีหลักทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 46 หลักทรัพย์
สำหรับปี 2558 บรรยากาศการลงทุนน่าจะเป็นปีที่มีความท้าทายอีกปีหนึ่ง เริ่มจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีแนวทางแตกต่างกันอย่างชัดเจนขึ้น (Policy Divergence) โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐ กับกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่น กล่าวคือเราน่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจต้องดำเนินมาตรการ QE ต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดวิกฤตปัญหาภาวะเงินฝืด (Deflation)
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ ปฏิกิริยาของผู้ลงทุนกลุ่มที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (Risky Assets) หาก Fed ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น รวมทั้งการดำเนินมาตรการ QE ของประเทศอื่นอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ.มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยในปี 2558 นับว่ามีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนของโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดรัฐบาลก็ตั้งเป้าว่าจะเร่งโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่หลายสายให้สามารถประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2558
นอกจากนี้ไทยเรายังได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในอัตราสูง ประกอบด้วย ไทย จีน พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมุ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาคนี้ กล่าวคือเป็นแหล่งระดมทุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจและเสริมสร้างศักยภาพตอบรับกับโอกาสการขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งในรูปแบบของการออกหุ้นสามัญและการออกตราสารหนี้ รวมไปถึงหุ้นใหม่ ๆ จากกลุ่มประเทศ GMS ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้การสนับสนุนและชักชวนผู้ประกอบการในต่างประเทศมาระดมทุนในตลาดไทย
ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าตัวท่านผู้อ่านจะมีอาชีพใด ต้องถือ ว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราทุกท่าน ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา หาความรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าความสำเร็จจากการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องลงทุนทั้งในเรื่องของเวลา และหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าสถานการณ์ภายนอกประเทศในปีนี้อาจคาดการณ์ได้ยาก การลงทุนระยะสั้นอาจมีความผันผวน และมีปัญหามากมายที่คอยท้าทายผู้กำหนดนโยบาย แต่ดิฉันยังเชื่อว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีได้ในปี 2558 อันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดธุรกิจที่เติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ รวมทั้งโอกาสการลงทุนในบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาดทั้งจากในและต่างประเทศ
สุดท้ายนี้ ดิฉันขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือได้ประสาทพรให้กับท่านผู้อ่าน ให้พบกับความสำเร็จ ความสมหวัง มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมทั้งประสบความสำเร็จในการลงทุน และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ท่านผู้อ่านทุกท่านและครอบครัวค่ะ

เก็บตก "กลยุทธ์การลงทุน" จากเซียนหุ้นจีน

เก็บตก “กลยุทธ์การลงทุน” จากเซียนหุ้นจีน

ในระหว่างการร่วมงานเปิดตัว Shanghai-HK “Stock Connect” ผมมีโอกาสได้ฟังวิทยากรชั้นนำของจีน
บรรยายเกี่ยวกับกลยุทธ์และจิตวิทยาการลงทุนหัวข้อที่ชื่อว่า “ทำใจอย่างไร ให้มีโอกาสรวยมากที่สุด” ซึ่งบรรยายเป็นภาษาจีนล้วนๆ จึงขอถือโอกาสนี้ถ่ายทอดเนื้อหาดังกล่าวแบบย่อๆ ดังนี้
เราจะสามารถประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้น หรือ เล่นหุ้นเก่งแบบไม่รู้ตัว หากมีคุณลักษณะ 5 ประการ ที่เหมาะสมกับการลงทุน
เริ่มจากหนึ่ง มี ‘ความเชื่อ’ ที่เหมาะสมในการลงทุน ประกอบด้วย
  • เงิน นั้น ไม่สำคัญอย่างที่คุณคิด
  • โอเคเหมือนกันที่จะเสียเงินบ้างในตลาดหุ้น
  •  การเล่นหุ้น ก็เหมือนกับเล่นเกมอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมให้มีสภาพจิตใจดังกล่าว มีความสำคัญในการเล่นให้ประสบความสำเร็จ นักลงทุนที่ชำนาญจะรู้ตัวว่าตนเองเหมือนจะสามารถชนะตั้งแต่ก่อนการแข่งขันแล้ว และมักจะเป็นจริงโดยส่วนใหญ่
โดยหากมองว่า เงิน นั้น ไม่สำคัญ ก็จะสามารถใช้กลยุทธ์ Cut your loss, and let profit run โดยง่าย รวมถึงสามารถจะเอาชนะอุปสรรคระหว่างทางได้ง่ายกว่า

สอง ‘สภาพจิตใจ’ ที่เหมาะสมกับการลงทุน

อย่าโทษปี่โทษกลอง หากการลงทุนนั้นเกิดขาดทุนขึ้นมา เนื่องจากว่าตัวเราเองจะปัดความรับผิดชอบทั้งหมด และทำให้ลืมที่จะหาสาเหตุที่เกิดการขาดทุนในแต่ละครั้ง ทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองจากความผิดพลาดดังกล่าว พยายามพิจารณาว่า ณ เวลาที่เราต้องตัดสินใจในทุกๆ ครั้ง เวลาพลาดขึ้นมา เป็นเพราะเราให้น้ำหนักเรื่องใดมากเกินไป เรากลัวหรือว่ากล้าเกินไป ในอนาคต หากสถานการณ์ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอีก เราจะได้สามารถใช้บทเรียนที่ผ่านๆ มาประกอบในการตัดสินใจในครั้งต่อไปให้ดียิ่งๆ ขึ้น
ตัวอย่างของการตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าว มีดังนี้

(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({});
  •  เราอดทนไม่เพียงพอ ต่อภาวะตลาดตอนนั้นหรือเปล่า
  •  เราโกรธที่ตลาดลงสวนทางกับที่ได้ลงทุนไปหรือไม่
  • เรา กลัว ในช่วงเวลาที่ ผิด ใช่ไหม
  • เรา มองโลกในแง่ดีเกินไป เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใช่หรือไม่
จำไว้ว่า ผู้ชนะจะทราบว่าเขาควรรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่ผิดพลาด สำหรับผู้แพ้จะไม่รับผิดชอบเรื่องใดๆ
สาม ‘กลยุทธ์ทางจิตใจ’ ที่เหมาะสมกับการลงทุน

มองโสตสัมผัสทั้งหมดประกอบในการพิจารณาลงทุน
  •  มองสัญญาณ
  •  ระลึกได้ว่าคุ้นๆ
  • บอกกับตนเองว่า จะผิดพลาดอย่างไรหากลงทุนลงไป
  • อย่าเทรดดีกว่า หากมองหรือรู้สึกว่าจะแย่
การไม่ยึดติดกับความเชื่อดั้งเดิมของตนเองมากเกินไปและพิจารณาการลงทุนด้วยการใช้จิตสัมผัสของตนเอง จะช่วยให้สามารถเทรดหุ้นได้ดีขึ้นมาก
สี่ การมองทิศทางตลาดให้ต่างจากกระแสที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองเหมือนกัน จะสามารถใช้เป็นโอกาสในการทำกำไรได้ในหลายๆ โอกาส
แน่นอนว่าต้องใช้จังหวะเวลาที่เหมาะสม ใช้ความกล้า ความเข้าใจในสถานการณ์ และความมั่นใจในความคิดของตนเองเป็นหลัก ซึ่งตรงจุดนี้ ผมก็ใช้อยู่ค่อนข้างบ่อย
โดยนักกลยุทธ์และจิตวิทยาจากการลงทุนของจีนท่านนี้ ได้พูดถึงคุณลักษณะของนักค้าหุ้นที่ดีต้องมีนิสัยอยู่ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความยืดหยุ่นในความคิดของตนเอง ในการมองแนวโน้มและเลือกหุ้น การจะซื้อหรือขายหุ้น และ การเลือกซื้อหุ้นหรือพักเงินไว้ในพันธบัตร สอง ความเชื่อในความคิดของตนเอง โดยได้ยกตัวอย่างตลาดหุ้นจีนที่ตอนนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากซบเซามากว่า 4-5 ปี ซึ่งเขาบอกว่าถ้ามองว่าเศรษฐกิจจีนจะดีต่อไปในอนาคต ก็ไม่ต้องกังวลว่าตลาดหุ้นจะไม่กลับมาคึกคัก
ท้ายสุด ท่านได้ตบท้ายว่าการเทรดหุ้นให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ต้องสามารถถ่วงดุลระหว่างความเชื่อในแนวทางและความคิดของตนเองกับความยืดหยุ่นในการมองว่าตนเองได้มาผิดทางแล้ว
ตรงนี้ เหมือนเส้นบางๆ ซึ่งก้าวข้ามกันได้ไปมา ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐทดสอบแรงเทขายจากนักลงทุนประเภทต่างๆ จนดัชนีหุ้นสหรัฐร่วงลงมากว่าร้อยละ 9 จากจุดสูงสุด ตรงนั้นหลายคนมองว่าคงไปต่อยาก ทว่าเมื่อผ่านจุดนั้นไปได้ นักลงทุนท่านใดที่มีความยืดหยุ่นในการมองว่าตนเองได้มาผิดทาง จะสามารถมองออกก่อนเพื่อนว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังไปต่อได้อีก
นั่นคือ นักลงทุนที่เทรดหุ้นได้ดี จะมองความผิดพลาดของตนเองที่เกิดขึ้นว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ยิ่งมีมาก ก็จะยิ่งเก่งมาก
โดยสรุป ผมมองว่าฝั่งจีนชอบให้นักลงทุน ไม่โลภ ใช้ความรู้สึกที่มีความรู้และประสบการณ์เป็นตัวนำทาง กล้าจะผิดพลาด และไม่ยึดติดกับความคิดใดๆ มากจนเกินไปในการเทรดหุ้นครับ 

มุมมองการลงทุน ปี 2015

เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงเรื่องการลงทุนในปีนี้ในตอนแรกไป ครั้งนี้ผมขอเขียนให้จบแล้วกันครับ  
เริ่มจาก Theme หลักกันก่อน ได้แก่

หนึ่ง ปีนี้น่าจะเป็นแห่งความผันผวนของราคาหุ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากนิ่งมากว่า 2 ปี เนื่องจากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกการตรึงค่าเงิน

สอง เหตุการณ์ใหม่ๆ จากภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics จะเกิดบ่อยขึ้น อาทิ การเลือกตั้งในอังกฤษ กรีซ ISIS การก่อการร้ายในประเทศพัฒนาแล้ว

สาม แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงทั่วโลก จากราคาน้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ลดลง

ภายใต้ Theme ดังกล่าว สามารถแบ่งการลงทุนหลักๆ ได้ออกเป็น 3 ภูมิภาค

ได้แก่ หนึ่ง ตลาดพัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกาและยุโรป คงไม่มีใครเถียงแล้วว่าสหรัฐอเมริกา ไม่มีปัญหาการเติบโตของจีดีพี เหลือเพียงแต่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าที่เคยคาดจากการลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ส่วนยุโรปนั้น ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาเงินฝืดรออยู่ ซึ่งมาตรการ QE ที่ประกาศไป จะสามารถช่วยให้ยังประคองตัวไปได้ต่อ

สอง ตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้ (ICIS) ในแง่ของการเติบโตเศรษฐกิจแบบเป็นกอบเป็นกำ คงต้องหวังจากภูมิภาคนี้เท่านั้น ส่งหนึ่งที่ภูมิภาคนี้มีอยู่อย่างชัดเจน คือ การเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เห็นเป็นรูปธรรม โดยมิได้พึ่งการปั๊มเงินจากธนาคารกลางเป็นหลัก รวมถึงกำลังซื้อจากประชาชนที่ 3 ประเทศแรกก็มีอยู่กว่าหนึ่งในสามของโลกแล้ว

และสาม ญี่ปุ่น ที่พยายามเติบโตอีกครั้งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายก ชินโซ อาเบะ โดยปีหน้าคงไปได้ต่อ แต่ในระยะยาวยังไม่รู้ออกหัวหรือก้อย

โดย Top 5 ของการลงทุนในปีนี้ในความคิดของผม ได้แก่

อันดับที่หนึ่ง พันธบัตรระยะเวลา 10 ปีของสหรัฐ / ตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซกเตอร์ Technology และ Financials

ข้อดี ของตลาดสหรัฐ คือ มีระดับความไม่แน่นอนของตลาดต่ำ เศรษฐกิจดูไม่เลว กำไรของตลาดหุ้นเติบโตในระดับสูงกว่าร้อยละ 8 รวมถึงเป็นผู้นำในตลาดสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในหลายรายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ความเสี่ยงเดียวของตลาดสหรัฐ ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยที่อาจมีขึ้นในปีนี้ หรือ ‘Janet Jittery’

อันดับที่สอง ตลาดหุ้นจีน

ราคาหุ้นตอนนี้ถือว่ายังถูกมาก นอกจากนี้จีนยังได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่าเป็นของจริง จะเห็นได้ว่า Hard Landing ที่เคยพูดกันตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วยังไม่เกิดขึ้น โดยปีนี้ แทบไม่มี สำนักวิจัยแห่งไหนฟันธงว่าจีนเกิดวิกฤต แม้การเติบโตช้าลงแต่ก็ยังสูงอยู่ดี นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า บริษัทที่เข้าตลาดหุ้นในช่วงหลัง เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล ทั้ง Tencent Alibaba และ Xiomi ที่สำคัญ สัญญาณที่ชัดเจนในปีที่แล้วคือรัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินแบบชัดเจน

ข้อเสียตลาดจีนมีอยู่อย่างเดียว คือ รัฐยังสามารถแทรกแซงหุ้นได้บางส่วน ผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ

อันดับที่สาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นตัวใหญ่ที่เน้นส่งออก

ผมคิดว่าปี 2015 ตลาดญี่ปุ่นยังไปต่อแบบขึ้นๆ ลงๆ เป็นระยะ แต่แนวโน้มโดยรวมยังขึ้นต่อเหมือน 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักลงทุนไทยชอบลงทุนตลาดที่มีรูปแบบเช่นนี้มาก แต่ปี 2016 เป็นต้นไป ตลาดญี่ปุ่นนั้นจะต้องดูละเอียดและระวังมากขึ้น

อันดับที่สี่ ตลาดหุ้นเยอรมัน

หลายท่านอาจจะแปลกใจ ยุโรปออกจะแย่ๆ ทำไมยังติดอันดับด้วย สิ่งหนึ่งที่ผมมองมาจาก Downside Risk

ในตอนที่เฟดทำ QE การซื้อพันธบัตรในแต่ละครั้งสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับดัชนี S&P ร้อยละ 1.63 หากพิจารณาว่า ธนาคารกลางยุโรปจะประกาศการซื้อพันธบัตร 10 ครั้งในปีนี้ (นั่นคือ 10×1.63 = 16.3%) ก็จะสามารถเพิ่มผลตอบแทนของหุ้นยุโรปได้ประมาณร้อยละ 16.3 ในปี 2015 ช่วงที่วิกฤตยุโรปรุนแรงที่สุด ตลาดหุ้นยุโรปตกลงสูงสุดร้อยละ 19 ดังนั้น ผลตอบแทนที่แย่ที่สุดในปี 2015 ของตลาดหุ้นยุโรป น่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0 จนถึงติดลบแบบ Single Digit

ข้อดีของยุโรปในปีนี้ ได้แก่ บริษัทเยอรมันจะสามารถใช้ค่าเงินยูโรที่อ่อนมากในปีนี้ให้เป็นประโยชน์จากการส่งออกได้มากกว่าปีที่ผ่านๆ มา

อันดับที่ห้า ทองคำและเงินดอลลาร์

(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({}); ทองคำน่าสนใจในปีนี้ เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ

หนึ่ง ปีนี้จะเป็นปีแห่งความผันผวนของราคาหุ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากนิ่งมากว่า 2 ปี เนื่องจากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกการตรึงค่าเงิน และเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย และ สอง เหตุการณ์ใหม่ๆ จากภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดบ่อยขึ้น

ส่วน ดอลลาร์นั้นน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ เหตุการณ์ใหม่ๆ จากภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดบ่อยขึ้น และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงทั่วโลก จากราคาน้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ลดลง

ท่านผู้อ่านอาจลองนำมุมมองการลงทุนนี้ ประกอบการตัดสินใจในการปรับพอร์ตของท่านได้ครับ  

วิถีของอาชีพ VI (1)


วิถีชีวิต (Lifestyle) เป็นคำที่เริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนแต่ก่อน วิถีความสำเร็จพิมพ์นิยมที่ว่าต้องเรียนให้เก่ง ทำงานบริษัทดี ๆ สร้างฐานะให้มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น ลูก ๆ เติบโตมา ก็เรียนจบมหาวิทยาลัยดีเหมือนกับรุ่นพ่อคงเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่เท่านั้น

เพราะในยุคหลัง ๆ ผมเริ่มสังเกตว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม รวมไปถึงมีแบบฉบับที่แตกต่างกันมากขึ้น เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิต ทัศนคติ มุมมองต่อโลก การให้คุณค่าของแต่ละคนไม่เท่ากัน ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง ทำให้ผู้คน “เลือก” อาชีพแตกต่างกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น คนเลือกจะทำงานฟรีแลนซ์หรืองานอิสระมากขึ้น เพราะต้องการเวลาในชีวิต ต้องการใช้ชีวิตในสิ่งที่อยากจะเป็น ไม่ใช่ตามสังคมจารีตประเพณี คนรุ่นใหม่ค้นพบว่าอันที่จริงไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนในสังคม อาชีพแต่ละอย่างก็มีคุณค่าและมี “โอกาส” ต่างจากแต่ก่อนที่ค่อนข้างดูถูกบางสาขาอาชีพ และยกย่องบางสาขาอาชีพมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี วิถีของคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการนับ 1-2-3 อย่างการทำงาน 30 ปีไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหาร และรับเงินเกษียณอาจจะเป็นวิถีในอดีต พวกเขาอยากนับ “ข้าม” ตัวเลขที่ไม่ต้องการหรือหาทางลัด ตัวอย่างเรื่องความต้องการรวยเร็วก็เป็นกระแสนี้ หลาย ๆ ปีให้หลัง ถนนทุกสายจึงมุ่งหาเส้นทางลัดสู่อิสรภาพทางการเงิน “การรวยเร็วจากการเล่นหุ้น” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ผิดจากโจทย์ที่ผิด

ผมจึงลองย้อนวิถีของอาชีพ VI ในมุมที่ผมเห็นมากกว่าสิบปีที่ผ่านมา รวมไปถึงจากการอ่านชีวประวัติของนักลงทุนระดับโลก ว่าวิถี VI แต่ละวิถีเป็นอย่างไรบ้าง แต่ต้องบอกก่อนว่า วิถีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และอาจจะผสมผสานมากกว่าหนึ่งวิถีทาง และบอกไม่ได้ว่า วิถีไหนจะดีกว่ากัน เพราะมันคือ “เส้นทางชีวิต” ซึ่งคนแต่ละคนมีปัจจัยต่างกัน จึงให้คุณค่า และเป้าหมายแตกต่างกัน


(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({}); วิถี VI แรกสุด เป็นวิถีแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง ใครเคยอ่านหนังสือชีวประวัติ Buffett โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นภาพลักษณะเดียวกัน คือเก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์ เพื่อมา “ลงทุน” เรียกได้ว่าประหยัดอดออม ความฟุ่มเฟือยเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับ VI วิถีนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าเงินทุกบาทในวันนี้มีมูลค่ามหาศาลในวันข้างหน้า เพราะมุ่งเน้นหา “ผลตอบแทน” ในการลงทุนเป็นหลักใหญ่ ผมจึงขอตั้งชื่อวิถีนี้ว่า “วิถีมั่งคั่ง”

นักลงทุน VI ที่อยู่ในวิถีมั่งคั่งนี้ กิจกรรมหลักจะเป็นการเน้นหาหุ้นตัวใหม่ ๆ ฟัง Company Visit ถ้าไปพบเพื่อน ๆ ก็มักจะมีทำพรีเซนเตชั่นเพื่อแชร์ข้อมูล แนวคิดของหุ้นแต่ละตัวให้ฟังกัน เข้าฟังสัมมนา อ่านหนังสือการลงทุนอย่างเข้มข้น เพื่อค้นหาหุ้นที่มี “ส่วนลด” หรือหุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าของมัน จุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดอีกจุดหนึ่งคือ “ความถี่ในการเปิดดู Streaming เพื่อเช็กราคาหุ้น” วิถีนี้อาจจะเปิดหลาย ๆ ครั้งต่อวัน รวมไปถึงความกระตือรือร้นในการศึกษาหุ้นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ IPO หรือหุ้นที่ยังไม่รู้จัก และยังคงประหยัดอดออม ใช้จ่ายเงินต่ำกว่า “ความมั่งคั่ง” ที่ตัวเองมีอย่างต่อเนื่อง คนที่อยู่ในวิถีนี้ได้ยาวนานอย่างมั่นคงที่สุด ผมเห็นแค่คนเดียวคือ Warren Buffett

วิถี VI ที่สอง คือวิถีอิสระ วิถีนี้การมุ่งเน้น “ผลตอบแทน” อาจจะน้อยลงไปกว่าวิถีมั่งคั่ง แต่แลกมาซึ่งอิสระในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา กิจกรรมการลงทุนของวิถีนี้ อาจจะเป็นแค่ “กิจกรรมเสริม” เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวเพื่อการเกษียณที่ดีกว่าหรืออาจจะลด “ความมุ่งมั่น” เรื่องการสร้างผลตอบแทนลดลง เพราะมีกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเข้ามาในชีวิต

นักลงทุน VI วิถีอิสระ อาจจะเน้นการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนหรือทำ DCA (Dollar Cost Average) ทุก ๆ เดือน ผ่านกิจกรรมออมหุ้น ซึ่งคนแรก ๆ ที่พูดถึงน่าจะเป็นคุณสุมาอี้ในบล็อก Dekisugi.net หรืออาจจะซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม และถือไปเรื่อย ๆ ตราบที่กิจการยังเติบโตอยู่ เรียกได้ว่า VI กลุ่มนี้ หาผลตอบแทนจากการเลือกกิจการที่ดีเป็นหลัก ส่วนการมุ่งเน้นหา “ส่วนลด” ของหุ้นนั้นเป็นปัจจัยรอง ดังนั้นพฤติกรรมของนักลงทุนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนหุ้นไม่บ่อยนัก ซื้อแล้วจะถือยาวกว่าค่าเฉลี่ย VI วิถีอื่น ๆ สิ่งที่ VI กลุ่มนี้แลกมา คือ “ความอิสระ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระหน้าที่ที่จะต้องขวนขวายหาหุ้นตลอดเวลา รวมไปถึงอิสระทางใจจากความกังวลในการลงทุนหุ้นตัวใหม่ ๆ นักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่ดูหุ้นเลยทั้งสัปดาห์ หรืออาจจะเช็กราคาเฉพาะเมื่อตลาดหุ้นปิด แต่จุดสำคัญคือ VI วิถีอิสระ จะยังคงมี “เงิน” ลงทุนในหุ้นเกือบ 100% หรืออาจจะมีเงินสดเพราะรอหาซื้อหุ้นเท่านั้น

ติดตามตอนสองอีกสองสัปดาห์ครับ ระหว่างนี้ ผมขอฝาก “วิถี VI” ทุกวันพฤหัสบดี 22.00-22.30 น. ซึ่งอยู่ในรายการ “มือใหม่ Turnpro” ทางช่อง Money Channel ถือเป็นรายการที่ 3 ของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ที่จะตอบโจทย์ว่า การมุ่งหน้าสู่ วิถี VI ที่ประสบความสำเร็จจะเป็นอย่างไรครับ